เยือน Tokyo เที่ยว Tokyo Motor Show 2007 กับ Honda..ตอนที่ 2……By : J!MMY
นอกเหนือจาก 3 ค่ายหลักของงาน ทั้ง Toyota Honda และ Nissan
ในตอนที่ 1 แล้ว เรายังมี ผู้ผลิตรถยนต์นั่ง จากญี่ปุ่น รออยู่อีก
ทั้ง Mazda Mitsubishi Subaru Suzuki Daihatsu และ Mitsuoka รอพบกับผู้เข้าชมงานทุกคนอยู่ และแต่ละค่ายนั้น ก็พยายามขนทีเด็ดมาอวดโฉมกันไม่ให้น้อยหน้าเจ้าตลาดทั้ง 3 แต่อย่างใด
****** M A Z D A *****
พื้นที่ของบูธมาสด้าในปีนี้ ย้ายจากมุมอับด้านหลังสุดของ West hall มาอยู่ที่ East hall แถมยังได้ขนาดพื้นที่ใหญ่โตกว่าเดิม เล็กน้อย
แต่รูปแบบการจัดบูธ ก็ยังดูน่ามึนงงสับสนไม่ต่างจากเดิมในปี 2005 เท่าไหร่ คงหวังจะให้มีกระแสลมพัดผ่านอย่างดี ตามแนวคิด Nagare
เหมือนรถต้นแบบทั้ง 4 คันในบูธ และหวังให้ผู้คนเกิดความรู้สึกอยากจะ Zoom Zoom ไปกับเขาด้วย เอ..หรือจะเกี่ยวข้องกับฮวงจุ้ยบ้างไหม
อันนี้ไม่อาจทราบได้
แต่สิ่งที่น่าตำหนิ กลับอยู่ที่ รอยต่อระหว่างบูธ มาสด้า และฟอร์ดนั้น ยังดูกระจอกงอกง่อย ราวกับมอเตอร์โชว์ เมืองไทย สมัยยังจัดอยู่ที่สวนอัมพร พอสมควร
เพราะแทนที่จะจับเอารถต้นแบบ ทั้ง 3 คัน ภายใต้แนวทางการออกแบบที่มาสด้าเรียกว่า Nagare Design Series ที่เคยจัดแสดงไปในงานแสดงรถยนต์ทั่วโลก
ก่อนหน้านี้ ให้ตั้งอยู่บนแท่นหมุน หรืออย่างน้อยก็ควรจะจัดให้อยู่ในระดับเสมอกันกับรถต้นแบบคันใหม่ล่าสุดที่เปิดตัวในงานนี้เป็นครั้งแรกอย่าง Taiki
แต่มาสด้ากลับ วางตำแหน่งรถต้นแบบทั้ง 3 คัน เรียงกันไว้ บนพื้นบูธแบบ สโลปเอียงลาดลงเล็กน้อย แบบเดียวกับมอเตอร์โชว์ ในประเทศด้อยพัฒนา
จนดูราวกับว่า ไม่มีงบทำบูธให้มันเข้าท่ากว่านี้แล้ว
เอาละ อย่างไรก็ตาม เคยมีใครสงสัยบ้างไหมว่า ชื่อรถต้นแบบยุคใหม่ทั้ง 4 รุ่น ตามแนวทาง Nagare Design อันเป็นภาษาญี่ปุ่นของมาสด้า
นั้นมันแปลว่าอะไรกันบ้าง? งั้นเรามาดูกันเลยดีกว่า ว่า แต่ละคันหน้าตา และชื่อเสียงเรียงนาม แปลว่าอะไร
คันแรก ก็คือ Nagare รถต้นแบบคันแรกสุดใน แนวคิดนี้ เปิดตัวครั้งแรกในงาน L..A. Auto Show พฤศจิกายน 2006
ชื่อรุ่นนั้น แปลเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า "สายน้ำ"
จึงไม่น่าแปลกใจว่า ทำไมเส้นสาย จึงพริ้วไหว ราวกับสายน้ำที่พัดผ่านลำตัวของรถ
แต่ ขอแนะนำว่าไม่ต้องคิดอะไรมากกับรถต้นแบบคันนี้ครับ เพราะเป็นเพียงแค่ Mock-up เท่านั้น
เหมือนรถต้นแบบทั่วไปในสากลโลก ที่บริษัทรถยนต์ทุกราย ต่างพากันทำขึ้นมาเพื่อเป็นหุ่น
ในการจัดแสดงแนวคิด และปล่อยให้ทีมวิศวกร กับฝ่ายประชาสัมพันธ์ สรรหาถ้อยคำมาบรรยาย
รำพึงรำพันกันไปเรื่อยเปื่อย เพื่อสร้างความรู้สึกดีๆกับคนที่ได้มาพบเห็นรถต้นแบบเหล่านั้น
จะได้เชื่อไปว่า บริษัทรถยนต์นั้น มีวิสัยทัศน์อันล้ำหน้าสู่อนาคต…
หารู้ไม่..This is a Mock-up model.
ส่วน Ryuga (ริวกะ) คันสีแดงเพลิง เปิดตัวในงาน North American International Auto Show หรือเรียกให้สั้นเข้าว่า
ดีทรอยต์ ออโตโชว์ มกราคม 2007 ทิ้งช่วงจาก นากาเระ มาเพียงแค่ 2 เดือนเท่านั้น
เป็นผลงานการสร้างสรรค์ของ ศูนย์ ออกแบบมาสด้า ที่ฮิโรชิมา
ริวกะ คันนี้นอกจากจะโดดเด่นด้วยสีแดงเพลิง ชวนให้นึกถึงรองเท้ากีฬาสีแดง ที่ออกแบบโดย Nike แล้ว
ยังมีห้องโดยสาร ที่สามารถเปิดแสดงได้จริง แม้ว่าตัวรถจะแล่นไม่ได้ก็ตาม แต่อย่างน้อยก็ยังดีกว่า นากาเระคันแรกก็แล้วกัน
ริวกะ นั้น ภาษาญี่ปุ่น แปลว่า "ความสง่างาม"
ส่วน Hagase (ฮากาเซะ) คอมแพกต์ ครอสโอเวอร์ เอสยูวี 2 ประตู นั้น เปิดตัวตามออกมาในงานเจนีวาออโต ซาลอน เดือนมีนาคม 2007
ชื่อของรถคันนี้นั้น อ่านตามตัวอักษรญี่ปุ่น คันจิได้ ทั้งสองตัว โดยตัว ฮะ แปลว่า ใบไม้
ส่วน คาเซะ แปลว่า สายลม (ตัวคันจิ ตัวเดียวกับ ชื่อของ จักรยานยนต์ คาวาซากิ คาเซ่ ในบ้านเรานั่นละครับ)
คันนี้ ดูใกล้เคียงความจริงมากที่สุด สำหรับการผลิตขายจริง
และพอจะเชื่อขนมกินได้ว่า มาสด้า คิดเรื่องนี้อยู่
และมาถึงดาวเด่นในบูธมาสด้าประจำงานปีนี้คือ Taiki (แปลจากตัวคันจิ ได้ประมาณว่า ลมฟ้าบรรยากาศ) อันเป็นรถสปอร์ตต้นแบบ สำหรับ
รถสปอร์ตของมาสด้ารุ่นต่อไป ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากการไหลผ่านของอากาศ ลู่ลมด้วยค่า Cd 0.25 วางขุมพลังโรตารีบล็อกใหม่
ในตระกูล RENESIS รหัสรุ่น 16X ความจุ 1,600 ซีซี Direct Injection ซึ่งมีการปรับปรุงให้มีแรงบิดที่สูงขึ้น ในทุกย่านความเร็วรอบเครื่องยนต์
และใช้อะลูมีเนียม มาเป็นชิ้นส่วนทำเสื้อสูบของเครื่องยนต์ ช่วยให้มีน้ำหนักเบาขึ้น
จุดเด่นอยู่ที่รูปลักษณ์ภายนอก ซึ่งได้อิทธิพลจากกระแสลมอย่างเต็มที่ ภายใต้แนวคิด Hagoromo
ไฟท้ายนั้น เหมือนกับรถต้นแบบตระกูล Nagare คันอื่นๆ ที่ใช้วิธีการเรืองแสงขึ้นมาจากตัวถัง
ส่วน ห้องโดยสารออกแบบขึ้น ด้วยแรงบันดาลใจจาก ธง Koinobori หรือธงรูปปลาคาร์พ
ที่ประดับตามบ้านเรือนในญี่ปุ่นช่วงวันเด็กผู้ชาย ประมาณเดือนพฤษภาคมของทุกปี
นอกเหนือจาก เครื่องยนต์ โรตารี รุ่นต่อไป ที่เตรียมจะพัฒนาออกสู่ตลาดจริงในอนาคตแล้ว
มาสด้า ยังพร้อมส่ง เครื่องยนต์ โรตารี ที่สามารถเติมได้ทั้งน้ำมันเบนซิน และไฮโดรเจน
ออกทำตลาดจริง เป็นรุ่นที่ 2 ต่อจาก RX-8 Hydrogen RE ในร่างของ คอมแพกต์มินิแวนรุ่นยอดนิยม
มาสด้า 5 หรือ Premacy Hydrogen RE
จุดเด่นโดยสรุปของรถคันนี้คือ ขุมพลัง โรตารี ที่ปรับปรุงใหม่คราวนี้ ให้พละกำลังมากกว่า
RX-8 Hydrogen RE ที่เคยมาโชว์ในเมืองไทย ณ งาน Motor Expo ปี 2006 ถึง 40%
