ขอปรึกษาเรื่องการใช้เกียร์ออโต้ mazda 3

Brand: MAZDA Model: Mazda3
Year: 2008 Miles: 0-5000
From: อานนท์ สุวรรณศรี

ผมขอปรึกษาจากท่านผู้รู้หน่อยครับ…ตอนนี้ผมอยากจะขับรถเกียร์ออโต้ให้เป็นและผมไม่มีความรู้เรื่องนี้เลย…และตัวผมเองคิดที่จะตัดสินใจซื้อรถ mazda 3 ครับ (เร็วๆ นี้)…แต่ผมยังไม่มีความรู้เรื่องเกียร์ออโต้ในรถรุ่นนี้ครับรวมทั้งสัญญาลักษณ์บนคันเกียร์ในรถรุ่นนี้ด้วยครับ…และขอทราบเรื่องของการเปลี่ยนเกียร์ออโต้ในขณะขับขี่ด้วยครับ…อาทิ การเปลี่ยนเกียร์ในขณะที่รถวิ่งอยู่ได้หรือไม่และจะต้องรอจังหวะอย่างไร เช่น ต้องรอให้รถหยุดสนิท,ต้องผ่อนคันเร่ง หรืออย่างไรครับ?
…ขอบคุณครับ…
จาก มือใหม่ (อยากขับ)


มีรูปประกอบมาด้วยอย่างนี้ ดีที่สุดเลยครับ ผมเองยังไม่ได้ทดลองรถคันนี้ และไม่ได้ไปงานเปิดตัวด้วย ก็เลยไม่ทราบว่า คอนโซลเกียร์ และตำแหน่งเกียร์เป็นอย่างไร คุณอุตส่าห์ช่วยนำมาให้ดู ถือเป็นเรื่องดี และอธิบายได้เลยครับ

ตำแหน่งที่คันเกียร์วางอยู่ คือตำแหน่งว่าง หรือ Nature เป็นตำแหน่งที่ช่างยนต์มักจะใช้ เมื่อต้องการติดเครื่องรถยนต์อยู่กับที่ และอาจจะมีการเข็นย้ายรถไปไหนต่อไหนบ้าง หากเป็นตำแหน่งที่คุณไม่จำเป็นต้องใช้ แม้จะจอดรถอยู่กับที่ติดเครื่องยนต์ไว้
เพราะหากคุณต้องการจอดรถไว้กับที่ ติดเครื่องยนต์ไว้ ก็ควรจะผลักคันเกียร์ขึ้นไปบนสุด อันได้แก่ตำแหน่ง Park หรือ P หมายถึงจอด
สองตำแหน่งข้างบนนี้ จะเป็นตำแหน่งที่ติดเครื่องยนต์ได้ รถยนต์บางรุ่นจะบังคับทางอ้อมให้คุณต้องเหยียบเบรกไว้ก่อน จึงจะบิดกุญแจไปที่สตาร์ทได้ ซึ่งคุณจะศึกษาได้จากคู่มือการใช้งานรถยนต์

ตำแหน่งต่อไปจาก P ก็คือ R หรือ Reverse ถอยหลัง เป็นตำแหน่งแรก อาจจะต้องกดปุ่มที่คันเกียร์ หัวเกียร์ เพื่อให้เกียร์ยอมเลื่อนลงตามการผลักหรือดึงของคุณ ก็ต้องศึกษาจากคู่มือการใช้รถยนต์อีกเช่นกัน ก่อนที่คุณจะเข้าเกียร์ตำแหน่งใดก็ตาม จาก P ควรจะเหยียบเบรกไว้ให้แน่น รถไม่เคลื่อนที่ เพื่อความปลอดภัยของคุณเอง
คือหากคุณต้องการเดินหน้า แต่คุณเลื่อนเกียร์มาที่ถอยหลัง แล้วทิ้งไว้อย่างนั้น รถก็จะไม่เคลื่อนตัว จนเมื่อคุณเริ่มลดแรงเท้าจากเบรก เพื่อจะมาเหยียบคันเร่ง รถจะเริ่มขยับตัว เมื่อรถถอยหลัง คุณจะรู้สึกตัวว่า ไปผิดทางแล้ว คุณก็จะกดเบรกลงไปอีกได้ทันที เป็นการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุครับ
และเช่นเดียวกันกับการผลักเกียร์เลยไปจนถึง D ที่คุณไม่ต้องกดปุ่มอะไรอีก เมื่อผ่านมาถึง N ถ้าคุณต้องการถอยหลัง และกำลังมองหลังอยู่ แต่พอลดเท้าจากเบรก รถก็จะเริ่มเคลื่อนไปข้างหน้าช้าช้า คุณก็จะรู้ตัวเช่นกันว่า ผิดทางแล้ว และกดเท้าลงไปบนแป้นเบรกได้ทันการ ก่อนจะเกิดอุบัติเหตุอีกครับ

