Categories: รถใหม่

ทดลองขับ Mercedes-Benz E200 NGT : NGV แท้ๆจากโรงงาน รุ่นแรกในไทย!…By: J!MMY



หลายคนคงสงสัย ว่าทำไมผมถึงดองบทความรีวิว E200NGT เอาไว้นานมากเยี่ยงนี้?
ทั้งที่พอจะทราบว่าน่าจะมีคนรอติดตามอ่านกันอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง

อย่างที่ได้เคยบอกเอาไว้เมื่อครั้ง รีวิว วอลโว S80
ว่า ตอนแรก ก็ตั้งใจจะลุยให้จบในช่วงปีใหม่

แต่ดูไปดูมา กระแสร้องเรียกหารถใช้ก๊าซ จะ LPG หรือ CNG ก็ตาม
ในตอนนั้นยังไม่รุนแรงเท่าตอนนี้
ว่าง่ายๆ ตามภาษาวัยรุ่นคือ “มันยังไม่ Peak !”

แถมระหว่างนั้น มกราคม-มีนาคม เป็นช่วงที่ผมกำลังง่วนกับ
งานนวนิยายความรักของคนคู่หนึ่ง ซึ่งเดิม มีกำหนดคลอดใน
สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ในช่วงเดียวกับ บางกอกมอเตอร์โชว์ที่ไบเทค
พอมาถึงจุดที่มันถูกพักโครงการกลางคัน ก็ทำให้เกิดอาการหมดแรงบันดาลใจ
พาลพาโลโฉเก ให้งานรีวิวรถ ถูกพักยาวไปหลายคัน และนั่นคือสาเหตุหนึ่งที่ทำให้
E200NGT โดนดองมานานกว่าที่ควรจะเป็น

แต่อีกสาเหตุหนึ่งนั้น ผมเองก็ต้องศึกษาข้อมูลให้ดีๆ ไม่ให้พลาดผิดตกหล่น
ซึ่งมักจะเกิดขึ้นเป็นประจำ ยิ่งสำหรับ E200NGT นั้น เป็นรถใช้ก๊าซ
ซึ่งที่ผ่านมา ผมเองก็ต้องศึกษาเรื่องการใช้ก๊าซในรถยนต์มาบ้าง
แต่จะให้ถึงกับเชี่ยวชาญเป็นกูรู หรือกูรู้ เหมือนกับผู้คนอื่นๆทั่วไปเขา ก็หาใช่เรื่องไม่
เพราะในเมื่อทิศทางของโลกพลังงานในเวทีสากล เขาไม่ได้มุ่งไปในแนวทางของก๊าซ
เป็นหมายเลข 1 แต่อย่างใด แต่เขากลังมองไปที่ ไฮโดรเจน พลังงานลม และพลังงานน้ำกันอยู่
ส่วนรูปแบบการขับเคลื่อน ก็มีให้เลือกกันมากมาย ทั้งแบบ ICE (Internal Combustion Engine)
หรือเครื่องยนต์สันดาปแบบบ้านๆ จนถึง เครื่องยนต์พ่วงมอเตอร์ไฟฟ้า ในระบบไฮบริด
และเลยเถิดไปถึงการใช้มอเตอร์ไฟฟ้าอย่างเดียว และเรียกกระแสไฟจาก Fuel Cell

บางที ก็ศึกษานานไปหน่อย…แหะๆ

และสาเหตุสุดท้าย ก็คือ การจะเลือกเอารถคันไหนขึ้นรีวิวนั้น บางที นั่งคิดแล้วคิดอีก
ดูสถานการณ์ต่างๆ หากเป็นรถบางรุ่น ที่เตรียมการไม่นาน เมื่อส่งรถคืนปุ๊บ
ก็สามารถยกรีวิวอัพโหลดขึ้นได้เลย หรือไม่ก็อีกไม่กี่วันหลังจากนั้น

แต่กับ E200NGT นั้น ผมรอให้ Peak และสุกงอมเต็มที่ แล้วจึงปล่อยออกมา
ในจังหวะที่ พอดีๆ กับกระแสเรียกร้องว่าอยากอ่าน

ทั้งหมดนั้น ไม่ว่าคุณจะมองว่ามันเป็นข้อแก้ตัว หรืออะไรก็ตาม

มานั่งคิดดู ตั้งแต่พฤศจิกายนปีที่แล้ว จนถึงปลายเดือนกรกฎาคมปีนี้
นี่ผมดองรีวิวนี้ นานขนาดนี้เชียวหรือเนี่ย
แล้วก็สีหน้าเริ่มสำนึกผิดอยู่ในที….ก็เริ่มปรากฎขึ้น



แต่สิ่งหนึ่งที่ผมค่อนข้างจะดีใจก็คือ

สำหรับรีวิวครั้งนี้ ผมมีความยินดีที่จะกระซิบให้คุณผู้อ่านได้ทราบว่า…

“ผมไม่เป็นผู้ด้อยโอกาสทางเมอร์เซเดส-เบนซ์ แล้ว!!”

(เย้ๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ)

ในที่สุด ด้วยความอนุเคราะห์ จากฝ่ายการตลาดและสื่อสารองค์กร
ของ เดมเลอร์ไครส์…อุ๊บส์..เมอร์เซเดส-เบนซ์ ไทยแลนด์
บริษัทในเครือ เดมเลอร์ อาเก้ เยอรมัน (ชื่อใหม่หลังการปลดปล่อย
ไครส์เลอร์ออกไปจนพ้นตัว)
และเอเจนซี คู่ใจอย่าง Lowe (โลว์ หรือ ลินตาส สมัยก่อน นั่นเอง)
ก็นำพาให้โชคชะตา พาผมมาพบกับ “ดวงดาว” ซะที

และการ จั่วหัวไว้แบบนี้ ผมพูดไม่ผิดหรอกครับ
และก็ไม่ได้ยกยอปอปั้นเมอร์เซเดส-เบนซ์ เพื่อเป็นรีวิวประเดิมของรถยี่ห้อนี้เสียด้วย
เพราะยังไงๆ เราก็ยังคงต้องพูดจากันตามที่รถมันเป็นจริงอยู่ดีนั่นละ

ก็เป็นความจริงนี่นา ที่ว่า ณ วันที่รีวิวนี้ถูกเผยแพร่
เมอร์เซเดส-เบนซ์ เป็นผู้ผลิตรถยนต์ เพียงหนึ่งเดียวในเมืองไทย
ที่ติดตั้งระบบก๊าซ CNG ให้กับรถยนต์ของตน จากโรงงานธนบุรีประกอบรถยนต์
“มาตั้งแต่อยู่ในสายการผลิต”

มิได้ไปใช้วิธี ผลิตตัวรถสำเร็จรูป แล้วค่อยส่งไปให้อู่ติดตั้ง
ซึ่งตนไปดูงาน และไปยืนยันรับรอง รับประกันให้เขา
อย่างที่เชฟโรเลต ฮุนได กับ มิตซูบิชิ กำลังทำอยู่

แม้ว่า รถคันนี้ จะไม่ใช่เมอร์เซเดส-เบนซ์ คันแรกที่ผมเคยขับ และเคยนั่งมาในชีวิต
เพราะก่อนหน้า ก็เคยขับ W126 มาคันนึงรู้สึกว่าจะเป็น 380 SEL
W124 อีก 3 คัน เป็น 280E E200 และ E220
W202 อีก 3 คัน ทั้ง C180 และ C220
อันที่จริง ก็คุ้นเคยกับรถเมอร์เซเดส-เบนซ์ มาบ้างนิดๆหน่อยๆ

แต่อย่างไรก็ตาม…
สารภาพกันตรงๆเลยว่า

กับการยืมรถจากทางเมอร์เซเดส-เบนซ์ เป็นครั้งแรกในชีวิตนั้น

ผม “เกร็งครับ” !
ไม่ใช่เกร็งเพราะใครหรืออะไรอื่นใดหรอก
แต่เกร็ง เพราะความเป็นดาวอันสูงส่งของเมอร์เซเดส-เบนซ์ ด้วยตัวของรถเองนั่นละ

แม้ว่า พี่ๆ ฝ่ายพีอาร์ ผู้ออกมาดูแลต้อนรับขับสู้ผมเป็นอย่างดีนั้น
จะทำให้ผมหายเกร็งไปได้เยอะเลยทีเดียว ก็ตาม
ด้วยมุขตลกที่ผมว่า…ถ้ารับจ๊อบเล่นละครทีวี น่าจะเวิร์กมากๆ!

