ข่าวในแวดวงรถยนต์ ของฟอร์ด ที่เมืองเดียร์บอน มิชิแกนเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2554 – ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี รายงานผลประกอบการประจำปีพ.ศ. 2553 กำไรสุทธิ 6.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 2.05 แสนล้านบาท) หรือ 1.66 เหรียญสหรัฐต่อหุ้น เพิ่มขึ้น 3.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1.18 แสนล้านบาท) หรือ 80 เซ็นต์ต่อหุ้น เทียบกับปีพ.ศ. 2552 โดยตัวเลขดังกล่าวนับเป็นกำไรสุทธิสูงสุดของฟอร์ดในรอบกว่า 10 ปี อันเป็นผลจากผลิตภัณฑ์ที่แข็งแกร่ง และการลงทุนเพิ่มเติมเพื่อพัฒนาการดำเนินธุรกิจโดยรวมทั่วโลก
“ผลประกอบการในปีพ.ศ. 2553 ของเราอยู่ในระดับที่สูงกว่าความคาดหมาย นับเป็นการเปลี่ยนผ่านจากช่วงของการแก้ไขปัจจัยพื้นฐานมาสู่การสร้างความเติบโตอย่างมีกำไรให้กับทุกฝ่าย” อลัน มูลัลลี ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฟอร์ด กล่าว “เราได้ลงทุนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เทคโนโลยี และสร้างความเติบโตให้กับทุกภูมิภาคทั่วโลกในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน”
ฟอร์ดรายงานผลกำไรก่อนหักภาษีประจำปีพ.ศ. 2553 ที่ 8.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 2.58 แสนล้านบาท) หรือ 1.91 เหรียญสหรัฐต่อหุ้น เพิ่มขึ้น 8.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 2.58 แสนล้านบาท) หรือ 1.91 เหรียญสหรัฐต่อหุ้น เทียบกับปีที่แล้ว กำไรที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวสะท้อนถึงผลกำไรจากธุรกิจยานยนต์ส่วนต่างๆ ของบริษัท นำโดยผลประกอบการที่ดีเยี่ยมในทวีปอเมริกาเหนือ ที่เป็นผลมาจากยอดขายและส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ รวมทั้งการตั้งราคาที่เหมาะสม นอกจากนี้ กำไรที่แข็งแกร่งของฟอร์ด เครดิต ยังนับเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของผลประกอบการโดยรวมของบริษัท
ฟอร์ดมีพัฒนาการที่ดีเยี่ยมในการสร้างความแข็งแกร่งให้กับงบดุลของบริษัทด้วยการลดหนี้ของภาคยานยนต์ลงถึง 1.45 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 4.5 แสนล้านบาท) ในพ.ศ. 2553 หรือลดลง 43 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้บริษัทสามารถลดภาระการจ่ายดอกเบี้ยลงได้กว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 3.1 หมื่นล้านบาท) โดยธุรกิจยานยนต์ของฟอร์ดในปีพ.ศ. 2553 มีเงินสดขั้นต้นสูงกว่าหนี้สิน 1.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 4.35 หมื่นล้านบาท) การดำเนินการลดหนี้ในไตรมาส 4 ของปีช่วยลดหนี้จากภาคยานยนต์ลงได้ 7.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 2.27 แสนล้านบาท) ซึ่งรวมถึงผลจากการประกาศปรับโครงสร้างหนี้เพื่อจ่ายคืนวงเงินสินเชื่อหมุนเวียนและเงินกู้ระยะยาวมูลค่า 2.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 7.76 หมื่นล้านบาท) เมื่อไม่นานมานี้
ฟอร์ดรายงานรายได้สุทธิประจำไตรมาส 4 ของปี 2553 ที่ 190 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 5.9 พันล้านบาท) หรือ 5 เซนต์ต่อหุ้น ลดลง 696 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 2.16 หมื่นล้านบาท) หรือ 20 เซนต์ต่อหุ้น เทียบกับไตรมาส 4 ของปีพ.ศ. 2552 นับเป็นผลกระทบด้านลบจากรายการพิเศษ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 3.1 หมื่นล้านบาท) ตามที่บริษัทเปิดเผยก่อนหน้านี้ถึงค่าใช้จ่าย 960 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 2.98 หมื่นล้านบาท) ในการแปลงสภาพหนี้ที่ช่วยให้ยอดรวมของหนี้จากธุรกิจยานยนต์ลดลงกว่า 1.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 5.9 หมื่นล้านบาท)
ฟอร์ดมีกำไรก่อนหักภาษี 1.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 4.04 หมื่นล้านบาท) หรือ 30 เซนต์ต่อหุ้น ในไตรมาส 4 ของปี นับเป็นผลประกอบการที่มีกำไร 6 ไตรมาสต่อเนื่องกัน โดยกำไรดังกล่าวลดลงจากไตรมาส 4 ของปีพ.ศ. 2552 ที่ 322 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท) หรือ 13 เซนต์ต่อหุ้น
กำไรก่อนหักภาษีของธุรกิจยานยนต์ในไตรมาส 4 อยู่ที่ 471 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1.46 หมื่นล้านบาท) ลดลง 173 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 5.37 พันล้านบาท) จากปีก่อนหน้า ด้านผลกำไรก่อนหักภาษีของธุรกิจบริการด้านการเงินในไตรมาส 4 อยู่ที่ 552 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1.71 หมื่นล้านบาท) ลดลง 149 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 4.63 พันล้านบาท) จากปีก่อนหน้า ซึ่งรวมถึงกำไรก่อนหักภาษีมูลค่า 572 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1.78 หมื่นล้านบาท) ของฟอร์ด เครดิต ด้วย
