ทดลองขับ Hyundai H-1 : รถตู้ผู้มาใหม่ กับเรื่องเซอร์ไพรส์ ในราคา 1.33 ล้าน! By : J!MMY



ครั้งแรกที่ผมเห็น ฮุนได H-1
ก็คือเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2007 วันที่เพิ่งจะเอาเจ้า Sonata ไปคืน
ที่ตึก Q-House ซอยคอนแวนท์ ถนนสีลม ก่อนที่งาน มอเตอร์เอ็กซ์โป
จะเริ่มขึ้นไม่กี่สัปดาห์



เพียงแว๊บแรกที่เห็น บนลานจอดรถ และเป็นรุ่นเกียร์ธรรมดา สีเงิน โลว์ออพชัน
ผมก็อึ้ง ทึ่ง ตื่นตะลึงตึงตึงตึงตึง และพูดออกมาเลยว่า…

“Commuter Ventury Vito และ Caravelleเอ็งตายแน่”

ก็แหงละ แค่แวบแรกที่เห็น ผมก็พบได้ว่า มันเป็นรถตู้ที่น่าใช้มากๆ
และเดาไปล่วงหน้าเลยว่า ราคาน่าจะไม่เกิน 1.5 ล้านบาท

พอทางคุณเมธี บอกราคากับผมว่า เริ่มต้นที่ 999,000 บาท

วินาทีนั้น ผมกรี๊ดสลบ!

คิดในใจว่า “นี่กะว่าจะสั่งเข้ามาเตรียมขุดหลุมฝังรถตู้ค่ายอื่นกันเลยใช่ไหม!?”



หลังการเปิดตัวครั้งแรกในไทย ณ งาน มอเตอร์ เอ็กซ์โป 2007
ที่แชลเลนเจอร์ ฮอลล์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี มียอดสั่งจองเข้ามาเรื่อยๆ
เช่นเดียวกับเวลาที่ล่วงเลยผ่านไป

ผู้คนทั่วไปก็เริ่มพูดถึงมันในวงกว้างขึ้น

จนกระทั่งงาน บางกอกมอเตอร์โชว์ ที่ไบเทคบางนา
ปลายเดือนมีนาคม ต้นเดือนเมษายนผ่านพ้นไปอีก 1 งาน

ก็เริ่มมีเสียงเรียกร้องขึ้นมาเรื่อยๆว่า ผมควรจะเอามันมาลองซะที
และมันเริ่มหนาหูมากขึ้น

ตัวผมเองก็สองจิตสองใจ ว่าจะเอามาทดลองให้อ่านกันดีไหม?

คำตอบที่มองหามานาน ก็มาผุดขึ้นตรงหน้าเรียบร้อย
ก็เมื่อระหว่างที่กำลังเดินทางร่วมขบวน เยือนเมืองลาวกับรถกระบะ Tata Xenon
ช่วง 7-9 กรกฎาคมที่ผ่านมา นั่นเอง



ก็ในเมื่อ เมืองสุวรรณเขต ปัจจุบันนี้ เต็มไปด้วยประชากรฮุนได ชนิดอุ่นหนาฝาคั่ง
อย่างที่ผมไม่เคยคาดคิดมาก่อน ขับรถไปที่ไหนๆ ก็เจอแต่ฮุนได จะเป็นรถตู้ Starex
หรือรถกระบะ H-100 รุ่นโบราณ ก็วิ่งกันเกลื่อนเมือง จนแทบไม่เหลือพื้นที่
ให้รถยี่ห้ออื่นอาไว้ใช้สัญจรเอาซะเลย

ก็เพราะว่า รถกระบะ H-100 รุ่นโบราณกาล แต่ยังขายดีอยู่นั้น ค่าตัวเริ่มต้น
ตีเป็นเงินไทย ได้ราวๆ 1 แสนกว่าบาทเท่านั้นเอง!! นั่นคือเหตุผลที่ว่า
บริษัท KOLAO อันเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง นักธุรกิจชาวลาว
และฮุนได มอเตอร์ จากเกาหลี จึงทำม้าค้าขึ้น จากการขายรถฮุนไดกันเป็นกอบเป็นกำ

ขนาดตกดึก ผมไปเที่ยวผับท้องถิ่นของที่นั่น ที่ชื่อ ออสการ์ผับ
กับบรรดาน้องๆร่วมก๊วนที่ไปด้วยกัน พวกที่นั่งโต๊ะใหญ่สุด และดูวัยรุ่นสุด
ขากลับพวกเขา ขับเจ้า สตาเร็กซ์ หอบหิ้วกันกลับบ้าน…นั่งกันยัดทะนานแน่นคันรถ



และในเมื่อ ที่นั่น มี H-1 รุ่นใหม่ จอดขายกันเรียบร้อยแล้ว
ก็ทำให้ผมคิดได้เสียทีว่า เอาละ ยอมโดนพวกคนข้างบ้านด่าเล่นสักวันสองวัน
เอารถตู้มารีวิวกันสักหน่อยดีกว่า

ฟังดูไม่ค่อยจะเกี่ยวเลยเนอะ
ไปแอ่วลาว ขับ ทาทา แต่กลับมา รีวิวรถตู้ฮุนไดเนี่ย….

แต่เอาน่า ผมก็ ถูลู่ถูกัง ลากๆอารัมภบทข้างบน ให้มันยาวๆ จนมันเริ่มจะเข้าเรื่องเข้าราว
ที่ผมจะนำเสนอต่อไปนี้จนได้นั่นละ



H-1 นั้น เป็นรุ่นเปลี่ยนโฉมแบบ Full Modelchange ของ รถตู้รุ่น Starex ซึ่งทำตลาดมานานแล้ว
โดย Starex รุ่นเดิมนั้น ฮุนไดใช้วิธี ซื้อพิมพ์เขียวของ Mitsubishi Delica Space Gear หรือ เจ้า L-400 ที่เปิดตัวมาตั้งแต่ปี 1994
ไปผลิตขายในเวอร์ชันของตนเอง ปรับไมเนอร์เชนจ์เปลือกกันชนหน้า
ไปเรื่อยๆ ซะจนแทบจำเค้าโครงเดิม ฝีมือมิตซูบิชิ ที่สวยงามกว่าไม่ได้เลย



แต่สำหรับ H-1 รุ่นใหม่ที่เห็นอยู่นี้ ถือเป็นครั้งแรกของฮุนไดก็ว่าได้
ที่ตัดสินใจออกแบบและพัฒนารถตู้ของตนขึ้นเองแทบทั้งคัน
โดยลดการพึ่งพาชิ้นส่วนและวัสดุ จากพันธมิตรคู่ค้าเก่าอย่าง
Mitsubishi Motors ลงไปได้เยอะ



รูปลักษณ์ภายนอกนั้น เหมือนว่าจะได้แรงบันดาลใจมาจากรถตู้หลายยี่ห้อ หลากรุ่น
แต่หลักแล้วๆ ชวนให้นึกถึง Nissan ELGRAND กับ Mercedes-Benz Vito และ Viano

