ห่างไปนานแล้วสำหรับการตะลุยเกาหลีในตอนนี้ไม่มีอะไรครับเพียงแต่ว่ามีงานเข้ามาเยอะเลยต้องพักเรื่องเกาหลีไว้ซะหน่อยคราวนี้พร้อมแล้วก็เลยรีบที่จะมาเล่าต่อครับ
ทิ้งไว้ว่าจะทำยังไงเนื่องจากรองเท้าที่ใส่มาเปียกชุ่มเลยหลังจากเข้าโรงแรมแล้วก็เริ่มหาอุปกรณ์ที่จะช่วยให้รองเท้าแห้งได้เป็นอื่นไม่ได้นอกจากไดร์เป่าผมซึ่งมีอยู่ในห้องน้ำ ทีแรกก็เปิดลมร้อนลมก็แรงดีอยู่แต่ว่าซักพักมันก็ตัดทำได้อยู่แบบนี้ไม่นานก็ทนไม่ได้ ก็เลยตัดใจลองใช้ลมเย็นเปิดไปตลอดคืนกลางดึกค่อยมาเปลี่ยนข้างเอาก็แล้วกัน สุดท้ายเช้ามาก็รอดตัวไปรองเท้าแห้งทั้งสองข้างเลย
ตามมาตรฐานในการเดินทางที่เป็นกรุ๊ปหรือทัวร์ ถ้าจะต้องเดินทางนั้นต้องรักษาเวลา คณะของเราก็เช่นกันต้องพร้อมกันในเวลาแปดโมงที่หน้าโรงแรมและที่สำคัญวันนี้เราไม่ได้เดินทางโดยรถบัสของบริษัททัวร์แต่เป็นรถบัสของทางฮุนไดมอเตอร์ที่ส่งรถมารับคณะของเรา เมื่อพร้อมแล้วเราก็ออกเดินทาง
สภาพอากาศนั้นแย่มากครับ ฝนตกตั้งแต่เมื่อคืนยังไม่มีทีท่าว่าจะหยุดเลย การจราจรนั้นติดขัดเป็นอย่างมากสภาพสองข้างทางโดยเฉพาะบริเวณใกล้แม่น้ำฮาน(ถ้าจำชื่อไม่ผิดนะครับ)น้ำท่วมสูงมากทัศนวิสัยแย่มาก เราใช้เวลาเดินทางนานมากขนาดว่าผมหลับไปหลายชั่วโมงก็ยังไม่ถึงศูนย์วิจัยและพัฒนาของฮุนไดที่เมืองนันยางซะที คณะของเราก็ได้มาจอดรถแวะพักให้เราเข้าห้องน้ำแบบมอเตอร์เวย์ของบ้านเราเพราะเส้นทางที่วิ่งนั้นก็คล้ายกับทางมอเตอร์เวย์นั้นเองครับ
การเดินทางจากกรุงโซลไปเมืองนันยางนั้นปกติใช้เวลาประมาณไม่เกินสองชั่วโมงครึ่ง แต่ที่เราใช้วันนี้นั้นเกือบสี่ชั่วโมงแล้วยังเดินทางไปไม่ถึงเลยก็เลยมีการเปลี่ยนแผนกันเล็กน้อยคือเราจะแวะไปรับประทานอาหารกลางวันกันก่อนที่โรงแรม ROLLING HILLS ซึ่งทีมงานก็ได้มีการประสานงานไว้แล้วซึ่งอาหารนั้นก็ได้เตรียมพร้อมไว้แล้ว
หลังจากอาหารเที่ยงแล้วเราก็ใช้เวลาไม่นานก็มาถึงจุดหมายของเราในวันนี้คือศูนย์พัฒนาวิจัย หรือ R&D Center ของฮุนไดซึ่งทางทีมงานนั้นก็ขอความร่วมมือให้มอบทั้งกล้องและโทรศัพท์ไว้กับทีมงานเพราะภายในศูนย์ห้ามบันทึกภาพโดยเด็ดขาดซึ่งทีมฮุนไดประเทศไทยจะส่งรูปให้ภายหลัง