แต่ทันทีที่ พี่เค้า เดินจากไป..ผม “โคตรเกร็งเลยครับ”……

เกร็งตั้งแต่ความพยายามในการพาเจ้า E200 NGT คันนี้
ออกมาจากตึกรัจนากร อันเป็นสำนักงานใหญ่ของเมอร์เซเดส-เบนซ์ นั่นละ
ตอนลงจากที่จอดรถของตึก ก็ เลี้ยวไปคิดไปว่า…

“เอ้า อึ๊บๆ ค่อยๆ นะลูก ค่อยๆ อย่างนั้นและลูก ดีมาก ฟิ้ว รอดไปอีกชั้นนึง
เหลืออีกกี่ชั้นวะเนี่ย…หา ตั้ง 4 ชั้นเลยเหรอ!? เอาวะ เดี๋ยวก็รอดแล้ว
อ่ะ ค่อยๆ อ้าว เฮ้ย ไอ้ วี คลาส คันนั้น มันจะโผล่พรวดมาทำไมตอนนี้!
ป้าดธ่อ ฮือๆๆๆ เสียวซะไม่มีอะ”

พอลงจากตึกได้ ก็ต้องเลี้ยวซ้าย เพื่อไปเลี้ยวกลับที่ ปากซอย ประมวล
ซึ่งอันที่จริง มันเป็นเส้นทางที่ผม สุดแสนจะคุ้นเคย เพราะเป็นเส้นทางที่ผมเคยใช้เดินทาง
มาตลอด 12 ปี ที่เรียนอยู่ ณ โรงเรียน กรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย อันตั้งอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกล
ก็หน้าปากซอยประมวลนั่นเอง

แต่ แม้เส้นทางจะคุ้น หากว่า รถที่คุณขับ มันยังไม่คุ้น
อะไรๆก็ดูจะประดักประเดิดไปเสียหมด

“เอาแล้วไง งานเข้าแล้วตู กรูจะชนไหมว้า มอเตอร์ไซค์จะมาเกี่ยวกระจกมองข้างไหมเนี่ย
อ้าว เฮ้ยๆๆ ระวังๆๆ ไอ้นี่ เดี๋ยวปั๊ดเหนี่ยวเลย แทรกเข้ามาไม่ดูตาม้าตาเรือเลย
เอ้า ไอ้ปุ่มนี่ก็ใช้งานยังไงวะเนี่ย โอยยย ฮือๆๆๆ พ่อแก้วแม่แก้วจ๋า ช่วยก้านกล้วยด้วยยยยยยยยย!”

แต่…พอรถเคลื่อนตัวมาจนถึง สี่แยก พระราม 4 ผมก็เริ่มพบว่า…

“เออ แหะ มันก็ไม่ได้ยากเย็นวุ่นวายอย่างที่คิดไว้ตอนแรกนี่หว่า จริงๆแล้วรถมันก็ขับง่ายนั่นแหละ
เราตื่นกลัวไปเองหรือเปล่าเนี่ย ฮ่าๆๆๆ……….”

และ…ยังไม่ทันที่เสียงหัวเราะให้ความขี้ขลาดของตนเองข้างบนจะผ่านพ้นไปจากความคิดดีนัก

“ย๊ากกกกๆๆๆ ไอ้พิซซ่า พลีชีพ!! แก๊ๆๆๆๆ มาปาดหน้าชั้นทำไมฟะ ชั้นจะเลี้ยวซ้าย
แกก็มุดปาดขวาออกมาเลย…โธ่เว้ยยยย ไอ้หน้าขนมปังกระเทียม! !@#$%^&….”

ไม่ใช่อะไรหรอกครับ หลักๆที่ผมกลัวหนะ ก็กลัวว่ารถเค้าเป็นรอยหนะสิ ฮือๆๆๆๆๆๆ

แต่หลังจากนั้น เมื่อเวลาผ่านไป ระหว่างที่ผมกำลังทดลองอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง
อยู่กับตาหลุยส์ เจ้าของร้านเป็ดย่างแมนดาริน ซอยทองหล่อ ที่มักมาช่วยผมทดลองรถ
อยู่เป็นประจำ ในช่วงยามบ่ายวันเดียวกัน หรืออีกราวๆ 1 ชั่วโมงต่อมา

ผมก็เข้าใจแล้วละว่า ทำไม ผู้คนจำนวนมากถึงเลือกเมอร์เซเดส-เบนซ์กัน

ก็เพราะว่ามันขับสบาย และรื่นรมณ์ในระดับกำลังดีหนะสิ!

แล้วมันรื่นรมณ์อย่างไรกันละ?

ผมจะพาคุณไปหาคำตอบพร้อมๆกัน…



ไม่ต้องบอกก็คงจะทราบกันดีอยู่แล้วว่า
อี-คลาส ถือเป็นรถยนต์รุ่นสำคัญที่สุดของเมอร์เซเดส-เบนซ์
เพราะเป็นรถยนต์รุ่นที่ทำรายได้หลักให้กับบริษัท
มาตลอดกว่า 55 ปีที่ผ่านมา

ถ้าจะให้เขียนประวัติของ อี-คลาส กันจริงๆ
คาดว่า คงจะเหนื่อยสายตาเหลือเกินไป ทั้งคนเขียน และคนอ่าน
และยังมีโอกาสอีกมากที่จะเขียนเล่าถึงเรื่องราว
ประวัติศาสตร์ ของ อี-คลาส กันอย่างละเอียดๆ เมื่อถึงวันที่
เจเนอเรชันต่อไปของ อี-คลาส จะเผยโฉมสู่ตลาดบ้านเรา
ประมาณ ปี 2009-2010

แต่ต่อไปนี้ คือ ข้อมูลคร่าวๆ ที่คุณควรจะรู้เอาไว้
เกี่ยวกับช่วงเวลาที่อี-คลาส แต่ละรุ่น อยู่ในตลาด

“นับตั้งแต่ วันแรกที่สื่อมวลชนเห็นคันจริง ไปจนถึง
เดือนสุดท้ายที่สายการผลิตของรถรุ่นเอสเตท
ซึ่งมักเป็นรุ่นสุดท้ายที่จะเลิกผลิตเสมอ จะยุติลง”

รวมทั้งยอดผลิตทั้งหมดทั่วโลก ของแต่ละรุ่น
โดยอ้างอิงจากตัวเลขของ เดมเลอร์ อาเก้ เป็นหลัก
เรียงจากรถคันซ้าย ไปคันขวา
และจากบน ลงล่าง

รุ่นแรก W120 และ W121 หรือรุ่น Ponton
(8 กันยายน 1953 – 1962)
ยอดผลิตรวม 11 รุ่นย่อย (ไม่นับ R121 190SL Roadster)
อยู่ที่ 442,963 คัน

รุ่นที่ 2 W110 นิยมเรียกว่ารุ่นหางปลา หรือ Fintail
(แฟรงค์เฟิร์ตมอเตอร์โชว์ กันยายน 1961 – 1968)
ยอดผลิตรวม 622,453 คัน

รุ่นที่ 3 W114 และ W115 นิยมเรียกว่ารุ่น ทับ 8 หรือ Stroke 8
(มกราคม 1968 – ธันวาคม 1976)
ยอดผลิตรวมทั้ง 41 รุ่นย่อย อยู่ที่ 1,919,056 คัน

รุ่นที่ 4 W123 ที่คนไทยอุดหนุนกันมากขึ้น
และเป็นรุ่นแรกที่ธนบุรีประกอบรถยนต์
ขึ้นไลน์ประกอบในเมืองไทย
(มกราคม 1976 – มกราคม 1986)
ยอดผลิตรวมทั้ง 36 รุ่นย่อย อยู่ที่ 2,696,914 คัน

รุ่นที่ 5 W124 หรือรุ่นโลงจำปา
(พฤศจิกายน 1984 – 22 มิถุนายน 1995)
ยอดผลิตรวมทั้งซาลูน เอสเตท คูเป้ และเปิดประทุน 2,399,280 คัน

(ปี 1993 เป็นปีแรกที่เริ่มเรียกรถยนต์รุ่นกลางว่า E-Class และเปลี่ยนมาใช้
ตัวอักษรแบ่งประเภทคลาส นำหน้า ก่อนจะตามด้วยตัวเลข 3 หลัก
บอกแทนขนาดความจุเครื่องยนต์)

รุ่นที่ 6 W210 New Eyes (23 มิถุนายน 1995 – 2002)
ยอดผลิต รวม ทั้ง ซาลูน และเอสเตท 1,653,437 คัน

เกริ่นแต่โดยย่อเพียงเท่านี้ก็คงพอจะทราบกันแล้วว่า
รถยนต์นั่งขนาดกลางของค่ายดาวดวงเด่นแห่งซิงเดลฟิงเกน
จะแจ่มจรัสโดดเด่นเป็นดาวค้างฟ้า ในใจของผู้คนทั่วโลกขนาดไหน?

ในวันนี้ วันที่ เมอร์เซเดส-เบนซ์ พยายาม แตกรุ่นย่อยของ รถยนต์แต่ละตระกูล ออกไป
เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ได้มากที่สุดนั้น อี-คลาส เอง ก็เป็นหนึ่งในรถยนต์
ที่มีทางเลือกรุ่นย่อยมากมายหลากหลาย จนนับไม่หวาดไม่ไหว และมีการอัพเดทกันอยู่ตลอด



ตัวถังปัจจุบันของ อี-คลาส ใช้รหัสรุ่น W211 เปิดตัวในตลาดโลกมาตั้งแต่
15 มกราคม 2002 โดยใช้งาน บรัสเซลล์ มอเตอร์โชว์ ในการเปิดผ้าคลุมแบบ World Premier
ด้วยสโลแกน “Everything we know, in one car.”

และ เริ่มเปิดตัวในเมืองไทย อย่างเป็นทางการ วันที่ 15 มิถุนายน 2002
หรืออีก 6 เดือนหลังจากนั้น เวอร์ชันไทย เริ่มต้นในช่วงแรก ด้วยรุ่น
E220 CDI และ E240 แต่ใช้เครื่องยนต์ 2.6 ลิตร

ยังจำได้เลยว่า คุณ ฉัตรวิทัย ตัณตราภรณ์
ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายการตลาดและสื่อสารองค์กร
ในตอนนั้นยังกล่าวบนเวทีในวันเปิดตัวว่า อยากจะรีบพูดให้จบๆ โดยเร็ว
เพราะรู้ดีว่า นักข่าวหลายๆคน อยากจะรีบไปดูฟุตบอลคู่หยุดโลก คู่หนึ่งในวันนั้นกัน

ซึ่งก็รวมทั้งพี่เค้าด้วยนั่นแหละ!

