ทดลองขับ Honda ACCORD 2.4 i-VTEC ; Can we forget the Camry…? By: J!MMY
ผมยังจำได้ถึงวันที่ผมนั่งอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ ที่เปิดระบบอินเตอร์เน็ตเอาไว้
ระหว่างที่ มีภาพ Spyshot ของแอคคอร์ด เจเนอเรชันที่ 7 เวอร์ชันอเมริกัน-ไทย
ถูกปล่อยออกมาจากเว็บไซต์ www.vtec.net เมื่อปลายปี 2002
จากนั้นให้หลังเพียงเดือนเดียว รูปคันจริงก็ปรากฎออกมา พร้อมกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า
ไม่ค่อยสวยบ้าง บางคนก็บอกว่าสวย สปอร์ตดี
ผมจำได้ว่า ตนเองเคยทำนายเอาไว้ว่า แอคคอร์ดรุ่นนั้น จะไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร
ท้ายสุดแล้ว จริงหรือไม่จริง คำตอบ ก็เห็นกันเด่นชัดอยู่แล้ว
จริงอยู่ว่าปริมาณของแอคคอร์ด เจเนอเรชันที่ 7 บนท้องถนนเมืองไทย
ถือว่ายังอยู่ในเกณฑ์ดี แต่จะว่าไปแล้ว ยังไม่เยอะอย่างที่มันเคยเป็น
ในยุคสมัยของ แอคคอร์ด ตาเพชร ปี 1990 ด้วยปัจจัยหลายอย่างที่เปลี่ยนไป
รวมทั้งขนาดตัวถังที่ต้องโตขึ้น…และราคาค่าตัวที่แพงขึ้นด้วย…
ผมจำได้ว่า ตอนนั้น ยังบอกกับตัวเองว่า "นี่ฉันต้องเฝ้าทนรอให้แอคคอร์ดรุ่นเนี้ย (รุ่นที่ 7)
มันอยู่ในตลาดไปอีกตั้ง 4-5 ปีเลยเหรอ? แล้วมันก็ไม่มีอะไรรับประกันในตอนนั้นเลยว่า
รุ่นที่ 8 ซึ่งจะต้องออกมาในปี 2008 มันจะออกมาลงตัวกว่ารุ่นเดิมนั้น?"
แต่ก็อย่างว่า
เข็มนาฬิกา เหมือนจะเดินไปอย่างเชื่องช้า ทว่า มันไม่เคยรอใคร
หลังจากที่นั่งคิดเพ้อเจ้อคนเดียวตอนดึกๆ ในคืนนั้น เผลอไปไม่กี่อึดใจ นี่ก็ 4-5 ปีมาแล้ว
ในที่สุด ตุลาคม 2007 เจเนอเรชันที่ 8 ของแอคคอร์ด คันจริงๆ ตัวเป็นๆ
ก็ปรากฎตัวสู่สายตาผม ที่ศูนย์ทดสอบการชน และสนามทดสอบของฮอนด้า R&D
ในโตชิกิ ประเทศญี่ปุ่น
อย่างที่ได้เคยเล่าสู่กันฟังเอาไว้แล้วใน รีวิว First Imprtession ของแอคคอร์ดใหม่
http://www.caronline.net/ArticleDetail.aspx?ArticleID=117#head
จนกระทั่งวันนี้ วันที่รีวิวนี้ออกสู่สายตาของคุณผู้อ่าน
เวลาก็ผ่านไปนานเกือบครึ่งปี
ปกติแล้ว การดอง ถือเป็นวิธีถนอมอาหารที่มนุษย์เรารู้จักกันมาช้านาน บางท่านอาจจะชอบทานผลไม้ดอง
ผมอาจจะชอบแตงกวาดอง แต่โดยปกติแล้ว ด้วยรสชาติอันเปรี้ยวจี๊ด หรือไม่ก็เค็มปี๋
ขึ้นอยู่กับวิธีการดอง อาหารชนิดนั้นๆ ทำให้ผมไม่ค่อยชอบ ของดองเท่าไหร่
มากสุดที่ชอบมากคือ แตงกวาดอง เวลาทานคู่กับเป็ดย่างแล้วจะมีความสุขมากๆ!
และแน่นอนว่าปกติ ผมเองก็ไม่ชอบ ดองงาน เอาไว้นานๆแบบนี้เท่าใดนัก
ทว่า คราวนี้ มันมีเหตุที่ทำให้ผม ต้อง ดอง รีวิว ฮอนด้า แอคคอร์ด ใหม่
เอาไว้ในขวดโหลแห่งกาลเวลา เพื่อหวังว่าจะบ่มให้ได้ที่
รอให้ทั้งงานหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊ค เรื่องราวความรักฉบับท้านรกของน้องๆผมคู่หนึ่ง
เสร็จสิ้นไปในช่วงแรก
รอให้งาน บางกอก มอเตอร์โชว์ จบลงไป
รอ ให้ฮอนด้า พร้อมจะส่งรถรุ่น 2,000 ซีซี และ วี6 3,500 ซีซี มาให้ทดลอง (ซึ่งเอาเข้าจริงก็ยังไม่พร้อมซะที)
และที่ต้องรออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คือการปรับปรุงเว็บไซต์คาร์ออนไลน์กันขนานใหญ่
รวมทั้งรอให้แรงบันดาลใจ ที่จู่ๆ มันก็หดหายไปเสียดื้อๆ จนเกลี้ยง ฟื้นกลับคืนมาให้เร็วที่สุด
และนั่นคือเหตุที่ทำให้ รีวิวของ แอคคอร์ดใหม่ ถูกดองจนรสชาติได้ที่
จนพร้อมจะออกสู่สายตาคุณผู้อ่านกันเสียที
แอคคอร์ด คือรถยนต์นั่ง 1 ใน 2 หัวหอกหลักของฮอนด้าในการบุกตลาดโลก
แยกตัวออกมาจากตระกูลซีวิคในช่วงปี 1976 เพื่อเน้นจับกลุ่มลูกค้าที่อยากเปลี่ยนรถคันใหม่ให้
ใหญ่โตกว่าซีวิคนั่นเอง นอกจากนี้ แอคคอร์ด เป็น 1 ในรถยนต์รุ่นสำคัญในประวัติศาสตร์
อุตสาหกรรมยานยนต์ญี่ปุ่น ที่ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งรถยนต์ขายดีที่สุดของสหรัฐอเมริกาใน
ช่วงทศวรรษที่ 1990 ได้เป็นผลสำเร็จ
ในปี 2006 ฮอนด้า ขายแอคคอร์ดไปทั่วโลกได้กว่า 665,650 คัน
และนับตั้งแต่เริ่มต้นขึ้นสายการผลิตในเมืองไทย เมื่อปี 1984-1985
ฮอนด้า ขายแอคคอร์ดในเมืองไทยไปแล้วกว่า 1 แสน คัน
ฮอนด้าเริ่มใช้นโยบาย "ผลิตรถยนต์แยกตัวถังให้ตรงกับรสนิยมของแต่ละตลาด"
กับแอคคอร์ด มาตั้งแต่รุ่นที่ 5 ซึ่งเปิดตัวเมื่อเดือนกันยายน 1993 โดยในช่วงนั้น
ฮอนด้าทำตลาดแอคคอร์ดทั่วโลก ด้วยรูปโฉมของรุ่นที่พ่อค้ารถมือสองบ้านเรา
เรียกไปเองว่ารุ่น "ไฟท้ายก้อนเดียว" แต่ยกเว้นประเทศในยุโรป ซึ่งถูกแทนที่ด้วย
ตัวถังฟาสต์แบ็ก 5 ประตู ซึ่งทำตลาดในญี่ปุ่นภายใต้ชื่อ แอสคอท อินโนวา
(ASCOT INNOVA) อีกทั้งยังมีตัวถัง คูเป้ และแวกอน ส่งออกจากสหรัฐอเมริกาเข้าไป
ทำตลาดประกบด้วย
จนกระทั่งเดือนกันยายน 1997 ฮอนด้าเริ่มสร้างความแตกต่างให้กับแอคคอร์ด มากถึง 3 รูปลักษณ์
เพื่อ 3 ทวีป โดยในญี่ปุ่น จะมีรุ่นตัวถังเพรียว ทำตลาดร่วมกันทั้งรุ่นซีดาน แวกอน
และรุ่นซีดานที่ดัดแปลงด้านหน้าเล็กน้อยในชื่อ ทอร์นีโอ (TORNEO)
ขณะที่เวอร์ชันยุโรป จะมีตัวถังซีดาน และแฮตช์แบ็ก 5 ประตู ซึ่งมีดีไซน์ป้อมๆ แยกออกมาเป็นพิเศษ
ส่วนเวอร์ชันอเมริกาและไทย รวมทั้งตลาดโลก จะใช้ตัวถังที่มีขนาดใหญ่สุด
โดยมีชื่อเรียกในหมู่พ่อค้ารถมือสองบ้านเราว่ารุ่น "งูเห่า"
และล่าสุดเมื่อเปิดตัวรุ่นปัจจุบันในช่วงปลายปี 2002 ฮอนด้าเริ่มมองเห็นถึง
ยอดขายที่ลดลงของเวอร์ชันยุโรป เนื่องจากการแข่งขันในตลาดรถยนต์ขนาดกลาง
D-Segment รุนแรงมาก และแทบจะกลายเป็นการผูกขาดจากผู้ผลิตชาวยุโรป
ด้วยกันเองเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งอาจไม่คุ้มค่าพอที่จะพัฒนาตัวถังใหม่ขึ้นมา
เพื่อตลาดยุโรปโดยเฉพาะ ทำให้ในที่สุด แอคคอร์ดรุ่นปัจจุบัน
ที่เปิดตัวมาตั้งแต่ ปี 2002 จึงมีออกมาให้เลือกใช้เพียงแค่เวอร์ชันญี่ปุ่น-ยุโรป
และเวอร์ชันอเมริกัน-ไทย
(ทว่า สถานการณ์ก็เหมือนจะไม่ดีขึ้นเท่าใดนัก เพราะยอดขายของแอคคอร์ด ทั้งในญี่ปุ่น และยุโรป
ในปัจจุบัน ถือว่าน้อย เมื่อเทียบกับตัวเลขจากสหรัฐอเมริกา จีน ไทย ออสเตรเลีย ฯลฯ)
รุ่นใหม่ล่าสุดของแอคคอร์ด ใช้รหัสในการพัฒนาว่า 2PX
แต่แนวทางการพัฒนาแอคคอร์ดในครั้งนี้ ดูเหมือนว่าจะย้อนเกล็ดวิธีการที่โตโยต้าทำ
เมื่อครั้งยังพัฒนาคัมรีรุ่นปัจจุบันอยู่ นั่นคือ "คู่แข่งทำอะไร เราจะทำเช่นนั้นบ้าง
คู่แข่งสร้างรถในแนวทางใด เราจะไปในแนวทางเดียวกัน แต่ต้องเหนือกว่า"
ที่ผ่านมา โตโยต้า พยายามพัฒนาแคมรี ไปในแนวทางของรถยนต์ครอบครัวสำหรับโดยสาร
และขับใช้งานในชีวิตประจำวัน แต่ในเมื่อ ฮอนด้าพยายามออกแบบแอคคอร์ดรุ่นปัจจุบัน
เพื่อมุ่งเอาใจนักขับพ่อลูกอ่อนมากขึ้น และมีผลตอบรับจากลูกค้า เป็นยอดขายที่สูงไม่เบา
โตโยต้า ซึ่งประสบกับเสียงตอบรับที่ไม่ค่อยดีนักในแคมรีรุ่นก่อน จึงพยายามเดินหน้าพัฒนา
คัมรีรุ่นใหม่ล่าสุด ให้มีความสมดุลย์กันระหว่างการตอบสนองด้านการขับขี่ และความสบายในการโดยสาร
แต่แนวทางที่ฮอนด้าเลือกเดิน สำหรับแอคคอร์ดรุ่นปัจจุบัน ก็ใช่ว่าจะถูกเสียทีเดียว
เพราะเมื่อรถออกสู่ตลาด ฮอนด้าเริ่มเรียนรู้ว่า ลูกค้าที่หันไปเลือกซื้อคัมรี ส่วนหนึ่ง
นอกจากรูปโฉมภายนอกที่ดูสง่างาม สมกับบุคลิกของลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย อันได้แก่
นักบริหารอายุตั้งแต่ 35 – 60 ปี
ผิดกับแอคคอร์ด ที่มีบุคลิกดูเป็นสปอร์ตซีดาน สำหรับผู้บริหารวัยเยาว์มากเกินกว่า
ลูกค้าที่ซื้อคัมรีจะรับได้แล้ว ยังมีสาเหตุรองมาจากเบาะนั่งด้านหลังของแอคคอร์ด
ไม่ได้ออกแบบมาให้รองรับการเดินทางอย่างสะดวกสบายเท่าที่ควร
จึงเสียลูกค้ากลุ่มนักบริหาร ที่อยากนั่งวางท่าเรียกสายตาจากผู้คนที่พบเห็น
เพราะรถมันไม่ดู "ทรงภูมิ" เท่าแคมรี
ดังนั้น โจทย์ของฮอนด้าในคราวนี้ คือทำอย่างไรที่จะสร้างให้แอคอร์ดใหม่ บนพื้นฐาน
โครงสร้างวิศวกรรมจากรุ่นก่อนหน้า แต่ต้องลบทุกจุดด้อยลงไปให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
และต้องเพิ่มความสบายเพื่อการเดินทางสำหรับผู้โดยสารมากขึ้น
ขณะเดียวกันยังต้องคงคุณลักษณ์ในด้านสมรรถนะการขับขี่ ที่โดดเด่นเหนือกว่าแคมรีรุ่นเดิมอยู่แล้วเอาไว้
และปรับปรุงให้เหนือกว่าคัมรีรุ่นใหม่ให้ได้
และในทำนองเดียวกัน วิศวกรของโตโยต้า ที่ดูแลโครงการคัมรีรุ่นล่าสุด ต่างก็คิดแบบเดียวกับที่ฮอนด้าคิดเอาไว้เหมือนๆกัน!?
