ขอความกรุณาอาจารย์ช่วยตอบครับ

Brand: TOYOTA Model: Corolla
Year: 1995 Miles: 100001 – More
From: thamrongsak suwannarat

Toyota : Corolla

สเป็คเครื่อง โตโยต้า โคโรลล่า 1995
4E-FE 1300 หัวฉีด 16 วาล์ว
จากข้อความที่แล้วที่น้องสาวผมเคยโพสต์แล้วอาจารย์ตอบได้ดีมากถูกต้องเลยครับมากเลย ผมได้นำรถไปตั้งวาล์วกับช่างแถวบ้าน ปรากฏว่าวาล์วไอเสียของสูบตัวที่สองยันครับ(ช่างบอกครับ)
แต่ผมก็ดูอยู่ด้วยครับ คือวาล์วไอเสียไม่สามารถเอาฟิลเลอร์เกจเสียบวัดได้ครับ พอดีช่างเขามีแผ่นชิมเก่าอยู่เขาเลยใส่ให้ครับและเอาฟิลเลอร์เกจเสียบวัดได้ครับ แต่ช่างบอกว่ามันไม่ได้สเปค

แต่พอแก้ขัดได้แต่ไม่ดีครับ หลังจากนั้นเอารถไปทดลองขับทดลองขับรู้สึกได้เลยว่ารถว่งดีขึ้นมาก รอบไม่สวิงเหมือนก่อน แต่มีปัญหาว่าเวลาสตาร์ทเครื่องไม่ว่าร้อนหรือเย็นจะติดยากครับ คือ

จะใช้เวลานานขึ้นครับ ประมาณ10วินาทีขึ้นไปครับบางทีก็เกินจนรู้สึกได้เลยครับ มีอาการเหมือนแบตเตอรี่อ่อน แต่พึ่งเปลี่ยนแบตได้ไม่ถึง2เดือนครับ ก่อนหน้าที่จะให้ช่างทำนั้นสตาร์ทติดง่าย

มากครับ ชึ่งเดียวติดครับ ช่างบอกว่าเป็นที่แผ่นชิมที่เปลี่ยนใส่ไม่ได้สเปค ผมก็เลยไปซื้อแผ่นชิมาใหม่ครับ ก็เลยอยากจะตั้งวาล์วเองครับ เพราะผมเคยชอบดูช่างทำ เวลาตั้งวาล์ว(ใส่แผ่นชิม)

คิดว่าน่าจะทำได้ แต่ผมสงสัยวิธีดูมาร์คของลูกสูบแต่ละตัวว่า จุด ดูด อัด ระเบิดคาย ดูยังงัยครับ และวิธีการตั้งวาล์วครับ ผมเคยถามช่างเหมือนกันครับแต่ช่างบอกแต่ละคน ไม่ค่อยจะตรงกันเลย

พูดเหมือนไม่เต็มใจจะบอกเราครับ กลัวเเหมือนว่าเราจะรู้อะไรประมาณนี้ครับ ผมก็เลยซื้อเเครื่องมือมาเองซะเลย คิดว่าน่าจะมีครบกับการตั้งวาล์วครับ(บางทีอาจจะมีมากกว่าบางร้านซะอีก) ผม

พอมีความรู้เกี่ยวกับเครื่องยนต์เบื้องต้นบ้างครับ จึงอยากถามอาจารย์ดังนี้ครับ

1. ขั้นตอนการตั้งวาล์วแต่ละขั้นตอนครับ
2. วิธีดูมาร์คของลูกสูบแต่ละตัวว่าอยู่ตำแหน่ง จุด ดูด อัด ระเบิดคาย ดูยังงัยครับ
3. การตั้งวาล์วเราตั้งที่ตำแหน่งจุดระเบิดใช่หรือเปล่าครับ ในความหมายของผมหมายถึงคือจังหวะที่ลูกสูบขึ้นสูงสุด วาล์วไอดีไอเสีย ปิดทั้งหมด เป็นตำแหน่งที่เราตั้งวาล์วใช่หรือเปล่าครับ
4. จากข้อ 3. สมมุติว่าผมจะถอดฝาครอบจานจ่ายออกมาดูว่า แล้วหมุนพูลเล่ของสายพานราวลิ้นดูหัวนกกระจอกตรงกับขั้วสายหัวเทียนตัวไหน หมายถึงตัวนั้นจุดระเบิดใช่หรือเปล่าครับ
5. และจากข้อ 4. ถ้าใช่ผมเอาจุดนี้เป็นตัวตั้งวาล์วได้ไหมครับ
6. ผมมีสเปคของรุ่นนี้คือ ไอดี = 0.15 – 0.25 mm , ไอเสีย = 0.31 – 0.41 mm ผมไม่แน่ใจว่าใช้ได้หรือเปล่าครับ พอดีผมค้นเจอในอินเตอร์เนตของญีปุ่นครับ หรือถ้าอาจารย์มีสเปครุ่นนี้ช่วย

