Categories: รถใหม่

ทดลองขับ Mazda 3 Minorchange 1.6 และ 2.0 ลิตร : การปรับโฉม หาใช่ต้องดีขึ้นทุกเรื่องเสมอไป…..by : J!MMY


ในสภาพของตลาดรถยนต์ที่หดตัวลง จากกำลังซื้อที่สงวนท่าที ด้วยเหตุผลมาจากความไม่แน่นอนทางการเมือง
ไปจนถึงสภาพเศรษฐกิจ ที่ยังอยู่ในความอึมครึมแบบนี้ แทบทุกค่ายรถยนต์ ต่างพากันโหมสรรพกำลัง
ทุ่มเทไปที่การกระตุ้นแคมเปญโปรโมชัน ส่งเสริมการขายต่างๆ

แต่บางบริษัท ยังคงยืนยันที่จะเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ตามแผนเดิมที่วางไว้ต่อไป เพื่สร้างความสดใหม่ ให้กับรถยนต์
ที่ตนกำลังทำตลาดอยู่ และเก็บเกี่ยวยอดขายจากกระแสความสนใจของผู้บริโภคที่ตนพยายามสร้างไว้

และหนึ่งในนั้น ก็คือ มาสด้า 3 รุ่นปรับโฉมไมเนอร์เชนจ์ ที่ใครหลายๆคนรอคอยจนแทบจะเลิกคอยกันไปแล้ว


แต่การเปลี่ยนแปลงคราวนี้
หาใช่การเปลี่ยนแปลงแค่รูปโฉมภายนอก อันเป็นเรื่องปกติไม่
ขณะเดียวกัน ก็หาใช่การเพิ่มทางเลือกเครื่องยนต์ 4 สูบ 2,300 ซีซี หรือเกียร์อัตโนมัติ 5 จังหวะ แต่อย่างใด

หากแต่เป็นการปรับรูปโฉม พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์ในรุ่น 2,000 ซีซี หรือ 2.0 ลิตร ให้มีแรงม้ามากขึ้น
รวมทั้งปรับระบบกันสะเทือน และถอด-ใส่อุปกรณ์อำนวยความสะดวกบางอย่าง เติมเข้ามาให้

ทว่า…การเปลี่ยนแปลงนั้น ไม่เสมอไป ที่อะไรต่อมิอะไรจะต้องดีขึ้นอย่างที่ทุกคนคาดหวัง….


ผมเคยรีวิว มาสด้า 3 ไปแล้ว อย่างน้อย ก็ 2 ครั้ง

ครั้งแรก ที่ลองขับ ผมบอกว่า มันเป็น Japanesse BMW 3-Series แต่นั่นคือความรู้สึกแรกเริ่ม
ที่จับความรู้สึกจากรถได้อย่างผิวเผิน

ครั้งต่อมา ผมประทับใจรุ่น 2.0 ลิตร มากกว่า เพราะรู้อยู่เต็มอกว่า รุ่น 1.6 นั้น อืดกว่าเอาเรื่อง

แต่มาถึงวันนี้ เมื่อวันที่ รถรุ่นปรับโฉมไมเนอร์เชนจ์ ได้ฤกษ์ทำตลาดในไทยเสียที
เมื่อ 13 มิถุนายนที่ผ่านมา ที่ผับแห่งหนึ่งในซอย สุขุมวิท 11

แม้ว่ามาสด้า 3 จะผ่านมือผมมาแล้วก่อนหน้านี้ อย่างน้อยก็ 3 คัน
แต่ เมื่อได้ยินว่ามีการเปลี่ยนแปลงเครื่องยนต์ในรุ่น 2.0 ลิตรใหม่ ที่น่าจะทำให้สมรรถนะดีขึ้น
ผมก็ตัดสินใจ รอเวลา เพื่อที่จะได้ทดลองขับ แบบเต็มๆ

