เดียร์บอน มิชิแกน – ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี รายงานผลกำไรก่อนหักภาษีตลอดทั้งปีพ.ศ. 2554 ที่ 8.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 2.64 แสนล้านบาท) เพิ่มขึ้น 463 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1.39 หมื่นล้านบาท) เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า เนื่องจากผลประกอบการที่แข็งแกร่งในทวีปอเมริกาเหนือและจากฟอร์ด เครดิต ที่ช่วยชดเชยความท้าทายทางธุรกิจจากภูมิภาคอื่นๆ ของโลก นับเป็นปีที่ 3 แล้วที่ฟอร์ดมีกำไรจากการดำเนินธุรกิจตลอดทั้งปีดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
“เราประกาศผลประกอบการตลอดทั้งปีที่ดีเยี่ยมจากการนำเสนอรถยนต์ที่เหนือชั้นให้แก่ลูกค้าของเราทั่วโลก รวมทั้งการดำเนินงานตามแผนเพื่อบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้สำหรับปีพ.ศ. 2558” มร. อลัน มูลัลลี ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหารฟอร์ด กล่าว “แม้ว่าจะมีความไม่แน่นอนเกิดขึ้นจากสภาพแวดล้อมภายนอก ทว่า ความแข็งแกร่งในการดำเนินงานของเราในทวีปอเมริกานเหนือ และฟอร์ด เครดิต ทำให้บริษัทเดินหน้าการลงทุนเพื่อสร้างการเติบโตในอนาคตและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ยอดเยี่ยมได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อการเป็นผู้นำทั้งด้านคุณภาพที่ดี เทคโนโลยีล้ำสมัย ปลอดภัยต่อชีวิต เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และคุ้มค่าคุ้มราคา”
กำไรสุทธิตลอดทั้งปีพ.ศ. 2554 ของฟอร์ดอยู่ที่ 2.02 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 6.06 แสนล้านบาท) หรือ 4.94 เหรียญสหรัฐต่อหุ้น เพิ่มขึ้น 1.37 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 4.11 แสนล้านบาท) หรือ 3.28 เหรียญสหรัฐต่อหุ้น เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า รายได้สุทธิของบริษัทนี้รวมถึงรายได้จากรายการพิเศษที่มิใช่เงินสดมูลค่า 1.24 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 3.72 แสนล้านบาท) จากการลดการเผื่อการปรับมูลค่าภาษีเงินได้รอการตัดบัญชีสุทธิของบริษัท
กำไรก่อนหักภาษีในไตรมาส 4 ของปีพ.ศ. 2554 อยู่ที่ 1.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 3.3 หมื่นล้านบาท) หรือ 20 เซนต์ต่อหุ้น ลดลง 189 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 5.67 พันล้านบาท) จากไตรมาส 4 ของปีพ.ศ. 2553 ฟอร์ดมีกำไรก่อนหักภาษีมาแล้วถึง 10 ไตรมาสต่อเนื่องกัน เนื่องจากยอดขายและรายรับที่เพิ่มขึ้นจากผลิตภัณฑ์ทั้งหมดที่วางจำหน่ายทั่วโลก