และแล่นได้ไกลถึง 200 กิโลเมตรด้วยไฮโดรเจน 1 ถัง คิดเป็น 2 เท่าของ RX-8 ไฮโดรเจน คันเดิม
นอกจากนี้ มาสด้ายังเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายแรก ที่สามารถ นำกันชน มาผ่านกระบวนการรีไซเคิลได้
"โดยสามารถชำระล้างสีพ่นพลาสติกที่เคลือบอยู่ จนหลุดออกได้แทบจะเกลี้ยงหมดจด"
ไม่เพียงเท่านั้น พรีมาซี ไฮโดรเจน RE คันนี้ ยังทำให้มาสด้ากลายเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายแรกในโลก
ที่ใช้ วัสดุ ที่ทำจากพืช ซึ่งพัฒนาร่วมกันกับกลุ่มบริษัท Teijin Ltd. (เทยิน) และ Teijin Fiber
ผู้ผลิตสิ่งทอ และวัสดุสังเคราะห์รายใหญ่ของญี่ปุ่น ในชื่อ Mazda Biotechmaterial อันเป็น
วัสดุประเภท Polylactate Fiber มาทำวัสดุตกแต่งห้องโดยสาร ทั้งผ้าหุ้มเบาะ ผ้าบุแผงประตู
พลาสติกบุตอนล่างของชุดแผงหน้าปัด และฝาปิดลิ้นชักเก็บของ รวมทั้งด้านล่างของคอนโซลกลาง
บนแผงหน้าปัด เพื่อช่วยลดปริมาณ ก๊าซ คาร์บอนไดออกไซด์ ในอากาศ
ส่วนเวอร์ชันจำหน่ายจริง ของ พรีมาซี ไมเนอร์เชนจ์ใหม่ ก็มีมาจัดแสดงร่วมกันกับมินิแวนพี่ใหญ่รุ่น MPV และ รถเล็กที่ AZ-WAGON ที่มาสด้าซื้อ Suzuki Wagon R มาทำตลาด
นอกจากนี้ ยังมีรถที่ทำลาดอยู่แล้วรุ่นอื่นๆ มาจอดโชว์อยู่เต็มบูธ
ทั้ง ครอสโอเวอร์ เอสยูวี รุ่น CX-7 (CX-9 รุ่น 7 ที่นั่ง เพิ่มประตูหลังให้ยาวขึ้น และเปลี่ยนบั้นท้ายเป็นพิเศษ ไม่มีขายที่ญี่ปุ่น
เพราะสงวนไว้เฉพาะอเมริกาเหนือเท่านั้น) MX-5 ขายในญี่ปุ่นชื่อ Roadster รวมทั้ง RX-8 รุ่นพิเศษ ไปจนถึง ซับ-คอมแพกต์
อเนกประสงค์อย่าง Verisa และ เค-คาร์ คันเล็ก อย่าง Carol ที่ไปซื้อ Suzuki Alto มาทำตลาดเอง (ทั้งที่สมัยก่อน Carol คือ
รถรุ่นแรกๆ ที่มาสด้าทำออกขายเอง ไม่พึ่งพาใคร)
มีครบแม้กระทั่ง Mazdaspeed Axela หรือ Mazda 3 MPS ในตลาดโลก นั่นเอง
แต่กระนั้น ก็ยังไม่น่าสนใจเท่ากับ 2 รถยนต์รุ่นใหม่ล่าสุด ที่หลายคนลุ้นจะให้มาทำตลาดในเมืองไทยกันอย่างระทึกใจ
เริ่มกันที่พระเอกของบูธรุ่นสำคัญ นั่นคือ Mazda Atenza ใหม่ล่าสุด ซึ่งจะทำตลาดในโลกด้วยชื่อ Mazda 6
อาเทนซ่า ใหม่ ถือเป็นเจเนอเรชันที่ 2 ของรถยนต์ขนาดกลาง D-Segment ยุคใหม่ของมาสด้า
ที่เข้าทำตลาดแทน ตระกูล Capella / 626 อันโด่งดังในยุค 1970 – 2001
สิ่งที่เห็นจากภายนอกก็คือ มาสด้า ได้ทำลายความเชื่อเดิมๆ ที่ว่า เมื่อรถรุ่นใดออกมาสวยมากๆ
ในสายตาผู้คนทั่วไปแล้ว รุ่นต่อไปจะเริ่มมีแรงกดดันเยอะจนออกมา สวยได้ไม่เท่ากับรุ่นเดิม
แต่มาสด้า ฉีกความเชื่อนี้ทิ้งไปโดยสิ้นเชิง เมื่อรุ่นใหม่ของ6/ อาเทนซ่า เปิดตัวออกมา เรียกเสียงตกใจ
จากผู้บริโภคและคู่แข่ง เพราะเส้นสายตัวถังรุ่นใหม่ สวยจบ จนแทบไม่ต้องแก้ไขอะไร พริ้วไหวอย่างลงตัว
ลู่ลมด้วยค่า Cd : 0.27 ซึ่งเป็นตัวเลขที่ดีที่สุดในกลุ่มรถยนต์ขนาด 2,000 – 2,500 ซีซี ทุกยี่ห้อ
เครื่องยนต์ ยังคงใช้ตระกูล MZR จะมีให้เลือกทั้งแบบ 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,999 ซีซี
150 แรงม้า (PS) ที่ 6,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 18.54 กก.-ม.ที่ 4,500 รอบ/นาที
และ 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 2,488 ซีซี
รุ่นขับล้อหน้า 170 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 23.02 กก.-ม.ที่ 4,000 รอบ/นาที
ส่วนรุ่นขับสี่ล้อ ลดลงเหลือ 166 แรงม้า (PS) และแรงบิดสูงสุด 22.92 กก.-ม. ณ.รอบเครื่องยนต์เท่ากัน
ระบบส่งกำลังมีทั้งเกียร์ ธรรมดา 6 จังหวะ หรือ เกียร์อัตโนมัติ 5 และ 6 จังหวะ
ระบบกันสะเทือนหน้า ปีกนกคู่ หลังมัลติลิงค์ ทุกรุ่นติดตั้งดิสก์เบรก 4 ล้อ
วางลงในตัวถังที่มีขนาดใกล้เคียงกันมาก ทั้งซีดาน รุ่น 5 ประตูสปอร์ต ยาว 4,735 มิลลิเมตร
ส่วนรุ่นแวกอน ยาวเพิ่มขึ้นเป็น 4,765 มิลลิเมตร กว้าง 1,795 มิลลิเมตร สูงตั้งแต่ 1,440 – 1,500 มิลลิเมตร
ตามแต่ละตัวถัง และมีระยะฐานล้อยาวถึง 2,725 มิลลิเมตร เรียกได้ว่ามีขนาดใหญ่กว่าเดิมในเกือบทุกมิติ
แต่ยังคงพยายามลดน้ำหนักตัวถังลงให้ได้มากที่สุดเท่าที่ทำได้
บรรยากาศในห้องโดยสาร ทำได้ดียิ่งขึ้นกว่ารุ่นเดิมที่ดีอยู่แล้วเสียอีก ทั้งเบาะหน้า ที่นั่งได้ดีขึ้น
และไม่น่าจะก่อความปวดหลังได้นัก นั่งได้เต็มก้นขึ้น
ไปจนถึงเบาะหลัง นั่งสบายและนั่งได้เต็มก้น เข้าออกง่ายดาย ไม่ยากลำบาก
จุดเด่นสำคัญ อยู่ที่ ปุ่มควบคุมบนพวงมาลัย ถูกพัฒนาขึ้นใหม่เป็นแบบ CF (Cross Function)
สามารถควบคุมได้ทั้งชุดเครื่องเสียงชั้นดีจาก BOSE และระบบปรับอากาศ ไปจนถึงชุดโทรศัพท์เคลื่อนที่
ในตัว โดยลดการรบกวนผู้ขับขี่ให้น้อยที่สุด
นอกจากนี้ยังมีระบบ Rear Monitoring system แจ้งเตือนรถที่ตามมาจากกระจกมองข้าง
ซึ่งถือเป็นรถรุ่นแรกในกลุ่มนี้ ที่ติดตั้งระบบดังกล่าว (ระบบนี้ ในบ้านเรา พบได้ใน Volvo S80
เวอร์ชันไทย เครื่อง V6 3.2 ลิตร เท่านั้น) ทำงานร่วมกับระบบ Pre-Crash System
ระบบควบคุมเสถียรภาพ DSC (Dynamic Stability Control) ระบบช่วยถอยหลังเข้าจอด
Parking Sensor ระบบ Redar Cruise Control ชุดไฟหน้าปรับมุมองศาจานฉายอัตโนมัติ
Adaptive Front Lightning System) ฯลฯ อีกมากมาย
สรุปแล้ว รีบเอาคันนี้เข้ามาขายคนไทยเถอะ ฝรั่งมังค่า และญี่ปุ่นมังงะ ที่มาสด้า
ส่วนรุ่นสำคัญซึ่งหลายคนคาดหวังให้เข้ามาประกอบขายในไทย จะเข้ามาเปิดตัว ทำตลาดในเมืองไทย
แข่งกับ Toyota Yaris อย่างแน่นอนแล้ว นั่นคือ Mazda Demio หรือ Mazda 2 นั้น….