กำไรก่อนหักภาษีของของทวีปอเมริกาเหนือในไตรมาส 4 อยู่ที่ 670 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 2.08 หมื่นล้านบาท) เพิ่มขึ้น 59 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1.83 พันล้านบาท) เทียบกับปีพ.ศ. 2552 กำไรก่อนหักภาษีของทวีปอเมริกาเหนือตลอดทั้งปีอยู่ที่ 5.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1.68 แสนล้านบาท) เพิ่มขึ้นกว่า 6 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1.86 แสนล้านบาท) เทียบกับปีก่อนหน้า ทวีปอเมริกาใต้ ยุโรป และเอเชียแปซิฟิกและแอฟริกา รายงานผลประกอบการตลอดทั้งปีพ.ศ. 2553 มีกำไรก่อนหักภาษีเช่นกัน
จากผลประกอบการด้านการเงินที่ดีเยี่ยมดังกล่าว ฟอร์ดจึงเตรียมที่จะแบ่งผลกำไรให้กับพนักงานชั่วคราวในสหรัฐประมาณ 40,600 คน โดยคาดว่าแต่ละคนจะได้รับค่าตอบแทนเฉลี่ยราว 5,000 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1.55 แสนบาท) สำหรับพนักงานที่ทำงานเต็มเวลา
ด้านรายรับในไตรมาส 4 ของฟอร์ดทั่วโลกอยู่ที่ 3.25 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้น 1.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 4.97 หมื่นล้านบาท) เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยไม่รวมรายรับจากวอลโว่ในปีพ.ศ. 2552
ฟอร์ดมีกระแสเงินสดจากธุรกิจยานยนต์เป็นบวกที่ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 3.1 หมื่นล้านบาท) ในไตรมาส 4 และที่ 4.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1.37 แสนล้านบาท) สำหรับทั้งปี เพิ่มขึ้น 5.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1.61 แสนล้านบาท) จากการดำเนินงานทั้งปีในพ.ศ. 2552
ในช่วงสิ้นปี ฟอร์ดมีเงินสดขั้นต้นจากธุรกิจยานยนต์ที่ 2.05 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 6.37 แสนล้านบาท) และมีหนี้จากธุรกิกจยานยนต์รวม 1.91 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 5.93 แสนล้านบาท) มีกระแสเงินสดจากธุรกิจยานยนต์ของบริษัทลดลง 3.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1.02 แสนล้านบาท) เทียบกับช่วงสิ้นสุดไตรมาส 3 เนื่องจากการชำระหนี้เพื่อลดหนี้จำนวนมาก โดยในวันที่ 31 ธันวาคม 2553 สภาพคล่องโดยรวมของธุรกิจยานยนต์ของบริษัทอยู่ที่ 2.79 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 8.67 แสนล้านบาท) ซึ่งรวมถึงวงเงินที่สามารถกู้ยืมได้
“ความก้าวหน้าในการพัฒนาธุรกิจยานยนต์ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของเราทำให้เราสามารถมีบัญชีงบดุลที่แข็งแกร่งขึ้นในปีพ.ศ. 2553 และนี่คือสิ่งที่เราจะยังคงให้ความสำคัญเป็นหลักในปีพ.ศ. 2554” เลวิส บูธ รองประธานบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของฟอร์ด กล่าว “เรายังคงเดินหน้าบริหารธุรกิจเพื่อการเติบโตอย่างมีกำไรในระยะยาว”
ธุรกิจยานยนต์ของฟอร์ดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและแอฟริกา:
ในไตรมาส 4 ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและแอฟริการายงานผลกำไรก่อนหักภาษีที่ 23 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ714 ล้านบาท) เทียบกับกำไรที่ 16 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 496.9 ล้านบาท) ในปีก่อนหน้า กำไรที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวเป็นผลจากยอดขายที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ปัจจัยลบเกิดจากส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ รายรับในไตรมาส 4 โดยไม่รวมยอดขายจากบริษัทร่วมทุนในประเทศจีนอยู่ที่ 2.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 6.83 หมื่นล้านบาท) เพิ่มขึ้นจาก 1.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 5.28 หมื่นล้านบาท) เมื่อปีที่แล้ว
สำหรับกำไรก่อนหักภาษีตลอดทั้งปีในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและแอฟริกาอยู่ที่ 189 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 5.87 พันล้านบาท) เทียบกับยอดขาดทุน 86 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 2.67 พันล้านบาท) เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งเป็นผลจากยอดขายที่เพิ่มขึ้น และค่าใช้จ่ายด้านวัตถุดิบ การขนส่ง และค่าใช้จ่ายสำหรับการรับประกันคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ขณะที่ปัจจัยลบประกอบด้วยค่าใช้จ่ายทางโครงสร้างที่เพิ่มขึ้นเพื่อสนับสนุนการลงทุนในผลิตภัณฑ์และแผนการเติบโตของบริษัท และจากส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ที่ไม่เหมาะสม
thunyaluk@caronline.net
มาสด้า เซลส์ ปร…
มูลนิธิกลุ่มอีซ…
“มหกรรมยานยนต์ …