Categories: รถใหม่

ทดลองขับ Mazda 3 Minorchange 1.6 และ 2.0 ลิตร : การปรับโฉม หาใช่ต้องดีขึ้นทุกเรื่องเสมอไป…..by : J!MMY


ในสภาพของตลาดรถยนต์ที่หดตัวลง จากกำลังซื้อที่สงวนท่าที ด้วยเหตุผลมาจากความไม่แน่นอนทางการเมือง
ไปจนถึงสภาพเศรษฐกิจ ที่ยังอยู่ในความอึมครึมแบบนี้ แทบทุกค่ายรถยนต์ ต่างพากันโหมสรรพกำลัง
ทุ่มเทไปที่การกระตุ้นแคมเปญโปรโมชัน ส่งเสริมการขายต่างๆ

แต่บางบริษัท ยังคงยืนยันที่จะเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ตามแผนเดิมที่วางไว้ต่อไป เพื่สร้างความสดใหม่ ให้กับรถยนต์
ที่ตนกำลังทำตลาดอยู่ และเก็บเกี่ยวยอดขายจากกระแสความสนใจของผู้บริโภคที่ตนพยายามสร้างไว้

และหนึ่งในนั้น ก็คือ มาสด้า 3 รุ่นปรับโฉมไมเนอร์เชนจ์ ที่ใครหลายๆคนรอคอยจนแทบจะเลิกคอยกันไปแล้ว


แต่การเปลี่ยนแปลงคราวนี้
หาใช่การเปลี่ยนแปลงแค่รูปโฉมภายนอก อันเป็นเรื่องปกติไม่
ขณะเดียวกัน ก็หาใช่การเพิ่มทางเลือกเครื่องยนต์ 4 สูบ 2,300 ซีซี หรือเกียร์อัตโนมัติ 5 จังหวะ แต่อย่างใด

หากแต่เป็นการปรับรูปโฉม พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์ในรุ่น 2,000 ซีซี หรือ 2.0 ลิตร ให้มีแรงม้ามากขึ้น
รวมทั้งปรับระบบกันสะเทือน และถอด-ใส่อุปกรณ์อำนวยความสะดวกบางอย่าง เติมเข้ามาให้

ทว่า…การเปลี่ยนแปลงนั้น ไม่เสมอไป ที่อะไรต่อมิอะไรจะต้องดีขึ้นอย่างที่ทุกคนคาดหวัง….


ผมเคยรีวิว มาสด้า 3 ไปแล้ว อย่างน้อย ก็ 2 ครั้ง

ครั้งแรก ที่ลองขับ ผมบอกว่า มันเป็น Japanesse BMW 3-Series แต่นั่นคือความรู้สึกแรกเริ่ม
ที่จับความรู้สึกจากรถได้อย่างผิวเผิน

ครั้งต่อมา ผมประทับใจรุ่น 2.0 ลิตร มากกว่า เพราะรู้อยู่เต็มอกว่า รุ่น 1.6 นั้น อืดกว่าเอาเรื่อง

แต่มาถึงวันนี้ เมื่อวันที่ รถรุ่นปรับโฉมไมเนอร์เชนจ์ ได้ฤกษ์ทำตลาดในไทยเสียที
เมื่อ 13 มิถุนายนที่ผ่านมา ที่ผับแห่งหนึ่งในซอย สุขุมวิท 11

แม้ว่ามาสด้า 3 จะผ่านมือผมมาแล้วก่อนหน้านี้ อย่างน้อยก็ 3 คัน
แต่ เมื่อได้ยินว่ามีการเปลี่ยนแปลงเครื่องยนต์ในรุ่น 2.0 ลิตรใหม่ ที่น่าจะทำให้สมรรถนะดีขึ้น
ผมก็ตัดสินใจ รอเวลา เพื่อที่จะได้ทดลองขับ แบบเต็มๆ

และไหนๆก็ไหนๆ แล้ว ยืมรุ่น 1.6 ลิตร มาทำตัวเลขเก็บข้อมูลไว้ให้ละเอียดๆเลยในคราวเดียวกัน
น่าจะดี เพราะในรีวิวรุ่น 1.6 ลิตรครั้งแรก ผมไม่ได้เก็บข้อมูลตัวเลขไว้ เนื่องจากโอกาสไม่เอื้ออำนวย
เพราะเราต้องขับจากแม่ฮ่องสอน ลัดเลาะลงมายังสนามบินเชียงใหม่

ทางมาสด้า ส่งรถตัวถังซีดาน 4 ประตู มาให้ลองทั้ง 2 คัน

แต่เมื่อได้ทดลองขับเต็มๆ 2 รุ่น ในช่วงวีคเอนด์ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาแล้ว

ผมพบว่า ความรู้สึก และประสบการณ์ต่างๆที่เคยเจอมากับรถยนต์รุ่นนี้
แม้ว่าในประเด็นหลักๆ ส่วนใหญ่ จะยังคงเหมือนเดิม
และรุ่น 2.0 ลิตร ก็ยังคงน่าจะถูกยกขึ้นหิ้งไว้บูชาเช่นเคย
แต่บางสิ่งบางอย่าง ที่แปลกออกไปนั้น
มีทั้งดีขึ้นกว่าเดิม และด้อยลงไป

ทว่า สิ่งที่น่าผิดหวัง ก็คงจะเกิดขึ้นกับสิ่งยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรเลย
ซึ่งอันที่จริงผมเองก็รับรู้แล้ว ว่าตัวรถนั้นเป็นอย่างไร
เพียงแต่ไม่เคยคิดว่า จุดด้อยสำคัญเพียงข้อเดียวนั้น
มันจะด้อยได้ถึง้ขนาดนี้
ซึ่ง มันดันเกิดขึ้นเฉพาะรุ่น 1.6 ลิตร เสียด้วยสิ??