หากวัดขนาดเปรียบเทียบความยาวแล้ว จะพบว่า แอคคอร์ดใหม่
มีความยาวตัวถังจากหน้าจรดหลัง 4,935 มิลลิเมตร (เพิ่มขึ้น 80 มิลลิเมตร)
กว้าง 1,845 มิลลิเมตร สูง 1,476 มิลลิเมตร (เพิ่มขึ้น 21 มิลลิเมตร)
และมีระยะฐานล้อ ถึง 2,800 มิลลิเมตร (เพิ่มขึ้น 60 มิลลิเมตร)
รูปลักษณ์ภายนอกนั้น ไม่ได้ฉีกแนวไปจากภาพลักษณ์ของ รถยนต์ซีดานสำหรับผู้บริหารระดับกลาง
ที่มีครอบครัวแล้ว อันเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักไปสักเท่าใดนัก ทว่ารายละเอียดงานออกแบบของแอคคอร์ดใหม่
มีจุดให้สังเกต 2 จุด ทั้งกระจังหน้า ทรง 6 เหลี่ยม ที่แทบจะเรียกได้ว่า ยกเอาหน้าจอของชุดเครื่องเสียง
จากรุ่นที่แล้ว ไปบีบให้แบนลง แล้วไปติดตั้งเป็นกระจังหน้าอย่างง่ายดาย ไม่ต้องเสียเวลาคิดมาก
สอดรับกับฝากระโปรงหน้า ที่ยังคงออกแบบโดยอิงแนวทางจากรุ่นปัจจุบัน อย่างชัดเจน
อีกจุดหนึ่งอยู่ที่ เส้นสายตัวถังด้านนอกทั้งหมด ที่ชวนให้นึกถึง บีเอ็มดับเบิลยู ซีรีส์ 5 รุ่นปัจจุบัน E60
ชนิดที่เกือบจะแยกความแตกต่างไม่ออก ถ้าไม่เหลียวไปดูบั้นท้าย อันมีชุดไฟท้ายจืดชืด 1 ก้อน
แปะไว้อยู่ที่มุมตัวรถทั้งสองฝั่ง โดยเวอร์ชันไทย และเวอร์ชันญี่ปุ่น จะมีแถบสะท้อนแสงสีแดง
คาดเพิ่มขึ้นมาต่อเนื่องไปจนถึงช่องใส่ป้ายทะเบียน ซึ่งจะแตกต่างจากเวอร์ชันอเมริกาเหนือ ที่ไม่มีแถบดังว่านี้
ใครที่ติดตามอ่านรีวิวของผมเสมอมา
คงพอจะสงสัยอยู่บ้างว่า
ทำไม รูปของแอคคอร์ดใหม่ในคราวนี้ ถึงได้ใช้บรรยากาศฉากหลังเดียวกับ
ที่พบได้ในรีวิวของ บีเอ็มดับเบิลยู ซีรีส์ 5 รุ่นปัจจุบัน กันในหลายๆช็อต
เจตนาของผม ไม่มีอื่นใดมากไปกว่า จะพิสูจน์ให้เห็นกันชัดๆไปเลยว่า
เมื่อเทียบกัน ช็อตต่อช็อตแล้ว
เส้นสายตัวถังภายนอกของ แอคคอร์ดใหม่
มันไปละม้ายคล้ายคลึงกับ รถยุโรปรุ่นดังกล่าวจริงหรือไม่
ผมคงไม่ตัดสิน
เพราะนั่นไม่ใช่หน้าที่ผม
หากแต่ต้องเป็นวิจารณญาณ และรสนิยมด้านศิลปะของคุณผู้อ่านทุกท่าน
ที่จะต้องตอบใจตัวเองครับ
ภายในห้องโดยสาร ปรับปรุงจากรุ่นที่แล้วพอสมควร
ตกแต่งด้วยสีเบจ (ส่วนสีดำ จะมีเฉพาะรุ่น วี6 3,500 ซีซี)
วัสดุในการตกแต่งนั้น ให้สัมผัสที่คุ้นเคยกับฝ่ามือและผิวหนังผมดี
เพราะเพิ่งจะเคยพบกันมาแล้ว ใน แผงประตูของ ซีวิค FD รุ่นปัจจุบันนั่นเอง!
ในฟลีตของรถยนต์สำหรับให้สื่อมวลชนได้ยืมไปทดลองขับนั้น
ฮอนด้า จัดมาแต่รุ่น 2,400 ซีซี ตัวท็อป (2.4 EL Navi)
แต่ไม่ว่าจะเป็นรุ่นท็อปหรือไม่
คราวนี้ ฮอนด้า เล่นแถม เบาะนั่งคู่หน้า จะปรับเปลี่ยนตำแหน่งได้
ด้วยสวิชต์ไฟฟ้า ครบทุกรุ่น
(แต่จะ่มีหน่วยความจำมาให้ เฉพาะรุ่น วี6 เท่านั้น)
เบาะคนขับ ปรับได้ 8 ทิศทาง
เบาะผุ้โดยสาร ปรับได้ 4 ทิศทาง
ถือเป็นเบาะนั่งที่จัดอยูในเกณฑ์ดี นั่งนานๆแล้วไม่เมื่อยล้า
และยิ่งมีพวงมาลัยปรับระดับสูงต่ำ และระยะใกล้-ไกล จากลำตัว
แบบ Telescopic แบบเดียวกับรุ่นเดิมด้วยแล้ว
ยิ่งทำให้การปรับหาตำแหน่งที่เหมาะสมกับสรีระของผู้ขับขี่แต่ละคน
เป็นไปอย่างง่ายดาย ใช้เวลาไม่นานเลย
ข้างลำตัว จะมี ที่วางแขน เลื่อนขึ้นหน้า-ถอยหลังได้
ซึ่งปรับปรุงให้วางแขนได้ดีขึ้นกว่ารุ่นเดิมเล็กน้อย
ส่วนด้านหลังนั้น เปิดประตูเข้าไป ก็จะพบความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน
ทั้งทางเข้าออก ที่มีขนาดกว้างขึ้น พื้นที่วางขาขยายจากเดิมเล็กน้อย
มีช่องแอร์ สำหรับผู้โดยสารตอนหลัง เป็นครั้งแรก บริเวณ ด้านหลังของกล่องคอนโซลเก็บของ
ตอนกลางของตัวรถ
และที่สำคัญที่สุดคือ การที่ห้องโดยสารมีขนาดใหญ่ขึ้น 3.2 เปอร์เซนต์
ทำให้พื้นที่วางขา และระยะห่างจากเบาะหน้า รวมทั้งเบาะหลัง มากขึ้น
ส่งผลให้การเพิ่มความยาวเบาะรองนั่งออกมาอีกเล็กน้อย ทำได้สะดวกโยธินมากขึ้น
และนั่นทำให้ ผู้โดยสารตอนหลัง นั่งได้สบายยิ่งขึ้นกว่ารุ่นเดิม
เมื่อลองนั่งด้านหลังดูแล้ว พื้นที่เหนือศีรษะ ยังโปร่งกว่าแคมรี เล็กน้อย
การรองรับสรีระของชุดเบาะนั้น ทำได้ดีขึ้นเล็กน้อย
แต่ถ้าถามถึงความนั่งสบายแล้ว นิสสัน เทียนา ทำบรรยากาศในห้องโดยสารได้ดีกว่า
ทว่า พื้นที่เหนือศีรษะ กลับเหลือน้อยกว่าแอคคอร์ด
ตรงกลางชุดเบาะ เป็นที่วางแขน พับเก็บได้ และมีช่องเปิดทะลุไปยังห้องเก็บสัมภาระด้านหลังได้อีกด้วย
ส่วนพนักพิงเบาะหลังทั้งชุดนั้น อาจจะพับลงมาเพื่อเพิ่มพื้นที่บรรทุกสัมภาระได้ แต่ เท่ากับว่า
ถ้าจะต้องขนของกันจริงๆ ผู้โดยสารเบาะหลัง จนั่งไม่ได้เลย เพราะพนักพิงนั้น
แบ่งพับ 60 : 40 ไม่ได้ ต้องพับลงมาทั้งชิ้น ซึ่งอาจจะเพิ่มความลำบากกันบ้างในบางครั้ง
นอกจากนี้ ยังมี ม่านบังแดดหลัง เปิดปิด ด้วยสวิชต์ไฟฟ้า ติดตั้งที่ด้านข้างคันเกียร์
(คิดดูแล้วกันว่า รถราคา 1,647,000 บาท ทั้งแคมรี และแอคคอร์ด มีม่านบังแดดไฟฟ้ามาให้จากโรงงาน
แต่ทำไม วอลโว S80 ใหม่ คันละ 3 ล้านกว่าบาท กลับมีแต่ ม่านบังแดด ระบบอัตโนมือ!?)
ฝากระโปรงท้าย เปิดขึ้นกว้าง ก็จริง แต่พื้นที่ห้องเก็บของด้านท้ายนั้น โดนเบียดบังจากตำแหน่งเก็บยางอะไหล่ขึ้นมาบ้าง
เล็กน้อย แต่ฮอนด้า บอกว่า ใส่ถุงกอล์ฟได้แน่ น่าจะมี 2 ใบเป็นอย่างน้อย
สังเกตดีๆ มุมซ้ายเล็กๆนั้น จะเห็นคันโยก ดึงพนักพิงเบาะพับลงไป เพื่อความสะดวกเวลาแบกข้าวของขนาดโอเวอร์ไซส์
ดูเหมือนจะใหญ่นะ แต่การจะให้ผม มุดตัวลงไปนอนในนั้น ผมทำได้ แต่การจะปีนออกนั้น ลองคร่าวๆแล้ว
มันไม่ใช่เรื่องง่าย และมันคงทุลักทุเลน่าดู ถ้าจะต้องพับพนักพิงเบาะหลังลงมา แล้วให้ผมไปปีนออกตรงนั้นแทน
จึงไม่มีรูปอุบาทว์อันใดของข้าพเจ้ามาโผล่ให้ได้เห็นกันเหมือนเช่นที่เคยเป็นมา
ชุดแผงหน้าปัด มีงานออกแบบละม้าย คล้ายกับได้รับอิทธิพลมาจาก บีเอ็มดับเบิลยู หลายๆรุ่น
โดยเฉพาะ ตำแหน่งของจอมอนิเตอร์ สำหรับระบบนำร่องผ่านดาวเทียม
กระนั้น พื้นผิวสัมผัสของวัสดุที่มาตกแต่งแผงหน้าปัดนั้น ดูมีรสนิยมที่ดี
แต่อย่าได้ ลากเล็บลงไปบนนั้นเชียวละ! เป็นรอยขึ้นมาได้โดยง่าย
จะหาว่าไม่เตือน!
