Brand: HONDA Model: Civic
Year: 1994 Miles: 100001 – ขึ้นไป
From: นันทยา จุรินทร์รัก
ตามที่ท่านได้กรุณาตอบคำถามในเรื่องของการเปลี่ยนน้ำมัน อยากสอบถามเพิ่มเติมอีกนิดหนึ่งค่ะคืออยากทราบว่า อาการของท่อยางบวมเป็นอย่างไรคะ เราจะทราบได้อย่างไร และถ้าเราใช้น้ำมันอี 20 เราต้องไปบอกช่างให้ปรับจังหวะจุดระเบิด อย่างไรคะ ขอโทษด้วยนะคะไม่ค่อยมีความรู้เรื่องรถค่ะ ขอบคุณมากค่ะ แต่ถ้าเราใช้แก็สโซฮอลเราไม่ต้องไปปรับใช่ไหมคะ
ผมอ่านคำถามของคุณนันทยาแล้ว ก็เห็นใจ และเข้าใจถึงความรู้สึกของผู้เป็นเจ้าของรถ ในเรื่องความอลหม่านของชื่อสิ่งของที่จะต้องใช้กับรถยนต์เป็นกำลัง
เลยเห็นว่า แทนการตอบปัญหาอย่างง่ายง่าย และวันนี้ผมก็ว่าง อยู่ที่บ้านพักซับเศรษฐี ปากช่อง ไม่ได้ทำอะไร
คิดว่า น่าจะอธิบายให้คุณนันทยา และท่านอื่นที่ยังไม่เข้าใจ แต่ยังไม่กล้า หรือไม่อยากถามมา จะด้วยเหตผลอะไรก็แล้วแต่ ได้เข้าใจกันเสียเลยนะครับ
เริ่มตั้งแต่ น้ำมันเบนซินนั้น อันที่จริง ต่างประเทศ ในยุโรปเขาเรียกกันว่า เพทโทร หรือ Patrol หรือบางแห่ง โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา เรียกกันว่า Gas หรือ Gasoline ไปเลย
ปัญหาหนักของเรา เริ่มจากเราเรียกกันว่า เบนซิน อันเป็นชื่อทางเคมีของสารผสม Hydrocarbon
ในตอนแรกนั้น เราใช้สารตะกั่วผสมกับเนื้อน้ำมัน ที่กลั่นได้จากน้ำมันดิบธรรมชาติ เพื่อปรับค่าออกเทน
ค่าออกเทนนั้น พูดกันง่ายง่ายก็คือค่าต้านการเผาไหม้ หรือค่าในการเผาไหม้ที่ช้าลงของเชื้อเพลิง อันหมายความว่า หากค่าออกเทนสูงขึ้นเท่าไร เชื้อเพลิงจะไม่มีความไวไฟมากขึ้นเท่านั้น เชื้อเพลิงที่มีค่าออกเทนต่ำ ก็จะไวไฟจุดลุกติดไฟเร็วกว่าเชื้อเพลิงที่มีค่าออกเทนสูงเท่านั้นเช่นกัน
ก็ได้เป็นเชื้อเพลิง 91 หรือ 95 ออกมา
การได้เป็นเชื้อเพลิง 91 หรือ 95 ของไทยเรานั้น อันที่จริง ผิดจากค่าอันควรของเชื้อเพลิงในสหรัฐอเมริกา หรือในโลกที่สอง โลกที่หนึ่ง มากเหมือนกัน ซึ่งตรงนี้ คงจะต้องอธิบายกันยืดยาว แต่ขอบอกคร่าวคร่าวว่า เป็นเรื่องความมักง่ายของนักเคมีไทย หรือเป็นเรื่องความอยากได้ใคร่ดีของฝ่ายการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงไทย อย่างใดอย่างหนึ่งหรือสองอย่าง ทำให้มองข้ามจำนวนค่าออกเทนที่นานาสากลประเทศเขาทำกัน
แต่เอาละครับ เอาเป็นว่า เรายอมรับค่านั้นนั้นก่อนก็แล้วกัน เพราะเรา ในฐานะผู้บริโภคของประเทศนี้ แทบไม่มีหนทางเลือกใดใดอยู่แล้ว