กระจังหน้าลายสปอร์ต ลายใหม่ สำหรับรุ่น 2.0 ลิตรยังคงพ่นสีเดียวกับตัวถัง
ชุดเปลือกกันชนหน้า ดีไซน์ใหม่ พร้อมไฟตัดหมอกหน้า เปลี่ยนล้ออัลลอยขนาด 17 นิ้ว
เป็นลวดลายใหม่


ส่วนบั้นท้าย ยังคงมีลิ้นสปอยเลอร์เพิ่มออกมา มีสเกิร์ตข้าง
เปลี่ยนลายไฟท้ายใหม่ และเปลือกกันชนหลังใหม่


ขณะที่กระจังหน้าของรุ่น 1.6 ลิตร ยังเป็นลวดลายเดิม แต่แทนที่จะพ่นสีเดียวกับตัวถัง
กลับทำออกมาเป็นโครเมียม ดูหรูขึ้นกว่าเดิม และเปลี่ยนล้ออัลลอย 16 นิ้วลายใหม่
ให้ดูเข้าท่ายิ่งขึ้นกว่าเดิม


ส่วนบั้นท้ายของรุ่น 1.6 ลิตร เปลี่ยนแค่ลายไฟท้ายเป็นลายใหม่
เช่นเดียวกัน รุ่น 5 ประตู จะมีการเปลี่ยนแปลงกระจังหน้า เปลือกกันชนหน้า
ลายล้ออัลลอย และรายละเอียดการตกแต่ง ในตำแหน่งเดียวกันกับรุ่นซีดาน

สีตัวถัง ใหม่ มีเพิ่มเข้ามา 2 สี
คือสีเขียวมะนาว ในรูปที่ 3 จากด้านบน
และสีฟ้า Tonic ที่เห็นอยู่นี้


เส้นสายตัวถังของมาสด้า 3 ในภาพรวมยังคงเน้นความโฉบเฉี่ยว
การปรับโฉมภายนอกครั้งนี้ ถือว่า เสริมบุคลิกเดิมให้ดูดียิ่งขึ้นไปอีก
เพระาเป็นการปรับโฉม โดยอิงแนวทางจากการปรับโฉมไมเนอร์เชนจ์
ของมาสด้า 6 รถยนต์ครอบครัวขนาดกลาง รุ่นก่อน ที่เพิ่งจะตกรุ่นไป
ในงานแฟรงค์เฟิร์ต มอเตอร์โชว์ ปีนี้ สดๆร้อนๆ นั่นเอง


ขณะที่ภายในห้องโดยสาร ยังคงไม่ได้แตกต่างอะไรจากเดิมมากนัก

ภาพข้างบนนี้ เป็น รุ่น 2.0 ลิตร


ส่วนภาพของคันสีฟ้า เบาะผ้า เป็นรุ่น 1.6 ลิตร


ตำแหน่งเบาะคนขับของ มาสด้า 3 นั้น จัดวางไว้ในตำแหน่งที่ เตี้ยกำลังดี ไม่สูงจนเกินไป
การเข้าออกทำได้อย่างสะดวก และเหมาะแก่การขับรถในสไตล์สปอร์ต ที่ต้องวางตำแหน่งเบาะ
ให้ต่ำลงสักนิด

เบาะนั่งฝั่งคนขับ สามารถปรับระดับสูงต่ำ ได้ด้วยก้านโยกขึ้น โยกลง ด้านข้างลำตัว
แต่สำหรับฝั่งคนนั่ง ทำได้แค่เลื่อนขึ้นหน้า-ถอยหลัง และปรับเอนธรรมดา
ตามมาตรฐานของเบาะนั่งในรถยนต์ทั่วไป

รุ่น 2.0 ลิตร (ภาพบนนี้) จะหุ้มเบาะนั่งด้วยหนัง

ส่วนรุ่น 1.6 ลิตร (ภาพด้านล่าง) จะหุ้มด้วยเบาะผ้า


กล่องคอนโซลกลาง มาพร้อมที่วางแขน ซึ่ง ยังใช้งานได้ไม่ถึงกับดีนัก
แต่ เมื่อเปิดฝา ขึ้นมา จุ กล่องซีดี ได้เยอะทีเดียว

ส่วนที่วางแก้วตรงกลาง มีฝาปิดซ่อนไว้อย่างดิบดี


การเข้าออกจากประตูคู่หลังนั้น ทำได้ดีพอประมาณ แต่ไม่ถึงกับสบายนัก
ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ ตำแหน่งเบาะหลังนั้น ไม่ได้วางอยู่บนล้อคู่หลัง
อันเป็นผลมาจากความพยายามที่จะออกแบบรถ เพื่อเน้นจุดศูนย์ถ่วงต่ำ
เอาความสนุกจากการขับขี่หยิบยื่นให้ลูกค้าเป็นหลัก มาสด้าจึงดูเหมือนจะไม่คิด
ออกแบบระบบกันสะเทือนให้มีขนาดเล็ก หรือนำเอาระบบคานบิด มาใช้
อย่างที่บริษัทรถยนต์ทั่วๆไปทำกัน


เบาะหลัง มีที่วางแขนตรงกลางมาให้ และสามารถแบ่งพับได้ ในอัตราส่วน 60:40
เพื่อช่วยเพิ่มพื้นที่ห้องเก็บสัมภาระด้านหลัง

เบาะนั่งด้านหลังของ มาสด้า 3 ยังคงนั่งสบาย
และ มีที่วางแขนทั้งที่แผงประตู และที่วางแขนพับเก็บได้กลางเบาะหลัง
ที่วางแขนได้อย่างดี นั่งไม่เมื่อย ในระยะยาว
แถมยังมีพื้นที่วางขาด้านหลังเหลือเพียงพอด้วย

แน่ละ ระยะฐานล้อที่ยาวถึง 2,640 มิลลิเมตร นั้น
ก็เพียงพอแล้วสำหรับรถยนต์ระดับนี้


แต่เบาะผ้าในรุ่น 1.6 ใหม่ ยังคงเป็นลวดลายคล้ายของเดิม
เป็นผ้าแบบสาก ที่อาจยังไม่ถึงกับสากมาก เหมือนเบาะนั่งจากรถ
โตโยต้า ยาริส-วีออส นิสสัน ทีด้า ฟอร์ด โฟกัส หรือ เชฟโรเลต เอวิโอ,แค็พติวา ฯลฯ

แต่ก็ถือได้ว่า สากใกล้เคียงกันแล้ว นี่ผมแค่พิงพนักศีรษะเฉยๆ
เส้นผม ของผม ถูกดึงติดไปกับผ้าหุ้มเบาะ บริเวณพนักศีรษะ ไปแล้วหลายเส้นแหนะ!