บอกด้วยครับ
7. แผ่นชิมที่ผมซื้อมาถ้าหนาหรือบางผมสามารถเจียปรับแต่งได้หรือเปล่าครับ
8. ถ้าเราหมุนตรงมาร์ค วาล์วลูกสูบไอดีไอเสียจะปิดหมด แล้วเราตั้งตัวที่วาล์วสูบที่ปิดใช่ไหมครับ ถ้าไม่ใช่ขอความกรุณาอาจารย์ช่วยบอกด้วยครับ
9. การตั้งวาล์วลูกสูบแต่ละตัวต้องตั้งมาร์คใหม่ทุกครั้งหรือเปล่าครับ ผมหมายถึงถ้าตั้งตัวที่1 เสร็จแล้วจะต้องตั้งตัวที่2 เราต้องหมุนเครื่องหมาย TDC มาร์คบนพูลเลย์ใหม่อีกหรือเปล่าครับ
10.ถ้าอาจารย์มีอะไรจะแนะนำในการตั้งวาล์ว รบกวนอาจารย์กรุณาช่วยบอกด้วยครับ
สุดท้ายผมขอขอบพระคุณอาจารย์มากครับ และขอให้อาจารย์มีแต่ความสุขความเจริญในหน้าที่การงานทุกประการครับ และให้อยู่เป็นที่พึ่งของคนที่ความรู้น้อยต่อไปนานๆนะครับ
Thamrongsak S.

จากข้อความที่แล้ว
อาจารย์ช่วยตอบด้วยค่ะ รถทำงานไม่เต็มสูบค่ะ 9/24/2006 3:29:44 AM
ยี่ห้อ : Toyota Corolla
ปี : 1995
ระยะการวิ่ง : 100001 – More

โตโยต้า : สามห่วง

เรียนอาจารย์ธเนศร์ค่ะ
มิลล์ใช้รถ 4E-FE ปี95หัวฉีด มีอาการดังนี้ค่ะ คือว่ารถมีอาการอืดเหมือนไม่มีแรง และรู้สึกว่ากินน้ำมันมาก ก็เลยให้พี่ชายที่เป็นญาติช่วยดูให้เพราะว่าเขามีรถรุ่นเดียวกัน เขาบอกว่ารถทำงานไม่

เต็มสูบค่ะคือลูกสูบตัวที่สองไม่ทำงาน(คือไม่มีปฏิกิริยาตอบสนองเลย) คือว่าเมื่อติดเครื่องแล้วหรือทดลองขับตอนถอดสายหัวเทียนหรือใส่สายหัวเทียนตัวที่สองออก เสียงเครื่องยนต์หรือรถยนต์

ไม่มีผลปฏิกิริยาใดๆเลย ต่างกับสายหัวเทียนตัวอื่นๆ ซึ่งถ้าถอดสายจะมีอาการกระตุกจนถึงดับทันทีที่ถอดสายออก และทดลองถอดสายไฟที่เสียบที่หัวฉีดหัวที่สองก็ไม่มีผลปฏิกิริยาใดๆทั้งสิ้น