แนวเส้นตัวถังที่มีความยาวลดลงจากเดิม 40 มิลลิเมตร เหลือ 3,895-3,995 มิลลิเมตร
กว้าง 1,695 มิลลิเมตร สูง 1,475 มิลลิเมตร (เตี้ยลง 55 มิลลเมตร) และระยะฐานล้อ 2,490 มิลลิเมตร
รูปลักษณ์ภายนอกคันจริงนั้น ดูดี พอใช้ได้ แม้ว่า ด้านหน้าอาจจะดูง่วงเหงาหาวนอนไปบ้าง
แต่บั้นท้ายนั้นโฉบเฉี่ยวกำลังดี
เครื่องยนต์มีน้ำหนักเบาลงเสียก่อน ขุมพลังใหม่ มีให้เลือก 2 ขนาด เป็นแบบ ZJ-VE 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,348 ซีซี พร้อมเทคโนโลยีแบบ MILLER CYCLE
ในรุ่นมาตรฐาน เชื่อมด้วยเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ (เฉพาะรุ่นขับล้อหน้า) และอัตโนมัติ 4 จังหวะ EC-AT (มีครบทั้งรุ่นขับล้อหน้าและรุ่นขับเคลื่อนสี่ล้ออัตโนมัติ
e-4WD ให้กำลังสูงสุด 91 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 12.6 กก.-ม.ที่3,500 รอบ/นาที แต่ถ้าเชื่อมเข้ากับเกียร์อัตโนมัติ อัตราทดแปรผันต่อเนื่อง
CVT อัตราส่วนกำลังอัดจะเพิ่มขึ้นจาก 10 : 1 เป็น 11 : 1 แต่พละกำลังจะลดลงเหลือ 90 แรงม้า (PS) ส่วนแรงบิดจะลดลงเหลือ 12.2 กก.-ม.ณ รอบเครื่องยนต์เท่ากันทั้งคู่
ส่วนรุ่นสปอร์ต จะมาพร้อมขุมพลังที่ ถือว่าแรงที่สุดในกลุ่ม ซับ-คอมแพกต์ ที่ขายในญี่ปุ่นขณะนี้ แต่ยังคงเป็นเครื่องยนต์เดิม รหัส ZY-VE 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว
113 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 14.3 กก.ม.ที่ 4,000 รอบ/นาที เชื่อมได้ทั้งเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะและอัตโนมัติ อัตราทดแปรผันต่อเนื่อง CVT
ดูเหมือนมาสด้าจะรู้ดีว่า ปัญหาสำคัญประการหนึ่งในเดมิโอรุ่นที่แล้ว คือมีน้ำหนักตัวมากเกินไป ทำให้อัตราเร่ง และความประหยัด ทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร
งานนี้มาสด้าจึงตั้งเป้า ลดน้ำหนักตัวของเดมิโอใหม่ลงจากรุ่นเดิม ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ในทุกๆจุด ไม่เว้นแม้แต่จุดซ่อนเร้น ผลก็คือ
น้ำหนักตัวของรุ่นใหม่ลดลงไปได้ถึง 100 กิโลกรัม!
ถึงรูปกายภายนอกจะดูพอรับได้ แต่เมื่อเปิดประตูเข้าไปนั่งในห้องโดยสาร ยอมรับกันตรงๆว่า ผิดหวังนิดหน่อย
โทนสีดำ ทำให้บรรยากาศของห้องโดยสารที่ดูเล็กอยู่แล้ว ยิ่งดูเล็กลงไปอีก
อันที่จริงๆแล้ว ขนาดห้องโดยสารลดลงจากรุ่นเดิมพอสมควร
สำหรับเบาะคู่หน้า ยังไม่ใช่ปัญหา…. ยังพอจะเดินทางกันได้บ้าง…
แต่สำหรับเบาะหลังแล้ว ถ้าใครคิดว่า เบาะแถวหลังของ ยาริสนั้นเล็ก แข็ง และคับแคบละก็
เดมิโอ / 2 จะต่างกันตรงที่เบาะนั่งด้านหลังอาจจะยั่งสบายกว่า แต่บรรยากาศในห้องโดยสารนั้นไม่ถึงกับน่าประทับใจ
พอๆกัน พื้นที่วางขามีเหลือค่อนข้างน้อย และนั่งไม่ค่อยสบายเหมือนรุ่นเดิม…..
การเข้าออกทำได้ไม่ดีเท่ารุ่นเดิม ซึ่งอเนกประสงค์มากกว่า
ชุดแผงหน้าปัดนั้น มี 2 แบบ คือ คอนโซลกลาง แบบมีระบบนำร่อง ชุดมาตรวัด แบบ ไม่มีมาตรวัดรอบเครื่องยนต์
หรือแบบมาตรฐาน พร้อมชุดเครื่องเสียง สไตล์ยุโรป ซึ่งคาดหมายว่า จะเป็นแบบที่ใกล้เคียงกับเวอร์ชันที่จะผลิตขายในไทย ปี 2008
ั
ชุดมาตรวัด แบบ มีวัดรอบ
พวงมาลัย เมื่อมาถึงเมืองไทย อย่าหวังจะเห็นสวิชต์ควบคุมต่างๆบนนั้น
และนี่คือ แผงควบคุมกลางแบบมาตรฐาน ที่คาดว่าจะได้เห็นในเวอร์ชันไทยด้วย
ผมว่า มาสด้า คงต้องปรับปรุงเรื่องของวัสดุที่ใช้ในห้องโดยสาร ให้ดีอย่างน้อย
เทียบเท่ากับเดมิโอรุ่นเด นั่นน่าจะเป็นการดีกว่า
เพราะสัมผัสแรกที่ขึ้นไปนั่งในห้องโดยสาร ของ มาสด้า 2 / เดมิโอ นั้น
ผมยอมรับเลยว่า ยังไม่ประทับใจเท่าที่ควร ภายในมืดทึมเกินไป
ยิ่งกับรถเล็กๆแบบนี้แล้ว เหมือนกับว่า มาสด้า พยายามมุ่งหน้าไป
ประกบกับ โตโยต้า วิทซ์/ยาริส มากเกินไปหรือเปล่า?
สำหรับเวอร์ชันไทย นั้น
กว่าจะมาเิปิดตัวในบ้านเรา ก็คงต้องรอให้โรงงาน ส่วนต่อขยายของAAT ระยอง
เสร็จสมบูรณ์ พร้อมเปิดดำเนินการได้ ในช่วง ปลายปีหน้า
และเมื่อนั้น มาสด้า จึงจะเริ่มส่งมาสด้า 2 ออกสู่ตลาดบ้านเราก่อนหน้าฟอร์ด ที่จะนำ ซับ-คอมแพกต์ รุ่นล่าสุด พัฒนาต่อเนื่องจากรถต้นแบบ Ford Veurve ในงานแฟรงค์เฟิร์ต มอเตอร์โชว์งวดล่าสุด ออกสู่ตลาดในปี 2009
(เวลายิ่งผ่านไป ก็ยิ่งเริ่มดึกขึ้น อาจจะมีโพสต์รูปผิดกันไปบ้าง
ก็อย่าว่ากันนะครับ ซีดานคันยาวสีเงินคันข้างบนนั้น ไม่ใช่รถมาสด้า แต่จะเป็นผลผลิตของใคร ก็คงต้องรออ่านต่อไปข้างล่างๆนี้แล้วจะทราบเอง)
เกือบลืมไปว่า คงต้องบอกกล่าวกันถึง ข้อมูลจำเพาะของรถต้นแบบ Mazda Taiki กันสักหน่อย
ตัวรถมีความยาว 4,620 มิลลิเมตร กว้างถึง 1,950 มิลลิเมตร
สูง เพียงแค่ 1,240 มิลลิเมตร ส่วนระยะฐานล้อ ยาวสะใจถึง 3,000 มิลลิเมตร
วางเครื่องยนต์ โรตารี RENESIS 16 X ขนาด 1,600 ซีซี
นั่งได้ 2 คน ส่งกำลังด้วยเกียร์แบบ Dry twin clutch 7 จังหวะ
Power Shift
ระบบกันสะเทือนแบบ ปีกนกคู่ ดับเบิลวิชโบน
ยางนั้นมีขนาดผิดแปลกไปจากรถทั่วไป
เป็นล้ออัลลอยขนาด 22 นิ้ว พร้อมยาง YOKOHAMA ADVAN Super- E spec ขนาด 195/40 R22
เอาละ หวังว่า ปีหน้า มาสด้าจะพร้อมส่ง เดมิโอมาประชันกับ ฮอนด้า แจ้สใหม่
และ โตโยต้า ยาริส กันเสียที….
