Categories: รถใหม่

ทดลองขับ VOLVO S80 เบนซิน 2.5 T , 3.2 L & ดีเซล D5 : เกือบประเสริฐแล้วละ…อีกนิดเดียวจริงๆ…By : J!MMY


มร.มิทซึฮิโระ โซโนดะ กล่าวว่า “แผนงานขั้นต่อไปของการผลิตรถยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือ Ultimate eco-friendly vehicle คือการประกอบรถยนต์ไฮบริดในประเทศไทยในรถยนต์นั่งคัมรี ที่จะมาเพิ่มเติมใหัรุ่นของรถยนต์คัมรีมีความสมบูรณ์ เรามีความเชื่อมั่นว่า คัมรี ไฮบริดใหม่นี้ จะทำให้โตโยต้ารักษาความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์นั่งระดับกลาง และนำประโยชน์ให้กับลูกค้าชาวไทย ในด้านการใช้รถยนต์ที่สามารถประหยัดน้ำมันกว่าเครื่องยนต์ทั่วไป ทั้งนี้ โรงงานประกอบรถยนต์ของประเทศไทย นับเป็นโรงงานแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ประกอบรถยนต์คัมรีไฮบริด”

สำหรับความก้าวหน้าในการประกอบรถยนต์ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ ซีเอ็นจี นั้น นายโซโนดะ กล่าวว่า“โตโยต้าขอขอบคุณ TMAP-EM ที่ได้พัฒนาและทดสอบรถยนต์ที่ใช้พลังงาน ซีเอ็นจี ในโคโรลล่า โดยได้ทำการพัฒนาให้เครื่องยนต์มีความเหมาะสมสำหรับเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบส่งเชื้อเพลิงและถังเชื้อเพลิง ซึ่งทั้งหมดนี้จะติดตั้งจากโรงงานเกตเวย์โดยตรง โดยเรามั่นใจว่า รถยนต์ซีเอ็นจีของโตโยต้า มีความทนทาน ปลอดภัย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และช่วยลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง เรามั่นใจในคุณภาพของรถยนต์รุ่นนี้ โดยมีระยะเวลารับประกัน 3 ปี หรือ 100,000 กิโลเมตร และคาดว่าจะแนะนำเข้าสู่ตลาดภายในปีนี้”

โตโยต้า มุ่งมั่นพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องยนต์ ไฮบริด ที่ให้สมรรถนะในการขับขี่ ประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงเริ่มค้นคว้าวิจัยและพัฒนาระบบไฮบริด มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2520 จนประสบความสำเร็จ สามารถผลิตเพื่อการจำหน่าย ภายใต้ชื่อ โตโยต้า พรีอุส โดยได้รับความนิยมเป็นอย่างมากจากลูกค้าทั่วโลก

“รถยนต์ไฮบริดนั้น เป็นเทคโนโลยียานยนต์ระดับสูง ที่ให้ทั้งความยอดเยี่ยมในด้านสมรรถนะการขับขี่ ลดการใช้น้ำมันและมีมลพิษในไอเสียต่ำกว่าเครื่องยนต์ทั่วไป โดยเครื่องยนต์ไฮบริดนั้นสามารถช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เรามีความมั่นใจว่า คัมรี ไฮบริด จะเป็นที่ชื่นชอบและได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากลูกค้าชาวไทยอีกรุ่นหนึ่ง” นายโซโนดะ กล่าวในที่สุด
—————



"เชื่อหรือไม่ว่า คุณกำหนดชะตาชีวิตได้….?"

วอลโว พยายามจะบอกให้ผมเชื่อ ผ่านทางภาพยนตร์โฆษณา เปิดตัว S80 ซึ่งผมถือว่า
เป็นหนึ่งในโฆษณาเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ ที่สื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุดชุดหนึ่งของงการรถยนต์
ในรอบหลายปีมานี้ 3 เรื่อง ในซีรีส์ เดียวกัน ที่ออกอากาศทั้งเวอร์ชัน Teaser 15 วินาที 3 เวอร์ชัน
และเวอร์ชันเต็ม 30 วินาทีอีก 3 เวอร์ชัน ตั้งแต่ 20 กันยายน 2007 วันเปิดตัวรถยนต์รุ่นนี้อย่างเป็นทางการ

แต่ผมก็มานั่งนึกได้ว่า กำหนดได้จริงเหรอ?

เพราะถ้ามันกำหนดได้จริง

ทำไมความรักของน้องๆ รอบตัวคู่หนึ่งถึงไม่สมหวังละ?
ทำไมอีกฝ่ายต้องถูกพลัดพรากไปไกล
จากแม่ ผู้ที่มองแต่ความต้องการของตนเองเหนือสิ่งอื่นใดด้วยละ?
ทำไมพวกเขาต้องรอเวลากันหลายปี เพียงเพื่อจะบินกลับมาพบกัน
เพียงแค่ 6-8 ชั่วโมง และต้องจากกันไปโดยไม่รู้ว่าจะได้พบกันอีกเมื่อไหร่ด้วยละ?

ทั้งหมดนี้ มันเกิดขึ้นเพราะ แค่พวกเขารักชอบพอกับคนเพศเดียวกัน

เท่านั้นเลยจริงๆ !



ที่ต้องพูดถึงเรื่องนี้ขึ้นมา ทั้งที่ดูเหมือนว่ามันไม่เกี่ยวอะไรกับรีวิวนี้
ก็เพราะว่ามันเกี่ยวเลยละครับ

เพราะว่า น้องๆ ของผม หนึ่งใน 2 คน คู่นี้

"เขาเพิ่งอุดหนุน วอลโว S80 รุ่นใหม่ล่าสุดนี้ไปหมาดๆ!
หลังจากที่คุยกับผม (ซึ่งไปทดลองขับมาแล้วล่าให้น้องเขาฟัง) ไปได้เพียง 2 วันเท่านั้น…"

และพวกเขาก็เป็นเจ้าของเรื่องราวความรัก จากเค้าโครงเรื่องจริง
ที่ผมตั้งใจจะรวบรวมเป็นหนังสือ ในตอนแรก
ระหว่างช่วงเดือน กุมภาพันธ์ – มีนาคม ที่ผ่านมา
มันเป็น หนังสือนิยาย จากเค้าโครงเรื่องจริง
ที่ทำเอา เจ้าตัวคนเขียน ถึงกับต้องไปตัดแว่นใหม่เพราะ ปวดสายตา
และทำเอาผม (ในฐานะ ผู้เขียนร่วม และดูแลโคปรเจ็กต์นี้…ให้พวกเขา)
ถึงกับแทบบ้า ต้องหาพาราฯ มากินไปสองแผง
และเรื่องราวต่างๆนั้น กล้าพูดได้เลยว่า ไปฮอลลีวูด ก็ยังไหว

จนความซวยมาเยือน เมื่อหนังสือเสร็จไม่ทันตามกำหนด สัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งล่าสุดที่ผ่านมา
นั่นเพราะว่าทาง บก.สำนักพิมพ์ที่เกี่ยวข้อง ก็วุ่นกับรายการโทรทัศน์ ของตนมาก จนคุยกันแล้วว่า
ขอเลื่อนโครงการนี้ออกไป โดยไม่มีกำหนด ก็ทำเอาผมหมดแรงบันดาลใจไปเสียดื้อๆ

…นั่นคือ สาเหตุที่สารพัดรีวิว ล่าช้า โดนดอง และถึงขั้น โดนลัดคิว ไป-มา เสียรูปกระบวนความได้ถึงขนาดนี้

รวมทั้งรีวิว ของ S80 รุ่นนี้ด้วย



นับตั้งแต่ผมได้พบเห็นคันจริงของรถรุ่นนี้ บนแทนพิธีที่เด่นตระหง่านราวกับหอคอยงาช้าง
ท่ามกลางแสงดาวจากสป็อตไลต์ พร่างพรายระยิบระยับ…



สลับกับการปล่อย ลุง พอล สโตรค์
นายใหญ่ของ วอลโว คาร์ส ไทยแลนด์ คนล่าสุด พร้อมหน่วยคอมมานโด ห้อยโหนโจนทะยานลงมา
จากเพดานของ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรม CENtara ที่เซ็นทรัลเวิล์ด ราชประสงค์ เมื่อ 20 กันยายน 2007



จนได้มีโอกาสไปร่วมทดลองขับทางไกล
ไปทานมื้อเที่ยงกันถึงยังภัตตาคาร วินคอตโต้
ที่ไร่ กราน-มองเต้ สระบุรี



ตามด้วยการไปสัมผัสการทำงานของระบบไฮ-เทค ของรถรุ่นนี้ ที่สนามบริดจ์สโตน หินกอง สระบุรี
ในอีก 7 วันถัดจากนั้น

รวมทั้ง การทะยอยขอยืม รถมาทดลองขับ จนครบ 3 รุ่น มาตั้งแต่ 11 กุมภาพันธ์ 2008 ที่ผ่านมา

วันนี้ ครบ 4 เดือนพอดี ที่รีวิวของ วอลโว S80 ใหม่ล่าสุด
จะผ่านกรรมวิธีการหมักดองทางธรรมชาติจนได้ที่
เจือสี เติมกลิ่นลงไปสักหน่อย แล้วจึงปล่อยออกสู่สายตาของคุณๆกันเสียที

และ เรื่องราวของรถทั้ง 3 คัน รุ่นเดียวกัน ก็พร้อมปรากฎสู่สายตาของคุณ ณ บัดนาว….!



ก่อนจะพูดถึงรถรุ่นใหม่ ตามธรรมเนียมของรีวิวที่ผมทำให้คุณๆอ่านกันฟรีๆ
ก็ต้องย้อนอดีตไปดูเรื่องราวของ S80 รุ่นแรกกันสักหน่อย เอาไว้เป็นข้อมูลพื้นฐาน

S80 รุ่นแรก เปิดตัว และส่งออกขายกันในสวีเดน และตลาดโลกเมื่อ วันที่ 31 พฤษภาคม 1998
ถูกวางตำแหน่งการตลาด ให้เป็นรถยนต์รุ่นหรูที่สุดในสายการผลิตของวอลโว แทนที่ตระกูล 900 Series
(940 / 960 / S90) ที่เปิดตัวสู่ตลาดโลกมาตั้งแต่ปี 1991

S80 รุ่นแรก สร้างขึ้นบนพื้นตัวถังรหัส P2 อันเป็นพื้นตัวถังแม่แบบ ให้กับ ตระกูลพี่น้องที่คลานตามออกมาหลังจากนั้น
ทั้ง V70 รุ่นที่ 2 (รุ่นปัจจุบันในเมืองไทย ที่กำลังจะตกรุ่นในปี 2008 นี้) ซีดานรุ่น S60 และ SUV พี่เบิ้มอย่าง XC90
นอกจากนี้ พื้นตัวถังนี้ยังถูกนำไปใช้กับ รถยนต์ในเครือของฟอร์ดอย่าง Ford Fivehundred กับฝาแฝดอย่าง Mercury Montego
ซึ่งเป็นซีดานที่มีขนาดตัวรถใหญ่กว่า Ford Mondeo ในยุโรป และมีขายเฉพาะในเขตอเมริกาเหนือเท่านั้น
รวมทั้ง SUV อย่าง Ford FreeStyle ซึ่งใช้โครงสร้างตัวถังหลักๆร่วมกับ Ford Territory อันเป็น SUV ที่ผลิตขายในออสเตรเลีย
และส่งมาขายในเมืองไทย ซึ่งผมเคยทดลองขับไปแล้ว ตั้งแต่ปี 2007



S80 รุ่นแรก ถูกผลิตขึ้นที่โรงงาน Torslanda ในเมือง Gothenburg ที่สวีเดน
และในปีแรกที่ออกสู่ตลาด ก็ทำตัวเลขยอดขายได้ราวๆ 23,938 คัน
แต่พอเป็นปี 1999 ตัวเลขก็พุ่งพรวดพราดขึ้นไปถึง 80,681 คัน!!
ก่อนจะค่อยๆลดลงเรื่อยๆตามปีที่ผ่านไป ปี 2000 ขายได้ 67,800 คัน
ปี 2001 ทำได้ 47,393 คัน ปี 2002 เหลือ 40,874 คัน
และนับจากนั้น ตัวเลขยอดขายก็ตีเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 27,000 – 38,000 คัน ต่อ ปี มาเรื่อยๆ
จนถึงปี 2006

