โฟล์ค นำเสนอรถคันต้นแบบไปในงาน ดีทรอยต์ มอเตอร์ โชว์ เมื่อเดือนมกราคม และประกาศจะเริ่มการผลิต เพื่อจำหน่ายในยุโรป, อเมริกา และ จีน หลังจากได้รับความสนใจจากผู้คนอย่างล้นหลาม โดยยืนยันในงานแสดงรถยนต์สวยงามที่ เพบเบิ้ล บีช เมื่อสัปดาห์ก่อน
ซีอีโอ อร. เฮอร์เบิร์ต ไดเอส Herbert Diess กล่าวว่า “หลังจากได้นำรถคันต้นแบบออกแสดงในงานต่างๆ หลายงาน เราได้รับความสนใจจากผู้บริโภคจำนวนมาก มีทั้งจดหมาย และอีเมล์ ที่กล่าวว่า ‘โปรดผลิตออกจำหน่ายได้แล้ว’
“รถตู้ไมโครบัส เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตชาวแคลิฟอร์เนีย ไปแล้ว เราจะนำมันกลับมาพร้อมทั้งระบบขับเคลื่อนไฟฟ้า”
รถตู้ไมโครบัส พัฒนาจากรถตู้ของโฟล์ค ในอดีต ที่เคยผลิตออกจำหน่ายเมื่อปี 2492 และจะนำกลับมาขึ้นสายการผลิตใหม่ ด้วยการออกแบบสมัยใหม่ แต่ยังคงประตูด้านหลัง เลื่อนเปิดเหมือนเดิม พรั่งพร้อมด้วยเทคโนโลยีล่าสุดสำหรับการขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า รวมทั้งติดตั้งระบบยานยนต์ไร้คนขับ ระดับ 3 ที่รถจะสามารถขับเคลื่อนไปได้เอง แต่ต้องมีผู้ขับขี่นั่งในตำแหน่งไปด้วย
รถตู้ออลวีลไดร๊ฟ ใช้มอเตอร์ 2 ตัว ขนาดตัวละ 150 กิโลวัตต์ ติดตั้งด้านหน้าและหลัง ให้กำลังรวม 369 แรงม้า แรงบิดกระจายไปยังมอเตอร์ทั้งสอง ด้วย อีเล็คตริค พร็อพชาฟท์ electric propshaft สามารถทำความเร็ว 0-100 ได้ภายในไม่เกิน 5 วินาที ด้วยความเร็วสูงสุด เกือบ 160 กม./ชม. ด้วยระยะเดินทางราว 430 กม. โดยการติดตั้งแบตเตอรี่บนพื้นตัวรถ เพื่อเพิ่มเนื้อที่ในห้องโดยสาร
ไอดี บัซ มีระยะช่วงล้อ 3,300 มม. รัศมีวงเลี้ยว 10 เมตร พร้อมผู้โดยสารและคนขับ 8 คน โดยที่นั่งติดตั้งบนราง ที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสะดวก และเบาะนั่งแถว 3 สามารถปรับเป็นที่นอนได้ ขณะเดียวกัน ก็จะมีรุ่นสำหรับเพื่อการพาณิชย์ ออกจำหน่ายเช่นกัน ในลักษณะของรถตู้โฟล์ค ที่เคยนิยมใช้กันมา
ภายใน พวงมาลัยเป็นแบบตอบสนองการสัมผัส จอแสดงผลจะฉายขึ้นบนกระจก ส่วนคอนโซลกลาง ยกขึ้นมาสูง มีเพียงก้านบังคับการขับเคลื่อน และจอทัชสกรีน ที่ควบคุมระบบทั้งหมดเท่านั้น และหากเริ่มใช้ระบบยานยนต์ไร้คนขับ พวงมาลัยจะถูกเก็บซ่อนเข้าไปในคอนโซล รวมทั้งไม่มีกระจกมองข้าง แต่ใช้กล้องภายนอก และแสดงผลด้วย อี-มิเร่อร์ บนจอแสดงผล ที่จะซ่อนอยู่ในจุดเดียวกับกระจกมองหลัง
นักข่าวเอง ที่ได้ไปทดลองขับมาแล้ว กล่าวว่า ยังไม่แน่ใจว่า รถที่จะจำหน่ายจริง จะนำเอาเทคโนโลยีมากมาย ออกไปจากรถบ้างหรือไม่