เมื่อเข้ามาแล้วนั้นผมก็เริ่มสังเกตุสิ่งต่างๆภายในศูนย์สายตาก็ไปกระทบกับสถานีเติมเชื้อเพลิงแบบไฮโดรเจนเข้าให้ แถมยังมีรถแบบไฮบริดผสมกับก๊าซแอลพีจีเข้าให้อีกไม่น่าเชื่อครับว่าฮุนไดนั้นวิจัยและพัฒนาให้ความสำคัญกับเชื้อเพลิงทางเลือกแบบนี้ไม่แพ้ฝั่งญี่ปุ่นหรือยุโรปเลยแถมยังมีแอบเห็นรถที่ใช้พลังงานแบบ FUEL CELL อีกต่างหาก
ในการเยี่ยมชมศูนย์ R&D Center คณะของเราได้เข้าร่วมฟังพรีเซ็นเตชั่นที่แสดงให้เห็นถึงนโยบายการผลิตและพัฒนารถยนต์ที่มุ่งเน้น “นวัตกรรม” และเทคโนโลยีล้ำสมัยที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของฮุนได ให้เห็นภาพถึงแนวทางและอนาคตของรถยนต์แบรนด์ฮุนไดที่เปลี่ยนไปอย่างชัดเจน โดยเน้นการพัฒนาเทคโนโลยี และการเป็นมิตรต่อสภาพแวดล้อมตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตวัตถุดิบ จนถึงการผลิตรถยนต์ แทนการทำตลาดด้วยรถยนต์ที่สามารถแข่งขันทางราคาเพียงอย่างเดียว
ศูนย์พัฒนาวิจัยขนาด 3.47 ล้านตารางเมตร มูลค่าหลายล้านดอลล่าร์ของฮุนได ประกอบไปด้วยส่วนสำคัญต่างๆในการพัฒนารถยนต์ที่ทันสมัย ตั้งแต่อุโมงค์ลม ขนาด 6 x8 เมตร มูลค่ากว่า 45 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ ที่มีขนาดใหญ่รองรับการทดสอบในหลายรูปแบบทั้งด้านสมรรถนะ และความสบายในการเดินทาง ลานทดสอบสภาพถนนในทุกประเภทตั้งแต่ถนนวงแหวนทดสอบความเร็วสูงสุดไปจนถึงถนนขรุขระเพื่อวัดเสียงและความทนทานของช่วงล่าง ห้องทดสอบการชน หรือ crash test center ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของความปลอดภัยภายในห้องโดยสาร
ผู้เชี่ยวชาญและวิศวกรของฮุนไดมุ่งเน้นการพัฒนารถยนต์หลักๆ 3 ส่วน ดังต่อไปนี้ คือ เทคโนโลยีเครื่องยนต์ในรูปแบบต่างๆภายใต้คอนเซ็ปต์ Eco-Technology อาทิ เช่น 1. รถยนต์ที่ให้มลพิษเป็นศูนย์เพื่อโลกสีเขียว 2. รถยนต์ไฮบริด ใช้ก๊าซ LPG ผสมมอเตอร์ไฟฟ้า 3. รถยนต์ไฟฟ้า และ 4. รถยนต์ไฟฟ้าแบบ Fuel Cell ซึ่งฮุนไดได้นำเสนอรถยนต์ภายใต้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมนี้ไปบ้างแล้ว จาก Hyundai i10 EV และ Hyundai Avante Hybrid LPi นอกจากนี้รถยนต์ฮุนไดรุ่นใหม่ๆ ที่เป็นผลงานจากศูนย์ R&D แห่งนี้ยังรวมไปถึงเครื่องยนต์เบนซินฉีดเชื้อเพลิงตรงแบบ GDI (Gasoline Direct Injection) และเครื่องยนต์เทอร์โบดีเซลแบบแปรผัน VGT แรงม้าสูงสำหรับรถยนต์แบบ passenger cars ในหลายรูปแบบ ซึ่งนอกจากความประหยัด และความเป็นมิตรต่อสภาพแวดล้อมแล้ว เครื่องยนต์รุ่นใหม่ๆจากฮุนไดยังให้ประสิทธิภาพ และสมรรถนะในระดับสูงสุดของรถยนต์ในคลาสเดียวกัน จนนับว่าเป็น “จุดขาย” ใหม่ของรถยนต์ฮุนไดทั่วโลก