ยอดขายก็ทำได้ดีดังคาด แน่ละ ผู้คนจำนวนมากย่อมเลือกสิ่งที่ตนคิดว่าดีที่สุด
และที่ผ่านมา ผู้คนส่วนใหญ่เหล่านั้น ก็เชื่อโดยฝังใจว่า ตนคิดไม่ผิดหรอก

จนกระทั่ง วันที่ราคาน้ำมันในตลาดโลก เริ่มขยับขึ้นเกินไปจากที่มันควรเป็น
ผู้บริโภคก็เริ่มมองหารถยนต์ที่สามารถใช้พลังงานทางเลือกเพิ่มขึ้น

ดังนั้น เวอร์ชันก๊าซธรรมชาติ E200 NGT จึงถูกพัฒนาขึ้น และอวดโฉมครั้งแรก
ในงานแฟรงค์เฟิร์ตมอเตอร์โชว์ กันยายน 2003 และส่งขึ้นโชว์รูมในเยอรมัน
เป็นประเทศแรกเมื่อช่วงกลางปี 2004 จากนั้น ออสเตรเลีย อิตาลี และสวีเดน เป็น 3 ประเทศ
ในลำดับต่อมาที่ได้ทำตลาดอี-คลาสรุ่นพิเศษนี้ ก่อนที่คนไทยจะได้สัมผัสกันในช่วงกลางปี 2005
ซึ่งในช่วงแรก ตั้งราคาขายในบ้านเรา 4,194,000 บาท

แต่เมื่อ ธนบุรีประกอบรถยนต์ โรงงานประกอบคู่บุญบารมีของเมอร์เซเดส-เบนซ์ในบ้านเรามานาน
พร้อมจะขึ้นสายการผลิต E200 NGT ในช่วงปลายปี 2006 แล้ว ราคาค่าตัวก็หล่นลงมาเหลือที่ระดับ 3.7 ล้านบาท

E200 NGT แตกต่างจาก อี-คลาสรุ่นอื่นๆ เพราะสามารถใช้ พลังงานได้ 2 ระบบ
คือ น้ำมันเบนซิน และก๊าซธรรมชาติ CNG หรือ Compressed Natural Gas
จุดเด่นอยู่ที่ การพัฒนาเครื่องยนต์ให้สามารถรองรับการใช้ก๊าซ CNG ได้
เพื่อช่วยลดปริมาณการใช้น้ำมันเบนซินซึ่งมีราคาแพง อีกทั้งยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
เพราะ เมื่อใช้ซีเอ็นจีในไอเสียจะมี คาร์บอนไดออกไซด์ลดลง 20%

และที่สำคัญ คือ ต้องสามารถใช้ก๊าซ CNG ได้ โดยที่สมรรถนะจากเครื่องยนต์
ต้องไม่สูญเสียไปแต่อย่างใด นี่คือโจทย์ที่ออกจะยากไปสักหน่อย
แต่เมอร์เซเดส-เบนซ์ ก็ทำออกมาขายแล้ว

เมื่อถึงเวลาที่ รุ่นปรับโฉมไมเนอร์เชนจ์ครั้งใหญ่ เผยโฉม
สุ่ตลาดโลก เมื่อ 11 เมษายน 2006 หลังจากนั้นไม่นาน เวอร์ชันไทย
ก็ถูกส่งขึ้นโชว์รูมพร้อมกันเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2007
ซึ่งถ้าจะเรียกว่ารุ่น PRE-SAFE ก็คงไม่ผิดหนัก เพราะรุ่นนี้
เน้นในการอัดเทคโนโลยีด้านความปลอดภัยให้เต็มพิกัดที่สุดเท่าที่มีมา
ในตระกูล อี คลาส

เวอร์ชัน NGT ก็ตามออกมาให้เป็นเจ้าของกันได้ ในงานบางกอกมอเตอร์โชว์ 2007
หรืออีก 1 เดือนครึ่งหลังจากเปิดตัวรุ่นไมเนอร์เชนจ์นั่นเอง พร้อมกันกับเวอร์ชันตลาดโลก
ที่ออกสู่ตลาดพร้อมๆกันในเดือนมีนาคม 2007



รูปลักษณ์ภายนอก ของ E200 NGT มีขนาดไม่แตกต่างไปจากพี่น้องร่วมตระกูล
ด้วยความยาว 4,856 มิลลิเมตร กว้าง 1,822 มิลลิเมตร สูง 1,483 มิลลิเมตร
และระยะฐานล้อ 2,854 มิลลิเมตร

น้ำหนักรถเปล่า 1,765 กิโลกรัม
แต่เมื่อรวมน้ำหนักบรรทุก ที่รับได้มากสุด 510 กิโลกรัมเข้าไป
น้ำหนักรวมการบรรทุกผู้โดยสารเต็มพิกัด จะอยู่ที่ 2,275 กิโลกรัม

ยืนพื้นด้วยการตกแต่งในแบบ ELEGANCE ซึ่งเน้นความหรูหราและดูสง่างาม
มากกว่า แบบ Avantguard ซึ่งเน้นความสปอร์ต โฉบเฉี่ยวมากกว่า

กันชนสีเดียวกับตัวรถ มีแถบโครเมียมประดับตามส่วนต่างๆของตัวรถ
กระจกหน้าต่างกรองแสง สีเขียว กระจังหน้าแบบ 4 แถบ พร้อมเคลือบเงาผิวสีเทา

ดูจากภายนอกแล้วสิ่งที่ทำให้ตัวรถดูแตกต่างจาก อี คลาส ทั่วๆไป
อยู่ที่ล้ออัลลอย ลายที่ติดมากับรถ เป็นขนาด 16 นิ้ว ลาย 11 ก้าน
สวมด้วยยางขนาดพื้นฐาน สำหรับรถระดับนี้ 225/55R16

โลโก้ NGT แปะที่ฝากระโปรงหลัง และสติ๊กเกอร์ สี่เหลี่ยมสีเขียว
ระบุว่ารถคันนี้ใช้ก๊าซ CNG ซึ่งจะต้องติดแสดงให้เห็นเด่นชัด ตามกฎหมาย



เมื่อเปิดประตูคู่หน้าเข้าไป ก็พบว่า

ถึงแม้ในวันนี้ วอลโว S80 จะแย่งชิงความเป็นห้องโดยสาร
ที่น่านั่ง ที่สุดในกลุ่ม พรีเมียม มิดไซส์ ซาลูน
จาก อี-คลาส ไปเรียบร้อยแล้ว ก็ตาม

แต่ที่แน่ๆ บรรยากาศในห้องโดยสารของอี-คลาส
ก็ยังเป็นมิตรกว่า อบอุ่น และดูนุ่มนวลกว่า
ห้องโดยสารของ BMW ซีรีส์ 5 นั่นอยู่ดี

โทนสีในการตกแต่งภายใน เป็๋นสีเทาอ่อน
ตัดสลับกับ ลายไม้ Wallnut



เบาะนั่งคู่หน้าปรับด้วยไฟฟ้า ระบบ”อัตโนมัติ” พร้อมหน่วยความจำให้ 2 ตำแหน่ง
ปรับละเอียด แม้กระทั่ง พนักศีรษะ ก็ยังปรับด้วยไฟฟ้า
แต่ว่ายังมีระบบปรับดันหลัง ที่ยังต้องใช้วิธีการ “อัตโนมือ” กันอยู่
ค่อนข้างสบาย และช่วยลดความเมื่อยล้าขณะเดินทางได้ดี

ตำแหน่งที่วางแขน ทั้งบนแผงประตู และที่คอนโซลด้านข้างนั้น
วางแขนได้อย่างสบายๆ ไม่ขาดๆเกินๆ จนก่อความอึดอัด
อย่างที่รถญี่ปุ่นสมัยนี้บางคันเป็นอยู่แต่อย่างใด

พื้นที่เหนือศีรษะยังมีอยู่มากพอๆกันกับรถในกลุ่มคู่แข่งระดับเดียวกัน



ประตูคู่หลัง เข้าออกสะดวกสบายดี โอกาสที่ศีรษะจะชนขอบธรณีประตูมีน้อย
กระจกหน้าต่าง มีม่านบังแดด แบบโปร่งซ่อนอยู่ หากต้องการใช้ ก็ดึงขึ้น
ด้วยวิธีอัตโนมือ เหมือนกับใน ซีรีส์ 5

มีช่องแอร์สำหรับผู้โดยสารตอนหลัง ติดตั้งอยู่ด้านหลังกล่องคอนโซลเก็บของตรงกลาง
และมีช่องที่เขี่ยบุหรี่ ที่แผงประตูทั้ง 2 ฝั่ง ส่วนพื้นที่วางขานั้น รถระดับนี้ มีเหลือเฟือ
เพียงแต่เบาะรองนั่ง ออกจะบางไปสักหน่อย