—————————————————————————————–
***** M I T S U B I S H I M O T O R S *****
หลังผ่านวิกฤติการณ์ต่างๆ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาได้แล้ว มิตซูบิชิ มอเตอร์ส กำลังมุ่งหน้าสู่การกลับมาแข่งขันได้อย่างเต็มตัว
พร้อมความเชื่อมั่นด้านการควบคุมคุณภาพในระดับโลกกันเสียที บูธมิตซูบิชิ มอเตอร์สในปีนี้ อาจยังไม่ถึงกับคึกคักหรือน่าตื่นตาตื่นใจ
แต่ถือว่าการตกแต่งในภาพรวมนั้น สอบผ่านกว่าบูธมาสด้าแน่ๆ และจะว่าไปแล้ว การจัดวางเลย์เอาท์บูธ มีบางส่วนของมิตซูบิชิในปีนี้
คล้ายคลึงกับ บูธของมาสด้า ในงานโตเกียว มอเตอร์โชว์ เมื่อปี 1999 สมัยที่ยังมีรถต้นแบบ RX-Evolve ก่อนจะกลายมาเป็น RX-8
และเป็นยุคที่ Tribute ยังถูกนำมาตกแต่งเป็นรถต้นแบบ เพื่อเตรียมจะออกสู่ตลาดด้วยซ้ำ
ปีนี้ มิตซูบิชิ ยังคงมีรถยนต์ต้นแบบ 3 รุ่น ออกมาอวดโฉมสู่สาธารณชน โดย 2 คันแรก คือตัวอย่างระดับออเดิร์ฟของรถยนต์รุ่นใหม่
ที่มิตซูบิชิ เตรียมจะผลิตออกสู่ตลาดในช่วง 2 ปีข้างหน้า
เริ่มต้นจาก รถยนต์ซีดานต้นแบบคันใหญ่โต Concept ZT ซึ่ง คาดกันว่า รถคันนี้ จะเป็นต้นแบบให้กับ
ซีดานระดับ D-Segment รุ่นใหม่ ที่จะออกมาเป็นคู่แข่งกับ Toyota Camry Honda Accord และ Nissan Teana
ในอนาคต ยังไม่แน่ชัดว่ารถคันนี้ จะใช้ชื่อว่า Galant ใหม่ ในตลาดโลก หรือจะเป็นรุ่น Diamante หรือจะใช้ชื่อรุ่น
ที่ตั้งขึ้นใหม่ ความชัดเจนในประเด็นนี้ยังไม่มี
มิติตัวถังยาว 4,950 มิลลิเมตร กว้าง 1,820 มิลลิเมตร สูง 1,440 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาวสะใจถึง 2,815 มิลลิเมตร
วางเครื่องยนต์ที่พัฒนาขึ้นใหม่ ดีเซล 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 2,268 ซีซี ฉีดจ่ายเชื้อเพลิงด้วยระบบ คอมมอนเรล
พร้อมหัวฉีดแบบ Piezo พร้อมระบบ VD (Variable Diffuser) รวมทั้ง เทอร์โบแบบแปรผันครีบ VG (Variable Geometry)
กำลังสูงสุด 190 แรงม้า (PS) ที่ 4,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 40.76 กก.-ม. ที่ 2,000 รอบ/นาที ส่งกำลังด้วยเกียร์ระบบ
Twin Clutch SST ขับเคลื่อนสี่ล้อด้วยระบบ S-AWC (Super All Wheel Control) ที่มาพร้อมเฟืองท้าย ซึ่งได้รับการพัฒนาขึ้นใหม่
E-LSD (Electronic Limited Slip Differential) ระบบกันสะเทือนหน้า แม็คเฟอร์สันสตรัต ด้านหลังแบบมัลติลิงค์
สวมด้วย ล้ออัลลอย 20 นิ้ว พร้อมยาง 255/35R20
แผงหน้าปัดภายใน จะคล้ายกับ Honda Prelude รุ่นปี 1991-1997 ที่คนไทยนิยมกันอยู่พักหนึ่ง ส่วนคันเกียร์จะเป็นแบบมือหมุน
เช่นเดียวกับ แจกัวร์ XF ภายในห้องโดยสาร ตกแต่งด้วยวัสดุ Green Plastic ย่อยสลายได้ง่าย เสริมระบบความปลอดภัยมากมาย
อาทิ ระบบป้องกัน และลดความเสี่ยงจากการชน Advance Pre-Crash Safety System ระบบเตือนการเปลี่ยนเลน Lane Drift warning system
ฝาระโปรงหน้าแบบ Pop-up ลดความเสี่ยงจากการบาดเจ็บ เมื่อปะทะกับคนเดินถนน (แบบเดียวกับใน แจกัวร์ XK Coupe และ Nissan Skyline V36)
ระบบ กล้อง รอบคัน ส่งสัญญาณภาพมาที่ จอมอนิเตอร์ในรถ เพื่อเพิ่มทัศนวิสัยในจุดบอด และระบบช่วยจอด Parking Assist ที่จะช่วยถอยหลังเข้าจอดให้
เพียงแต่ผู้ขับขี่ ประคองแป้นเบรกเอาไว้เท่านั้น
คันต่อมา เป็น ต้นแบบของ คอมแพกต์ ครอสโอเวอร์ เอสยูวี ที่จะออกมาแข่งขันกับ Nissan Dualis / Qashquai / Renault Kaleos , Honda Crossroad
รถคันนี้ ใช้ชื่อว่า Concept cX
รถคันนี้ เผยโฉมครั้งแรกในงานแฟรงค์เฟิร์ต มอเตอร์โชว์ เดือนกันยายนที่ผ่านมา ด้วยรูปลักษณ์ด้านหน้าที่ชวนให้นึกถึง Mitsubishi Lancer / Galant Fortis
และ Lancer Evolution X อย่างยิ่ง ก็แน่ละครับ เวอร์ชันจำหน่ายจริงของ รถรุ่นนี้ จะถูกพัฒนาขึ้นบนพื้นตัวถังเดียวกันกับ แลนเซอร์ใหม่ นั่นเอง
แผงหน้าปัดตกแต่งให้เน้นการใช้งานที่ง่ายดาย ชุดมาตรวัดต่างๆ อ่านชัดเจน เพราะมีขนาดใหญ่โต
ภายในห้องโดยสารตกแต่งด้วยสีน้ำตาล อันอาจจะกลายเป็นโทนสีที่จะได้รับความนิยมต่อไปในปีหน้า
เพราะรถยนต์รุ่นใหม่ๆของญี่ปุ่นตอนนี้ หนีมาใช้โทนสีน้ำตาลมาทำหนังหุ้มเบาะกันแล้ว
มิติตัวถังยาว 4,100 มิลลิเมตร กว้าง 1,750 มิลลิเมตร สูง 1,550 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,525 มิลลิเมตร
วางเครื่องยนต์ ใหม่ 4N13 ดีเซล 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,799 ซีซี ฉีดจ่ายเชื้อเพลิงด้วยระบบคอมมอนเรล
ด้วยัวฉีด แบบ โซลินอยด์ 136 แรงม้า (PS) ที่ 4,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 28.53 กก.-ม. ที่ 2,000 รอบ/นาที
ส่งกำลังด้วยเกียร์ระบบ Twin Clutch SST พวงมาลัยแร็คแอนด์ พีเนียน ระบบกันสะเทือนหน้าแม็คเฟอร์สันสตรัต
ด้านหลังแบบมัลติลิงค์ สวมด้วยล้ออัลลอย 19 นิ้ว พร้อมยาง 225/45R19
ขับเคลื่อนสี่ล้อ ด้วยระบบ AWC (All Wheel Control) ธรรมดา อีเล็กโทรนิคส์ พร้อม ระบบควบคุมเสถียรภาพ ASC
(Active Stability Control) กระจายแรงเบรก และแรงบิด ในสภาวะฉุกเฉิน
ฝากระโปรงด้านหลังเป็นบานกระจก ออกแบบสไตล์ T-Shaped
เราจะได้เห็นรถต้นแบบคันนี้ มาอวดโฉมคันจริงในเมืองไทยอย่างแน่นอน ในงาน Motor Expo ปลายเดือนพฤศจิกายน – ต้นเดือนธันวาคมนี้
ที่อิมแพ็ค แชเลนเจอร์ ฮอลล์ เมืองทองธานี ครับ
และรถต้นแบบอีกรุ่นหนึ่ง ที่ยังชวนให้สงสัยว่า จะมีการผลิตออกขายจริงหรือไม่ คือ i MiEV Sports
อันเป็นรถสปอร์ตขนาดกระทัดรัด ที่สร้างขึ้นบนพื้นฐานมาจาก มิตซูบิชิ i MiEV รถไฟฟ้า ที่พัฒนาต่อเนื่องจาก
มิตซูบิชิ i เจ้าหนูแฮมสเตอร์ติดล้อ ขนาดตัวถังพิกัด Kei-Jidosha หรือ K-Car ตามกฎหมายญี่ปุ่น ที่จำกัด
ขนาดเครื่องยนต์ไว้ที่ 660 ซีซี แรงไม่เกิน 64 แรงม้า (PS) เพียงแต่ว่า i MiEV Sport เป็นรถที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าล้วนๆ
มิติตัวถังยาว 3,450 มิลลิเมตร กว้าง 1,600 มิลลิเมตร สูง 1,400 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,550 มิลลิเมตร (เท่ากับ วีออสรุ่นปัจจุบัน)
มีน้ำหนักตัว 970 กิโลกรัม ได้รับการออกแบบให้มีจุดศูนย์ถ่วงต่ำ และมีการกระจายน้ำหนักที่ดี เพื่อให้การขับขี่ เป็นไปอย่างคล่องแคล่ว
ใช้โครงสร้างตัวถังนิรภัยแบบ RISE
ห้องโดยสารออกแบบในสไตล์ล้ำสมัย ตามปกติของรถต้นแบบทั่วไป ชุดมาตรวัดความเร็วต่างๆ ย้ายมาติดตั้งบนแกนพวงมาลัยกันเลย
แท่งสีฟ้าๆ ที่ติดอยู่ข้างประตู เป็นลำโพงนะครับ
ระบบขับเคลื่อนนั้น เป็นระบบไฟฟ้าล้วนๆ ใช้มอเตอร์ไฟฟ้า 3 ตัว โดยมีมอเตอร์แบบ In-Wheel สำหรับล้อคู่หน้า
และมอเตอร์สำหรับล้อหลัง ติดตั้งไว้ ตรงกลางเพลาขับ ทำงานร่วมกับระบบ E-AYC (Electronic Active Yaw Control)
มอเตอร์ In Wheel ที่ล้อหน้า แต่ละล้อ ให้กำลัง 20 กิโลวัตต์ รวมแล้วให้กำลัง 47 กิโลวัตต์
แรงบิดสูงสุด จากมอเตอร์คู่หน้า 2 ตัวรวมกัน = 250 นิวตันเมตร หรือ 25.45 กก.-ม.