ในส่วนที่ 2 การพัฒนาของรถยนต์ฮุนไดมุ่งเน้นไปที่การสร้างความปลอดภัยให้กับห้องโดยสาร และโครงสร้างของรถยนต์ ด้วยการทดสอบการชน หรือ crash test ซ้ำแล้วซ้ำเล่าในศูนย์พัฒนาวิจัยจนมั่นใจว่ารถยนต์ฮุนไดสามารถผ่านการรับรองในระดับสูงสุดของแต่ละสถาบันได้ การผลิตเหล็กคุณภาพสูงที่ใช้กับตัวถังรถยนต์ก็เป็นอีกหนึ่งของการลงทุนระยะยาวของฮุนได มอเตอร์กรุ๊ป ซึ่งเป็นที่มาของบริษัท Hyundai Steel ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ โดยได้รับการก่อตั้งขึ้นเพื่อพัฒนาและผลิตเหล็กเพื่อตอบสนองการผลิตรถยนต์ ทำให้ฮุนไดเป็นค่ายรถยนต์ชั้นนำของโลกแห่งเดียวที่มีโรงผลิตเหล็กเป็นของตนเองซึ่งในปัจจุบันมีโรงถลุงเหล็กขนาดใหญ่เป็นหนึ่งใน 20 ของโลก (ตั้งบริษัทลูกผลิตเหล็กเป็นวัตถุดิบป้อนการผลิตรถยนต์) บริษัท Hyundai Steel ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1953 เพื่อเป็นแรงขับสำคัญในการสร้างประเทศหลังสิ้นสุดสงครามเกาหลี บทบาทของบริษัทเพิ่มมากขึ้นในยุคปี ค.ศ. 2000 เมื่อมีการขยายและควบรวมกิจการกับบริษัทเหล็กชั้นนำรายอื่นๆ จนมีการสร้างโรงงานเหล็กขนาดใหญ่ที่ Dangjin เสร็จสิ้นในปี ค.ศ. 2006 โดยในปี 2010 Hyundai Steel มีโรงถลุงเหล็ก รองรับความต้องการของบริษัทในกลุ่มและลูกค้าภายนอกได้มากกว่าเดิม และเมื่อสิ้นสุดปี 2011 โรงถลุงเหล็กแห่งที่ 2 ก็จะก่อสร้างเสร็จสิ้นเพิ่มศักยภาพการผลิตเหล็กได้สูงถึง 20 ล้านตันต่อปี
โรงงานของ Hyundai Steel ยังมีเทคโนโลยีที่สามารถหลอมเศษเหล็กให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่โดยมีความเป็นเหล็กกล้าสูงเพียงพอในการผลิตประกอบรถยนต์ สำหรับการผลิตเหล็กจากสินแร่ ทางโรงงานมีท่าเรือที่สร้างขึ้นพิเศษพร้อมอุปกรณ์การถ่ายสินแร่โดยไม่ฟุ้งไปสู่อากาศภายนอกให้เป็นอันตราย และสามารถลำเลียงวัตถุดิบผ่านรางเลื่อน และท่อที่ปิดมิดชิด และนำไปเก็บไว้ที่โรงเก็บรูปโดมขนาดเท่าสนามเบสบอลที่สามารถกันฝุ่นสินแร่ และใยหินไม่ให้ฟุ้งได้ ซึ่งเป็นนโนบายของบริษัทฮุนไดที่ต้องการทำให้ทุกขั้นตอนการผลิตรถยนต์ แม้เริ่มต้นตั้งแต่การผลิตวัตถุดิบ มีความเป็นมิตรกับมนุษย์และธรรมชาติอย่างแท้จริง ไอเสียที่เกิดขึ้นจากเตาเผาก็ยังถูกนำมาใช้ผลิตไฟฟ้าใช้ในโรงงานได้สูงสุดถึงร้อยละ 80 ของความต้องการทั้งหมด