ส่วนในเมืองไทย S80 เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 1999
เริ่มทำตลาดด้วยเครื่องยนต์ 2.3 ลิตร และ 2.9 ลิตร
มียอดขายแบบเรื่อยๆมาเรียงๆ ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้นเท่าใดนัก

จนกระทั่ง ในช่วงต้นปี 2004 ปรับโฉมไมเนอร์เชนจ์ครั้งใหญ่
ด้วยเครื่องยนต์ 2.3 ลิตร เทอร์โบ กับรุ่นท็อป S80 EXECUTIVE
มาพร้อมกับ ประธานคนก่อน โรเบิร์ต นอร์แมน บินมารับตำแหน่งในบ้านเราพอดี

ปี 2005 วอลโว เปิดตัว S80 D5 ในงานบางกอกมอเตอร์โชว์ เสริมทัพด้วยขุมพลังดีเซล
รวมทั้งรุ่นเครื่องยนต์ 2.0 ลิตร เทอร์โบ ซึ่งเคยรีวิวกันไปแล้วในนี้…
(http://topicstock.pantip.com/ratchada/topicstock/V3494319/V3494319.html)



เมื่อย่างเข้า ปี 2006 มาได้เพียงเดือนเดียว วอลโวก็ปล่อยภาพถ่ายอย่างเป็นทางการ
ของ S80 รุ่นล่าสุดนี้ ถึงมือของสื่อมวลชนทั่วโลก เมื่อ 31 มกราคม 2006
ก่อนจะขึ้นอวดโฉมบนแท่นหมุนเป็นครั้งแรกในโลกอย่างเป็นทางการ ในงานเจนีวา ออโต้ซาลอน
หรือที่คนไทยรู้จักกันในชื่อ เจนีวา มอเตอร์โชว์ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2006
ก่อนจะเริ่มออกสู่ตลาดในยุโรป เมื่อ 1 มิถุนายน 2006
และต้องใช้เวลาเดินทางมาขึ้นสายการประกอบที่ เมืองไทย หลังออกขายในยุโรป
นานถึง 1 ปี กับอีก 3 เดือน



เจเนอเรชันใหม่ ของ S80 ถูกสร้างขึ้นภายใต้การดูแลของ Product Director ที่ชื่อ Sylvia Gullsdorf
บนพื้นตัวถัง ที่วอลโวพัฒนาขึ้นเองในรหัส P24 ร่วมกับ วอลโว V70 และ XC70 ใหม่
ซึ่งเปิดตัวตามออกมาเมื่อปี 2007 ด้วยต้นทุนที่ค่อนข้างสูงกว่า ทำให้ ฟอร์ด มอเตอร์
ในฐานะ บริษัทแม่ พยายามมองหาช่องทางนำแพล็ตฟอร์ม หรือพื้นตัวถังนี้ ไปใช้กับรถรุ่นอื่นๆ
ให้ได้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ เพื่อช่วยประหยัดต้นทุนการพัฒนาและการผลิตรถยนต์ของฟอร์ด
หลายรุ่นที่ใช้พื้นตัวถังนี้ ก็คือ Ford Mondeo รุ่นใหม่ มินิแวน Ford Galaxy รุ่นที่ 2 รวมทั้ง Ford Galaxy S-MAX
ซึ่งเป็นมินิแวนรุ่นตัวถังเพรียวกว่าแกแล็กซีตัวพ่อ



นับตั้งแต่เปิดตัวสู่ตลาดโลก ถ้าถามว่า S80 ใหม่ ประสบความสำเร็จเพียงใด
ลองมาดูตัวเลขยอดขายกันดีกว่า

ในแต่ละปี วอลโว จะขายรถยนต์ของตนในตลาดทั่วโลก รวมแล้ว
เกินกว่า 4 แสน คัน โดยในปี 2007 ที่ผ่านมา ทำตัวเลขรวมได้ถึง 458,323 คัน
เพิ่มขึ้นจากปี 2006 ซึ่งทำได้ 427,747 คัน

ตลาดใหญ่ที่สุดของวอลโว แน่ละ จะเป็นที่ไหนไปไมได้นอกจาก สหรัฐอเมริกา
ด้วยยอดรวมในปี 2007 มากถึง 106,125 คัน ตามด้วยบ้านเกิดตัวเอง สวีเดน
62,229 คัน เยอรมัน 32,329 คัน อังกฤษ 30,003 คัน รัสเซีย 21,077 คัน
ตามด้วยอิตาลี 20,290 คัน เนเธอร์แลนด์ ตามมาติดๆ 20,253 คัน
สเปน 18,400 คัน เบลเยี่ยม 13,991 คัน ฝรั่งเศส 13,490 คัน
และ ประเทศจีน ซึ่งเพิ่งเข้าไปตั้งโรงงาน และเปิดดำเนินการเมื่อปี 2006 นั้น
อยู่ที่ 12,460 คัน

แต่เรื่องที่น่าแปลกใจไม่น้อยสำหรับผมก็คือ รถวอลโวที่ขายดีที่สุดในปีที่แล้วนั้น
กลับเป็น พี่เบิ้ม SUV รุ่น XC90 ด้วยยอดรวม 79,140 คัน
รองลงมา คือ คอมแพกต์ ซีดาน S40 รวม 63,062 คัน
คอมแพกต์ แวกอน V50 รวม 62,348 คัน

(ลุงพอล! เจ้า 2 ตัวหลังเนี่ย เมื่อไหร่ ยูจะสั่ง CKD เข้ามาปั้มขายซะที…หืม?)

ส่วน S80 นั้น ถือว่าทำตัวเลขได้ไม่เลว
นับจากเปิดตัวในปี 2006 ขายได้ 11,783 คัน
และเฉพาะในปี 2007 ยอดก็พุ่งพรวดไปเป็น 41,839 คัน
และ เมื่อรวมตัวเลข ทั้ง 2 ปีเข้าด้วยกัน
จนถึงสิ้นปี 2007 ที่ผ่านมา
วอลโวขาย S80 ใหม่ออกไปแล้วทั่วโลก รวม 53,622 คัน

ถือว่าทำได้เกินกว่าเป้าหมายที่วอลโว วางไว้ในตอนแรก 3,622 คัน



นอกจากจะได้เงินแล้ว ยังได้กล่อง อีกด้วย
รางวัลต่างๆที่รถรุ่นนี้คว้ามาได้ ส่วนใหญ่ ก็จะยังคงเป็นรางวัลจำพวก
รถยนต์ปลอดภัยสูงสุดในกลุ่มจาก IIHS ในปี 2007 และ 2008
อะไรเทือกๆนั้น ขอไม่เขียนถึงแล้วกัน เพราะนับไม่หวาดไม่ไหว จนขี้เกียจจะนับ

อีกอย่างหนึ่ง รางวัลพวกนี้ ไม่ค่อยมีประโยชน์อะไรเท่าไหร่นัก
ช่วยอย่างมากแค่สร้างความน่าเชื่อถือให้ลูกค้า ก่อนจะซื้อมาใช้
แต่ความพึงพอใจของลูกค้าที่แท้จริง จะเกิดขึ้น เมื่อพวกเขามีประสบการณ์กับรถคันจริง
เหมือนอย่างที่ผม ได้ลองขับมาแล้ว

S80 ใหม่ ยังคงความยาวตัวถังเอาไว้ที่ 4,850 มิลลิเมตร เท่ารุ่นเดิม
ขณะเดียวกัน ตัวถังของรถรุ่นใหม่จะกว้างขึ้นจากเดิม เป็น 1,907 มิลลิเมตร
(2,106 มิลลิเมตร เมื่อรวมกระจกมองข้าง) สูง 1,493 มิลลิเมตร
ระยะฐานล้อยาวเพิ่มเป็น 2,835 มิลลิเมตร ระยะห่างจากพื้นถนน
จนถึงพื้นรถ (Ground Clearance) 148 มิลลิเมตร



งานออกแบบภายนอก อยู่ในการดูแลของ Steve Janssons : Studio Chief Designer Exterior
(คนนี้เขาอยู่ในวอลโว มาตั้งแต่ก่อนที่ Steve Mattin จะย้ายเข้ามาดูแลงานออกแบบภาพรวมของวอลโว หลังจากนั้น)
ภายใต้แนวทาง "Scandinavian Luxury" ซึ่งมันก็แตกหน่อมาจากแนวทางการออกแบบในสไตล์วอลโว
ที่เรียกว่า "Scandinavian Design" นั่นเอง



อะไรคือ Scandinavian Design?

ลองนึกถึงบรรยากาศอันอบอุ่นและผ่อนคลายจากความเครียดใดๆทั้งปวง
ระหว่างที่คุณกำลังนั่งอยู่ใน ห้องรับแขกตกแต่งด้วยสีครีม ที่มีกระจกโปร่งในระดับกำลังดี
ในบ้านอันสุขสบาย ท่ามกลางแสงแดดอ่อนๆ ยามเช้า ในช่วงฤดูหนาว

(รูปนี้ คือ บรรยากาศมุมหนึ่งของร้าน วินคอตโต้ ที่ไร่กราน-มอนเต้ สระบุรี)

นั่นละครับ ผนวกกับงานออกแบบ ที่ เน้นความปลอดภัย ใส่ใจในทุกรายละเอียด
และไม่เคยล้าสมัย ไปตามกาลเวลา นี่ละ คำนิยามอย่ีางย่อ
ของการออกแบบในสไตล์
Scandinavian Design

สตีฟ บอกว่า แรงบันดาลใจ สำหรับเส้นสายตัวถังของรถรุ่นนี้
มาจากกระแสน้ำ ที่ไหลมาตามธรรมชาติ ลงสู่อ่าว



S80 ใหม่ เปิดตัวในเมืองไทยแบบฟูลสเกล เต็มพิกัด ถึง 3 รุ่น
หากมองจากภายนอก แล้วนึกไม่ออกว่า คันที่เห็นอยู่นั้น เป็นรุ่นใด
วิธีสังเกตความแตกต่างที่ง่ายสุดๆ คือ ดูจาก
ตัวเลขขนาดเครื่องยนต์ บนฝากระโปรงหลัง

แล้วถ้าไม่ใช่วิธีนั้น ยังจะมีวิธีการไหน?

ก็ยังมีอีกช่องทาง คือ ดูจากลายล้ออัลลอย ที่แถมมากับตัวรถ
หากเจ้าของเดิม ยังไม่คิดจะเปลี่ยนมันทิ้ง



หากเป็นรุ่น 2.5 ลิตร เทอร์โบ ก็จะเป็นล้ออัลลอย 5 ก้าน อย่างที่เห็น ในรูปด้านบน

ถ้าเป็นรุ่น D5 ลายซี่ล้อจะถี่ขึ้นเป็นแบบที่เห็นอยู่นี้

ซึ่งเมื่อสังเกตดูดีๆ จะพบว่า
แทบหาความแตกต่างจากรุ่น 2.5 T ไม่เจอ



ล้ออัลลอย ของรุ่น 2.5 T เป็นแบบ 5 ก้าน
ชื่อ Canicula ขนาด 7 x 17 นิ้ว

ล้ออัลลอย ของรุ่น D5 เป็นแบบ Regor ขนาดเท่ากัน 7 x 17 นิ้ว
ทั้งคู่สวมกับยาง 225/50R17

ส่วนรุ่น 3.2 ลิตร จะได้ใช้ล้ออัลลอยลายแปลกกว่าใครเพื่อน
คือลาย Zubra ขนาด 8 x 18 นิ้ว
สวมเข้ากับยางขนาด 245/40R18



ส่วนสติ๊กเกอร์ ด้านข้างนั้น
ไม่ใช่อุปกรณ์มาตรฐาน
แต่ถูกติดขึ้น เพื่อให้เวลาขับไปที่ไหน ใครต่อใครจะได้รู้ว่า
นี่คือรถรุ่นใหม่

แต่ได้โปรดเถอะ คราวหลัง ผู้ผลิตรถยนต์รายไหนก็ตาม
หากจะจัดรถทดสอบสำหรับสื่อมวลชนแบบนี้
โปรดอย่าได้ติดสติ๊กเกอร์ คาดซะเต็มข้างรถอย่างนี้เลย

เพราะว่ามันทำให้การถ่ายรูปรถให้สวย ลำบากมากกกกกกกกกกก
นั่นคือเหตุผลที่ทำให้คุณๆ จะเห็นรูปถ่าย ภายนอก ของรุ่น 3.2 ลิตร เพียงแค่ 2 รูปนี้พอ