สิ่งที่ผมกังวลในการนำรถตู้ขนาดใหญ่ๆ มาทดลองขับกัน ก็คือ ปัญหาที่จอดรถ
ซึ่งผมจะต้องกุมขมับ หาที่จอดให้เป็นที่เป็นทาง ไม่เกะกะชาวบ้านเขา

และ สำหรับ H-1 เมื่อผมนำมันกลับมาถึงบ้าน ปัญหาสำคัญที่ผมคาดคิดเอาไว้ ก็เกิดขึ้นจนได้…



แน่ละ ก็เมื่อตัวถังภายนอกมีขนาดใหญ่โตมากเสียจนผมไม่สามาารถจะจับมันยัดเข้าไปนอนในที่จอดรถ
ของบ้านผมได้ ความยาวตัวถัง 5,120 มิลลิเมตร และความกว้าง 1,920 มิลลิเมตร
รวมทั้งระยะฐานล้อที่ยาวสะใจถึง 3,200 มิลลิเมตรนั้น ยังไม่ใช่ปัญหาเท่าใดนัก
เพราะระดับโรงรถจิ๋วสุดมหัศจรรย์ของบ้านผมนั้น เคยต้อนรับ Land Rover Discovery ใหม่
เข้าไปจอดในแบบสบายๆ กำลังดี มาแล้ว



แต่ความสูงของหลังคาที่ระดับ 1,925 มิลลิเมตร เนี่ยสิที่เป็นปัญหา เพราะเมื่อผมถอยรถเข้าไปได้กลางลำตัวแล้ว
ถึงได้พบว่า เหลือระยะห่างอีกเพียงราวๆ ไม่ถึงเส้นผ่าศูนย์กลางของ ปากกา Lancer Click ขอบหลังคาด้านบน
ก็มีสิทธิ์จะครูดกับ เสาโครงเหล็กที่ค้ำยันหลังคาโรงรถบ้านผมเข้าให้แล้ว เป็นอันว่า แผนที่จะจอดรถตู้ยักษ์คันนี้
ในโรงรถของบ้าน เป็นอันต้องพับไปโดยปริยาย

นั่นเลยทำให้ผมต้องเอาเจ้า H-1 ออกมาจอดนอกรั้วบ้าน ให้พวกบ้านใกล้เรือนเคียงขี้อิจฉา
มันหาเรื่องด่าผมเล่นๆ ว่าจอดรถขวางทางเข้าออกจากซอย

ซึ่งอันที่จริงแล้ว ผมก็หาตำแหน่งจอดที่ดีที่สุด โดยเอารถนิสสัน ซันนี่ B14 คันของที่บ้าน
ทดลองแล่นสวนทางผ่านเจ้ารถตู้ยักษ์ที่จอดนิ่งๆริมรั้วแล้ว พบว่า ผ่านได้สบายๆ และไม่มีปัญหา
เลยตัดสินใจว่า เอาวะ เสี่ยงเป็นเสี่ยงกัน จอดมันหน้าบ้านนี่แหละ ทำยังไงได้ละ….ก็มันจำเป็นนี่นา…



รูปลักษณ์ภายนอกที่ใหญ่โตขนาดนี้ แน่นอนว่า
ถ้าห้องโดยสารไม่ดูโปร่งสบายตา
ก็ไม่รู้จะว่าเช่นใดได้อีกแล้ว

ประตูคู่หน้า เปิดออกในลักษณะกางออกและเยื้องไปด้านหน้าตัวรถเล็กน้อย
เพื่อให้สะดวกต่อการเข้าออก มีบันไดข้าง สำหรับเหยียบปีนป่ายขึ้นไป

จากการใช้งานจริงของผู้สูงอายุที่บ้าน ก็พบว่า สามารถขึ้นลงได้ โดยไม่มีปัญหาอะไร
มือโหนกับ มือจับบริเวณเสาหลังคาคู่หน้าที่มีมาให้ เท้าเหยียบขึ้นบันได
ดึงร่างขึ้นไปยืนบนบันได
หันก้นหย่อนลงไปบนเบาะ เหวี่ยงเท้าทั้งสองข้างเข้ามา แล้วก็ปิดประตูรถ…



เบาะนั่งด้านหน้า เป็นแบบ 2 ชิ้น มีลักษณะแบบ กึ่ง Bench Seat
หรือม้านั่งยาวนั่นเอง ผ้าหุ้มเบาะให้สัมผัสที่อ่อนนุ่ม น่านั่ง แล้วก็เลอะคราบสกปรกง่าย!

เบาะรองนั่งนั้น มีขนาดกำลังดีสำหรับผมก็จริง แต่มีเสียงบ่นจากผู้คนอีก 2 คน
ที่ร่วมชะตากรรมกับผมในรถคันนี้ว่า ถ้ายาวกว่านี้สักเล็กน้อยได้
ก็จะนั่งกันสบายก้นมากขึ้น

เบาะฝั่งคนขับ ปรับพนักพิงเอนหลังได้ และ ปรับระดับสูง-ต่ำได้ ด้วยก้านโยกขึ้น-ลง
แต่แค่ตำแหน่งต่ำสุดของเบาะ ก็ถือว่าค่อนข้างจะสูงมากแล้ว ยังจะปรับให้สูงขึ้นไปไหนอีก?
เอาให้สูงขนาดว่าเด้งออกจากรถได้
แบบที่นั่งเครื่องบินรบเลยอย่างนั้นหรือ?



พนักพิงสำหรับผู้โดยสารตรงกลาง
สามารถพับลงมาเป็นที่วางของอเนกประสงค์ได้
และมันก็วางแก้วน้ำขนาดที่พอดีกับช่องได้อยู่
แต่ถ้าคิดจะวางขวดน้ำ 7 บาท 1.25 ลิตรแล้ว
นั่นไม่ใช่ตำแหน่งวางที่ดีนัก

เข็มขัดนิรภัยสำหรับผู้โดยสารด้านหน้าสุด เป็นแบบ ELR 3 จุด 2 ตำแหน่ง
ปรับระดับสูง-ต่ำได้
ส่วนที่นั่งตรงกลาง เป็นแบบ ELR 2 จุด 1 ตำแหน่ง



ประตูทางขึ้นผู้โดยสารตอนหลัง เป็นแบบบานเลื่อน มีขนาดใหญ่โต
รางเลื่อนถูกออกแบบให้แอบซ่อนไว้ ใต้กระจกหน้าต่างบานถัดไป

ไม่มีระบบดูดปิดด้วยไฟฟ้า แบบรถตู้ญี่ปุ่น พวก Toyota Alphard และ Estima เขาเป็นกัน
แต่ทางศูนย์บริการของฮุนได พหลโยธินเล่าให้ฟังว่า
มีลูกค้าซื้อไปใช้แล้วเอาไปติดตั้งเองข้างนอกได้

ประตูบานเลื่อนนั้น มีมาให้ครบทั้ง 2 ฝั่ง ซ้ายและขวา เพื่อการขึ้นลงที่สะดวกยิ่งขึ้น
เบาะนั่งแถว 2 นั้น เบาะ Captain Seat ทั้งฝั่งซ้ายและขวา ปรับเอนนอนได้
จะมีเฉพาะฝั่งขวา ที่มีที่วางแขนพับเก็บได้มาให้ และสามารถปรับเลื่อนขึ้นหน้า-ถอยหลังได้



