โตโยต้า ก้าวสู่ยุคใหม่แห่งการพัฒนาอย่างยั่งยืน เปิดตัวนวัตกรรมสังคม “โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์”


นายวิเชียร เอมประเสริฐสุข รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด พร้อมด้วย นายประภาศ บุญยินดี รองปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดตัวนวัตกรรมสังคมรูปแบบใหม่ขององค์กร โครงการ “โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์” ที่ว่าด้วยการเสริมสร้างศักยภาพในการดำเนินธุรกิจของชุมชน โดยมีนายวุฒิกร สุริยะฉันทนานนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด พร้อมด้วย ผศ. ดร. กฤตินี ณัฏฐวุฒิสิทธิ์ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ คุณณัฐพงษ์ จารุวรรณพงศ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ ร่วมเวทีเสวนา “นวัตกรรมสังคม ปฏิรูปสังคมไทยได้จริงหรือ?” เพื่อแลกเปลี่ยนแนวทางการดำเนินงานนวัตกรรมสังคมเพื่อขับเคลื่อนสังคมไทยสู่ยุคแห่งการพัฒนาอย่างยั่งยืน ในวันอังคารที่ 19 สิงหาคม 2557 ณ ห้องคริสตัลฮอลล์ โรงแรมพลาซ่า แอทธินี กรุงเทพฯ


บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด มีแนวคิดในการยกระดับการการดำเนินงานเพื่อพัฒนาสังคมสู่ความยั่งยืนเนื่องในโอกาสการดำเนินงานครบ 50 ปีในประเทศไทย ภายใต้สโลแกน “โตโยต้า ขับเคลื่อนความสุข” โดยหนึ่งในความมุ่งมั่นที่จะส่งความสุขให้คนไทยคือ การริเริ่มโครงการ “โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์” นวัตกรรมสังคมรูปแบบใหม่ เพื่อขับเคลื่อนสังคมไทยให้เข้าสู่ยุคของ “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” โครงการนี้ว่าด้วยการที่โตโยต้าเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาศักยภาพแก่ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมในแต่ละชุมชน อันเป็นภาคส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในแต่ละชุมชนของไทย เพื่อเพิ่มอัตราการอยู่รอดและเพิ่มโอกาสในการแข่งขันทางการตลาด อันจะช่วยกระจายรายได้แก่ประชาชนและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม ช่วยให้คนไทยพึ่งพาตนเองได้อย่างมั่นคง

โครงการโตโยต้าธุรกิจชุมชนพัฒน์ คือ การนำความรู้ที่เป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จของโตโยต้าทั่วโลก ได้แก่ “วิถีโตโยต้า” (Toyota Way) และ “ระบบการผลิตแบบโตโยต้า” (Toyota Production System) มาประยุกต์ใช้กับธุรกิจชุมชนของไทย โดยไม่จำกัดเฉพาะธุรกิจที่อยู่ในห่วงโซ่ธุรกิจหลักของโตโยต้าเท่านั้น มุ่งเน้นการหาแนวทางปรับปรุงแก้ปัญหาที่มักพบในธุรกิจชุมชน ได้แก่
– ความสามารถในการผลิต (Productivity) เพิ่มผลผลิต ช่วยเพิ่มรายได้
– การส่งมอบงานตรงเวลา (Delivery) ลดการเสียโอกาสในการขาย เพิ่มความน่าเชื่อถือ เพิ่มโอกาสการส่งออก
– การควบคุมคุณภาพ (Quality control) ลดของเสียในการผลิต ลดต้นทุน สินค้ามีมาตรฐาน
– การบริหารสินค้าคงคลัง (Inventory management) ลดการสูญเสียต้นทุนที่เกิดจากการบริหารสินค้าคงคลังและการจัดเตรียมวัตถุดิบที่ไม่เหมาะสม
– การบริหารต้นทุนในกระบวนการ (Work in process cost) ลดค่าใช้จ่ายที่เพิ่มต้นทุนการผลิตที่ไม่ก่อให้เกิดประสิทธิภาพ