รายได้สุทธิประจำไตรมาส 4 อยู่ที่ 1.36 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 4.08 แสนล้านบาท) หรือ 3.40 เหรียญสหรัฐต่อหุ้น เพิ่มขึ้น 1.34 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 4.02 แสนล้านบาท) หรือ 3.35 เหรียญสหรัฐต่อหุ้น เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ของปีพ.ศ. 2553 ซึ่งเป็นผลมาจากผลกระทบด้านบวกจากการลดการเผื่อการปรับมูลค่าของภาษีเงินได้รอการตัดบัญชีสุทธิ1.24 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 3.72 แสนล้านบาท) ทั้งนี้ ฟอร์ดเริ่มหักค่าเผื่อการปรับมูลค่าของภาษีเงินได้รอการตัดบัญชีสุทธิในไตรมาส 3 ของปีพ.ศ. 2549 ทำให้บริษัทมียอดขาดทุนสะสมจำนวนมาก ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาพรวมทางการเงินของบริษัทในเวลานั้น อย่างไรก็ดี การที่บริษัทมีพัฒนาการทางธุรกิจที่ดีขึ้นอย่างแข็งแกร่งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทำให้บริษัทลดการเผื่อการปรับมูลค่าของภาษีเงินได้รอการตัดบัญชีสุทธิเกือบทั้งหมดได้
รายได้สุทธิในไตรมาส 4 ของบริษัทยังได้รับผลกระทบด้านบวกจากรายการพิเศษมูลค่า 401 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท) จากการขายหน่วยงานด้านปฏิบัติการของฟอร์ด รัสเซีย ให้แก่ฟอร์ด โซลเลอร์ส ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนแห่งใหม่ที่เริ่มดำเนินกิจการเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2554
จากผลประกอบการทางการเงินของฟอร์ดในปีพ.ศ. 2554 ฟอร์ดจะแบ่งผลกำไรให้แก่พนักงานประจำของบริษัทราว 41,600 คน ตามสูตรการคำนวณภายใต้ข้อตกลงของสหภาพแรงงานและฟอร์ด การที่ฟอร์ดในทวีปอเมริกาเหนือมีกำไรก่อนหักภาษี 6.2 พันล้านเหรีญสหรัฐ (ประมาณ 1.86 แสนล้านบาท) จะทำให้พนักงานประจำที่ทำงานครบทั้งปีได้รับส่วนแบ่งประมาณ 6,200 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 186,000 บาท) ซึ่งอาจสูงกว่าหรือต่ำกว่านี้ ขึ้นอยู่กับชั่วโมงการทำงานของพนักงาน
ฟอร์ดมีกระแสเงินสดจากการดำเนินธุรกิจยานยนต์เป็นบวกที่ 700 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 2.1 หมื่นล้านบาท) ในไตรมาส 4 และ 5.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1.68 แสนล้านบาท) ตลอดทั้งปี เพิ่มขึ้น 1.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 3.6 หมื่นล้านบาท) เทียบกับตลอดทั้งปีพ.ศ. 2553
ณ วันสิ้นปี ฟอร์ดมีเงินสดขั้นต้นจากธุรกิจยานยนต์ 2.29 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 6.87 แสนล้านบาท) เทียบกับเงินสดขั้นต้นจากธุรกิจยานยนต์ที่ 2.08 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 6.24 แสนล้านบาท) เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2554 และ 2.05 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 6.15 แสนล้านบาท) เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2553 ฟอร์ดมีหนี้จากธุรกิจยานยนต์รวม 1.31 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 3.93 หมื่นล้านบาท) ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2554 เทียบกับมูลค่า 1.27 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 3.81 หมื่นล้านบาท) เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2554 และ 1.91 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 5.73 แสนล้านบาท) เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2553 สภาพคล่องจากธุริกจยานยนต์โดยรวมของบริษัท ณ วันสิ้นปีพ.ศ. 2554 อยู่ที่ 3.24 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 9.72 แสนล้านบาท) ซึ่งรวมถึงวงเงินสินเชื่อทั้งหมด