นอกจากนี้ สวิชต์ควบคุมชุดเครื่องเสียงและระบบปรับอากาศ ยังวางตำแหน่งเรียงติดกันเป็นพรืด
โดยมีปุ่มหมุนควบคุมระดับเสียงคั่นอยู่ตรงกลาง ดังนั้น อาจต้องใช้เวลาในการจดจำ ตำแหน่ง
ของแต่ละสวิชต์ ว่ามันอยู่ตรงไหนกัน ทำหน้าที่อะไรกันบ้าง
เครื่องปรับอากาศ เป็นแบบแยกฝั่ง ซ้าย-ขวา และมีช่องแอร์ สำหรับผู้โดยสารตอนหลัง ติดตั้งเพิ่มมาให้
บริเวณ ด้านหลังกล่องคอนโซลเก็บของ กลางตัวรถ ถือเป็นครั้งแรกของแอคคอร์ด เวอร์ชันไทย
ชุดมาตรวัด เรืองแสง ออกแบบใหม่ แต่ตำแหน่งของไฟสัญญาณเตือนอุปกรณ์ต่างๆ
ค่อนข้างลายตาเต็มไปหมด ไม่ได้อยู่ในจุดเดียวกัน
จุดขายสำคัญของแอคคอร์ดใหม่ อีกจุดหนึ่งคือ
การเป็นรถยนต์ฮอนด้าสำหรับตลาดเมืองไทยรุ่นแรก
ที่ติดตั้งระบบนำร่องผ่านดาวเทียมจากโรงงานที่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ
พระนครศรีอยุธยา
จะเชื่อหรือไม่ว่า ในขณะที่ วันเปิดตัว ของแคมรี
โตโยต้า แจกคู่มือการใช้ระบบนำร่อง เวอร์ชันแจกลูกค้า ติดไปกับรถคันขายจริง
มาให้ผมนั่งศึกษาดูกันเป็นเล่มหนา
แต่ กับแอคคอร์ด ทางฮอนด้า กลับส่ง กระดาษ A4
ที่ไหลออกมาจากพรินเตอร์พิมพ์สีของเขา 1 แผ่นเท่านั้น!
เอาแล้วไงตูข้า งานเข้าซะแล้ว
แล้วผมจะทำยังไงละเนี่ย!!!? T_T
ความแตกต่างแรกที่พบคือ ในขณะที่แคมรี เป็นหน้าจอแบบ Touch Screen
ที่ให้ความสะดวกสบายในการใช้งานมากกว่า เพราะเล่นติดตั้งไว้ใกล้มือคนขับ
แต่ ระบบนำร่องของแอคคอร์ดนั้น เนื่องจาก ย้ายตำแหน่งติดตั้งจอมอนิเตอร์ จากรถรุ่นก่อน
เวอร์ชันตลาดโลก ไปไว้ลึกและไกลห่างออกไป ในระดับเท่ากับชุดมาตรวัดความเร็ว
เพราะเน้นให้ ลดการละสายตาของผู้ขับขี่จากพื้นถนนเป็นหลัก เท่ากับว่า เมื่ออยู่ห่างไกลกันขนาดนั้น
ใครคิดจะทำจอทัชสกรีน เห็นที่มันผู้นั้นต้องบ้าไปแล้วแน่ๆ ดังนั้น ในการใช้งาน คุณต้องใช้ปุ่มควบคุมหลัก
ทั้งปุ่ม MENU สำหรับการเข้าถึงฟังก์ชันการทำงานต่างๆ
ปุ่ม DEST (ย่อมาจาก Destination) สำหรับเข้าสู่ระบบนำร่อง เพื่อตั้งจขุดหมายปลายทาง
และปุ่ม CANCEL สำหรับยกเลิกทุกเรื่องราวที่ทำลงไปก่อนหน้านั้น (ประโยคท่อนนี้ มาเป็นภาษาเพลงเชียว)
แม้ดูจะเป็นเรื่องยาก แต่การใช้งานระบบนำร่อง ในแอคคอร์ดใหม่ก็ไม่ยากอย่างที่คิด
เมื่อติดเครื่องยนต์แล้ว หน้าจอมอนิเตอร์ขนาด 8 นิ้ว
ก็จะแสดงสัญลักษณ์ที่ยืนยันให้คุณมั่นใจว่า ขึ้นรถไม่ผิดยี่ห้อแน่ๆ
แล้วก็จะเตือนคุณ ให้ระมัดระวังดังหน้าจอ ก็แค่ กดแป้น Enter …..
หน้าจอ ก็จะโผล่ขึ้นมาเป็น แผนที่ แสดงถึงตำแหน่งและพิกัดของรถในขณะนั้น
ภาพหน้าจอ จะแสดงผล ต่อเนื่องจากการเซ็ตค่าหน้าจอไว้ ในครั้งก่อนๆ
เอาละ เริ่มต้นการใช้งานระบบนำร่อง ผมจะตั้งค่า ให้ระบบนำทางไปยังสถานีวิทยุ ขส.ทบ.
AM1269 KHz. ที่ผมต้องไปจัดรายการ "กลับให้ได้ไปให้ถึง ของคุณอาหมู เรา ช่วงบ่าย 3 โมง นั่นเอง
ให้กดปุ่ม DEST
ถ้าจะเลื่อนเปลี่ยนวิธีค้นหา (แถบบน) เลื่อนแป้น Enter ไปทางซ้าย หรือขวา
แต่ถ้าจะเลือกเมนู ไปบ้าน จุดค้นหา ฯลฯ ที่เห็นอยู่ หมุน Command Wheel ด้านหลังแป้น Enter เลือกเอาเลย
(แต่ถ้า เลือกแล้วไม่พอใจ ก็ กลับมาหน้าจอนี้อีกครั้ง จากจุดไหนก็ตาม แล้วเลื่อนแป้น Enter ลง
กด ใช้ Command Wheel หมุนไปที่ "ลบทิ้งจุดที่หมาย" หน้าจอจะกลับไปแสดงพิกัดธรรมดา ตามปกติ
โดยจะไม่มีการนำทางต่อใดๆทั้งสิ้น)
จากนั้น เลือกจังหวัดของสถานที่ที่ต้องการ (กรณีนี้ จะเลือก กรุงเทพมหานคร)
หมุน Command Wheel เลือกๆไปตามนั้น
แล้วเลือกย่อยลงไปเป็น เขต / อำเภอ
ถ้ารู้ชื่อถนนด้วย ก็เลื่อนๆๆ หมุนๆๆ กด Enter ในตำแหน่งที่ต้องการ
ถ้ายังหาสถานที่ไม่เจอจริงๆ ลองหาตำแหน่งของจุด POI (Point Of Interest) ที่ใกล้เคียง
แล้วกด Enter เข้าไป เช่นกรณีนี้ สถานีฯอยู่ใกล้ วัดแก้วฟ้า ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ก็กดเข้าไป
หากเจอตแหน่งใกล้เคียงแล้ว และคิดว่า นั่นแหละ สถานที่ ซึ่งเราต้องการจะไป หมุนไปที่ "ตั้งจุด" แล้วกด Enter
แต่ถ้าไม่ใช่ ก็มีอีก 2 ทางเลือก คือ หมุนไปกดที่ "ค้นหาจุดใกล้เคียง" แล้วหมุนๆ หาไปจนกว่าจะเจอ
(ซึ่งเชื่อผมเถอะ บางที คุณก็หาไม่เจอเสมอไปหรอก)
กับอีกทางเลือก คือ หมุนไปที่ "แผนที่เต็ม" กด Enter แล้วใช้วิธีการเลื่อน ลูกศรบอกตำแหน่งของรถ
ให้ไปหยุดอยู่ ณ ตำแหน่งที่เราต้องการ (อันนี้อาจต้องอาศัยการมองแผนที่ ประมวลกับความจำเส้นทางเดิม)
แต่ในกรณีนี้ ผมได้บันทึก สถานีเอาไว้แล้วว่า เป็น "จุดไปบ่อย"
ในลำดับที่ 1 ก็ดึงขึ้นมาดู ได้เลย
ถ้าได้ตำแหน่งที่หมายที่ต้องการแล้ว กด Enter หน้าจอจะให้คุณเลือก ว่าจะทำอย่างไรต่อ
ถ้าจะกำหนดจุดหมาย ก็กด Enter หรือว่า จะตั้งจุดนี้เป็นจุดแวะ หรือจุดผ่านแห่งแรก
ก่อนจะไปตั้งจุดแวะ จุดผ่านตำแหน่งอื่นต่อเนื่องได้อีกหลายจุดตามต้องการ
ก็หมุน Command Wheel เลื่อนลงมา กดไปที่ "ตั้งจุดแวะ จุดผ่าน"
หรือถ้าไม่พอใจ ยังจะ"สั่งลบทิ้ง" ขั้นตอนนี้ได้ด้วย
ถึงขั้นตอนนี้ ถ้าอยากศึกษาว่าไปเส้นทางไหน เหมาะสมที่สุด
ทั้งทางด่วน ทางเร็วที่สุด ทางใกล้สุด ฯลฯ
ก็หมุน Command Wheel เลื่อนลงไปที่ "6 เส้นทาง"
ระบบจะแสดงหน้าจอขึ้นมา ให้คุณเลือกว่าจะใช้เส้นทางไหน
และถ้าเลือกได้แล้ว ก็หมุน Command Wheel ไปหยุด และ กด Enter ที่ "เริ่มการนำทาง"
ในกรณีนี้ ระบบนำร่องแนะนำให้ผมแล่นออกวงแหวนกาญจนาภิเษก หลังบ้านผมไป
ออกมอเตอร์เวย์ พระราม 9 ขึ้นทางด่วน 2 ต่อ ค่าทางด่วนรวม 40 + 25 = 65 บาท
ลงทางลงพระราม 6 แล้วก็ลัดเลาะไปตามเส้นทาง ที่ผมใช้อยู่ประจำแล้วนั่นเอง
วันนั้น ผมก็ซุกซน อยากจะลองดูว่า ถ้าผมไม่ขับตามที่ "ป้า"ร้องเตือนบอก ระบบจะทำอย่างไร
เปิดมาถึงปุ๊บ ระบบก็บอกให้ผมเลี้ยวขวาจากหน้าบ้าน แล้วออกไปอ้อมซอยถัดจากบ้านผมไปนิดหน่อย
เรื่องอะไรละ? ถ้าผมเลี้ยวซ้าย ผมไปง่ายกว่าเยอะ เลยเลี้ยวซ้ายออกมา
และในทันที ระบบก็คำนวนเส้นทางให้ใหม่ทันควันเช่นกัน
การแสดงผลบนหน้าจอนั้น ถือว่า กราฟฟิค ค่อนข้างสวย ทำได้ดีครับ
มีแม้กระทั่ง ป้ายบอกทาง บนหน้าจอ ก่อนถึงช่องทางที่ควรจะเลี้ยวไป
เผื่อไม่ให้ผู้ขับขี่หลงออกนอกเส้นทาง
การแสดงผลนั้น เราสามารถเลือกได้ว่า ให้หน้าจอ เป็นภาพแผนที่ มุมสูงไปเลย
หรือจะใช้การแสดงผลแบบ Bird Eye View 3 มิติ ที่เลือกปรับมุมองศาการมองได้
ด้วยการเข้าไปที่เมนู ฟังก์ชัน แล้วก็เลือกตั้งค่าการปรับตั้งต่างๆ ตามต้องการ
และถ้าสังเกตดีๆ หากเป็นเวลากลางวัน แถบแสดงท้องฟ้าด้านบนจอนั้น จะเป็นสีฟ้า หรือน้ำเงิน
แต่ถ้าเวลาเข้าใกล้ช่วงพลบค่ำเมื่อไหร่ โทนสีของแถบท้องฟ้า จะเปลี่ยนเป็นโทนสีเหลืองส้ม
เช่นเดียวกับเวลาใกล้พลบค่ำ ยามตะวันตกดิน
เป็นลูกเล่นเล็กๆน้อย ที่ แสดงให้เห็นถึงความใส่ใจในรายละเอียด ไม่เบาเลย
แล้วเราก็มาถึงที่หมายโดยสวัสดิภาพ….