ส่วนฝั่งซ้าย อันเป็นฝั่งที่คนไทยคุ้นเคยในการขึ้นลงมากกว่านั้น เลื่อนขึ้นหน้า-ถอยหลังไม่ได้
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่า ในเวอร์ชันเมืองนอกนั้น เบาะ Captain Seat ทั้ง 2 ฝั่ง
สามารถปรับหมุนกลับหลังหันได้



ส่วนเบาะผู้โดยสารตรงกลางนั้น พนักพิงพับลงมาเป็นที่วางของอเนกประสงค์ได้
เช่นเดียวกับเบาะคู่หน้า และนอกจากนี้ ยังพับยกขึ้น แนบชิดกับเบาะฝั่งซ้าย
เพื่อเปิดทางทะลุไปยังเบาะแถว 3 และ 4 ได้

ขนาดของที่วางของนั้น วัดได้ด้วยขนาดของขวดน้ำ 7 บาท 3 ขวดวางเรียงกัน



เช่นเดียวกัน เบาะแถวที่ 3 ก็เป็นแบบเดียวกับเบาะแถว 2
แต่เบาะนั่งจะไม่มีที่วางแขนพับเก็บได้แต่อย่างใด
แม้จะปรับเอนได้ทั้งซ้าย-ขวาก็ตาม



เพียงแต่ เบาะนั่งตรงกลาง สามารถยกพับขึ้นแนบกับเบาะฝั่งซ้าย
เปิดทะลุเป็นทางเดินไปยังเบาะแถว 4 ได้

เข็มขัดนิรภัยของเบาะแถว 2-4 เป็นแบบ ELR 2 จุด ทุกที่นั่ง



และแน่นอนว่าเบาะตรงกลางของแถว 3
พับเก็บเป็นที่วางของได้เช่นเดียวกัน



เบาะนั่งแถวหลัง สามารถยกเบาะรองนั่งขึ้น และเลื่อนขึ้นหน้า-ถอยหลัง
เพื่อเพิ่มพื้นที่วางของได้ ในกรณีที่ผู้โดยสารมีราวๆ 8 คน



ทีนี้คงจะมีคนสงสัยกันว่า การนั่งโดยสารแถวหลังสุดหนะมันสบายไหม?

ผมก็เลยนั่งมาให้ชมกัน

โดยเลื่อนเบาะนั่งขึ้นมา ให้พอมีที่วางของด้านหลังอยู่บ้าง



หัวเข่าจะชนกันกับด้านหลังของพนักพิงเบาะแถวข้างหน้าต่อไปพอดี
แต่ถ้าปรับเลื่อนเบาะให้ถอยหลังอีกนิดนึงก็จะนั่งได้พอสบาย
ขณะที่ พื้นที่ว่างเหนือศีรษะนั้น กลับไม่ใช่ปัญหาแต่อย่างใด
เพราะฮุนได ออกแบบมาเผื่อการโดยสารของผู้ใหญ่ไว้แล้ว

แต่ถ้าเลื่อนเบาะแถวหลัง ถอยหลังจนสุด
เวลาปิดประตูห้องเก็บของด้านหลัง ต้องระวังศีรษะของผู้โดยสารให้ดีๆ!
ไม่เช่นนั้น บานระจกจะโขกเข้ากับศีรษะของผู้โดยสารเต็มๆ



การพับเบาะแถวหลังนั้น มีกลไกที่เบาะรองนั่ง ปรับได้ทั้งจากในรถ
และจากด้านหลัง ใต้ชุดเบาะ ห้องเก็บของนั้นมีทางเข้าขนาดใหญ่โตเอาเรื่อง
ยางอะไหล่ เก็บซ่อนเอาไว้ใต้ท้องรถ
บานประตูเปิดกางขึ้นในแนวตั้งฉาก 90 องศา

ก่อนที่จะเดินหน้ารีวิวกันต่อไป
น้องกล้วย น้องชายคนเล็กเรา ส่งข้อความ msn มาบอกผมสดๆตอนนี้ว่า
ที่ผมเขียนไปข้างบนนั้น มีจุดผิดสองแห่ง

1. สุวรรณเขต จริงๆต้องเขียนตามภาษาลาวแท้ๆเลยว่า
“สะหวันนะเขด”

2. ขวดน้ำ พร้อพประกอบฉากนั้น ความจุแค่ 500 มิลลิลิตร ต่อขวด ไม่ใช่ 1.25 ลิตร อย่างที่ผมเข้าใจแต่อย่างใด

แก้ไขกันดื้อๆตรงนี้กันเสียก่อน…



แผงหน้าปัด วางตำแหน่งอุปกรณ์ต่างๆไว้ เน้นความสะดวกในการใช้งาน
(แต่วิทยุก็ยังต้องเอื้อมมือไปกดสั่งการอยู่ดี) อาจจะไกลไปนิด
แต่ถ้าตำแหน่งของชุดวิทยุ ถูกแทนที่ด้วยหน้าจอของระบบนำร่องขึ้นมา
ถือว่า อ่านและใช้งานได้ง่ายแน่ๆ เพราะอยู่ในระดับเดียวกันกับ ชุดมาตรวัด
แต่ยังถือว่าต้องละสายตาจากท้องถนนอยู่บ้างเหมือนกัน

ตำแหน่งคันเกียร์ ติดตั้งอยู่ด้านล่างสุดของแผงควบคุมกลาง
สวิชต์ไฟฉุกเฉิน ก็อยู่ใกล้มืออย่างที่ควรจะเป็น

พวงมาลัยเป็นแบบ 4 ก้าน และแผงควบคุมกลาง
ประดับด้วยพลาสติกสีเงิน ดูหรูสมราคา



ชุดมาตรวัดเรียบง่าย แสงไฟหน้าปัด กลับเป็นสีเขียว
ไม่ใช่สีฟ้าในสไตล์ฮุนไดแบบที่เคยเป็นใน 3 คันที่เคยผ่านมือผมมาแล้ว

ก้านไฟเลี้ยวย้ายจากฝั่งซ้ายแบบรถยุโรป มาอยู่ฝั่งขวา
เอาใจลูกค้าประเทศที่ใช้รถพวงมาลัยขวา
ก้านสวิชต์ใบปัดน้ำฝนอยู่ฝั่งซ้ายมือ
แต่ กลับไม่มีระบบใบปัดน้ำฝันด้านหลัง
ซึ่งรถตู้ระดับนี้ สมควรจะมีมาให้ได้แล้ว!!!