ความเปลี่ยนแปลงที่น่าประทับใจที่สุด อยู่ที่การออกแบบห้องโดยสารขึ้นใหม่
ไม่ว่าคุณจะเลือกรุ่นไหนก็ตามใน 3 รุ่นนี้ วัสดุที่ใช้ เหมือนกันเปี๊ยบ
จะแตกต่างกันบ้าง ก็มีเพียงแค่ ออพชันเล็กๆน้อยๆ ในแต่ละรุ่นย่อย



และเพื่อให้เห็นกันชัดๆว่า มันไมได้แตกต่างกันเลยนั้น
ก็คงต้องดูเอาเองจากภาพถ่าย…ที่เรียงลำดับ รุ่น 3.2 ลิตร 2.5 ลิตร และ D5
ในแต่ละมุม ให้ประจักษ์แก่สายตา



บานประตู ยังคงหนัก และเปิดออกได้กว้าง แบบเดียวกับวอลโวยุคใหม่รุ่นอื่นๆ
การก้าวขึ้นลงจากรถ ทำได้สะดวกสบาย ตามปกติของรถยนต์ซีดานยุคใหม่ๆ
กระจกหน้าต่างไฟฟ้าทั้ง 4 บานของทุกรุ่น เป็นแบบ One-Touch พร้อมระบบ
ดีดกลับอัตโนมัติ เมื่อมีสิ่งกีดขวาง Jam-Protection



เบาะคู่หน้า ทุกรุ่น

– ปรับด้วยไฟฟ้า ทั้งฝั่งคนขับ และฝั่งผู้โดยสาร
– เฉพาะฝั่งคนขับ มีหน่วยความจำตำแหน่งที่ปรับเอาไว้ 3 ตำแหน่ง ทุกรุ่น
– หนังที่ใช้ เป็นหนังแท้แบบนุ่ม Sovereign



– ทุกรุ่นติดตั้ง พนักศีรษะ เป็นแบบลดการบาดเจ็บของกระดูกต้นคอ และหลังที่เกิดจากการสะบัดของศีรษะ WHIPS

อุปกรณ์นี้ จะทำงานเมื่อตัวรถถูกชนเข้าทางด้านหลัง เมื่อลำตัวผู้โดยสาร ถูกเหวี่ยงล้ำไปทางด้านหน้า
เมื่อร่างของผู้โดยสารดีดกลับ พนักพิงเบาะ และพนักศีรษะ จะดีดตัว เอนลง

(ซึ่งถ้าผมจำไม่ผิด อุปกรณ์นี้ นักประดิษฐ์ชาวไทยเราเป็นผู้คิดค้น แต่มีการขายลิขสิทธิ์ให้กับผู้ผลิตรถยนต์บางราย)



บรรยากาศในนั้น ผมถือว่า นี่คือ ห้องโดยสารของรถยนต์ซีดาน ที่ออกแบบมาได้ดี และลงตัวที่สุด
ในบรรดารถยนต์ประกอบในประเทศ ทุกค่าย ทุกยี่ห้อ ทุกรุ่น ไม่จำกัดสัญชาติ ณ เวลาที่รีวิวฉบับนี้ถูกเผยแพร่

ไม่เพียงแต่เบาะนั่งคู่หน้า จะนั่งสบาย เหมือนนั่งอยู่บนโซฟาที่บุวัสดุชั้นดี
และไม่ก่ออาการปวดหลังเลย ตลอดเวลาที่โดยสารอยู่ในรถแล้ว
เบาะนั่ง ยังรั้งตัวผู้ขับขี่และผู้โดยสารเอาไว้ โดยไม่หลุดลื่นไหลไปได้ง่ายดายนัก



ขณะที่ผู้โดยสารด้านหลัง ยังคงความสบาย สมกับเป็นรถยนต์ระดับผู้บริหาร
หากสังเกตดีๆ จะพบว่า มี การปรับปรุงให้ดีขึ้นในหลายประเด็น

โดยเฉพาะ การติดตั้ง สวิชต์ควบคุมชุดเครื่องเสียง บริเวณด้านหลังของ กล่องคอนโซลกลาง
ซึ่งไมไดีมีเฉพาะแค่ รุ่น 3.2 ลิตรเท่านั้น…



แต่ทั้งรุ่น 2.5 ลิตร และ D5 ก็มีสวิชต์ชุดดังกล่าว ติดตั้งมาให้เหมือนกันทุกรุ่น

เช่นเดียวกับ ช่องปรับอากาศ บริเวณ เสาหลังคากลาง B-Pillar ทั้ง 2 ฝั่ง



ทางเข้าห้องโดยสารด้านหลังนั้น
ตั้งข้อสังเกตว่า แนวเส้นขอบประตูด้านบน
ถูกออกแบบให้สอดคล้องกัน
กับแนวเส้นสายภายนอกที่เกี่ยวข้อง
และนั่นทำให้ โอกาสที่บางคนจะเจอปัญหาศีรษะ จะโขกกับแนวขอบหลังคาด้านบน
ขณะที่คุณต้องก้มหัวเข้าไปในรถ เพิ่มขึ้นจากรุ่นเดิมเล็กน้อย ที่ไม่มีปัญหานี้เลย



เบาะนั่งด้านหลัง ยังคงนั่งสบาย ไม่ต่างจากด้านหน้า
ซึ่งนั่งได้เต็มก้น จนถึงบริเวณขาพับ

พนักศีรษะด้านหลังสามารถพับลงได้ ด้วยสวิชต์ไฟฟ้า
บนคอนโซลกลางใกล้คันเกียร์



ตำแหน่งการวางแขนของทั้งเบาะหน้า และหลังนั้น ถือว่า ไม่มีที่ติ
รองรับได้ดีตามหลักสรีรศาสตร์

เข็มขัดนิรภัยด้านหลังเป็นแบบ 3 จุด ทุกที่นั่ง

พื้นที่หนือศีรษะ ถือว่าใกล้เคียงกับรถรุ่นเดิม
ไม่ได้แตกต่างมากมายนัก



มีที่วางแขนพับเก็บได้ พร้อมฝาเปิดช่องเก็บของ
และมีที่วางแก้วน้ำมาให้ 2 ตำแหน่ง

เบาะนั่งด้านหลังนี้ สามารถแบ่งพับได้ในอัตราส่วน 60 : 40
เพื่อเพิ่มพื้นที่ห้องเก็บของด้านหลัง



แต่การจะพับเบาะได้นั้น ก่อนอื่น คุณต้องเปิดฝากระโปรงหลังก่อน
จะเห็นว่า ห้องเก็บของด้านหลังนั้น มีพื้นที่ใหญ่โต ไม่ได้หนีไปจากเดิมมากนัก

ด้านบน จะเห็นว่า มีการติดตั้ง อุปกรณ์ สามเหลี่ยม ฉุกเฉิน เอาไว้มาให้จากโรงงาน
ไว้เพื่อจะบอกกับรถคันที่ตามมาว่าให้ระวังตัวสักหน่อย



และพื้นห้องเก็บของนั้น สามารถเปิดยกขึ้นมา จะมีแถบสีเหลืองสะท้อนแสงเอาไว้
เพื่อเป็นการบอกในกรณีที่รถจอดเสียอยู่ข้างทาง

มองดีๆ จะเห็นว่า ก้านโยก ดึงสลักปลดล็อกพนักพิงเบาะหลัง
จะอยู่บนขอบด้านบนสุดของช่องทางเข้าห้องเก็บสัมภาระนั่นเอง



แผงหน้าปัดของ วอลโวในระยะหลังๆมานี้ มีจุดเด่นในการออกแบบที่เหมือนกันอยู่ 3 ประการ

ข้อแรก ไม่ว่า ตอนกลาง จะตกแต่งด้วยโทนสีดำ หรือสีเบจ
ตัดกับ ลายไม้ แบบ Classic Wood Trim หรือจะเป็นอย่างไรก็ตาม
การเลือกใช้โทนสีของ แผงด้านบน มักจะเป็นสีดำ หรือสีโทนเข้ม
เหตุผลก็เพื่อ ลดการสะท้อนแสงเข้าสู่สายตาของผู้ขับขี่



ข้อ 2 คือเน้นความเรียบง่าย และสะดวกต่อการใช้งานมากยิ่งขึ้น
ลดความวุ่นวายของสวิชต์ควบคุมต่างๆ ให้ลดน้อยลง เหลือเท่าที่จำเป็น
สวิชต์ปุ่มเดียว สามารถใช้งานได้หลากหลายมากขึ้น

และสวิชต์ระบบปรับอากาศ หลัก ถูกออกแบบให้เป็น วงกลม 4 วง
วางอยู่ในลักษณะ สี่มุมเมือง ถ้าจำเป็นต้องปรับอุณหภูมิ
ขณะกำลังขับรถไปด้วย สวิชต์แบบนี้จะช่วยลดการละสายตาของผู้ขับขี่ได้
เพราะ ผู้ขับขี่เพียงแต่ต้องจำให้ได้ว่า ควรจะเลือกหมุนที่้สวิชต์หมุน ฝั่งขวาล่าง



ข้อ 3 คือ การออกแบบ แผงคอยโซลกลาง ให้ลอยตัว และเปิดพื้นที่ด้านหลัง
ให้โล่งพอจะวางกล้องถ่ายรูปขนาดคอมแพกต์ได้ 1 ตัว
ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจาก เครื่องใช้ไฟฟ้ายี่ห้อ BANG & OLUFSEN
อันมีถิ่นกำเนิดในสวีเดนเหมือนกันนั่นเอง



ชุดมาตรวัด ดูเหมือนได้แรงบันดาลใจจาก เมอร์เซเดส-เบนซ์มาบ้างเล็กน้อย
แต่นับเป็นเรื่องดี ที่ขยายขนาดของจอแสดงข้อมูลการทำงานของระบบต่างๆในรถ
ให้มีขนาดใหญ่โตขึ้น และแบ่งเป็น 2 จอ

ฝั่งซ้าย แจ้งข้อมูล ระยะทางของรถที่แล่นมาทั้งหมด รวมทั้ง Trip meter
2 Trip ปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงที่เหลือในถัง

ฝั่งขวาแสดง นาฬิกา อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย
อุณหภูมิภายนอกรถ โหมดแจ้งเตือนการทำงานของุปกรณ์ต่างๆ

แต่ น่าสังเกตว่า ไม่มี มาตรวัดอุณหภูมิของน้ำหล่อเย็น
เขาเก็บเอาไว้เตือน เมื่อมันร้อนขึ้นมาจริงๆเท่านั้น

ทุกรุ่นติดตั้ง ระบบควบคุมการทรงตัวและ เสถียรภาพ DSTC
(Dynamic Stability and Traction Control)
พร้อมปุ่มสั่งเปิด-ปิด การทำงานให้เลือกได้



การเปลี่ยนโหมดข้อมูลบนหน้าจอนั้น ก็ยังทำได้เหมือนกับ วอลโวรุ่นอื่นๆ
นั่นคือ ที่ก้านไฟเลี้ยว ฝั่งซ้ายมือ (รถยุโรป ส่วนใหญ่ก้านไฟเลี้ยวอยู่ซ้ายนะครับ)
จะมีปุ่ม INFO และปุ่ม READ กดเข้าไป แล้วจะมี ลูกหมุน ซ่อนอยู่ หมุนทีละคลิก ก็จะเปลี่ยนหน้าจอ
ไปตามโหมดการทำงาน แจ้งตัวเลขละเอียดแม้กระทั่ง น้ำมันในถัง จะเหลือให้พอแล่นได้อีกกี่กิโลเมตร ฯลฯ
พร้อมปุ่ม RESET ให้ระบบคอมพิวเตอร์ On-Board เริ่มต้นเก็บสถิติค่าความสิ้นเปลืองและระยะทางต่างๆ ขึ้นใหม่



ระบบกุญแจ และการติดเครื่องยนต์ของรถคันนี้
แตกต่างจากรถยนต์ธรรมดาทั่วไป

เพราะ ใช้ระบบ คีย์การ์ด รีโมทคอนโทรล ที่วอลโว
นำมาใช้เป็นครั้งแรกในโลก กับรถยนต์ของตน เรียกว่า
PCC (Personal Car Communicator)