ส่วนเบาะหลัง ก็ยังถือว่านั่งสบาย
แม้จะสู้เบาะนั่งของวอลโว S80 ที่สดใหม่กว่าไมได้
แต่แน่นอนว่า ไม่มีอะไรให้ผมต้องบ่นเท่าเบาะนั่งด้านหลัง
ที่จมลงไปแบบแปลกๆของซีรีส์ 5 ก็แล้วกัน
พื้นที่เหนือศีรษะ ยังมีเหลืออยู่กำลังดี
เข็มขัดนิรภัยเป็นแบบ ELR 3 จุด ทั้ง 5 ที่นั่ง
พนักศีรษะ พับเก็บลงได้ด้วยการกดปุ่ม และหากต้องการใช้งาน ก็แค่ใช้มือดึงมันขึ้นมา

ส่วนม่านบังแดดหลัง ก็มีมาให้ แถมปรับขึ้นลงด้วยไฟฟ้าอีกต่างหาก



ที่วางแขนด้านหลัง มีกล่อบเก็บของกระจุกกระจิก ซ่อนอยู่
ต้องเปิดฝาขึ้นมาถึงจะรู้ แถมด้วย ที่วางแก้ว อีก 2 ชิ้น เปิด-ปิดได้
แต่วางขวดน้ำ 7 บาทไม่ค่อยจะอยู่ดีนัก


ห้องเก็บสัมภาระด้านหลัง ในรุ่นปกติ มีความยาว หรือลึก 1,140 มิลลเมตร
กว้าง 1,740 มิลลิเมตร และหากพับเบาะหลังลงได้ด้วย จะยาวเป็น
14,865 มิลลิเมตร จุสัมภาระได้ 540 ลิตร ตามมาตรฐานของ VDA เยอรมัน

แต่ในเมื่อ E200 NGT ติดตั้งชุดถังก๊าซด้วยแล้ว
อีกประเด็นที่แตกต่างออกไปคือ เบาะนั่งด้านหลังจะพับลงไม่ได้
และขนาดห้องเก็บของด้านหลัง ก็จะลดลง เหลือ 400 ลิตร ตามมาตรฐาน VDA



แผงหน้าปัด ออกแบบได้สวยงาม และพยายามมีปริมาณสวิชต์ต่างๆ
ให้ดูน้อยชิ้น แต่ก็ต้องดูพราว ให้ความรู้สึกว่า มีของเล่นเยอะ ไปด้วย
ตามแบบของ S-Class รุ่นก่อน

ยากที่ผู้ผลิตรถยนต์ทั่วๆไป ซึ่งไม่ใช่ผู้ผลิตระดับพรีเมียมด้วยกันจะทำได้
ในการสร้างความรู้สึกทางจิตวิทยาให้เกิดกับผู้บริโภค

ติดตั้ง กระจกมองหลังตัดแสงอัตโนมัติ
ไฟในห้องโดยสาร และไฟอ่านแผนที่ ตามจุดต่างๆของรถ
ส่องสว่างอล่างฉ่างอย่างมาก

ชุดมาตรวัดผลิตโดย VDO
ซัพพลายเออร์ระบบอีเล็กโทรนิกส์ในรถรายใหญ่ของยุโรป
เรืองแสงสว่างได้สวยงาม หากสว่างเกินไป มีก้านรับแสงสว่างของหน้าจอ
แบบมือหมุนขนาดเล็ก อยู่ที่ฝั่งซ้ายของชุดมาตรวัด

จุดเด่นอยู่ที่จอ Multi Information Display
วงกลมใหญ่ตรงกลาง ซึ่งจะเป็นจอแสดงผลหลัก ของทุกระบบในตัวรถ

ผู้ผลิตรายอื่นๆ มักติดตั้งนาฬิกาบอกเวลา ไว้ในตำแหน่งต่างๆ
และมันมักมีขนาดเล็กๆ มากสุดคือขึ้นตัวเลขบอกเอาไว้แบบดิจิตอลถูกๆ

แต่เมอร์เซเดส-เบนซ์ ดูจะให้ความสำคัญกับเวลามาก
ถึงขนาดติดตั้งนาฬิกาขนาดมโหฬารที่สุด เท่าที่เจอมาในรถยนต์ยุคหลังๆ
ฝังไว้ในชุดมาตรวัดฝั่งซ้าย

นอกจากหน้าจอ Info วงกลมกลาง จะบอกถึงปริมาณของระบบก๊าซที่เหลืออยู่
ในถังแล้ว…



ยังเป็นหน้าจอสำหรับแจ้งเตือนสถานของระบบต่างๆในรถด้วย

อาทิ ความเร็วเฉลี่ย อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย อุณหภูมิภายนอก…



แจ้งเตือนการเข้าศูนย์บริการครั้งต่อไป…



ระบบ แจ้งเตือนความดันลมยาง Tyre Monitoring Pressures…



รวมไปถึงการเป็นหน้าจอของชุดเครื่องเสียง
จะเปลี่ยน CD หรือ วิทยุ ก็จะขึ้นสถานี หรือ Track ที่เล่นอยู่
และลำดับของ CD แผ่นที่เล่นอยู่
บนหน้าจอนี้เลย…



รวมถึงเป็นหน้าจอในการแจ้งเปลี่ยนระบบเชื้อเพลิงที่ใช้อยู่
ทั้งโหมดน้ำมันเบนซิน หรือโหมดก๊าซ CNG

สวิชต์ Multi Function ที่พวงมาลัย แบ่งการทำงาน
ปุ่มปรับเปลี่ยนระบบการทำงานที่พวงมาลัย
มีถึง 4 ปุ่ม

ถ้าให้จำง่ายๆ
– บนซ้ายไว้คุมชุดเครื่องเสียง เลื่อนเพลง
– ล่างซ้าย เข้าเมนูหลัก
– บนซ้าย ไว้ เลือกเมนูย่อย และคุมชุดเครื่องเสียง เปลี่ยนเพลง
– ซ้ายล่าง เมนูหลัก
– บวกลบ ปรับเสียงกะ เลือกปรับ เมนูย่อย



หรือถ้ายังอยากรู้ให้ละเอียดๆ
พยายามแกะอ่านเอาจากรูปในคู่มือนี้เลยแล้วกันครับ
มันเยอะมากจน ไม่รู้จะเขียนยังไงดีเหมือนกัน
แกะอ่านเอาวิธีนี้ ดีที่สุด ^V^ HaHaHa



เครื่องปรับอากาศ เป็นแบบดิจิตอลแยกฝั่ง ซ้าย-ขวา
และหน้า-หลัง ที่เรียกว่า Thermatic มีเซ็นเซอร์ 4 ตัว
ที่คอยตรวจวัดอุณหภูมิ ภายในห้องโดยสาร
ซึ่งถูกเพิ่มปริมาณอากาศที่ไหลออกมาากรุ่นเดิม 5 เปอร์เซนต์
และถ้าเมื่อไหร่ที่เซ็นเซอร์ตรวจจับก๊าซไนโตรเจน ออกไซด์
หรือ คาร์บอนมอนอกไซด์ และคาร์บอนไดออกไซด์ เข้ามา
ก็จะสั่งการให้เปิดระบบให้อากาศภายนอกไหลเวยนเข้ามาภายในรถแทน

วิทยุเป็นแบบ MB Audio 20 มีเครื่องเล่น CD ให้ 6 แผ่น
พร้อมลำโพง 9 ชิ้น ปรับการทำงานได้จากบนพวงมาลัย
ให้คุณภาพเสียงที่ดีเพียงพอแล้ว



ถ้าจะถามว่า แล้วช่องใส่ ซีดีทั้ง 6 แผ่น อยู่ที่ไหน?
คำตอบก็คือ ซ่อนตัวอยู่ที่นี่ครับ ทำอย่างกับรถต้นแบบสมัยก่อนเลยทีเดียว!

สวิชต์ที่เห็นยกตัวขึ้นมานั้น
มีทั้ง สวิชต์ปลดและสั่งล็อกประตูทั้ง 4 บาน

สวิชต์เปิด-ปิด ระบบควบคุมเสถียรภาพครบวงจร
ESP (Electronics Stability Program)
ซึ่งรวมระบบป้องกันล้อหมุนฟรีตอนออกตัว
ระบบป้องกันล้อล็อก ABS ระบบกระจายแรงเบรก
BAS (Break Assist) ฯลฯ เข้าไว้ด้วยกัน

สวิชต์ม่านบังแดดหลังไฟฟ้า
และ สวิชต์ปลดล็อกพนักศีรษะพับเก็บลง
รวมทั้งสวิชต์เปิด-ปิดถุงลมนิรภัยฝั่งผู้โดยสารด้านซ้าย
และมีระบบ Bluetooth สำหรับโทรศัพท์เคลื่อนที่มาเรียมพร้อมไว้ให้



สวิตช์เปิด-ปิดไฟหน้าและไฟตัดหมอกทั้งหน้า-หลัง
รวมทั้งสวิชต์แบบเลื่อน ปรับความสว่างของไฟหน้า
ติดตั้งอยู่ริมฝั่งขวาของแผงหน้าปัด เช่นเดียวกับ
สวิชต์ปรับตำแหน่งเบาะด้วยไฟฟ้า พร้อมหน่วยความจำ
ก็ยังคงอยู่ที่แผงประตูด้านข้างเหมือนเมอร์เซเดส-เบนซ์รุ่นอื่นๆ นั่นละ