นอกจากนี้
ในข้อมูลตำแหน่งจุดน่าสนใจ POI (Point Of Interest) ของระบบนั้น
ค่อนข้างละเอียด แต่ความละเอียดของข้อมูลนั้น มักจะละเอียดในเรื่องแปลกๆ
ที่ทำให้ผมได้งุนงง ได้อย่างเหลือเชื่อ
ดูตัวอย่างเอาแล้วกันนะครับ มีละเอียดแม้กระทั่ง
บริการ Wedding Studio และ บริการกำจัดแมลง ก็มีให้เห็น
ดูความละเอียดนะครับ
มูลนิธิเพื่อนหญิง ก็มี
เจอสุภาพสตรีที่ไหน โดนทารุนกรรมทำร้ายไม่เป็นธรรมมา ไม่มีที่พึ่งนี่
เข้าไปคุยกับเขาได้เลย มีตำแหน่งแผนที่ครบ!
แต่ที่ฮากว่านั้น
ชุมทางพระเครื่อง ก็มี
ยาคูลท์ นมเปรี้ยว ก็อุตส่าห์มีกับเขาด้วย!
แถมที่น่าสงสัยกว่านั้นคือ
คุณโอ๋ เนี่ย มันคือ อะไร??? ร้านอะไร เค้าทำอะไร?
จู่ๆ ก็ขึ้นชื่อว่า คุณโอ๋ หน้าตาเฉยเลย
เหมือนกันกับตอนจะหาร้านอาหาร
ผมกับน้องบอมบ์ เรานั่งกดหากันในละแวกย่าน อารีย์-สะพานควาย
ระบบนี้ มีละเอียดแม้กระทั่ง ตำแหน่งของ พ่อค้าแม่ค้า แผงลอย
ที่ปักหลักขายกันมาริมทาง นานหลายปี!!
จนไปเจออยู่รายชื่อนึง เขียนไว้แค่ว่า "นก"
แล้วผมจะรู้ไหมเนี่ยๆๆๆ ว่า "นก" เป็นใคร "นก" ขายอะไร
"นก เป็นร้านประเภทไหน?
ไม่ต้องอื่นไกล
เอาแค่ว่าบางครั้ง ผมอยากจะค้นหา "เซ็นทรัลชิดลม" แต่ผ่าไปเจอ "เซ็นทรัล มอเตอร์ไซค์" !!
เพิ่งรู้ก็จากระบบนำร่องของแอคคอร์ดนี่ละครับ ว่ามีชื่อร้านนี้อยู่ในโลกด้วย!
แล้วที่ฮาไปกว่านั้นคือ
โตโยต้า ยังไม่ีการอัพเดทระบบแผนที่ ให้กับ แคมรี เลย
นับตั้งแต่เปิดตัว และส่งมอบรถให้กับลูกค้าเป็นต้นมา
ดังนั้น จนป่านนี้ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จะยังไม่มีในระบบนำร่องของแคมรี
แต่ แอคคอร์ดใหม่ เค้ามีมาให้แล้วครับ
แต่ เนื่องจาก ข้อมูลแผนที่นั้น
อัพเดทครั้งสุดท้าย เมื่อเดือนมีนาคม 2007
ดังนั้น จึงยังไม่มีข้อมูล ของถนนเส้นใหม่ๆ
และสถานที่ใหม่ๆ ที่มีขึ้นหลังจากนั้น
รวมทั้งถนนวงแหวน กาญจนภิเษก ช่วงต่อขยาย
จากบางนา-ตราด ไปจรดที่ ธนบุรี-ปากท่อ
ยังไม่มีข้อมูลบนแผนที่ของแอคคอร์ดแต่อย่างใด
(ถ่ายจากสถานที่จริง)
ส่วนข้อติติงกันอยู่บ้าง ก็คงเหมือนๆกับระบบนำร่องทั่วๆไป ที่อาจจะมีหลงตำแหน่งไปบ้าง
ขณะที่เรากำลังจะขึ้นสะพานกลับรถ หรืออยู่บนทางด่วน บางทีระบบก็จะคิดว่า เรากำลังจะไปในทิศทาง
ที่มันทับซ้อนกันอยู่บนแผนที่เดียวกันนั้นเอง อันเป็นเรื่องปกติของระบบนำร่อง ซึ่ง ระบบนำร่องในแคมรี
และระบบนำทาง Speed Navi บนแผนที่ ESRI ที่ทาง Mio เอื้อเฟื้อให้ผมมาใช้เล่นสนุกสนานอยู่ราวๆ 3-4 สัปดาห์
และใช้ติดตั้งกับ เจ้า อัลติส 1.6 ลิตร ไปในระหว่างการทดลองขับนั้น ก็มีปัญหาแบบนี้บ้างเหมือนกัน
มีครั้งหนึ่ง
ขับรถไปส่งน้องกอฟท์ BIZZARE เพื่อนของผม สมาชิก Pantip.com ห้องรัชดา
ที่ไปช่วยเป็นลูกมือผมในการถ่ายภาพ แถวบางปะกอก ช่วงมืดค่ำแล้ว
ปรากฎว่า พอจะพยายามใช้ระบบนำร่อง ในการพาออกจากซอยบ้านของน้อง
อันลึกลับซับซ้อนมากๆ นั้น ปรากฎว่า ระบบ มันพาผมไปหาเส้นทางได้เหมือนกัน
แต่เส้นทางที่มันหาให้ผมนั้น เป็นเส้นทางที่ พอไปถึงหน้าปากซอยที่ว่าจริง
มันกลับเป็นเส้นทางที่ มีเพียงรถจักรยานยนต์เท่านั้นที่จะมุดลอดเข้าไปได้!!
ผมก็ต้องย้อนกลับทางเก่า และอาศัยสัญชาตญาณตัวเองในการพารถออกมายังถนนใหญ่
โดยไม่พึ่งพาระบบนำร่องกันต่อไป!
(ถ่ายจากบนสะพานกลับรถ หน้าโลตัส-บางนา รามคำแหง 2)
อีกเรื่องหนึ่งที่ผมทนฟังได้ แต่บางครั้ง คนที่ขึ้นรถมานั่งกับผม
แม้กระทั่งคนของทางฮอนด้าเองก็รู้สึกว่า มันควรจะน่าอภิรมณ์กว่านี้
นั่นคือ เสียงของ "ยัยป้าแก่ๆ อารมณ์แข็งทื่อเหมือนเสาหิน สโตน เฮนจ์"
ที่คอยบอกทางให้เราตลอดเวลา ที่ให้ระบบนำทางทำงานอยู่นั้น
มันไม่ค่อยน่าฟังเท่าใดนัก
Mio เค้าใช้เสียงของ น้องโต๋ ศักดิ์สิทธิ์ เวชสุภาพร นักเปียโนรุ่นเยาว์ชื่อดัง
มาใส่ในระบบนำร่องของเขาไปแล้วในบางรุ่น
และได้ยินว่า อนาคต อาจจะใช้เสียงของ Celebrities ทั้งหลาย
มาลงเสียงให้ระบบนำร่อง รุ่นหลังๆกัน
เอาละ ถ้าเป็นเสียงของคุณลูกเกด คุณพอลลาร์ คุณมาช่า คุณแพนเค้ก คุณรถเมล์ ไปจนถึงคุณแตงโม
อันนี้ละพอจะเรียกความซู่ซ่าจากบรรดาตาเฒ่าตัณหากลับทั้งหลายได้ไม่มากก็น้อย
แต่…ผม และกลุ่มพลพรรคน้องๆผม
ทั้ง น้องกล้วย ตาถัง ตา Ton99 ตาบอมบ์ กับ ตาแพน V.Putin ( 2 คนหลังนี้ละตัวดีนัก)
เรา คิดไปไกลกว่านั้นแล้วครับ!!
ลองมาจินตนาการกันหน่อยดีไหมครับว่า
ถ้า เสียง นำทาง Voice Navigation นั้น เป็นเสียงของ…พระพยอม อาจารย์แม่ สุนีย์ สินธุเดชะ
เสียงของคุณสมัคร สุนทรเวช หรือ ท่านอดีต นายกฯ ชวน หลีกภัย จะมันส์ และ ฮา ขนาดไหน!!!
ผมลองพยายามจินตนาการ และคิด Dialog สดๆ จากแคแรคเตอร์ของแต่ละท่านที่ผมเคยเห็นผ่านตาดู
คิดว่าน่าจะออกมา ประมาณนี้…
อาจารย์ แม่ : "เลี้ยวขวานะลูก… อีก 100 เมตร เลี้ยวขวา….อ่ะ เลี้ยวววว อ้าว ทำไมไม่เลี้ยวอ่ะ ดื้อนะนี่ เดี๋ยวปั๊ดตีตายเลย!
ดูสิ กูต้องมานั่งคำนวนเส้นทางให้พวกมึงใหม่เลย….(ปี๊ดดด) อีก 300 เมตร เลี้ยวขวาข้างหน้า….อีก 200 เมตร เลี้ยวขวา
ดีมากค่ะ….เอาละ ต่อไป คราวนี้ ก็เลี้ยวซ้ายนะลูก อีก 150 เมตร จะถึงวิทยาลัย RBAC แล้วนะจ้ะ"
แล้วจู่ๆ เมื่อผ่านไปถึงหน้า RBAC ก็จะมีเสียงเพลงของพี่อ้อม สุนิสา สุขบุญสังข์ โผล่ขึ้นมา
พร้อมกับเสียงร้องคาราโอเกะในฟิล์มของ อาจารย์แม่ ต่อในทันที…
"ขออออ อย่า ยอมมม แพ้ๆๆๆ อย่าอ่อนแอ แม้จาร้องห้ายยยยยยยย……"
หรือ….. ถ้าเป็น เสียง ท่านสมัคร สุนทรเวช……………(หึหึ)
Dialog ในระบบนำร่อง ก็จะเป็น อย่างนี้
" ….อีก 200 เมตรข้างหน้า เลี้ยวขวา ไปแยกราชวัตร จะมีร้านก๋วยเตี๋ยวราดหน้าเจ้าอร่อยอยู่
ริมถนนฝั่งซ้ายมือ ตรงข้ามกับธนาคารกรุงเทพ สาขาราชวัตร
ร้านนี้ ผมชิมมานานแล้ว เครื่องปรุงเค้า มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว รสชาติอร่อยมากๆ
เอ้า ตายละครับ พี่น้องประชาชนที่เคารพ ไอ้กระผมก็ ชิมไป บ่นไป เพลินไปหน่อย
พาท่านขับเลยแยกราชวัตรมาเสียแล้ว ไม่เป็นไรครับ ไม่เป็นไร เดี๋ยวอีก 500 เมตรข้างหน้า
จะมีทางแยกไฟแดง ให้ท่านเลี้ยวขวาอีกครั้งออกมาที่สี่แยก บริเวณตัดกับทางรถไฟ
แต่ท่านอย่าได้ขับตรงขึ้นไปทางรถไฟเชียวนะครับ อีก 150 เมตรเลี้ยวขวานะครับ
แต่ไม่เป็นไรครับ ถ้าท่านขับเลยขึ้นไป ข้ามทางรถไฟไปแล้ว ให้เลี้ยวขวาอีกครั้งหนึ่ง
จะมีร้านอาหาร รถเสบียง ซึ่งเป็นร้านอาหารไทย ไอเดียเขา เข้าท่ามากๆ ทำร้าน
ให้เป็นคล้ายกับโบกี้ตู้รถไฟ ส่วนรสชาติอาหารก็อร่อยใช้ได้ แต่ถ้าเลี่ยวซ้าย ไป
ก็จะเจอกับตลาดร้านค้า สวัสดิการ กองทัพบก ที่นั่นมีร้านขายไก่ย่าง รสชาติก็พอกล้อมแกล้มได้
เสียดายว่าร้านนี้ เขาไม่ได้ เอาซี่โครงไก่ มาต้มฟัก ขายด้วย ไม่อย่างนั้นผมคงจะให้ไปถ่ายรายการผมแล้ว….ฯลฯ ฯลฯ"
(ตกลง เอ่อ นี่มันระบบนำร่อง หรือรายการ นายก พบประชาชน เช้าวันอาทิตย์ละฮะเนี่ย?
เอ ผมว่า นี่มันรายการ ชิมไป บ่นไป มากกว่าม้างงงง หุหุ)
แล้วถ้าเป็นเสียง อดีตนายกชวนฯ ละ
ก็คาดว่า จะเป็นเสียงนุ่มๆ แต่พูดน้อยๆ จนบางที ไม่รู้ว่าเราจะหลงทางหรือเปล่า ถ้าให้ท่าน นำทาง?