การผลิตเหล็กทั้งหมดของโรงงาน Hyundai ในปี 2010 มีอัตราส่วน 30:70 ระหว่างการผลิตให้กับธุรกิจผลิตรถยนต์ และการผลิตเพื่อธุรกิจก่อสร้าง หรือทั่วไป แต่บริษัทคาดว่าอัตราส่วนจะปรับเป็น 60:40 เมื่อโรงถลุงเหล็กแห่งใหม่ก่อสร้างเสร็จ
ส่วนที่ 3 การพัฒนาแอโร่ไดนามิกส์ของรถยนต์ เพื่อสมรรถนะการเกาะถนน ความประหยัด และความสบายในห้องโดยสาร ด้วยการใช้อุโมงคฺ์ลม หรือ Wind Tunnel ขนาดใหญ่ ที่มีใบพัด ขนาด 6X8 เมตร ที่ช่วยให้วิศวกรฮุนไดสามารถทดสอบรถยนต์ได้ในหลายลักษณะ เพื่อสอดคล้องกับการออกแบบที่ลื่นไหลภายใต้คอนเซ็ปใหม่ของ Fluidic Sculpture Design ที่นับว่าเป็นต้นแบบของรถยนต์รุ่นใหม่ๆของฮุนไดไม่ว่าจะเป็น Tucson, Sonata Sport, Avante และ Accent ใหม่ นอกจากนี้การพัฒนารถยนต์ในอุโมงค์ลมยังครอบคลุมในส่วนของการลดเสียงรบกวนภายในห้องโดยสารอีกด้วย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งของคุณภาพที่สามารถหาได้ในรถยนต์ระดับชั้นนำของโลก
หลังจากเราใช้เวลาในการนั่งฟังบรรยายและเยี่ยมชมศูนย์วิจัยในส่วนของอุโมงค์ลมเราก็เดินทางไปชมพิพิธภัณฑ์ที่อยู่ในศูนย์วิจัยนั้นทำให้ทราบถึงประวัติความเป็นมาของทางฮุนไดยิ่งขึ้นอีกทั้งยังมีการแสดงรถยนต์รุ่นต่างๆในอดีตอีกด้วยแถมด้วยการแสดงเครื่องยนต์และระบบส่งกำลังที่มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องเสียดายว่าไม่สามารถถ่ายรูปมาให้ชมกันได้
เราใช้เวลาอยู่ที่ศูนย์ R&D อยู่จนถึงสี่โมงเย็นเราก็ต้องเดินทางออกมาไปยังร้านอาหารที่ทางผู้บริหารระดับสูงของฮุนไดมอเตอร์ประเทศเกาหลีเป็นเจ้าภาพเลี้ยงรับรอง
ผู้บริหารของทางฮุนไดนั้นให้เกียรติคณะของเราเป็นอย่างมากอีกทั้งยังให้ความเป็นกันเองกับคณะของเราแบบไม่ถือตัวเลย เสียดายว่าเราต้องรีบเดินทางกลับเพราะสภาพอากาศที่ไม่เป็นใจ แถมได้ข่าวว่าในกรุงโซลนั้นน้ำท่วมอีกด้วย ซึ่งก็ใช้เวลาพอสมควรกว่าคณะของเราจะเดินทางถึงโรงแรม
เป็นอันว่าตอนนี้ก็จบไปอีกหนึ่งตอนนะครับตอนหน้านั้นจะเป็นตอนสุดท้ายแล้วจะเก็บตกในเรื่องของสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆที่ได้ไปมาแถมด้วยการท่องราตรีในกรุงโซลอีกด้วย พบกันตอนหน้าครับ
######################################
premsak@caronline.net