สวิชต์เครื่องปรับอากาศ เป็นแบบมือหมุนธรรมดา
และมีสวิชต์ เปิด-ปิดระบบแอร์ ของผู้โดยสารแถวหลังมาให้
(เวอร์ชันต่างประเทศตัวท็อป ให้แอร์ดิจิตอลมาด้วย)

ชุดเครื่องเสียงติดรถยนต์นั้น เล่น CD / MP3 ได้
นอกจากจะมีช่องเสียบ AUX สำหรับเครื่องเล่น iPod
หรือ เครื่องเล่น MP3 อื่นๆ บริเวณ ฝั่งซ้ายของคันเกียร์แล้ว
ยังมีลำโพงทวีตเตอร์ติดอยู่ที่เสาประตูมาให้ด้วย
คุณภาพเสียงถือว่าใช้ได้ สมราคา

ที่จุดบุหรี่ และที่เขี่ยบุหรี่ มีฝาปิด
ส่วนที่วางแก้วและขวดน้ำนั้น เลื่อนออกมา เปิดปิดได้
ขาพับ ที่ง้างออกมา เพื่อวางขวดตามขนาดของมันได้นั้น
ในบางจังหวะที่ใช้งานจริง เมื่อเจอแรงกระเทือนจากถนน
ขวดน้ำก็หลุดร่วงลงพื้น ในภาวะที่ผมต้องเจอกับสถานการณ์คับขันพอดี
อาจต้องออกแบบเพิ่มเติม เพื่อล็อกวัตถุที่วางอยู่กับที่วางแก้วนี้ ให้ดีกว่าเดิม



ช่องเก็บของพร้อมฝาปิด มี 2 ชั้น
ชั้นล่างเอาไว้สำหรับใส่คู่มือผู้ใช้รถและเอกสารประจำรถ
ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ผมเห็นว่า ฮุนได มีคู่มือผู้ใช้รถติดมาให้รถทดลองขับด้วย
แม้จะเป็นภาษาอังกฤษก็ตาม

ส่วนฝาด้านบน วางของจุกจิกได้บ้าง
แต่ไม่มากนัก พอจะซ่อนมือถือ
หรือปืนเล็กๆสักกระบอกก็ได้อยู่

ผ้าบุแผงประตู เป็นลายเดียวกับผ้าเบาะนั่งให่สัมผัสที่ดี
ที่วางแขนบนแผงประตูทั้ง 2 ฝั่ง วางแขนได้ในระดับสบายกำลังพอดี

มีไฟสีแดงส่องสว่าง ยามประตูเปิด
เพื่อสะท้อนให้รถคันที่ตามมายามค่ำคืน ได้เห็นว่า
ประตูรถเปิดอยู่



กระจกมองหลังเป็นแบบตัดลำแสงอัตโนมัติ

ไฟส่องสว่างในห้องโดยสารนั้น มีเยอะเอาเรื่อง
ทั้งไฟอ่านแผนที่ ไฟส่องแต่งหน้า ซ่อนอยู่เหนือแผงบังแดด



รวมทั้งเพดานหลังคา ยังมีหลอดไฟแบบ LED เรืองแสง
พร้อมช่องแอร์ ทั้งแถวกลาง และหลัง มีสวิชต์ปรับอุณหภูมิมาให้แยกส่วน
จากแผงควบคุมกลาง

กระจกหน้าต่างของบานประตูผ้โดยสาร ทำเป็นช่องเล็กๆ
การจะเปิดออกนั้น ต้องบีบตัวล็อกเข้าหากัน แบบไม้หนีบผ้า
แล้วต้องออกแรงเลื่อนมัน ซึ่งถ้าไม่ตั้งใจทำ ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

เป็นสัจธรรมชัดเจนว่า บางครั้ง ใจคนเรา ที่ปิดทึบคับแคบอุดอู้
ถ้าพยายามสักนิด เปิดมันออกกว้าง สายลมแห่งความสดชื่นก็จะพัดพาเข้ามา
ปลายทางก็คือความเบิกบานในใจเรา…



ส่วนสวิชต์ไฟตัดหมอกนั้น แยกออกมาจากชุดก้านไฟเลี้ยว
และมีสวิชต์ปรับระดับความสว่างของไฟมาตรวัด

ในรุ่นเกียร์อัตโนมัติตัวท็อป Maesto นั้น ฮุนได ให้ถุงลมนิรภัยคู่หน้า
มาเป็นอุปกรณ์มาตรฐาน รายการอุปกรณ์ต่างๆนั้น
ขอแนะนำว่า เดินเข้าไปในโชว์รูมของฮุนไดโดยตรงเลยจะดีกว่า
เพราะในเว็บไซต์ http://www.hyundai-motor.co.th นั้น
ข้อมูลรายละเอียดอุปกรณ์ประจำรถแต่ละรุ่น กลับไม่มีมาให้
มีเพียงตารางข้อมูลทางเทคนิคเท่านั้น รายละเอียดต่างๆ ก็มีบอกไว้ไม่ละเอียด
เท่าที่ควร มีเหมือนทำเว็บไซต์เอาไว้ให้รู้ว่ามีเว็บกับเขาเหมือนกันก็เพียงเท่านั้น



ทัศนวิสัยรอบคันนั้น ด้านหน้า แน่นอนว่า โปร่งตา

เมื่อถ่ายจากระดับสายตา จะพบว่า ความสูงของเบาะนั่งคนขับนั้น
พอกันกับรถบรรทุกขนาดเล็กเลยทีเดียว



ฝั่งขวา กระจกมองข้างของ H-1 นั้น มีขนาดใหญ่โตสะใจ
แถมไม่หลอกสายตาเหมือนกับ รุ่นโซนาตา คูเป้ ทิบูรอน
และซานตาเฟ เคยเป็นมา ก็ถือว่าปรับปรุงไปในทางที่ดีขึ้น



เสาหลังคาฝั่งซ้าย ไม่ได้บดบังทัศนวิสัยมากนัก



ส่วนทัศนวิสัยด้านหลัง ถือว่า โปร่งตา ตามแบบที่รถตู้ทั่วไปควรจะเป็น
แม้ว่าเสาหลังคาหลังจะหนาก็ตาม



********** รายละเอียดด้านวิศวกรรม และการทดลองขับ **********

การติดตั้งเครื่องยนต์อยู่ที่ด้านหน้าของรถ
และการทำฝากระโปรงหน้า เปิดมาเจอเครื่องยนต์ได้แบบรถเก๋งทั่วไปนั้น
สร้างความสะดวกในการบำรุงรักษาระบบต่างๆ มากกว่า รถตู้ทั่วไป
ที่ต้องเปิดเบาะรองนั่งฝั่งข้างคนขับ เพื่อพบปะกับเครื่องยนต์ แบบเดิมๆ



เครื่องยนต์ที่วางใน H-1 นั้น
เป็นแบบดีเซล บล็อก 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 2,497 ซีซี
ฉีดจ่ายเชื้อเพลิงด้วยระบบ Common Rail
ตรงเข้าห้องเผาไหม้ในแบบ Direct Injection
พร้อมระบบอัดอากาศ เป็นแบบ Turbo



ความกว้างกระบอกสูบ x ช่วงชัก 91 x 96 มิลลิเมตร

กำลังสูงสุด 174 แรงม้า (PS) ทื่ 3,800 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด 392 นิวตันเมตร หรือ 39.94 กก-ม.
ที่ รอบเครื่องยนต์ตั้งแต่ 2,000 – 2,500 รอบ/นาที



ส่งกำลังสู่ล้อคู่หลัง ด้วย เกียร์อัตโนมัติ 5 จังหวะ
พร้อมโหมด บวก-ลบ ให้ะเลือกเปลี่ยนเกียร์ได้เอง
มีอัตราทดเกียร์ดังนี้