ถัดลงไปจากชุดเปิด-ปิด-ไฟหน้า คือ เบรกมือไฟฟ้า
ที่ย้ายตำแหน่งมาไว้บริเวณนี้

ส่วนสวิชต์กระจกหน้าต่างไฟฟ้า ย้ายมาติดตั้งอยู่ที่แผงประตูทั้งสี่บาน
ขณะที่ เมอร์เซเดส-เบนซ์ รุ่นก่อนๆ จะติดตั้งชุดสวิตช์ไว้ที่คอนโซลกลาง



การติดเครื่องยนต์ ยังคงใช้ รีโมทกุญแจ เสียบเข้าไปที่สวิชต์มือบิดตามเคย

ถ้าจะถามว่า ติดเครื่องยุ่งยาก ก่อนดับเครื่องยนต์ใช้เชื้อเพลิง
แบบใดก็จะสตาร์ตเครื่องยนต์ด้วยเชื้อเพลิงนั้น ถ้าสตาร์ตด้วยแก๊ส
จะสตาร์ตยาวกว่าน้ำมัน โดยในการสตาร์ตไม่ต้องหมุนกุญแจค้าง แค่
หมุนกุญแจเข้าตำแหน่งแล้วปล่อยมือ เครื่องยนต์ก็จะสตาร์ตจนกว่าจะ
ติด ซึ่งโดยทั่วไปแนะนำให้สตาร์ตด้วยน้ำมัน ซึ่งทำได้ 2 วิธี คือ สลับ
เป็นน้ำมันก่อนดับเครื่องยนต์ หรือสลับเป็นน้ำมันก่อนสตาร์ต

เบรกมือ เป็นระบบ แป้นเหยียบที่เท้าซ้าย และมีสวิชต์ตัว P ไว้สำหรับถอนแป้นขึ้น ยกระบบเบรกมือออก และที่ต้องอัพเดทกันก็คือ W211 ไมเนอร์เชนจ์ 2007 คราวนี้ ได้ยกเลิกระบบ Sensotronic brake กลับมาใช้ระบบไฮโดรลิกเเบบ Adapptive brake มันเป็นระบบมีปัญหาในversionก่อนมาก(2000-2006)



ส่วนช่องเก็บของในห้องโดยสารนั้น นอกจากที่แผงประตูทั้ง 4 บานแล้ว
กล่องเก็บของที่แผงหน้าปัดฝั่งซ้าย ออกแบบ ให้มี 2 ชั้น
ชั้นบนไว้เก็บคู่มือและเอกสารประจำรถ
ด้านล่าง ไว้สำหรับทรัพย์สมบัติส่วนตัวของเจ้าของรถ เช่นปืนพก…

ลิ้นชักด้านข้างที่ยื่นแหลมออกมานั้น ใหญ่พอจะวางโทรศัพท์์เคลื่อนขนาดเล็กได้



และที่ผมออกจะชอบมากก็คือ
ชุดปฐมพยาบาลนั้น เขาเอาเก็บไว้ใต้่เบาะนั่งฝั่งผู้โดยสารด้านหน้า
เวลามีเหตุฉุกเฉิน จะได้หยิบฉวยออกมาใช้ได้ทันที



กล่องคอนโซลกลาง มีขนาดใหญ่พอสมควร
ใส่ ซีดีได้หลายแผ่น และมีไฟส่องสว่างเล็กๆมาให้



อุปกรณ์มาตรฐานต่างๆที่ควรรู้เอาไว้ว่ามีมาให้ใน E200 NGT นั้น
ได้แก่

ถุงลมนิรภัยคู่หน้า ด้านข้าง สำหรับทั้งผู้โดยสารคู่หน้า และด้านหลัง
เข็มขัดนิรภัยแบบ ดึงกลับอัตโนมัติ และลดแรงปะทะในตัว
ระบบกุญแจ Immobilizer
กระจกมองข้างพร้อมไฟเลี้ยว ปรับด้วยไฟฟ้า พร้อมไล่ฝ้าในตัว
ชุดซ่อมปะยาง TIREFIT พร้อมปั้มสูบลมไฟฟ้า
เผื่อไว้ในกรณีระบบแจ้งเตือนความดันลมยาง (ASSYST PLUS)
บอกว่า ยางแบนแล้ว

ฯลฯ อีกมากมาย

ไปหาอ่านเอาเพิ่มเติมได้ใน http://www.Mercedes-Benz.co.th



********** รายละเอียดทางวิศวกรรม และการทดลองขับ **********

เครื่องยนต์ ที่วางอยู่ใน E200 NGT นั้น
ดัดแปลงมาจากเครื่องยนต์ ของรุ่น E200 KOMPRESSOR



เป็นบล็อก 4 สูบเรียง DOHC 16 วาล์ว 1,796 ซีซี
ความกว้างกระบอกสูบ/ระยะชัก : 82.0 x 85.0 มิลลิเมตร
อัตราส่วนกำลังอัด 11.3 : 1
กำลังสูงสุด 120 กิโลวัตต์ หรือ 163 แรงม้า ที่ 5,500 รอบต่อนาที
แรงบิดสูงสุด 240 นิวตันเมตร หรือ 24.45 กก.-ม.
ที่ช่วงรอบเครื่องยนต์ 3,000 – 4,000 รอบต่อนาที



แต่ทีมงานวิศวกรของเมอร์เซเดส-เบนซ์ ปรับปรุงเครื่องยนต์ให้รองรับ
กับการใช้เชื้อเพลิง 2 ระบบ โดย ติดตั้งหัวฉีดแก๊สใต้ท่อร่วมไอดี
และเพิ่มตัวควบคุมแรงดันพร้อมเซ็นเซอร์ และวาล์ว Electro-Magnetic
สำหรับควบคุมแรงดันแก๊ส



ส่วนถังเชื้อเพลิงนั้น นอกจากถังน้ำมันขนาด 80 ลิตร ที่มีมาให้ตามปกติแล้ว
ยังต้องใช้ถังบรรจุก๊าซ CNG ความจุประมาณ 4.5 กิโลกรัม มากถึง 4 ถัง!!
รวมแล้ว มีความจุ 18 กิโลกรัม หรือ 107 ลิตร



แสดงว่า ถ้าหารกันออกมาเล่นๆ จากตัวเลขดังกล่าวแล้ว
CNG หนัก 1 กิโลกรัม น่าจะมีปริมาณ 5.94 ลิตร

โดย 2 ถังแรก ซ่อนไว้ ด้านหลังของ เบาะนั่งด้านหลัง



ส่วนอีก 2 ถังที่เหลือ ซ่อนเอาไว้ ใต้พื้นห้องเก็บสัมภาระนั่นเอง

และนี่คือสาเหุตที่จะต้องให้ชุดปะยางติดรถมาให้

เพราะจะไม่มีที่เก็บยางอะไหล่นั่นเอง



ส่งกำลังด้วย เกียร์อัตโนมัติ 5 จังหวะ
มีอัตราทดเกียร์ดังนี้

เกียร์ 1………………..3.95
เกียร์ 2………………..2.42
เกียร์ 3………………..1.49
เกียร์ 4………………..1.00
เกียร์ 5………………..0.83
เกียร์ถอยหลัง…………3.46
อัตราทดเฟืองท้าย……3.46

พร้อมโหมด บวก-ลบ ที่เมอร์เซเดส-เบนซ์ เรียกว่า One-Touch
ซึ่งใช้วิธีที่แตกต่างจากชาวบ้านชาวเมืองเขาสักหน่อย
คือ คุณต้องผลักคันเกียร์ ไปทาง ซ้าย-ขวา

มันชวนให้ผมนึกถึง คันเกียร์ ของ รถยนต์ อยู่ 3 ยี่ห้อ

ไครส์เลอร์ (Chrysler)
ดอดจ์ (Dodge)
และ….ซางยอง สตาร์วิค….! (Ssangyong Starvic)

อ้ะๆๆๆ อย่าลืมสิครับว่า รถทั้ง 3 รายที่ผมเขียนมานี้
เคยมีความเกี่ยวดองพ้องญาติ กับเมอร์เซเดส-เบนซ์ กันมาก่อนทั้งสิ้น!

ไครส์เลอร์ กับ ดอดจ์ บางรุ่น เช่นพวก 300M ก็ใช้ชุดเกียร์ ที่มีพื้นที่คล้ายๆกันนี้
คือ ผลักเกียร์ บวก-ลบ แบบ ซ้าย-ขวาเช่นกัน ไครส์เลอร์ (ซึ่งในตอนนั้น ยังเป็นกลุ่ม
เดมเลอร์ไครส์เลอร์ อยู่) เรียกเกียร์แบบนี้ว่า Stick Tronic
เป็นชื่อที่ชวนให้นึกถึง เรโซนา Mini Stick ของหนูแคทลียา อิงลิชเป็นอย่างมาก!

