กรุงเทพฯ วันที่ 26 ตุลาคม 2555 – กองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทย โดยกลุ่มบริษัทฮอนด้าในประเทศไทย ประกาศความร่วมมือกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ และสภากาชาดไทย ในการดำเนินกิจกรรมบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนชาวไทยในยามเกิดภัยพิบัติ พร้อมเผยนวัตกรรมยานยนต์ฮอนด้าที่ดัดแปลงเพื่อใช้ในภารกิจช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยเฉพาะ ได้แก่ รถพยาบาลดัดแปลงจากรถสเตปแวกอน สปาด้า รถจักรยานยนต์พยาบาล (Motor-Lances) รถอำนวยการสื่อสารติดตั้งอุปกรณ์สื่อสารจากรถซีอาร์-วี ใหม่ และเรือไฟเบอร์กลาสพร้อมติดตั้งเครื่องยนต์ฮอนด้า เพื่อสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมช่วยเหลือยามฉุกเฉินของหน่วยร่วมดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
นายฮิโรชิ โคบายาชิ ประธานกรรมการบริหารและซีอีโอ บริษัท เอเชี่ยนฮอนด้า มอเตอร์ จำกัด และประธานบริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ฮอนด้ามีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนในการเป็นบริษัทที่สังคมไทยต้องการให้ดำรงอยู่ โดยการเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืนจึงต้องมีแผนรับมือกับวิกฤติที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งเป็นที่มาของการจัดตั้งกองทุนฯ
“ภัยพิบัติเมื่อปีที่แล้ว ทำให้เราตระหนักได้ว่า ในยุคปัจจุบันที่ภัยธรรมชาติทวีความรุนแรงมากขึ้น เราต่างต้องปรับตัวในการเรียนรู้และเตรียมการเพื่ออยู่ร่วมกับภัยธรรมชาติ ด้วยเหตุนี้ กลุ่มบริษัทฮอนด้าในประเทศไทย จึง ได้ผนึกกำลังร่วมกันก่อตั้งกองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทย เพื่อเป็นกองทุนในการช่วยเหลือประชาชนชาวไทยในยามเกิดภัยพิบัติได้อย่างทันท่วงที” นายโคบายาชิ อธิบาย
ฮอนด้าเดินหน้าปฏิบัติแผนเตรียมความพร้อม 4 ด้าน
นายพิทักษ์ พฤทธิสาริกร กรรมการผู้จัดการกองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทย และรองประธานอาวุโสบริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมา กองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทยได้วางแนวทาง รวมถึงแผนปฏิบัติการทั้งภายในและภายนอกองค์กร ควบคู่กับการเตรียมทรัพยากรให้ความช่วยเหลือรูปแบบต่างๆ ไปพร้อมกัน ทั้งยังได้เดินหน้าเตรียมความพร้อมใน 4 ด้าน คือ 1. เงินทุน 2. วัสดุอุปกรณ์ 3. บุคลากรอาสาสมัคร 4. การส่งเสริมความรู้ในการรับมือภัยพิบัติ
1. ด้านเงินทุน (Money) ฮอนด้าได้มอบเงินสมทบเข้ากองทุนฯ อย่างต่อเนื่องจากการขายรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเครื่องยนต์อเนกประสงค์ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน – 30 กันยายน 2555 เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 183 ล้านบาท และคาดว่าเมื่อถึงเดือนธันวาคม 2555 จะมียอดเงินสมทบสะสมอยู่ที่ประมาณ
291 ล้านบาท
2. ด้านวัสดุอุปกรณ์ (Material) แบ่งเป็น 3 ระดับด้วยกัน คือ
1) ถุงยังชีพ ฮอนด้ามีแผนการบริหารจัดการผลิตถุงยังชีพเพื่อใช้แจกจ่ายบรรเทาทุกข์เบื้องต้นแก่ผู้ประสบภัย
2) อุปกรณ์ช่วยเหลือ ฮอนด้าให้การสนับสนุนการดำเนินงานของหน่วยร่วม ได้แก่ เครื่องตัดถ่าง จำนวน
20 ชุด เครื่องปั่นไฟ ปั๊มน้ำ เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง เรือ เครื่องยนต์เรือ เป็นต้น
3) นวัตกรรม โดยการนำผลิตภัณฑ์ฮอนด้าทั้งรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเครื่องยนต์เอนกประสงค์ มาใช้ในกิจกรรมการให้ความช่วยเหลือ เช่น รถพยาบาลที่ดัดแปลงจากรถสเตปแวกอน สปาด้า 10 คัน รถจักรยานยนต์พยาบาลดัดแปลงจากรถจักรยานยนต์ฮอนด้า CBR 250R จำนวน 10 คัน รถยนต์ฮอนด้า ซีอาร์-วี ใหม่ พร้อมติดตั้งอุปกรณ์สื่อสาร สัญญาณไฟไซเรนและอุปกรณ์อื่นๆ เป็นรถอำนวยการสื่อสาร จำนวน 3 คัน รวมถึงการนำเครื่องยนต์ฮอนด้าติดท้ายเรือไฟเบอร์กลาส จำนวน 50 ลำ