ถ้าขับต่อไปอีกสักระยะ ผมคิดว่า ไม่แคล้วจะต้องรีบไปทำการปลูกผมที่สเวนซัน
แล้วส่งใบแจ้งหนี้ไปเคลมค่ารักษากับมาสด้าแหงๆ

แล้วเจ้าผ้าสากๆ ที่ว่าเนี่ย ผู้ผลิตพยายามจะเลือกใช้ ด้วยเหตุผลที่ว่า มันจะลดการเก็บฝุ่นได้ เพราะบ้านเมืองเรา ฝุ่นเยอะ
แต่หารู้ไม่ว่า สุดท้าย มันก็จะเก็บฝุ่นหนักหนาพอๆกัน เมื่อนานวันผ่านไป
แล้วในเมื่อมันจะต้องเก็บฝุ่นไม่ต่างกันเท่าใดนัก ทำไมผู้ผลิตรถยนต์ในบ้านเรา
ถึงไม่เลือกเอาผ้าเบาะแบบที่ใช้กับรถยนต์รุ่นเดียวกัน ในเวอร์ชันญี่ปุ่น
ซึ่งนั่งสบายตัวกันมากกว่าเยอะ มาใช้กับเมืองไทยเสียเลยให้สิ้นเรื่องสิ้นราวกันเล่าหนอ?

ทั้งที่ผ้าแบบเดียวกับที่ผมบอกอยู่นี้ ปัจจุบัน ก็มีใช้อยู่บ้างแล้วใน โตโยต้าโคโรลล่า อัลติส รุ่นที่ใกล้จะตกรุ่นในทุกวันนี้
และเชฟโรเลต ออพตร้า รุ่นก่อนปรับโฉมไมเนอร์เชนจ์


และที่สำคัญ

สิ่งที่รถยนต์ในประเทศไทยหลายๆรุ่น ยังไม่ได้มีมาให้ แต่มาสด้าติดตั้งมาให้
เป็นรายแรกๆ ในกลุ่มรถยนต์ระดับนี้

คือจุดยึดเบาะนิรภัยสำหรับเด็ก มีมาให้ 3 ตำแหน่ง พร้อมฝาปิดเรียบร้อย
สะดวกต่อพ่อแม่ที่จะติดตั้งเบาะนิรภัยสำหรับเด็กในวัยต่างๆกันได้ดี


ส่วนแผงหน้าปัดนั้น

คุณผู้อ่านลองแยกความแตกต่างกันระหว่าง แผงหน้าปัดของรุ่น 2.0 ลิตร
ที่เห็นอยู่นี้ กับภาพของแผงหน้าปัดรุ่น 1.6 ลิตรข้างล่างนี้ ดูครับ

ไม่ต้องตอบผมก็ได้ แต่ลองตอบตัวคุณเองให้ได้ว่า แตกต่างกันที่จุดไหนบ้าง


ถ้าไม่ทราบ
ผมคงจะบอกได้อย่างที่เห็นเลยว่า
มันแทบไม่ได้มีความแตกต่างกันเลย

การปรับปรุงภายในนั้น มีรายละเอียดเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
นั่นคือ แผงคอนโซลกลาง ชุดควบคุม เครื่องเสียงพร้อมเครื่องเล่น CD/MP3
เท่านั้น ที่แตกต่างกันอยู่นิดหน่อย บริเวณสวิชต์ควบคุม เครื่องปรับอากาศ
และปุ่มควบคุมแถวกลาง


คุณภาพเสียง ของชุดเครื่องเสียงติดรถ ที่มีมาให้ ชุดเดียวกัน ทั้งรุ่น 1.6 และ 2.0 ลิตร จัดอยู่ในเกณฑ์ดี ไม่ต้องไปยุ่งวุ่นวายเปลี่ยนชุดเครื่องเสียงให้วุ่นวาย
ให้ประกัน 3 ปี 100,000 กิโลเมตร ต้องถูกกระทบกระเทือนไปแต่อย่างใด


แถมยังควบคุมสะดวกด้วยปุ่มควบคุมชุดเครื่องเสียงบนพวงมาลัย แถมมาให้
ทั้งในรุ่น 1.6 ลิตร และ 2.0 ลิตร

พวงมาลัย ยังคงเป็นแบบ ปรับระดับสูง-ต่ำได้ และปรับระดับเข้า-ออกห่างจากตัวได้
แบบเทเลสโคปิก

มีการปรับปรุงสวิชต์ใบปัดน้ำฝน ในโหมด ปัดอัตโนมัติ (Auto)
เสียใหม่ ให้ทำงานได้ดีขึ้นกว่ารุ่นเดิมซึ่งเคยมีเสียงบ่นจากลูกค้าเยอะพอสมควร

ส่วนชุดมาตรวัด 3 วงกลมนั้น เปลี่ยนจากแบบเดิม มาใช้พื้นสีขาว ตัวเลขดำ


แต่เมื่อถึงเวลาเปิดไฟหน้า ยามค่ำคืน
พื้นจะเรืองแสงเป็นสีน้ำเงิน ส่วนตัวเลขจะเป็นสีแดงส้ม


อุปกรณ์ด้านความปลอดภัยที่แถมมาให้นั้น
มีถุงลมนิรภัยคู่หน้า เป็นมาตรฐานทุกรุ่น
ส่วนถุงลมนิรภัยด้านข้าง และม่านลมนิรภัย
ติดตั้งมาเฉพาะรุ่น 2.0 ลิตร ทั้ง ซีดา่น และแฮตช์แบ็ก ที่มีซันรูฟกระจก

กุญแจรีโมท ถูกเปลี่ยนใหม่ ให้เป็นแบบ พับเก็บได้ในตัว เหมือนกับรถสปอร์ต RX-8 ไปจนถึง รถกระบะ BT-50

เข็มขัดนิรภัยเป็นแบบ 3 จุด 4 ตำแหน่ง คู่หน้า 2 (แบบ ลดแรงปะทะและดึงกลับอัตโนมัติ) และคู่หลังอีก 2 ตำแหน่ง
และแบบ ELR 2 จุด 1 ตำแหน่ง ตรงกลางเบาะหลัง