เกียร์ 1………………..3.730
เกียร์ 2………………..2.310
เกียร์ 3………………..1.519
เกียร์ 4………………..1.000
เกียร์ 5………………..0.840
เกียร์ถอยหลัง…………2.740
อัตราทดเฟืองท้าย……2.929



การทดลองขับคราวนี้
จริงอยู่ว่า เรายังคงใช้มาตรฐานเดิม คือ ขับเปิดแอร์
นั่ง 2 คน เปิดไฟหน้า ทดลองกันตอนกลางคืน

แต่จากเดิม ที่ผมพยายามจะให้น้ำหนักของผู้ขับขี่และผู้ร่วมทดลอง
อยู่ในพิกัดประมาณ 150-170 กิโลกรัม เช่นเดียวกับปกติ

คราวนี้ ผมก็ตัดสินใจเรียกใช้บริการ…น้องแพน….
ผู้ซึ่งใช้ชื่อล็อกอินใน pantip.com ห้องรัชดา ว่า V.Putin
และตอบเล่นๆอยู่ใน Caronline.net ของเราว่า Mockba86

น้องแพน เป็นชายหนุ่มร่างเล็ก (กว่าฮิปโปโปเตมัส….นิ๊ดดดดดๆๆๆๆๆๆนึง…จริงๆนะ)
น้ำหนักของเจ้าตัว พุ่งพรวดขึ้นมาจาก 130 กว่า เป็น 147 กิโลกรัม ตั้งแต่เมื่อใด
ผมก็ไม่ทราบ รู้แค่ว่า มันเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้เองแหละ!

แต่ที่แน่ๆ สำนักลดความอ้วน ทั้ง Body Shape Body Slim หรือ Body ศพ13
มิต้องติดต่อมาให้น้องแพนเป็นพรีเซ็นเตอร์ เพื่อลดน้ำหนักฟรีๆเด็ดขาด!

เจ้าตัวพึงพอใจ และภูมิใจ อีกทั้งยังมีความสุขดี ที่จะเป็นพรีเซ็นเตอร์ของยาง Michelin
(บีเบนดั้ม) มากกว่า เพราะมันช่างเข้ากับสรีระอันอวบอั๋นเป็นเอกอุของน้องแพนเป็นอย่างม้ากกก!

การเอาน้องแพน มาร่วมสังฆกรรมในครั้งนี้ เหตุผลหลักก็คือ

1. โดยปกติแล้ว จะมีคนบ้าที่ไหนบ้าง ที่ซื้อรถตู้คันใหญ่เท่าบ้าน
แล้วมาขับใช้งานไปไหนมาไหนตามลำพังเพียงคนเดียว
หรือ จู๋จี๋กับแฟน 2 คน…(อ้ะ อ้ะ อย่านึกถึงพื้นที่ด้านหลังที่เหลือ
ว่ามันสามารถพับเบาะให้เอนราบเป็นม่านรูดเคลื่อนที่ได้ อย่าเชียวนะอย่าเชียว!)

2. ในเมื่อ ส่วนใหญ่ จากการสังเกตที่เราเห็นกันตามท้องถนน
รถตู้จำพวก อัลฟาร์ด เวนจูรี วีโต หรือคาราเวลล์ ส่วนใหญ่แล้ว
อย่างน้อย ผู้โดยสารรวมพลขับ มักจะอยู่ที่ระดับ 3 คนขึ้นไปกันทั้งนั้น
แล้วจะทดลองด้วยการนั่ง 2 คน ไปใยกันเล่า?

3. ด้วย ข้อ 1 และ 2 ทำให้เราต้องมองหาผู้ร่วมทดลองขับกัน
แต่ ครั้นจะหาเพื่อนฝูงรอบข้างผม ที่ว่างตรงกัน เห็นจะยากมิใช่เล่น
จะเรียกรวมทีมให้ครบ 3-4 คน เพื่อมานั่งรถตู้ และวิ่งไป-กลับ พระราม 6 – เชียงราก
รวมทั้งทดลองอัตราเร่งกันด้วย เห็นทีจะกินเวลาชีวิตของใครหลายคนไปโดยไม่จำเป็น

4. ใบหน้าของน้องแพน จึงผุดขึ้นมาในหัวขี้เลื่อยๆของผม ด้วยประการฉะนี้
เนื่องจากคุณสมบัติอันโดดเด้งดึ๋งดั๋งเฉพาะตัว น้ำหนัก 147 กิโลกรัมของแพน
บวกกับตัวผม 93 กิโลกรัม รวมแล้ว 240 กิโลกรัม…

เปรียบได้กับ ผู้ใหญ่ หนัก 60 กิโลกรัม 4 คน
หรือตีเสียว่า ผู้ใหญ่หนัก 70 กิโลกรัม 3 คน เด็กหนัก 30 กิโลกรัม 1 คน
หรือ ผู้ใหญ่ ชาย หนัก 80 กิโลกรัม 3 คน
หรือ ผู้ใหญ่ ชาย หนัก 80 กิโลกรัม 2 คน ผู้หญิง หนัก 50 กิโลกรัม 1 คน
และเด็กตัวเล็กอีก 1 คน

และแถมยังทำให้เรา ยืนหลัก ทดลองขับแบบ เปิดแอร์ นั่ง 2 คน ต่อไปได้
อย่างสบายๆ อีกต่างหาก! เพราะแค่ 2 คน น้ำหนักก็ปาเข้าไป 240 กิโลกรัมแล้ว

ที่ร่ายยาวมานี้ สมเหตุสมผลพอไหมครับ? ที่ผมจะเปลี่ยนตัวเป็นแขกรับเชิญพิเศษ
อย่าง น้องแพน….

เอาละ เราทำการทดลองหาอัตราเร่ง โดยใช้สูตรเดิม
เปิดแอร์ นั่ง 2 คน เปิดไฟ ทดลองตอนกลางคืน
แต่… เพิ่มพิกัดน้ำหนักบรรทุก จาก 150 เป็น 240 กิโลกรัม
และเปลี่ยนมาใช้ทางด่วนสายเชียงราก เป็นสถานที่ทดลอง

และต่อไปนี้ คือตัวเลขอัตราเร่งที่ทำได้
ซึ่งแน่นอนว่า ถ้าน้ำหนักบรรทุกน้อยกว่านี้ ตัวเลขจะดีกว่านี้
แต่ เพื่อให้เป็นไปตามรูปแบบน้ำหนักบรรทุกใกล้เคียงการใช้งานจริง
ให้ได้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ ก็เลยออกมาเป็นอย่างที่เห็นนี้ครับ



**อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม.**

ครั้งที่
1……..13.34 วินาที
2……..13.24 วินาที
3……..13.17 วินาที
4……..13.23 วินาที

เฉลี่ย……13.24 วินาที

—————————————–

**อัตราเร่ง 80-120 กม./ชม.** หรือช่วงเร่งแซงทั่วไป
กดคันเร่งจนจมสุดทันที จาก 80 กม./ชม. ที่เกียร์ 5
เพื่อให้ระบบเกียร์ คิ๊กดาวน์ เปลี่ยนตำแหน่งเกียร์ลงมายังเกียร์ 2

