ทดลองขับ Mitsubishi SPACE WAGON GT 2.4 MIVEC : ทำได้ดีแทบทุกเรื่อง แต่กินกว่าที่คิดนิดนึง…By : J!MMY



เมื่อใดก็ตามที่ผมนึกถึงมิตซูบิชิ มอเตอร์ส นอกเหนือจากการยอมรับในเทคโนโลยี และคุณงามความดีของตัวรถแล้ว
สิ่งหนึ่งที่มันมักจะตามเข้ามาในความทรงจำของผมก็คือ ความห่างไกลของสำนักงานใหญ่ จากบ้านย่านบางนาของผม
เมื่อใดที่มีกิจธุระต้องติดต่องานที่นั่น มันหมายถึงการวางแผนการเดินทางล่วงหน้าอย่างน้อย 1 วัน จนต้องถามตัวเองว่า
นี่เราเดินทางด้วยรถยนต์ หรือพายเรือลัดเลาะไปตามคลองหลวง ที่ขุดโดย บริษัทขุดคลอง แล คูนาสยามฯ กันแน่?

ขนาดว่ายุคนี้ เรามีรถยนต์ใช้กันแล้ว เรายังรู้สึกได้ถึงความห่างไกลเกินปืนเที่ยงของตึกบัญชาการใหญ่ แห่งทุ่งรังสิตอยู่ดี

เช้าวันศุกร์ที่ 6 มิถุนายนที่ผ่านมา โชคดีหน่อยตรงที่ว่า ตาถัง น้องที่ร่วมทดลองรถด้วยกันมาแต่ไหนแต่ไร ว่างพอดี
เลยเจียดเวลามาช่วยเป็นสารถี ขับรถพาผมมาที่นี่ได้ ซึ่งผมก็ออกค่าน้ำมันและค่าทางด่วนให้เขาเป็นสินน้ำใจไปเล็กน้อย ตามปกติ
เพราะมันไกลมากๆ

ในรอบ 5 ปีมานี้ ผมก็แวะเวียนมาที่นี่หลายครั้งหลายครา จนตอนนี้ เขาเปลี่ยนเอารถ Model-A จำลอง ที่จอดแสดงไว้
บริเวณโถงใหญ่ทางขึ้นอาคาร มาชั่วนาตาปี ไปเก็บไว้ที่ไหนก็ไม่รู้ แล้วเอา มิตซูบิชิ i 660 ซีซี สีทองประกายหม่น
ตัดกับเบาะสีแดง มาจอดแทน …เรา 2 คนได้แต่ไปยืนด้อมๆ มองๆ เจ้า i ด้วยอาการ อยากลองขับเต็มแก่ แต่ทำอะไรมิได้

ระหว่างนั้น สเปซ แวกอน สีดำ จอดรอผมกับ ตาถัง อยู่แล้ว ที่หน้าตึก



อันที่จริง ผมก็เคทดลองขับ สเปซแวกอนมาแล้ว 2 หน
ครั้งแรก ก็ตอนที่มันยังเป็นรถทดลองประกอบ Pre-Production
ลองขับลงมาจาก Mission Hill Resort เขาใหญ่
มาที่สำนักงานใหญ่ของมิตซูบิชิ รังสิต
และครั้งนั้น ภาพรวมก็ประทับใจดี ยกเว้นกลิ่นผ้าเบรกที่ออกจะแรงไปสักนิด
ทั้งที่ไม่ได้เหยียบเบรกกระแทกกระทั้น หรือกระทันหันแต่อย่างใด
ขับธรรมดาๆ เรื่อยๆ มาเรียงๆ



ส่วนอีกครั้งหนึ่ง ก็คือ การขับรถรุ่นนี้ ไปยังลานจัดกิจกรรมมอเตอร์สปอร์ตชั่วคราว ของมิตซูบิชิ
ที่บ้านบึง การขับขี่บนมอเตอร์เวย์นั้น สุนทรีย์ เรื่อยๆ สบายๆ แบบไม่ต้องคิดอะไรมาก

แต่ ในเมื่อเรายังไม่เคยทดลองหาตัวเลขต่างๆ เก็บไว้ในแฟ้มข้อมูล
ก็ควรจะหาโอกาสนำมาทดลองสักหน่อย
พอดีจังหวะที่ รุ่นไมเนอร์เชนจ์ เปิดตัว ในงาน มอเตอร์ เอ็กซ์โป 2007 ที่ผ่านมา
เลยรอจังหวะเวลาเหมาะสม แล้วค่อยหยิบยืมมาขับกันในวันนี้



พูดก็พูดเถอะ ทำไมตอนนี้ ใน Fleet รถยนต์ทดสอบ
สำหรับสื่อมวลชนของมิตซูบิชินั้น มีแต่รถสีดำเต็มไปหมด

แลนเซอร์ 1.6 เบาะ RECARO แท้ๆ ก็สีดำ
เจ้าปาเจโรใหม่ ที่อยู่ในคิวรอมาทดลองขับ ก็สีดำ

และเจ้าสเปซแวกอนคันนี้ ก็สีดำ….

อยาก บอกให้รู้ ว่ามันทำความสะอาด และดูแลรักษาสีรถยากมากกกกกก

ล้างเสร็จไม่ทันไร พระพิรุณก็ชอบเล่นสนุก ปล่อยฝนห่าใหญ่เทโครมลงมาให้เปียกแฉะ
ที่ล้างมาเรียบร้อย ก็เลอะเทอะอีกแล้วในไม่กี่ชั่วโมงถัดมา
ถ้าเผลอเอาผ้าไม่ดีหน่อยไปเช็ด ทีนี้รอยขนแมวก็ขึ้นมาอย่างตูม…
จอดไว้ไม่ดูตาม้าตาเรือ สีก็เริ่มด้านแล้ว ไม่รุ้ว่า ก่อนหน้านี้ มันไปตกระกำลำบากมาอย่างไร

ก่อนจะรับรถออกมาขับ ก็ต้องสำรวจตรวจสภาพกันใก้ดีรอบคันกันเสียก่อน
ร่องรอยของ บริเวณขอบยาง Bridgestone Turanza ER33 215/55 R17 ที่ติดตั้งบริเวณล้อคู่หน้า
บ่งบอกให้รู้ว่า ก่อนหน้านี้ น่าจะผ่านการทดลองเบรกกระทันหันอย่างหนักหน่วงมาหลายต่อหลายครั้ง
เพราะมันสึกแบบไม่สม่ำเสมอกัน

ถังน้อย เอามือลูบไปบนร่องรอยดังกล่าว แล้ว ก็พูดขึ้นมาว่า

"เนื้อนุ่มจัง"

เฮ้ยยยย บ้าจริง! ยางนะ ไม่ใช่เนื้อสเต๊ก!



