นายภาสกร บุญญลักษม์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วยนายสุรภูมิ อุดมวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด นางสาวอังคณา จิตรสกุล กรรมการ บริษัท โตโยต้าเชียงราย จำกัด ผู้แทนชมรมผู้แทนจำหน่ายโตโยต้า หน่วยงานราชการในจังหวัดเชียงราย และนายตะวัน ตันวัชรพันธ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท รตาวัน จำกัด ร่วมเปิด “ศูนย์การเรียนรู้โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์ แห่งที่ 3” ณ บริษัท รตาวัน จำกัด จังหวัดเชียงราย เมื่อวันอังคารที่ 5 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา
“ศูนย์การเรียนรู้โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์” เป็นกิจกรรมในโครงการ “โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์” ที่โตโยต้าได้นำปัจจัยแห่งความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ได้แก่ วิถีโตโยต้า ระบบการผลิตแบบโตโยต้า และปรัชญาลูกค้าเป็นที่หนึ่ง มาถ่ายทอดให้แก่วิสาหกิจชุมชนอันเป็นภาคส่วนที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศไทย ให้สามารถดำเนินธุรกิจด้วยตนเองได้อย่างยั่งยืน สอดคล้องกับทิศทางการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจของรัฐบาล ที่เป็นการร่วมมือกันระหว่าง ภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน เพื่อร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้มีความมั่นคง โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา โครงการ “โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์” ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการปรับปรุงธุรกิจธุรกิจชุมชนต่างๆ และมีส่วนช่วยให้การดำเนินงานของธุรกิจเหล่านี้มีการพัฒนาและได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้นในด้านต่างๆอย่างเป็นรูปธรรม อาทิ เช่น ประสิทธิผลเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 50% การควบคุมคุณภาพการผลิตดีขึ้นโดยเฉลี่ย 70% และต้นทุนในการควบคุมสินค้าคงคลังลดลงโดยเฉลี่ย 40% เป็นต้น
บริษัท รตาวัน จำกัด เป็นบริษัทผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากไม้สัก จัดจำหน่ายภายใต้ชื่อแบรนด์ “องค์อร เฟอร์นิเจอร์” มีโรงงานผลิตที่จังหวัดเชียงรายได้เข้าร่วมโครงการ โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์ ในปี 2560 โดย โตโยต้าร่วมมือกับ บริษัท โตโยต้าเชียงราย จำกัด ส่งเจ้าหน้าที่ของโตโยต้าที่มีประสบการณ์ด้านระบบการผลิตแบบโตโยต้าและหลักการไคเซ็น (การปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง) เข้าไปช่วยเหลือธุรกิจชุมชนในลักษณะของการเป็น “พี่เลี้ยงทางธุรกิจ” โดยให้เจ้าหน้าที่ร่วมศึกษาถึงสาเหตุของปัญหา พร้อมนำองค์ความรู้ของโตโยต้าเข้าไปถ่ายทอดและปรับปรุงระบบการจัดการปัญหาของธุรกิจ โดยนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทและความพร้อมของธุรกิจนั้นๆ ส่งผลให้ธุรกิจสามารถดำเนินงานได้อย่างมืออาชีพ สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม สร้างการจ้างงานในท้องถิ่น และสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน โดยบริษัทฯ ได้ส่งมอบโครงการแก่บริษัท รตาวันฯ ภายหลังการปรับปรุงเสร็จสิ้นเมื่อเดือนตุลาคม 2561 และได้ติดตามผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง พบว่าบริษัท รตาวันฯ ยังคงรักษาประสิทธิภาพของการดำเนินงาน และทำการปรับปรุงด้วยตนเองตามหลักวิถีโตโยต้าอย่างต่อเนื่อง สามารถขยายผลการสร้างมาตรฐานการควบคุมงานจนสามารถลดต้นทุนและพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตให้ครอบคลุมสินค้าทุกแบบของบริษัท รวมถึงบริหารงานได้ด้วยตนเองอย่างมืออาชีพ สามารถส่งมอบงานได้ตรงเวลา 100%
จากศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ รวมถึงการรักษามาตรฐานการดำเนินงานและวัฒนธรรมไคเซ็นได้อย่างมีประสิทธิภาพ โตโยต้าและบริษัท รตาวันฯ จึงได้จัดตั้ง “ศูนย์การเรียนรู้โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์ แห่งที่ 3” เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์ในการปรับปรุงธุรกิจแก่วิสาหกิจชุมชนในภาคเหนือ ดังนี้
ปัจจุบัน โครงการโตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์ดำเนินการปรับปรุงธุรกิจชุมชนแล้วเสร็จจำนวน 23 แห่ง และได้ยกระดับสู่การเป็น “ศูนย์การเรียนรู้โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์” จำนวน 3 แห่งซึ่งในปี 2565 นี้ บริษัทฯวางแผนที่จะเปิดศูนย์การเรียนรู้ฯเพื่อให้ครบทั้ง 6 ภูมิภาคทั่วประเทศ อีกทั้งบริษัทฯยังได้นำองค์ความรู้และประสบการณ์จากการดำเนินโครงการ มาถ่ายทอดเพื่อพัฒนาศักยภาพธุรกิจ ภายใต้นโยบายประชารัฐโดยความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ อาทิ Thailand Smart Center หอการค้าไทย ดำเนินโครงการ Big Brother พี่ช่วยน้อง และกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ในการดำเนินงานศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมในจังหวัดกรุงเทพฯ นครราชสีมา ชลบุรี รวมถึงโครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์(CIV: Creative Industry Village) ในจังหวัดพิษณุโลกและอุบลราชธานีอีกด้วย
นายสุรภูมิ อุดมวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า “ภายใต้การประกาศวิสัยทัศน์ใหม่ขององค์กรในโอกาสการดำเนินงานในประเทศไทยครบรอบ 60 ปี นั้น บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ยังคงยึดมั่นในการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนความสุขสู่ผู้คนและส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืนของสังคมภายใต้ “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” โดย โครงการโตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์ เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ผ่านการถ่ายทอดแนวความรู้ในการปรับปรุงธุรกิจ ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดสังคมแห่งการแบ่งปันความรู้ โดยในอนาคต บริษัทฯ มีเป้าหมายในการขยายศูนย์การเรียนรู้ฯ ต่อเนื่องให้ครบ 12 จังหวัด ตามเขตเศรษฐกิจของกระทรวงอุตสาหกรรม ตลอดจนเฟ้นหานวัตกรรมทางความคิดใหม่ ๆ อาทิ การนำระบบกลไกอัตโนมัติ (Automation) มาปรับใช้กับโครงการฯ เพื่อเพิ่มศักยภาพให้กลุ่มธุรกิจชุมชน นำไปต่อยอดในการขับเคลื่อนเสถียรภาพแก่เศรษฐกิจของประเทศต่อไป”