และไหนๆก็ไหนๆ แล้ว ยืมรุ่น 1.6 ลิตร มาทำตัวเลขเก็บข้อมูลไว้ให้ละเอียดๆเลยในคราวเดียวกัน
น่าจะดี เพราะในรีวิวรุ่น 1.6 ลิตรครั้งแรก ผมไม่ได้เก็บข้อมูลตัวเลขไว้ เนื่องจากโอกาสไม่เอื้ออำนวย
เพราะเราต้องขับจากแม่ฮ่องสอน ลัดเลาะลงมายังสนามบินเชียงใหม่

ทางมาสด้า ส่งรถตัวถังซีดาน 4 ประตู มาให้ลองทั้ง 2 คัน

แต่เมื่อได้ทดลองขับเต็มๆ 2 รุ่น ในช่วงวีคเอนด์ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาแล้ว

ผมพบว่า ความรู้สึก และประสบการณ์ต่างๆที่เคยเจอมากับรถยนต์รุ่นนี้
แม้ว่าในประเด็นหลักๆ ส่วนใหญ่ จะยังคงเหมือนเดิม
และรุ่น 2.0 ลิตร ก็ยังคงน่าจะถูกยกขึ้นหิ้งไว้บูชาเช่นเคย
แต่บางสิ่งบางอย่าง ที่แปลกออกไปนั้น
มีทั้งดีขึ้นกว่าเดิม และด้อยลงไป

ทว่า สิ่งที่น่าผิดหวัง ก็คงจะเกิดขึ้นกับสิ่งยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรเลย
ซึ่งอันที่จริงผมเองก็รับรู้แล้ว ว่าตัวรถนั้นเป็นอย่างไร
เพียงแต่ไม่เคยคิดว่า จุดด้อยสำคัญเพียงข้อเดียวนั้น
มันจะด้อยได้ถึง้ขนาดนี้
ซึ่ง มันดันเกิดขึ้นเฉพาะรุ่น 1.6 ลิตร เสียด้วยสิ??


กระจังหน้าลายสปอร์ต ลายใหม่ สำหรับรุ่น 2.0 ลิตรยังคงพ่นสีเดียวกับตัวถัง
ชุดเปลือกกันชนหน้า ดีไซน์ใหม่ พร้อมไฟตัดหมอกหน้า เปลี่ยนล้ออัลลอยขนาด 17 นิ้ว
เป็นลวดลายใหม่


ส่วนบั้นท้าย ยังคงมีลิ้นสปอยเลอร์เพิ่มออกมา มีสเกิร์ตข้าง
เปลี่ยนลายไฟท้ายใหม่ และเปลือกกันชนหลังใหม่


ขณะที่กระจังหน้าของรุ่น 1.6 ลิตร ยังเป็นลวดลายเดิม แต่แทนที่จะพ่นสีเดียวกับตัวถัง
กลับทำออกมาเป็นโครเมียม ดูหรูขึ้นกว่าเดิม และเปลี่ยนล้ออัลลอย 16 นิ้วลายใหม่
ให้ดูเข้าท่ายิ่งขึ้นกว่าเดิม


ส่วนบั้นท้ายของรุ่น 1.6 ลิตร เปลี่ยนแค่ลายไฟท้ายเป็นลายใหม่
เช่นเดียวกัน รุ่น 5 ประตู จะมีการเปลี่ยนแปลงกระจังหน้า เปลือกกันชนหน้า
ลายล้ออัลลอย และรายละเอียดการตกแต่ง ในตำแหน่งเดียวกันกับรุ่นซีดาน

สีตัวถัง ใหม่ มีเพิ่มเข้ามา 2 สี
คือสีเขียวมะนาว ในรูปที่ 3 จากด้านบน
และสีฟ้า Tonic ที่เห็นอยู่นี้


เส้นสายตัวถังของมาสด้า 3 ในภาพรวมยังคงเน้นความโฉบเฉี่ยว
การปรับโฉมภายนอกครั้งนี้ ถือว่า เสริมบุคลิกเดิมให้ดูดียิ่งขึ้นไปอีก
เพระาเป็นการปรับโฉม โดยอิงแนวทางจากการปรับโฉมไมเนอร์เชนจ์
ของมาสด้า 6 รถยนต์ครอบครัวขนาดกลาง รุ่นก่อน ที่เพิ่งจะตกรุ่นไป
ในงานแฟรงค์เฟิร์ต มอเตอร์โชว์ ปีนี้ สดๆร้อนๆ นั่นเอง