เหมือนกัน ผิดกับตัวอื่นๆ ที่ถอดสายไฟหัวฉีดออกจะมีอาการกระตุกจนถึงดับ อาการเหมือนกับอาการถอดสายหัวเทียนเลยค่ะ
การแก้ไขที่ทำมีดังนี้ค่ะ
1.เปลี่ยนหัวเทียนใหม่ทั้งหมด อาการก็ยังเหมือนเดิม
2.เปลี่ยนสายหัวเทียนเป็นของใหม่ทั้งหมด อาการก็ยังเหมือนเดิม
3.ทดลองสลับหัวฉีดตัวอื่นที่ปกติมาใส่อาการยังเหมือนเดิมก็เลยซื้อหัวฉีดตัวใหม่จากศูนย์มาใส่ อาการก็ยังเหมือนเดิม
4.ทดลองสลับจานจ่าย คอยล์กับรถพี่ชายที่เป็นรุ่นเดียวกันมาใส่อาการก็ยังเหมือนเดิม
…หมายเหตุ….หลังจากทำข้อ1-4 อาการก็ไม่หายและเป็นเหมือนเดิมทุกอย่าง (เหมือนไม่ได้ทำอะไรเลย)
5.เอาไปให้ช่างดู ช่างบอกว่าต้องเปิดฝาเครื่องดู เขาบอกว่าอาจะเป็นที่วาล์วรั่ว หรืออาจจะต้องตั้งวาล์วใหม่ค่ะ….

….หมายเหตุ…..เมื่อเดือนเมษายน ได้โอเวอร์ฮอลส์รถเป็นครั้งแรกเพราะกินน้ำมันเครื่องช่างบอกว่าแหวนหลวม โดยได้เปลี่ยนแหวนลูกสูบใหม่ทั้งหมด เปลี่ยนวาล์วไอดีไอเสียตัวที่บ่าวาล์วสึก

และเปลี่ยนแหวนและซีลต่างๆที่สึกหรอ ส่วนลูกสูบไม่ได้เปลี่ยนเพราะช่างบอกว่ายังดีอยู่ สรุปก็คือว่าตัวไหนไม่ดีก็เปลี่ยนใหม่หมดเลย…..แต่รถมีอาการดังกล่าวประมาณเดือนกันยายนนี้ค่ะ
ไม่แน่ใจว่าเกี่ยวกันหรือเปล่าค่ะ ยังงัยรบกวนอาจารย์ช่วยแนะนำตอบด้วยค่ะ ตอนนี้กลุ้มใจมากเลยค่ะ…..
ขอขอบพระคุณอาจารย์มากค่ะ
…..มิลล์ค่ะ……

thamrongsak suwannarat

——————————————————————————–

ผมอ่านละเอียดแล้วนะครับ ดีมากที่ให้ข้อมูลมาอย่างถี่ถ้วน
อยากแนะนำอย่างนี้ครับ
เช็กวาล์วก่อนอื่นเลยดีกว่า ว่า วาล์วสูบสองนั้น ยันหรือไม่ หากยัน ก็ปรับตั้งเท่านั้น อาการก็จะดีขึ้นทันที
ถ้าวาล์วเป็นแบบไฮดรอลิก ตั้งไม่ได้ ก็อาจจะต้องดูว่า ตัว Lifter ยันวาล์วให้ค้าง หรือไม่เปิดวาล์วหรือไม่ และไม่ว่าอะไร ก็จะต้องเปลี่ยน Lifter ตัวนั้นนั้นไปครับ

หัวเทียนคงไม่ใช่ต้นเหตุ เพราะหัวเทียนต้องบอดจึงจะไม่จุดระเบิด และการบอดของหัวเทียน ก็จะต้องเกิดหลังทำงานไปสักระยะหนึ่งก่อน ดังนั้น จึงไม่ใช่ และยิ่งเปลี่ยนสายหัวเทียนแล้วด้วยนี่ ก็

ยิ่งไม่น่าจะใช่ใหญ่ อาจจะเกิดจากฝาจานจ่าย ที่บริเวณบนฝา ส่วนที่มีหลักหัวเทียนสูบที่สองนั่นก็ได้ครับ ลองดูก่อนก็ไม่เลวหรอก

วาล์ว กับฝาจานจ่าย เป็นตัวที่น่าสงสัยที่สุด
แต่ทีนี้ เมื่อเคยสลับจานจ่ายแล้ว ก็ไม่ต้องดูอื่นละ มุ่งหน้าไปที่วาล์วเลยดีกว่าครับ

ไม่น่ารีบร้อนเปลี่ยนหัวเทียนกับสายนะครับ อันที่จริง รถของพี่ชายก็มี สลับกันก่อนก็ยังได้อยู่แล้ว
และอีกอย่างหนึ่ง การทำโอเวอร์ฮอลนั้น ควรจะเปลี่ยนลูกสูบด้วย ไม่ควรใช้ลูกสูบเดิม กับแหวนชุดใหม่ครับ อันนี้ ผมขอบอกไว้เป็นข้อสังเกต เพราะทำไปแล้ว ทำอะไรอีกไม่ได้ นอกจากจะ

