Brand: OTHER Model: Other
Year: 1982 Miles: 100001 – More
From: thanit thanatham
toyota : corona
สวัสดีครับคุณอา คือวันนี้อยากถามเอาความรู้หน่อยครับ คือผมอยากทราบว่าที่ผมเดานี้ถูกต้องไหมครับ คือว่าเวลาที่เราขับทางไกล ให้เราเปิดน้ำยาต่ำๆและเปิดพัดลมแรง ผมอยากทราบว่ามันเกิดจากการที่ว่าเวลาเราขับทางไกลนั้นลมมันตีเข้ามาที่รถ ที่คอยล์ร้อน ทำให้การระบายความร้อนทำได้ดีขึ้น และทำให้แอร์เร็วขึ้นถูกไหมครับ ถ้าถูกต้อง แล้วรถผมวิ่งในเมือง ผมไปติดพัดลมระบายความร้อนเพิ่ม เอาตัวใหญ่ๆ แอร์เย็นเร็วขึ้น น้ำยาไม่ต้องเปิดแรงนัก คอมไม่ต้องทำงานหนักจึงไม่ไปตัดกำลังเครื่อง แล้วจะทำให้ประหยัดน้ำมันขึ้นได้ อยากทราบว่าผมเดาได้พอเข้าเค้าหรือเปล่าครับ คือพอดีว่าตอนนี้รถผมมีปัญหาเรื่องความร้อน เวลารถติดนานๆมากๆ ความร้อนมันขึ้นไปเกือบถึงฮีท แล้วเครื่องมันจะสั่นๆจะดับจะดับ น้ำในหม้อน้ำเปลี่ยนเรียบร้อยแล้ว ช่างบอกว่าไม่รั่ว ต้องติดพัดลมเพิ่ม เพราะพัดลมติดรถมานั้นยังมีความหนืดดีอยู่ ผมจึงคิดว่าถ้าจะติดทั้งที่เอาตัวใหญ่ติดให้มันครอบทั้งรังผึ้งเลย จะได้ได้ประโยชน์สองอัน แต่กลัวว่าจะคิดแบบผิดๆ จึงอยากรบกวนถามคุณอาครับ ขอบคุณมากครับ
อีกเรื่องคือเรื่องเครื่องยนต์ที่ก่อนหน้านี้ผมถามเรื่องที่รถกินน้ำมันเครื่องอย่างดุเดือด คุณอาบอกว่าให้ผมเลือกเอาเองว่าจะโอเวอร์ฮอลหรือเปลี่ยนเครื่อง รถกวนถามคุณอาว่าถ้าผมจะเปลี่ยนเครืองน่าเล่นตัวไหนครัย คือผมไม่รู้เรื่องเครื่องตัวไหนเลย คือมีงบอยู่ประมาณ สองหมื่นห้าถึงสามหมื่อน อยากได้เครื่องที่วิ่งได้โอเคคือถ้าเหยียบจริงๆ รอ้ยห้าสิบร้อยหกสิบยังพอไหว เ ครื่องพันหกถึงพันแหดร้อยซีซ๊หัวฉีด เอาประหยัดน้ำมัน ปรกติวิ่งในกรุงเทพ ต่างจังหวัดระดับสามสี่ร้อยโล ปีนึงวิ่งสัก แปดครั้ง ปรกติดไม่ได้วิ่งปรู๊ดปร๊าดยกเว้นจังหวะเร่งๆ รบกวนคุณอาแนะนำเครื่องที่ใกล้เคียวสเปกนี้ด้วยครับ ขอบพระคุณครับ
toyota 1982 TT133
engine: 3T 1800CC
automatic transmission
power steering.