หลายๆคน คงไม่รู้มาก่อนว่า สเปซแวกอน เป็นรถยนต์อีกรุ่นสำคัญของมิตซูบิชิ
เพราะได้ชื่อว่าเป็นมินิแวน 7 ที่นั่ง "ขนาดกลาง" แบบแรกในโลกที่ทำตลาดจริง ก่อนใคร
เปิดตัวครั้งแรกในโลกเมื่อ 23 ก.พ.1983

(ขณะที่ไครส์เลอร์ วอยเอเจอร์ ที่เราเข้าใจกันมาโดยตลอดว่า
มินิแวนรายแรกโลกนั้น เปิดตัวเมื่อ 2 พ.ย. 1983 ในฐานะรถรุ่นปี 1984
ช้ากว่าสเปซแวกอน 8 เดือน 10 วัน และมินิแวน 7 ที่นั่ง แบบแรกในโลกที่แท้จริง
คือ นิสสัน แพร์รี : Nissan Prarie)

นับตั้งแต่มิตซูบิชิเปิดตัวมินิแวน 7 ที่นั่งรุ่นแรกของโลกมาตั้งแต่
23 กุมภาพันธ์ 1983 มิตซูบิชิเลือกจะใช้ชื่อรุ่น Chariot (แชริอ็อต)
เมื่อทำตลาดในญี่ปุ่น ส่วนตลาดต่างประเทศจะใช้ชื่อ Space Wagon
(สเปซแวกอน) ทำตลาดมาโดยตลอด มีบ้างที่อาจจะถูกผู้ผลิตรถรายอื่น
สั่งซื้อไปทำตลาดเองบ้าง ในชื่อ โคลต์ วิสตา หรือ ฮุนได ซานตาโม
แต่ก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญนัก

คนไทยรู้จักรถรุ่นนี้เป็นครั้งแรกเมื่อเอ็มเอ็มซี สิทธิผล (ผู้จำหน่ายในอดีต)
นำเข้าสำเร็จรูปทั้งคันเข้ามาขายเมื่อ 30 สิงหาคม.1992
ผลพวงภาษีรถนำเข้ายุครัฐบาลอานันท์ ปัณยารชุน ทำให้ราคาถูกเพียง 8.7 แสนบาท
ขายดีเทน้ำเทท่า ก่อนจะปรับขึ้นราคาตามภาษีใหม่เป็น 1.09 ล้านบาท
และเริ่มซบเซาจนค่อยๆลดบทบาทไปเมื่อปี 1996

และถึงแม้รุ่นที่ 3 เปิดตัวในญี่ปุ่นเมื่อ 13 ตุลาคม1997
แต่มิตซูบิชิก็ไม่ส่งมาขายในไทย เพราะภาษีรถนำเเข้า
สูงขึ้น อีกทั้งยังเจอวิกฤติเศรษฐกิจในขณะนั้นถล่มจนแทบยืนไม่ติด
จึงต้องปล่อยให้รุ่น 3 ขายกันในต่างประเทศไป ปล่อยให้เกิดสูญญากาศในไทยตามระเบียบ



รุ่นใหม่ของแกรนดิส/สเปซแวกอน ถูกพัฒนาขึ้นบนพื้นตัวถังใหม่ล่าสุดสำหรับรถขับเคลื่อนล้อหน้าขนาดใหญ่
ภายใต้ทีมงานที่นำโดย NOBORU TSUYUMINE หัวหน้าโครงการ ภายใต้แนวคิดในการออกแบบ
"JAPANEESE MODERN" เพื่อเอาใจกลุ่มลูกค้า ชาย-หญิง อายุ 30-45 ปีที่มีครอบครัวแล้วเป็นหลัก

แต่ในการกลับมาครั้งนี้ ถึงแม้ว่ามินิแวนคันที่เห็นอยู่นี้ จะเปิดตัวครั้งแรกในญี่ปุ่นเมื่อ
14 พฤษภาคม 2003 (ตอนนี้ ก็ปาเข้าไป 5 ปีแล้ว) และ มิตซูบิชิตัดสินใจถอดชื่อแชริอ็อตออก
แล้วแทนที่ด้วยชื่อแกรนดิส ที่เริ่มใช้ครั้งแรกพ่วงกับชื่อเดิมในรถรุ่นที่ 3
(แชริอ็อต แกรนดิส เปิดตัวย้อนไปเมื่อ 13 ตุลาคม 1997) แทน คราวนี้ชื่อแกรนดิส
เลยกลายเป็นชื่อที่มิตซูบิชิจะเรียกมินิแวนรุ่นใหม่ของตนชื่อเดียวทั่วโลก

แต่สำหรับเมืองไทย ประเทศที่ได้ชื่อว่า เป็นประเทศปราบเซียนฉมังด้านการตลาด
ตกม้าตายมานับไม่ถ้วน มิตซูบิชิตัดสินใจเลือกชื่อรุ่นได้ก่อนเปิดตัว
เพียง 2 เดือน และชื่อที่ตัดสินใจจะใช้คือ สเปซแวกอน หรือชื่อเดิมนั่นเอง

เหตุผลที่เป็นเช่นนี้ เพราะก่อนหน้านี้ มิตซูบิชิ เคยนำเข้า สเปซแวกอนรุ่น 2 มาทำตลาดในไทย
จนติดตลาดและผู้คนคุ้นชินกับชื่อสเปซแวกอน มากกว่า ชื่อแกรนดิส ที่เคยมีการนำไปใช้กับรถกระบะ
สตราดา 4 ประตูมาแล้ว ซึ่งหากจะใช้ชื่อแกรนดิส เหมือนทั่วโลก มีหวังผู้บริโภคคนไทยสับสน
จนงุนงงกันแน่ๆ ว่าตกลงมันเป็นชื่อรุ่นของรถอะไรกันแน่เนี่ย

นอกจากนี้ทีมการตลาดของมิตซูบิชิ ยังตัดสินใจที่จะวางตำแหน่งการตลาดของรถคันนี้เสียใหม่
คือแทนที่จะกำหนดให้แข่งขันเฉพาะคู่ต่อสู้ของตัวเองในกลุ่มมินิแวน MPV ด้วยกัน ทั้งเกีย คาร์นีวัล
และฮอนด้า โอดิสซีย์ (ณ วันที่รีวิวฉบับนี้ปล่อยออกไป ฮอนด้า ประเทศไทย ยกเลิกการนำเข้าโอดิสซีย์
มาจากญี่ปุ่นทั้งคันมาเป็นปีแล้ว เพราะไม่คุ้มกับการลงทุน) ซึ่งดูเป็นการขีดวงจำกัดการทำตลาดตัวเอง
และไม่ทำให้รถรุ่นนี้ประสบความสำเร็จนัก

กลับพลิกกลยุทธ์ใหม่ ด้วยการชูความได้เปรียบทั้งห้องโดยสารที่ใหญ่โตกว่า การขับขี่ที่ไม่ต่างจากรถเก๋ง
(เพราะสร้างขึ้นบนพื้นตัวถังรถเก๋ง) รวมทั้งเพิ่มคุณค่าต่างๆ อัดเข้าไป แล้ววางตำแหน่งการตลาดเสียใหม่
ให้เป็นหมากตัวสำคัญสำหรับอัดกลับ 3 ซีดานเพื่อนร่วมชาติเต็มๆ ในฐานะ ทางเลือกใหม่ของรถยนต์โดยสาร
ที่อเนกประสงค์กว่าสำหรับการใช้ชีวิตในเมืองและวันพักผ่อน



นอกจากซีดานทั้ง 3 รุ่นแล้ว มิตซูบิชิยังต้องการให้เอ็มพีวีคันนี้เป็นคู่ฟัดกับฮอนด้า โอดิสซีย์
และเกีย คาร์นีวัล จนต้องขยายตัวถังให้ใหญ่โตขึ้น ยาว 4,755 มิลลิเมตร. กว้าง 1,795 มิลลิเมตร.
สูง 1,655 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาวถึง 2,830 มิลลิเมตร

แต่เมื่อมองจากรูปทรงแล้ว จนถึงทุกวันนี้ ก็ยังมีอีกหลายคนเข้าใจผิดว่า
สเปซแวกอนออกมาสู้กับ Toyota Wish ความจริง ไม่ใช่เช่นนั้น
เพราะวิชมีขนาดเล็กกว่าสเปซแวกอน และจัดอยู่ในคนละกลุ่มตลาดกัน
วิชอยู่ในกลุ่ม คอมแพกต์ มินิแวน คู่แข่งในตลาดโลกปัจจุบัน
คือ Honda Stream Mazda Premacy / Mazda 5 และ Nissan Lafesta
(ตัวตายตัวแทนของแพร์รี)