ขณะที่ ซางยอง สตาร์วิค ก็ใช้ เครื่องยนต์ ของ อี-คลาส รุ่น W210
รวมทั้ง ชุดเกียร์ ก็ยังเป็นงานของ ZF แบบเดียวกับที่ใส่อยู่ใน อี-คลาสรุ่นก่อนนั่นเช่นกัน
และถ้าหากย้อนกลับไปอ่านในรีวิวเก่าๆ ของสตาร์วิคที่ผมเคยทำเอาไว้ คุณก็จะพบว่า
เกียร์ของ สตาร์วิคนั้น คันเกียร์ ก็ต้องโยก ซ้าย-ขวา บวก-ลบ คล้าย (แต่ไม่เหมือนซะทีเดียว)
กับ อี-คลาสใหม่นี้เลย

เรายังคงทดลองกันด้วยวิธีการเดิม
คือ นั่ง สองคน เปิดแอร์ ใช้เวลากลางคืน เปิดไฟหน้า
และปล่อยเกียร์เอาไว้ในตำแหน่ง D โดยไม่เล่นเกียร์เอง
ปล่อยให้เกียร์เปลี่ยนตำแหน่งขึ้นเอง

ผู้ที่มาทดลองช่วยผมในคราวนี้ ก็ยังคงเป็นน้องกล้วย (Login น้องชายคนเล็ก Pantip.com ห้องรัชดา)
น้ำหนักตัว 48 กิโลกรัม รวมกับตัวผม 90 กิโลกรัม รวม 138 กิโลกรัม

ผลที่ได้ เมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งในระดับเดียวกัน มีดังนี้



ก่อนอื่น ต้องทำความเข้าใจกันเสียก่อนว่า
ในบรรดารถยนต์กลุ่มตลาดเดียวกันที่นำมาเปรียบเทียบตัวเลขกันที่ผมเคยทดลองขับมาทั้งหมดนี้

E200 NGT มีขนาดความจุกระบอกสูบเล็กที่สุด
เมื่อต้องมาอยู่ในตัวรถที่มีน้ำหนักตัวรถเปล่ามากถึง 1,765 กิโลกรัม
รวมกับถังก๊าซ CNG ที่แบกอยู่ถึง 4 ถัง มีน้ำหนักของก๊าซอีก 18 กิโลกรัม
และน้ำหนักตัวของผมและน้องกล้วยอีก 138 กิโลกรัม

สำหรับคนที่เคยขับ E220 CDI มาก่อนอาจจะรู้สึกว่ามันอืด
แต่ ถ้าคิดจากตัวเลขทั้งหมดที่เห็นมานี้แล้ว

ได้อัตราเร่งขนาดนี้ ถือว่า ทำได้ดีมากแล้วละครับ!

ตามปกติแล้ว อัตราเร่งของรถยนต์ที่ติดตั้งระบบก๊าซ CNG นั้น อาจจะมีอัตราเร่ง
ในโหมดน้ำมันเบนซิน และโหมด ก๊าซ ที่แตกต่างกัน

แต่สำหรับ E200 NGT ไม่เป็นเช่นนั้น
ตัวเลขผลการทดลองขับที่แสดงให้เห็นอยู่นี้
เท่ากับยืนยันให้เห็นว่า ตัวเลขที่ผมทดลองไว้
แตกต่างจากทางโรงงานทดสอบไว้เพียง 1 วินาทีโดยประมาณเท่านั้น

แถมอัตราเร่งของทั้งโหมดน้ำมันเบนซิน และก๊าซ CNG แทบไม่ได้แตกต่างกันเลย เหมอืนกันกับที่โรงงานเคลมไว้เช่นเดียวกัน

คันเร่งไฟฟ้า Drive By Wire ทำงานตอบสนองช้าไป 1 วินาที
หลังจากเพิ่มน้ำหนักเท้าลงบนคันเร่ง
พอกันกับ โตโยต้าแคมรี และ วอลโว S80 ใหม่

ทว่าในการขับขี่ในชีวิตประจำวัน
ผมก็ยังสามารถพาเจ้า E200 NGT แทรกผ่านการจราจรที่ติดขัด
ได้อย่างคล่องตัว “ในแบบที่รถซีดานขนาดใหญ่เป็น”

แถมอัตราเร่งในการแซงชาวบ้านชาวช่อง ก็ไม่น่าเกลียดแต่อย่างใด
ยังแซงผ่านรถบรรทุกสิบล้อได้อย่างสบายๆ

สิ่งที่น่าแปลกใจเล็กน้อยคือ ในรถคันที่ผมทดลองขับนั้น
เมื่อผ่านพ้นเขตแดน 200 กิโลเมตร/ชั่วโมงขึ้นไป จะมีเสียงดังวี๊ดๆๆๆ
เกิดขึ้นจากด้านหลังของตัวรถ ซึ่งก็ไม่รู้ว่า เกิดจากอะไรกันแน่?



ส่วนความสงสัยที่ว่า เมื่อติดตั้งถังก๊าซเข้าไปตั้ง 4 ลูก
บั้นท้ายจะทรุดลงจนเกิดปัญหาที่รู้จักกันดีว่า “ท้ายห้อย” หรือไม่

E200 NGT ไม่มีปัญหานั้น เพราะนอกเหนือจาก
ระบบกันสะเทือนหน้าแบบ 4 จุดยึด คอยล์สปริง ช็อกอัพแก้ส พร้อมเหล็กกันโคลงแล้ว
ยังมีการปรับปรุงแบบ มัลติลิงค์ คอยล์สปริง เสริมเหล็กกันโคลงหลัง และมีชิ้นส่วนป้องกันท้ายทรุด
ให้รองรับน้ำหนักของถัง CNG ได้อย่างเหมาะสม จึงไม่มีอาการท้ายห้อย ให้เห็น

บุคลิกของช่วงล่างนั้น เน้นหนักมาในแนวนุ่มนวล แต่อยู่ตรงกลางระหว่าง
ความนุ่มนิ่มเป็นพี่ย้วยมากจนเกินไปอย่าง วอลโว S80 ใหม่
และความนุ่ม ที่ยังติดกับความแข็งสะเทือน เพื่อเอาใจนักขับ
ที่ยังรักสนุกแต่อยากสบาย อย่าง BMW ซีรีส์ 5 ใหม่ E60

ต้องเน้นย้ำว่ามันไม่ใช่รถที่จะเน้นการขับสนุกแบบที่ ซีรีส์ 5 พยายามจะมุ่งหน้าไป
แต่ ความนุ่มสบาย และความสุนทรีย์ในการเดินทาง
ยังคงเป็นสิ่งที่ ซีรีส์ 5 ขาดหายไปและพยายามแอบชำเลืองมองมาทาง อี-คลาส อยู่เนืองๆ

พวงมาลัย แบบแร็คแอนด์พีเนียน พร้อมเพาเวอร์ผ่อนแรง
แรงสะเทือนที่สะท้อนขึ้นมาจากพื้นถนน สู่พวงมาลัยนั้น
น้อยมาก จนแทบจะไม่เหลือ น้ำหนักพวงมาลัยเบากำลังดีแล้ว ในย่านความเร็วต่ำ
และความหนืดจะเพิ่มขึ้น เมื่อใช้ความเร็วรอบเครื่องยนต์สูงขึ้น
แต่ก็ยังถือว่า น้ำหนักพวงมาลัยเบากว่า ซีรีส์ 5 และ S80 2.5 เล็กน้อย
แต่ยังไว้ใจได้กว่า พวงมาลัยของ S80 3.2 ลิตร “ในโหมดที่ปรับเอาไว้ให้เบาสุดๆ”
(อย่าลืมว่า S80 3.2 ลิตร นั้น ปรับระดับความหนืดของพวงมาลัยได้ 3 ระดับ)



หลังจากนั้นอีกไม่นานนัก ผมก็มีโอกาส เอาเจ้า E200 NGT อีกคันหนึ่ง
ไปสาดสลาลอมเล่นๆ ระหว่าง ทดลองขับ เมอร์เซเดส-เบนซ์ รุ่นต่างๆ
ในงาน Mercedes-Benz Driving Experience ที่จัดขึ้นในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

ถึงแม้การมีถังก๊าซ ติดตั้งอยู่ในรถมากถึง 4 ถัง
จะทำให้เกิดความแตกต่างเวลาที่คุณเหวี่ยง E200NGT เข้าโค้งลึกๆ
เมื่อเทืยบกับ อี-คลาส คันอื่นๆ รุ่นอื่นๆ อยู่เล็กน้อย
(คือน้อยแต่พอสัมผัสได้นิดๆ) ก็ตาม
แต่ ถ้าจะขับให้คล่องตัวและว่องไวแล้ว ก็ไม่ใช่เรื่องยากเลย

ส่วนระบบเบรกนั้น เป็น ระบบเบรกแบบแปรผัน (ADAPTIVE BRAKE) ที่ยกมาจาก S-Class ใหม่
ประกอบด้วย ดิสก์เบรก 4 ล้อ คู่หน้ามีรูระบายความร้อน มี ABS
ระบบเพิ่มแรงเบรกในภาวะฉุกเฉิน Break Assist และ ระบบควบคุมเสถียรภาพ
ESP ซึ่งระบบกลไกของระบบนั้น จะเป็นแบบ Electronic control
ควบคุมการทำงานของระบบ ไฮโดรลิก และเป็นแบบ วงจรคู่

การตอบสนองในภาวะปกตินั้น ถือได้ว่าเบรกนุ่มเท้ามากๆ
การหน่วงความเร็วถือว่าทำได้ดี

และที่สำคัญ ถ้าคุณเบรกกระทันหันจนรถถึงกับต้องจอด
ระบบ PRE-SAFE จะดึงกระจกหน้าต่างที่คุณเปิดข้างอยู่ขึ้นมาทันที
ขณะที่รถกำลังเบรกอยู่ และเมื่อหยุดนิ่งแล้วไฟฉุกเฉิน จะติดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ
เพื่อบอกให้รถคันที่ตามมารู้ว่า รถของคุณเบรกแล้วหน้า อย่ามาจิ้มบั้นท้าย ให้หวาดเสียวเชียวละ!