ส่วนมอเตอร์ด้านหลัง มีแรงบิดสูงสุด 180 นิวตันเมตร หรือ 18.34 กก.-ม.
ทำความเร็วสูงสุด 180 กิโลเมตร/ชั่วโมง
เท่ากับว่า รถคันนี้ ขับเคลื่อน 4 ล้อ ด้วยระบบ S-AWC (อีกแล้ว)
ใช้กำลังไฟจากแบ็ตเตอรีแบบ ลิเธียม ไอออน ความจุ 330 โวลต์
มาพร้อมระบบปลั๊ก สำหรับเสียบชาร์จ การชาร์จ ในโหมด 200 โวลต์ / 15 แอมป์ ใช้เวลา 8.5 ชั่วโมง
ถ้าเปลี่ยนมาใช้โหมดไฟบ้านญี่ปุ่น 100 โวลต์ / 15 แอมป์ ใช้เวลานานถึง 17 ชั่วโมง
และต่อให้เปลี่ยนไปชาร์จในโหมด Quick charge ก็ยังใช้เวลา 35 นาที และได้กำลังไฟแค่ 80 % สู่ระบบเท่านั้
ปละการชาร์จ 1 ครั้งสามารถแล่นไปได้ 200 กิโลเมตร…
ระบบกันสะเทือนหน้าแบบ แม็คเฟอร์สันสตรัต ด้านหลังแบบ เดอ-ดิออง อันเป็นระบบกันสะเทือนที่มักพบเห็นได้จากรถฝรั่งเศส
ไปจนถึงรถเล็กๆในญี่ปุ่นหลายๆยี่ห้อ พวงมาลัย ยกชุดแร็คแนด์พีเนียน พร้อมระบบเพาเวอร์ไฟฟ้า มาจาก คันจำหน่ายจริงของเจ้า i นั่นเอง
ใช้ล้ออัลลอย 17 นิ้ว ลายสามแฉก สวมกับยาง 175/45R17
ส่วนรถรุ่นจำหน่ายจริง หลายๆคนรอคอยมานานแล้วสำหรับการเปิดตัวแลนเซอร์ อีโวลูชัน เท็น (Lancer Evolution X)
คราวนี้ มิตซูบิชิ เลยนำมาจัดแสดง ให้ชมกันอย่างสะใจ ทั้งคันสีแดง ซึ่งจัดแสดงบนเวทีพิเศษ
หลังจากเผยโฉมเวอร์ชันต้นแบบ ในงานโตเกียวมอเตอร์โชว์ 2005 แล้ว
ต้องรอเวลากันถึง 2 ปี คันจำหน่ายจริงถึงจะพร้อมขึ้นโชว์รูมกันเสียที
แถมยังมีส้นสายที่ปรับปรุงจากรถต้นแบบ ค่อนข้างน้อยมาก คงเส้นสายเดิมไว้
ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
นอกจากจะนำคันสีแดงขึ้นแท่นหมุนโชว์ตัวแล้ว ยังมี
มาจัดแสดงอีก 1 คัน บนพื้นที่บูธ ที่เปิดโอกาสให้ผู้เข้าชมงาน ขึ้นไปลองนั่งเล่นกันดู
ภายในห้องโดยสาร มาในมาดขรึม แต่ยังมีระบบนำร่อง สั่งติดตั้งได้ พร้อม ชุดเครื่องเสียงระดับพรีเมียมจาก
Rockford Fosgate
ตำแหน่งคนขับ รู้สึกได้ว่า เต็มไปด้วยสวิชต์ควบคุมอะไรต่อมิอะไรมากขึ้น
ทั้งระบบควบคุมชุดเครื่องเสียงโทรศัพท์ แป้นเปลี่ยนเกียร์หลังพวงมาลัย ฯลฯ
เบาะนั่งคู่หน้า จาก RECARO เช่นเคย
ทรงใหม่นี้ ผมขอเรียกมันว่า รุ่น ดาร์ธ เวเดอร์…จากสตาร์วอร์ส
นั่งกระชับตัวดี แต่ทำให้คุณรู้สึกเหมือนเป็นบิดาของเจได ในทุกการควบคุมรถ
ส่วนเบาะหลังนั้น แน่นอนว่า ประตูคู่หลัง ยังคงเข้าออกง่ายดาย
เบาะนั่ง สบายพอสมควร พื้นที่วางขา มีพอกันกับมาสด้า 3 นั่นละครับ
เครื่องยนต์เป็นรหัสใหม่ ไม่ใช่ 4G63 อีกต่อไป แต่เป็นรหัส 4B11T 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,998 ซีซี
กระบอกสูบ x ช่วงชัก 86.0 x 86.0 มิลลิเมตร (ห้องเผาไหม้แบบสแควร์) พร้อมระบบแปรผันวาล์ว MIVEC
พละกำลังสูงสุดของเวอร์ชันญี่ปุ่นอยู่ที่ 280 แรงม้า (PS) ที่ 6,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 43.0 กก.-ม.ที่ 3,500 รอบ/นาที
มีให้เลือกทั้งเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ และเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ โหมดบวก/ลบ Twin Clutch SST พร้อมสวิชต์เลือกโหมดการทำงานที่ใต้คันเกียร์
เชื่อมด้วยระบบขับเคลื่อนสี่ล้อ S-AWC ที่จะแปรผันการกระจายแรงบิด และแรงเบรก ในแต่ละล้อไปตามการตรวจจับการหมุนของล้อ
ด้วยเซ็นเซอร์ ซึ่งจะช่วยให้การทำหน้าที่ของระบบขับเคลื่อนสี่ล้อ เป็นไปอย่างละเอียดมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม
ระบบกันสะเทือนหน้า แม็คเฟอร์สันสตรัต หลังแบบ มัลติลิงค์ ดิสก์เบรก 4 ล้อ สวมด้วยยาง 245/40R18 93Y
ถ้าคิดว่า อีโวลูชัน เท็น เป็นรถที่ราคาเกินจะเอื้อม Lancer ใหม่ ซึ่งเปิดตัวในญี่ปุ่นไปแล้วด้วยชื่อ Galant Fortis
ก็ยังเป็นอีกทางเลือกที่ตอบสนองลูกค้าได้ดี
แน่นอนว่า ในเมื่อรถคันนี้จะเข้ามาขายในบ้านเรา
เลยต้องลองนัี่งกันสักหน่อย….