มีสัญญาณกันขโมย พวงมาลัยยุบตัวได้เมื่อเกิดอุบัติเหตุ
กระจกมองข้างแบบกันน้ำเกาะ ฯลฯ

และ รวมถึง กล่องเก็บของด้านหน้าขนาดใหญ่และลึกที่สุดในตลาด
ลึกขนาดที่ผมเคยเปรียบเปรยไว้ว่า ใส่ศพแมวศพหมาได้ ตัวใหญ่ๆ 1 ตัว นั่นเอง


*** รายละเอียดทางวิศวกรรม และการทดลองขับ ***

เครื่องยนต์ของมาสด้า 3 รุ่นไมเนอร์เชนจ์นั้น ยังคงอยู่ในตระกูล MZR มีให้เลือก 2 ขนาด ตามเดิม

ทั้งรหัส Z6Y 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,598 ซีซี พร้อมระบบแปรผันวาล์ว S-VT (Sequential – Valve Timing)
รวมทั้งระบบแปรผันท่อทางเดินไอดี VIS (Variable Induction System)
กำลังสูงสุด 105 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุดถึง 145 นิวตัน-มตร ที่ 4,000 รอบต่อนาที


แต่ในรุ่น 2.0 ลิตร นั้น
มีการเปลี่ยนมาใช้เครื่องยนต์ 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,999 ซีซี ที่ปรับปรุงใหม่
ซึ่งมีทั้งสิ่งที่ผมเห็นด้วย
และไม่สู้จะเห็นด้วยเท่าที่ควร

ทั้งการเพิ่มระบบแปรผันวาล์ว S-VT (Sequential – Valve Timing)
รวมทั้งระบบแปรผันท่อทางเดินไอดี VIS (Variable Induction System)
ให้กับขุมพลัง 2.0 ลิตร
ซึ่งควรจะมีมาตั้งแต่รุ่นแรกแล้ว ไม่น่าปล่อยให้ล่วงเลยมานานอย่างนี้
การถอดฝาครอบเครื่องยนต์ขนาดใหญ่โตเกินเหตุแบบไม่ค่อยตั้งใจจะออกแบบนั่นทิ้งซะ
เน้นการปรับปรุงเพื่อลดเสียงรบกวนจากการทำงานของเครื่องยนต์ และจากไดชาร์จ

รวมถึงการเปลี่ยนลิ้นปีกผีเสื้อจากแบบกลไก มาเป็นลิ้นปีกผีเสื้อไฟฟ้า Drive By Wire ที่ผมเองก็ไม่ค่อยชอบนัก

แต่เอาละ ทั้งหมดนี้ มาสด้าระบุว่า ช่วยเพิ่มพละกำลังขึ้นได้จาก
141แรงม้า (PS) ที่ 6,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 18.54 กก.-ม.ที่ 4,500 รอบ/นาที

เป็น
147 แรงม้า (PS) ที่ 6,500 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุดยังคงเหมือนเดิม 18.54 กก.-ม.ที่ 4,500 รอบต่อนาที


ระบบส่งกำลังนั้น ในรุ่นปรับโฉมไมเนอร์เชนจ์คราวนี้ ทั้ง 2 ขุมพลัง ติดตั้งมาให้แต่เพียง เกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ
พร้อมโหมดบวก/ลบ Active Matic ซึ่งก็ยังคงเป็นเกียร์ลูกเดิม ที่คุณควรจะดูแลรักษาให้ดีๆ และขับอย่างระมัดระวัง
ไม่เปลี่ยนเกียร์ บวกลบ ไปมา ในยามติดขัดอยู่บนท้องถนน กทม. นั่นละครับ เพราะจากประสบการณ์ที่ผมเจอมาในรถทดสอบ
ทั้ง รุ่น 2.0 ลิตร ซีดาน สีน้ำเงิน และ 2.0 ลิตร 5 ประตู สีดำ 2 คันก่อน ที่สภาพเริ่มจะโทรมแล้ว เพราะมาผ่านมาหลายมือ นั้น
เกียร์พอจะเริ่มมีอาการกระตุก เมื่อรถแล่นไปได้ในระยะทางประมาณ 8,000 – 9,000 กิโลเมตร ด้วยซ้ำถ้าไม่ได้ดูแลรักษาดีๆ

แต่ อย่างไรก็ตาม เกียร์รุ่นเดียวกันนี้ ในรถทดสอบทั้ง 2 คัน ยังไม่ปรากฎอาการกระตุกแต่อย่างใด ในทุกรูปแบบการขับขี่ที่ผมเจอมา

มีอัตราทดเกียร์ดังนี้
เกียร์ 1…………2.816
เกียร์ 2…………1.497
เกียร์ 3…………1.000
เกียร์ 4…………0.725
เกียร์ถอยหลัง…2.648

อัตราทดเฟืองท้าย รุ่น 1.6 ลิตร อยู่ที่ 4.416
อัตราทดเฟืองท้าย รุ่น 2.0 ลิตร อยู่ที่ 4.147

อย่างไรก็ตาม สำหรับใครที่ยังสนุกกับการขับรถเกียร์ธรรมดา มีข่าวร้ายจะแจ้งให้ทราบว่า
มาสด้าได้ ยกเลิกการทำตลาดรุ่นเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ ของมาสด้า 3 ไมเนอร์เชนจ์ ไปแล้ว
เหลือแต่ทางเลือกเฉพาะรุ่นเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ พร้อมโหมด บวกลบ เท่านั้น
ด้วยเหตุผลที่มาสด้าอ้างว่า ในรุ่นก่อนนั้น ยอดขายน้อยมาก ดังนั้น ไม่คุ้มกับการสต็อกอะไหล่

อันที่จริงแล้ว มาสด้า ดูเหมือนจะปล่อยตลาดกลุ่มนี้ออกไป อย่างน่าเสียดาย
อย่างน้อยก็น่าจะมีทางเลือกเอาไว้ให้กับลูกค้าที่ในชีวิตนี้ไม่คิดจะขับรถเกียร์อัตโนมัติอยู่เลย
ซึ่งในเมืองไทย ยังมีลูกค้าทมี่คิดอย่างนี้อยู่ไม่น้อย เพียงแต่วันนั้น เขายังไม่พร้อมจะซื้อมาสด้า 3
เนื่องจากว่า ราคาตั้งในช่วงก่อนหน้านี้ แพงเกินไป