จริงอยู่ว่า คุณยังพกรีโมทไว้อยู่ในกระเป๋าเสื้อ หรือกระเป๋ากางเกง
เดินมาที่รถ ระบบก็จะสั่งปลดล็อกให้คุณเอง เมื่อคุณดึงมือเปิดประตู
และสามารถติดเครื่องยนต์ได้ ด้วยปุ่มที่เห็นอยู่นี้
ซึ่งคุณจะเสียบคีย์การ์ด ลงในช่องที่เห็นหรือไม่ ก็ติดเครื่องยนต์ได้ทั้งสิ้น
ถ้าพกรีโมทเอาไว้

และเมื่อเดินออกห่างจากรถไป เมื่อกดปุ่มสีดำ บนประตูทั้ง 4 บาน ระบบก็จะสั่งล็อกให้

มันอาจจะเหมือนกับระบบ Keyless Entry ของ Toyota / Lexus หลายๆรุ่น
รวมทั้ง Nissan Teana และ BMW / MINI หลายรุ่น ที่ผมเคยเจอมา

แต่สิ่งที่ทำให้ PCC แตกต่างออกไป นั่นคือ

– ถ้ากำลังนั่งเมาท์แตกอยู่กับผองเพื่อนร่วมสมาคมบนโต๊ะอาหาร
แล้วนึกขึ้นมาได้ ไม่แน่ใจว่าลืมล็อกรถหรือเปล่า ให้กดปุ่ม i บนรีโมท
ถ้า ไฟเขียว ขึ้น แสดงว่า รถล็อกอยู่ เมาท์ต่อไปเหอะ
ถ้าไฟเหลือง ขึ้น แสดงว่า รถยังไม่ล็อก รีบปลีกตัวจากผองเพื่อนไปล็อกรถก่อนซะ
แต่ถ้าไฟแดงขึ้นเมื่อไหร่ รีบเรียกผองเพื่อนไปดักตบกบาล ผู้บุกรุกที่มาป้วนเปี้ยนกับรถคุณได้เลย
นอกจากนี้ ถ้า มี สิ่งมีชีวิต จะลูกเล็กเด็กแดง หรือน้องหมา ที่หลับอยู่ เกิดตื่นขึ้นมา
แล้วพบว่าคุณไม่อยู่ในรถ และล็อกรถไปแล้ว
ระบบ จะตรวจจับสัญญาณการเคลื่อนไหวภายในรถ
และจังหวะการเต้นของหัวใจ ก่อนจะส่งสัญญาณไฟสีแดง กระพริบ
ให้คุณรู้ตัว แถมตัวรถก็จะส่งเสียงร้องลั่น ให้ผู้คนรับรู้อีกด้วย ว่าคุณมี สิ่งมีชีวิตอยู่ในรถ


ระบบนี้จะทำงาน ในรัศมี 60-100 เมตร จากตัวรถ

ช่วงที่สาธิตการทำงานกันนั้น

คุณพี่ตุ้ม ฉันทนา วัฒนารมย์
รองประธานบริหาร ฝ่ายการตลาด
ผู้เฮฮา ของวอลโว ก็ลงทุนไปนังขังตัวเองอยู่ในรถนั่นละครับ

ทำตัวนิ่งๆเอาไว้ ล้อกรถแล้ว ก็นิ่งสนิท ไปพักนึง



พอพี่ตุ้มเริ่มเหงื่อเริ่มตก
ลองกดปุ่ม i ไฟก็วิ่งพล่านไปทั่วรีโมทตามปกติ
ก่อนจะกระพริบที่สีแดง

ก็เป็นอันว่า ระบบใช้การได้จริง

(เล่นกันง่ายๆอย่างงี้เลยเนี่ยนะ เอิ๊กๆๆๆ)



ต้องยอมรับกันเลยว่า นี่คือรถยนต์รุ่นแรก ที่ผมสามารถขับรถไป
และร้องเพลงไปได้ต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ โดยที่คอไม่แหบแห้ง
แม้จะเปิดแอร์อยู่ก็ตาม

เพราะทุกรุ่นของ S80 วอลโวติดตั้งระบบเครื่องปรับอากาศ แบบ ECC (Electronic Climate Control)
แยกฝั่ง ผู้โดยสารทั้งซ้าย – ขวา รวมทั้งระบบควบคุมคุณภาพของอากาศอัจฉริยะ
ที่มาพร้อมเซ็นเซอร์ วัดกลิ่นจากอากาศนอกรถ IAQS (Interior Air Quality System) แบบ Multi Active Sensor
แถมยังมีระบบ จัดการกลิ่นห้องโดยสาร ที่ปราศจากสิ่งกระตุ้นอาการภูมิแพ้ CZIP (Clean Zone Interior Package) มาให้
กันแบบเต็มพิกัด นั่นหมายความว่า วัสดุที่ตกแต่งภายในรถ รวมถึงแผ่นกรองอากาศ จะต้องไม่มีสารก่ออาการภูมิแพ้อยู่เลย

วอลโวการันตีว่า ได้รับการรับรองคุณภาพจากสถาบันโรคหอบหืดและภูมิแพ้แห่งประเทศสวีเดน
ว่าจะไม่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อผู้มีปัญหาระบบทางเดินหายใจและภูมิแพ้ (อย่างผมนั่นเอง)

เพราะมีการติดตั้งแผ่นกรองอากาศ ในห้องโดยสารนั้น ใช้ผงคาร์บอนพิเศษ
ฟอกอากาศจากภายนอกรถก่อน และนั่นทำให้ กลิ่นในห้องโดยสาร
และกลิ่นจากวัสดุตกแต่งภายใน รบกวนจมูกผมน้อยมาก

และแน่นอน แอร์หนะ เย็นฉ่ำใช้ได้เลยทีเดียว

แต่….เมื่อนั่นคือข้อดี ก็ไม่ควรลืมข้อเสียของมันด้วยละ…

ข้อเสียก็คือ ถ้าคุณเลือกภายในห้องโดยสารสีเบจอ่อนแล้ว
ก็อย่าเผลอไผลทำมันเปื้อนเลยเชียว!! มิฉะนั้น อย่าหาว่าผมไม่เตือน หึหึหึ

สำหรับชุดเครื่องเสียง นั้น จากประสบการณ์ที่ผ่านมา สำหรับวอลโวรุ่นหลังจากปี 2003 ขึ้นมาแล้ว
มีเพียงแค่ชุดเครื่องเสียงในรุ่น S80 D5 เท่านั้น ที่ผมว่าคุณภาพเสียงยังไม่ถึงกับดีนัก
และนั่นเพราะว่า เป็นเครื่องเสียงรุ่นเบสิก ที่เหลือ เครื่องเสียงของวอลโว
ถือว่ามีคุณภาพเสียงดีที่สุดรายหนึ่งในบรรดาเครื่องเสียงติดรถยนต์มาจากโรงงาน

แต่คราวนี้ กับ S80 ใหม่ วอลโว บอกเอาไว้ใน วีดีโอ พรีเซ็นเตชัน ภาคภาษาอังกฤษ เมื่อตอนเปิดตัวในปี 2006
ว่า ตั้งใจจะสร้างชุดเครื่องเสียงติดรถยนต์จากโรงงาน ที่ดีที่สุดในโลก และนั่นคงไม่ต้องสงสัยแล้วว่า
ทำไมชุดเครื่องเสียง HIGH PERFORMANCE SOUND SYSTEM 4 x 40 วัตต์ จึงให้คุณภาพเสียงอยู่ในระดับ เลอเลิศ
พร้อมเครื่องเล่น CD / MP3 และลำโพง 8 ชิ้น

แต่ในรุ่น 3.2 ลิตร จะถูกอัพเกรดขึ้นเป็นระบบ PREMIUMSOUND SYSTEM 5 x 130 วัตต์
พร้อมลำโพงจาก DYNAUDIO มากถึง 12 ชิ้น ซึ่งจะยิ่งให้คุณภาพเสียงที่ดีขึ้นไปอีก

ชุดเครื่องเสียงนี้ ยังมีช่องเสียบหูฟังสำหรับผู้โดยสารด้านหลัง ช่องเชื่อมต่อกับเครื่องเล่น iPod และ MP3
แถมด้วยระบบเชื่อมต่อกับโทรศัพท์มือถือ Bluetooth ในตัว

รวมทั้งยังติดตั้งระบบแจ้งข้อมูลอัจฉริยะ IDIS (Intelligent Driver Information System) มาให้ทุกคัน
ประโยชน์ของมันก็คือ ช่วยประเมินสถานการณ์ในการขับขี่โดยเฉพาะช่วงการจราจรคับคั่งแล้ว
ยังสามารถตั้งค่าให้ระบบทำงานในโหมดต่างๆได้ เช่น หากโทรศัพท์เข้ามา ขณะที่คุณกำลังฟังเพลงอยู่
เครื่องเสียง จะหรี่เสี่ยงลงเองโดยอัตโนมัติ และรับสายโทรศัพท์ให้โดยอัตโนมัติ เมื่อวางสาย เครื่องเสียงก็จะ
กลับมาดังเหมือนเดิม และ ถ้าไม่ต้องการใช้งานระบบนี ก็สั่งปิดมันทิ้งไปได้ ผ่านปุ่มลูกศร เมนูตั้งค่าต่างๆนั่นเอง

แต่ถามว่าจำเป็นไหม? ผมว่าแค่ชุดเครื่องเสียงของรุ่น 2.5 ลิตร และ D5 นั่นก็ให้คุณภาพเสียงที่ดีพอที่จะทำให้ผม
ลืมชุดเครื่องเสียง Mark Levinson ใน Lexus ไปได้แล้วนะ!

เบรกมือเป็นสวิชต์ไฟฟ้า Power Parking Break คล้ายคลึงกับระบบสวิชต์เบรกมือไฟฟ้าใน
Land Rover Discovery และ RangeRover Sport ที่ผมเคยลองขับมา หากจะออกรถบนทางลาดชัน แค่กดปุ่มเบรกมือ
ระบบก็จะปลดล็อก และตัวรถ ซึ่งควรอยู่ในตำแหน่งเกียร์ D อยู่แล้วก็จะถูกขับเคลื่อนออกไปอย่างง่ายดาย
แต่จะว่าไปแล้วก็อันตรายเหมือนกัน หากมีการพลั้งเผลอเข้าเกียร์ D เอาไว้ แล้วคุณเผลอเหยียบคันเร่ง รถก็จะพุ่งออกไปได้
โดยง่าย

ระบบนี้ ติดตั้ง อยู่บริเวณใต้แผงควบคุมไฟหน้า ที่มีระบบปรับระดับลำแสงมาให้ สวิชต์ไฟตัดหมอกหน้า-หลัง
สวิชต์ปรับความสว่างของชุดมาตรวัดยามค่ำคืน และสวิชต์ฝาถังน้ำมัน แบบล็อกไฟฟ้า


(ชุดลำโพง จาก DYNAUDIO)


(ชุดสวิชต์ หน้าต่างไฟฟ้า และสวิชต์ปรับกระจกมองข้าง)



พวงมาลัย เป็นแบบ Multi Function และ มีวงพวงมาลัยตกแต่งด้วย ลายไม้ทุกรุ่น
ซึ่งเมื่อเวลามือเปียกชื้อนด้วยเหงื่อ ก็จะลื่นใช้ได้เลยทีเดียว

โดยปกติแล้ว สวิชต์บนพวงมาลัยของทุกรุ่นนั้น
ฝั่งขวา เป็นชุดควบคุมเครื่องเสียง และรับสาย-วางสายโทรศัพท์
ฝั่งซ้าย เป็นระบบควบคุมความเร็วคงที่ Cruise Control



แต่สำหรับรุ่น 6 สูบเรียง 3.2 ลิตรนั้น จะมีจุดเด่นที่แตกต่างจากรุ่นอื่นๆทั่วไป
เนื่องจากมีระบบความปลอดภัยยุคใหม่ ซึ่งถือได้ว่าเป็นการปฏิวัติแนวคิดในด้านการป้องกัน
และลดความเสี่ยงจากการเกิดอุบัติเหตุ ทั้งในช่วงความเร็วต่ำ และความเร็วเดินทาง
ติดตั้งมาให้ เป็น 2 เทคโนโลยี ที่ผมคิดว่า สมควรอย่างยิ่ง
ที่จะถูกนำมาติดตั้งในรถยนต์ทุกรุ่น ทุกยี่ห้อ ในอนาคต โดยไม่จำเป็นต้องเจาะจงว่า
เป็นเพียงแต่รถยนต์ขนาดใหญ่เท่านั้น