เป็นอันว่า เราใช้น้ำมันผสมสารตะกั่วเรื่อยมา จนกลุ่มผู้ผลิตสารผสมไปคิดค้นสารผสมใหม่ขึ้นมาได้ ก็ต้องการขายสารนั้นแทนสารตะกั่ว เพราะอาจจะทำรายได้ได้สูงกว่า ก็มีการสนับสนุนทางด้านรัฐบาลของประเทศมหาอำนาจ ให้แสดงความคิดเห็นว่า สารตะกั่วเป็นพิษเป็นภัยกับโลกและมนุษยชาติ
ซึ่งก็เป็นผลสำเร็จ ทุกประเทศในโลกก็ยอมรับ เพราะหากไม่ยอมรับ ก็จะกลายเป็นสุนัขหัวเน่า หรือประเทศที่ทำลายโลกไปจนได้ ตามคำกล่าวหา หรือกล่าวอ้างต่างต่างนานา แม้กระทั่งเราเอง ก็ยอมรับ
แล้วเขาก็จำหน่ายสารผสม ชื่อว่า MTBE ออกมาให้ใช้ผสมกับน้ำมันเบนซิน แทนสารตะกั่ว
แต่ต่อมา ก็บอกกันอีกว่า MTBE นั้นมีความเป็นพิษเป็นภัยกับโกลและมนุษยชาติเสียอีกแล้ว
ก็ต้องใช้สารผสมอย่างอื่น ที่เขาคิดว่า น่าจะทำกำไรได้ดีกว่าขายสาร MTBE นั่นก็คือแอลกอฮอล
ก็กลายเป็นน้ำมันแก๊สซอฮอล ขึ้นมา จากคำว่า แก๊สซอลีน
ซึ่งอันนี้ไม่แปลก หากเป็นในสหรัฐอเมริกา ที่เรียกขานน้ำมันเชื้อเพลิงประเภทเบนซินว่า แก๊สซอลีนอยู่ก่อนแล้ว
แต่เมื่อเป็นในประเทศไทย จากคำว่าเบนซิน ซูเปอร์ หรือเบนซินธรรมดา มากลายเป็นแก๊สซอฮอล ทันทีทันควันนี่ ก็เป็นเรื่องค่อนข้างมโหราฬ เพราะความรู้สึกของคนไทย เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง จากเบนซิน กลายเป็นแก๊ส โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรามีแก๊สหุงต้ม และแก๊สธรรมชาติ ในสภาพแก๊สใช้อยู่แล้ว ความเข้าใจของหลายท่านแต่แรกเมื่อได้ยินคำว่า แก๊สซอฮอล ก็จะต้องหมายถึงแก๊สชนิดคล้ายกับแก๊สหุงต้ม หรือแก๊สธรรมชาติไปจนได้
นี่เป็นความเข้าใจผิด และยังอาจจะมีความเข้าใจเช่นเดียวกันอยู่ในใจของหลายท่าน แต่ไม่กล้าถามใคร
————————————————
อันที่จริงแล้ว แก๊สซอฮอล ของเรา ก็คือน้ำมันเบนซิน ที่ผสมแอลกอฮอลเข้าไป เพื่อปรับค่าออกเทนให้สูงขึ้น เหมือนกันกับสารตะกั่วในครั้งกระโน้น และ MTBE เมื่อเร็วเร็วนี้นั่นเอง
————————————————
แอลกอฮอลนั้น ทำปฏิกิริยากับยางธรรมชาติ เป็นปกติอยู่แล้ว แต่จะต้องเป็นแอลกอฮอลเปอร์เซ็นต์สูง ระดับเกินกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไปจึงจะเห็นผลเร็ว อย่างเช่นเมื่อเราเอาหนังสติ๊กไปแช่แอลกอฮอลเกือบบริสุทธิ์ ในเวลาเพียงวันเดียว หนังสติ๊กก็จะยืดขยายตัว และหมดความเป็นอีลาสติกลงไป
เมื่อทราบเช่นนี้ และมีข้อเขียนจากต่างประเทศเข้ามา วิศวกรฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในบริษัทน้ำมันเชื้อเพลิงก็ดีอกดีใจ เห็นเป็นความดีเด่นในข้อเขียนของตน ในอันที่จะแจ้งผลเสียของการใช้แอลกอฮอลเอาไว้บ้าง
