แผนงาน ไฮเปอร์ลู้ป ชุดแรก
หลังจากเป็นข่าวมานาน ทั้งเจ้าพ่อเทสล่า อีลอน มัสก์ Elon Musk และ ริชาร์ด แบรนสัน Richard Branson แห่ง ไฮเปอร์ลู้ป hyperloop ที่ต่างก็กำลังพัฒนายานยนต์เพื่อการขนส่งในรูปแบบใหม่ ล่าสุด แบรนสัน ประกาศ ความร่วมมือกับเมือง มหารัชตรา Maharashtra ประเทศอินเดีย เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ ในการก่อสร้างระบบไฮเปอร์ลู้ป ยานยนต์ความเร็วสูง ระหว่างเมือง ปุเน่ Pune กับ มุมไบ Mumbai
ไฮเปอร์ลู้ป ออกข่าวในการพัฒนาระบบการขนส่งแบบใหม่ ซึ่งใช้วิธีการสร้างท่อระหว่างจุดที่ต้องการ และสร้างยานยนต์ที่วิ่งในท่อ ด้วยระบบสูญญากาศ ด้วยความเร็วสูง โดยใช้เชื้อเพลิงจากชุดแบตเตอรี่ และออกข่าวมานานนับปีแล้ว ว่าการทดสอบกระทำจนประสบความสำเร็จไปถึงระดับไหน
แต่ปัญหาใหญ่ของระบบขนส่งชนิดนี้ คือการต้องสร้างท่อพร้อมระบบสูญญากาศ ระหว่างเมือง ซึ่งก็เหมือนกับสร้างรางรถไฟระหว่างเมือง แต่มองเห็นภายนอกจะลักษณะคล้ายกับท่อส่งน้ำขนาดใหญ่ ที่จะต้องมีการดูแลให้ปลอดภัยตลอดการเดินทาง และต้องเป็นสูญญากาศตลอดเส้นทาง ซึ่งนับเป็นปัญหาที่ใหญ่มาก สำหรับการเดินทางนับร้อยๆ กิโลเมตร รวมทั้งต้องใช้ต้นทุนเร่ิมต้นมหาศาลเช่นกัน
ไฮเปอร์ลู้ป ออกข่าวมาหลายครั้งแล้ว ว่าได้รับความต้องการให้ไปศึกษาความเป็นไปได้ ในการก่อสร้างระหว่างเมืองต่างๆ ในหลายประเทศ แม้ว่าจะยังไม่ได้ลงมือสร้างเลยสักเส้นทางก็ตาม แต่หนล่าสุดนี้ เป็นการศึกษาความเป็นไปได้ในประเทศอินเดีย
การศึกษาความเป็นไปได้นี้ อินเดีย ต้องการให้สร้างเส้นทางจากใจกลางเมืองปูเน่ ผ่านท่าอากาศยานนานาชาติมุมไบและเมืองมุมไบ ซึ่งมีประชากรราว 26 ล้านคน โดยประเมินว่าจะมีผู้ใช้บริการราว 150 ล้านคน ทั้งไปและกลับ ต่อปี
การศึกษารอบแรก จะกระทำเพื่อหาเส้นทางสร้างระบบท่อที่เหมาะสม ก่อนจะลงมือก่อสร้าง ซึ่งคาดว่า จะสามารถย่นระยะเวลาการเดินทางระหว่าง 2 เมือง ให้เหลือเพียง 25 นาที จากเดิมที่ต้องใช้เวลามากกว่า 3 ชม.
“ด้วยการเดินทางด้วยพลังงานไฟฟ้าตลอดเส้นทาง สามารถลดผลกระทบต่อสภาพอากาศลงได้มาก รวมทั้งลดความคับคั่งของการเดินทางทางถนน อันสามารถจะช่วยให้ลดมลภาวะในอากาศได้ถึง 86,000 ตัน ตลอดระยะเวลา 30 ปี” แบรนสัน กล่าว
ก็ต้องคอยดูกันอีกสักระยะหนึ่ง ว่าระบบการขนส่งแบบ ไฮเปอร์ลู้ป นี้ จะสามารถแจ้งเกิดได้จริงหรือไม่