ส่วนหนึ่งของแผนกลยุทธ์ในระยะยาวของบริษัทเพื่อลดความเสี่ยงจากแผนการจ่ายเงินบำนาญ บริษัทคาดว่าจะสามารถแบ่งสดเงินให้แก่แผนการจ่ายเงินบำนาญประจำปีพ.ศ. 2555 ประมาณ 3.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1.05 แสนล้านบาท) ซึ่งรวมถึงแผนการจ่ายเงินบำนาญในสหรัฐมูลค่า 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 6 หมื่นล้านบาท)
“พ.ศ. 2554 นับเป็นปีที่เราประสบความสำเร็จอย่างมากในการสร้างความแข็งแกร่งให้แก่งบดุลของบริษัท เราเพิ่มเงินสดในธุรกิจยานยนต์ ลดหนี้ และเพิ่มสภาพคล่องให้แก่บริษัท ซึ่งเป็นการปูทางสู่การกลับมาจ่ายเงินปันผลทุกๆ ไตรมาส” มร. ลูอิส บูธ รองประธานบริหารและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของฟอร์ด กล่าว “จากรากฐานที่แข็งแกร่งนี้ เราจะเติบโตยิ่งขึ้นไปอีกในปีพ.ศ. 2555 และจะพยายามอย่างเต็มความสามารถเพื่อทำให้งบดุลของบริษัทมีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น”
ไฮไลท์สำคัญของฟอร์ดในไตรมาส 4 และตลอดทั้งปีพ.ศ. 2554
• สร้างความนิยมให้แก่ผลิตภัณฑ์ของบริษัทอย่างต่อเนื่อง ด้วยการเปิดตัวรถกระบะระดับโลก ฟอร์ด เรนเจอร์ ใหม่ การเปิดตัวเครื่องยนต์อีโคบู๊สต์แบบ 3 สูบขนาด 1.0 ลิตร และการเผยโฉมฟอร์ด เอสเคป ใหม่
• มีส่วนแบ่งตลาดในประเทศสหรัฐเพิ่มขึ้นเป็นปีที่ 3 ต่อเนื่องกัน ขณะที่แบรนด์ฟอร์ดมีมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้น 3 เปอร์เซ็นต์ในช่วงดังกล่าว นอกจากนี้ บริษัทยังมีส่วนแบ่งตลาดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและแอฟริกาเพิ่มขึ้น และมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้น 3 ไตรมาสต่อเนื่องกันในทวีปยุโรป
• เพิ่มความสามารถทางการแข่งขันในสหรัฐด้วยการลงนามในข้อตกลง 4 ปี ร่วมกับสหภาพแรงงาน
• ประกาศการแบ่งผลกำไรประจำปีพ.ศ. 2554 และการกลับมาจ่ายปันผลรายไตรมาส
• มีกำไรก่อนหักภาษีมากกว่า 8 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 2.4 แสนล้านบาท) เป็นปีที่ 2 ต่อเนื่องกัน และมีกำไรต่อปีเพิ่มขึ้นเป็นปีที่ 3 ต่อเนื่องกัน
• หนี้จากธุรกิจยานยนต์ลดลง 6 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1.8 แสนล้านบาท) ณ วันสิ้นปี เงินสดขั้นต้นจากธุรกิจยานยนต์ของบริษัทมีมูลค่ามากกว่าหนี้อยู่ 9.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 2.94 แสนล้านบาท) ดีขึ้น 8.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 2.52 แสนล้านบาท) ในปีที่ผ่านมา
• ฟอร์ดเริ่มต้นการก่อสร้างโรงงานประกอบรถยนต์และระบบส่งกำลังใหม่ 4 แห่ง ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและแอฟริกา และเปิดตัวบริษัทร่วมทุน ฟอร์ด โซลเลอร์ส ในประเทศรัสเซีย
ธุรกิจยานยนต์