ส่วน สเปซแวกอน ถือเป็น มิดไซส์ มินิแวน คู่แข่งโดยตรง ก็คือ Honda Odyssey
Nissan Presage Toyota Ipsum / Avensis Verso

ครั้งแรกที่ได้มีทดลองขับ เมื่อช่วงปลายเดือนสิงหาคม ต้นเดือนกันยายนนั้น
คันที่ผมขับ เป็นรถทดลองประกอบ Pre-Production ดังนั้น สีฟ้าที่เห็นอยู่ใน 2 รูปบนนั้น
เป็นการทดลองนำสีฟ้าของแลนเซอร์ 1.6 มาพ่นดูเท่านั้น และไม่มีขายให้กับลูกค้าทั่วๆไปแต่อย่างใด

จากวันนั้น จนถึงวันที่รุ่นปรับโฉมไมเนอร์เชนจ์ ทำคลอดกันออกมา
รุ่นมาตรฐาน GLS และ GLS Limited ยังคงมีชุดกันชนหน้า กระจังหน้า
เหมือนเดิม ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอะไรมากนัก

ยกเว้นล้ออัลลอย ลาย 5 ก้าน 17 นิ้ว ลายใหม่ พร้อมยาง 215/55R17
กับเพิ่มไฟหน้า HID รวมทั้งอุปกรณ์อีกเล็กๆน้อย

แต่ในรุ่น GT คราวนี้ ฝ่าย Product Planiing คงอยากเอาใจตลาดเมืองไทย
ว่าควรจะได้ใช้ของที่ตนคิดว่าดี เหมือนอย่างที่ลูกค้าในญี่ปุ่นได้ใช้กันอยู่
ก็เลยสะกิดๆขอพวกเจ้านายชาวญี่ปุ่นไปว่า ในรุ่นไมเนอร์เชนจ์นั้น ขอปรับลุคส์
ภายนอกให้เหมือนกับ GRANDIS SPORT GEAR ในเวอร์ชันญี่ปุ่นจะได้ไหม

นั่นจึงทำให้เราได้เห็น เปลือกกระจังหน้า พร้อมกันชนหน้าลายใหม่
โป่งข้างเหนือซุ้มล้อทั้ง 4 ล้ออัลลอยขนาด 17 นิ้วลายใหม่ สั่งตรงจากประเทศญี่ปุ่น
มาเป็นอุปกรณ์มาตรฐานของรุ่นท็อปอย่าง GT กันซะที และถ้าจะให้เหมือนกัน
มากยิ่งขึ้นไปอีก ก็เลยต้อง ยกระดับความสูงของตัวรถจากพื้นดิน ให้สูงขึ้น
จาก 155 มิลลิเมตร ในรุ่นมาตรฐาน เป็น 170 มิลลิเมตร



การยกความสูงของรถเพิ่มขึ้นเช่นนี้ มีผลทำให้ตำแหน่งเบาะนั่ง ที่จะว่าไปก็สูงพอดี
สำหรับการเข้าออกของทุกๆคน อยู่แล้ว สูงขึ้นกว่าเดิมอีกเล็กน้อย ด้วยเช่นเดียวกัน
แต่ก็ถือว่าสะดวกดี เพราะคราวนี้ เพียงแค่เปิดประตู หย่อนบั้นท้าย (ก้น) ของคุณ
ลงบนเบาะ ซึ่งจะว่าไปก็มีความสูงพอดีๆ เหวี่ยงขาทั้งสองข้างขึ้นมาบนพื้นรถพร้อมๆกัน
แล้วก็ปิดประตู เท่านี้ก็เรียบร้อย ไมต้องก้มๆ เงยๆ หรือปีนป่ายจนเกินเหตุ
เหมือนรถยนต์แบบอื่นๆ ทั่วไปในระดับราคาเดียวกันแต่อย่างใด

ห้องโดยสาร ออกแบบในลักษณะ Walk Through สำหรับผู้โดยสารคู่หน้า และแถวกลางเท่านั้น
การออกแบบให้พื้นที่ส่วนล่างของคอนโซลกลาง คล้ายแก้วคอนยัค
ทำให้ มีพื้นที่โล่ง เป็นประโยชน์อย่างมาก
ในกรณีที่ต้องจอดรถชิดฝั่งขวา และไม่อาจจะเปิดประตูรถฝั่งคนขับขึ้นไปได้
ก็แค่เปิดประตูฝั่งซ้าย แล้วเขยิบตัวขึ้นไปนั่งบนตำแหน่งคนขับ เพียงเท่านี้ก็เรียบร้อย!

เบาะคู่หน้ามีที่พักแขนปรับระดับความสูงได้ 3-4 ระดับ และสามารถปรับเอนราบ
ต่อเนื่องกับเบาะแถว 2 ได้ สำหรับใครที่อยากนอนพักผ่อนในรถ ระหว่างรอรับส่งลูกหลาน

อย่างไรก็ตาม เมื่อต้องเดินทางเป็นเวลานานๆ
เบาะคู่หน้านั้น จะนั่งไม่สบายนัก
และก่อให้เกิดอาการเมื่อยหลังขึ้นมาได้ ในบางคน



จุดเด่นของสเปซแวกอน อยู่ที่ การออกแบบให้เบาะหน้าฝั่งซ้าย อเนกประสงค์กว่าที่ทุกคนจะคาดคิด
เพราะ เบาะรองนั่ง ยังสามารถยกหงายขึ้นมาได้ จะพบช่องใส่ของ มี 2 ชั้น
ชั้นแรก รองรับข้าวของขนาดเล็กๆ ที่มีน้ำหนักไม่เกิน 5-7 กิโลกรัมได้



และชั้นที่ 2 พื้นจะเป็นเหล็ก โครงสร้างเบาะนั่นเอง จะเว้าลึกลงไป
พอให้ซ่อนของที่ต้องเก็บไว้ ในที่ลับๆตาคนได้



รวมทั้งการเจาะช่องไว้ บริเวณกลางพนักพิงทะลุไปด้านหลังได้ เพื่อให้ผู้โดยสารเบาะแถวกลาง
วางขาตามยาวได้สบายๆ หรือที่เรียกกันในชื่อ ไทยๆ ว่า "สบาย ซีท"
ลูกเล่นนี้ มาจาก รถในระดับนักบริหารของญี่ปุ่น
ซึ่งหลายคันจะเจาะช่องนี้ไว้ เพื่อให้ผู้โดยสารตอนหลัง สอดขา ยื่นออกมาวางพาดตามยาวได้

แต่ ผู้บริหารคนนั้น ก็ควรสำรวจตัวเองให้ดีว่า เป็นคนไม่มีปัญหาเรื่องเท้ามีกลิ่นอับ
มิเช่นนั้น….มันจะตลบอบอวนไปทั้งรถ คนอื่นๆจะเหม็นสุดๆจน กลิ่นตด ก็ยังจะน่าสูดดมเสียกว่า!

ส่วนทางเข้าเบาะแถวกลางนั้น มีขนาดใหญ่โต และก้าวขึ้นลงได้สบายๆ
ชวนให้นึกว่า จะดีแค่ไหน ถ้าใช้ประตูระบบบานเลื่อนไฟฟ้า?