ขณะที่ภายในห้องโดยสาร ยังคงไม่ได้แตกต่างอะไรจากเดิมมากนัก

ภาพข้างบนนี้ เป็น รุ่น 2.0 ลิตร


รุ่น 1.6 ลิตร


ตำแหน่งเบาะคนขับของ มาสด้า 3 นั้น จัดวางไว้ในตำแหน่งที่ เตี้ยกำลังดี ไม่สูงจนเกินไป
การเข้าออกทำได้อย่างสะดวก และเหมาะแก่การขับรถในสไตล์สปอร์ต ที่ต้องวางตำแหน่งเบาะ
ให้ต่ำลงสักนิด

เบาะนั่งฝั่งคนขับ สามารถปรับระดับสูงต่ำ ได้ด้วยก้านโยกขึ้น โยกลง ด้านข้างลำตัว
แต่สำหรับฝั่งคนนั่ง ทำได้แค่เลื่อนขึ้นหน้า-ถอยหลัง และปรับเอนธรรมดา
ตามมาตรฐานของเบาะนั่งในรถยนต์ทั่วไป

รุ่น 2.0 ลิตร (ภาพบนนี้) จะหุ้มเบาะนั่งด้วยหนัง

ส่วนรุ่น 1.6 ลิตร (ภาพด้านล่าง) จะหุ้มด้วยเบาะผ้า


การเข้าออกจากประตูคู่หลังนั้น ทำได้ดีพอประมาณ แต่ไม่ถึงกับสบายนัก
ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ ตำแหน่งเบาะหลังนั้น ไม่ได้วางอยู่บนล้อคู่หลัง
อันเป็นผลมาจากความพยายามที่จะออกแบบรถ เพื่อเน้นจุดศูนย์ถ่วงต่ำ
เอาความสนุกจากการขับขี่หยิบยื่นให้ลูกค้าเป็นหลัก มาสด้าจึงดูเหมือนจะไม่คิด
ออกแบบระบบกันสะเทือนให้มีขนาดเล็ก หรือนำเอาระบบคานบิด มาใช้
อย่างที่บริษัทรถยนต์ทั่วๆไปทำกัน


เบาะหลัง มีที่วางแขนตรงกลางมาให้ และสามารถแบ่งพับได้ ในอัตราส่วน 60:40
เพื่อช่วยเพิ่มพื้นที่ห้องเก็บสัมภาระด้านหลัง

เบาะผ้าในรุ่น 1.6 ใหม่ ยังคงเป็นลวดลายคล้ายของเดิม
เป็นผ้าแบบสาก ที่อาจยังไม่ถึงกับสากมาก เหมือนเบาะนั่งจากรถ
โตโยต้า ยาริส-วีออส นิสสัน ทีด้า ฟอร์ด โฟกัส หรือ เชฟโรเลต เอวิโอ,แค็พติวา ฯลฯ

แต่ก็ถือได้ว่า สากใกล้เคียงกันแล้ว นี่ผมแค่พิงพนักศีรษะเฉยๆ
เส้นผม ของผม ถูกดึงติดไปกับผ้าหุ้มเบาะ บริเวณพนักศีรษะ ไปแล้วหลายเส้นแหนะ!

ถ้าขับต่อไปอีกสักระยะ ผมคิดว่า ไม่แคล้วจะต้องรีบไปทำการปลูกผมที่สเวนซัน
แล้วส่งใบแจ้งหนี้ไปเคลมค่ารักษากับมาสด้าแหงๆ

แล้วเจ้าผ้าสากๆ ที่ว่าเนี่ย ผู้ผลิตพยายามจะเลือกใช้ ด้วยเหตุผลที่ว่า มันจะลดการเก็บฝุ่นได้ เพราะบ้านเมืองเรา ฝุ่นเยอะ
แต่หารู้ไม่ว่า สุดท้าย มันก็จะเก็บฝุ่นหนักหนาพอๆกัน เมื่อนานวันผ่านไป
แล้วในเมื่อมันจะต้องเก็บฝุ่นไม่ต่างกันเท่าใดนัก ทำไมผู้ผลิตรถยนต์ในบ้านเรา
ถึงไม่เลือกเอาผ้าเบาะแบบที่ใช้กับรถยนต์รุ่นเดียวกัน ในเวอร์ชันญี่ปุ่น
ซึ่งนั่งสบายตัวกันมากกว่าเยอะ มาใช้กับเมืองไทยเสียเลยให้สิ้นเรื่องสิ้นราวกันเล่าหนอ?