จำไว้ว่า ตำแหน่ง N ไม่ต้องใช้ นอกจากจะจอดรถขวางทางผู้อื่นและเจตนาให้ผู้อื่นเข็นรถหลบไปได้ ก็ดับเครื่องยนต์ แล้วผลักคันเกียร์ไปไว้ที่ N แต่จะต้องเป็นทางระดับราบเสมอกัน ไม่ลาดลงหรือชันขึ้น อันจะทำให้รถไหลได้เมื่อคุณออกจากรถหรือดับเครื่องยนต์ ปลดเบรกแล้ว
ปล่อยให้เป็นการใช้งานของช่างยนต์ ไปก็แล้วกัน

ตำแหน่ง D หรือ Drive หมายถึงการขับเคลื่อนตามปกติ ที่เกียร์จะใช้งานโดยอัตโนมัติ จากเกียร์ 1 ถึงเกียร์สูงสุดสุดท้ายของระบบ โดยทำงานอัตโนมัติตั้งแต่คุณลดเท้าจากเบรก และไปกดคันเร่งเดินหน้าไปเรื่อยเรื่อย
เมื่อต้องหยุดรถรอสัญญาณไฟ ตามหลักการของการขับรถที่ถูกต้อง คุณจะกดเบรกจนรถหยุด แล้วเริ่มลดแรงกดลงจนรถเกือบจะเคลื่อนที่ไปต่อ แล้วราเท้าปล่อยวางบนแป้นเบรกค้างไว้ ระบบไฮดรอลิกของเบรก จะทำงานสมดุลกันและกดผ้าเบรกไว้กับจานเบรก ห้ามไม่ให้ล้อหมุน ล้อไม่หมุนจานเบรกก็ไม่หมุน ผ้าเบรกก็เพียงแค่กดลงบนหน้าจาน ไม่มีการเสียดสี ไม่ร้อน ไม่สึกหรออะไรอีกเลย
คุณเองก็จะไม่เมื่อยเท้า ไม่ต้องเกร็งแรงกดอยู่ตลอดเวลา เพียงวางเท้าคาแป้นเบรกไว้ในตำแหน่งเท่านั้นเอง

เมื่อล้อไม่หมุน เพลาก็ไม่หมุน เพลาไม่หมุน ทุกอย่างในห้องเกียร์ก็จะถูกยึดไว้ไม่ให้หมุนตามไปด้วย
คงมีเพียงตัว Torque Converter ที่ส่วนหน้าหมุนด้วยกำลังเครื่องยนต์ แต่น้ำมันที่หมุนวนในนั้นจะไม่สามารถทำให้ส่วนหลังของ Torque Converter หมุนตามไปได้ แต่ตัว Front Pump ยังทำงานปั่นน้ำมันเกียร์ส่งไปแลกเปลี่ยนความร้อนกับหม้อน้ำระบายความร้อนอยู่ จึงไม่เป็นเหตให้น้ำมันเกียร์ร้อนจัดได้เลย

อีกทั้งการทิ้งคันเกียร์ไว้ในตำแหน่ง D เกียร์ยังอยู่ที่เกียร์ต่ำ เมื่อจะออกรถ ก็เพียงแต่ละเท้าจากเบรก ไปกดคันเร่ง รถก็จะเคลื่อนที่ออกไปได้ทันที ไม่ต้องรอให้เกียร์จับกันอีกทีเสียก่อน เป็นการไม่ปล่อยให้รถอยู่ในสภาพไม่พร้อมใช้งาน ที่ทางสหรัฐอเมริกา ต้นตำรับเกียร์อัตโนมัติเขากำหนดให้ผู้สอบใบขับขี่ต้องทำ เรื่องหลังนี่ บอกไว้เพียงเพื่อเป็นความรู้เท่านั้น

คุณจะเห็นว่า มีอีกตำแหน่งหนึ่ง ที่คุณจะต้องตบคันเกียร์ไปทางขวา และมีเครื่องหมายบวก กับลบอยู่ นั่นเป็นการออกแบบที่ดี เพื่อป้องกันอุบัติเหตุได้จริง อุบัติเหตุที่ว่านี้ ก็คือการหลงเกียร์ อันเกิดขึ้นบ่อยถึงบ่อยที่สุด สำหรับผู้ขับขี่ที่ชอบเปลี่ยนจังหวะเกียร์อัตโนมัติเล่นเป็นนิสัย
เพราะการเปลี่ยนจังหวะเกียร์อัตโนมัติ ทำได้โดยไม่ต้องจอดรถ ยกเว้นจากเดินหน้าไปถอยหลัง หรือจากถอยหลังไปเดินหน้าเท่านั้น
หากคุณเปลี่ยนเล่นบ่อยบ่อยกับเกียร์อัตโนมัติรุ่นเก่า ที่จะมีตำแหน่ง 1-2-3 และ D4 คุณจะหลงเกียร์ได้ง่ายมาก ในเวลาต่อไป เช่นคุณขับเข้ามาจอดที่หน้าบ้านด้วยเกียร์ 3 แล้วผลักคันเกียร์ขึ้นไปตำแหน่งหนึ่ง คิดว่า คงเป็นตำแหน่ง N เพราะเคยใช้มาแบบนั้น จากนั้นก็ลงจากรถ อ้อมไปด้านหน้าเพื่อเปิดประตูบ้าน
รถที่ยังค้างอยู่ในตำแหน่ง D ก็จะเคลื่อนตัวด้วยกำลังมหาศาล เพราะแรงบิดสูงเมื่อคูณกับอัตราทดเกียร์ 1 เข้ามาอัดร่างของคุณเข้ากับประตูได้ง่ายดาย อันนี้ เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตมาแล้วหลายราย เขาจึงแนะนำเสมอ ว่าลงจากรถต้องดึงเบรกมือเอาไว้ หลังจากแน่ใจว่าเกียร์อยู่ในตำแหน่ง P หรือ N แล้ว