การเก็บเสียงทำได้ดีสมราคา แต่ว่า เมื่อใช้ความเร็วสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ก็จะมีเสียงลมเข้ามาบ้างนิดๆหน่อยๆ
เป็นธรรมดาของการที่รถจะต้องแหวกผ่านอากาศไปด้วยความเร็วสูง แต่ถือว่าค่อนข้างน้อย
เมื่อเปรียบเทืยบกับ S80 ใหม่ ซึ่งออกแบบให้กระจกมิได้ปิดแนบสนิทไปเสียทีเดียว จนเสียงลม
ลอดเข้ามาวี๊ดดดดด ได้เยอะ เมื่อใช้ความเร็วเกิน 140 กิโลเมตร/ชั่วโมง



ทัศนวิสัยรอบคันนั้น ด้านหน้าโปร่งตาดี



กระจกมองข้าง มีขนาดเล็กไปหน่อย



เสาหลังคาด้านข้าง โปร่งตาดี กระจกมองข้างที่เล็กไปนั้น
ทำให้บางทีต้องหันไปเหลียวมองบ้างเหมือนกัน



เสาหลังคาด้านหลังนั้น ยังมีการบดบังรถคันหลัง และมอเตอร์ไซค์บ้างเล็กน้อย



ข้อดีอย่างหนึ่งที่รถทั่วไปน่าจะมี แต่ อี-คลาสมีมาให้แล้ว คือ
เมื่อคุณเข้าเกียร์ถอยหลัง ระบบ Parktronic จะทำงาน
เซ็นเซอร์ต่างๆจะร้องเตือนกันสนุกสนานสำราญราษฎร์มากๆ
และมีไฟเตือนที่เพดานหลังคาด้านหลังด้วย
ให้คุณได้รับรุ้ถึงระยะความห่างจากสิ่งกีดขวางด้านหลัง



********** การทดลองอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง **********

แน่นอนว่า ทุกท่านคงอยากจะรู้ ว่า E200NGT จะกินน้ำมันมากน้อยแค่ไหน
ขณะเดียวกัน ก็สิ้นเปลืองก๊าซ CNG ไปเท่าใด

ดังนั้น การทดลองอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงครั้งนี้ จึงมีโปรแกรมพิเศษเพิ่มเข้ามา

โดยช่วงแรก ในเมื่อราคาน้ำมันแพงกว่าก๊าซ CNG ราวๆ 4-5 เท่าตัว ทันทีที่รับรถออกมา
ผมก็นำไปทดลองอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงโดยทันที ตามเคย เป็นรายการแรก

โดยยังคงยึดมาตรฐานเดิมที่ใช้กันมาตลอด 4-5 ปีที่ผ่านมา นั่นคือ
เติมน้ำมันเบนซิน 95 แล้วขับขึ้นทางด่วนพระราม 6 ไปลงสุดปลายสายเชียงราก
แล้วเลี้ยวกลับมาขึ้นทางด่วนอีกครั้ง ย้อนมาลงที่ ทางลงพระราม 6
ลัดเลาะกลับมาเติมน้ำมันที่ปั้มเดิม และหัวจ่ายเดิม จากตอนเริ่มต้น

ในตอนที่ทดลองนั้น ปั้มเอสโซ่ ที่ถนนพระราม 6 ยังมีน้ำมันเบนซิน 95 ขายอยู่
(ปัจจุบันนี้ ไม่มีแล้ว เลยต้องเปลี่ยนปั้มมาใช้เชลล์ พหลโยธินแทน)



เราเปิดระบบควบคุมความเร็วคงที่ Cruise Control
ที่ใช้ก้านสวิชต์บังคับ กระดกขึ้นเพื่อเพิ่มความเร็ว กระดกลง เพื่อลดความเร็ว
ตัวเลขความเร็วจะปรากฎขึ้นบนจอ Infomation Display ที่มาตรวัด
ซึ่งระบบ Cruise Control ของ E200 NGT มีข้อดีคือ ความเร็วจะขยับขึ้น
ครั้งละ 1 กิโลเมตร/ชั่วโมง ค่อนข้างละเอียดมาก
และมาพร้อมกับระบบล้อกความเร็วได้ตามต้องการ ปรับเอาได้ในหน้าจอเมนู



80 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใช้รอบเครื่องยนต์ ดังนี้



100 กิโลเมตร/ชั่วโมงใช้รอบ เท่านี้



และ 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใช้รอบดังนี้

เพื่อยืนยันว่า เราใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเบนซิน ในการทดลองช่วงแรกนี้
ก็เลยกดปุ่มบนพวงมาลัย เลือกหน้าจอให้แสดงโหมดการใช้เชื้อเพลิง
ให้ชมกันเลยว่า ตอนนี้ เราอยู่ในโหมดน้ำมันเบนซินอยู่



ตลอดเส้นทางนั้นฟ้าโปร่งและถนนค่อนข้างโล่ง ไม่มีรถมากมายมาให้วุ่นวายใจ



เมื่อกลับมาเติมที่หัวจ่ายเดิมนั้น

ระยะทางบนหน้าปัดอยู่ที่ 88.9 กิโลเมตร



ปริมาณน้ำมันเติมกลับ 6.771 ลิตร

อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง เฉลี่ย
เมื่อวิ่ง 110 กิโลเมตร/ชั่วโมงเปิดแอร์ นั่ง 2 คน
อยู่ที่ 13.13 กิโลเมตร/ลิตร

จัดอยู่ในเกณฑ์ดีสำหรับรถยนต์ขนาดกลางค่อนใหญ่อย่างนี้
กินพอกันกับรถยนต์คอมแพกต์จากญี่ปุ่นแบบบ้านๆทั่วไป



เมื่อรู้ตัวเลขของอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ในโหมด น้ำมันเบนซิน 95 แล้ว

ก็มาถึง ปริศนาคาใจกันบ้าง
ว่า ถ้าเป็นอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ก๊าซ CNG ละ E200 NGT จะทำตัวเลขออกมาได้เท่าไหร่?

เพื่อความสะดวกในการทดลองขับ
เราใช้เส้นทาง บนถนนบางนา-ตราด ยกระดับ บูรพาวิถี
เพราะโซนพระราม 6 ไม่มีปั้ม CNG ให้เติม ณ ตอนที่ทดลองกันเมื่อปลายปีที่ผ่านมา

และ ทำให้เราต้องเลือกเติมก๊าซที่ สถานีบริการของ ปตท. ริมถนนบางนา-ตราด กม.14



หัวเติมก๊าซ CNG นั้น จะไม่เหมือนกับระบบ LPG
ใน E200 NGT นั้น ทำหัวเติมก๊าซ ซ่อนเอาไว้อย่างเรียบร้อย
ที่เดียวกับช่องเติมน้ำมัน

และนั่น ทำให้ฝาถังน้ำมัน ต้องถูกขยายขนาดให้ยาวขึ้นกว่าเดิม 60 มิลลิเมตร

เมื่อจอดรถเข้าเทียบเรียบร้อยแล้ว เปิดฝาถังด้านหลังออก
เจ้าหน้าที่ ก็จะเดินมา ต่อเชื่อมหัวจ่าย เข้ากับหัวรับของตัวรถ
แล้วก็เดินจากไป….



หน้าตาของตู้หัวจ่าย ก็เป็นอย่างที่เห็น เรียบง่าย ไม่ต้องมีพิธีรีตรองอะไรมาก
ก๊าซก็จะไหลเข้าไปจนกว่ามันจะถึงลีมิท หัวจ่ายก็จะตัดการทำงานโดยอัตโนมัติ
เจ้าหน้าที่ก็จะเดินมาทำขั้นตอนของเขาจนเสร็จ



ถ้าสงสัยว่า เขาเติมก๊าซ กันอย่างไร
อ่านที่ข้างตู้เอานี่แล้วกันครับ ละเอียดสุดแล้วละ

ราคาขายในตอนที่ทดลองขับนั้น
ลิตรละ 8.50 บาท



เมื่อก๊าซ เต็มถังทั้ง 4 ใบแล้ว
เราก็พร้อมจะออกเดินทาง



อ้อ ก่อนออกรถ ต้องกดปุ่มบนพวงมาลัย เปลี่ยนโหมดมาใช้ก๊าซเสียก่อน



เราเดินทางด้วยความเร็ว 110 กิโลเมตร/ชั่วโมงกันตามปกติ
เห็นอะไร 2 ข้างทางน่าสนใจก็ถ่ายรูปกันไป
และมันคงไม่แปลกใจถ้าจะมี BMW สักคันมาโผล่ในรีวิวนี้
เอาน่า รถหายาก รุ่น 2800 คูเป้ คันนี้ ก็ มีสภาพที่ดูดีพอให้เก็บภาพไว้ละครับ
ถือเป็นข้อยกเว้นละกัน รถสวยๆโบราณๆแบบนี้ ผมชอบ (ดู) ครับ



อุณหภูมิขณะทดลองขับ 31.5 องศาเซลเซียส
ระยะทางที่แล่นไปทั้งหมด 91.2 กิโลเมตร
และ มาตรวัดปริมาณก๊าซในถัง ลดลงมาประมาณนี้
100 กิโลเมตร ใช้ก๊าซไป 1 ใน 3 ของทั้งหมด



และนี่คือปริมาณของก๊าซที่เติมกลับเข้าไป

ถ้าจะเปรียบเทียบกันว่า ใช้ CNG ไปกี่ลิตร
และสิ้นเปลืองกันกี่กิโลเมตร/ลิตร
ตอนแรก ก็คิดว่าเห็นทีจะยาก และเรื่องยาวแน่ในการคำนวน
เพราะอย่างที่รู้กันดีว่า ก๊าซ CNG ขายเป็นกิโลกรัม
ดังนั้น ตัวเลขที่ได้ หากเล่นกันแบบตรงไปตรงมา
การรายงานผลการทดลองอัตราสิ้นเปลืองก๊าซ CNG
คงต้องรายงานโดยใช้ หน่วย : กิโลเมตร/กิโลกรัม

ตามสเปก ระบุถังใส่ซีเอ็นจีมีความจุ 18 กิโลกรัม หรือ 107 ลิตร(น้ำ)
แสดงว่า ถ้าหารกันออกมาเล่นๆแล้ว CNG หนัก 1 กิโลกรัม น่าจะมีปริมาณ 5.94 ลิตร

เติมเพิ่ม 7.562 กิโลกรัม จึง
เท่ากับ 44.9518 ลิตร (น้ำ)

หรือ 2.028 กิโลเมตร/ลิตร !!!

