มร.เคียวอิจิ ทานาดะ เจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น / กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ เอเชีย แปซิฟิค มาร์เก็ตติ้ง แอนด์ เซลส์ / กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ เอเชีย แปซิฟิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง / กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด พร้อมด้วย มร.ชิเกรุ ฮายาคาวา เจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น / ประธานสำนักงานเลขาธิการมูลนิธิโตโยต้า โมบิลิตี และศาสตราจารย์ นายแพทย์ ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมแสดงความร่วมมือในโครงการ สาทรโมเดล ที่ อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558
“สาทร โมเดล”
โครงการนำร่องเพื่อการแก้ปัญหาจราจรอย่างยั่งยืน
โครงการสาทรโมเดล ริเริ่มขึ้นในเดือนมิถุนายน 2557 โดยสภาธุรกิจโลกเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ร่วมกับภาคเอกชน และได้รับความร่วมมือ และการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากกรุงเทพมหานคร กระทรวงคมนาคม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างต้นแบบความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงภาคประชาชน เพื่อบรรเทาการจราจรที่ติดขัดบนถนนสาทร
ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2557 โครงการได้มีการศึกษาทดลองดำเนินงาน โดยใช้มาตรการแก้ไขปัญหาการจราจรอัจฉริยะบนถนนสาทรและบริเวณโดยรอบ เช่น การริเริ่มรถบัสรับส่ง (Shuttle Bus) ที่โรงเรียนกรุงเทพ คริสเตียนวิทยาลัย รวมถึงมาตรการจอดแล้วจร (Park & Ride) ในหลายสถานที่ และมาตรการควบคุมจัดการจราจร (Traffic Flow Management) บนถนนสาทร ทั้งนี้ การทดลองดำเนินงานดังกล่าวได้รับเสียงตอบรับเชิงบวกจากผู้ใช้บริการเป็นจำนวนมาก ตลอดจนเป็นการส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ในการวางพื้นฐานบริการคมนาคมที่มีประสิทธิภาพสำหรับผู้สัญจรบนท้องถนน
มร.เคียวอิจิ ทานาดะ กล่าวว่า “รถยนต์เป็นปัจจัยสำคัญในการเดินทางอย่างเสรีของผู้คน ใช้ในการขนส่งสินค้าและมีส่วนในการพัฒนาความเจริญของสังคม แต่ในทางตรงกันข้ามการเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วของรถยนต์ทำให้การจราจรติดขัด เพิ่มปัญหาสิ่งแวดล้อมและอุบัติเหตุบนท้องถนน
กรุงเทพมหานคร คือหนึ่งในโครงการนำร่องเพื่อการแก้ปัญหาการจราจรอย่างยั่งยืน ด้วยความร่วมมือจากกระทรวงคมนาคม กรุงเทพมหานคร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมถึงบริษัทเอกชน และสถาบันการศึกษา ภายใต้การดำเนินงานของสภาธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (WBCSD : The World Business Council for Sustainable Development)
การแก้ปัญหาจราจรด้วยการขยายโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมนั้น ต้องใช้เวลาที่ยาวนานและงบประมาณมหาศาล แต่การใช้ระบบขนส่งสาธารณะรวมถึงการปรับเวลาเดินทางในชั่วโมงเร่งด่วน จะช่วยลดการจราจรที่หนาแน่นได้ เราจะรณรงค์ไม่จอดรถริมถนนและการพัฒนาระบบสัญาณไฟจราจรโดยประชาชนมีส่วนร่วมทำให้เห็นถึงประโยชน์ในการเลือกการเดินทางที่เหมาะสม ให้โอกาสประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วยความร่วมมือจากรัฐบาล เอกชน สถาบันการศึกษา และประชาชน เราจะทำให้สาทรเป็นต้นแบบในการแก้ไขปัญหาจราจรอย่างเป็นรูปธรรม และนี่คือ โครงการ สาทร โมเดล ”
ต่อมาในเดือนเมษายน 2558 มูลนิธิโตโยต้า โมบิลิตี ได้สนับสนุนเงินทุนจำนวนประมาณ 110 ล้านบาทให้แก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อดำเนินโครงการสาทรโมเดลให้มีขอบเขตการทำงานที่มากขึ้น โดยมุ่งยกระดับการดำเนินการทดลอง รวมถึงเชิญชวนให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมสัมผัสประสบการณ์ใหม่ด้วยกันในโครงการนี้
มร.ชิเกรุ ฮายาคาวา กล่าวว่า “มูลนิธิ โตโยต้า โมบิลิตี ยินดีที่จะให้การสนับสนุนโครงการนี้เนื่องจากเป็นโครงการที่สอดรับกับภารกิจเชิงกลยุทธ์ของเราที่มุ่งพัฒนาคุณภาพการคมนาคมของประชาชนทั่วโลก นับว่าเป็นโครงการที่ทางมูลนิธิ โตโยต้า โมบิลิตี เข้าร่วมดำเนินการอย่างเต็มรูปแบบ โดยใช้องค์ความรู้ของเราและบริษัทพันธมิตรเพื่อช่วยเติมเต็มความต้องการ และตอบสนองความคาดหวังในการเดินทางอย่างเสรี สะดวกสบาย และปลอดภัย ซึ่งในปีนี้เรามีความภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้แนะนำสองโครงการนำร่องเพื่อการจัดการจราจรอย่างยั่งยืนขึ้น นั่นคือ ที่เมืองดานัง ประเทศเวียดนาม และกรุงเทพมหานคร