ทั้งที่ผ้าแบบเดียวกับที่ผมบอกอยู่นี้ ปัจจุบัน ก็มีใช้อยู่บ้างแล้วใน โตโยต้าโคโรลล่า อัลติส รุ่นที่ใกล้จะตกรุ่นในทุกวันนี้
และเชฟโรเลต ออพตร้า รุ่นก่อนปรับโฉมไมเนอร์เชนจ์



(เบาะหลังของรุ่น 2.0 ลิตร)

แต่กระนั่น เบาะนั่งด้านหลังของ มาสด้า 3 ยังคงนั่งสบาย
และ มีที่วางแขนทั้งที่แผงประตู และที่วางแขนพับเก็บได้กลางเบาะหลัง
ที่วางแขนได้อย่างดี นั่งไม่เมื่อย ในระยะยาว
แถมยังมีพื้นที่วางขาด้านหลังเหลือเพียงพอด้วย

แน่ละ ระยะฐานล้อที่ยาวถึง 2,640 มิลลิเมตร นั้น
ก็เพียงพอแล้วสำหรับรถยนต์ระดับนี้


(เบาะนั่งรุ่น 1.6 ลิตร)


และที่สำคัญ

สิ่งที่รถยนต์ในประเทศไทยหลายๆรุ่น ยังไม่ได้มีมาให้ แต่มาสด้าติดตั้งมาให้
เป็นรายแรกๆ ในกลุ่มรถยนต์ระดับนี้

คือจุดยึดเบาะนิรภัยสำหรับเด็ก มีมาให้ 3 ตำแหน่ง พร้อมฝาปิดเรียบร้อย
สะดวกต่อพ่อแม่ที่จะติดตั้งเบาะนิรภัยสำหรับเด็กในวัยต่างๆกันได้ดี


ส่วนแผงหน้าปัดนั้น

คุณผู้อ่านลองแยกความแตกต่างกันระหว่าง แผงหน้าปัดของรุ่น 2.0 ลิตร
ที่เห็นอยู่นี้ กับภาพของแผงหน้าปัดรุ่น 1.6 ลิตรข้างล่างนี้ ดูครับ

ไม่ต้องตอบผมก็ได้ แต่ลองตอบตัวคุณเองให้ได้ว่า แตกต่างกันที่จุดไหนบ้าง


ถ้าไม่ทราบ
ผมคงจะบอกได้อย่างที่เห็นเ้ลยว่า มันแทบไม่ได้มีความแตกต่างกันเลย

การปรับปรุงภายในนั้น มีรายละเอียดเพียงเล็กน้่อยเท่านั้น
นั่นคือ แผงคอนโซลกลาง ชุดควบคุม เครื่องเสียงพร้อมเครื่องเล่น CD/MP3
เท่านั้น ที่แตกต่างกันอยู่นิดหน่อย บริเวณสวิชต์ควบคุม เครื่องปรับอากาศ
และปุ่มควบคุมแถวกลาง


คุณภาพเสียง ของชุดเครื่องเสียงติดรถ ที่มีมาให้ ชุดเดียวกัน ทั้งรุ่น 1.6 และ 2.0 ลิตร จัดอยู่ในเกณฑ์ดี ไม่ต้องไปยุ่งวุ่นวายเปลี่ยนชุดเครื่องเสียงให้วุ่นวาย
ให้ประกัน 3 ปี 100,000 กิโลเมตร ต้องถูกกระทบกระเทือนไปแต่อย่างใด

Facebook Comments
CarOnline Team

Recent Posts