เมื่อเปิดขึ้นไปนั่งห้องโดยสารแล้ว งานนี้มิตซูบิชิ ทำได้ดีทีเดียว ทั้งการเลือกใช้วัสดุ และคุณภาพการประกอบที่ดีขึ้น
ภายในห้องโดยสาร ตกแต่งด้วยโทนสีน้ำตาล เช่นเดียวกับรถยนต์รุ่นใหม่ๆหลายรุ่น ที่เริ่มจะหันมาเพิ่มความหรู
ด้วยโทนสีน้ำตาลแบบนี้กันมากขึ้น
แม้ว่าลายไม้จะโผล่มาขัดใจนิดนึงก็ตามที
การเข้าออกประตูคู่หลัง ทำได้สะดวกสบาย และเบาะนั่งทุกตำแหน่ง นั่งได้อย่างสบายลงตัว พื้นที่เหนือศีรษะด้านหลัง ยังไม่ถึงกับเฉี่ยวศีรษะนัก
แต่ก็เหลือไม่มากนัก
หลังจากสัมผัสคันจริงแล้ว ยิ่งช่วยเสริมความเชื่อมั่น ให้ผมรอเก็บเงินซื้อรถคันนี้มากยิ่งขึ้น แต่ทีนี้ เหลือเพียงแค่ ฮอนด้า ซิตี้ ใหม่
จะคลอดออกมามีหน้าตาอย่างไร ถ้าออกมาแล้ว มีหน้าตาสะสวย แต่ไม่ตรงกับรสนิยมของผม ก็คงต้องรอแลนเซอร์ใหม่กันสถานเดียวละคราวนี้
แต่กว่าจะเปิดตัวในเมืองไทย ต้องรอกันอย่างน้อยๆ ก็เดือนตุลาคม 2008 กันเลยทีเดียว เมื่อไหร่ จะขึ้นสายการผลิตกันเสร็จไวๆเสียทีหนอ
นอกจากนี้ พื้นที่บูธมิตซูบิชิ ชั้น 2 นอกจากจะมองเห็นทิวทัศน์ด้านล่างชัดเจนแล้ว ยังมองเห็น i MiEV รถไฟฟ้า
บนพื้นฐานมาจาก เจ้าหนูแฮมสเตอร์ติดล้อ K-Car รุ่น " i " ที่จอดหมุนอยู่บนแท่นลอยฟ้า
และมีพื้นที่จัดแสดง Delica D:5 รุ่น Exclusive ที่ถึงกับต้องกั้นกระจกเอาไว้ให้ดูกันแต่เฉพาะ ลูกค้าที่สนใจจริงๆ
ก็ไม่รู้ว่าทำไมต้องกั้นกระจกไว้ รถก็ไม่ใช่ระดับหรูอย่างรุ่น Derbonair
หรือ Proudia / Dignity ที่เลิกผลิตไปแล้วนั่นสักหน่อย
ว่ากันถึง Delica D:5 แล้ว ก็คงต้องขอนำมาปิดท้ายบูธมิตซูบิชิกันตรงนี้…
ด้วยรถผ่าครึ่ง แสดงให้เห็นถึงพื้นที่ห้องโดยสารที่ยาว และกว้างขวางเอาเรื่อง
จำรถต้นแบบ Concept D5 ที่เคยมาโชว์ในบ้านเรา ช่วง บางกอก มอเตอรืโชว์ ที่ไบเทค
ปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมาได้ไหมครับ?
รถคันนี้ ถูกพัฒนาต่อเนื่องมาเป็น เดลิกา D:5 นั่นเอง
ออกสู่ตลาดญี่ปุ่นมาตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม แล้วละครับ และขายได้เรื่อยๆ
รวมทั้งยังมีคันจำหน่ายจริง ติดตั้งอุปกรณ์สำหรับผ้ทุพพลภาพในชื่อ Hearty Run มาจัดแสดงด้วย
จอดขนาบข้างกับ เจ้า " i " รุ่น Casual Edition
ซึ่งลดทอนอุปกรณ์ลงมาจากรุ่นท็อปพอสมควร รวมทั้งสีกรอบประตูด้านข้าง
ที่พ่นเป็นสีเดียวกับตัวถัง
i เคยมาโชว์คันจริงในไทยแล้ว ในงาน บางกอก มอเตอร์โชว์ ที่ไบเทค เดือนมีนาคมที่ผ่านมาเช่นกัน
และแน่นอนว่า จะขาดสีสัน อย่าง เอสยูวีรุ่น Pajero ไป คงไม่ใช่เรื่อง
งานนี้ จึงมีทั้งเวอร์ชันลงแข่งขันรายการแรลลี ดาการ์
และคันจำหน่ายจริง 5 ประตู มาจัดแสดง ในรอบประชาชนทั่วไป
(แต่ไม่โผล่ในรอบสื่อมวลชนแหะ)
———————————————————————
***** S U B A R U *****
ปีนี้ บูธของซูบารุ มีขนาดใหญ่โตพอๆกับเดิม แต่เพิ่มความโปร่งโล่งสบายมากขึ้น ตกแต่งให้ดูสว่างไสว เช่นเดียวกับค่ายอื่นๆ
แน่นอนว่า ในเมื่อพระเอกหลักของบูธมิตซูบิชิ คือ แลนเซอร์ อีโวลูชัน ค่ายดาวลูกไก่จะน้อยหน้าไปได้อย่างไร
งานนี้ซูบารุจึงเปิดตัว Impreza WRX STi ทั้งแบบ ตัวแข่งแรลลีโลก WRC สำหรับฤดูกาลใหม่ 2008 จอดห้อยเอียงเอาไว้ด้านหน้าบูธ….
ใครว่าจะมีมาแต่เวอร์ชันแรลลีโลก?…..
เพราะงานนี้ เวอร์ชันจำหน่ายจริง ก็มา! และเปิดตัวครั้งแรกสู่สาธารณชน กันในวันเปิดงานเลยทีเดียว!
คราวนี้ WRX Sti ถูกสร้างขึ้นบนพื้นฐานของ ตัวถัง แฮตช์แบ็ก 5 ประตู มิใช่ ซีดาน 4 ประตูเหมือนแต่ก่อน
ทำให้หลายๆคนตั้งข้อกังขาว่า ซูบารุเป็นอะไรไป เกิดอารมณ์ไหนขึ้นมา ถึงได้ออกรุ่น 5 ประตูมาแบบนี้
ส่วนหนึ่ง ซูบารุเอง บอกว่า ที่ผ่านมา ทำรถเอาใจลูกค้ากลุ่ม คนรักรถ มาตลอด แต่รายได้ไม่ค่อยจะดี
ขืนอยู่ต่อไปอย่างนี้ มีหวังชีช้ำ ว่าแล้วซูบารุ เลยตัดสินใจ จะจับลูกค้ากลุ่มทั่วๆไปให้มากขึ้น
จึงเน้นให้รุ่น แฮตช์แบ็ก 5 ประตู กลายเป็นตัวถังหลักของอิมเพรสซาตระกูลนี้ไปแทน
เพื่อจะจับลูกค้าหนุ่มสาว กลุ่มที่ไม่เคยใช้ซูบารุ ให้หันมาลองซื้อไปขับใช้งานดูนั่นเอง
จุดเด่นของWRX STi ใหม่ นอกจากจะอยู่ที่รูปลักษณ์ภายนอก ถูกตีโป่งออกมาให้ดุดันยิ่งขึ้นแล้ว
ยังมีการปรับปรุงห้องโดยสาร ให้สปอร์ต เข้มมากขึ้น แต่ออกจะงงๆอยู่ว่า มีปุ่มติดเครื่องยนต์
แบบเดียวกันลายเดียวกัน จากรถโตโยต้า / เล็กซัส ในบ้านเรา มาโผล่ที่ WRX STi ใหม่ได้อย่างไร
นั่งคิดไปคิดมา ไม่แปลกใจ เพราะตอนนี้ โตโยต้า กลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหม่ของ ฟูจิเฮฟวีอินดัสตรี ไปแล้วนี่นา
ถึงว่า ก่อนหน้ามาญี่ปุ่น มีรายงานข่าวในนิตยสาร MAG-X ว่า พบรถ เลกาซี B4 ผ่าครึ่ง แล้วหดให้สั้น
วิ่งเล่นอยู่ในสนามทดสอบของโตโยต้าที่ญี่ปุ่น….