ระบบแรก จากสองระบบที่ว่านั้นก็คือ ระบบควบคุมความเร็วคงที่อัตโนมัติ แปรผันตามระยะห่างของรถคันข้างหน้า
Adaptive Cruise Control พร้อมกับ Collision Warning หรือระบบ เตือนผู้ขับขี่ว่าเข้าใกล้ รถคันข้างหน้ามากเกินไป
และถือเป็นวอลโวรุ่นแรกที่ติดตั้งระบบ ควบคุมความเร็วคงที่ในลักษณะนี้ แต่สำหรับสัญญาณเตือนเข้าใกล้รถคันหน้ามากไปนั้น
วอลโว ถือเป็นผู้ผลิตรายแรกในโลก ที่ใช้วิธีเตือนกันอย่างฉับพลันแบบนี้

การทำงานก็อธิบายได้ง่ายมาก คือ มีตัวส่งเรดาห์ บริเวณกระจังหน้ารถ ไปสะท้อนกับวัตถุแข็งๆ
หรือรถคันข้างหน้า



ซึ่งเราสามารถปรับตั้งระยะห่าง ที่จะให้เรดาห์ มันเตือน ได้ จากสวิชต์ควบคุมระบบ
บนแผงคอนโซลกลาง และพวงมาลัยควบคู่กัน


คุณสามารถตั้งได้ ว่าต้องการจะให้อยู่ห่างจากรถคันข้างหน้า 1 หรือ 2 หรือ 3 วินาที

ถ้าเมื่อใดก็ตาม ที่เรดาห์มันจับสัญญาณได้ว่า รถของคุณ เข้าใกล้กับรถคันข้างหน้ามากเกินไป เรดาห์จะส่งสัญญาณ
ไปยังเซ็นเซอร์ ประมวลผลของระบบ เพื่อสั่งให้
ระบบเตือนผู้ขับขี่ก่อนการชน (Coliision Warning) ทำงาน
โดย แถบไฟ LED ที่ติดตั้งอยู่เหนือชุดมาตรวัด ที่เห็นอยู่นี้…



ก็จะขึ้นแถบไฟกระพริบ สีแดง พร้อมกับเสียง ปิ๊บๆ ถี่ๆ ดังลั่นรถ
ชุดเครื่องเสียงจะถูกหรี่ลงอัตโนมัติทันที จนกว่าสัญญาณเตือนจะหายไป

และพร้อมกันนั้น ระบบช่วยชะลอรถ (Break Support)
จะสั่งให้ระบบเบรก ทำงานทันที เพื่อชะลอความเร็วล่วงหน้า ทันที เมื่อรถอยู่ในระยะกระชั้นชิด
แต่ แน่นอนว่า รถจะยังไม่หยุดให้ ผู้ขับขี่ต้องเหยียบเบรกเพิ่มเข้าไปด้วย ให้รถหยุด ด้วยตัวเองอยู่ดี

ระบบนี้ จะทำงานทันที ร่วมกับ ระบบป้องกันล้อล็อก ABS ระบบกระจายแรงเบรกในภาวะฉุกเฉิน EBD
และ ระบบ Hydraulic Break Assist เพิ่มแรงเบรกในภาวะฉุกเฉิน ทำงานประสานสอดคล้องกัน
จนกว่า รถจะหยุด หรือ รถคันข้างหน้าเลื่อนเขยิบหนีห่างไปเรียบร้อยแล้ว พร้อมกันนั้น ไฟฉุกเฉิน จะติดขึ้นเองทันที
เพื่อให้รถคันที่ตามมา ระวังตัวและหาทางหนีทีไล่กันเอาเองให้ดีๆ



และการปรับระยะการเตือนของสัญญาณนั้น
เลือกได้ผ่านทางเมนูหน้าจอที่เห็นนี้

สิ่งที่แตกต่างจาก โตโยต้า แคมรี V6 3.5 ลิตร ซึ่งมีระบบ Redar Cruise Control คล้ายๆ กัน
นั่นคือ ระบบ เตือนผู้ขับขี่ของ โตโยต้า จะทำงานก็ต่อเมื่อเปิดใช้ระบบ Cruise Control เท่านั้น

แต่ใน S80 3.2 ลิตร นั้น ระบบ Coliision Warning จะทำงาน แม้ว่าไม่เปิดระบบ Adaptive Cruise Control ก็ตาม
ซึ่งถือเป็นวิธีคิดที่แตกต่าง และน่าจะช่วยให้ผลลัพธ์ในการป้องกันอุบัติเหตุนั้น เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น



และเทคโนโลยีที่ผม ชื่นชอบที่สุด และขอยกให้เป็น เทคโนโลยีที่น่าจะถูกนำมาติดตั้งในรถยนต์ทั่วๆไปมากที่สุด
คือระบบ กล้องและสัญญาณไฟเตือนมุมอับของสายตา BLIS (Blind Spot Information System)
ระบบนี้ วอลโว คิดค้นและติดตั้งในรถยนต์ต้นแบบ มาตั้งแต่ ปี 2001 แล้ว เพิ่งจะได้ฤกษ์นำมาติดตั้ง
ในรถยนต์รุ่นจำหน่ายจริงเป็นครั้งแรกของ S80 นี่ละ

ระบบนี้ มีสวิชต์ เปิด-ปิดการทำงาน ที่ ด้านใต้แผงควบคุมคอนโซลกลาง
เมื่อไหร่ที่รถ เริ่มเคลื่อนที่ด้วยความเร็วเกิน 10 กิโลเมตร/ชั่วโมง
กล้องดิจิตอล ที่ใต้กระจกมองข้างทั้ง 2 ฝั่ง จะสอดส่องสภาพการจราจรด้านหลังรถ
ทั้งฝั่งซ้ายและขวา



ถ้ามีรถเก๋งหรือจักรยานยนต์ รถบรรทุก รถเมล์ จักรยาน ตุ๊กๆ หรืออะไรก็ตามแต่
เคลื่อนตัวเข้ามาอยู่ในระยะที่เป็นจุดบอดทางสายตาเช่นนี้

ระบบจะขึ้นไฟเตือนให้ เพื่อแจ้งว่า มีรถมาอยู่ข้างๆนะ จะเปลี่ยนเลนก็ระวังด้วย

แต่…จากที่ได้มีโอกาสพบเจอมา ใน วอลโว C30 (ซึ่งเจอในสภาพฝนตกบ่อยๆ)
บางครั้ง มันอาจจะรวนได้เช่นเดียวกัน หากมีการติดตั้งไม่สนิทดีพอจากทางโชว์รูม
โอกาสที่น้ำฝนจะเข้าไปกทำให้ระบบรวน ก็เกิดขึ้นได้

ทางแก้นั้น ปิดสวิชต์ ก็ไม่หาย ต้องดับเครื่องยนต์ แล้วจึงเปิดระบบขึ้นมาใหม่

และสิ่งที่น่าเสียดายอย่างสุดยอดคือ เทคโนโลยีที่ดีเช่นนี้ ยังคงถูกจำกัดไว้กับ
รุ่น 3.2 ลิตร ซึ่งเป็นรถนำเข้าสำเร็จรูปจากสวีเดน เท่านั้น
ทั้งที่ ระบบนี้ ควรจะมีติดตั้งให้กับทั้งรุ่น 2.5T และ D5 ด้วยเช่นเดียวกัน!!



(…อ่านมาถึงตรงนี้ พักสูดหายใจรับอากาศบริสุทธิ์กันสักนิด

จากซันรูฟ ไฟฟ้า ที่มีมาให้เฉพาะรุ่น 3.2 ลิตร นำเข้าจากสวีเดนเท่านั้น
อีกเช่นกัน

และ ถ้าพร้อมแล้วก็อ่านกันต่อ…)



แล้วถ้าระบบความปลอดภัยเชิงป้องกัน (Active Safety) เหล่านี้
เตือนกันขนาดนี้ ยังเอาไม่อยู่ละ?

วอลโวคิดเรื่องพวกนี้ไว้หมดแล้ว ไม่เช่นนั้นก็คงขายขี้หน้าชาวประชาเขาแย่เลย

โครงสร้างตัวถังนิรภัย ถูกออกแบบขึ้นมาอย่างพิถีพิถันและคำนึงถึงองค์ประกอบต่างๆมากมาย
ไม่ว่าจะเป็น โครงสร้างด้านหน้า (Patented Frontal Structure) ที่ถูกออกแบบตามหลักเรขาคณิต
เพื่อช่วยหักเหแรงปะทะ ไม่ให้เข้าถึงห้องโดยสาร

โครงสร้างตัวถังนิรภัย กระจายแรงปะทะจากด้านข้าง SIPS (Side Impact Protection System)
พนักศีรษะ WHIPS

ทุกรุ่นติดตั้ง
– ถุงลมนิรภัย คู่หน้า (Dual SRS Airbag) ด้านข้าง ที่เบาะทั้ง 2 ฝั่ง (SIPS Airbag) )
และ ม่านลมนิรภัย IC (Inflatable Curtain) รวม 6 ใบ
– เข็มขัดนิรภัย เป็นแบบ 3 จุดพร้อมระบบ ดึงกลับและผ่อนแรงอัตโนมัติ (Pretension & Load Limiter) ทุกตำแหน่ง
– พวงมาลัย ปรับสูงต่ำ และปรับระยะใกล้-ไกลได้
– ระบบควบคุมการทรงตัวและเสถียรภาพ DSTC
– ระบบไฟเบรกฉุกเฉิน (ทำงานทันที ที่มีการหยุดรถด้วยแรงมากกว่า
0.7 g หรือเมื่อ ABS ทืงาน ไฟเบรกจะกระพริบเตือนรถคันที่ตามหลังมาโดยอัตโนมัติ เช่นเดียวกับ ไฟฉุกเฉิน
– นอกจากนี้ ฝากระโปรงหน้ายังออกแบบให้ยุบตัวได้ เพื่อลดการบาดเจ็บของคนเดินถนน กรณีที่เดินตัดหน้าคุณ
– มีไฟส่องสว่างใต้กระจกมองข้าง
– เซ็นเซอร์ ช่วยจอด ( Parking Sensor ที่มีเสียงเตือนระยะห่างจากวัตถุกับกันชนรถ ฮาสุดยอด
ปิ๊งๆ ปุ๊กๆ อะไรของมันก็ไม่รู้ แต่กระยะแม่นยำใช้ได้) ดังขึ่นเมื่อเข้าเกียร์ถอยหลัง R
– กุญแจระบบ Immobilizer
– กระจกมองหลัง ตัดแสงจ้ารบกวนอัตโนมัติ
ฯลฯ อีกมากมาย



แต่ที่ผมว่า เป็นเรื่องดี และน่าจะมีกันได้แล้วสำหรับรถยนต์ในบ้านเรา
ก็คือ จุดยึดเบาะนิรภัยสำหรับเด็ก มาตรฐาน ISOFIX

วอลโวนั้น ปกติ ก็ใส่ใจเรื่องความปลอดภัยสำหรับเด็กมาโดยตลอดแล้ว
และแม้กระทั่งรถระดับผู้บริหารแบบนี้ ก็ยังมีเผื่อมาให้

ผู้ผลิตรถญี่ปุ่นในประเทศไทย เมื่อไหร่จะใส่ใจในเรื่องแบบนี้กันบ้างเสียที



********** รายละเอียดด้านวิศวกรรม และการทดลองขับ **********

ในต่างประเทศ วอลโว มีทางเลือกเครื่องยนต์ให้กับ S80 มากมายหลายหลาก

เกร็ดความรู้เล็กน้อย ที่อยากจะเล่าให้อ่านกันเล่นๆ โดยที่ไม่เกี่ยวกับเวอร์ชันไทยเท่าไหร่ก็คือ
เชื่อหรือไม่ว่า เครื่องยนต์ V8 ที่วางอยู่ใน S80 และ XC90 ในตลาดต่างประเทศนั้น
ผลิต โดย YAMAHA…!!!!!!