เอาขั้นแรกก่อน
น้ำยา เปิดมาก หรือน้อยดีกว่ากัน
คำตอบก็คือ น้ำยาหรือคอมเพรสเซอร์แอร์นั้น จะทำงานเต็มที่ของมันอยู่เกือบเสมอ คือปั๊มหรือปั่นน้ำยาเต็มกำลังของมันอยู่เกือบตลอดเวลาที่เครื่องยนต์ติดและเปิดคอมเพรสเซอร์ ไม่มีทางทำให้มันทำงานน้อยกว่า หรือมากกว่า ด้วยการบังคับที่ปุ่มปรับระดับอุณหภูมิ ย้ำว่า ปุ่มปรับระดับอุณหภูมินะครับ
เพราะเรามีปุ่มนี้เพียงปุ่มเดียว นอกจากปุ่มเปิดหรือปิดคอมเพรสเซอร์ และปุ่มพัดลม
เมื่อคอมเพรสเซอร์ทำงานเต็มที่อยู่แล้ว ระดับความเย็นจากตัวคอยล์เย็น จะให้ออกมาที่แถว 4-8 องศาตลอดเวลาที่คอมเพรสเซอร์ทำงาน แล้วแต่ยี่ห้อและแบบของแอร์นั้นนั้น
จนกว่า อุณหภูมิของอากาศที่พัดลมดูดเข้าไปป้อนคอยล์เย็น จะลดต่ำลงถึงระดับที่เราตั้งปุ่มปรับอุณหภูมิไว้ คอมเพรสเซอร์ก็จะหยุดทำงาน แค่นี้ครับ
ดังนั้น การปรับให้น้ำยาเปิดน้อย หรือมาก จึงไม่ใช่เป็นเรื่องการบังคับอุณหภูมิของแอร์ เพราะแอร์จะทำงานให้ความเย็นออกมาสม่ำเสมอกันตลอดเวลา ไม่ได้สนใจว่า คุณจะปรับตั้งน้ำยามากหรือน้อย เพราะปรับไม่ได้
โอเคนะครับ เข้าใจกันแล้ว ว่าแอร์ทำงานตลอดเวลา เต็มที่ตลอดเวลาที่ทำงาน ไม่ว่าเปิดปุ่มปรับอุณหภูมิต่ำหรือสูงอย่างไร
แต่ทำงานนานเท่าไร ตรงนี้ สำคัญมากกว่า คือให้ความเย็นในห้องโดยสารมากกว่าเท่านั้นเอง
เรื่องเครื่องร้อน เป็นเรื่องของระบบระบายความร้อน ที่คุณจะต้องตรวจเช็กระบบนี้ให้ดี ให้ถูกต้อง ให้เหมาะสม ไม่ใช่ติดพัดลมเพิ่มขึ้นเรื่อยเรื่อย เพราะพัดลมนั้น ทำงานจริงแค่เมื่อรถจอดอยู่กับที่ เวลารถวิ่งขึ้นไปถึง 25-30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พัดลมก็หมดความหมายแล้ว
คุณควรจะต้องดูแลระบบระบายความร้อนให้ทำงานเต็มที่ ไม่มีคราบสกปรกไปจับที่แผงรังผึ้ง ทั้งภายในและภายนอก ภายนอกนั้นดูด้วยตัวเองได้ ส่วนภายในต้องให้ช่างรื้อหม้อน้ำออกมาแยงเอาความสกปรกออกให้หมด ต้องล้างเครื่องให้สะอาด ปั๊มน้ำต้องทำงานดี วาล์วน้ำต้องเปิดได้หมด และเปิดตามกำหนดที่เขาพิมพ์ไว้ที่ตัววาล์วน้ำ แนะนำให้คุณเลือกวาล์วน้ำที่เปิดตั้งแต่ 82 องศานะครับ และน้ำก็ต้องผสมน้ำยาให้ถูกส่วนด้วยเช่นกัน ขณะนี้ เมืองไทยร้อนขึ้นมากกว่าตอนรถคุณถือกำเนิดขึ้นมาแล้ว ต้องใช้น้ำยา Coolant ครับ อย่าลืม
รถของคุณ อายุมาก ตอนที่เกิดมานั้น ความเร็วที่มันรู้จักก็แค่ 160 ตอนนี้ ทุกอย่างก็แก่ตัวลง จะให้วิ่ง 160 อีกนั้น ผมไม่เห็นด้วย นอกจากจะปรับปรุงช่วงล่างกันยกใหญ่ ไหวไหมครับ ถ้าไหว ก็ลองดู
เรื่องเครื่องยนต์ ขับหลัง หายากหน่อยแล้วละครับ ช่วงนี้ ลองหารืออาจารย์สุชาติ ที่อู่วัฒนาดูดีกว่า ผมเห็นที่อู่มีเครื่องยนต์วางกองกันอยู่มากเหมือนกัน สงสัยว่าคงจะเอาไว้เปลี่ยนให้ลูกค้า แต่ผมไม่รับรองว่า การเปลี่ยนเครื่องยนต์ที่อู่ไหนก็ตาม จะอยู่กับการแนะนำและรับรองมาตรฐานของผม เพราะผมไม่เคยแนะนำอู่เปลี่ยนเครื่องยนต์เลยสักอู่ และจะไม่แนะนำด้วย เพียงแต่บอกว่า เขามีเครื่องยนต์ ส่วนคุณจะเปลี่ยนเครื่องเป็นอะไรนั้น ผมบอกไม่ได้ครับ เพราะผมไม่ชอบการเปลี่ยนเครื่องยนต์มาตั้งแต่ยังหนุ่มจนแก่ปูนนี้ ขอให้ผมเป็นของผมอย่างนี้เถิดครับ
แนะนำได้เพียงว่า หากทนไม่ไหว จะต้องเปลี่ยนเครื่อง ก็เปลี่ยนเครื่องให้ยี่ห้อเดียวกับตัวรถ แค่นั้นเอง-ธเนศร์
“ไพรม์มัส กรุ๊ป…