——————–

มาดูตัวเลขกันดีกว่าครับ

เราจับเวลาโดยใช้มาตรฐานเดิม คือ นั่ง 2 คน รวมน้ำหนักแล้ว ประมาณ 150 กิโลกรัม
เปิดแอร์ และทดลองกันตอนกลางคืน

ส่วนตัวเลขของ มาสด้า 3 2.0 ลิตร MY05 ที่ปรากฎในตารางนี้ นั่นคือตัวเลขจากรถรุ่นเก่าที่ผมเคยทดลองเอาไว้นะครับ

ตัวเลขที่ได้ เมื่อเทียบกับรถยนต์คู่แข่งในตลาด มีดังนี้

ในรุ่น 2.0 ลิตรนั้น การตอบสนองที่ผมสัมผัสมาจากตัวรถนั้น แม้จะมีแรงม้าเพิ่มขึ้น 6 ตัว
แต่เอาเข้าจริงแล้ว สัมผัสจากการขับขี่นั้นแทบไม่ได้แตกต่างกันแต่อย่างใด

ยิ่งเมื่อได้เปรียบเทียบกับตัวเลขที่เคยทำไว้ ในรุ่น 2.0 ลิตร ทั้งเก่าและใหม่แล้ว
พบว่า อัตราเร่งของเครื่องยนต์ 2.0 ลิตรใหม่ ด้อยกว่าเดิมนิดนึง
เหตุผลส่วนหนึ่งหากจะโทษการทำงานของคันเร่งไฟฟ้า
ก็ไม่ถูกต้องนัก

เพราะ ถึงแม้ว่าผมจะไม่ชอบลิ้นปีกผีเสื้อไฟฟ้า เท่าใดนักก็ตาม
แต่ คันเร่งของมาสด้า 3 นั้น ยังให้การตอบสนองที่ สมเหตุสมผล มากกว่า คันเร่งของ ฮอนด้า ซีวิค 2.0

นั่นเพราะว่า ถ้าต้องการเพิ่มความเร็วขึ้นอีกเพียงนิดเดียว เช่นจาก 100 ไปถึง 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง อย่างต่อเนื่อง
แต่ไม่ต้องรวดเร็วฉับไวนัก ผมแค่เพิ่มน้ำหนักเท้าขวา ลงบนคันเร่งเพียงนิดหน่อยเท่านั้น

แต่ ถ้าผมจะทำแบบนี้กับ ซีวิค 2.0 แล้ว ต่อให้ผมเดินคันเร่งเพิ่มขึ้นด้วยน้ำหนักที่แผ่วเบาเพียงใด แต่ถ้าคันเร่งถูกกดลงไปจนถึงจังหวะ
ที่ถูกเซ็ตไว้เมื่อใด ทอล์ค คอนเวอร์เตอร์ จะไม่สนใจหน้าอินทร์ หน้า พรหม

อัตราเร่งในการขับขี่ใช้งานจริงผมว่าไม่ได้แตกต่างอะไรกับรุ่นเดิม
คือ ดีอยู่แล้ว แต่ผมยังเชื่อว่าวิศวกรมาสด้ายังสามารถพัฒนาออกมาได้ดีกว่านี้อีก

เสียงเครื่องยนต์ที่หลายคนบ่นว่าดัง มาวันนี้ หลังปรับปรุงแล้ว ถือว่าเบาลงไปในระดับหนึ่ง


แต่สำหรับรุ่น 1,600 ซีซี นั้น ถ้าคุณหวังจะเห็นปาฎิหารย์เครื่องบล็อกเล็ก ที่ให้อัตราเร่ง
เทียบเท่า หรือพอกันกับเครื่องรุ่นใหญ่กว่า อย่างที่นิสสัน ทีด้าและเชฟโรเลต ออพตร้า เคยทำมาแล้วนั้น

งานนี้ผมเห็นทีจะต้องร้องเพลง ของคุณ กบ ทรงสิทธิ์ รุ่งนพคุณศรี แล้วละว่า

"ปาฎิหารย์ ม่าย มี จริง"

เครื่องยนต์ 1.6 ลิตร ของ มาสด้า 3 นั้น ณ วันนี้ ผมถือว่า ถ้าเทียบตัวเลขอัตราเร่งของรถยนต์กลุ่มคอมแพกต์ทุกคันเคยทำมาแล้วนั้น
เครื่องยนต์ Z6Y 1.6 ลิตร ของมาสด้า 3 ถือเป็นเครื่องยนต์ 1.6 ลิตร ที่ให้อัตราเร่ง จากออกตัว ถึง 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง
และช่วงเร่งแซง 80-120 กิโลเมตร/ชั่วโมง. ได้….

"อื ด อ า ด ยื ด ย า ด ที่ สุ ด ในบรรดารถยนต์กลุ่มคอมแพกต์ 1.6 – 2.0 ลิตร ที่มีขายอยู่ในตลาดเมืองไทยตอนนี้"

มันอืดขนาดไหน?
หากย้อนกลับไปดูจากตัวเลขจับเวลาที่เราทำได้ เมื่อเทียบกับรถยนต์ซีดานคันอื่นๆที่ผมเคยทำรีวิวมา
คุณจะพบว่า มาสด้า 3 เครื่อง 1.6 ลิตรนั้น อืดอาดพอกัน หรือมากกว่านิดหน่อยเมื่อเทียบกับ เชฟโรเลต เอวิโอ 1.4 ลิตร เลยด้วยซ้ำ!
เพราะอัตราเร่ง 0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง 2 คันนี้เขาทำได้พอๆกันเลย (เอวิโอ เฉลี่ย 4 ครั้งได้ 14.37 วินาที
มาสด้า 3 รุ่น 1.6 ได้ 14.82 วินาที ) ส่วนอัตราเร่ง 80-120 กิโลเมตร/ชั่วโมง นั้น
มาสด้า 3 รุ่น 1.6 ทำได้ 12.37 วินาที โดยเฉลี่ย 4 ครั้ง ขณะที่ เอวิโอ ทำได้ 12.18 วินาที