โดยโตโยต้าจะส่งบุคลากรเข้าไปร่วมดำเนินงานในทุกกระบวนการ เพื่อให้ผู้ประกอบการเกิดความเข้าใจถึงแนวทางการพัฒนาศักยภาพธุรกิจของตนอย่างแท้จริง ตั้งแต่การไปยังแหล่งข้อมูลเพื่อศึกษาปัญหา ณ หน้างาน เพื่อให้สามารถระบุปัญหาและหาแนวทางแก้ปัญหาได้อย่างแม่นยำ จากนั้นจึงนำเอา ระบบการผลิตแบบโตโยต้า (Toyota Production System) มาใช้เพื่อลดต้นทุน ควบคุมคุณภาพ และ เพิ่มประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังได้นำ วิถีโตโยต้า (Toyota Way) มาถ่ายทอดเพื่อเป็นแนวทางให้ผู้ประกอบการนำมาพัฒนาการทำงานเพื่อต่อยอดธุรกิจของตนต่อไป

โตโยต้าได้เริ่มดำเนินงานโครงการทดลอง โตโยต้าธุรกิจชุมชนพัฒน์ ในปี 2556 โดยปัจจุบัน ดำเนินการแล้วเสร็จ 3 แห่ง ได้แก่ กลุ่มโอทอปธุรกิจชุมชนเสื้อโปโลฮาร์ท สปอร์ต แวร์ จ. กาญจนบุรี หัตถกรรมพื้นบ้านเตยปาหนัน บ้านวังหิน จ. กระบี่ และ แกงไตปลาแม่บ้านเกษตรกรท่าข้ามสัมพันธ์ จ. ตรัง พร้อมกันนี้โตโยต้า มีแผนที่จะขยายผลการดำเนินงานในปี พ.ศ. 2557 กับธุรกิจชุมชนอีก 3 แห่ง ในภาคกลางตอนล่าง ภาคเหนือ และ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อให้มีโครงการนำร่องในทุกภูมิภาค โดยคาดว่าจะดำเนินงานแล้วเสร็จในปี 2558 และมีแผนที่จะขยายโครงการให้ครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศภายในปี พ.ศ. 2563 นอกจากนี้ยังมีแผนการพัฒนาโครงการ “โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์” ในการให้บริษัทในเครือฯ และภาคส่วนต่าง ๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการเพิ่มโอกาสในการขยายธุรกิจให้แก่ผู้เข้าร่วมโครงการอย่างครบวงจร อาทิ การให้ผู้แทนจำหน่ายโตโยต้าทั่วประเทศ ร่วมมือกับ กรมการพัฒนาชุมชน ในการเฟ้นหาธุรกิจชุมชนเพื่อเข้าร่วมโครงการพร้อมติดตามประเมินผลการดำเนินงาน หรือร่วมกับ บริษัท โตโยต้า ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ในการให้คำแนะนำในเรื่องการจัดการระบบบัญชีและบริหารงบประมาณของธุรกิจ เป็นต้น นอกจากนี้โตโยต้ายังมีแผนในการขยายความร่วมมือไปยังพันธมิตรทางธุรกิจอื่น ๆ ที่มีความชำนาญในการดำเนินธุรกิจที่ต่างกัน เพื่อแบ่งปันความรู้และขยายโอกาสในการดำเนินธุรกิจแก่ผู้ประกอบการรายย่อยต่อไป


นายประภาศ บุญยินดี กล่าวว่า “นวัตกรรมที่โตโยต้ามอบให้นั้น ได้รับการยอมรับในระดับสากล เป็นกุญแจที่ทำให้โตโยต้าประสบความสำเร็จในระดับโลก อันจะเป็นโอกาสให้วิสาหกิจชุมชนได้มีโอกาสพัฒนาศักยภาพของตนเอง เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โครงการนี้จะเป็นแบบอย่างในการช่วยเหลือชุมชนอย่างยั่งยืน กระทรวงมหาดไทยพร้อมที่จะให้ความสนับสนุน เพื่อให้เศรษฐกิจชุมชนฐานรากมีความมั่นคง นำมาซึ่งประโยชน์สุขของประชาชนต่อไป”