ภายในมีระบบนำร่องมาให้
แต่ความน่าใช้ของแผงหน้าปัด ยังไงๆ ผมคงยกให้แลนเซอร์ อีโวลูชัน X ที่ทำออกมาได้ดีกว่า
แต่ที่แน่ๆ เครื่องยนต์ ที่ใช้ยังคงเป็น รหัส EJ20 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,994 ซีซี
พร้อมระบบแปรผันวาล์ว Dual AVCS และเทอร์โบแบบ Twin Scroll
ตัวเลขกำลังสูงสุดมากกว่า แลนเซอร์ อีโวลูชัน X ชัดเจน 308 แรงม้า (PS) ที่ 6,400 รอบ นาที
ทว่าแรงบิดสูงสุดกลับเท่ากัน 43.0 กก.-ม.ที่ 4,400 รอบ/นาที
มาพร้อมเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ
ส่วนระบบขับเคลื่อนสี่ล้อ มี ระบบ DCCD (Driver s Control Center Differential)
ให้ผู้ขับขี่เลือกการกระจายแรงบิด ระหว่างล้อหน้า-หลัง ตามความต้องการได้ทันที
พร้อมระบบ ควบคุมเสถียรภาพ VDC และระบบ Si-Drive ปรับการทำงานของระบบเครื่องยนต์
และรูปแบบการขับขี่ ให้สัมพันธ์กับความต้องการได้ 3 โหมด ยกมาจาก ตระกูล เลกาซี
รวมทั้งระบบช่วยติดเครื่องยนต์บนทางลาดชัน Hill Start Assist
ชุดเพลาตัดต่อกำลังด้านหน้า Helicle LSD ส่วนด้านหลังเป็นแบบ Torsen LSD
ดิสก์เบรก 4 ล้อ จาก Brembo
ส่วนการตกแต่งนั้น เบาะนั่งจาก RECARO ลายพิเศษ STi โดยเฉพาะ
และมีชุดเครื่องเสียง แบบพรีเมียม มาพร้อมกับระบบนำร่องผ่านดาวเทียม และระบบสื่อสารอัจฉริยะ
G-Book Alpha จาก โตโยต้า ถุงลมนิรภัยคู่หน้า ด้านข้างและม่านลมนิรภัยรวม 6 ใบ
ฯลฯ อีกมากมาย เกินจะบรรยายหมดในพื้นที่แค่นี้
ส่วนรุ่นธรรมดาของอิมเพรสซา คราวนี้ มีรุ่นพิเศษ สีส้ม Beams Edition มาเปิดตัวกันในงานนี้อีกด้วย
ตัวรถนั้น สีส้มราวกับสีของรถการไฟฟ้านครหลวง บ้านเราเลยทีเดียว
รอบๆข้างบูธ จะมีการตกแต่งให้เข้ากับแนวคิดของตัวรถ ไม่เว้นแม้แต่พื้นของบูธ
ในส่วนของรถยนต์ต้นแบบ นั้น ซูบารุนำมาจัดแสดง 3 คัน ไม่ว่าจะเป็น Exiga
คอมแพกต์ สเตชันแวกอน รุ่นต้นแบบ ที่คาดว่า เวอร์ชันจำหน่ายจริงน่าจะสร้างขึ้น
บนพื้นฐานจาก อิมเพรสซารุ่นใหม่
เอ็กซิก้า เดิมเคยเป็นชื่อรถต้นแบบ คันหนึ่งของซูบารุมาก่อนแล้ว ในงานโตเกียวมอเตอร์โชว์ ประมาณร่วมๆสิบปีก่อน
มาคราวนี้ ชื่อ เอ็กซิก้า ถูกปัดฝุ่นขึ้นมาใหม่ ในฐานะของรถที่เตรียมจะผลิตออกขายจริง
ภายใต้แนวคิด 7 Seater Panoramic Touring เน้นความปลอดโปร่งโล่งสบายตลอดการเดินทาง ของ
ผู้โดยสาร ทั้ง 7 คน
ห้องโดยสาร ตกแต่งด้วยโทนสีครีม มีจอแสดงภาพเคลื่อนไหว เล่นแสงเล่นสี เหมือนหน้าจอโปรแกรม Window Media Player
ประตูเข้าออกด้านหลัง แมดูเหมือนจะเข้าออกได้สบายแค่ไหน แต่เจ้าหน้าที่เขาก็ไม่ให้ผมเข้าไปนั่งข้างในครับ
ถ่ายภาพได้แต่จากด้านนอก
ทำไมผมเชื่อว่า รถคันนี้ สร้างขึ้นบนพื้นฐานของอิมเพรสซาใหม่?
ถ้าไม่เชื่อ ดูจากแผงหน้าปัดสิครับ ว่ามีความคล้ายคลึงอะไรกับอิมเพรสซารุ่นจำหน่ายจริงไปแล้วแค่ไหน?
ด้านบนเป็นหลังคากระจกปลอดโปร่ง โล่งสบาย มีจอมอนิเตอรื สำหรับให้ความบันเทิงผู้โดยสารด้านหลัง
อีก 2 แถว ใครจะเชื่อว่า นี่คือสเตชันแวกอน 7 ที่นั่ง??
เวอร์ชันขายจริงคาดว่าน่าจะโผล่ขึ้นโชว์รูมกันได้ ภายในช่วงปีหน้า จนถึงไม่เกินปี 2009 โดยประมาณ
มิติตัวถังยาว 4,780 มิลลิเมตร กว้าง 1,775 มิลลิเมตร สูง 1,630 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,750 มิลลิเมตร
วางเครื่องยนต์ EJ20 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,994 ซีซี เทอร์โบ แต่ยังไม่ระบุตัวเลขสมรรถนะที่แน่ชัด
เกียร์อัตโนมัติ แบบ SportShift 5 จังหวะ E-AT
ระบบกันสะเทือนหน้าแม็คเฟอร์สันสตรัต หลัง ปีกนกคู่ พร้อมระบบขับเคลื่อนสี่ล้อ VTD-AWD
สวมด้วยล้ออัลลอย 19 นิ้ว พร้อมยาง 225/45R19
ตอนที่จะถ่ายภาพรถคันนี้ทีไร จะต้องเจอกับเจ้าหน้าที่ประจำบูธคอยเช็ดรถให้สะอาดตลอดเวลา
จนอยากจะร้องบอกพวกญี่ปุ่นเหล่านั้นไปว่า
"เฮ้ย น้องๆ แค่นี้ก็สะอาดพอแล้วจะสะอาดไปถึุงไหนนน
เอาให้แมลงวันมันลื่นล้มขาหักตายกันเลยไหม?"
อีกคันหนึ่งคือ G4e ต้นแบบของรถไฟฟ้า สีเขียว 5 ประตู ตกแต่งห้องโดยสาร สีแดง-ขาว ขัดกับตัวรถภายนอกอันสวยงามลงตัวอย่างมาก
ทั้งที่มุ่งเน้นความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ตังถังมีความยาว 3,985 มิลลิเมตร กว้าง 1,695 มิลลิเมตร สูง 1,570 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,650 มิลลิเมตร
ระบบขับเคลื่อนเป็นมอเตอร์ไฟฟ้า Permanent Magnet Synchronous Motor
พร้อมระบบควบคุมการจ่ายกระแสไฟด้วย Invereter เก็บพลังไฟลงในแบ็ตเตอรีแบบ ลิเธียม ไอออน
เทคโนโลยีใหม่ Nano-Vanadium ซึ่งมีประสิทธิภาพดีกว่า แบ็ตเตอรีแบบเดิม
ความจุ 346 โวลต์ ให้กำลังขับเคลื่อนตัวรถสูงสุด 65 กิโลวัตต์ และใช้เวลาในการาร์จแบบเร่งด่วน 80% ใน 15 นาที
แต่ถ้าจะชาร์จจนเต็ม 100% รอไปได้เลย 8 ชั่วโมง และแล่นได้ในระยะทาง 200 กิโลเมตร ต่อการชาร์จไฟ 1 ครั้ง
ไม่เพียงเท่านั้น ยังมี รถไฟฟ้า R1e ที่ดัดแปลงมาจาก K-Car แมลงเต่าทองตัวน้อย R1 ซึ่งผมเคยทดลองขับและรายงานไปแล้ว
มาแปลงร่าง ติดตั้งระบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า ภายใต้ความร่วมมือกับ
TEPCO (Tokyo Electric Power Company)
ซึ่งตอนนี้มีอยู่ทั้งหมด 40 คัน สำหรับใช้ในกิจการของ TEPCO
และหน่วยงานภาครัฐ
มีปลั๊กหน้ารถสำหรับ ชาร์จไฟเข้าแบ็ตเตอรี ลิเธียม-อิออน 346 โวลต์
การชาร์จ 1 ครั้ง
แล่นได้ระยะทาง 80 กิโลเมตร
ชาร์จด่วน 1 ครั้ง 80% ทำได้ใน 15 นาที
แต่ถ้าชาร์จจนเต็ม 100% ก็ต้องรอึง 8 ชั่วโมงเหมือนกัน
น้ำหนักตัวรถ 920 กิโลกรัม
และนอกจากนี้ ซูบารุยังเปิดตัวเครื่องยนต์ ดีเซล บ็อกเซอร์ สูบนอน คอมมอนเรล เทอร์โบ แบบแรกในโลก ออกมาจนได้ในที่สุด
หลังจากเผยโฉมครั้งแรกในงานเจนีวา ออโตซาลอน เดือนมีนาคมที่ผ่านมา
เป็นเครื่องยนต์แบบ 4 สูบนอน DOHC 16 วาล์ว 1,998 ซีซี พร้อมเทอร์โบชาร์จ แบบ ครีบแปรผัน Variable Nozzle