3. บุคลากรอาสาสมัคร (Manpower) กองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทยได้รับความร่วมมือจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ และสภากาชาดไทยในการดำเนินกิจกรรมของกองทุน ให้มีประสิทธิภาพที่สุด องค์กรเหล่านี้ล้วนเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในกิจกรรมบรรเทาทุกข์ในเบื้องต้นแก่ผู้ประสบภัย การส่งมอบความช่วยเหลือ ลดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนชาวไทย
4. ด้านการส่งเสริมความรู้ (Education) นอกจากการให้ความช่วยเหลือเมื่อเกิดวิกฤติ กองทุนฯ ยังจัดให้มีกระบวนการแลกเปลี่ยนความรู้ ตลอดจนข้อมูลข่าวสารด้านภัยพิบัติต่างๆ การเตือนภัย การเชื่อมโยงข้อมูลผ่านเว็บไซต์ และความเชี่ยวชาญของแต่ละฝ่าย ที่จะเป็นแผนความร่วมมือต่อไปในอนาคต นอกจากนี้ ยังมีแผนการเตรียมความพร้อมให้กับบุคลากรอาสาสมัครในรูปแบบต่างๆ เช่น การจัดอบรมแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับรถยนต์ การฝึกอบรมขับขี่ปลอดภัย การริเริ่มโครงการฝึกอบรมอาสาสมัครบรรเทาสาธารณภัย โครงการอบรมการปฐมพยาบาลเบื้องต้น การแลกเปลี่ยนความรู้และการคิดค้นนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อใช้ในกิจกรรมบรรเทาสาธารณภัยและการกู้ชีพ และการขยายไปสู่การจัดอบรมเพื่อพร้อมรับภัยพิบัติรูปแบบต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อเยาวชน ตลอดจนประชาชนที่สนใจในอนาคต เป็นต้น
พัฒนานวัตกรรมยานยนต์เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย
นายจิอากิ คาโต ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอ.พี.ฮอนด้า จำกัด กล่าวว่า “เราได้นำรุ่น CBR 250R มาดัดแปลงเป็นรถจักรยานยนต์พยาบาล (Motor-Lances) ขึ้นเป็นครั้งแรก เนื่องจากเป็นรุ่นที่มีสมรรถนะสูง
ปราดเปรียวคล่องตัว และสามารถเข้าถึงผู้บาดเจ็บเพื่อให้การช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็ว ช่วยลดอุปสรรคเรื่องการเข้าไม่ถึงผู้ป่วยได้ทันเวลา เนื่องจากปัญหาจราจรหรือลักษณะพื้นที่ที่คับแคบ หลังจากนี้ ฮอนด้าจะให้ความสนับสนุนในการจัดอบรมขับขี่ปลอดภัยสำหรับหน่วยกู้ชีพ ที่ศูนย์ขับขี่ปลอดภัยมาตรฐานของฮอนด้า เพื่อฝึกสอนการขับขี่รถยนต์และจักรยานยนต์อย่างปลอดภัย โดยครูฝึกทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ มีคอร์สฝึกอบรมทั้งทางตรง ทางโค้ง การเบรคอย่างปลอดภัย การทรงตัวบนทางกรวด สะพาน พื้นที่ตัวเอส ทางคดเคี้ยว เป็นต้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับเจ้าหน้าที่อาสาสมัครในการขับขี่ เพื่อไปถึงจุดเกิดเหตุเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุหรือภัยพิบัติได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย”
ฮอนด้ารวมพลพลังจิตอาสา
ด้านนายชุนอิจิ เอกุจิ ประธานบริษัท ไทยฮอนด้า แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด กล่าวเพิ่มเติมถึงแผนการรณรงค์ภายในกลุ่มบริษัทฮอนด้าในประเทศไทยให้แก่พนักงานฮอนด้ากว่า 18,000 คนว่า “ฮอนด้าได้จัดทำแผนสื่อสารเครือข่ายบุคลากรให้มีความเข้าใจภารกิจของกองทุนเคียงข้างไทยและรับรู้ถึงกิจกรรมของกองทุนฯ อย่างต่อเนื่องเพื่อให้พนักงานเกิดความรู้สึกมีส่วนร่วมในกิจกรรมของกองทุน รวมไปถึงการชักชวนให้พนักงานที่มีจิตอาสาร่วมปฏิบัติหน้าที่เมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้น เช่น การจัดตั้งทีมกู้ภัย ทีมอาสาเฉพาะกิจ ตลอดจนการซักซ้อมและเตรียม
ความพร้อมในยามที่ต้องระดมความร่วมมือทั่วทั้งเครือข่ายผู้จำหน่าย เพื่อให้เกิดการประสานความช่วยเหลือในแต่ละภูมิภาคเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากที่สุด”
ผนึกหน่วยงานหลัก สร้างเครือข่ายการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย (ปภ.) เปิดเผยว่า
“การเตรียมพร้อมรับมือกับภัยพิบัติโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับชุมชน เป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องเร่งดำเนินการและเชื่อมโยงเป็นเครือข่าย ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน จะเกื้อหนุนให้การเกิดความเข้าใจ