ครั้งที่
1……..10.32 วินาที
2……..10.36 วินาที
3……..10.41 วินาที
4……..10.31 วินาที

เฉลี่ย……10.35 วินาที

—————————————–

**รอบเครื่องยนต์ที่เกียร์ 5 อันเป็นเกียร์สูงสุด **

ความเร็ว 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใช้รอบเครื่องยนต์ 1,500 รอบ/นาที
ความเร็ว 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใช้รอบเครื่องยนต์ 1,800 รอบ/นาที
ความเร็ว 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใช้รอบเครื่องยนต์ 2,050 รอบ/นาที

—————————————–

**ความเร็วสูงสุด ที่วัดได้ในแต่ละเกียร์ อ่านจากมาตรวัดบนแผงหน้าปัด**

(หน่วย กิโลเมตร / ชั่วโมง ที่ รอบเครื่องยนต์/นาที)

เกียร์ 1…….50 @ 4,100
เกียร์ 2…….80 @ 4,100
เกียร์ 3…..120 @ 4,100
เกียร์ 4…..190 @ 3,500

—————————————–

***ความเร็วสูงสุด***

190 กิโลเมตร/ชั่วโมง ณ รอบเครื่องยนต์ 3,500 รอบ/นาที ที่เกียร์ 4

—————————————–

ประสิทธิภาพของเครื่องยนต์นั้น ถือว่าน่าประทับใจ
ถ้าคิดเสียว่า เครื่องยนต์ต้องลากตัวรถ ที่ทั้งต้านลมและมีน้ำหนักตัวเกือบๆ 2 ตันเศษๆ
อีกทั้ง เป็นเครื่องยนต์ที่ติดตั้งในรถตู้ ซึ่งมีพื้นฐานจากการเป็นรถตู้ส่งของ

เอาเข้าจริงแล้วตั้งแต่รอบเครื่องยนต์ต่ำกว่า 1,800 รอบ/นาที
พละกำลังยังไม่ค่อยมีมากมายเท่ากับเสียงครางที่ดัง ประมาณ เด็ก ม.ปลาย นอนกรน
คือมันจะดังกว่าเด็ก ม.ต้น นอนกรนนิดนึง แต่ไม่ถึงกับดังครางสนั่น ขจรประสาท ราวกับชายชรา
ที่กลั้วคอด้วยลิสเตอรีนยามเช้า อย่างที่เครื่องยนต์ของ รถกระบะ Tata Xenon เป็น

แต่พอเข็มวัดรอบกวาดขึ้นไปที่ระดับ 2,000 รอบ/นาทีขึ้นไป
พละกำลังก็เริ่มไหลมาเทมาอย่างต่อเนื่อง จากการทำงานของเทอร์โบ

เพียงพอที่จะให้ผม เร่งแซงฉีกนำ โฟล์กสวาเกน คาราเวลล์ V6
ซึ่งแล่นอยู่ข้างหน้าผมด้วยความเร็ว 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ขึ้นไปได้อย่างง่ายดาย และทิ้งช่วงไปหลายคันรถ
จนเจ้าคาราเวลล์คันนั้น ถึงกับพยายามจะไล่กวดตามผมมาก็แล้วกัน
(และเมื่อถึงจุดหมายปลายทางของผม
ก็ต้องปล่อยให้เจ้าคาราเวลล์คันนั้น ห้อตะบึงต่อไปตามลำพัง)

ที่สำคัญ ด้วยอัตราเร่งที่ทำได้ดีเกินคาดแบบนี้
ทำให้ผมได้ค้นพบว่า เจ้า H-1 นั้น คล่องตัวอย่างประเสริฐ
และขับง่ายกว่าที่ผมคิด ง่ายขนาดว่า
ผมสามารถพาเจ้า H-1 มุดลัดเลาะไปตามสภาพการจราจรที่ติดขัด
บนถนนลาดพร้าวตอน 17.30 น. ได้อย่างไม่เดือดร้อนทั้งตัวผมและเพื่อนร่วมทาง
เห็นช่องวางเลนซ้ายสุดเมื่อใด ผมก็สามารถลัดเลาะจากเลนขวาสุด
แว๊บบบบ ไปยังเลนซ้ายสุดที่ว่างอยู่ ได้อย่างคล่องตัวและง่ายดาย
ในแบบที่รถตู้ทั่วๆไปทำไม่ได้ง่ายๆ

แม้กระทั่งในวันที่ เจ้า H-1 มันช่วยพาผม มุดซ้าย ป่ายขวา แซงหน้า
บรรดารถขับช้าแช่ขวา ชิงถ้วยรางวัลขับประหยัดดีเด่นโด่เด่ จาก ผู้ว่าฯ ปตท.
บนทางด่วนขั้นที่ 1 มุ่งหน้าสู่บางนา ในวันที่กล้ามเนื้อหูรูดของผม
ใกล้จะหมดความพยายามในการต้านทานข้าศึก อันประกอบไปด้วย
ข้าวหน้าไก่แบบเหลาะงาทิ้นสไตล์ ห้าแยกพลับพลาชัย + ไข่ดาว
และเส้นเล็กแห้งลูกชิ้นปลา ที่กำลังเต้นแร้งเต้นกาอยู่ในลำไส้ของผม

ฮุนได H-1 พาผมถึงที่หมายปลายทาง อันเป็นออฟฟิศของคุณพ่อผม
ที่ซอยอุดมสุข ได้ทันท่วงที ที่ข้าศึกอันได้กล่าวมาข้างต้น ใกล้จะยิงถล่ม
ทันเวลาที่ผมจะคว้ากระดาษชำระ 1 ม้วนใหญ่ วิ่งลงจากรถโดยยังไม่ทันดับเครื่อง
พุ่งตัวผ่านทะลุประตูออฟฟิศ ผ่านหน้าลูกน้องในสำนักงานหลายๆคน ที่มองหน้าอย่างงงๆ
ว่าจู่ๆ คุณจิม มาทำอะไรที่นี่ ในวันแบบนี้ ที่พวกเขาไม่คิดว่าจะได้เจอตัวผม

ผมก็ไม่ฟังอีร้าค่าอีรม พุ่งตัวปรู๊ดเข้าห้องน้ำไป……นาน ครึ่งขั่วโมง….

ทันเวลาพอดีแบบฉิวเฉียด!!

นี่ถ้าไมได้เครื่อง 2.5 ลิตร คอมมอนเรล เทอร์โบ 174 แรงม้า
คาดว่า ป่านนี้ คงจะเละคาทางด่วนไปเรียบร้อยแล้ว…

และไอ้ที่เละหนะ ไม่ใช่รถนะครับ

ผมหมายถึง กางเกงยีนส์ กางเกงใน และเบาะผ้าสีเบจที่ติดรถมาต่างหากละ!