แต่เมื่อเขาใช้ระบบนี้แทนการวางตำแหน่งเกียร์ลงมาเป็นแถว ก็เท่ากับเปิดโอกาสให้คนขับรถที่ชอบเล่นกับคันเกียร์ ได้มีอะไรทำแบบมือจะได้ไม่ต้องว่าง เที่ยวเอาไปวางไว้บนตักน้องหนูข้างข้าง
คุณตบคันเกียร์ไปทางขวา จะมีตัวเลขขึ้นที่หน้าปัด แสดงตำแหน่งของเกียร์ตอนนั้นให้เห็น หากคุณต้องการเพิ่มจังหวะให้สูงขึ้น ก็ตบไปทางบวก ต้องการลดเกียร์ลง ก็ตบไปทางลบ ครั้งละหนึ่งจังหวะ เท่านั้นเองครับ
แต่เมื่อคุณใช้เกียร์อัตโนมัติอยู่แล้ว ผมก็คิดว่า คุณควรปล่อยให้เกียร์ทำงานไปตามความเป็นอัตโนมัติของเกียร์เถิด
อย่าไปซนไปยุ่งอะไรกับมันเลย และใช้ไปตามตำแหน่งเดินหน้า หรือถอยหลัง รวมถึงการเร่งแซง ที่เกียร์จะเปลี่ยนจังหวะลงให้เอง
ยิ่งขึ้นทางชัน หากคุณจอดรถอยู่แล้วจะขึ้นทางชัน เกียร์ D ก็เป็นจังหวะที่ 1 อยู่แล้ว ดังนั้นก็เร่งเครื่องออกตัวไปเลย เร็วกว่า แน่นอนกว่าครับ

เกียร์ที่วางอยู่ในตำแหน่งนี้ ไม่ได้ปล่อยให้คุณเปลี่ยนเกียร์เล่น นอกจากจะตบคันเกียร์ไปทางขวา อย่างที่บอกไว้เสียก่อน แล้วเริ่มเปลี่ยนจังหวะไปตามปกติเหมือนเกียร์ธรรมดา เพียงแต่ไม่ต้องเหยียบคลัทช์เท่านั้นเอง
และไม่จำเป็นจะต้องปลดเกียร์ไปเป็นเกียร์ว่าง เมื่อคุณจะจอดรถ หรือกำลังลดความเร็วลงเพื่อจอดรถครับ

การขับลงจากทางลาดชัน แม้จะมีป้ายเตือนให้ใช้เกียร์ต่ำ แต่รถยนต์เกียร์อัตโนมัติสมัยใหม่นี้ก็แทบไม่ต้องกังวล คงใช้เบรกชะลอความเร็วลงอย่างเดียว แบบกดเบรกลึกลึกหนักหนัก จนรถลดความเร็วลงพอควบคุมได้ง่าย แล้วปล่อยเบรก ให้รถไหลลงมาเรื่อยเรื่อย พอเร็วขึ้นมากเกินไป ก็กดเบรกหนักหนักอีกที เท่านั้นก็พอแล้วครับ
อย่าลืมว่า เวลาคุณอยู่นอกบ้านนอกเมือง คุณต้องการการเดินทางได้
และคุณขึ้นเขาลงห้วยที่ไหน ก็ต้องนอกเมืองใช่ไหมครับ
การเล่นกับเกียร์บนทางหลวงระหว่างจังหวัด หมายถึงคุณกำลังเดินทางอยู่ต่างบ้านต่างเมือง
หากเกียร์เสียขึ้นมา คุณไปไหนไม่ได้ และค่าซ่อมแพงมาก
ในขณะที่หากเบรกเสีย คุณยังวิ่งได้ ใช้เบรกมือแทนก็ได้ ค่าซ่อมก็ถูกกว่าซ่อมเกียร์เป็นสิบเท่า

จำเอาไว้แค่ว่า เข้า D ก็ไปได้แล้ว ต้องการลดความเร็ว ก็ใช้ห้ามล้อ
ใช้อุปกรณ์เกียร์ เมื่อต้องการให้รถเคลื่อนที่
และใช้ห้ามล้อ เมื่อต้องการลดความเร็วและหยุดรถ
ใช้อุปกรณ์ทั้งสองอย่างนี้ ให้ถูกต้องตามเจตนาของผู้ออกแบบ แล้วคุณจะใช้รถได้สบายใจครับ-ธเนศร์

Facebook Comments