ทั้งนี้การดำเนินการของมูลนิธิ โตโยต้า โมบิลิตี จะมุ่งเน้นถึงกระบวนการที่ครอบคลุมต่อการมีส่วนร่วมของสังคม ดังนั้นเราจึงไม่ได้ดำเนินการเพียงเพื่อผลทางธุรกิจของเราเท่านั้น หากแต่เรายังมุ่งมั่นที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในสังคมอีกด้วย เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการนี้จะช่วยพัฒนาการจราจรภายในกรุงเทพมหานครและสามารถนำประสบการณ์ในการทำโครงการครั้งนี้ไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่อื่นๆ ได้ต่อไป”
หลังจากใช้เวลาในการเตรียมงานเพียงไม่กี่เดือน ขณะนี้ทางโครงการมีความพร้อมแล้วที่จะเชิญชวนให้ประชาชนผู้สัญจรบนท้องถนน ตลอดจนภาคส่วนธุรกิจและองค์กรที่สนใจได้มาเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการทดลองดำเนินการเพื่อการจัดการจราจรครั้งที่สองของโครงการ ซึ่งประกอบไปด้วยมาตรการเพื่อการสัญจรที่หลากหลายให้สามารถเลือกใช้ได้ ดังต่อไปนี้
1. โครงการจอดแล้วจร (Park & Ride Scheme) ด้วยการเตรียมพื้นที่จอดรถ 13 แห่ง ที่สามารถรองรับรถยนต์ได้ 2,413 คัน ในบริเวณใกล้เคียงกับสถานีระบบขนส่งสาธารณะ ทั้งสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส (BTS : Bangkok Mass Transit System) ตลอดจนสถานีรถไฟฟ้ามหานคร (MRT: The Metropolitan Rapid Transit) และ รถโดยสารด่วนพิเศษ (BRT : Bus Rapid Transit)
2. โครงการรถบัสรับส่ง (Shuttle Bus Sharing Scheme) ที่พร้อมให้บริการด้วยรถบัสที่ทันสมัย สำหรับโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย จำนวน 4 เส้นทาง และโรงเรียนอัสสัมชัญ แผนกประถม
3. การเหลื่อมเวลาทำงาน (Flexible Working Time) เพื่อกระจายปริมาณรถยนต์ในช่วงเวลาเร่งด่วน
4. การทำประชามติและประเมินผลแบบจำลองการจราจร เพื่อแก้ปัญหาการจัดการการจราจรบริเวณคอขวด
5. การสนับสนุนการพัฒนาระบบสัญญาณไฟจราจร
6. การพัฒนาและเตรียมแนะนำการใช้แอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟน เพื่อที่จะเลือกวิธีการเดินทางได้อย่างเหมาะสม รวมถึงพิจารณาเวลาที่ควรเริ่มออกเดินทาง ตลอดจนประเมินเวลาที่ใช้ในการเดินทาง และเลือกรูปแบบการเดินทางที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดความสะดวกสบายคล่องตัวที่สุด
นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวยังมีส่วนช่วยในการนำเสนอการจัดการการจราจรอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อเป็นประโยชน์สำหรับเจ้าหน้าที่ในการนำวิธีการดังกล่าวไปใช้เป็นแนวทางปฎิบัติต่อไป
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ภิรมย์ กมลรัตนกุล กล่าวว่า “ประชาชนในกรุงเทพมหานคร ต้องเผชิญกับความยากลำบากในการเดินทางเนื่องจากภาวะการจราจรติดขัด ทั้งนี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงมีความยินดี ที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับทีมงานของโครงการเพื่อแก้ปัญหา โดยเราพร้อมที่จะเริ่มต้นไปกับสังคมไทยเพื่อช่วยกันบรรลุภารกิจที่ท้าทายในครั้งนี้ ผมขอเชิญชวนให้ทุกท่านเข้ามามีส่วนร่วมในทดลองใช้มาตรการการจัดการด้านจราจรในครั้งนี้ เพื่อนำพาเราไปสู่การพัฒนาที่จะมีส่วนช่วยขับเคลื่อนความสุขให้กับสังคมไทย”
การคมนาคมอย่างยั่งยืนในกรุงเทพมหานครจะไม่สามารถประสบความสำเร็จได้หากขาดการสนับสนุนจากผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ทั้งนี้ ประชาชนผู้สัญจรจำเป็นต้องมีทางเลือกในการเดินทางอย่างชาญฉลาด ดังนั้นจึงควรมีการริเริ่มและสานต่อการให้บริการอำนวยความสะดวกในการคมนาคมอย่างยั่งยืน นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ยังสมควรนำนโยบายเพื่อการคมนาคมอย่างยั่งยืนมาประยุกต์ใช้ด้วยเช่นกัน
มร.เคียวอิจิ ทานาดะ กล่าวปิดท้ายว่า “วันนี้เราได้รับเกียรติจากผู้บริหารระดับสูงกว่า 70 บริษัท มาร่วมแสดงความร่วมมือในด้านต่าง ๆ รวมถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งความร่วมมือทั้งหมดนี้จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอน และจะทำให้ โครงการ สาทร โมเดล เป็นต้นแบบของการจัดการปัญหาจราจรของกรุงเทพมหานคร และกรุงเทพมหานครจะเป็นต้นแบบของโลก ก็ด้วยความร่วมมือจากรัฐบาล เอกชน สถาบันการศึกษา และประชาชนทุกคน ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งความสุขที่โตโยต้าขอมอบให้กับทุกท่าน”
“ไพรม์มัส กรุ๊ป…
บริษัท มิตซูบิช…