ผลกำไรก่อนหักภาษีจากภาคยานยนต์ในไตรมาส 4 อยู่ที่ 586 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1.76 หมื่นล้านบาท) ลดลง 155 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 4.65 พันล้านบาท) เทียบกับไตรมาส 4 ของปีพ.ศ. 2553 เนื่องจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งค่าใช้จ่ายด้านวัตถุดิบและค่าตอบแทนที่เพิ่มขึ้นในทวีปอเมริกาเหนือซึ่งเกี่ยวเนื่องกับข้อตกลงใหม่กับสหภาพแรงงาน และผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน ขณะที่ปัจจัยบวกประกอบด้วยการตั้งราคาที่เหมาะสม ยอดขายที่เพิ่มขึ้น และส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสม
ผลกำไรก่อนหักภาษีตลอดทั้งปีพ.ศ. 2554 อยู่ที่ 6.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ปะมาณ 1.89 แสนล้านบาท) เพิ่มขึ้น 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท) เนื่องจากผลประกอบการที่ดีในทวีปอเมริกาเหนือ และกำไรที่แข็งแกร่งจากทวีปอเมริกาใต้ ขณะที่ปัจจัยลบมาจากผลประกอบการในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและแอฟริกา และทวีปยุโรป
ยอดค้าส่งรถยนต์โดยรวมในไตรมาส 4 อยู่ที่ 1.4 ล้านหน่วย เพิ่มขึ้น 38,000 หน่วยจากไตรมาส 4 ของปีพ.ศ. 2553 ยอดค้าส่งในทวีปอเมริกาเหนือมีปริมาณเพิ่มขึ้น ขณะที่ทวีปอเมริกาใต้ ยุโรป และเอเชียแปซิฟิกและแอฟริกา มียอดค้าส่งลดลง ยอดค้าส่งตลอดทั้งปีอยู่ที่ 5.7 ล้านหน่วย ลดลง 382,000 หน่วย
รายรับรวมจากธุรกิจยานยนต์ในไตรมาส 4 อยู่ที่ 3.26 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 9.78 แสนล้านบาท) เพิ่มขึ้น 2.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 6.9 หมื่นล้านบาท) เทียบกับไตรมาส 4 ของปีพ.ศ. 2553 ขณะที่รายรับรวมจากธุรกิจยานยนต์ตลอดทั้งปีอยู่ที่ 1.282 แสนล้านบาท (ประมาณ 3.85 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้น 1.7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 5.1 แสนล้านบาท) เทียบกับปีก่อนหน้า
ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและแอฟริกา: ในไตรมาส 4 ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและแอฟริกา รายงานผลประกอบการก่อนหักภาษีขาดทุน 83 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 2.49 พันล้านบาท) เทียบกับกำไรที่ 23 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 690 ล้านบาท) เมื่อปีก่อนหน้า เนื่องจากยอดขายที่ลดลง และสัดส่วนของผลิตภัณฑ์ที่ไม่เหมาะสมซึ่งเป็นผลกระทบจากเหตุการณ์อุทกภัยในประเทศไทย รวมทั้งต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นซึ่งเกี่ยวเนื่องกับผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และการลงทุนเพื่อสร้างการเติบโตในอนาคต ขณะที่ปัจจัยบวกประกอบด้วยรายได้ต่อหน่วยการขายที่เพิ่มขึ้น ยอดค้าส่งในไตรมาส 4 อยู่ที่ 219,000 หน่วย ลดลง 16,000 หน่วยเทียบกับปีก่อนหน้า บริษัทคาดว่าผลกระทบด้านการผลิตจากเหตุการณ์อุทกภัยในประเทศไทยอยู่ที่ 34,000 หน่วย ด้านรายรับในไตรมาส 4 ไม่รวมยอดขายจากบริษัทร่วมทุน อยู่ที่ 1.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 5.7 หมื่นล้านบาท) ลดลง 300 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 9 พันล้านบาท) เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