แล้วก็เขียนบทความออกมา ทำให้คนไม่รู้ เอามาพูดต่อ จนเกิดความวิตกกังวลขึ้นในแวดวงผู้ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง
ทั้งทั้งที่บ้านเรา ไม่ได้ใช้แอลกอฮอลผสม เพื่อให้เป็นน้ำมันแก๊สซอฮอลระดับ 85 แม้แต่รายเดียว อย่างสูงสุดก็มีแค่ 20 เปอร์เซ็นต์ ที่เรียกกันว่า E20 เท่านั้นเอง
และ E20 ก็หาได้ทำให้ยางที่เคลือบอยู่ภายในของท่อยางรุ่นเก่าเก่า บวมอย่างรวดเร็วแต่อย่างใด จะบวมก็เมื่อแช่อยู่ในน้ำมัน E20 เป็นเวลานานนาน อาจจะร่วมปี หรือเลยกว่านั้น
และเมื่อบวม ท่อก็จะเป่งออกมา ภายนอกแตกลายงา เห็นได้ชัดเจน เราก็เปลี่ยนท่อนั้นนั้นทิ้งไป ทดแทนด้วยท่อยางใหม่ ซึ่งก็เป็นท่อยางรุ่นใหม่ เคลือบภายในด้วยยางสังเคราะห์ ไม่เกิดปฏิกิริยากับแอลกอฮอลอีกต่อไป
ในราคาเดียวกันกับท่อยางรุ่นเก่า ที่หาในตลาดแทบไม่เจอแล้วสำหรับปัจจุบัน
เรื่องมันก็เท่านี้เองครับ
อาการบวมของท่อยางนั้น ก็คือขนาดขยายใหญ่ขึ้น บวมขึ้นตรงไปตรงมาเท่านั้น
หากคุณเริ่มใช้แก๊สซอฮอล E20 เดี๋ยวนี้ ผมว่า เกินกว่าหนึ่งปีข้างหน้าแหละครับ ที่ท่อยางของคุณอาจจะ ย้ำว่าอาจจะเท่านั้น บวมขึ้นบ้าง ไม่มากอะไรนัก อยากจะเปลี่ยนก็เปลี่ยนได้ ในราคาเดียวกับท่อยางรุ่นเก่า
ส่วนโลหะอื่น ไม่ได้เป็นอะไรเมื่อใช้กับแก๊สซอฮอล ดังนั้น จึงไม่ต้องห่วง แม้กระทั่งพลาสติก หากเกิดปัญหาเช่นรั่วขึ้นมา ก็สามารถเปลี่ยนได้ เช่นพลาสติกที่ใช้ทำลูกลอยในคาร์บิวเรเตอร์ สำหรับดันเข็มให้ปิดน้ำมัน หากรั่ว ก็เป็นการรั่วไปตามการใช้งาน ถ้ากลัว ก็เพียงเปลี่ยนให้เป็นลูกลอยโลหะ เช่นทองเหลืองเสียเท่านั้น ก็ใช้ได้เช่นกัน
————————————————-
จังหวะจุดระเบิด ก็ยิ่งไม่มีผลอันใดกับแก๊สซอฮอล เพราะถ้าคุณใช้รถที่ต้องการเบนซิน U95 เมื่อมาใช้แก๊สซอฮอล 95 ก็ใช้ไปเลย ไม่ต้องปรับตั้งอะไรอีก ยกเว้นเสียแต่ว่า รถของคุณเดิมทีใช้ U91 แล้วมาเปลี่ยนใช้แก๊สซอฮอล E20 ออกเทน 95 ก็ควรจะเปลี่ยนจังหวะจุดระเบิด ให้เข้ากับค่าออกเทนของน้ำมัน
ซึ่งเมื่อสูงขึ้น ก็เปลี่ยนให้จุดเร็วขึ้นเล็กน้อย โดยการปรับจานจ่าย เท่านั้นเองแหละครับ ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น
และการปรับจานจ่าย ก็แทบไม่ต้องใช้เครื่องมือประเภทไทมิ่งไลท์ ใช้แค่มาตรวัดรอบ กับความรู้สึกของช่างที่แม่นยำพอเท่านั้นก็พอถมเถไปแล้ว
หวังว่า คำอธิบายเท่านี้ คงจะเพียงพอสำหรับคุณนันทยา และท่านผู้อ่านอื่น ที่ยังสงสัย แต่ไม่กล้าถามมาแล้วนะครับ
ขอบคุณที่ถามไปครับ-ธเนศร์
“ไพรม์มัส กรุ๊ป…