โตโยต้า-อว. โดย สวทช. -สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย หนุนเยาวชน-ชุมชนสร้างนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม
บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ประกาศผลและมอบรางวัลให้กับผู้ชนะจาก 2 โครงการประกวด ได้แก่ “ชุมชนลดเปลี่ยนโลก” และ “นวัตกรรมเยาวชนลดเปลี่ยนโลก โดยมี นายนินนาท ไชยธีรภิญโญ ประธานคณะกรรมการ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. และ ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ร่วมงาน ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ. ปทุมธานี : “โครงการลดเปลี่ยนโลกกับโตโยต้า”เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2563
บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด และ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ได้ดำเนินกิจกรรม “โตโยต้า ลดเมืองร้อน ด้วยมือเรา” หนึ่งในกิจกรรมภายใต้โครงการโตโยต้าเมืองสีเขียว มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 ด้วยความมุ่งหวังในการสร้างจิตสำนึกให้สังคมไทยได้ตระหนักถึงปัญหาด้านภาวะโลกร้อน พร้อมทั้งหาแนวทางแก้ไข เปิดโอกาสให้โรงเรียน ชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจากทั่วประเทศ จัดทำแผนงานส่งเข้าประกวดเพื่อรณรงค์การลดภาวะโลกร้อนภายในชุมชนของตน โดยตลอดระยะเวลา 14 ปี ได้สนับสนุนงบประมาณให้แก่โรงเรียน 299 แห่ง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 238 แห่ง และ ชุมชน 162 แห่ง ทั่วประเทศ เกิดเป็นโครงการที่สามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 23,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
ในปีนี้ เพื่อขยายผลและต่อยอดความสำเร็จของโครงการให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น จึงเกิดเป็นความร่วมมือระหว่าง โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และ ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สวทช. ภายใต้ชื่อ “โครงการลดเปลี่ยนโลกกับโตโยต้า” มาพร้อมกับแนวคิดใหม่ ที่เกิดจากการตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมและสถานการณ์มลภาวะในปัจจุบัน จึงมุ่งเน้นการส่งเสริมและสนับสนุนการขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อลดมลพิษ ลดภาวะโลกร้อนในชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงการให้ความสำคัญกับสถานศึกษาในการนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) มาพัฒนาเพื่อปรับใช้ในการจัดการปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ.2561-2580) และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560 -2564)
นายนินนาท ไชยธีรภิญโญ ประธานคณะกรรมการ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า ในปีนี้ โตโยต้า และมูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ได้ร่วมมือกับอีกหนึ่งพันมิตรที่แข็งแกร่งอย่าง สวทช. ในการพัฒนาโครงการ โตโยต้า ลดเมืองร้อน ด้วยมือเรา มาเป็น ‘ลดเปลี่ยนโลกกับโตโยต้า’ ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบของกิจกรรม เพื่อดึงเอาศักยภาพของชุมชน และเยาวชน ให้สามารถแก้ไขปัญหามลภาวะได้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น ดังที่เห็นได้จากผลงานของเยาวชน และชุมชนในวันนี้ ว่าพวกเขามีความพร้อมที่จะเป็นต้นแบบในการถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ชุมชนต่าง ๆ ทั่วประเทศต่อไป
ทั้งนี้ โครงการลดเปลี่ยนโลกกับโตโยต้า ประกอบด้วย โครงการย่อย 2 โครงการ ได้แก่
1) โครงการนวัตกรรมเยาวชนลดเปลี่ยนโลก และ 2) โครงการชุมชนลดเปลี่ยนโลก
โครงการนวัตกรรมเยาวชนลดเปลี่ยนโลก
ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า จากกว่า 200 โครงการจากเยาวชนทั่วประเทศ มี 30 โครงการจาก 22 โรงเรียน ที่ผ่านการคัดเลือกในระดับภูมิภาคสู่ค่ายอบรมนวัตกรรมเยาวชนลดเปลี่ยนโลก สู่ 10 โครงการ (สายสามัญ 5 ทีม สายอาชีพ 5 ทีม) ที่ผ่านเข้ารอบสุดท้าย และจับมือนักวิจัยพี่เลี้ยงจาก สวทช. ต่อยอดและพัฒนานวัตกรรมร่วมกันนำเสนอผลงานในรอบชิงชนะเลิศครั้งนี้