ถ้าคุณต้องการจะเรียกพละกำลังของเครื่องยนต์ออกมา คงต้องเร่งให้เครื่องยนต์ทำงานไปถึงประมาณ 3,000 – 4,000 รอบ
ถึงจะช่วยให้การขับขี่ เร่งแซงรถคันอื่น เริ่มสนุกกับเขาขึ้นมาได้บ้าง แต่ก็ไม่มากมายนัก

ดังนั้น อย่าคาดหวังถึงสมรรถนะของรุ่นเครื่องยนต์ 1.6 ลิตร มากมายนัก ในด้านอัตราเร่ง
ไปจนถึงอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง…

ระบบกันสะเทือนหน้า แบบแม็คเฟอร์สันสตรัต พร้อมเหล็กกันโคลง
ส่วนด้านหลัง เป็นแบบ มัลติลิงค์ E-Type พร้อมเหล็กกันโคลง
ถูกปรับปรุงให้ นุ่มขึ้น และดูดซับแรงสะเทือนได้ดียิ่งขึ้นกว่ารุ่นเดิม
ขณะแล่นผ่านเนินลูกระนาด หรือทางขรุขระ จะสัมผัสได้เลยว่า นุ่มนวลขึ้น
ลดความกระด้างลงไปพอสมควร แต่ยังให้ความมั่นใจได้ดีเช่นเดิมในทุกโค้งที่ขับเข้าไป

ในโค้งรูปตัว S ทางลงทางด่วนพระราม 6 ผมยังสามารถพาเจ้า มาสด้า 3 ทั้งรุ่น 1.6 และ 2.0 ลิตร
เข้าโค้งไปได้ที่ความเร็วระดับ 75 – 80 กิโลเมตร/ชั่วโมงได้อย่างสบายๆ แต่ถ้าได้ยางสมรรถนะสูงกว่านี้
ก็คงทำได้เพิ่มมากขึ้นจากนี้อีกนิดหน่อย

แต่ มาสด้า 3 เองก็มีบุคลิกที่คล้ายคลึงกับ ซาบ 9-3 นั่นคือ ถ้าเข้าโค้งด้วยความเร็วสูงเกินไป ในบางลักษณะ
อาจเกิดอาการท้ายปัดเมื่อเข้าโค้งได้ แต่ก็ไม่ยากในการแก้ไขเพื่อให้ตัวรถกลับมาอยู่ในเส้นทางตามเดิม

พวงมาลัย แร็คแอนด์พีเนียน ในรุ่น 1.6 ลิตร เป็นแบบ เพาเวอร์ไฟฟ้า แปรผันตามความเร็วรอบเครื่องยนต์
ด้วยปั้มไฮโดรลิก มีวงเลี้ยวแคบ 5.2 เมตร น้ำหนักค่อนข้างหนัก แต่ยังไม่ถึงกับหนักสาหัสอย่างที่ เชฟโรเลต ออพตร้า เป็นอยู่

ส่วนรุ่น 2.0 ลิตรนั้น ใช้พวงมาลัยเพาเวอร์ Electro-Hydraulic Power-Assisted Steering (EHPAS) : Motor sensing
หรือถ้าให้เรียกง่ายๆก็คือ พวงมาลัย แบบเพาเวอร์ไฟฟ้า เหมือน ซีวิค 2.0 ลิตร นั่นเอง

ในช่วงความเร็วต่ำ พวงมาลัยของรุ่น 2.0 ลิตร จะเบากว่า รุ่น 1.6 แค่นิดหน่อยเท่านั้น ไม่ได้แตกต่างกันแบบเบาโหวง
แต่ ทั้งคู่ตอบสนองได้ดี และนิ่ง เมื่อใช้ความเร็วสูง อย่างไรก็ตาม ระยะฟรีค่อนข้างน้อย ตามแบบรถสปอร์ต ถ้าหากคิดจะเปลี่ยนเลน
ก็ไม่ต้องหักพวงมาลัยมากมายนัก

ผมเคยให้ความเห็นเอาไว้ว่า พวงมาลัยของมาสด้า 3 รุ่น 2.0 เป็น พวงมาลัยเพาเวอร์ไฟฟ้า
ที่ตอบสนองได้ดีที่สุดเท่าที่เคยเจอมาในช่วงระยะหลังๆ ทั้งจากการเซ็ตอัตราทดเฟือง
พวงมาลัยของมาสด้า ที่แทบไม่เหลือระยะฟรีของพวงมาลัยเท่าใดนัก ช่วยให้การคุมบังคับ
แม่นยำมาก คล่องตัว แต่ในช่วงความเร็วต่ำ จะหนืดพอสมควร แม้ว่าหนืดน้อยกว่า
เชฟโรเลต ออพตรา (ซึ่งถือว่าต้องออกแรงมากที่สุด
ในกลุ่ม เมื่อต้องหมุนพวงมาลัยในความเร็วต่ำ) อยู่เล็กน้อย

ถึงวันนี้ ความคิดเห็นของผมยังคงไม่เปลี่ยนแปลง และมันยังคงเป็นเหมือนเดิม
แถมยังพบว่า เซ็ตได้ใกล้เคียงกับพวงมาลัยเพาเวอร์ไฮโดรลิกในรุ่น 1.6 ลิตรมากๆ

ระบบเบรก ยังคงให้ดิสก์เบรก 4 ล้อ พร้อม เอบีเอส และ อีบีดี มาครบครัน ทั้งรุ่น 1.6
ตามแต่ละรุ่นย่อยออกไป และรุ่น 2.0 ลิตร ที่มีมาครบ การหน่งความเร็วทำได้ดี
แต่แป้นเบรกจะต้องเพิ่มแรงเหยียบที่เท้าลงไปลึกอีกนิดหน่อยเมื่อเทียบกับรถยนต์ทั่วไป
แต่ไม่ลึกมากจนมีลุ้นแต่อย่างใด ภาพรวมถือว่ายังคงทำได้ดีอยู่


***การทดลองอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง***

เราใช้วิธีการดั้งเดิม นั่นก็คือ เติมน้ำมันเต็มถัง จากปั้มน้ำมัน ย่านถนนพระราม 6 เซ็ตมาตรวัดระยะทาง Trip meter
เป็น 0 แล้ว ขับขึ้นทางด่วน ไปลงที่สุดปลายทางด่วนสายเชียงราก แถวๆ อยุธยา ด้วยความเร็วไม่เกิน 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง

แล้วเลี้ยวกลับมาขึ้นทางด่วนอีกครั้ง ย้อนกลับมาลงที่พระราม 6
กลับมาเติมน้ำมันที่ปั้มน้ำมันเดิม "และที่หัวจ่ายเดิม"

เราใช้แต่น้ำมัน ค่าออกเทน 95 ในการทดลอง
โดยไม่สนใจกับแก้สโซฮอลล์ เลย ไม่ว่าจะมีค่าออกเทนเท่าไหร่
และจะไม่ทดลองให้ เพราะตามมาตรฐานของผม
ผมจับเติมแต่ 95 ทุกคันมาตั้งแต่หลายปีก่อนแล้ว

สักขีพยานคราวนี้ คือ น้อง โจ๊ก
ซึ่งที่บ้านก็เป็นเจ้าของ มาสด้า 3 รุ่น 1.6 ลิตร มาร่วมนั่งเป็นผู้ช่วยผมไปตลอดทาง

และก็ได้เป็นผู้ช่วยจริงๆ เพราะการขับรถด้วยความเร็วคงที่ต่อเนื่องนานๆ
ก่อให้เกิดความง่วงเหงาหาวนอนได้อย่างง่ายดาย
เพราะฉะนั้น งานนี้ เลยต้องมีการช่วยประคับประคองคนขับไปบ้าง
ด้วยการบีบนวดที่ต้นคอไปตลอดทาง
แต่ยังไม่วาย ขนาดมือของน้องโจ๊ก ยังช่วยบีบนวดต้นคออยู่แท้ๆ
แต่รถก็เริ่มเป๋ เพราะตาผมเริ่มง่วง อันเนื่องมาจากการนอนน้อย
ในคืนก่อนหน้าวันทดลองอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงของรุ่น 1.6 ลิตร

จนเจ้าตัวต้องร้องทัก ผมก็สะดุ้งตื่น และรถก็ยังคงเดินหน้าด้วยความเร็วเท่าเดิมต่อไป
โดยที่คราวนี้ ผมตื่นแล้ว ไม่ง่วงอีกเลย

เจ้าตัวเขาบอกกับผมว่า เขาเริ่มเข้าใจแล้วว่า ทำไมผู้ผลิตรถยนต์
ถึงพยายามพัฒนากล้องส่องพฤติกรรมทางใบหน้าของผู้ขับขี่
ผนวกไว้ในอุปกรณ์ป้องกัุนอุบัติเหตุที่กำลังพัฒนากันอยู่้ด้วย นั่นเอง


ตัวเลขจะออกมาเป็นอย่างไร

เราลองมาเปรียบเทียบกันกับรถรุ่นเดิมและคู่แข่งในตลาดรุ่นใหม่ๆกันครับ

จะเห็นได้ว่า ถ้าเทียบกับรุ่นก่อน

ตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงของรุ่น 2.0 ลิตร ด้อยลงจากเดิม
พอสมควร จาก 14.56 เหลือ 13.92 กิโลเมตร/ลิตร

ผมชักเริ่มไม่แน่ใจว่า จะมีความเกี่ยวข้องใดๆ ระหว่างการเปลี่ยนมาใช้ลิ้นปีกผีเสื้อไฟฟ้า
และอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงที่ลดลง

กรณีนี้ ผมเคยเจอมาในโตโยต้า วีออส รุ่นใหม่ เมื่อ่เปรียบเทียบกับรุ่นเดิม
เพียงแต่วีออสนั้น มีปัจจัยในเรื่องขนาดตัวถังที่ยาวขึ้นนิดหน่อย
มาเกี่ยวข้อง เลยทำให้อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงอาจลดลงไปบ้าง
เพราะตัวรถมีน้ำหนักมากขึ้น

แต่ในกรณีของมาสด้า 3 นั้น ผมเรียนตามตรงว่า ไม่แน่ใจในเรื่องนี้

ส่วนรุ่น 1.6 ลิตรนั้น จริงอยู่ว่า อัตราสิ้นเปลืองเชื้เพลิงเฉลี่ย
ของรถยนต์ในกลุ่มคอมแพกต์ เบนซิน 1,600 – 2,000 ซีซี นั้น
มักจะป้วนเปี้ยนแถวๆตั้งแต่ 11.5 – 16.5 กิโลเมตร/ลิตร
และมาสด้า 3 1.6 ลิตร ยังคงมีตัวเลขที่อยู่ระดับเดียวกันนี้

แต่เมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งในตารางจะเห็นได้ว่า่ วิศวกรที่ฮิโรชิมา คงต้องพัฒนาเครื่องยนต์ขนาดเล็กเครื่องใหม่ ที่มีอัตราเร่งดีกว่านี้
และต้องตอบสนองการขับขี่ ดีกว่านี้ และมีอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงดียิ่งกว่านี้


ทัศนวิสัย รอบคัน

จากด้านหน้า ชัดเจนและโปร่งตา


มองไปทางขวา กระจกมองข้าง มีขนาดมาตรฐานทั่วๆไป ไม่เล็กไม่ใหญ่


มองไปด้านซ้าย เสาหลังคา ไม่ค่อยมีปัญหาบดบังในเวลาที่จะเลี้ยวกลับรถ


ส่วนทัศนวิสัยด้านหลังนั้น เสาหลังคาด้านหลัง อาจมีการบดบังรถที่แล่นมาข้างหลังอยู่บ้าง แต่ยังพอจะมองเห็นได้

ขณะที่ด้านหน้า นั้น อาจเห็นว่าแผงหน้าปัดบังไปเล็กน้อยนั้น
เป็นเพราะ ตอนบันทึกภาพ ผมถือกล้องในระดับต่ำกว่้าสายตาลงไปนิดเดียว
อีกทั้งการปรับเบาะลงไปที่ระดับต่ำสุด แทบจะติดพื้นตัวถัง จึงดูเหมือนว่า บดบัง
ทั้งที่จริงๆแล้ว โล่งและโปร่งตาชัดเจนดี