เอาเป็นว่า คำนวนกันเป็นกิโลกรัม ไปก็แล้วกันนะครับ

และต่อไปนี้คือตารางอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง เมื่อเทียบกับรถรุ่นต่างๆในระดับเดียวกัน



แต่ข้อมูลจาก เมอร์เซเดส-เบนซ์ ระบุว่า
ตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงในโหมดก๊าซ CNG ในยุโรปนั้นอยู่ที่ 6.1 กิโลกรัม / 100 กิโลเมตร

ทำไมมันเปลืองกว่ากันแหะ…?

มีหลายเหตุผลที่อธิบายกันได้
ข้อแรกคือ คุณภาพของก๊าซ

ในบ้านเรา ผู้จำหน่ายก๊าซ CNG ในภาคยานยนต์อย่างเป็นทางการรายใหญ่สุด
คือ ปตท. และ ก๊าซ CNG ที่ ปตท. เอาเข้ามานั้น มีทั้งจากแหล่งก๊าซใน
ไทย และพม่า ซึ่ง เราไม่อาจรู้ได้โดยง่ายเลยว่า ก๊าซจากที่ไหน ไปลงในสถานีบริการใด
หากไม่ใช่คนใน ปตท. ดังนั้น คุณภาพของก๊าซมันยังไม่คงที่ ไม่แน่นอนเท่าใดนัก

อีกสาเหตุหนึ่ง ก็น่าจะอยู่ในสภาพอากาศ สภาพการขับขี่

และตารางต่อไปนี้ คือตัวเลขสรุปอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงโดยเฉลี่ย ของ E200 NGT
เปรียบเทียบกับคู่แข่ง ในระดับเดียวกัน ซึ่งใช้ทั้งเครื่องยนต์ เบนซิน และดีเซล

หากดูตารางแล้วจะพบว่า เครื่องยนต์เบนซิน และใช้ก๊าซ CNG ได้ ของ เมอร์เซเดส-เบนซ์ นั้น
ให้อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงที่ดีกว่า เครื่องยนต์เบนซินของ BMW ซีรีส์ 5 ทุกแบบ แม้กระทั่งในขนาดความจุกระบอกสูบที่ใกล้เคียงกัน

และถ้าเปรียบเทียบกันจริงๆแล้ว นี่อาจเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ทำให้เราเห็นว่า
เครื่องยนต์ที่เล็กกว่า อาจจะให้อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงที่ประหยัดกว่าเครื่องยนต์ที่มีความจุกระบอกสูบใหญ่กว่า

แต่นั่นก็ไม่เสมอไป เพราะจากผลทดลองอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงของรถยนต์หลายๆรุ่น
ตัวเลขกลับไม่เป็นเช่นนั้น



********** สรุป **********
*** ซีดานชั้นดี สำหรับเศรษฐี ที่อยากประหยัดค่าน้ำมัน ***

ไม่แปลกใจที่ E200 NGT จะกลายเป็นรถยนต์พรีเมียม ที่ขายดีที่สุดของ เมอร์เซเดส-เบนซ์ ในตอนนี้

ก็เพราะจุดเด่น ที่ว่า เป็นรถยนต์รุ่นเดียวในเมืองไทย แท้ๆ ที่ติดตั้งระบบก๊าซ CNG จากโรงงานนั่นเอง
ในขณะที่ คู่แข่งอย่าง BMW และ Volvo พยายามมองไปยังทิศทางของขุมพลังดีเซล หรือไม่ก็ แก้สโซฮอลล์ E85

ที่สำคัญ สมรรถนะ ในโหมดก๊าซ ก็เหมือนกับ โหมดน้ำมันเบนซินแทบจะไม่แตกต่างกันเลย
และยังคงความนุ่มสบายในการขับขี่ อันเป็นสิ่งลูกค้าผู้เลือกเมอร์เซเดส-เบนซ์
มักใช้เป็นเหตุผลร่วม ในการตัดสินจ่ายเซ็นเช็คสั่งซื้อ

นี่คือสิ่งหนึ่ง ซึ่งรถติดก๊าซ ที่ไมได้ออกแบบให้รองรับการใช้ก๊าซ CNG จากโรงงาน
มาตั้งแต่แรก ยากที่จะให้คุณได้



แต่อย่างไรก็ตาม

ปัญหาหนึ่งที่ผู้ใช้รถยนต์ NGV จะต้องเผชิญกันต่อไป
ก็คือการหาสถานีบริการก๊าซ CNG ซึ่งปัจจุบัน นอกจากจะมีจำนวนน้อย
แล้ว การขนส่งก๊าซมายังสถานี ก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคอีกด้วย

ผิดจากในเยอรมัน ซึ่งมีสถานีบริการ ก๊าซ CNG มากถึง 730 แห่ง
(ตัวเลข ณ เดือนมีนาคม 2007) เยอะกว่าบ้านเรากันลิบลับ



หนำซ้ำ ภาครัฐ และ ปตท. ยังพยายามจะผลักดันก๊าซ CNG กันสุดแรงเกิด
และหาช่องทาง ดักมิให้ผู้บริโภค ไปใช้ก๊าซ LPG กันอีก ในหลายรูปแบบ

รวมทั้งอีกปัญหาหนึ่งที่ผู้ใช้ก๊าซมักจะเจอกันคือ
คุณภาพของก๊าซ CNG นั้น ขึ้นอยู่กับแหล่งที่มาของก๊าซ
ซึ่งมีทั้งในไทย และพม่า มันยังไม่คงที่ ไม่แน่นอนเท่าใดนัก

นั่นคือเหตุผลที่ว่า ต่อให้คุณซื้อรถรุ่นนี้มาใช้
ยังไงๆ ต้องมีบางวันที่คุณก็ยังคงต้องใช้น้ำมันบ้างอยู่ดี



ค่าตัว 3.7 ล้านบาท กับซีดานประกอบในประเทศ
พร้อมทั้งติดตั้งระบบก๊าซ CNG จากโรงงานมาสำเร็จรูปอย่างนี้
เรื่องความคุ้มค่า ยังต้องถามถึงกันอีกเหรอ?

สำหรับผู้มีอันจะกินที่กำลังคิดหารถซีดาน 4 ประตูสักคัน ไว้วิ่งใช้งานกิจธุระประจำวันแล้ว

ถ้า E200 NGT ยังไม่คุ้ม

ก็ไม่รู้ว่าจะหารถรุ่นไหน คุ้ม แล้วละครับ!

————————————————///—————————————————-

ขอขอบคุณ ฝ่ายฝ่ายการตลาดและสื่อสารองค์กร
บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ ไทยแลนด์ จำกัด
เอื้อเฟื้อรถทดลองขับ

********** บทความทดลองขับรถยนต์ในระดับและกลุ่มตลาดเดียวกัน **********

– บทความรีวิว Volvo S80 รุ่นใหม่
http://www.caronline.net/ArticleDetail.aspx?ArticleID=179#head

– บทความรีวิว Volvo S80 D-5 รุ่นเดิม
http://topicstock.pantip.com/ratchada/topicstock/V3494319/V3494319.html

———————
– บทความรีวิว BMW 5 Series E60 (525i 520d 530i)
525i รุ่นธรรมดา และ 530i
http://topicstock.pantip.com/ratchada/topicstock/2006/05/V4413078/V4413078.html

520d
http://topicstock.pantip.com/ratchada/topicstock/2006/10/V4756958/V4756958.html

525i Minorchange
http://www.caronline.net/ArticleDetail.aspx?ArticleID=128#head

———————
– บทความรีวิว Saab 9-5 Saloon/Estate 2.0 และ 2.3 ลิตร LPT และ Full Turbo

รุ่น ธรรมดา LPT
http://topicstock.pantip.com/ratchada/topicstock/V3612164/V3612164.html

รุ่น Full Turbo
http://topicstock.pantip.com/ratchada/topicstock/V3881960/V3881960.html

———————
– บทความรีวิว Lexus GS300
http://topicstock.pantip.com/ratchada/topicstock/V3516757/V3516757.html

Comparision เปรียบเทียบกับรุ่นเดิม ดูที่นี่
http://topicstock.pantip.com/ratchada/topicstock/V3516754/V3516754.html

———————



J!MMY
25 กรกฎาคม 2008
8.06 น. – 11.40 น.

Facebook Comments
CarOnline Team

Recent Posts