งานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 37 ซึ่งจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม ถึง 3 เมษายน 2559 แม้จะมีรถใหม่เปิดตัวหลายรุ่น และค่ายรถต่างก็จัดแคมเปญกระตุ้นยอดจองกันอย่างดุเดือด โดยในส่วนของผู้เข้าชมงานนั้นยังคงมีจำนวนไม่น้อยกว่าปีที่ผ่านมา จากการเก็บสถิติพบว่ามีตัวเลขอยู่ที่ 1.65 ล้านคน ขณะที่ยอดจองทะลุ 3 หมื่นคัน เม็ดเงินสะพัดกว่า 4 หมื่นล้าน
หากเทียบภาพรวมของผู้มาชมงานกับยอดจองรถใหม่ ซึ่งมีตัวเลขยอดจองรวมทุกค่ายอยู่ที่ 32,571 คัน ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการปรับขึ้นของราคาจำหน่ายรถยนต์หลังจากการบังคับใช้อัตราภาษีสรรพสามิตใหม่ ที่ดึงกำลังซื้อไปเป็นจำนวนมากในช่วงสิ้นปีที่ผ่านมา เมื่อรวมเข้ากับสภาวะของเศรษฐกิจที่บรรยากาศไม่เอื้อต่อการการจับจ่ายของผู้บริโภค แม้ค่ายรถยนต์จะพยายามนำเสนอแคมเปญที่ดีมากภายในงาน แต่ผู้บริโภคก็ยังคงชะลอการตัดสินใจในการซื้อรถออกไป
นายจาตุรนต์ โกมลมิศร์ กรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บริษัท กรังด์ปรีซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ในฐานะรองประธานจัดงาน บางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 37 เปิดเผยว่า “การมีผู้เข้าร่วมชมจำนวนมาก แต่ยอดจองเกิดขึ้นต่ำกว่าในปีที่ผ่าน น่าจะสะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบจากการปรับขึ้นของภาษีสรรพสามิตใหม่ในปีนี้ได้ชัดเจน นอกจากกำลังซื้อที่ถูกใช้ไปตั้งแต่สิ้นปีก่อน และการปรับขึ้นราคาถึงจะต่ำเพียงแค่ 5% จากราคาเดิม ก็ส่งผลกระทบทางด้านความรู้สึกและตัดสินใจใช้เงินในสภาวะเช่นนี้”
จึงแสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่ตัดสินใจซื้อรถก่อนที่จะมีการปรับเปลี่ยนนโยบายของภาครัฐ รวมถึงนโยบายล่าสุดในเรื่องการปรับใช้อัตราภาษีใหม่ ส่งให้ยอดขายรถยนต์ตามรายงานของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในช่วงเดือนธันวาคมของปี 2558 มีสูงถึง 101,464 คัน ขณะที่ยอดขายในเดือนมกราคมของปี 2559 เหลือแค่ 51,715 คัน ซึ่งลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา 59,721 คัน ลดลงถึง 13% นั่นเท่ากับเป็นการดึงกำลังซื้อของผู้บริโภคในปี 2559 ไปอยู่ในช่วงปลายปี 2558จากกรณีดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อยอดขายรถยนต์ในไตรมาส 2 ของปี 2559 เป็นอย่างมาก แต่ด้วยศักยภาพของงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 37 ส่งผลให้ยอดจองในงานจะเป็นตัวเลขที่เข้ามาช่วยรักษายอดขายของตลาดรถยนต์ในช่วงนี้ได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้ หากดูจากตัวเลขยอดจองที่เกิดขึ้น น่าจะพอบ่งชี้ได้ว่าผู้บริโภคกลุ่มนี้ คือ กลุ่มที่มีกำลังซื้อและมีความต้องการซื้อรถจริง ยอดขายจึงไม่ได้ไปกระจุกอยู่ที่เซ็กเมนท์ใด เซ็กเมนท์หนึ่ง เหมือนในช่วงโครงการรถยนต์คันแรก เพราะผู้บริโภคมีความเข้าใจและเลือกซื้อรถที่เหมาะกับการใช้ชีวิตประจำวันของตัวเอง
“จากตัวเลขยอดจองรถภายในงาน ตลาดรถยนต์หรูในกลุ่มราคาตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไปยังคงได้รับความสนใจจากผู้บริโภค ส่งผลให้ยอดเงินที่สะพัดภายในงานยังคงอยู่ในเกณฑ์ที่สูงคาดว่าน่าจะอยู่ที่ประมาณ 4 หมื่นล้านบาท”
สำหรับทิศทางของตลาดรถยนต์ในปีนี้ เชื่อว่า 6 เดือนแรกของปีจะยังคงซบเซา ถึงแม้ว่าจะมีการอัดฉีดเม็ดเงินของภาครัฐในโครงการต่างๆ แต่ปัจจัยลบคือ ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงกว่า 81%ความเข้มงวดของสถาบันการเงิน และสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ผันผวน ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ขณะที่กำลังซื้อรถยนต์ในปีนี้ถูกดึงไปบางส่วนเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตใหม่ ปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อตลาดรถยนต์ในปี 59 ทั้งสิ้น
ซึ่งหากภาพรวมเศรษฐกิจประเทศมีทิศทางที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด การปล่อยสินเชื่อก็จะง่ายขึ้นทำให้ยอดขายในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์เติบโตขึ้นอย่างแน่นอน ยังไงก็ต้องรอลุ้นกับทางภาครัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจกันอีกครั้ง
ปริมาณยอดจองรถใหม่ภายในงาน 32,571 คัน ลดลงจากปีที่ผ่านมาประมาณ 12% ซึ่งบริษัทที่ทำยอดจองสูงสุดภายในงาน ได้แก่ ฮอนด้า 4,308 คัน, โตโยต้า 4,013 คัน ,นิสสัน 3,586 คัน , มาสด้า 3,557 คัน และ มิตซูบิชิ 3,549 คัน
premsak@caronline.net
“ไพรม์มัส กรุ๊ป…