จากการตรวจสอบของ สถาบันเพื่อความปลอดภัยทางถนนแห่งสหรัฐอเมริกา รถยนต์เมอร์เซเดส เบนซ์ เป็นรถยี่ห้อล่าสุด ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาถุงลมนิรภัย ทากาตะ Takata ซึ่งต้องเรียกรถรุ่นที่ติดตั้งถุงลมนี้ กลับเข้ารับการตรวจสอบ โดยเฉพาะรถสปอร์ตรุ่น เอสแอลเค และรุ่น เอสแอล ปี 2014 ราว 300 คัน ที่ออกจากสายการผลิตระหว่างเดือนมีนาคมและ เมษายน จำหน่ายไปแล้วราว 200 คัน ที่เหลืออยู่ในมือของผู้จำหน่าย
ถุงลมนิรภัย ทากาตะ มีปัญหาจากผู้ผลิตชิ้นส่วนรายย่อย ที่ติดตั้งการจับยึดถุงลมไม่อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง ซึ่งจะทำให้เมื่อเกิดพองตัว จะพองตัวผิดทิศทาง ไม่สามารถป้องกันผู้ขับขี่หรือผู้โดยสารได้ แม้ว่าจะยังไม่เกิดเหตุการณ์ใดๆ หรือมีรายงานการเกิดขึ้น แต่เป็นการตรวจสอบจากสายการผลิต ซึ่งพบความผิดปกตินี้ จึงได้เรียกรถกลับเข้ารับการตรวจสอบ พร้อมรายงานกลับไปยังสถาบัน ถึงกรณีดังกล่าว
ส่วนค่ายดอด์จ และ จี๊ป ก็ประกาศเรียกรถเข้ารับการตรวจสอบเช่นกัน โดยเป็นรุ่น ดูแรงโก้ Durango และ แกรนด์ เชโรกี Grand Cherokee จำนวน 895,000 คัน ทั่วโลก ผลิตระหว่างเดือนมกราคม ปี 2554 จนถึง ปลายปี 2556 ถึงข้อบกพร่องที่อาจเกิดขึ้นได้ กรณีแผงบังแดด อาจเกิดกระแสไฟฟ้าลัดวงจร ทำให้เกิดไฟไหม้ได้ โดยราว 651,000 คัน อยู่ในสหรัฐ, 45,700 คัน ในแคนาดา, 23,000 คัน ในเม็กซิโก และอีกราว 175,000 คัน ในอเมริกาเหนือ
สาเหตุเพราะสกรู ซึ่งจับยึดแผงบังแดด อาจโดนสายไฟภายในรถ หากมีการถอดเพื่อซ่อมแซม และไขสกรูกลับเข้าไปใหม่ อันอาจเป็นสาเหตุให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจรได้ และมีรายงานว่าเกิดเหตุการณ์ขึ้นแล้ว 3 ราย โดยสถาบันเพื่อความปลอดภัย กล่าวว่า นี่เป็นหนึ่งในสาเหตุของการเกิดไฟไหม้ ทั้งสิ้น 52 สาเหตุ ที่อาจเกิดขึ้นได้
สำหรับการแก้ไข ทั้งดอด์จ และ จี๊ป จะตรวจสอบการเดินสายไฟ ในรถที่ต้องสงสัย ว่าบกพร่องหรือไม่ และจะติดตั้งแผงบังแดดใหม่ ซึ่งมีการเดินสายไฟโดยไม่เกี่ยวข้องกับการจับยึดของสกรูอย่างใด แต่เหตุการณ์นี้ เฉพาะรถรุ่นที่มีกระจกไฟฟ้าในแผงบังแดดเท่านั้น