น่าแปลกว่า ความกว้างของช่องธรณีประตู พอกันกับ ฮอนด้า โอดิสซีย์
แต่ กลับเข้าออกได้สะดวกกว่ากันเล็กน้อย



เบาะแถวกลางแบ่งเป็น 2 ชิ้น ฟังก์ชันหลักๆ ที่ใช้งานได้นั้น มีทั้งการปรับพนักพิงเอนนอนได้
แยกเลื่อนขึ้นหน้า-ถอยหลังได้เยอะมาก มีที่วางแขนขนาดใหญ่ พับลงมาวางได้สบายๆพอดีๆ



แถมยังสามารถยกเเบาะรองนั่งเพื่อวางสัมภาระทรงสูง ได้แบบเดียวกับ ฮอนด้า แจ้ส และ ซิตี้
(รูปที่เห็นนี้ ยังเป็นรูปจากรถ Pre-Production ของรุ่นเก่า แต่ฟังก์ชันนี้ ยังมีมาให้พบในรถรุ่นใหม่อยู่ดี)



เบาะแถว 3 ถึงแม้เบาะรองนั่งจะนั่งได้เต็มก้น และต้องนั่งชันขา น้อยกว่า จี-แวกอน
แต่ควรสงวนไว้สำหรับเยาวชนผู้ห่างไกล (จากความเจริญ…เอ้ย…ชุดเครื่องเสียง) เท่านั้น
เพราะเมื่อลองนั่งดูแล้ว พบว่า ด้วยความสูง 171 ซม.ของผู้เขียนนั้น ศีรษะติดเพดานพอดี



แต่ก็น่าแปลก ที่บรรดาเพื่อนพ้องน้องพี่ของผม อีก 2 คน ซึ่งสูงทั้ง 175 และโดยเฉพาะเจ้า Bombe
สมาชิก pantip.com ห้องรัชดา และยังพบเขาได้ตามบรรดาเว็บรถยนต์คลาสสิกอเมริกันต่างๆ
คนที่เห็นอยู่นี้ สูง 180 เซ็นติเมตร กลับสามารถขึ้นไปนั่งได้ โดยที่ศีรษะ พอดีกับเพดานหลังคาเป๊ะ

ก็แน่ละ สรีระผมมันเหมือนชาวบ้านเค้าซะที่ไหนกันละ?

กระนั้น พื้นที่วางขา ก็ยังไม่สบายเท่า ฮอนด้า โอดิสซีย์



และเมื่อพับเบาะแถว 3 ลง ห้องเก็บสัมภาระก็จะมีขนาดใหญ่โตพอ
จนสามารถจุถุงกอล์ฟได้ถึง 4 ใบ และนักกอล์ฟได้อีก 5 คน

พื้นที่ห้องเก็บสัมภาระหลัง มีขนาดใหญ่โตเอาการ
และ ในยามที่ใช้งานเบาะแถว 3 ตามปกติ
พื้นห้องเก็บของที่ลึกลงไป จะเหมาะสมต่อการเก็บซ่อนข้าวของที่คุณ
ไม่อยากให้มิจฉาชีพที่ไหนมาเฝ้าแอบดู ระหว่างจอดรถทำธุระ



แผงหน้าปัดดูแปลกตาตอนถ่ายรูป แต่ไม่มีปัญหาเมื่อลองใช้จริง
คันเกียร์ ติดตั้งบนคอนโซลกลางไปเลย ตามสมัยนิยม

ตำแหน่งพวงมาลัยนั้น อาจจะปรับให้ลงตัวกับสรีระของผมยากไปสักหน่อย
ในเมื่อมันปรับขึ้น-ลงได้ แต่ไม่สามารถปรับระยะใกล้-ห่าง จากตัวได้
ดังนั้น ผมจึงต้องหาตำแหน่งให้ลงตัวที่สุด ระหว่าง ผม กับพวงมาลัย
แต่ก็ยังดีที่ ยังหาได้ไม่ยากเลย

จะติดอยู่บ้างก็ตรงที่ตำแหน่งชุดเครื่องเสียง ไกลจากมือผู้ขับไปหน่อยเท่านั้น



ชุดมาตรวัดต่างๆ

มีแถบแสดงสัญญาณ โซนาร์ กะระยะ ขณะถอยหลังเข้าจอด
ทำงานพร้อมกับเสียงร้องเตือนมาด้วย

มีไฟบอกตำแหน่งเกียร์บนแผงหน้าปัด
และมาตรวัดอุณหภูมิน้ำหล่อเย็นในหม้อน้ำ

แต่ กลับไม่มีเสียงร้องเตือนเมื่อลืมคาดเข็มขัดนิรภัยแหะ…
รถสมัยนี้ น่าจะมีมาให้แล้วนะ



ระบบปรับอากาศ เป็นแบบ อัตโนมัติ อาจจะไม่มีจอดิจิตอล ให้ดูหวือหวา
แต่ความเรียบง่ายของมัน ก็ลงตัวดีกับแผงหน้าปัด

แต่ที่เด็ดก็คือ มีช่องปรับอากาศ แถว 2 และ แถว 3 มาให้
พร้อมสวิชต์ เปิด-ปิด ตามความแรงของพัดลมที่ต้องการมาให้ด้วย



ชุดเครื่องเสียง KENWOOD จอ Tocuh Scrren ในรุ่นเดิม ที่เคยให้คุณภาพเสียงดีมาก โดยไม่ต้องหาซื้อมาเปลี่ยนใหม่ ถึงแม้จะต้องคลำหาฟังก์ชัน
ที่ต้องการยากไปสักนิด คราวนี้ ฝ่ายการตลาดของมิตซูบิชิ ก็เลยสั่งสเป็กชุดเครื่องเสียงมาใหม แบบคล้ายกัน จาก ALPINE
หลังจากมีเสียงลูกค้าบอกว่า ฟอนท์ แบบเดิม ของ KENWOOD ใช้งานยาก

คราวนี้ เรื่องราวเลยสลับกัน เพราะชุดเครื่องเสียงนั้น ดูเหมือนว่าจะใช้งานง่าย เพราะมีไม่กี่เมนูเท่านั้น
ทว่า เอาเข้าจริงแล้ว การจะปรับเสียงเบส และ เสียงแหลม รวมทั้งปรับโทนเสียงต่างๆ ให้ลงตัวนั้น
เป็นเรื่องที่ยากมาก

แถมต่อให้ปรับจนตาเหลือกยังไง คุณภาพเสียงเหรอครับ?
ก็ยังออกมาไม่น่าประทับใจเท่ากับ ชุดเครื่องเสียงตัวเดิม (ซึ่งก็ไม่ได้ดีกว่ากันมากนัก) แหะ

ส่วนภาครับวิทยุนั้น เปลี่ยนมาใช้เสาอากาศแบบฝังในกระจกหน้าต่างบานหลัง Built-In Glass Antenna ที่ติดตั้งมาให้เป็นครั้งแรกในรุ่นนี้



จอมอนิเตอร์ดังกล่าว นอกจากจะรับสัญญาณภาพ โทรทัศน์ และจากชุดเครื่องเสียง พร้อมเครื่องเล่น DVD ในตัว
โดยไม่มีการดับจอภาพในขณะที่รถกำลังแล่นแล้ว ยังรับสัญญาณภาพจากกล้องขนาดเล็กบริเวณป้ายทะเบียนหลัง
ทำงานทุกครั้งเมื่อเข้าเกียร์ R เพื่อถอยหลังเข้าจอด ช่วยลดปัญหาทัศนวิสัยได้อย่างดี

(ตรงนี้ ฮอนด้า โอดิสซีย์ รุ่นมาตรฐานจาก ฮอนด้า ประเทศไทย
กลับไม่ติดมาให ทั้งที่ควรจะติดมาได้แล้ว)



นอกจากนี้ จอมอนิเตอร์ สำหรับผู้โดยสารตอนหลัง ยังถูกเพิ่มขนาดให้ใหญ่ขึ้นเป็น 9 นิ้ว
สามารถเชื่อมต่อกับระบบ TV จูนเนอร์ ได้เช่นกัน