เปลี่ยนใหม่ซ้ำกันเข้าไปอีก-ธเนศร์


เอาอย่างนี้ดีกว่านะ ผมบอกการตั้งวาล์วของเครื่องยนต์ใกล้เคียงกับของคุณให้ เพราะเรียนกันตามตรงว่า ผมไม่มีข้อมูลเครื่องยนต์ที่คุณบอกว่าเป็นเครื่องยนต์ของคุณอยู่ในมือตอนนี้ อาจจะมี แต่ขี้เกียจค้นน่ะครับ
เครื่องยนต์ตระกูล E ของโตโยต้า ที่ใช้การตั้งวาล์วแบบ Shim ปกติจะตั้งกันแบบนี้ครับ
1-เปิดฝาครอบวาล์วออก
2-หมุนพูลเล่ย์ข้อเหวี่ยง ให้บากของพูลเล่ย์ตรงกันกับไทมิ่งมาร์ค 0 ของหมายเลข 1 บนฝาครอบไทมิ่ง
3-อย่าเพิ่งรีบร้อนครับ ไปตรวจดูเสียก่อน ว่าตอนนี้มาร์คบนเฟืองของเพลาข้อเหวี่ยง ตรงกับมาร์คของสูบที่ 4 หรือเปล่า ถ้ายังไม่ตรง ก็หมุนพูลเล่ย์ของเพลาข้อเหวี่ยงไปอีกรอบหนึ่งเต็มเต็ม จะเห็นมาร์คตรงกันพอดี
4-ทีนี้ ก็วัดระยะห่างของวาล์วกับลูกเบี้ยวได้แล้ว โดยครั้งแรกนี่ วัดไอดีของสูบ 1 กับ 2 และวัดไอเสียของสูบ 1 และ 3
ผลที่ได้และหวังว่าน่าจะได้ แต่อาจจะไม่ได้ ก็คือ วาล์วไอดี 0.15-0.25 มม. และวาล์วไอเสีย ที่ 0.31-0.41 มม.
5-หมุนเพลาข้อเหวี่ยงไปอีกหนึ่งรอบ ให้บากตรงกับมาร์ค 0 ของสูบที่ 1 บนฝาสายพานไทมิ่ง แล้ววัดความห่างของวาล์วกับลูกเบี้ยวของไอดีสูบ 3 กับ 4 ไอเสียสูบ 2 และ 4 ผลเหมือนข้อ 4
6-การปรับตั้ง ยากหน่อยนะครับ และต้องใช้เครื่องมือพิเศษด้วย เครื่องมือนั้นมีเบอร์ แต่ผมจำเบอร์ของโตโยต้าไม่ได้ เขาเรียกเครื่องมือนี้ว่า Valve Lifter Press กับ Valve Lifter Stopper ถ้าคุณไม่มีสองตัวนี่ ก็อาจจะใช้คีมปากกว้างกว้าง คีมคอม้านะครับ และไขควงขนาดพอเหมาะแทน แต่ผมไม่แนะนำนะ อยากใช้ก็ตามใจ
6.1-ถอด Adjusting Shim ออก แล้วหมุนข้อเหวี่ยงให้ตัวแคมหรือลูกเบี้ยวของเพลาราวลิ้น บนวาล์วที่คุณจะปรับนั้น เงยขึ้นจากการกดวาล์ว
6.2-หมุนตัวลิฟเตอร์ของวาล์วให้ช่องบากตั้งฉากกับเพลาราวลิ้น และหันหน้ามาทางด้านหัวเทียนของเครื่องยนต์
6.3-ใช้เครื่องมือ Valve Lifter Press จับเพลาราวลิ้นให้อยู่กับที่
6.4-ใช้เครื่องมือตัวใน 6.3 นั้นแหละ กดวาล์วลิฟเตอร์ลง แล้วเอาเครื่องมือ Valve Lifter Stopper หรืออะไรขัดไว้ระหว่างเพลาราวลิ้นกับวาล์วลิฟเตอร์
6.5-ใช้ไขควง และแม่เหล็ก ดูดเอา Shim ออกมา