"เอ่อ อีก 400 เมตร จะมีทางแยกข้างหน้า ให้ขับตรงไปนะครับ
จากนั้น กระผมขอความกรุณา พี่น้องประชาชน เลี้ยวไปทางซ้าย
ตามทางโค้งข้างหน้า แล้วจะพบกับสี่แยกอีกหนึ่งแห่ง
ส่วนการจราจรจะติดขัดหรือไม่นั้น เอ่อ กระผม ยังไม่ได้รับรายงานครับ"
อะไรทำนองนี้…..
เอาละ เวิ่นเว้อ (ศัพท์กำลังฮิต เดาเป็นการส่วนตัวว่า น่าจะมาจากคำว่า "วุ่นวาย" และ "เยิ่นเย้อ"
ผสมกันเละๆแต่กลมกล่อมอย่างแปลก แบบ ช็อคโก บานานา ของร้าน Ice Monster แบบนั้น) มามากพอแล้ว
หน้าจอมอนิเตอร์นั้น นอกเหนือจากจะใช้สำหรับการนำทางได้แล้ว ยังมีลูกเล่นอื่นๆให้ได้ใช้งานกันมากมาย
และเช่นเคย โปรดจำไว้ว่า หลักการใช้งานของ อุปกรณ์อีเล็กโทรนิกส์ติดรถยนต์ใดๆในสากลโลก ที่มันมีหน้าจอแบบนี้
หลักการสำคัญที่สุดคือ
"คิดไม่ออก บอกไม่ถูก ไปไม่เป็น กดปุ่ม MENU ไปเริ่มต้นใหม่เสมอ!"
มีทั้ง Trip Computer แสดงตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ทั้งค่าเฉลี่ย และ Real time
ความเร็วเฉลี่ย ระยะทางที่น้ำมันในถังซึ่งเหลืออยู่ แล่นได้
เป็นหน้าจอมอนิเตอร์ รับสัญญาณภาพจากกล้อง Rear View Camera
ทำงานทันทีที่เข้าเกียร์ถอยหลัง (R)
(นั่นหมายความว่า ไม่มีเซ็นเซอร์ถอยหลังแปะไว้ที่กันชนหลังนะครับ
ซึ่งอันที่จริง น่าจะมีเหมือนเดิมนะ)
ไปจนถึงเป็น วิทยุ AM/FM ที่สามารถล็อกสถานีได้ ราวๆ 18 สถานี
ส่วนชุดเครื่องเสียงนั้น แทบไม่ต้องเปลี่ยนอะไรอีก เพราะให้คุณภาพเสียงที่ดีมาเพียงพอแล้ว
เพราะเป็นแบบ Premium Sound System มาพร้อมแอมปลิฟายเออร์ในตัว 270 วัตต์
ลำโพง 6 ตัว (รวมทวีตเตอร์ ที่เสาหลังคาคู่หน้า) โดยเปลี่ยนจากโดมแบบเดิมที่อ่อนนุ่ม
มาใช้โดมที่ทำจากอะลูมีเนียม เพื่อลดปัญหาเสียงเพี้ยน และเพิ่มคุณภาพเสียงให้ดีขึ้น
และที่เด่นกว่ารถคันอื่นๆ นั่นคือ มี Hard disk ขนาด 40GB มาให้จากโรงงาน
เป็นครั้งแรกในเมืองไทย เรียกว่าระบบ Sound Containner แบบเดียวกับรถยนต์รุ่นใหม่ๆ
ที่ทำตลาดอยู่ในญี่ปุ่น (บางรุ่นเหล่านั้น ยังให้มาแค่ 20GB ด้วยซ้ำ)
ถ้าจะถามว่า เอาเพลงโหลดเข้าไปฝังในนั้นได้อย่างไร
ไม่ยากเลยครับ แค่ใส่แผ่น CD แผ่นโปรดของเราเข้าไปที่ช่องใส่แผ่น
ระบบจะอ่านข้อมูลจากแผ่น… เริ่มตรวจสอบว่าเป็นแผ่นประเภทใด
จากนั้น เมื่อระบบ Gracenote อ่านข้อมูลจากแผ่นเรียบร้อยแล้ว..
ก็จะแสดงข้อมูลชื่อเพลง ชื่อศิลปินต่างๆขึ้นมา
เครื่องเสียงจะเริ่มเล่นเพลง ไปพร้อมๆกับ การเริ่มบันทึกเพลงของเรา ถ่ายลงฮาร์ดดิสก์ของเราโดยอัตโนมัติ!!
สังเกตได้จากสัญลักษณ์ ลูกบอลสีแดง เขียนว่า R หรือ Recording ที่จะค่อยๆทะยอยหายไป
แต่ละราย ชื่อเพลง
แสดงผลได้ทั้งชื่อเพลงภาษาอังกฤษ…และภาษาไทย
ส่วนชื่อเพลงภาษาญี่ปุ่น ไม่แสดงนะครับ
จะขึ้นเป็นเครื่องหมายอัศเจรีย์ ติดกันเป็นพรืดแบบนั้น
และถ้าเบื่อๆขึ้นมา หากจะไปลบข้อมูลนั้น ต้องลบรวดเดียวทั้งหมดครับ
เข้าไปที่หน้าจอเมนูระบบนั่นละ
ถ้าแยกลบเป็นเพลงๆไป สงสัยจะยากแหะ ผมพยายามหาอยู่ ยังไม่มีฟังก์ชันนี้เลย
การควบคุมใช้แป้น Interface Dial ร่วมกับระบบนำร่องนั่นละครับ
ส่วนจะปรับระดับเสียงสูงต่ำต่างๆ เลื่อนแป้นลงมาที่
"ปรับระดับเสียง" หรือไม่ก็ กดปุ่ม SOUND เข้าเมนูอย่างรวเร็วไปเลย
เท่าที่จับเวลาดู จะใช้เวลาประมาณ 2 เพลงแรกผ่านพ้นไป
ข้อมูลทั้งหมดก็จะเข้าไปอยู่ในฮาร์ดดิสก์เรียบร้อย
เวลาเล่น CD ก็จะแสดงผลที่ แถบดิจิตอล แสดงอุณหภูมิระบบปรับอากาศ
ว่า CD แต่ ถ้าเล่นเพลงจากในฮาร์ดดิสก์ ก็จะแสดงตัวอักษร HDD
เล่นจากแผ่น DVD และ VCD ก็จะแสดงผลแบบเดียวกัน ตรงๆตัวแบบนี้
อีกทั้ง ยังสามารถเล่นแผ่นภาพยตร์ VCD และDVD ได้
พรีเซ็นเตอร์ ฮอนด้า แจ้ส ของเรา ก็ยังนั่งกินข้าวไปยิ้มไป
และเพื่อไม่ให้น้อยหน้า
ก็ขอแปะรูป น้องพิช เอาไว้เสียหน่อย
ในฐานะคู่พระคู่นางคู่ใหม่ของวงการ
อย่างที่คุณน้องมะเดี่ยว ผู้กำกับภาพยนตร์ รักแห่งสยาม
เคยพูดเล่นฮาๆเอาไว้
อิอิ
ถ้าคิดว่า ฮาร์ดดิสก์ 40GB ยังไม่หนำใจ
ก็ยังมีช่องเสียบต่อ USB Port สำหรับเครื่องเล่น iPod…
ซ่อนอยู่ในกล่องเก็บของ คั่นกลางระหว่างผู้โดยสารคู่หน้านั่นละ
พร้อมกับช่องต่ออุปกรณ์ไฟฟ้า 12 โวลต์ 120 วัตต์
แต่น่าแปลกใจว่าระบบ Bluetooth ติดตั้งมาในรถนั้น แทนที่จะฝังตัวอยู่ในชุดระบบนำร่อง
ก็กลับไปแปะเอาไว้เป็นก้อนๆอะไรสักอย่าง บนเสาหลังคาฝั่งคนขับ
ไม่ต้องมาถามผมว่า มันใช้ยังไง เพราะในวันไหน ที่ผมและน้องๆรอบข้าง
พยายามจะใช้งานมัน ก็งุนงงว่า ตกลงแล้ว มันใช้งานยังไงกันเนี่ย?
เมื่อไม่มีคู่มือการใช้งานมาให้ ผมก็จนใจครับ รายการนี้
ส่วนการควบคุมชุดเครื่องเสียงนั้น ทำได้จาก ชุดสวิชต์ควบคุม ฝั่งซ้ายของพวงมาลัย
เพราะฝั่งขวานั้น ติดตั้ง สวิชต์ ระบบควบคุมความเร็วคงที่ Cruise Control
รวมทั้งยังมีปุ่มตัดการทำงานของระบบควบคุมเสถียรภาพ บนทางโค้งและทางลื่น
VSA ( Vehicle Stability Assist)
อุปกรณ์ด้านความปลอดภัยนั้น
ทุกรุ่นติดตั้งถุงลมนิรภัยคู่หน้า แบบอัจฉริยะพองตัวได้ตามระดับการชน Dual i-SRS
พร้อมพนักศีรษะรองรับการกระแทกบริเวณต้นคอ Active Headrest
ถุงลมนิรภัยด้านข้าง i-Side SRS มีให้ครบทุกรุ่นเช่นกัน ยกเว้นรุ่น 2.4 E ตัวล่าง
ส่วนม่านลมนิรภัย และระบบ ควบคุมเสถียรภาพ VSA และ ระบบเพิ่มแรงเบรกในภาวะฉุกเฉิน
Break Assist จะมีมาให้ตั้งแต่รุ่น 2.4 EL (ไม่มี Navi) ขึ้นไป
ทุกรุ่นมี กุญแจอิมโมบิไลเซอร์ พร้อมรีโมท Milti Function และสัญญาณกันขโมยในตัว
ระบบล็อกประตูอัตโนมัติ เมื่อรถออกตัว
ไฟเบรกดวงที่ 3 แบบ LED
ส่วนกระจกมองข้าง แบบ Hydrophilic ลดการเกาะตัวของหยดน้ำนั้น
มีครบทุกรุ่น ยกเว้นรุ่นล่าง 2.0 EL
นอกจากนี้ ยังปรับปรุง ทัศนวิสัย ให้โปร่งตาขึ้น
และลดการบดบังของเสาหลังคา
ให้ได้มากที่สุดเท่าที่ทำได้
ทัศนวิสัยด้านหน้า
ยังมี แถบฟิล์มเคลือบไว้ด้านบน ลดการสะท้อนของแสงแดด
ส่วนฝั่งซ้ายนั้นไม่ได้บดบังในการเลี้ยวกลับรถ
อย่างที่ แคมรี มีปัญหานี้อยู่้บ้าง ในบางทางแยก แต่อย่างใด
และ แน่นอน
เสาหลังคา ดีไซน์ใหม่
เป็นรูปตัว C
ทำให้ทัศนวิสัยด้านหลัง ดีขึ้นอย่างชัดเจน ผิดจากรุ่นที่แล้ว
ที่ต้องใช้ความระมัดระวังมากกว่ารุ่นใหม่นี้
********** รายละเอียดทางเทคนิค งานวิศวกรรม และการทดลองขับ **********
แอคคอร์ดใหม่ มีให้เลือกครบทีมรวดเดียวตั้งแต่วันเปิดตัว ทั้งรุ่น 2,000 ซีซี 2,400 ซีซี และ วี6 3,500 ซีซี
แต่… ในเมื่อจนป่านนี้ ฮอนด้ายังไม่พร้อมจะส่งรถรุ่น 2,000 และ 3,500 ซีซี ให้ผมทดลองขับกันเสียที
ก็เลยต้องนำเสนอกันแต่รุ่นที่ถือว่าขายดีที่สุด นั่นคือ รุ่น 2,400 ซีซี เพียงอย่างเดียว มานำเสนอกันไปก่อน
วางเครื่องยนต์รหัสเดิม – K24A
4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 2,354 ซีซี หัวฉีด PGM-FI
พร้อมระบบแปรผันวาล์วแบบ i-VTEC ซึ่งแปรผันทั้งที่แคมชาฟต์ และที่หัวแคมชาฟต์ด้วย
รวมทั้ง ใช้ระบบลิ้นปีกผีเสื้อไฟฟ้า และคันเร่งไฟฟ้า DBW (Drive By Wire)
ควบคุมด้วยสมองกลอีเล็กโทรนิกส์
เพิ่มแรงม้าขึ้นจากเดิม 170 แรงม้า (PS) ที่ 5,800 รอบ/นาที
เป็น 180 แรงม้า (PS) ที่ 6,500 รอบ/นาที
และเพิ่ม แรงบิดสูงสุด จากเดิม 22.2 กก.-ม. ที่ 4,000 รอบ/นาที
เป็น 22.6 กก.-ม.ที่ 4,300 รอบ/นาที
การปรับปรุงโดยสรุปก็คือ
การปรับจังหวะการทำงานของแคมชาฟท์ ฝั่งไอดี ให้ต่อเนื่องขึ้น
และมีการปรับปรุงชิ้นส่วนภายในห้องเครื่องยนต์ ให้รองรับกับ