โดยรางวัลชนะเลิศในโครงการนวัตกรรมเยาวชนลดเปลี่ยนโลก สายสามัญ ได้แก่ โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช จากโครงการถุงนาโนคอมโพสิตจากยางพาราเสริมแรงด้วยนาโนเซลลูโลสจากเปลือกส้มโอ ส่วนรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ โรงเรียนปิยะมหาราชาลัย จังหวัดนครพนม จากโครงการข้าวตอกที่เพิ่มและขยายรูพรุนด้วยการลดความดันอากาศภายในภาชนะอบเพื่อดูดซับสารสกัดจากใบกะเพราและใบยาสูบในการล่อและกำจัดแมลงวันทองในสวนผลไม้แทนการใช้ยาฆ่าแมลง และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ โรงเรียนแสงทองวิทยา จังหวัดสงขลานครินทร์ จากโครงการระบบแผ่นกรองฝุ่น PM2.5 และ แบคทีเรียจากเส้นใยข้าวโพดเคลือบด้วยอนุภาคเงินนาโน
และรางวัลชนะเลิศในสายอาชีพ ได้แก่ วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี จากโครงการเครื่องเก็บขยะในทะเลโดยใช้เทคโนโลยีนาโน ส่วนรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี จากโครงการเครื่องกำจัดขยะเศษอาหารเป็นปุ๋ยอัตโนมัติ และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ วิทยาลัยเทคนิคหนองคาย จังหวัดหนองคาย จากโครงการเครื่องปั่นไฟชีวมวล
ซึ่ง 2 ทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ จะได้รับถ้วยพระราชทานสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เงินรางวัล ๆ ละ 30,000 บาท และ เงินทุนพัฒนาต้นแบบนวัตกรรมสู่ชุมชน 300,000 บาท พร้อมโอกาสศึกษาดูงานด้านสิ่งแวดล้อมประเทศญี่ปุ่น
นอกจากนี้ จากการที่โตโยต้าได้เชิญชวนสาธารณชน มาร่วมลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ผ่านเว็บไซต์ www.ลดเปลี่ยนโลก.com เมื่อปลายปี 2562 ที่ผ่านมา โตโยต้าได้สนับสนุนเงิน 1 บาท ต่อทุกการลดขยะพลาสติก (มีกิจกรรมลดขยะทั้งสิ้นกว่า 550,000 ครั้ง) เพื่อสนับสนุนการวิจัยต่อยอดผลงานนวัตกรรม (ด้านสิ่งแวดล้อม) จากโครงการนวัตกรรมเยาวชนลดเปลี่ยนโลกกับโตโยต้า
ในงานนี้ โตโยต้าจึงได้สมทบทุนเพิ่มเติม รวมเป็นเงินมูลค่าทั้งสิ้น 1 ล้านบาท แก่สวทช. ในการนำไปพัฒนาและขยายผลนวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อมร่วมกับเยาวชนจากโครงการลดเปลี่ยนโลกกับโตโยต้า เพื่อต่อยอดสู่การแก้ไขปัญหามลภาวะทางอากาศและน้ำ ในชุมชนทั่วประเทศไทยต่อไป
โครงการชุมชนลดเปลี่ยนโลก
ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า จากชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ มีเพียง 12 แห่ง ที่ผ่านการคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการชุมชนลดเปลี่ยนโลก โดยแต่ละแห่งได้วิเคราะห์ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในพื้นที่และดำเนินงานเพื่อแก้ปัญหา ลดการปล่อยมลพิษออกสู่สิ่งแวดล้อมและลดผลกระทบจากภาวะโลกร้อน ซึ่งได้มานำเสนอผลงานในรอบชิงชนะเลิศครั้งนี้ โดยผู้ชนะเลิศในโครงการชุมชนลดเปลี่ยนโลก ได้แก่ ชุมชนบ้านแม่ป๋าม เทศบาลตำบลปิงโค้ง จังหวัดเชียงใหม่ จะได้รับถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพร้อมเงินรางวัล 50,000 บาท และโอกาสไปศึกษาดูงานด้านสิ่งแวดล้อมที่ประเทศญี่ปุ่น ส่วนรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ชุมชนบ้านดอนยาวน้อย เทศบาลตำบลวังหิน จังหวัดนครราชสีมา และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ชุมชนบ้านวังโป่ง เทศบาลตำบลร้องกวาง จังหวัดแพร่
ผู้ชนะเลิศทั้ง 2 โครงการ จะได้ไปนำเสนอผลงานแก่ผู้บริหาร จากบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชัน ประเทศญี่ปุ่น รวมถึงศึกษาดูงานด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม รวมถึงนวัตกรรมต่าง ๆ จากญี่ปุ่น จุดประกายความคิดสร้างสรรค์ ต่อยอดผลงานของตน โดยชุมชนที่ชนะเลิศจะได้รับการสนับสนุนงบประมาณสำหรับการพัฒนาชุมชนของตนให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ “ชุมชนลดเปลี่ยนโลก” ในระดับจังหวัด ในขณะที่โรงเรียนที่ชนะเลิศจะได้รับการสนับสนุนเงินทุนสร้าง “นวัตกรรมต้นแบบ” ขนาดใช้ได้จริงเพื่อนำไปสู่ชุมชนต่อไป