ควบคุมการทำงานด้วย รีโมทคอนโทรล ถึง 2 ตัว
บางทีก็หยิบผิดหยิบถูก ไม่รู้ว่าอันไหนใช้คุมระบบใด
เป็นความไฮโซ ในแบบเดียวกับ มิตซูบิชิ ไทรทัน พลัส นั่นเอง
เล่นเอามึนงง ไปพักนึง แต่ก็โชคดีที่มิตซูบิชิ แถมคู่มือผู้ใช้รถ
กับคู่มือระบบเครื่องเสียงมาให้ ก็รอดไปได้เปลาะหนึ่ง

และที่เห็นเป็นแบ๊กกราวนด์นั้น คือถาดวางของ พับเก็บได้
อเนกประสงค์ทีเดียว



เพราะนอกจากวางเครื่องดื่มได้แล้ว
ผมก็ยังเอาถุงขนมมาวางไป กินไป ขับไป ก็ยังได้อีก



นอกเหนือจากระบบควบคุมไฟฟ้าในรถ ETACS ที่ใส่กันมาในรถแทบจะทุกรุ่นแล้ว
ยังมีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกที่เพิ่มขึ้นจากรุ่นก่อนปรับโฉมนั้น ค่อนข้างเยอะพอสมควร
ไม่ว่าจะเป็น ระบบควบคุมความเร็วคงที่ Cruise control ซึ่งถือเป็นมิตซูบิชิ ประกอบในประเทศ
เพื่อตลาดในเมืองไทย รุ่นแรกในประวัติศาสตร์ ที่มีระบบนี้ติดตั้งมาให้จากโรงงาน…ซะที
คนที่ทุ่งรังสิต น้ำตาแทบไหลอย่างปลาบปลื้ม ว่าในที่สุด รถของตูข้า ก็มีของเล่นดีๆ เหมือนคู่แข่งเขาแล้ว หลั่นล้า..!)

กระจกหน้าต่างทั้ง 4 บานแบบ Jam protection ดีดกลับได้เองเมื่อมีสิ่งกีดขวาง ไฟตัดหมอกหน้า
เพิ่มความอุ่นใจด้วยกุญแจนิรภัยระบบ Imobilizer พร้อมสัญญาณกันขโมย จากโรงงาน
ถุงลมนิรภัย คู่หน้า เข็มขัดนิรภัยทุกตำแหน่ง ฯลฯ อีกมากมาย



เท่านั้นยังไม่พอ มิตซูบิชิ สเปซแวอน ใหม่ ยังเอาใจคนรักเสียงดนตรี
ด้วยช่องต่อเชื่อมเครื่องเล่น I Pod จากโรงงาน

สายงี้ยาวเฟื้อยเชียว



********** รายละเอียดทางวิศวกรรม และการทดลองขับ **********

ขุมพลังยังคงเป็นบล็อกเดิม เหมือนกับรุ่นก่อนปรับโฉม
ยังคงเป็นรหัส 4G69 4 สูบ SOHC 16 วาล์ว 2,378 ซีซี พร้อมระบบแปรผันวาล์ว MIVEC
มีชุดสวิชต์ไฟฟ้าเหนือชุดเพลาราวลิ้นเดี่ยวเหนือฝาสูบ (แคมชาฟต์)
ที่คอยควบคุมการให้ชุดกระเดื่อง Rocker arm ปิด-เปิดวาล์วไอดี
เหนือห้องเผาไหม้ทั้ง 4 สูบ เพื่อช่วยให้อากาศไหลเข้าสู่ห้องเผาไหม้ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
โดยจะเริ่มทำงานเมื่อรอบเครื่องยนต์อยู่ในระดับ 3,600 รอบ/นาที ขึ้นไป
และระบบควบคุมมลพิษจากไอเสีย DUAL MCC (Manifold Catalytic Converter)

165 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 22.1 กก.-ม.ที่ 4,000 รอบ/นาที

ให้เสียงเร่งเครื่องยนต์ที่บาง ออกจะไปในโทนแหลมนิดๆ ไม่มากนัก



เชื่อมเข้ากับเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ INVECS-II Sport Mode
แต่ถูกปรับปรุงให้ตอบสนองดีขึ้นกว่าในเอาต์แลนเดอร์ อย่างเห็นได้ชัด
โดยเฉพาะอัตราเร่งในช่วงเกียร์ 2 และ เกียร์ 3 ที่ต่อเนื่องกันมากขึ้น
เป็นผลจากการปรับอัตราทดเกียร์ให้ต่างจากเอาท์แลนเดอร์รุ่นเดิม

ดูอัตราทดเกียร์กันหน่อยดีกว่า

เกียร์ 1……………………..2.842
เกียร์ 2……………………..1.529
เกียร์ 3……………………..1.000
เกียร์ 4……………………..0.712
เกียร์ถอยหลัง…………..2.480
อัตราทดเฟืองท้าย…….4.406

เรายังคงทดลองหาอัตราเร่งกันด้วยวิธีดั้งเดิม
คือ เปิดแอร์ นั่ง 2 คน เปิดไฟหน้า และทดลองกันในเวลากลางคืน
เพื่อความปลอดภัย และลดการรบกวนจากเพื่อนร่วมสัญจร
และน้องกล้วย (น้องชายคนเล็ก สมาชิก pantip.com ห้องรัชดา)
ก็ยังเป็นคนจับเวลาหน้าเดิมที่ผมเลือกใช้บริการ ด้วยเหตุผลของความรวดเร็ว
และแม่นยำ ทันทีที่ปผากผมบอกว่า ไป นิ้วของกล้วยจะกดลงบนนาฬิกาจนสุด
อย่างรวดเร็วทันที และคลาดเคลื่อนไปถือว่าน้อยมาก

และต่อไปนี้คือ ผลลัพธ์ที่ได้

**อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม.**

ครั้งที่
1……..13.26 วินาที
2……..13.16 วินาที
3……..13.11 วินาที
4……..13.25 วินาที

เฉลี่ย……13.19 วินาที

—————————————–

**อัตราเร่ง 80-120 กม./ชม.** หรือช่วงเร่งแซงทั่วไป
กดคันเร่งจนจมสุดทันที จาก 80 กม./ชม. ที่เกียร์ 4
เพื่อให้ระบบเกียร์ คิ๊กดาวน์ เปลี่ยนตำแหน่งเกียร์ลงมายังเกียร์ 2

ครั้งที่
1……..9.37 วินาที
2……..9.23 วินาที
3……..9.23 วินาที
4……..9.29 วินาที

เฉลี่ย……9.28 วินาที

—————————————–

**รอบเครื่องยนต์ที่เกียร์ 4 อันเป็นเกียร์สูงสุด **

ความเร็ว 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใช้รอบเครื่องยนต์ 2,000 รอบ/นาที
ความเร็ว 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใช้รอบเครื่องยนต์ 2,400 รอบ/นาที
ความเร็ว 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใช้รอบเครื่องยนต์ 2,600 รอบ/นาที

—————————————–

**ความเร็วสูงสุด ที่วัดได้ในแต่ละเกียร์ อ่านจากมาตรวัดบนแผงหน้าปัด**

(หน่วย กิโลเมตร / ชั่วโมง ที่ รอบเครื่องยนต์/นาที)

เกียร์ 1…….60 @ 6,100
เกียร์ 2…..115 @ 6,100
เกียร์ 3…..175 @ 6,100
เกียร์ 4…..178 @ 4,300

—————————————–

***ความเร็วสูงสุด***

178 กิโลเมตร/ชั่วโมง ณ รอบเครื่องยนต์ 4,300 รอบ/นาที ที่เกียร์ 4



ผมค่อนข้างแปลกใจ ว่าทำไมตัวเลขที่ออกมา อาจดูเหมือนกับว่าค่อนข้างอืดไป
ทั้งที่ความรู้สึกในการขับขี่จริง กลับไม่ได้สร้างความรู้สึกอืดอาดอย่างที่คิด