การใช้ น้ำมันเชื้อเพลิงแก้สโซฮอลล์ E20 ไว้เรียบร้อยแล้ว
ส่วนเสียงบ่นของลูกค้า ถึงปัญหาในยางรองแท่นเครื่องแบบเก่า ที่เคยออกแบบไว้เพื่อรองรับแต่
เครื่องยนต์ วี6 3,000 ซีซี แต่ไม่ได้เผื่อมาถึงเครื่องยนต์ 2,000 และ 2,400 ซีซี
จนเกิดปัญหาสั่นสะเทือนขณะรอบเดินเบา ที่ 850 รอบ/นาที กันมาแล้วหลายคัน
ปัญหานี้ ฮอนด้า แก้ไขด้วยการปรับปรุงยางรองแท่นเครื่องแบบใหม่
ที่จะทำงานร่วมกับซับเฟรมออกแบบใหม่ เพื่อเพิ่มความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่าง
เครื่องยนต์ ระบบกันสะเทือน และระบบพวงมาลัยมากยิ่งขึ้น
ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ 5 จังหวะ
ทำงานด้วยระบบ Grade Logic Control
พร้อม Direct Control
มีอัตราทดเกียร์ดังนี้
เกียร์ 1 2.651
เกียร์ 2. 1.516
เกียร์ 3 1.037
เกียร์ 4 0.738
เกียร์ 5 0.566
เกียร์ถอยหลัง 2.000
อัตราทดเฟืองท้าย 4.437
ถ้าเทียบกับรุ่นเดิมแล้ว จะพบว่า
มีการปรับอัตราทดเกียร์ เล็กน้อย
โดยเกียร์ 1 2 3 5 และเกียร์ถอยหลัง ยังทดเอาไว้เท่าเดิม
แต่มีเฉพาะเกียร์ 4 ปรับอัตราทดลดลงจาก 0.772
และอัตราทดเฟืองท้าย ที่ลดลงจาก 4.562
คราวนี้ ฮอนด้าเห็นว่า ซีวิค FD ตัวปัจจุบัน มีแป้น Paddle Shift บวกลบ ที่ทำเอาไว้เพื่อเป็น
ของเล่นแก้เซ็งในยามขับรถทางไกลแล้ว พี่ใหญ่อย่างแอคคอร์ดก็ควรจะมีกับเขาบ้างเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม แป้น Paddle Shift ในแอคคอร์ด ถูกปรับปรุงใหม่ให้แตกต่างจาก
ในซีวิค FD ซึ่งแต่เดิม ต้องเข้าเกียร์ไปที่ S เสียก่อน จึงจะใช้งานได้
แต่แป้น Paddle Shift ในแอคคอร์ดใหม่นั้น ต่อให้เข้าเกียร์อยู่ที่ตำแหน่ง D ก็สามารถใช้งานได้เลย
โดยไม่ต้องผลักเกียร์ลงมายังโหมด S แต่อย่างใด และเมื่อกดคันเร่งจนถึงรอบการทำงานที่โปรแกรมไว้
หรือจนถึงขีดแดงบนมาตรวัดรอบเครื่องยนต์ เกียร์จะเปลี่ยนสู่ตำแหน่งที่สูงกว่าขึ้นเองโดยอัตโนมัติ
เพื่อป้องกันความเสียหายของเครื่องยนต์และระบบเกียร์
แต่ถ้า ผลักคันเกียร์ลงไปที่ตัว S แล้ว เมื่อกดคันเร่งไปจนถึงขีดแดง เกียร์จะไม่เปลี่ยนตำแหน่ง
ไปยังเกียร์ที่สูงขึ้นให้ เพราะระบบจะถือว่า ค้างอยู่ในโหมด บวก-ลบ ผู้ขับอาจจะอยากลากเกียร์ไว้
ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของผู้ขับขี่ที่จะต้องเปลี่ยนเกียร์เอง
นอกจากนี้ยังมีระบบควบคุมการเปลี่ยนเกียร์ไปมา ขณะเข้าโค้งโดยไม่จำเป็น
Shift Hold Control ซึ่งช่วยป้องกันการเปลี่ยนเกียร์ไปยังตำแหน่งที่สูงขึ้น เช่นจาก 4 เป็น 5
ในขณะขับขี่บนเส้นทางคดเคี้ยว หรือขณะเข้าโค้ง ซึ่งต้องมีการถอนคันเร่งอย่างรวดเร็วและเหยียบเบรก
ชะลอรถ ระบบนี้ ฮอนด้าบอกว่าจะรักษาระดับการถ่ายทอดกำลังของเครื่องยนต์ให้อยู่ในระดับสูง
โดยไม่จำเป็นจ้องลดตำแหน่งเกียร์ลงมา ซึ่งเมื่อเอาเข้าจริงแล้ว ในการขับขี่บนทางโค้งจริง แทบไม่ได้พบ
หรือจับอาการจากการทำงานของระบบนี้เท่าใดนัก และผมยังคิดว่าการลดตำแหน่งเกียร์ลงต่ำด้วยตัวของผู้ขับขี่เอง
น่าจะช่วยได้ดีกว่า หากต้องการเข้าออกจากโค้งให้เร็ว
เรายังคงทดลองหาตัวเลขอัตราเร่งกัน โดยใช้วิธีเดิม
คือ มีผู้ขับขี่และผู้โดยสาร รวมแล้ว 2 คน น้ำหนักตัว ประมาณ 150-160 กิโลกรัม
เปิดแอร์ เปิดไฟหน้า ปล่อยคันเกียร์ เอาไว้ในโหมด D อย่างเดียว ไม่เล่นกับโหมดบวก-ลบแต่อย่างใด
ตัวเลขที่ได้ นั้น แสดงเอาไว้ในช่องสีส้มของตารางนี้ รายล้อมด้วยตัวเลขผลการทดลองจาก
แอคคอร์ดรุ่นเดิม รวมทั้งคู่แข่งสำคัญ อย่าง โตโยต้า แคมรี นิสสัน เทียนา และ ฮุนได โซนาตา ด้วย
ผลลัพธ์มีดังต่อไปนี้
จากตัวเลขในตารางจะเห็นว่า เมื่อเทียบกับแคมรี 2,400 ซีซี แล้ว การออกตัวจากจุดหยุดนิ่ง
จนเข็มความเร็วของแอคคอร์ดใหม่ 2,400 ซีซี แตะ 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ยังทำได้ช้ากว่ากัน เกือบๆ 1 วินาที ทว่าอัตราเร่งแซง 80-120 กิโลเมตร/ชั่วโมงนั้น
แม้ตัวเลขเฉลี่ย ของ แอคคอร์ด จะดูเร็วกว่า ของแคมรี ประมาณ 0.1 วินาที
แต่พอเอาเข้าจริงนั้น เมื่อแยกดูตัวเลขในแต่ละครั้ง จะเห็นว่ามันแทบไม่ได้ต่างกันมากมาย
อย่างที่คิด และการตอบสนองจากการขับขี่จริงนั้น แทบไม่ได้รู้สึกว่าแตกต่างไปจาก
แอคคอร์ดรุ่นเดิม รวมทั้ง แคมรี 2,400 ซีซี เท่าใดนัก
กระนั้น ตัวเลขที่ออกมานั้น ก็แสดงให้เห็นความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นของเครื่องยนต์ K24A
ในแอคคอร์ดใหม่ ได้ 2 ประการ
ข้อแรก อย่างน้อยๆ ตัวเลข 0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ของรุ่นใหม่ ก็ดีขึ้นกว่ารุ่นเดิม ราวๆ เกือบ 0.1 วินาที
ข้อสอง อย่างน้อยๆ ก็พอจะยืนยันได้ว่า ตัวเลข อัตราเร่ง 0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ที่คุณ อดิศักดิ์ โรหิตศุน รองประธานกรรมการบริหารอาวุโส
บริษัท เอเซียนฮอนด้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด
และ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
ซึ่งเป็นผู้บริหารคนไทย ที่มีตำแหน่งสูงสุดของฮอนด้า
ได้ให้ความกรุณา ร่วมสนุกกันนิดหน่อย ช่วยกดนาฬิกาจับเวลาให้ผม
ขณะที่เรากำลังทดลองขับ เวอร์ชันส่งออก พวงมาลัยซ้าย ของแอคคอร์ดใหม่
ในสนามทดสอบของฮอนด้า ที่โตชิกิ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อเดือนตุลาคม ปีที่แล้วนั้น
ตัวเลขออกมา ไม่ต่างกันกับเวอร์ชันทื่จำหน่ายในบ้านเราเลย แม้ว่าในวันนั้น
อุณหภูมิจะต่ำกว่าบ้านเรา (วันนั้น ฝนตก อุณหภูมิราวๆ 20 องศาเซลเซียส)
พูดกันตรงๆก็คือ อัตราเร่งของ เครื่องยนต์ 2AZ-FE ในแคมรี ยังคงให้อัตราเร่งที่ดีกว่า
คู่แข่งในกลุ่ม ซีดาน 2,300 – 2,400 ซีซี ในบ้านเรา ทั้งหมดอยู่ดี
ด้านระบบรองรับนั้น ถูกปรับปรุงใหม่ให้ดีขึ้นกว่าเดิมเกือบทั้งหมด จนสัมผัสได้ว่าแตกต่างจากรุ่นเดิม
เหตุผลหลักคือ เกิดจากความพยายามในการ ลดระยะห่างจากพื้นตัวถังกับพื้นดินลง 15 มิลลิเมตร
และลดจุดศูนย์ถ่วงของรถ ลงต่ำกว่าเดิม 18.2 มิลลิเมตร
เมื่อปรับตำแหน่งของพื้นตัวถังแล้ว ก็ควรจะต้องปรับปรุงระบบกันสะเทือนด้วย
เพราะในรุ่นเดิม มีเสียงบ่นถึงความแข็งกระด้าง เมื่อขึ้นลงลูกระนาด ซึ่งเมื่อผมทดลองขับเองแล้ว
ก็คงต้องบอกว่า ในรุ่นเดิมนั้น แม้จะนุ่มนวลพอใช้เมื่อขับเดินทางทั่วไป
แต่พอเจอลูกระนาดและหลุมบ่อต่างๆ แล้ว ถือว่าแข็งไปนิดสำหรับ รถยนต์ระดับผู้บริหารแบบนี้
ครานี้ ฮอนด้าก็เลยปรับปรุงระบบกันสะเทือนแอคคอร์ดเสียใหม่
ระบบกันสะเทือนหน้าแบบ ปีกนกคู่ พร้อมสปริง และเหล็กกันโคลง
ผลิตจากเหล็กด้วยวิธี Forged และเชื่อมติดเข้ากับ ซับเฟรม ทำจากท่อเหล็ก
ทรงสี่เหลี่ยมปั้มขึ้นรูป
ส่วนระบบกันสะเทือนหลัง แบบมัลติลิงค์ พร้อมคอยล์สปริง ที่ยังคงติดตั้งร่วมกับช็อกอัพแบบใช้แก้สไนโตรเจน
แขนยึดแบบ A-Arm ถูกออกแบบขึ้นใหม่ และผลิตขึ้นจากเหล็กปั้มขึ้นรูป ส่วนแขนยึดด้านล่างทั้ง 2 ตัว ผลิตจากท่อเหล็ก
ตัวยึดซึ่งทำหน้าที่ควบคุม มุมโท และข้อต่อระบบกันสะเทอน ผลิตจากอะลูมีเนียม แขนยึดและจุดเชื่อมต่อ ถูกติดตั้งเข้ากับ
ซับเฟรม ที่ให้ตัวได้ เพื่อลดเสียงรบกวน และแรงสั่นสะเทือน (NVH : Noise Vibration and Harshness)
ทั้งหมดทั้งสิ้นที่กล่าวมา พอปรับปรุงจนเข้าที่แล้ว การดูดซับแรงสะเทือน ก็ทำได้ดีขึ้น นุ่มนวลลง
อาการกระด้าง เมื่อเจอลูกระนาดตามตรอกซอกซอย ลดลงอย่างจับสัมผัสได้