ไม่ได้ล้อเล่น แต่เป็นเรื่องจริง วอลโว เริ่มต้น นำเครื่องยนต์ V8 วางทำมุม 60 องศา DOHC 32 วาล์ว All-Aluminium
4,400 ซีซี 311 แรงม้า มาวางลงใน XC90 รุ่นที่แล้วเป็นประเดิม เมื่อปี 2005 ก่อนที่ S80 รุ่นที่แล้วจะได้รับอานิสงค์
ไปด้วย เครื่องยนต์นี้ วอลโว ออกแบบ และกำหนดสเป็กต่างๆเอง แต่ ว่าจ้างให้ ยามาฮ่า ในญี่ปุ่น ผลิตให้
และถือเป็นเครื่องยนต์ V8 ที่แตกต่างจากเครื่องยนต์ V8 ในตระกูลของฟอร์ดทั่วๆไป

แต่ เครื่องยนต์ที่ว่านี้ ไม่มีขายในบ้านเรา

เพราะวอลโวเปิดตัว S80 ใหม่ในไทย ด้วยทางเลือกเครืองยนต์มากถึง 3 แบบ
ติดตั้งเชื่อมกับระบบขับเคลื่อนล้อหน้าทั้งหมด แม้ว่าในต่างประเทศจะมีรุ่น AWD ก็ตาม
แต่ ยังไม่จำเป็นนักสำหรับตลาดในบ้านเรา เท่าตลาดยุโรป ในเมืองหนาว

เริ่มจาก เครื่องยนต์ รหัส B5254T6
เบนซิน 5 สูบเรียง DOHC 20 วาล์ว 2,521 ซีซี
กระบอกสูบ x ช่วงชัก = 83 x 93.2 มิลลิเมตร
อัตราส่วนกำลังอัด 9.0 : 1
ฉีดจ่ายเชื้อเพลิงด้วยระบบ SFI (Sequential Fuel Injection) พ่วงเทอร์โบแรงดันต่ำ
พร้อมระบบแปรผันวาล์ว Dual CVVT
ลำดับจังหวะจุดระเบิดของกระบอกสูบ 1 – 2 – 4 – 5 – 3
200 แรงม้า (HP) ที่ 4,800 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด 30.57 กก.-ม. (300 นิวตันเมตร) ที่ 4,500 รอบ/นาที



ส่วนตัวท็อป เป็นเครื่องยนต์ใหม่ล่าสุด รหัส B6324S
แบบ 6 สูบเรียง 24 วาล์ว 3,192 ซีซี
กระบอกสูบ x ช่วงชัก = 84 x 96 มิลลิเมตร
อัตราส่วนกำลังอัด 10.8 : 1
ฉีดจ่ายเชื้อเพลิงด้วยระบบ SFI (Sequential Fuel Injection)
ลำดับจังหวะจุดระเบิดของกระบอกสูบ 1 – 5 – 3 – 6 – 2 – 4
238 แรงม้า (HP) ที่ 6,200 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด 32.6 กก.-ม.(320 นิวตันเมตร) ที่ 3,200 รอบ/นาที

ที่แปลกกว่าชาวบ้านคือ เป็นเครื่องยนต์ 6 สูบเรียง ติดตั้งแบบ วางขวาง!
ซึ่งยากจะหารถยนต์ทั่วไปทำได้ เพราะนั่นต้องใช้พื้นที่ห้องเครื่องยนต์ขนาดใหญ่โตเอาเรื่อง
อีกทั้งยังมีระบบแปรผันท่อทางเดินไอดี เป็นลิ้น ติดตั้ง 2 จุด
และระบบแปรผันวาล์ว ไอดี ซึ่งจะมีลูกสูบขนาดเล็ก อยู่เหนือกระเดื่องวาล์ว
ตามสมัยนิยม แต่สิ่งที่แตกต่างจากระบบ VTEC ของฮอนด้า ก็คือ
ระบบวาล์ว ในรุ่น 3.2 ลิตร นั้น ไม่เปิดเยื้องกัน แต่ เปิด 2 จังหวะ และเท่ากันในแต่ละคู่
ความเร็วต่ำ เปิดน้อย ความเร็วสูงขึ้น ก็เปิดมากขึ้นอิกนิดนึง

และทั้ง 2 เครื่องยนต์เบนซินนั้น
เอกสารเทคนิค ของวอลโว คาร์ส คอร์เปอเรชัน สวิเดน
ระบุเอาไว้อย่างชัดเจนดังนี้

For best performance and lowest fuel consumption
98 RON is recommended.
For normal driving 95 RON can be used.
91 RON should only be used in exceptional cases.
For 4-cylinder engines only 95 RON or higher is recommended.

นั่นหมายความเป็นภาษาไทย ในเวอร์ชันที่เรียงร้อยใหม่อย่างเป็นทางการขึ้นได้ว่า

เพื่อสมรรถนะที่เต็มประสิทธิภาพ และอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงที่ต่ำสุด
วอลโวขอแนะนำให้ใช้น้ำมันเบนซินค่าออกเทน 98 RON
ขณะที่ การขับขี่ใช้งานทั่วไป สามารถเติมน้ำมันเบนซินค่าออกเทน 95 RON ได้
ส่วนน้ำมันเบนซินค่าออกเทน 91 RON ควรจะเลือกใช้ในกรณีจำเป็นเท่านั้น
และสำหรับเครื่องยนยต์แบบ 4 สูบ ขอแนะนำให้ใช้แต่น้ำมันเบนซินที่มีค่าออกเทนตั้งแต่ 95 RON ขึ้นไป เท่านั้น

ชัดเจนดีไหมครับ?
แต่เขาไม่ยักระบุแหะว่า เติมแก้สโซฮอลล์ ได้หรือไม่
เท่าที่ทราบ สำหรับวอลโว รุ่น S80 ใหม่นี้ ควรเติมเฉพาะ แก้สโซฮอลล์ 95 E10 เท่านั้น
ตราบใดที่ วอลโวยังไม่สั่งนำเข้าเครื่องยนต์ 4 สูบ 2,000 ซีซี FlexFuel
ที่สามารถเติมน้ำมันแก้สโซฮอลล์ E85 เข้ามาขายในเมืองไทย



แต่ถ้าใครอยากเลือกทางประหยัด แต่แรงดึงตอนออกตัวเอาเรื่อง
ก็คงต้องมองมาทาง เครื่องยนต์ ดีเซล รหัส D5244T4
แบบ 5 สูบเรียงวางขวาง DOHC 20 วาล์ว 2,400 ซีซี
กระบอกสูบ x ช่วงชัก = 81 x 93.15 มิลลิเมตร
อัตราส่วนกำลังอัด 17.3 : 1
พ่วงเทอร์โบ แรงดันต่ำ
ฉีดจ่ายเชื้อเพลิงด้วยระบบคอมมอนเรล
ลำดับจังหวะจุดระเบิดของกระบอกสูบ 1 – 2 – 4 – 5 – 3
185 แรงม้า (HP) ที่ 4,000 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด 40.76 กก.-ม. (400 นิวตันเมตร)
ที่ รอบเครื่องยนต์ตั้งแต่ 2,000 – 2,750 รอบ/นาที

ซึ่งเติมน้ำมัน ไบโอดีเซล B2 กับ B5 ได้



ในเมืองนอก มีเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะมาให้
แต่ในเวอร์ชันไทย ทุกรุ่น เชื่อมเข้ากับเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ
ของ AISIN SEIKI (เจ้าเก่า)
รุ่น AW TF-80SC
พร้อมโหมด บวก-ลบ "GearTronic"
ให้ผู้ขับขี่เลือกเปลี่ยนเกียร์เล่นได้เอง

อัตราทดเกียร์ ของทุกรุ่น เหมือนกันเปี๊ยบ มีดังนี้

เกียร์ 1……………………..4.15
เกียร์ 2……………………..2.37
เกียร์ 3……………………..1.56
เกียร์ 4……………………..1.16
เกียร์ 5……………………..0.86
เกียร์ 6……………………..0.69
เกียร์ถอยหลัง…………..3.39
อัตราทดเฟืองท้าย…….3.33

เรายังคงใช้วิธีการทดลอง เหมือนเดิม ทั้ง 3 คัน
คือ นั่ง 2 คน เปิดแอร์ และใช้เวลาช่วงกลางคืน ในการทดลอง
คนจับเวลายังเป็นคนเดียวกัน ก็คือ น้องกล้วย (Login : น้องชายคนเล็ก @ Pantip.com ห้องรัชดา)
และผลลัพธ์ที่ได้ เมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งสำคัญ
อย่าง BMW ซีรีส์ 5 และ เมอร์เซเดส-เบนซ์ อี-คลาส E200NGT
ที่ผมทดลองขับไว้เมื่อนานแล้ว มีดังต่อไปนี้

เนื่องจากที่ผ่านมานั้น ผมเคยลองขับ S80 รุ่นก่อน แค่เพียงรุ่นเดียวคือ D5 ดังนั้น
หากเปรียบเทียบกับรุ่นใหม่แล้ว จะพบว่าอัตราเร่ง ดีขึ้นกว่ารุ่นเดิมชัดเจน
และยังถูกโปรแกรมให้ลากรอบได้ยาวนานขึ้นกว่าเดิมเล็กน้อย ขณะที่รอบเครื่องยนต์
ในความเร็วคงที่ ทั้ง 80 100 และ 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง ลดลงจากเดิมนิดหน่อย
เนื่องจากการเปลี่ยนมาใช้เกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ แถมการสั่นสะเทอืนในรอบเดินเบานั้น
น้อยลงไปมาก และเงียบขึ้นเยอะ เมื่อเทียบกับเครื่องยนต์ดีเซลของวอลโวในรุ่นก่อนๆ
ก็รอบเดินเบา ของเขานั้น โรงงานระบุสเป็กมาว่า 700 รอบ/นาที
ขณะที่รุ่น 2.5 ลิตร อยู่ที่ 720 รอบ/นาที และรุ่น 6 สูบ 3.2 ลิตร ต่ำเพียง 650 รอบ/นาที

เมื่อมาดูตัวเลขของรุ่น 2.5 ลิตร นั้น ทำได้ ดีกว่า D5 รุ่นที่แล้ว นิดนึง
แต่เพียงเท่านี้ก็ถือว่าดีแล้ว สำหรับรถยนต์ระดับ 200 แรงม้า ที่ต้องลากน้ำหนักตัวเปล่า 1,745 กิโลกรัม
(รวมของเหลวและผู้โดยสารแล้วหนัก 2,320 กิโลกรัม) และเอาเข้าจริง อัตราเร่ง ของ รุ่น 2.5 ลิตร
ก็โดน D5 เฉือนแค่ปลายเส้นเท่านั้น

ส่วนรุ่น 3.2 ลิตรนั้น แทบไม่ต้องพูดถึง แรงดึงที่เกิดขึ้นค่อนข้างเร้าอารมณ์ดีทีเดียว
แต่ถ้าดูจากตัวเลขเพียงผิวเผิน คนทั่วๆไปคงจะเข้าใจว่า เครื่องยนต์ตัวนี้ ยังทำตัวเลขออกมา
ได้ อยู่ในระดับเทียบพอกันกับเครื่องยนต์ของ BMW 525i E60 ทั้งรุ่นก่อนปรบโฉมไมเนอร์เชนจ์
เคื่องยนต์ 2.5 ลิตร และรุ่นหลังไมเนอร์เชนจ์แล้วเครื่องยนต์ 3.0 ลิตร นี่ยังไม่นับ
ว่าด้อยกว่า โตโยต้า แคมรี วี6 3.5 ลิตร อยู่พอสมควร ทั้งในเรื่องอัตราเร่ง และ อัตราสิ้นเลืองเชื้อเพลิง

แต่ ความจริงแล้ว ถ้าถามว่า แล้วสัมผัสจากการขับละ บอกได้เลยว่า มันไมได้อืดอาดอย่างที่คิดเลย
และเหตุที่ตัวเลขดูเหมือนทำได้เพียงเท่านี้ ขอแนะนำให้โทษการทำงานของคันเร่งไฟฟ้าเอาเถิด

เพราะคันเร่งไฟฟ้า ทำงานเชื่อมกับระบบลิ้นปีกผีเสื้อไฟฟ้า Drive-By-Wire ตอบสนองช้าพอสมควร
ลองกดจับเวลาเล่นๆ ตั้งแต่เริ่มกด จนถึงทันทีที่เครื่องยนต์ตอบสนอง จับเวลาได้คร่าวๆ ประมาณ 1.5-1.7 วินาที
ซึ่งถือว่าค่อนข้างช้าไป และเป็นเช่นเดียวกันทั้งรุ่น 3.2 หรือ 2.5 ลิตร