แต่ เหตุผลที่พอจะอธิบายได้ก็คงจะเป็นเพราะว่า น้ำหนักตัวของรถโดยประมาณ ก็ปาเข้าไป 1,710 กิโลกรัมแล้ว
ยางก็ขอบ 17 นิ้ว แต่ผมไม่แน่ใจว่าเส้นรอบวงจะเท่ากับรุ่นก่อนๆที่ผมเคยขับมาหรือไม่

อันที่จริงแล้ว ตัวเลข อัตราเร่งแซง 80-120 กิโลเมตร/ชั่วโมง จะดีกว่านี้อย่างน้อย 1 วินาทีแน่ๆ
ถ้าเกียร์ 2 นั้น ยอมลากไปตัดการทำงานเอาที่ความเร็ว 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ไม่ใช่ 115 กิโลเมตร/ชั่วโมงอย่างที่เป็นอยู่

แต่เพียงเท่าที่ทำได้อยู่นี้ ก็ถือว่า เพียงพอแล้ว
สำหรับรถยนต์ในสไตล์มินิแวน สำหรับเดินทางไปพักผ่อน ที่ไม่ได้ออกแบบมา
ให้เอาไว้ไปประลองแข่งควอเตอร์ไมล์ที่ไหน

ที่สำคัญ ตัวเลขก็พอกันกับ คู่แข่งอย่าง ฮอนด้า โอดิสซีย์ เดิมด้วยนั่นเอง
เพราะรายนั้น เฉลี่ยแล้ว ได้ 9.18 วินาที

แต่อัตราเร่ง 0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมงนั้น โอดิสซีย์ เร็วกว่า สเปซแวกอน อยู่ที่ 12.23 วินาที
ต่างกันเกือบๆ 1 วินาทีเต็มๆ

กระนั้น อัตราเร่งในช่วง 80-160 และ 100 – 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง ในช่วงเกียร์ 3
ที่เราเคยกังวลกันว่ามันจะอืดเหมือนสมัยที่เครื่องกับเกียร์ชุดนี้อยู่ในเอาท์แลนเดอร์หรือไม่นั้น
กลับทำได้ดี และไม่ต้องห่วงในประเด็นนี้อีกต่อไป

ระบบพวงมาลัย เป็นแบบแร็คแอนด์พีเนียน พร้อมเพาเวอร์ช่วย มีน้ำหนักหนืดกำลังดีในความเร็วต่ำ
แต่ออกจะเบาไปนิดในช่วงความเร็วสูง และน้ำหนักในช่วงความเร็วตั้งแต่ 40 กิโลเมตร/ชั่วโมงขึ้นไปนั้น
มันเบาพอกันกับ นิสสัน เทียนา ในช่วงความเร็วราวๆ 50-80 กิโลเมตร/ชั่วโมง

แต่ แน่นอน ว่ามันยังคง นิ่ง และ วางใจได้ ไม่มีอาการอื่นใดอันชวนให้หวาดเสียว
แถมยังคงนิ่ง แม้กระทั่งใช้ความเร็วเกินกว่า 160 กิโลเมตร/ชั่วโมงขึ้นไปแล้ว ด้วยซ้ำ

ยิ่งในช่วงเข้าโค้งด้วยความเร็วสูง แม้ว่าพวงมาลัยจะมีน้ำหนักเบาไปนิด
แต่ก็ยังพอให้ความมั่นใจได้ในย่านความเร็วสูง ไม่ต่างจากรถซีดานขนาดกลางจากญี่ปุ่น
ในระดับเดียวกัน อย่างแคมรี แอคคอร์ด และเทียนา ในช่วงรุ่นปี 2002-2006

ระบบกันสะเทือนหน้า เป็นแบบแม็คเฟอร์สันสตรัต ด้านหลังเป็นแบบ เซมิเทรลลิงอาร์ม มีเหล็กกันโคลงทั้งหน้า-หลัง
หากเป็นช่วงความเร็วต่ำนั้น การผ่านลูกระนาด หรือหลุมบ่อต่างๆ เป็นไปอย่างนุ่มนวล ซับแรงสะเทือนได้ดี
แต่เมื่อต้องใช้ความเร็วสูงขึ้น เป็น 30 กิโลเมตร/ชั่วโมง ระบบกันสะเทือน ก็จะมีอาการคล้ายกับที่คุณจะพบได้ใน
โตโยต้า แคมรี กล่าวคือ รถจะแล่นผ่านไปราวกับว่าลอยอยู่เหนือลูกระนาดและหลุมบ่อนั้น
อันเป็นเรื่องธรรมดา ก็ในเมื่อคุณแล่นผ่านไปเร็ว จนระบบกันสะเทือนไมได้มีโอกาสทำงานครบตาม Loop ของมัน
ที่ควรจะเป็นนี่นา

ส่วนการเข้าโค้งในย่านความเร็วสูงนั้น
หากเป็นโค้งที่หนักมากๆ อย่างช่น โค้งรูปตัว S บริเวณทางลงทางด่วนพระราม 6 แล้วนั้น
พิกัดปลอดภัยอยู่ที่ 70 กิโลเมตร/ชั่วโมง และจะถึงสุดลีมิท ที่ 80 กิโลเมตร/ชั่วโมงพอดี
หากเกินกว่านั้น คาดว่ายากจะควบคุมรถอยู่ได้

และถ้าจะถามว่า โคลงไหม?
ถ้าจะเปรียบเทียบกับมินิแวนคันอื่นๆที่เคยขับมา โดยเฉพาะ คู่แข่งอย่าง ฮอนด้า โอดิสซีย์
ก็ต้องยอมรับว่า แม้ตัวรถจะสูงขึ้น 20 มิลลิเมตร แต่ด้วยการเซ็ตช่วงล่างมาค่อนข้างดี
ดังนั้น หากขับทางตรง ธรรมดาๆ ไม่ไปทำซ่า ลองของ บนถนนหลวงกับใครเขา
ตัวรถจะยังนิ่งอยู่เป็นอย่างดี ในแบบที่มีนิแวน และรถตัวถังสูงทั่วๆไป
ควรจะเป็นกัน

ทว่าในการเข้าโค้งนั้น คงต้องยอมรับกันว่า การเอียงตัว ของตัวถังรถโอดิสซีย์
จะไม่มากเท่า นั่นเพราะรายนั้นมีการลดความสูงของตัวรถภาพรวมทั้งคัน รวมทั้งจุดศูนย์ถ่วง
ลงมาจากรุ่นเดิมก่อนหน้านั้น เยอะอยู่

ต้องไม่ลืมว่า นี่คือ มินิแวน และเซ็ตช่วงล่างมาในแนวนุ่ม แต่ไม่นิ่มมากจนเกินพอดี
แต่ถ้าจะถามถึงความมั่นใจในการขับขี่ในภาพรวมแล้ว ก็ตอบได้ทันทีว่า ถ้าเปรียบเทียบเฉพาะกับ โอดิสซีย์
งานนี้ โอดิสซีย์ทำได้ดีกว่า สเปซแวกอน เล็กน้อย

ทุกรุ่นใช้ดิสก์เบรก 4 ล้อ พร้อมระบบป้องกันล้อล็อก ABS ระบบกระจายแรงเบรกในภาวะฉุกเฉิน EBD
และระบบเสริมแรงเบรกในยามฉุกเฉิน Break Assist