ขณะเดียวกัน ก็ยังให้ความมั่นใจในการเดินทาง แม้ว่า จะใช้ความเร็วสูงแค่ไหน
การบังคับรถให้อยู่ในทางตรงก็ทำได้ "นิ่งขึ้นกว่าเดิม ไม่วอกแวก และไม่เกิดความเครียด
จนถึงระดับต้องประคองรถอย่างระแวดระวังแต่อย่างใด" โดยเฉพาะโค้งตัว S บริเวณทางลงทางด่วน
ด่านพระราม 6 สามารถสาดเข้าไปเต็มที่ด้วยความเร็วระดับ 80-85 กิโลเมตร/ชั่วโมงได้อย่างสบายๆ
เป็นเรื่องน่ารแปลกเล็กน้อยที่คราวนี้ ผมกลับไม่บ่นการทำงานของยาง มิชลิน Energy MXV8 แต่อย่างใด
ทั้งที่ในรถรุ่นก่อนนั้น เลี้ยวนิดเลี้ยวหน่อยก็โหยหวน เสรียราวกับว่ากำลังจะโดนฆ่าปาดลูกกระเดือก
ส่วนหนึ่ง เพราะว่า แอคคอร์ด 2,400 ซีซี รุ่น EL ขึ้นไปนั้น ใช้ยางขนาด 225/50 R17 และกระทะล้อ 17x 7.5 นิ้ว
ซึ่งในรุ่นเดิมนั้น ยังใช้ยาง 215/60 R16 และแก้มค่อนข้างสูงอยู่พอสมควร
ไม่เพียงเท่านั้น ระบบพวงมาลัย แร็คแอนด์พีเนียน พร้อมเพาเวอร์ผ่อนแรง ตามความเร็วรอบเครื่องยนต์
ก็ยังถูกปรับปรุงใหม่ ให้เป็นแบบ อัตราทดเฟืองพวงมาลัยแปรผัน VGR ( Variable Gear Ratio)
ซึ่งใช้ระบบกลไกในการทำงาน โดยร่องเฟืองบนชุดแร็ค จะใกล้ชิดกันมากขึ้น และอยู่ติดกับแกนกลางของชุดแร็ค
แต่อยู่ห่างจากปลายหรือมุมของชุดแร็ค
หลักการทำงานก็คือ ถ้าผู้ขับขี่ หักเลี้ยวเพียงเล็กน้อย เพื่อเปลี่ยนเลน ล้อก็จะหมุนตามเพียงเล็กน้อย
แต่ หากต้องเข้าจอดรถ หรือการกลับรถ ที่ต้องหมุนพวงมาลัยหลายรอบ ชุดร่องเฟืองที่มีระยะห่างของร่องมากกว่า
และอยู่ทางด้านปลายของชุดแร็ค ก็จะทำงาน อย่างแม่นยำมากขึ้น
ถ้านึกภาพไม่ออก ว่า เฟืองมันเป็นอย่างไร ใครที่เคยเห็น ขนแปรงสีฟัน หรือแปรงขัดส้วมไหมครับ
มันจะเป็นเส้นตั้งถี่ๆ กันใช่ไหมครับ? ขนแปรงเหล่านั้น ถ้าถูกปรับให้เอนตัวในแนวเดียวกันทั้งหมด
ยกเว้นบริเวณตอนกลาง ซึ่งคุณจะจับบี้ให้มันเรียงชิดติดกันสักหน่อย
นั่นละครับ คือหน้าตาของฟันเฟืองตัวหนอน ในระบบชุดแร็คของแอคคอร์ดรุ่นนี้นี่เอง
และนั่นทำให้ผมไม่แปลกใจว่า แอคคอร์ดใหม่ ให้การตอบสนองทั้งการบังคับเลี้ยว ที่แม่นยำ
อีกทั้งยังนิ่งอย่างน่าพประทับใจ ในย่านความเร็วสูง แถมยังมีระยะฟรีไม่มากนักอีกด้วย
ไม่เพียงเท่านั้น ยังช่วยให้บังคับรถได้อย่างคล่องแคล่วยิ่งกว่ารุ่นเดิม
แถมจำนวนหมุนรอบจนสุด Lock to Lock จากซ้ายสุด ไปขวาสุด
ยังลดลงจาก 2.98 รอบ เหลือ 2.56 รอบ ซึ่งช่วยให้ตอบสนองได้ไวพอ
สำหรับการเคลื่อนไหลซิกแซกไปตามสายธารการจราจรในเย็นวันศุกร์ได้อีกด้วย
นอกจากนี้ การออกแบบให้เส้นผ่าศูนย์กลางของพวงมาลัย เล็กลงจากรุ่นเดิม
ก็ยิ่งช่วยเสริมบุคลิกสปอร์ตของรถคันนี้ไปด้วยอีกนิดหน่อย
ส่วนระบบห้ามล้อ ยังคงเป็นดิสก์เบรก 4 ล้อ พร้อมระบบป้องกันล้อล็อก ABS และระบบกระจายแรงเบรก EBD
แต่มีการปรับปรุงการตอบสนองของแป้นเบรกใหม่ ให้นุ่มเท้ามากขึ้น และมั่นใจได้มากกว่าเดิม
คราวนี้ การตอบสนองแป้นเบรกนั้น ดีกว่า ซีวิค FD เล็กน้อย ไม่มากนัก แต่ ดีกว่าแอคคอร์ดรุ่นเดิม
และ รถตู้ เอลิซิออง ของฮอนด้า ซึ่งใช้อุปกรณ์คล้ายๆกัน รถรุ่นเก่านั้น ยังต้องเหยียบลงไปพอสมควร
ปานกลาง แต่รุ่นใหม่ นอกจากจะตื้นขึ้นแล้ว ยังไม่แข็งทื่อ อีกทั้งระบบไฮโดรลิก ยังทำงานได้ดี
ในระดับที่ว่า ต้องการให้เบรกเพียงแค่ไหน ก็เหยียบลงไปเพียงแค่นั้น
ภาพรวมแล้ว คราวนี้ ผมแทบไม่มีเรื่องจะบ่นอะไรกับแอคคอร์ด รุ่นที่ 8 ใหม่นี้เลย
จะยกเว้นก็คงเพียงประเด็นเดียว… คือเรื่องของการเก็บเสียง
ฮอนด้าระบุว่า แอคคอร์ดใหม่ เป็นรถยนต์รุ่นแรกของตน ที่ใช้โครงสร้างตัวถังแบบ Unit Body Frame Rail System
ซึ่งมีตำแหน่งการวางเฟรมตัวถัง ที่ถูกปั้มขึ้นรูป จะย้ายมาอยู่ด้านบน และด้านใน ส่วนที่เป็นโครงสร้างพื้นตัวถัง
ช่วยให้ด้านล่างของพื้นตัวถัง (หรือใต้ท้องรถนั่นละ) เกือบจะแบนเรียบ และช่วยให้ค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทานอากาศ
ในภาพรวมดีขึ้น
แต่…ช่วยลดเสียงรบกวนจากกระแสลมใต้ท้องรถเข้าสู่ห้องโดยสาร…หรือ?
แล้วทำไม การเก็บเสียงของแอคอร์ดใหม่ เฉพาะรุ่น 2,400 ซีซี จึงยังไม่ดีเท่ากับ แคมรี และเทียนา อยู่ดีละ?
จริงอยู่ว่า เงียบขึ้นกว่ารุ่นที่แล้ว แต่ ยังไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับเทียนา
ผมยังจำได้ว่า รุ่น 2,400 ซีซี พวงมาลัยซ้ายนั้น การเก็บเสียงจากพื้นรถ ยังทำได้ไม่ดีเท่ารุ่น วี6 3,500 ซีซี
พอมาเป็นเวอร์ชันไทย ก็ยังคงเป็นเช่นนั้นเหมือนกัน ยังพอมีเสียงรบกวนจากห้องเครื่องยนต์บ้าง เสียงยาง
มิชลิน Energie บ้างนิดหน่อย โผล่เข้ามาให้ได้ยินอยู่บ้าง และเมื่อถึงความเร็ว 140 กิโลเมตร/ชั่วโมงขึ้นไป
จะเริ่มได้ยินเสียงลมที่มาปะทะเสาหลังคาคู่หน้า แล้วไหลผ่านมายังกระจกมองข้าง ก่อนจะกระจายตัว
ไปตามบานกระจกหน้าต่าง แม้จะได้ยินเพียงแผ่วเบาก็ตาม แต่ก็ยังมีอยู่บ้างนิดนึง
นี่ก็ยังต้องเป็นเรื่องที่จะต้องปรับปรุงแก้ไขกันต่อไป
********** การทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย **********
เป็นเรื่องที่ผมแปลกใจมาหลายหนแล้ว ที่ต้องทำการทดลองอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง
แล้วพบกับความจริงอันน่าประหลาด ที่หลายคนอาจจะแปลกใจไม่ต่างจากผมว่า
รถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ 2,400 ซีซี นั้น ถ้าขับขี่ทางไกลแล้ว ให้ความประหยัดได้ไม่แพ้
รถยนต์ ซับ-คอมแพกต์ 1,500 ซีซี หรือรถยนต์ กลุ่มคอมแพกต์ 1,600-2,000 ซีซี
ได้อย่างเหลือเชื่อ
และคราวนี้ก็เช่นกัน
เรายังใช้วิธีทดลองแบบเดิม
คือ ใช้ความเร็วไม่เกิน 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง
เปิดแอร์ และ มีผู้ขับขี่กับผู้โดยสาร นั่งกันไป 2 คน
น้ำหนักตัวประมาณ 150-170 กิโลกรัม
เนื่องจากในช่วงเวลาที่ทำการทดลองนั้น
ปั้มน้ำมันเอสโซ่ พระราม 6 ยังมีน้ำมันเบนซิน 95 จำหน่ายอยู่
เราจึงยังคงใช้จุดเริ่มต้นจาก ปั้ม ไปขึ้นทางด่วนพระราม 6
ไปลงปลายสุดของเส้นทางด่วนสายเชียงราก
แล้วยูเทิร์น กลับมาย้อนทางเก่า กลับมาเติมน้ำมันที่ปั้มเดิมและหัวจ่ายเดิม
ตัวเลขที่ได้ เมื่อเปรียบเทียบคู่แข่ง มีดังนี้
ถ้าเทียบกับตัวเลขของรุ่นเดิม ซึ่งผมมองว่ามันดูดีเกินกว่าที่ควรจะเป็นไปเล็กน้อยนั้น
ก็เรียกได้ว่า แอคคอร์ดใหม่ ให้อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงที่ด้อยลงจากรุ่นเดิมไม่มากอย่างที่คิด
และตัวเลขที่ได้มาคราวนี้ ดูแล้วค่อยสมเหตุสมผลกว่ารุ่นเดิม
แม้ว่าตัวเลขจะด้อยกว่า แคมรี 2,400 ซีซี อยู่ 0.2 กิโลเมตร/ลิตร ก็ตาม แต่มันก็เป็นเช่นนี้
มาตั้งแต่ แคมรี รุ่นไฟท้ายยาว ปี 1997-2001 (12.3 กิโลเมตร/ลิตร)
และแอคคอร์ด รุ่นที่ 6 (1997-2002) หรือรุ่น งูเห่า (12.1 กิโลเมตร/ลิตร) แล้ว ผมเลยไม่แปลกใจอะไรนัก
ตัวเลขจะต่างกันเพียงนิดหน่อย ถือว่า ให้อัตราสิ้นเปลืองเขื้อเพลิงเฉลี่ย อยู่ในระดับ พอๆกัน ไม่หนีกันมากนัก
นอกเหนือจากการทดลองนี้แล้ว
ผมมีโอกาส นำแอคคอร์ดใหม่ ไปถ่ายรูปที่แถวๆสระบุรี ในสภาพการขับขี่จริง
และเราใช้ความเร็วกันตั้งแต่ 80 จนถึง 180 กิโลเมตร/ชั่วโมงในบางช่วง
เพื่อที่จะทำเวลา หลังจากต้องเสียเวลาไปกับการชะลอตัว อันเนื่องจากการปิดกั้นถนน
เพราะ "ภาระกิจพิเศษ" ของตำรวจทางหลวง
วันนั้น จากน้ำมันเต็มถัง เราเดินทางไป-กลับ สระบุรี – กทม. ด้วยระยะทางขึ้นที่
Trip computer ว่า 400 กิโลเมตร พอดี แต่เข็มน้ำมัน จากเต็มถังกลับลดเหลือลงมาเพียงแค่ครึ่งเดียว!