150 แรงม้า (PS) ที่ 3,600 รอบนาที แรงบิดสูงสุด 35.7 กก.-ม.ที่ 1,800 รอบ/นาที เครื่องยนต์ใหม่นี้
จะเริ่มติดตั้งลงในรถยนต์รุ่นใหม่ๆของซูบารุ สำหรับตลาดยุโรป และทั่วโลก นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2008 เป็นต้นไป
ส่วนรถตลาดเวอร์ชันพิเศษที่นำมาดัดแปลงนั้น มีอยู่ 2-3 คัน
มีทั้ง Outback รุ่นพิเศษUrban Selection ตกแต่งภายในด้วยหนังกลับสังเคราะห์ Alcantara
และ Stella Revesta เวอร์ชันพิเศษ ของ K-Car ทรงTall boy รุ่น สเตลล่า ที่เตรียมจะออกขายในเร็วๆนี้
แต่ที่ผมอยากได้ที่สุดในบูธซูบารุก็คือ รถโมเดลเหล่านี้
จะแย่หน่อยก็ตรงที่ เขาไม่มีขาย………
———————————————————————
***** D A I H A T S U *****
งานในปี 2005 ไดฮัทสุ หลุดพ้นจากการต้องรวมอาศัยพื้นที่บูธกับโตโยต้า จนทำให้ความโดดเด่นที่ควรจะมีของแต่ละแบรนด์ หายไป
ปีนี้ ไดฮัทสุจึงตัดสินใจ แยกตนเองมาเป็นเอกเทศ ตั้งพื้นที่อยู่ข้างๆ โตโยต้า แต่ว่า มีขนาดค่อนข้างใหญ่โตกว่าหลายๆปีที่ผ่านมา
ปีนี้ ผู้ลิตรถยนต์ขนาดเล็กในเครือโตโยต้า อันเป็น คู่รักคู่แค้นของ ซูซูกิ ยังคงนำรถต้นแบบ มาประชันโฉมอย่างหนาตาอยู่เช่นเดิม
เริ่มกันที่ รถสปอร์ตเปิดประทุนต้นแบบขนาดเล็ก OFC-1 ที่คาดว่าจะเป็นต้นแบบให้กับรุ่นเปลี่ยนโฉมโมเดลเชนจ์ของ Copen
รถเปิดประทุนหลังคาแข็ง ทรง Retro ย้อนยุค ที่ดังไกลไปถึงยุโรป
มีติตัวถัง ยาว 3,395 มิลลิเมตร กว้าง 1,475 มิลลิเมตร สูง 1,290 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,230 มิลลิเมตร
วางเครื่องยนต์เบนซิน 3 สูบ DOHC 12 วาล์ว เทอร์โบ 660 ซีซี (กำลังสูงสุดไม่ระบุ แต่เดาได้เลยว่าไม่เกิน 64 แรงม้า (PS)
ตามกฎหมายญี่ปุ่นแน่ๆ) ขับเคลื่อนล้อหน้า พร้อมเกียร์อัตโนมัติอัตราทดแปรผันต่อเนื่อง CVT
นั่งได้ 2คน มีระบบปรับการทำงานของระบบกันสะเทือน ด้วยอีเล็กโทรนิคส์ 3 ระดับ หลังคาแข็งแบบโปร่งใสด้วย LCD Sunshade
คันต่อมาเป็น ต้นแบบของรถยนต์ K-Car แฮตช์แบ็ก ยุคต่อไป ในชื่อ HSC (Heart & Smile Concept)
โดดเด่นด้วยประตูทั้ง 4 บาน เปิดออกในแบบ ตู้กับข้าว เข้าออกห้องโดยสารได้โปร่งโล่งสบายยิ่งขึ้น
พื้นตัวถังเป็นแบบ แนวตรงตลอด ต่อเนื่องจาดด้านหน้าจนถึงหลังรถ เพิ่มความปลอดภัยจากการชน
มิติตัวถังยาว 3,395 มิลลิเมตร กว้าง 1,475 มิลลิเมตร สูง 1,550 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,490 มิลลิเมตร
วางเครื่องยนต์เบนซิน 3 สูบ DOHC 12 วาล์ว เทอร์โบ 660 ซีซี (กำลังสูงสุดไม่ระบุ แต่เดาได้เลยว่าไม่เกิน 64 แรงม้า (PS)
ตามกฎหมายญี่ปุ่นแน่ๆ) ขับเคลื่อนล้อหน้า พร้อมเกียร์อัตโนมัติอัตราทดแปรผันต่อเนื่อง CVT
เหมือนกับ OFC-1 แต่เพิ่มระบบ Idle Stop เพื่อช่วยลดความสิ้นเปลืองขณะจอดอยู่บนสภาพการจราจรติดขัด
คันต่อไป คือ MUD MASTER – C รถยนต์อเนกประสงค์ ออกแบบในสไตล์เดียวกับ รถบรรทุกที่ใช้แข่งขันในรายการแรลลี ดาการ์
เหมาะสำหรับการขนสัมภาระไปเที่ยว ขนจักรยานไปลงแข่งขัน พื้นทื่ด้านหลัง สามารถดัดแปลงได้อย่างที่ใจต้องการ
ภายในรถมีหน้าจอ LCD ควบคุมอุปกรณ์ต่างๆ รวมทั้งเบาะนั่งยังบุด้วยวัสดุกันน้ำ
มิติตัวถังยาว 3,395 มิลลิเมตร กว้าง 1,600 มิลลิเมตร สูง 1,960 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อสั้นเพียง 1,900 มิลลิเมตร นั่งได้ 2คน
วางเครื่องยนต์เบนซิน 3 สูบ DOHC 12 วาล์ว ไม่มีเทอร์โบ 660 ซีซี (กำลังสูงสุดไม่ระบุ แต่เดาได้เลยว่าไม่เกิน 64 แรงม้า (PS)
ตามกฎหมายญี่ปุ่นแน่ๆ)
ขับเคลื่อน 4 ล้อ แบบ Part-time ด้วยเกียร์ Hi – Low พร้อมล้ออัลลอย 16 นิ้ว และยางขนาด 225/75R16
นอกจากนี้ ไดฮัทสุ ยังนำเทคโนโลยีใหม่ๆมาจัดแสดง ทั้งชุดมาตรวัดแบบ OPCS…….
ที่แสดงผลได้เป็นแบบ 3 มิติ ตามสภาพที่เกิดขึ้นจริง
ทั้งการแจ้งเตือนผู้ขับขี่ หรือ แจ้งบอกข้อมูล ด้วยเสียง และภาพกราฟฟิคเคลื่อนไหว
ราวกับได้แรงบันดาลใจมาจากเกมคอมพิวเตอร์
รวมทั้งเทคโนโลยีเครื่องยนต์ใหม่ จากตระกูล TOPAZ มาจัดแสดงในงานนี้อีกด้วย
ส่วนรถยนต์รุ่นใหม่ที่เตรียมจะออกสู่ตลาดในทันที หลังงานนี้จบลง คือ รุ่นเปลี่ยนโฉมของ K-Car ทรง Tall boy ในชื่อ Tanto ( ตันโตะ)
และรุ่นมาดขรึมอย่าง Tanto Custom
มิติตัวถังยาว 3,395 มิลลิเมตร กว้าง 1,475 มิลลิเมตร สูง 1,750 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,490 มิลลิเมตร
วางเครื่องยนต์เบนซิน 3 สูบ DOHC 12 วาล์ว 660 ซีซี มีทั้งแบบมี และ ไม่มีเทอร์โบ 50 กว่า – 64 แรงม้า (PS)
จุดเด่นของตันโตะอยู่ที่ การเป็นรถยนต์ เค-คาร์ คันแรกในตลาดญี่ปุ่น
ที่ไม่มีเสาหลังากลาง B-Pillar บริเวณฝั่งซ้ายของตัวรถ
ช่วยให้การเข้าออกจากรถ เปิดโล่งและทำได้สะดวกยิ่งขึ้น แต่ยังคงความปลอดภัยเอาไว้ และสะดวกต่อการติดตั้งอุปกรณ์สำหรับผู้ทุพพลภาพอย่างที่เห็น
อันที่จริงแล้ว รถไร้เสาหลังคากลางแบบนี้ รายแรกที่ทำขาย คือ Nissan Prarie ในปี 1983 จากนั้น จึงจะเป็น Mazda RX-8 ในปี 2003
แล้วตามด้วย มินิแวน Toyota ISIS ในปี 2005 ก่อนจะมาเป็น ไดฮัทสุ ตันโตะ คันนี้
นอกจากนี้ยังมีรถยนต์ที่ทำตลาดอยู่แล้วในปัจจบันมาจัดแสดงกันเกือบครบ
ทั้งรถสปอร์ตเปิดประทุน Copen ที่มาในมาดของLimited Edition สีม่วง เบาะ Recaro พวงมาลัย MoMo
ไดฮัทสุ Move Customและคอมแพกต์เอสยูวี ตัวแทนของ เทริออสในชื่อ ไดฮัทสุ Be>Go (ขายในแบรนด์โตโยต้า ชื่อ Rush)
แน่นอนว่า Mira รุ่นล่าสุด ก็นำมาจัดแสดงที่นี่ด้วย
ปิดท้ายด้วยรถผู้ทุพพลภาพ ที่มีมาให้เลือกกันหลายรูปแบบ
***** M I T S U O K A *****
บริษัทรถยนต์เล็กๆ แต่มีความฝันไกล รายนี้ ตั้งใจนำรถสปอร์ตรุ่นใหม่ของตน มาอวดโฉมกันเช่นเคย
แนวเส้นสายประหลาดๆแบบนี้ มีบริษัทนี้รายเดียว ที่กล้าทำ…และยังมีลูกค้ากล้าสั่งซื้อเสียด้วยสิ
—————————————————————————————–
ติดตามอ่านต่อได้ ในตอนที่ 3