จะมีติอยู่บ้างเล็กน้อย ก็ตรงที่ ช่วงล่างนั่นละ

ระบบกันสะเทือนหน้าเป็นแบบ แม็คเฟอร์สันสตรัต มีเหล็กกันโคลงมาให้



ส่วนด้านหลังเป็นแบบ มัลติลิงค์ คอยล์สปริงพร้อมเหล็กกันโคลง

อย่าลืมว่า การที่มีเหล็กกันโคลงนั้น แสดงว่า พื้นฐานของระบบกันสะเทือนดั้งเดิม
น่าจะไม่ลงตัว จนกระทั่งต้องพึ่งพาใช้บริการเหล็กกันโคลงมาเป็นตัวช่วย

ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจว่า
ช่วงที่ผมกำลังทำเวลา เพื่อไม่ให้เพื่อนฝูงในลำไส้ ใกล้โผล่ออกมาเยี่ยมชมโลกกว้าง
ในสุขภัณฑ์ ก่อนกำหนด จังหวะที่ขับผ่านลูกระนาดทีไร แรงสะเทือนของมัน
เสียวแปล๊บไปถึงลำไส้ใหญ่ เร่งปฏิกิริยาให้ เพื่อนใกล้จะมาเยือนนั้น
รีบเคาะประตูถามหาได้อย่างดีเชียวนักแล!!

แต่ถ้าการเดินทางไกลๆ ขับสบายๆ เรื่อยๆแล้ว
การตอบสนองของระบบกันสะเทือน หลังจากที่ใส่เหล็กกันโคลงเข้าไป
นุ่มนวลกำลังดีในความเร็วสูง ผู้ใหญ่ขึ้นมานั่งแล้วน่าจะชื่นชอบ
อย่างน้อย ผู้ใหญ่ 3 คน อายุ 50 ปลายๆ 60 ต้นๆ
ที่ขึ้นมานั่งในรถคันนี้ เมื่อเดินทางไปกับผม
นอกจากจะไม่ปริปากบ่นแล้ว ก็ยังเอ่ยปากชมมันด้วย



พวงมาลัยเป็นแบบแร็คแอนด์พีเนียน พร้อมเพาเวอร์ช่วยผ่อนแรง
อัตราทดเฟืองพวงมาลัย 15.61 : 1
หมุนรอบสุด จากซ้ายสุด ไปขวาสุด 3.57 รอบ
มีน้ำหนักหนืดกำลังดีในความเร็วต่ำ หรือหยุดนิ่ง แต่เบานิดนึงเมื่อใช้ความเร็วสูง
แต่ก็ยังให้คฃวามมั่นใจได้ดีกว่า พวงมาลัยของ Ssangyong Stavic นั่นแล้วกัน!
แถมมีรัศมีวงเลี้ยวที่ แคบสะใจ สำหรับรถตู้ระดับนี้ คือ 5.61 เมตร
เพียงพอให้คุณเลี้ยวกลับรถ หน้าทางเดินขึ้นตึกธนาคารทหารไทย สำนักงานใหญ่
ได้เพียงจังหวะเดียว ขณะที่รถซึ่งมีขนาดเล็กกว่า ทั้ง Vigo Fortuner และ MU-7
ทำแบบเดียวกัน ไม่ได้

อย่างไรก็ตาม เมื่อทั้งคู่ประสานการทำงานร่วมกันใน H-1
หากคุณเลี้ยวในโค้ง ถ้าไม่ได้เหยียบคันเร่งส่งขึ้นไป รถก็จะนิ่งดีอยู่
แต่ถ้าเหยียบส่งเพื่อเพิ่มความเร็วขึ้น
ด้วยการส่งกระจายแรงบิดไปยังล้อคู่หลัง
ซึ่งจะส่งแรงดันรถไปข้างหน้ามาก
ก็จะมีผลกับการเลี้ยวอยู่บ้างเป็นปกติ
คืออาจดูเหมือนจะเลี้ยวไม่เข้า เหมือนว่าหน้าจะดื้อแบบ Understeer หน่อยๆ
แค่ถอนเท้าออกจากคันเร่ง อาการจะดีขึ้น

โค้งทางลงทางด่วนพระราม 6 รูปตัว S นั้น
สาดเข้าไปที่ความเร็วระดับ 70 กิโลเมตร/ชั่วโมง ได้สบายๆ
แต่อย่าเกินกว่า 75 กิโลเมตร/ชั่วโมง ถ้าใช้ยางติดรถ Hankook จากโรงงาน

ระบบเบรกเป็นแบบไฮโดรลิก ดิสก์เบรก 4 ล้อ
คู่หน้า มีครีบระบายความร้อน
และเพิ่มระบบป้องกันการล็อกของล้อ ABS
(แต่ในรุ่น เกียร์ธรรมดา จะใช้วาล์วควบคุมแรงดันน้ำมันเบรก
และมีเบรกหลังเป็นแบบดรัมเบรกแทน)

หน่วงความเร็วได้ดีเกินคาด และหยุดรถให้นุ่มนวลได้ไม่ยากเย็น
ต่อให้่ถ้าซัดมาเต็มๆ หรือว่าแล่นลงจากทางลาดชันอันคดเคี้ยว
แล้วต้องเหยียบเบรกกระทันหัน ติดๆกันหลายครั้ง แม้อาจจะต้องระวัง
ความร้อนจากการเสียดสีในระบบเบรกอยู่บ้าง แต่ก็เป็นเรื่องปกติ
ที่ระบบเบรกของรถตู้อาจจะต้องเผชิญ

ส่วนเรื่องการเก็บเสียงในห้องโดยสาร ถือิว่าทำได้ดี
และยังคงไม่ต้องเร่งเสียงของสวิทยุและเสียงพูดของผู้โดยสาร
จนกว่าจะเกินความเร็วระัดับ 150 กิโลเมตร/ชั่วโมงขึ้นไป



เรายังคงใช้วิธีการเดิม คือเติมน้ำมันที่ปั้มเชลล์ พหลโยธิน ปากซอยอารีย์
ลัดเลาะไปขึ้นทางด่วนที่ด้านพระราม 6 แล้วมุ่งหน้าตรงๆ ยาวๆ
ด้วยความเร็ว 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง ไปจนสุดปลายทางด่วนสายเชียงราก
ประมาณอยุธยา แล้วเลี้ยวกลับมาขึ้นทางด่วน ขับย้อนเส้นทางเดิม
คราวนี้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบเส้นทางเล็กน้อย



กล่าวคือ
– น้ำมันดีเซลที่ใช้ เปลี่ยนมาเป็น เชลล์ วี-เพาเวอร์
– ทางลงทางด่วน จากเดิม ลงที่ด่านพระราม 6 โค้งตัว S
คราวนี้ ย้ายไปลงทางด่วน ที่ทางลงอนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
ฝั่งถนนพหลโยธิน ตรงวินรถตู้ ซึ่งจะทำให้เรารักษาความเร็วต่อเนื่อง
ได้ดีกว่าการขับลัดเลาะไปตามซอยอารีย์ ที่อาจเจอการจราจรติดขัดบ่อยๆ

และ แน่นอน น้องแพน ยังคงอยู่กับเราตลอดการทดลองรถคันนี้
เพื่อช่วยถ่วงน้ำหนักให้ อยู่ในพิกัดบรรทุก 240 กิโลกรัมเช่นเดิม



พอดูตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงแล้ว ทำตัวเลขออกมาได้ สมตัว
ตามมาตรฐาน วิ่ง 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดแอร์ นั่ง 2 คน (น้ำหนักรวม 240 กิโลกรัม)