ซึ่งก็ถือว่าประหยัดใช้การได้ดีกว่าที่คิด! แต่อย่าลืมว่า ที่ทำเช่นนั้นได้ เพราะถังน้ำมัน ของแอคคอร์ดใหม่นั้น
มีความจุ 70 ลิตร! ถือว่ามีขนาดค่อนข้างใหญ่ อย่างน้อยก็เท่ากับ อีซูซุ ดีแมกซ์ นั่นละ
และแน่นอน ว่า สำหรับการเดินทางไกลแล้ว ทั้ง แอคคอร์ด และแคมรี เครื่องยนต์ 2,400 ซีซี ประหยัดน้ำมันกว่า
รุ่น 2,000 ซีซี ของทุกคันในตลาด โดยปราศจากข้อกังขาในใจผม
และนี่ก็เป็นอีกครั้งหนึ่ง ที่จะยืนยันให้เห็นว่า การเลือกซื้อรถยนต์นั้น
อย่าคิดแต่เพียงว่า ความจุกระบอกสูบน้อยๆ น่าจะประหยัดน้ำมันกว่า
เพราะในความเป็นจริงแล้ว เครื่องยนต์ ที่แรงน้อยกว่า เล็กกว่า
เมื่อต้องไปวางในตัวถังที่มีขนาดใหญ่แบบนี้ ต้องใช้พละกำลังในการฉุดลาก
มากเท่าที่ตัวของมันลำพังจะฉุดพาให้รถวิ่งได้ และนั่นทำให้ผู้ขับต้องเหยียบเพิ่มขึ้น
ก็ยิ่งกินน้ำมันมากขึ้น
ผิดจากรถที่วางเครื่องยนต์ใหญ่กว่ากันเล็กน้อย
และมีพละกำลังที่เหมาะสม ลงตัว กับขนาดตัวถังและน้ำหนักพอๆกัน
ก็จะพบว่า ให้อัตราเร่งที่ดีกว่า และมีอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงที่ดีกว่าด้วยเช่นกัน
แต่ แนวคิดเดิมที่ว่า เครื่องยนต์ยิ่งใหญ่ ยิ่งมีพละกำลังมาก ก็ยิ่งกินมากนั้น ยังคงใช้ได้จริงอยู่
ถ้าไม่เชื่อ ก็ดูตัวเลขของแคมรี วี6 3,500 ซีซี และ แอคคอร์ด วี6 3,000 ซีซี รุ่นเดิม นั่นไงครับ
กฎทั้งหลายนั้น ย่อมมีข้อยกเว้นของมัน….
********** สรุป **********
***** ลืมแคมรีไปได้เลยก็จริงอยู่…แต่แค่เกือบทุกเรื่องนะ *****
ผมเคยบอกเอาไว้ ในทันทีที่ลงจากแอคคอร์ด เวอร์ชันพวงมาลัยซ้าย
ในสนามทดสอบของฮอนด้า อาร์แอนด์ ดี ที่ โตชิกิ ในญี่ปุ่นว่า
"Forget the Camry…"
แต่นั่นก็คือความรู้สึกจากการขับเพียง 2-3 รอบสนาม
แล้วถ้าถามว่า มาวันนี้ วันที่แอคคอร์ด ตัวใหม่ ผ่านมือผมมาแล้ว ราวๆ 5-6 คัน ละ?
ผมจะยังยืนยันในสิ่งที่ผมพูดเหมือนเดิมหรือเปล่า?
คำตอบของผมก็คือ ยังคงยืนยัน เหมือนเดิมที่เคยพูดไว้นั่นแหละ
ว่าแอคคอร์ดใหม่ ทำให้ผมลืมแคมรีไปได้เลยจริงๆ ในภาพรวม
แต่…ทุกสิ่งในโลกนี้ ล้วนแล้วต้องมี "แต่"
เอาละ
ในเมื่อโจทย์ของวิศวกรฮอนด้า ชัดเจนอยู่แล้วว่า จะต้องปรับปรุงแอคคอร์ดใหม่
ให้ลบจุดด้อยจากรุ่นเดิม มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพิ่มความนุ่มนวล
เอาใจคนนั่งด้านหลังมากขึ้น แต่ยังต้องรักษาบุคลิกสปอร์ตเอาไว้ติดปลายนวม
ละทิ้งไม้ได้เด็ดขาด เพื่อเอาใจนักขับรถ ที่อยากได้ความสบายเพิ่มขึ้น
ถ้าถามว่า พวกเขาบรรลุเป้าหมายหรือยัง
ก็คงต้องตอบว่า ใช่ งานของพวกเขา สำเร็จลงด้วยดี
สำหรับคนที่ชอบขับรถแล้ว แอคคอร์ด ใหม่ ยังคงบุคลิกเดิมของตนที่คุณชื่นชอบเอาไว้
แต่ลดทอนความกระด้างลงไปบ้าง เพิ่มความนุ่มนวลเล็กน้อย ไปพร้อมกับความหนักแน่นยิ่งขึ้น
แถมด้วยการปรับปรุงพวงมาลัยให้บังคับเลี้ยวได้คล่องตัว ระยะฟรีน้อย
สำหรับคนที่อยากนั่งโดยสารสบายๆที่เบาะหลัง
คราวนี้ ฮอนด้า พยายามปรับปรุงตัวรถให้เอาใจลูกค้ากลุ่มนี้มากขึ้น
เบาะนั่งด้านหลัง นั่งสบายขึ้น พื้นที่เหนือศีรษะเยอะขึ้น
ถือว่าเป็นแอคคอร์ด ที่เซ็ตมาได้ลงตัวที่สุดในบรรดาหลายๆรุ่นที่ผ่านๆมา
แต่…แล้วมีอะไรที่ควรปรับปรุงบ้างละ?
ข้อแรก พละกำลังนั้น จริงอยู่ว่า เพียงพอแล้ว สำหรับการใช้งานของผู้บริโภค
และมันไม่ได้น่าเกลียดเลย เมื่อเทียบกับ แคมรี
แต่ ในเมื่อ คู่แข่งอย่างโตโยต้า ทำเครื่องยนต์ 2AZ-FE ที่ให้สมรรถนะที่ดีกว่าเล็กน้อย
แม้การทำงานของลิ้นปีกผีเสื้อไฟฟ้า และคันเร่งไฟฟ้า รวมทั้งสมองกลเกียร์
จะล่าช้าไปอยู่เล้กน้อยแล้วด้วยซ้ำ งานนี้ เห็นที ฮอนด้าอาจต้องทำการบ้านเพิ่มอีกสักนิดแล้วละ
ข้อต่อมา การซับแรงสะเทือนจากพื้นถนนนั้น ยังติดตึงตังอยู่ กรณีนี้ นิสสัน เทียนา ทำได้ดีกว่า
เอาละ อาจจะมีข้อถกเถียงได้ว่า ก็ เทียนา เขาทำรถออกมาในแนวนุ่มจ๋า เอาใจคุณหญิง คุณนาย
ก็ต้องซับแรงสะเทือนให้ดีสิ รถเค้าซับแรงสะเทือนได้ดีที่สุดในกลุ่มนี้นี่นา
งั้นผมก็คงต้องถามกลับว่า ถ้าเช่นนั้น แล้วทำไมวอลโว S60 ถึงยังมีระบบกันสะเทือนที่นุ่มนวลกำลังดี
แต่ยังเอาใจคนชอบขับรถได้อย่างสนุกสนาน โดยที่ไม่ค่อยมีอาการตึงตังให้ได้รับรู้กันละ?
ทั้งที่ S60 ก็ถือว่าเป็นรถที่เซ็ตระบบกันสะเทือน เอาใจนชอบขับรถที่สุดแล้วในไลน์อัพของวอลโวตอนนี้?
แต่จะว่าไปแล้ว 2 หัวข้อข้างบนนั้น ผมยังไม่ติดใจอะไรมากมายนัก
เพราะด้วยเหตุที่เข้าใจว่า ฮอนด้านั้น ได้พยายามอย่างมาก
ที่จะทำตามโจทย์ซึ่งผู้คน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ลูกค้า คาดหวังเอาไว้ในภาพรวม
ได้ดีขึ้นกว่าเดิมแล้ว และการขับขี่แอคคอร์ดใหม่ 2,400 ซีซี ก็สุนทรีย์มากพอสำหรับ
คนชอบขับรถอย่างผม
อีกประเด็นหนึ่งคือเรื่องของการเก็บเสียงจากพื้นถนนในรุ่น 2,400 ซีซี ที่ยังมีเสียงจากห้องเครื่องยนต์
และเสียงจากยางเล็ดรอดขึ้นมาให้ได้ยินกันอยู่บ้างเล็กน้อย
ถ้าเช่นนั้น แอคคอร์ด จะเหมาะกับใคร?
ก็คงจะเป็นอื่นไปมิได้ นอกจากกลุ่มลูกค้าประเภท ชายหนุ่ม Young Executive อายุตั้งแต่ 30-45 ปี
ที่ยังคงชื่นชอบการขับรถด้วยตัวเอง แต่ด้วยวัยที่เปลี่ยนไป ทำให้เริ่มมองหาความสบาย
และภาพลักษณ์ความภูมิฐานจากรถยนต์ซีดาน โดยยังต้องไม่ลืมบุคลิกความปราดเปรียวติดสปอร์ตนิดๆเอาไว้
ดังนั้น ใครที่คิดจะซื้อรถยนต์ซีดานขนาดกลาง 2,400 ซีซี ในตอนนี้
คำแนะนำจากผม ในเบื้องต้น (ก่อนที่เราจะนำรุ่น วี6 3,500 ซีซี มาทดลองกัน) ก็คือ
ถ้า ยังรักการขับรถ การตอบสนองในทุกๆด้าน ไปหาแอคคอร์ด ขับดีกว่าทุกคันนิดหน่อย
ถ้า รักภาพพจน์ทางสังคมเป็นหลัก เอาเครื่องแรงกว่านิดนึง ไปหาแคมรี
ถ้า ความนุ่มนวล การซับแรงสะเทือน ที่ดี บรรยากาศในห้องโดยสารที่ดี เอาคุณภาพการประกอบ คือเรื่องสำคัญ ไป เทียนา
ถ้า เอาความคุ้มค่า สมราคา และคุณภาพการประกอบที่ดี อีกทั้งเน้นการขับขี่เป็นหลัก ไปโซนาต้า
———————–///———————–
(ขอขอบคุณ
ฝ่ายประชาสัมพันธ์
บริษัทฮอนด้า ออโตโมบิลล์ (ประเทศไทย) จำกัด
เอื้อเฟื้อรถทดลองขับ)
บทความประกอบ
Honda ACCORD
– First Impression in Japan : ชม Crash Test กันสดๆ
แล้วไปลองขับ Honda New ACCORD , Civic Type-R ,FCX Concept และอีกหลายรุ่น….by : J!MMY
http://www.caronline.net/ArticleDetail.aspx?ArticleID=117#head
– Full Review รุ่นเดิม
รุ่น 2.0 โฉมเก่า
http://topicstock.pantip.com/ratchada/topicstock/V3470403/V3470403.html
รุ่น 2.4 และ 3.0 โฉมล่าสุด ไฟท้ายเบนซ์
http://topicstock.pantip.com/ratchada/topicstock/2006/05/V4332491/V4332491.html
—————–
– Toyota CAMRY
First impression ภาคแรก[i]
http://topicstock.pantip.com/ratchada/topicstock/2006/08/V4660678/V4660678.html
[i]Full Review 2.0 & 2.4 ลิตร
http://topicstock.pantip.com/ratchada/topicstock/2006/11/V4911946/V4911946.html
First Impression V6 3.5 ลิตร
http://topicstock.pantip.com/ratchada/topicstock/2006/11/V4911942/V4911942.html
Full Review V6 3.5 ลิตร
http://www.caronline.net/ArticleDetail.aspx?ArticleID=110#head
ผม ตบตี กับ "เจ๊หลง" (ระบบนำร่องของ แคมรี ใหม่) ครับ
http://topicstock.pantip.com/ratchada/topicstock/2006/11/V4911938/V4911938.html
—————–
– Nissan TEANA
Full Review
http://www.caronline.net/ArticleDetail.aspx?ArticleID=101#head
—————–
– Hyundai SONATA
Full Review
http://www.caronline.net/ArticleDetail.aspx?ArticleID=125#head
———————–///———————–
J!MMY
8 พฤษภาคม 2008
11.42 น.
9 พฤษภาคม 2008
2.48 น.