***สรุป***

***ถ้าจะซื้อ มาสด้า 3 ต้องรุ่น 2.0 ลิตร เท่านั้น!!***

ไม่เสมอไปที่การปรับโฉมไมเนอร์เชนจ์ให้กับรถยนต์รุ่นใดนั้น
จะต้องมีการแก้ไขข้อบกพร่องต่างๆ ได้จนหมดสิ้นเสมอไป
และมาสด้า 3 คือรถยนต์ที่เป็นตัวอย่างอันดีถึงคำพูดข้างต้น

ไม่เถียง แถมจะยังยอมรับอย่างเต็มที่ว่า มาสด้า 3 ยังคงเหมาะสมกับคำว่า Japanesse BMW 3-Series (เวอร์ชันขับล้อหน้า…ถ้ามีจริง)
เพราะไม่ว่าจะเป็นการออกแบบ บุคลิกการขับขี่ การตอบสนองของทั้งระบบบังคับเลี้ยว ระบบกันสะเทือน ไปจนถึงระบบเบรก
การเข้าโค้ง การทรงตัว ใกล้เคียงกับ ซีรีส์ 3 ซึ่งถือเป็นรถยนต์คอมแพกต์ระดับพรีเมียม ที่ขับดีที่สุดในตลาด
มากที่สุดในบรรดารถยนต์คอมแพกต์จากฝั่งญี่ปุ่นด้วยกันแล้ว


แต่ปัญหาหนึ่งที่มาสด้าเอง ยังต้องทำการบ้านให้ดียิ่งกว่านี้ คือการปรับปรุงสมรรถนะของเครื่องยนต์ให้ดีกว่านี้

แม้ว่ารุ่น 2.0 ลิตร นั้น ผมชื่นชอบการตอบสนองในอัตราเร่งแซง และความฉับไหวในการตอบสนองของลิ้นปีกผีเสื้อไฟฟ้า ที่ให้ความรู้สึกออกมาไม่ต่างจากรุ่นเดิมมากนัก
ทว่า อัตราเร่ง และอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงกลับด้อยลงจากรุ่นเดิม ซึ่งใช้ลิ้นปีกผีเสื้อกลไกนิดหน่อย


และยิ่งน่าเสียดาย ที่รุ่น 1.6 ลิตรนั้น เจอเครื่องยนต์ ที่ให้สมรรถนะด้อยไปมาก จนกลายเป็นว่า อืดอาดที่สุดในบรรดารถยนต์กลุ่มนี้เลยทีเดียว
แถมยังกินน้ำมันกว่าคู่แข่งอย่างชัดเจน แถมยังมีค่าตัวแพงกว่าคู่แข่งในระดับราคาเดียวกัน จะอ้างว่า อัดออพชันมาให้เต็มที่ ก็คงจะอ้างได้ไม่เต็มปากนัก


ดังนั้น ถ้าคุณคิดจะซื้อมาสด้า 3 แล้วละก็ ผมยังคงยืนยันกับคำแนะนำเดิมที่เคยให้ไว้มาตลอด
นั่นคือ ถ้ามีงบพอ เล็งเป้าหมายไปที่รุ่น 2.0 ลิตรได้เลย เพราะให้แทบทุกสิ่งที่คุณต้องการได้มากที่สุด
ในบรรดามาสด้า 3 ทุกรุ่น ทั้งอุปกรณ์มาตรฐาน สมรรถนะการขับขี่ อัตราเร่งที่พอเหมาะกับเท้า
แถมมีความประหยัดเชื้อเพลิงติดปลายนวมมาให้อีกด้วย


แต่สำหรับรุ่น 1.6 ลิตร นั้น ถ้ายังคิดจะซื้ออยู่ รุ่นท็อป ผมคงต้องขอแนะนำว่า รุ่น 1.6 ลิตรนั้น เหมาะกับคนที่อยากได้มาสด้า 3 จริงๆ
และไม่มีงบมากพอจะซื้อรุ่น 2.0 ลิตร เพราะอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ ให้มาแทบจะเรียกได้ว่า พอกันกับรุ่น 2.0 ลิตร
แต่กระนั้น คุณต้องทำใจให้ได้ว่า อัตราเร่งจะอืดอาดกว่า และกินน้ำมันกว่าคู่แข่งในระดับ 1,600 ซีซี ทั่วไปด้วยกัน


แล้วมาสด้า 3 จะเปลี่ยนโฉมใหม่เมื่อไหร่?
เราคงจะได้เห็นเวอร์ชันต้นแบบกันในปี 2008 นี้ และตัวรถจะพร้อมทำตลาดในต่างประเทศ ช่วงปลายปี 2008
แต่กว่าจะเข้ามาทำตลาดในบ้านเรา คงต้องรอกันจนถึง ปี 2009 และ ณ วันที่บทความนี้เผยแพร่ออกไป
ยังไม่มีความชัดเจนว่า มาสด้า คิดจะย้ายฐานการประกอบ มาสด้า 3 จากโรงงาน Auto Alliance ที่ฟิลิปปินส์
มาไว้ที่โรงงาน AAT ระยอง ได้ทันหรือไม่ คงต้องรอให้ มาสด้า 2 คันเล็ก เปิดตัวไปก่อนในช่วงต้นปี 2009
หลังจากนั้น เราคงจะเริ่มเห็นความชัดเจนมากขึ้น


ขอขอบคุณ
คุณ อุทัย เรืองศักดิ์
ฝ่ายประชาสัมพันธ์
บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด
ที่เอื้อเฟื้อรถทดลองขับ

——————

บทความทดลองขับ มาสด้า 3 รุ่นก่อนปรับโฉมไมเนอร์เชนจ์
รุ่น 1.6
http://topicstock.pantip.com/ratchada/topicstock/V3135882/V3135882.html
รุ่น 2.0
http://topicstock.pantip.com/ratchada/topicstock/V3236072/V3236072.html


——————
J!MMY
13-14 กันยายน 2007
22.30 น. – 1.31 น.

Facebook Comments
CarOnline Team

Recent Posts