ตลอดทั้งปี ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและแอฟริกา รายงานผลประกอบการก่อนหักภาษีขาดทุน 92 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 2.76 พันล้านบาท) เมื่อเทียบกับกำไรที่ 189 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 5.67 พันล้านบาท) ในปีก่อนหน้า
ภาคบริการด้านการเงิน
ในไตรมาส 4 ภาคบริการด้านการเงินของบริษัทมีผลกำไรก่อนหักภาษีที่ 518 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1.55 หมื่นล้านบาท) เทียบกับกำไร 552 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1.66 หมื่ล้านบาท) ในปีก่อนหน้า
ฟอร์ด มอเตอร์ เครดิต คัมปะนี: ในไตรมาส 4 ฟอร์ด เครดิต รายงานผลกำไรก่อนหักภาษีอยู่ที่ 506 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1.52 หมื่นล้านบาท) เทียบกับกำไร 572 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1.72 หมื่นล้านบาท) ในปีก่อนหน้า ผลกำไรที่ลดลงตามที่คาดการณ์ไว้นี้เป็นผลมาจากการที่ยอดปิดบัญชีสินเชื่อลดลงและกำไรจากการขายรถต่อคันที่ลดลง
ภาพโดยรวมของปีพ.ศ. 2555
ฟอร์ดยังคงมุ่งมั่นทำงานตามแผนกลยุทธ์ One Ford ตามหลักการที่ได้วางไว้เดิม ซึ่งประกอบด้วย
– การปรับโครงสร้างบริษัทอย่างจริงจังเพื่อผลกำไรจากการดำเนินธุรกิจเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาดและการเปลี่ยนแปลงส่วนผสมของตลาดในปัจจุบัน
– เร่งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า
– มอบการสนับสนุนทางการเงินเพื่อปฏิบัติงานตามแผนที่ได้วางไว้ และการพัฒนางบดุลของบริษัท
– ทำงานร่วมกันเป็นทีมอย่างมีประสิทธิภาพ และใช้ประโยชน์สูงสุดจากทรัพยากรระดับโลกของฟอร์ด
ฟอร์ดประสบความสำเร็จอย่างมากจากการทำงานภายใต้แผน One Ford ในปีพ.ศ. 2554 และสามารถดำเนินงานได้ตามแผนงานเพื่อบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้สำหรับปีพ.ศ. 2558 บริษัทได้เปิดตัวรถยนต์ระดับโลกรุ่นใหม่ๆ ประกอบด้วย ฟอร์ด โฟกัส และฟอร์ด เรนเจอร์ นอกจากนี้ บริษัทยังเดินหน้าขยายโรงงานผลิตแห่งใหม่ๆ ในประเทศที่เศรษฐกิจกำลังเติบโต อาทิ ในประเทศจีน อินเดีย และรัสเซีย
ผลิตภัณฑ์ของฟอร์ดจะยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องในปีพ.ศ. 2555 จากการเปิดตัวรถยนต์ระดับโลก ฟอร์ด ฟิวชั่น ใหม่ และลินคอล์น เอ็มเคซี ซึ่งเป็นรถรุ่นแรกที่ได้รับการพัฒนาขึ้นจากโครงสร้างตัวถังรถยนต์นั่งขนาดกลางและขนาดใหญ่ชุดใหม่ของบริษัท สำหรับตลาดรถยนต์ขนาดกลาง ฟอร์ดเตรียมเปิดตัวโฟกัส ใหม่ รวมทั้งจะเปิดตัวเอสเคปและคูก้า ใหม่ อีกด้วย สำหรับกลุ่มรถยนต์ขนาดเล็ก ฟอร์ดเตรียมเพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ในตลาด ด้วยการเปิดตัวฟอร์ด บี-แมกซ์ ในทวีปยุโรปและฟอร์ด เอคโคสปอร์ต ในตลาดทั่วโลก ฟอร์ด เรนเจอร์ ใหม่ จะเปิดตัวในประเทศอื่นๆ ทั่วโลกตลอดทั้งปีนี้ บริษัทยังเดินหน้าการผลิตเครื่องยนต์ประหยัดน้ำมัน อีโคบู๊สต์ ในตลาดทั่วโลก ซึ่งรวมถึงในทวีปอเมริกาเหนือที่บริษัทกำลังเพิ่มศักยภาพในการผลิตรถที่ติดตั้งเครื่องยนต์อีโคบู๊สต์อีก 3 เท่าตัว
