เมื่อ วันที่ 19-20 ม.ค. ที่ผ่านมา
ผมได้มีโอกาส ทดลองขับ ทาทา ซีนอน ซูเปอร์ ซีเอ็นจี กับกลุ่มพี่ๆสื่อมวลชนสายรถยนต์หลายท่านด้วยกัน
โดยการทดลองขับในครั้งนี้ เราขับรถไปด้วยกัน 10 คันบวกรถเซอร์วิสอีกหนึ่งคัน
รถเซอร์วิสที่ว่านี้ ไม่ได้มีไว้เพื่อช่วยเหลือเวลารถมีปัญหาแต่เพียงอย่างเดียว มันยังมีประโยชน์มากกว่านั้น
ไว้ตอนท้ายค่อยมาดูกัน
เส้นทางในการทดลองขับครั้งนี้ เป็นเส้นทางจาก พิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ จ.สมุทรปราการ
มุ่งหน้าสู่ บรุคไซด์ วัลเลย์ จ.ระยอง โดยจะแวะเยี่ยมชม โรงแยกก๊าซธรรมชาติ ที่ จ.ระยองด้วย
ระยะทางประมาณ180 กิโลเมตร
หลังจากฟังบรรยายสรุปและแนะนำเส้นทางในการทดลองขับเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ก็มาถ่ายรูปเป็นที่ระลึกกันซะหน่อย ก่อนออกเดินทาง
การทดลองขับในครั้งนี้ จะขับตามกันไปเลื่อยๆ แต่ก็ไม่ได้ช้าอะไรนัก ใช้ความเร็วกันได้เป็นระยะๆ
โดนขาไป ถูกกำหนดให้เติมก๊าซ 2 ครั้งด้วยกัน ก่อนถึงโรงแยกก๊าซ และอีก 1 ครั้งก่อนเข้าที่พัก
ส่วนขากลับ ให้เติมอีก 2 ครั้งก่อนถึงจุดหมาย
การเติมก๊าซในแต่ละครั้ง ใช่ว่าจะเติมได้เต็มถังเสมอไป
ขึ้นอยู่กับแรงดันของแต่ละปั้ม โดยปกติเต็มถังก็จะมีแรงดันประมาณ 200 บาร์
หรือประมาณ 3,000 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว
อย่างที่บอก การทดลองขับในครั้งนี้ ได้มีโอกาสไปเยี่ยมชม โรงแยกก๊าซ ของ ปตท. ที่ จ.ระยอง
แต่เป็นการเยี่ยมชมด้านนอกเพียงเท่านั้น ไม่ได้เข้าไปด้านในแต่อย่างใด
ได้แต่นั่งฟังการบรรยายเรื่องก๊าซธรรมชาติจากเจ้าหน้าที่ของทาง ปตท. เพียงเท่านั้น
รถที่เติมก๊าซก็มีแล้ว แล้วก๊าซหล่ะ…ได้มาอย่างไร มาดูกันครับ
ก๊าซธรรมชาติเป็นพลังงานปิโตรเลียมชนิดหนึ่ง เช่นเดียวกับน้ำมัน ที่จริงแล้ว น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน
ก็คือซากพืชและซากสัตว์ที่ทับถมกันมานานหลายแสนหลายล้านปี และทับถมสะสมกันจนจมอยู่ใต้ดิน
แล้วเปลี่ยนรูปเป็นสิ่งที่เราเรียกว่า ฟอสซิล ระหว่างนั้นก็มีการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ
จนซากพืชและซากสัตว์หรือฟอสซิลนั้นกลายเป็นน้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหินที่เรานำมาใช้ประโยชน์ได้
ในตัวเนื้อก๊าซธรรมชาตินั้น มีสารประกอบที่เป็นประโยชน์อยู่มากมาย