7-ตอนนี้ ก็ต้องหาขนาดของ Shim แล้วละครับ ว่าจะใช้ขนาดไหนจึงจะถูกต้อง ตรงนี้ หมายความว่า คุณจะต้องมี Chart ที่อยู่ในกล่อง Shim ทั้งกล่อง ที่มี Shim อยู่ราว 34 เบอร์ หากเป็นของเครื่องยนต์ตระกูล E นี้ เพื่อดูว่า จะใช้ Shim ตัวไหน
หรือถ้าไม่มี Chart ก็ใช้สูตรนี้ ไอดี N=T+A-0.20 มม. ส่วนไอเสีย ใช้ N=T+A-0.36 มม.
โดยให้ T=ความหนาของ Shim ที่คุณถอดออก
A=ความห่างของวาล์วกับลูกเบี้ยว
N=ความหนาของ Shim ตัวใหม่
หาได้แล้ว ก็หยิบ Shim ใหม่ขนาดนั้นใส่เข้าไป
8-เสร็จทุกสูบแล้ว ก็วัดใหม่อีกที ตามแบบที่ผมบอกไว้ในข้อ 4 และ 5 ได้ผลอย่างที่ต้องการแล้ว ก็ปิดฝาครอบวาล์ว เป็นอันเสร็จ
ทางทีดี ก็ถอดขั้วแบตเตอรี่ออกก่อนด้วยเป็นเหมาะที่สุด โดยเฉพาะรถที่มีถุงลมนิรภัย
ทีนี้ ก็เป็นอันว่า ผมตอบคำถามคุณหมดแล้วเกือบทุกข้อละกระมัง
อ้อ เหลือข้อ 7 ของคุณ ที่ว่าหากซื้อ Shim หนามา จะเจียรออกได้ไหม คำตอบก็คือ อย่าคิดเจียรเลยครับ ไม่ไหวหรอก แล้วก็ไม่ดีด้วย คุณจะทำอย่างไรให้เรียบ
และในเมื่อคุณต้องการจะตั้งวาล์วเอง คุณก็ต้องลงทุกซื้อ Shim มาทั้งกล่องนั่นแหละ ถึงจะไหว
สมัยก่อน ตอนผมยังเป็นผู้จัดการฝ่ายบริการของผู้แทนจำหน่ายโตโยต้า เรามี Shim หลายกล่อง ถอดออกก็เก็บไว้ แล้วก่อนนำมาใช้ใหม่ หากตัวอักษรความหนาลบไปแล้วจากหน้า Shim ก็จะต้องวัดด้วยไมโครมิเตอร์ คาลิเปอร์ ที่ปกติ เราจะไม่ได้ให้ช่างมีไว้ประจำกล่องเครื่องมือ แต่จะเก็บเอาไว้ในส่วนของเครื่องมือพิเศษ ช่างจะใช้ต้องไปเบิกมาครั้งละไม่เกินหนึ่งวัน
คุณก็คงต้องลงทุนซื้อมาด้วย ชุดเล็กก็คงหลักหลายพันเหมือนกันครับ ผมไม่ทราบราคาปัจจุบัน เพราะไม่ได้ใช้แล้ว
เครื่องมืออีกสองตัว ก็แพงเอาเรื่องเหมือนกัน หาซื้อได้จากศูนย์บริการโตโยต้า หรือผู้ขายเครื่องมือชั้นนำทั่วไปในบ้านเรานี่แหละครับ
ไมโครมิเตอร์นั่น ต้องใช้แน่นอน เพราะหาไม่ คุณจะไม่ทราบว่า Shim ที่ถอดออกมา หนาเท่าไร ด้วยว่า ตัวเลขที่เขาประทับไว้หน้า Shim อาจจะลบเลือนไปหมดแล้วก็ได้
คงตอบแค่นี้แหละครับ ที่จริงผมไม่อยากตอบยาวนัก เหนื่อยครับ เวลาตอบอะไรยาวยาว กรุณาอย่าถามให้ต้องตอบกันยาวนักเลย
เรื่องความรู้แบบนี้ ควรจะเรียนรู้จากตำราเรียน และใน Work Shop แล้วนะครับ ฮ่า ฮ่า-ธเนศร์

Facebook Comments
CarOnline Team

Recent Posts