มีการเซ็ตแป้นเบรก ที่เหมือนกับว่าจะตื้น เอาใจคนไทย แต่ข้อดีก็คือ เมื่อต้องเหยียบลงไปลึกๆ ก็ยังเหยียบลงไปได้อีก
อย่างนุ่มเท้า และหนักแน่น ไม่แข็งทื่อ ส่วนการตอบสนอง และหน่วงความเร็วนั้น ถือว่าทำได้ดีในระดับที่
รถยนต์มินิแวน ควรจะเป็นกัน มั่นใจได้ ไม่มีอาการให้ต้องลุ้นจนตัวโก่งแต่อย่างใด



********** การทดลองอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง **********

เรายังคงใช้วิธีการเดิม นั่นคือ เติมน้ำมันออกเทน 95 ให้เต็มถัง
เติมน้ำมัน ออกเทน 95 จากปั้มเชลล์ ถนนพหลโยธิน
ใต้สถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ ซึ่งยังเป็น หนึ่งในสถานีบริการไม่กี่แห่ง
ในละแวกย่านนี้ ที่ยังมีน้ำมันออกเทน 95 ให้ผมเติมได้อยู่

เซ็ต 0 ที่ Trip meter แล้วขับออกไป
ลัดเลาะไปตามซอยอารีย์ ไปอย่างไรก็ตามแต่ ให้ออกไปขึ้นทางด่วน
บนถนนพระราม 6 ให้ได้ ตามเส้นทางเดิม นั่นจะทำให้ตัวเลขระยะทาง
เพิ่มขึ้นจากเดิมเล็กน้อย ไม่มากนัก ราวๆ ไม่เกิน 1-2 กิโลเมตรแน่นอน

งวดนี้ เราได้ ตาถัง สมาชิก ของ pantip.com ห้องรัชดา อันเป็นห้องพูดคุยในเรื่องรถยนต์
มาร่วมเดินทางด้วยกันในวันนี้



ตลอดเส้นทาง ฟ้าโปร่ง รถโล่ง

โล่งขนาดที่ รถเฟอร์รารี คันนี้จะทำความเร็วได้ค่อนข้างดีนั่นละครับ



ถังน้ำมัน มีขนาด 65 ลิตร

เมื่อแล่นกลับมาถึงปั้มเชลล์ แห่งเดิมและหัวจ่ายเดิม เราก็เติมน้ำมั 95 กลับเข้าไป



ตัวเลขบนมาตรวัดระยะทาง บอกว่า เราแล่นไปทั้งหมด 91.7 กิโลเมตร

แต่ปริมาณน้ำมันที่เราเติมกลับเข้าไปนั้น

9.19 ลิตร



ผมกับ ตาถัง มองตัวเลขในโปรแกรมเครื่องคิดเลข ของโทรศัพท์มือถือ แล้ว
ได้แต่มองหน้ากันไปมา

เปล่าหรอก มิใช่สิเนหาแต่ประการใด ชายแท้อย่างตาถัง ไม่มีวันที่ผมจะคิดสนใจ!

หากแต่ตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองที่ได้นัะน "มันแสดงให้เห็นว่า สเปซแวกอน
กินน้ำมันมากกว่าที่เราคาดคิดกันไว้ไปสักหน่อยนั่นเอง"

เราคาดกันว่า ตัวเลข มันควรจะอยู่ที่ 10 กิโลเมตร/ลิตร ปลายๆ
คือราวๆ 10.0 – 10.9 กิโลเมตร/ลิตร

ทว่า พอเอาเข้าจริงแล้วผลลัพธ์ที่ได้

อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 9.97 กิโลเมตร/ลิตร

โอ้วว กินจุนิดนึงนะเราเนี่ย! หืม!

ซึ่งก็พอจะเข้าใจได้ละครับ
รถขนาดนี้ มีตัวถังหนักขนาดนี้ ต่อให้ออกแบบ จนโค้งมนแค่ไหน
แต่ก็ยังต้องมีพื้นที่แหวกอากาศมากกว่ารถเก๋งทั่วๆไปอยู่ดี
ยางที่ใช้นั้น ก็เป็น Bridgestone Turanza ER33
พร้อมล้ออัลลอยลายโรงงาน ขอบ 17 นิ้ว
แถมตัวรถยังถูกยกสูงขึ้นจากพื้นอีก 20 มิลลิเมตรด้วย
ก็ยิ่งต้านลมเพิ่มขึ้น

ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ น่าจะมีส่วนช่วยให้สเปซแวกอน กินจุกว่าที่คิดไว้ อย่างที่เห็น

คือ มันไม่ใช่รถที่ตะกละตะกลาม เป็นจอมเขมือบขนาดหนัก
อย่างที่รถหลายๆคัน ซึ่งผมเคยทดลองไว้ แล้วทำตัวเลขต่ำกว่า 10 กิโลเมตร/ลิตร คันอื่นๆเป็นกัน

แต่ถ้าจะเทียบให้เห็นภาพว่ามันกินน้ำมันประมาณไหนแล้วละก็

ลองนึกสภาพว่า คุณเป็นคนหุ่นเจ้าเนื้อ ไม่ใช่อ้วนเป็นตุ่ม แต่มีพุง
และโครงร่างใหญ่กว่าคนทั่วไปนิดหน่อย สูงราวๆ 180-185 เซ็นติเมตร
ปกติ ตื่นเช้าขึ้นมา ก่อนไปทำงาน
คุณมักจะมี ขนมปัง ไข่ดาว ไส้กรอก หมูแฮม ใส่ปาก
แต่ เช้านั้น คุณดันตื่นสาย และต้องรีบไปประชุม
แม้กระทั่งกาแฟสักแก้ว ก็ยังไม่มีเวลาจัดการ
ดังนั้น พอตอนเที่ยง คุณจึงหิวกว่าปกติเป็นพิเศษ

นั่นละครับ สเปซแวกอน กินประมาณนั้น

หรือจะว่าไปแล้ว รถแบบนี้ กินน้ำมันประมาณนี้ ก็ถือว่ารับได้สำหรับการเดินทางไกลนะ

เอาน่า ไมได้สวาปามอย่างน่าหวาดผวา เหมือนเช่นที่ เรนจ์โรเวอร์ สปอร์ต V8 ซูเปอร์ชาร์จ กินก็แล้วกัน



แต่พอมานั่งคิดดูอีกที

ผมว่า มันไม่ได้กินน่ากลัวอะไรเท่าไหร่นะครับ

เพราะ หลังจากเติมน้ำมันครั้งนี้เสร็จแล้ว

ตั้งแต่บ่าย 2 โมง วันศุกร์ จนถึง วันเอารถไปคืน
คือวันจันทร์ ตอน บ่าย โมง

ผมไม่ต้องเติมน้ำมันกลับเลยแม้แต่ครั้งเดียว!!!

ระยะทางที่แล่นหลังจากนั้น 351.1 กิโลเมตร

สภาพเส้นทางที่ใช้คือในเมืองเป็นหลัก
ออกจาก AM1269 เกียกกาย มาแวะนั่งที่ร้านกาแฟ Macchiato
ซอยอารีย์ ขับไปจัดรายการตอนดึก 5 ทุ่ม วันศุกร์ ที่ FM 89.5
เทเวศน์ เที่ยงคืน ยิงตรงกลับมาบ้าน บางนา
ใช้เส้นพระราม 9 ศรีนครินทร์

เช้าวันเสาร์ ยิงจากบางนา ขึ้นทางด่วนมาเกียกกาย
ความเร็วที่ใช้ ไม่เกิน 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ไปทำธุระที่ สยามสแควร์ นัดเจอเพื่อนฝูง
ไปแวะส่งเจ้าบอมบ์ในกรมทหาร สะพานแดง
ขึ้นทางด่วน แล้วทดลองอัตราเร่งต่างๆกัน จนถึงประมาณบางพลีใหญ่
ย้อนกลับมาศรีนครินทร์ ส่งเจ้ากล้วยเข้าบ้าน
ย้อนกลับมาบางนา