เกิดกระบวนการบริหารจัดการด้านการให้ความช่วยเหลืออย่างมีเอกภาพ ทั้งในช่วงการเตรียมการ ระหว่างเกิดเหตุ ภายหลังเกิดเหตุ หรือแม้แต่การดำเนินกิจกรรมเชิงป้องกัน เพื่อส่งเสริมความรู้ในการเอาตัวรอดในยามเกิด
ภัยพิบัติสู่ประชาชน ในฐานะกรมฯ มีความยินดีที่จะร่วมเป็นภาคีเครือข่ายความร่วมมือในการช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ให้กับประชาชนชาวไทยให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นต่อไปในอนาคต”
นายแพทย์ชาตรี เจริญชีวะกุล เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวถึงความร่วมมือกับกองทุนฯ ครั้งนี้ว่า “เป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่ฮอนด้าจัดตั้งกองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทย และขอขอบคุณที่ให้
การสนับสนุนสถาบันฯ พร้อมมอบรถพยาบาลและรถจักรยานยนต์พยาบาล (Motor-Lance) ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการพระราชดำริของในหลวง ความร่วมมือครั้งนี้ย่อมจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนที่ประสบภัยที่จะได้รับความช่วยเหลือที่มีประสิทธิภาพในพื้นที่ดียิ่งขึ้น”
ด้าน นายแพทย์พิชิต ศิริวรรณ รองผู้อำนวยการสำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า “ความร่วมมือระหว่างกองทุนฯ และสภากาชาดไทยในการบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประสบภัยจะเปิดโอกาสไปสู่การแลกเปลี่ยนความรู้ ความเชี่ยวชาญระหว่างเจ้าหน้าที่เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในยามปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และหนุนให้สภากาชาดไทยมีเครือข่ายพันธมิตรที่จะช่วยสนับสนุนในกิจกรรมบรรเทาทุกข์ของสภากาชาดไทยที่ดียิ่งขึ้น โดยครอบคลุมด้านการติดต่อประสานงานในพื้นที่ที่ต้องการความช่วยเหลือ การฝึกอบรมเจ้าหน้าที่อาสาสมัครด้านการปฐมพยาบาล การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารด้านภัยพิบัติ การเตือนภัย การเชื่อมโยงผ่านเว็บไซต์ เป็นต้น”
นายโคบายาชิ สรุปในตอนท้ายว่า “การผนึกความร่วมมือกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ และสภากาชาดไทย ถือเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญที่จะทำให้เรามั่นใจได้ว่า กองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทย มีพันธมิตรที่พร้อมก้าวไปข้างหน้าร่วมกัน ทั้งยังเป็นการประสานความเชี่ยวชาญของ
ทุกหน่วยงานเข้าด้วยกัน เพื่อส่งมอบความช่วยเหลือให้กับพี่น้องชาวไทยได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพสมตามเจตนารมณ์ที่ตั้งไว้”
เกี่ยวกับกองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทย
กลุ่มบริษัทฮอนด้าในประเทศไทย ได้ร่วมกันประกาศจัดตั้งกองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทย ภายใต้การดำเนินงานของมูลนิธิฮอนด้าประเทศไทยเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2555 ซึ่งเป็นวันที่เปิดเดินสายการผลิตอีกครั้งที่สวนอุตสาหกรรมโรจนะ โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเตรียมความพร้อมในการมอบความช่วยเหลือฉุกเฉินให้กับประชาชนไทยในยามที่ประเทศไทยอาจเกิดเหตุภัยพิบัติทางธรรมชาติ อาทิ แผ่นดินไหว ดินถล่ม ภัยหนาว ภัยแล้ง น้ำท่วม ตลอดจนกิจกรรมต่างๆ ที่ดำเนินงานภายใต้กองทุนดังกล่าวได้อย่างทันท่วงที โดยมอบเงินสมทบ 1,000 บาทต่อการขายรถยนต์หนึ่งคัน 100 บาทต่อการขายรถจักรยานยนต์หนึ่งคัน และ 10 บาทต่อการขายเครื่องยนต์อเนกประสงค์ 1 เครื่อง ณ สิ้นเดือนกันยายน 2555 กองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทยมีเงินสะสมซึ่งได้จากเงินสมทบจากการขายผลิตภัณฑ์รวม 183 ล้านบาท
*********************************************************************************************************************
สารฑูล สักการเวช
sarathun@caronline.net