ระยะทางที่แล่นไปทั้งหมด จากมาตรวัด…..91.6 กิโลเมตร
ปริมาณน้ำมันที่เติมกลับ…………………………7.93 ลิตร

อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย………………..11.55 กิโลเมตร/ลิตร



และถ้าจะถามว่า น้ำมัน 1 ถังแล่นได้ระยะทางประมาณเท่าไหร่?
ผมทดลองใช้งานจริง ตลอด 4 วัน 3 คืน ขับในเมือง และขึ้นทางด่วนเป็นหลัก
น้ำมัน 1 ถัง ถังน้ำมันมีความจุ 75 ลิตร ยังสามารถแล่นไปมา
ในเมืองและรอบเมืองได้ 502 กิโลเมตร
และยังเหลือน้ำมันอีกราวๆ 1 ใน 4 ของถัง
นั่นหมายความว่า น้ำมัน 1 ถัง ของ H-1
น่าจะแล่นได้ด้วยระยะทางเกิน 500 กิโลเมตร ไปได้อีกนิดหน่อย



********** สรุป **********
***** จ่ายแค่ 1.33 ล้านบาท ก็ลืม Ventury Vito และ Caravelle ไปได้เลย! *****

ก่อนที่คุณจะถามว่ามันน่าซื้อหรือไม่?
อันเป็นคำถามยอดฮิต ที่ผมมักเอเสมอ
เมื่อใครสักคนจะต้องถามผมเรื่องของเจ้า H-1

ผมคงต้องขอให้คุณ เอาอคติในใจออกไป
ลองเอาตรายี่ห้อ รูปตัว H ในวงรี ออกไปให้พ้นกันก่อน



มาดูกันเฉพาะตัวรถ
พูดกันตามตรง แบบไม่อ้อมค้อม
H-1 ให้ทั้งสมรรถนะ การชับขี่ อัตราเร่ง อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง
การทรงตัว รวมทั้งวัสดุในการตกแต่งและความสะดวกสบายในการเดินทาง
ได้ดี สมกับค่าตัวของมันที่คุณต้องจ่ายออกไป

มันเป็นรถตู้ที่สมบูรณ์ และสมราคามากที่สุดเท่าที่มีอยู่ในตลาดปัจจุบันนี้
เพราะประสิทธิภาพ และราคา มันตีคู่มาด้วยกันอย่างดี

และ มันน่าซื้อมากๆ ถ้าคุณกำลังคิดจะมองหารถตู้สักคัน
และมีตัวเลือกอยู่ในความคิด อย่าง โตโยต้า เวนจูรี หรือ คอมมิวเตอร์
ไปจนถึง โฟล์กสวาเกน คาราเวลล์ และ เมอร์เซเดส-เบนซ์ เวียโน

และต่อให้เปรียบเทียบกับ เกีย คาร์นีวัล (ขายในสหรัฐอเมริกา
ผ่านแบรนด์ ฮุนไดด้วย ในชื่อ Hyundai Entourage)
และ ซางยอง สตาร์วิค เจ้าหนูยักษ์น่าเบื่อคันนั้น

ยังไงๆ ฮุนได ก็กินขาดเพื่อนร่วมชาติทั้ง 2 ที่เหลืออยู่ดี



แต่ ถ้าลองเอาตรา โลโก้ สามห่วง ของ โตโยต้า ไปแปะอยู่บนกระจังหน้า
และฝากระโปรงท้าย รวมทั้งบนพวงมาลัย

จะเชื่อหรือไม่ว่า รถคันนี้ จะขายดีจนน่าดึงดูด
ยอดพุ่งกระฉูดสูงชะลูดยิ่งไปกว่าที่เป็นอยู่นี้อีกอักโข

หลายๆคน ยังมีทัศนคติที่ไม่ดีกับแบรนด์รถยนต์ระดับพระรองมากมายหลายค่าย
อย่างที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้เลย แม้ว่าแบรนด์นั้น จะอยู่ในตลาดมาก่อน
พวกยักษ์ใหญ่ หรือจะเป็นน้องใหม่ผู้มาทีหลังก็ตาม

เข้าใจดีว่า แบรนด์ เปรียบเสมือนความเชื่อมั่นในใจของลูกค้า
ตลอดเวลาที่รถคันนั้นจะต้องอยู่ในบ้าน การมีศูนย์บริการเยอะพอกับปริมาณรถ
และมีช่างเก่งๆ คอยดูแล คือสิ่งที่ผู้ใช้รถหลายคน เป็นกังวล



อย่างที่เคยบอกเอาไว้ ว่างานนี้ ฮุนไดเขาบอกเองแล้วว่า
เขาตั้งใจจะมาอยู่ยาวๆ ไม่ถอยทัพกลับไปง่ายๆเช่นที่เคยเป็นมาอีกแล้ว
ดังนั้น ในเบื้องต้นนั้น ผมก็คงต้องบอกว่า หายห่วง

แต่ เชื่อเถอะ ความเป็นห่วงหนะ ยังไม่หายไปไหนหรอก
มันยังคอยวนเวียนเป็นวิญญาณผีแคสเปอร์ ที่ตามหลอกหลอนเราขำขำเล่นอย่างนั้นนั่นละ

เพราะในเวลาเริ่มต้นเพียง 8 เดือนในการทำตลาดรอบสองของฮุนไดนั้น
ใครๆก็พูดได้ แต่ระยะเวลานับจากนี้ จะเป็นเครื่องพิสูจน์ความตั้งใจจริง
ในการทำตลาดรถยนต์ฮุนได ในบ้านเรา ของกลุ่มโซจิทซึ

อย่างไรก็ตาม ต่อให้คิดกันเล่นๆ ขำขำ บ้าๆบอๆ ว่า ฮุนได เลิกขายรถในเมืองไทย
ถ้าอะไหล่ฝั่งไทยหมด? ก็ข้ามเขตไปหาซื้ออะไหล่จากฝั่งลาวมาก็ไม่น่าจะยาก
จริงไหม? ในเมื่อ บริษัท KOLAO ก็ยังทำท่าว่ามีธุรกิจไปได้ดีอยู่

ดังนั้น เวลานี้ ยังไม่น่าจะมาเป็นห่วงกับเรื่องอะไหล่ในระยยาวนักหรอกครับ
เอาแค่ภายใน 5 ปีนี้ พวกเขายังพร้อมจะบริการคุณอย่างเต็มที่ เหมือนที่พวกเขาให้สัญญาไว้

ผมว่า นั่นน่าจะเพียงพอที่จะทำให้คุณ ตัดสินใจได้เสียทีนะ…

———————————-///———————————–



ขอขอบคุณ
บริษัท ฮุนได มอเตอร์ (ประเทศไทย)จำกัด
เอื้อเฟื้อรถในการทดลองขับ



********** บทความรีวิว ของรถยนต์ในกลุ่มตลาดเดียวกัน **********

– ทดลองขับ Ssangyong Starvic
http://topicstock.pantip.com/ratchada/topicstock/2006/06/V4484128/V4484128.html



J!MMY
3 สิงหาคม 2008
11.21 น. – 15.30 น.

Facebook Comments