ฟอร์ดคาดว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ในสหรัฐจะมียอดขายตลอดทั้งปีอยู่ที่ประมาณ 13.5 – 14.5 ล้านคัน ขณะที่ใน 19 ประเทศในทวีปยุโรปซึ่งฟอร์ดมีการติดตามการเปลี่ยนแปลงนั้น อุตสาหกรรมยานยนต์จะมียอดขายตลอดทั้งปีอยู่ที่ 14 – 15 ล้านคัน โดยการคาดการณ์ทั้ง 2 นี้รวมถึงยอดขายรถบรรทุกขนาดกลางและขนาดใหญ่ด้วย
บริษัทคาดว่าส่วนแบ่งตลาดตลอดทั้งปีในสหรัฐและในทวีปยุโรปจะอยู่ที่ระดับเดียวกับในปีพ.ศ. 2554 โดยฟอร์ดมีส่วนแบ่งตลาดในปีพ.ศ. 2554 อยู่ที่ 16.5 เปอร์เซ็นต์ในสหรัฐ และ 8.3 เปอร์เซ็นต์ในทวีปยุโรป ฟอร์ดคาดว่าบริษัทจะผลิตสินค้าที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
บริษัทยังได้เปิดเผยตัวเลขที่สำคัญซึ่งเกี่ยวเนื่องกับศักยภาพทางการเงินในปีพ.ศ. 2555 โดยฟอร์ดคาดว่ากำไรก่อนหักภาษีจากธุรกิจยานยนต์จะดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีพ.ศ. 2554 ฟอร์ด เครดิต คาดว่าจะมีกำไรอย่างแข็งแกร่ง แม้ว่าอาจจะเติบโตช้ากว่าในปีพ.ศ. 2554 ผลกำไรก่อนหักภาษีโดยรวมของบริษัท ไม่รวมรายการพิเศษ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับเดียวกับในปีพ.ศ. 2554 ค่าใช้จ่ายเชิงโครงสร้างของธุรกิจยานยนต์คาดว่าจะเพิ่มขึ้นน้อยกว่า 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 6 หมื่นล้านบาท) ทั้งนี้เพื่อสนับสนุนการผลิตสินค้าในปริมาณมากขึ้น การเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ และสร้างเสริมการเติบโตตามแผนงานระดับโลกของบริษัท แม้บริษัทคาดว่าราคาวัตถุดิบจะเพิ่มสูงขึ้น ทว่า จะเพิ่มขึ้นไม่มากนัก อัตรากำไรจากการดำเนินธุรกิจยานยนต์คาดว่าจะดีขึ้นกว่าปีพ.ศ. 2554
ฟอร์ดคาดว่าค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนในปีพ.ศ. 2555 จะอยู่ที่ 5.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1.65 แสนล้านบาท) ถึง 6 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1.8 แสนล้านบาท) เนื่องจากบริษัทยังคงเดินหน้าการลงทุนเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และลงทุนในแผนการสร้างความเติบโตให้แก่บริษัทอย่างต่อเนื่อง
“เรามีพัฒนาการที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในการดำเนินงานตามคำมั่นสัญญาที่จะนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ดีเยี่ยม ลงทุนเพื่อการเติบโตทั่วโลก สร้างธุรกิจที่แข็งแกร่ง และมอบการเติบโตอย่างมีกำไรให้แก่ทุกคน” มร. มูลัลลี กล่าว “เราตระหนักดีถึงความท้าทายและโอกาสต่างๆ ที่รออยู่ข้างหน้า เรารู้สึกตื่นเต้นกับศักยภาพในการผลิตสินค้าระดับโลกและกำไรจากการดำเนินธุรกิจที่จะเพิ่มขึ้นจากการทำงานภายใต้แผน One Ford และเรายังตื่นเต้นกับผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นแก่ทุกๆ คนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง จากการที่เราสามารถใช้ประโยชน์สูงสุดจากทรัพยากรระดับโลกของบริษัทได้”
# # #
มูลนิธิกลุ่มอีซ…
“มหกรรมยานยนต์ …