วันอาทิตย์ ขับจากบางนา ขึ้นทางด่วน ไปถ่ายรูป และทำสัมภาษณ์พี่คนหนึ่ง
(ไม่เกี่ยวกับวงการรถยนต์) ที่ กรุงเทพ-นนท์
ขากลับผ่านจตุกจักร และยิงขึ้นทางด่วน ตรง ด่าน อตก. กลับมาบางนา
ตอนเที่ยง วันจันทร์ เอารถไปคืนที่รังสิต

น้ำมัน 1 ถัง เหลือในมาตรวัดประมาณที่เห็นนี้
และรูปนี้ ถ่ายตอนจอดที่หน้าตึกสำนักงานใหญ่มิตซูบิชิพอดี

ดังนั้น น้ำมัน 1 ถัง
ถ้าคุณขับแบบ วางแผนเส้นทางต่างๆล่วงหน้า
เชื่อว่า จะใช้น้ำมัน 1 ถังได้ นานราวๆ 4-5 วัน ก่อนจะเติมเต็มถังอีกสักรอบ

ก็ถือว่า ปกติทั่วไปนะ ถือว่ายอมรับได้ครับ



********** สรุป **********
แค่รุ่น GLS Limited ก็น่าจะเพียงพอแล้ว

นับจากวันแรกที่ได้ลองขับ รถ Pre-Production
จนถึงวันนี้ ที่ตัวรถอยู่ในตลาดบ้านเรามาหลายปีแล้ว
ความคิดของผม ที่มีให้กับสเปซแวกอน ก็ยังไม่เปลี่ยนแปลงไปไหน
มันยังคงเป็น มินิแวน 7 ที่นั่ง ที่ให้พื้นที่ห้องโดยสาร กว้างขวาง โอ่โถง
และเดินทางไปได้อย่างน่ารื่นรมณ์ ในระดับราคาที่เทียบเท่ากับ ซีดานขนาดกลาง

ซึ่งถือว่าที่ผ่านมานั้น มิตซูบิชิ เอง ก็วางแผนการตลาดมาถูกทางแล้ว
เพราะถ้าขืนไปวางตัวเองเทียบแค่มินิแวนด้วยกันแล้ว คาดว่ายอดขายน่าจะน้อยกว่านี้

และการวางตำแหน่งราคา กับตัวรถแบบนี้ ก็ทำให้มีลูกค้าบางส่วนปันใจมาได้จริง
ดังที่ตั้งใจ

ทีนี้ ก็เหลือเพียงแต่ว่า ถ้ามีเครื่องยนต์บล้อกใหม่ ที่ให้สมรรถนะที่ดีขึ้นกว่านี้
และให้อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงที่ดีขึ้นกว่าเดิม อีกนิดนึง ผมว่า น่าจะยิ่งดีกว่านี้อีก
แม้ว่าทุกวันนี้ สเปซ แวกอน จะเติม น้ำมัน แก้สโซฮอลล์ E20 ได้แล้วก็ตาม



จากทั้ง 3 รุ่นย่อย ค่าตัวตั้งแต่ 1,455,000 บาท ในรุ่น GLS ถึง 1,670,000 บาท ในรุ่น GT
เอาเข้าจริงแล้ว ผมว่า ซื้อรุ่นกลาง GLS Limited ก็น่าจะพอแล้ว
เพราะอุปกรณ์ติดรถที่ให้มานั้น ไม่ได้ต่างจากรุ่น GT มากมายแต่อย่างใด
อีกทั้ง ไม่จำเป็นเลยที่จะต้องซื้อรถที่ถูกยกความสูงขึ้นอีก 20 มิลลิเมตร
เพราะช่วงล่างแบบเดิมๆ ตอนที่ไมได้ยกสูงนั้น ให้การตอบสนองที่ดีอยู่แล้ว

แต่ คู่แข่งในตลาดนี้ ถึงแม้จะค่อนข้างปลอดโปร่งโล่งสบายขึ้น
ทว่า อย่าประมาท เพราะ อย่างน้อย ฮุนได H-1 ที่ส่งเข้ามาทำตลาดในราคาถูกนั้น
ก็อาจตอดส่วนแบ่งลูกค้าไปได้บ้างเหมือนกัน

ดังนั้น ถ้ามิตซูบิชิ ทำการบ้านดีๆ และกล้าตัดสินใจมากกว่านี้
ประคับประคองดีๆไป รถคันนี้ ก็จะอยู่รอดปลอดภัย ไปจนหมดอายุตลาด

ซึ่งจะเป็นเมื่อไหร่นั้น?
อย่าว่าแต่ผมเลยที่ยังไม่รู้

แม้กระทั่ง คนญี่ปุ่นเอง เขาก็ยังไม่รู้เหมือนกัน!

———————————————–///—————————————————-



ขอขอบคุณ
ฝ่ายประชาสัมพันธ์
บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด
เอื้อเฟื้อรถทดลองขับ

———————

********** บทความประกอบ ที่แนะนำให้อ่านควบคู่ไปด้วย **********

Review จากลูกค้าผู้ใช้รถสเปซแวกอนตัวจริง คุณ Junky-Celica แห่ง ClubRT เมื่อปี 2005
http://www.clubrt.net/WB/topic.asp?TOPIC_ID=2045

———————

Honda Odyssey 2.4

มินิแวนรุ่นกลางยอดฮิตในญี่ปุ่น
ใช้โครงสร้างวิศวกรรมร่วมกับแอคคอร์ด
นั่งสบาย เบาะหนังแท้ ไม่ได้ดีเท่าแอคคอร์ดประกอบในรุ่นล่าสุดแหะ แปลกดี
ราคาก็ออกจะแพง แต่ข้าวของที่มีในแอคคอร์ดบางอย่าง กลับไม่มีให้ในรุ่นที่นำเข้าโดยฮอนด้าเอง
ส่วนผู้นำเข้ารายย่อย สเป็กดีกว่า แต่ความเร็วก็ล็อกแค่ 180 กม.ชม.
แต่ข้อเสียที่สำคัญคือ หน้าสั้นไปหน่อย แถมหน้าปัดยาวยื่น กะระยะลำบาก ขับลำบาก
แถมยังใช้เครื่องเสียง KENWOOD
แบบเดียวกับ สเปซแวกอน เวอร์ชันไทยอีก
แบบนี้ซื้อสเปซแวกอนดีกว่าหรือเปล่าละเนี่ย?

http://topicstock.pantip.com/ratchada/topicstock/V3984708/V3984708.html

———————

Ssangyong Starvic

หนูยักษ์ติดล้อ 11 ที่นั่ง ดีไซน์เรือยอร์ชหลุดโลก
ถึงเกลียดหน้าตา ทว่า ห้องโดยสาร เหมาะแก่การนั่งไปเที่ยว
มากกว่าที่คิด ชุดเครืองเสียงและ DVD ที่ให้มา คุณภาพเสียงประเสริฐมาก
อย่างกับอยู่ในคอนเสิร์ตฮอลล์
เครื่องและข้าวของวิศวกรรม ยกมาจาก เมอร์เซเดส-เบนซ์
อืดแน่นอน แต่กินน้ำมันน้อยมากๆ จนน่าแปลก
ตำแหน่งคนขับ ไม่ไหว แต่คนนั่งสุนทรีย์ ถ้าจะซื้อคิดให้ดีๆ
ว่าต้องการจริงๆ ไม่ใช่ซื้อให้เมียไปรับลูกจากโรงเรียนเพียงอย่างเดียว

http://topicstock.pantip.com/ratchada/topicstock/2006/06/V4484128/V4484128.html



J!MMY
10 มิถุนายน 2008
12.26 – 14.03 น.

Facebook Comments