ดังนั้น ถ้าลองตัดเวลาที่ช้า ลบออกไป 1 วินาที ตัวเลขของมัน จะออกมาใกล้เคียงกันกับ BMW 530i ตัวแรงคันนั้นเลย
ถ้าตัดออกไป ไม่นับมัน คุณจะพบว่า เครื่องยนต์ของ S80 ใหม่นั้น ทรงพลังและกระฉับกระเฉงกว่าที่ใครจะคิดไว้ไม่น้อยเลย



พวงมาลัยยังคงใช้ระบบแร็คแอนด์พีเนียน เป็นพื้นฐาน ทว่า ในรุ่น 2.5 ลิตร กับ D5 จะ
มีน้ำนักพวงมาลัยที่เบากว่ารุ่นเดิมนิดนึง ไม่เยอะ

กระนั้น ในรุ่น 6 สูบ 3.2 ลิตร จะเปลี่ยนมาใช้ พวงมาลัยไฟฟ้า สามารถปรับเซ็ตได้ 3 ระดับ เช่นเดียวกับระบบกันสะเทือน
โดยปรับเปลี่ยนได้ใน เมนู Car Setting แล้วไปที่ เมนู Steering Force Level

ถ้าใช้โหมด Low พวงมาลัยจะเบามากกว่ารุ่น 2.5 ลิตร และ D5 ซึ่งเหมาะแก่การขับขี่ในเมืองมากกว่า
หากปรับมาเป็นโหมด Medium ก็จะหนืดขึ้นมาเล็กน้อย แต่ก็ยังไม่ถึงกับดีเด่นนัก
และถ้าปรับมาในโหมด High ก็จะมีน้ำหนักที่พอๆกันกับรุ่น 2.5 ลิตร และ D5

น้ำหนักพวงมาลัย ของทุกรุ่น นิ่งและให้ความมั่นใจได้ดีเฉกเช่นวอลโวรุ่นอื่นๆในช่วง 3 ปีมานี้
แม้จะใช้ความเร็วระดับ 210 กิโลเมตร/ชั่วโมงก็ตาม เพียงแต่ว่า เบากว่า S80 รุ่นเดิมเล็กน้อย ในภาพรวม

ระบบเบรกทุกรุ่น เป็นดิสก์เบรก 4 ล้อ พร้อม ABS EBD และระบบ Hydraulic Break Assist
การตอบสนองของแป้นเบรก จัดอยุ่ในเกณฑ์ดี หน่วงความเร็วได้ดี และตอบสนองต่อเท้าได้ดีมาก
แถมยังสามารถควบคุมได้ดังต้องการ แป้นเบรกนุ่มเท้า ขับสบาย



อีกสิ่งหนึ่งที่ แตกต่างจากคู่แข่ง ก็คือ ระบบกันสะเทือน หน้าแบบ แม็คเฟอร์สันสตรัต ด้านหลังแบบ มัลติลิงค์
พร้อมคอยล์สปริงและเหล็กกันโคลงทั้งหน้า-หลัง นั้น บอกตรงๆว่า การเกาะถนนหนะ ดีเหมือนรุ่นเดิม
แต่ ข่าวร้ายก็คือ มันนิ่มกว่ารุ่นเดิม! ถ้าคุณต้องการเข้าโค้ง ที่ความเร็ว 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง บนทางด่วน
เอาละ ถ้าโค้งที่ไม่โหดมากนัก ยังไงๆ ก็ไม่หลุด แต่ถ้าเป็นโค้งรูปตัว S บนทางลง ทางด่วนพระราม 6 ละ?
อันนั้นก็ไม่แน่ เพราะว่า ช่วงล่างที่นิ่มกว่ารุ่นเดิมนี้ เมื่อต้องการความมั่นใจยิ่งขึ้น ตัวรถกลับเอียงตัวออก
มากกว่าปกติ เอาเข้าจริงแล้ว รถก็ยังอยู่ในโค้งนั่นละครับ เพียงแต่ เมื่อมันเอียงมากเกินไป มันก็ชวนให้ผม
หวาดหวั่นใจในตอนขับอยู่ไม่น้อยเลยว่ามันจะหลุดหรือเปล่า

น่าแปลกที่ว่า ช่วงล่างของรุ่นเดิม ซึ่งนุ่มกำลังดีอยู่แล้ว เหตุไฉน เกิดอะไรขึ้น
ทำไมการปรับแต่งจากโรงงานสวีเดน ถึงได้เป็นออกมาเยี่ยงนี้?

จะว่าไปแล้ว มันเป็นบุคลิกของช่วงล่างวอลโวรุ่นเก่าๆ จำพวก 700 ซีรีส์ และ 900 ซีรีส์
ที่หวนกลับมาพบปะลูกค้าให้หายคิดถึง ในรถรุ่นใหม่นี้ก็ว่าได้

ก็น่าแปลกใจอยู่เหมือนกัน



ดังนั้น ผมเลยไปฝากความหวังเอาไว้กับรุ่น 6 สูบ 3.2 ลิตร
ซึ่งมีระบบกันสะเทือนที่ถูกออกแบบให้สามารถเลือกความนุ่ม-แข็ง ได้ถึง 3 ระดับ
วอลโวเรียกระบบนี้ว่า Four-C (Continuously Controlled Chassis Concept)

ไม่ว่าคุณจะเลือกให้ช่วงล่างเป็นโหมดไหน ระหว่าง Comfort (นุ่มย้วยยย นิ่มมมมนวลลลลล สำหรับเดินทางในเมือง)
Sport เพิ่มความแข็งขึ้นมาอีกนิด สำหรับคนที่อยากสนุกกับการขับขี่ทางไกล และ Advance ที่เน้นการยึดเกาะถนน
และความแข็งขึ้นเป็นหลัก เพื่อเพิ่มความเร้าใจถึงที่สุด

ระบบจะคอยสังเกตสภาพตัวรถ ถนน และสไตล์การขับขี่ ผ่านทางเซ็นเซอร์ในหลายๆตำแหน่งของตัวรถ
ด้วยความถี่ถึง 500 ครั้ง / วินาที เพื่อปรับระดับความแข็งหนืดของช้อกอัพให้เหมาะสม
และเคล็ดลับ ก็อยู่ที่ ช็อกอัพแบบ Semi-Active ที่ วอลโวร่วมกันพัฒนากับ Monroe-Ohlins นั่นเอง

เรามาดูกันดีกว่า ว่า เอาเข้าจริงแล้ว ความแตกต่าง ของทั้ง 3 โหมด นั้น มันมากน้อยต่างกันแค่ไหน

เริ่มจากในโหมด Comfort กันก่อน

ในสนามนั้น ทางผู้จัด ก็วางหลักไพลอนเอาไว้ ให้หลบหลีกสิ่งกีดขวางและสลาลอมกันเป็นหลัก
ลองดูอาการของรถขณะเข้าโค้งก่อนกลับมาตั้งลำ ต่อเนื่อง 3 ภาพติด เอาแล้วกันนะครับ



ความเร็วที่ใช้นั้น 60 กิโลเมตร/ชั่วโมงครับ



3 ภาพนี้ บันทึกต่อเนื่องกัน

พอจะนึกภาพออกไหมครับ ว่ามันย้วยมิใช่เล่น

เอาละยังไงๆ รถแนวผู้บริหารก็ต้องเซ็ตช่วงล่างให้ติดนุ่มไว้ก่อนละครับ
เป็นเรื่องปกติ จะให้ไปเซ็ตแบบติดสปอร์ต แข็งกระด้างไปเลย ก็คงจะยาก
เดี๋ยวขายไม่ออกกันเลยพอดี



เอาละ ทีนี้ เราก็จะเปลี่ยนเป็นโหมด Sport กันดูนะครับ



พอเอาเข้าจริงแล้ว

ช่วงลฃ่าง ก็แข็งขึ้นจากโหมด Comfort น้อยมาก
จนแทบไม่รู้สึกเลยว่ามันต่างกันตรงไหน



ก็พอจะช่วยให้อากัปของรถนั่น ลดอาการเอียงกะเทเร่ออกข้างขึ้นมาอีกนิดนึง

นิดเดียวจริงๆ แทบไมไ่ด้ต่างกันเท่าใดนักเลย แม้กระทั่งบนสภาพถนนจริงๆ



แต่พอเปลี่ยนมาใช้โหมด Advance…



ทีนี้ละครับ ชัดเจนขึ้นเลย ว่าช่วงล่างนั้น แข็งขึ้นจริง
และการแล่นซิกแซกผ่านหลักพลาสติกของผม ก็มีความสุขขึ้นมาอีกบ้าง

แต่พอขับบนท้องถนนจริงๆ โดยเฉพาะทางด่วน
รถนั้น ยังนิ่งอยู่ตามสไตล์วอลโว และยังคงให้การเดินทางที่สุนทรีย์

แต่เรียนด้วยความสัตย์จริงว่า
หลังจากที่ลองปรับเล่นทั้ง 3 โหมด แล้ว

เมื่อการทดลองต่างๆจบสิ้นลง
ผมก็ยังคงเลือกแช่ค้างไว้ที่โหมด Advance

เพราะอะไรหรือครับ

ก็เพราะว่ามันแข็งที่สุดแล้วไงละครับ

แต่ขนาดว่าแข็งที่สุดแล้ว ก็ยังไม่ใช่แช็งแบบที่ S60 กับ S80 รุ่นเดิม
เคยสร้างความประทับใจให้ผมเอาไว้ คือมันยังคงเป็น "เ้ยลลี ปีโป้ ติดล้อ"
อยู่อย่างเดิม นั่นละ

ดัีงนั้น ถ้าใครอยากให้ช่วงล่างของ S80 แข็งขึ้นอีกนิด
อาจต้องสั่งนำเข้าพวกช็อกอัพ และสปริงแต่ง จากสหรัฐอเมริกา
หรือยุโรปเข้ามาก็น่าจะดีกว่า


(รุ่น 2.5 ขณะเติมน้ำมันเบนซิน ออกเทน 95)

********** การทดลองอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง **********

เนื่องจากการทดลองอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงต่างๆ เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้ว จนถึง ต้นปี 2008 ที่ผ่านมา
ซึ่ง ปั้มน้ำมันเอสโซ่ พระราม 6 ในเวลานั้น ยังคงมี น้ำมันเบนซิน ค่าออกเทน 95 ให้บริการอยู่ (เดี๋ยวนี้ ไม่มีแล้ว)
เราจึงยังคงใช้ส้นทางการทดลองขับตามเดิม

นั่นคือ เติมน้ำมันจากหัวจ่ายเดิม ของปั้มเอสโซ่ แล้วมุ่งหน้าไปขึ้นทางด่วนพระราม 6

ผู้ร่วมทดลองด้วยกัน เป็น น้อง เก๋า คอลัมนิสต์ ด้านโทรศัพท์มือถือ จากเว็บไซต์ mX Phone
ผู้เป็นน้องคนหนึ่งรอบตัวผมที่สนใจเรื่องรถยนต์กับเขาด้วย และอยากจะลองมาร่วมประสบการณ์
ในการทดลองรถกับผม (ซึ่งวันนั้น เจ้าตัวมาเกือบสาย เล่นเอาโดนผมเทศน์มหาชาติไป 1 กัณฑ์ ฟรีๆ)



ยกเว้นรุ่น ดีเซล ที่ยังคงไปเติมน้ำมันบางจาก ดีเซล

เรายังคงทดลองด้วยวิธีการเดิม
เปิดแอร์ นั่ง 2 คน ขับขึ้นทางด่วน เดินทางไปลงปลายทางด่วนสายเชียงราก
แล้วเลี้ยวกลับมาลงทางด่วนพระราม 6 อีกครั้งหนึ่ง ความเร็วที่ใช้ ไม่เกิน 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง
เติมน้ำมันที่หัวจ่ายเดิม ปั้มเดิม เหมือนตอนเริ่มต้น



(ตัวเลขจากหัวจ่ายของ เบนซิน)


(ตัวเลขจากหัวจ่ายของดีเซล)

และผลที่ได้ เปรียบเทียบกับคู่แข่งด้วยแล้ว มีดังต่อไปนี้


เมื่อตัวเลขสรุปออกมา เอาเข้าจริงแล้ว กลับกลายเป็นว่า รุ่น 2.5 ลิตร ประหยัดกว่ารุ่น ดีเซล
แต่นั่นก็แค่เพียงเล็กน้อย

และอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงที่ด้อยลงมานิดนึงนั้น ก็น่าจะมาจาก การเติมน้ำมันดีเซล แบบ B2
หรือ ไบโอดีเซล ซึ่งก็คงเป็นเรื่องที่พอรับได้ เนื่องจากปัจจุบันนี้ ในบ้านเรา ไม่มีน้ำมันดีเซล
แบบธรรมดาหลงเหลือจำหน่ายอยู่ มีแต่เพียงแค่แบบ B2 หรือมีส่วนผสมของ ไบลโอดีเซล ลงไป 2%

และพอดูในภาพรวมแล้ว ถือว่าประหยัดได้อย่างน่าพอใจมากๆ
สหรับรถยนต์หรูระดับนี้ แต่กินน้ำมัน พอๆกันกับ รถยนต์ คอมแพกต์
1,500-2,000 ซีซี

ขณะที่รุ่น 6 สูบ 3.2 ลิตร นั้น อยู่ในระกับ 10.18 กิโลเมตร/ลิตร ซึ่งถือว่า เป็นไปตามคาดหมาย
เรียกได้ว่า ในยุคนี้ ถ้าใครยังบอกว่า เครื่องยนต์วอลโว กินน้ำมัน ก็คงต้องถามว่า
รุ่นไหนที่ว่ากิน? ถ้าเป็นรุ่นใหม่ๆ หลังปี 2003 เป็นต้นมา อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง
ของรถวอลโวแต่ละคัน ก็ป้วนเปี้ยนในระดับตั้งแต่ 10 – 17 กิโลเมตร/ลิตร กันแล้ว
ไม่ได้กินเกินหน้าเกินตาใครไปแต่อย่างใด



ส่วนทัศนวิสัยรอบคัน จากตำแหน่งคนขับนั้น
ถือว่าปลอดโปร่งโล่งสายตาอยู่ประมาณหนึ่ง



แต่การกะระยะต่างๆนั้น
เนื่องจาก วอลโว หลายๆรุ่น มีบ่าด้านข้าง ยื่นออกไปจากเดิมนิดนึง
ดังนั้น การกะระยะ ขณะจะแซง หรือจะออกเลนซ้าย
สำหรับส่วนตัวผม ไม่มีปัญหา แต่กับบางคน อาจจะมีได้เหมือนกัน
ดังนั้น ควรจะหาโอกาสทดลองขับก่อนว่า คุณรับได้กับเรื่องนี้หรือไม่



ส่วนทัศนวิสัยด้านหลัง ถือว่า ธรรมดา
ไมไ่ด้ถึงกับโปร่งและไม่ได้ถึงกับมืดทึบไปด้วยเสาหลังคา C-Pillar
แต่อย่างใด



********** สรุป **********
ขอช่วงล่าง ที่กำลังดี แบบรุ่นเก่า กลับมาได้ไหม……..
ถ้าอยากได้ความคุ้มค่า D5 ก็จบข่าว!
แต่ถ้าบ้าออพชันเยอะ ไป 3.2 ลิตร

สารภาพตามตรงว่า นี่คือ รีวิวที่เหนื่อยในการทำมากที่สุดอีกครั้งหนึ่งของผม นับตั้งแต่ทำรีวิวมาให้อ่านกันตลอด 4-5 ปีมานี้
ก็ในเมื่อ ตัวรถ S80 ใหม่มันมีเทคโนโลยีต่างๆมากมาย เกินกว่า พื้นที่สิ่งพิมพ์ธรรมดาทั่วไปจะบรรยายให้เห็นภาพได้หมด
รายละเอียดในแง่มุมต่างๆมันเยอะแยะยิบย่อยเต็มไปหมด จึงใช้เวลาค่อนข้างนานโข ไปกว่าที่ตั้งใจเอาไว้

เมื่อลองมาขับใช้งานจริง สิ่งที่เรียกได้ว่าเป็นข้อได้เปรียบกว่าใครเพื่อน ของS80 ใหม่ เห็นจะอยู่ที่
การตกแต่งห้องโดยสาร ที่นั่งสบายที่สุด ผ่อนคลายที่สุด และ…แน่นอนว่า เลอเทอะง่ายอยู่เหมือนกัน
ถ้าเผลอเรอ ไม่ระมัดระวังแล้วละก็

การขับขี่ ทั้งอัตราเร่ง และสมรรถนะในภาพรวม ยังทำได้ดีอย่างที่วอลโวรุ่นหลังๆ เป็นกันต่อเนื่องมา
คือทั้งแรง และประหยัด บังคับเลี้ยวแม่นยำ และนิ่ง ไว้ใจได้ในย่านความเร็วสูง



แต่…ถ้าจะพูดกันอย่างตรงไปตรงมา ตอนนี้ S80 ใหม่ จะเหลือข้อที่น่าปรับปรุง เพียงเรื่องเดียว
และนั่นก็คือ ระบบกันสะเทือน ซึ่งเซ็ตติ้งมานุ่มมากกว่ารุ่นเดิม ต่อให้มีระบบ Four-C มาช่วย
ให้สามารถปรับระดับความแข็ง-นุ่ม ดังใจต้องการ เอาเข้าจริง ในโหมด Advance ก็ยังไม่หนึบมากพอ
ยังคงนุ่มนวลเป็น พิซซ่าฮัท ขอบชีส อยู่เช่นเดิม

คือ รู้และเข้าใจว่า รถุยนต์สำหรับผู้บริหารเนี่ย ยังไง๊ยังไง ก็ต้องเซ็ตมาให้มันติดนุ่ม เหมือนมันหมู เอาไว้นิดนึง
แต่ ในเมื่อรถรุ่นเดิม เซ็ตระบบกันสะเทือนมาได้ลงตัวดีแล้ว เหตุใด ถึงจะต้องไปปรับให้มั่นนุ่มยิ่งกว่าเดิมอีก?

และนั่นละ คือสิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่า S80 ใหม่ ยังขาดหายไป เพราะนอกนั้น ในแทบทุกด้าน
คำว่าประเสริฐ คือคำจำกัดความเดียวที่คิดเอาไว้ว่าจะมอบให้ ถ้าไม่บังเอิญมาสะดุดใจ
กับความนุ่มนิ่มของระบบกันสะเทือนนี่เสียก่อน

อีกประเด็นหนึ่งที่ผมมองก็คือ เรื่องของอุปกรณ์ความปลอดภัย
ถ้าวอลโว จะมองเห็นว่า ชีวิตของลูกค้ามีค่าจริงๆ อย่างในโฆษณา
ก็ได้โปรดนำเอาเทคโนโลยีความปลอดภัยต่างๆ ที่มีแต่เฉพาะในรุ่น 3.2 ลิตร
กระจายลงมายังรุ่นล่างๆ ของ S80 ไปจนถึงรถรุ่นต่างๆของวอลโวด้วยได้ ก็จะเป็นเรื่องที่ดีมาก

อย่างน้อย ถ้าระบบ Colission Warning มันแพงอยู่ ก็เอาแค่ระบบ กล้อง BLIS ก็ยังดี (วะ)

ถ้าถามว่า จะซื้อรุ่นไหนดี?
D5 ดูจะน่าสนใจที่สุด ถ้าคุณไม่แคร์ ว่าจะไม่ได้ ชุดไฟหน้า แบบ Active Bi-Xenon ปรับองศาได้ 4 ทิศทาง
ซึ่งทำงานร่วมกับเซ็นเซอร์ประมวลผล ทั้งมุมองศาการเลี้ยวของพวงมาลัยและความเร็วของรถ ฯลฯ
ราคา เปิดตัว เอาไว้ที่ 3,100,000 บาท อย่างน้อยรุ่นล่างสุด ก็ได้ไฟเบรกดวงที่ 3 แบบ LED เหมือนกัน

ส่วนรุ่น 2.5 ลิตร ที่มีออพชันเพิ่มเติมขึ้นมาอีกนิดนึง ราคาอยู่ที่ 3,300,000 บาท
ผมเริ่มมองไม่ออกว่า จะเลือกรุ่น 2.5 ลิตรเบนซินไปทำไม เว้นเสียแต่ว่า จะซื้อไปติดแก้ส
ซึ่งคนที่จะซื้อรถป้ายแดงอย่างวอลโว เพื่อไปติดก๊าซนั้น ผมเชื่อว่า มี แต่น้อยมากๆ
(แต่ถ้า หาวอลโว มือสอง ไปติดก๊าซ ละก็ คงไม่ต้องบอกคำตอบ เพราะรู้กันอยู่แล้วว่า เยอะขนาดไหน)

แต่ระหว่าง เข้าไปนั่งหาราคาอัพเดทล่าสุด
ก็เจอแบนเนอร์ ของเว็บ Volvocars.co.th บอกว่า รุ่น 2.5 T ราคา 2,990,000 บาท ถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2008 นี้
ดังนั้น ใครมาอ่านเจอรีวิวนี้ หลังจากเดือนมิถุนายน ก็เป็นอันหมดสิทธิ์ไปตามระเบียบ

ส่วนรุ่นท็อป 3.2 ลิตร ที่มีออพชันด้านความปลอดภัย ครบเทียบเท่ากับรุ่นท็อปในยุโรป
ป้ายราคาติดเอาไว้ 4,700,000 บาท
ราคาสูงไปหน่อย แต่ก็พอเข้าใจว่า
มันมาจากความจุกระบอกสูบ กับการคำนวนภาษีที่เกี่ยวข้องกันนั่นละ
ที่ทำให้ป้ายราคากระชากใจเหลือเกิน

และเช่นเคย สิ่งที่ต้องกระทุ้งกันเสมอๆ เรื่องของวอลโวก็คือ ราคาอะไหล่ ที่ยังคงเรียกได้ว่า แพงอยู่ดี
แม้ว่า เปลี่ยนครั้งเดียว แล้วมักจะจบ อายุการใช้งานจะยาวนานก็ตาม แต่ตอนเซ็นสลิปบัตรเครดิต
เจ้าของรถ ก็อาจถึงขั้นควักยาดม มาเป็นตัวช่วยได้เลย

ดังนั้น สำหรับวอลโวแล้ว เราก็คงทราบกันดีว่า
ถ้า ราคาอะไหล่ถูกลงกว่านี้ และช่างฝีมือ ซ่อมเก่งฉกาจมีเยอะกว่านี้
อนาคตวอลโว ก็มียอดขายตีตื้นขึ้นมา และน่าจะแซง BMW ขึ้นมาได้สักวันหนึ่ง

แต่…วันนั้นหนะ มันเมื่อไหร่กันดีละ ลุงพอล สโตรคส์?



——————————————–///——————————————–

ขอขอบคุณ
คุณ ฉันทนา วัฒนารมย์
และ คุณต่าย
บริษัท วอลโว คาร์ (ประเทศไทย) จำกัด
เอื้อเฟื้อรถยนต์ทดลองขับ และอำนวยความสะดวกในด้านต่างๆ

********** บทความ รีวิว ที่ควรอ่านประกอบกันไปด้วย **********

– บทความรีวิว Volvo S80 D-5 รุ่นเดิม
http://topicstock.pantip.com/ratchada/topicstock/V3494319/V3494319.html

———————
– บทความรีวิว BMW 5 Series E60 (525i 520d 530i)
525i รุ่นธรรมดา และ 530i
http://topicstock.pantip.com/ratchada/topicstock/2006/05/V4413078/V4413078.html

520d
http://topicstock.pantip.com/ratchada/topicstock/2006/10/V4756958/V4756958.html

525i Minorchange
http://www.caronline.net/ArticleDetail.aspx?ArticleID=128#head

———————
– บทความรีวิว Saab 9-5 Saloon/Estate 2.0 และ 2.3 ลิตร LPT และ Full Turbo

รุ่น ธรรมดา LPT
http://topicstock.pantip.com/ratchada/topicstock/V3612164/V3612164.html

รุ่น Full Turbo
http://topicstock.pantip.com/ratchada/topicstock/V3881960/V3881960.html

———————
– บทความรีวิว Lexus GS300
http://topicstock.pantip.com/ratchada/topicstock/V3516757/V3516757.html

Comparision เปรียบเทียบกับรุ่นเดิม ดูที่นี่
http://topicstock.pantip.com/ratchada/topicstock/V3516754/V3516754.html

———————



J!MMY
12 มิถุนายน 2008 21.23 น.
13 มิถุนายน 2008 18.22 น.

—————————————————————————————————

Facebook Comments
CarOnline Team

Recent Posts