นายณัฐพงษ์ จารุวรรณพงศ์ กล่าวว่า “จากประสบการณ์ของ สกส. ที่ได้ร่วมงานกับชุมชนต่าง ๆ พบว่า ปัญหาที่ต้องการได้รับการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนคือปัญหาด้านเศรษฐกิจ เนื่องจากเป็นประเด็นที่ส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตของชาวบ้าน นับว่าเป็นเรื่องน่ายินดีที่โตโยต้ามีความมุ่งมั่นในการผลักดันนวัตกรรมสังคมตัวนี้ให้เกิดขึ้นได้จริง ซึ่งผลประโยชน์จะตกอยู่กับผู้ประกอบการชาวไทยทั้งในด้านการเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันในตลาดเดิม และเป็นการรองรับการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านจากการเปิดประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ. 2558 นี้อีกด้วย”


ผศ. ดร. กฤตินี ณัฏฐวุฒิสิทธิ์ กล่าวว่า “ในปัจจุบันมีหลายหน่วยงานเริ่มเห็นความสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชน เนื่องจากเป็นภาคส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนความเจริญก้าวหน้าของแต่ละท้องที่ แต่การช่วยในปัจจุบันยังเป็นไปในลักษณะจำกัดเฉพาะประเภทธุรกิจที่มีความเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักขององค์กรที่เข้าไปช่วยเหลือ เช่น การรับซื้อวัตถุดิบเพื่อนำไปผลิตสินค้าต่อไป โดยการช่วยเหลือดังกล่าว สามารถสร้างผลตอบแทนในเชิงธุรกิจ หรือ Creating Shared Value (CSV) ซึ่งมีข้อจำกัดการช่วยเหลือได้เพียงแค่ในบางสายงาน อันเป็นจุดที่แตกต่างกับโครงการ “โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์” ที่นำความรู้การจัดการในกระบวนการผลิตรถยนต์ มาประยุกต์ใช้กับธุรกิจชุมชนของไทยที่มีความหลากหลายได้”



นายวุฒิกร สุริยะฉันทนานนท์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ด้วยความตั้งใจในการส่งมอบสิ่งที่ดีที่สุดสู่สังคมไทย โตโยต้าได้ศึกษาแนวทางการนำประสบการณ์ที่เรามีไปช่วยสร้างความสุขแก่ชุมชน จากการดำเนินงาน “โรงสีข้าวรัชมงคล” มากว่า 15 ปี ทำให้เราเข้าใจถึงแนวทางการร่วมงานกับชุมชน เกิดเป็นปัจจัยความสำเร็จของโครงการ “โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์” ที่ไม่ใช่เพียงแค่การนำความรู้ไปมอบให้ แต่เป็นการนำความรู้ในเชิงการจัดการมาปรับเปลี่ยนให้เข้าใจง่าย และการลงไปร่วมลงมือทำเพื่อให้ผู้ประกอบการนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ภายใต้แนวคิด “รู้ เห็น เป็น ใจ” ได้แก่ การให้รู้ถึงปัญหา เห็นแนวทางแก้ไข ทำเป็นด้วยตนเอง และ เข้าใจใส่ใจในการดำเนินงาน ซึ่งเมื่อผู้เข้าร่วมโครงการเกิดความเข้าใจอย่างแท้จริง ก็จะสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรม เราหวังว่า โครงการต้นแบบของเราจะ นำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับไปถ่ายทอดแก่ชุมชนของตนหรือองค์กรอื่น ๆ ซึ่งจะทำให้สังคมไทยก้าวสู่ยุคแห่งการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป”

Facebook Comments