เมื่อนำมาผ่านกระบวนการแยกที่โรงแยกก๊าซแล้ว ก็จะได้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ มาใช้ประโยชน์ได้ดังนี้
รูปและข้อมูลจาก http://pttweb2.pttplc.com/webngv/TH/Default.aspx
– ก๊าซมีเทน (C1) : ใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้า ในโรงงานอุตสาหกรรม
และนำไปอัดใส่ถังด้วยความดันสูง เรียกว่า ก๊าซธรรมชาติอัด (Compressed Natural Gas – CNG)
สามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงในรถยนต์
– ก๊าซอีเทน (C2) และก๊าซโพรเพน (C3) : ใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นต้น
สามารถนำไปใช้ผลิตเม็ดพลาสติก เส้นใยพลาสติกชนิดต่างๆ เพื่อนำไปใช้แปรรูปต่อไป
– ก๊าซโพรเพน (C3) และก๊าซบิวเทน (C4) : นำเอาก๊าซโพรเพนกับก๊าซบิวเทนมาผสมกัน
อัดใส่ถังเป็นก๊าซปิโตรเลียมเหลว (Liquefied Petroleum Gas – LPG) หรือที่เรียกว่า ก๊าซหุงต้ม
สามารถนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในครัวเรือน เป็นเชื้อเพลิงในรถยนต์ และใช้ในการเชื่อมโลหะได้
รวมทั้งยังนำไปใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมบางประเภทได้อีกด้วย
มาถึงเรื่องของตัวรถสักเล็กน้อย สำหรับการออกแบบที่เราเห็นกันหลัก ๆ นั้น ทาทา ซีนอน ซูเปอร์ ซีเอ็นจี
มีไฟหน้าแบบมัลติรีเฟล็กเตอร์ พร้อมทั้งกระจังหน้าสีดำขนาดใหญ่ และกันชนสีเดียวกัน
ซึ่งแตกต่างจากตัวดีเซล ที่เป็นสีเดียวกับตัวถัง ก็ดูสวยดีไปอีกแบบ
ทาทา ซีนอน ซูเปอร์ ซีเอ็นจี มีความกว้าง 1,860 ม.ม. ยาว 5,125 ม.ม. สูง 1,765 ม.ม.
ฐานล้อยาว 3,150 ม.ม. ระยะห่างของล้อหน้า-หลัง 1,571 ม.ม. ความสูงจากพื้น 200 ม.ม.
ด้วยตัวถังที่ยกสูง คิ้วขอบบังโคลน รวมถึงโป่งซุ้มล้อขนาดใหญ่ ที่ออกแบบให้เป็นชิ้นส่วนเดียวต่อเนื่องกับตัวถัง
มาพร้อมกระทะล้อขนาดใหญ่ 16 นิ้ว และยางขนาด 215/75 R16 เป็นมาตรฐานจากโรงงาน
ทำให้ดูว่ามีความสมบุกสมบันได้เป็นอย่างดี
การตกแต่งภายในห้องโดยสารของทาทา ซีนอน ซูเปอร์ ซีเอ็นจี
ยังคงเหมือนตัว ซีนอน ที่เป็นเครื่องยนต์ดีเซล ที่ดูเรียบง่าย ตามนิสัยรถกระบะ
แต่เป็นรถกระบะในสมัยก่อนนะครับ ที่ไม่ได้เน้นเรื่องวัสดุ และความสวยงามกันสักเท่าไหร่
จุดเด่นของการออกแบบ คงจะเป็นเรื่องการจัดวางอุปกรณ์ ให้อยู่ในตำแหน่งที่แปลกใหม่ออกไปในสไตล์ยุโรป
ที่เห็นได้ชัดเจนก็คงจะเป็นปุ่มควบคุมกระจกไฟฟ้า จากเดิมที่อยู่ข้างประตู
ก็ย้ายมาอยู่บริเวณคอนโซลกลางซะ จะได้เหมือนรถยุโรป ซึ่งผมคนหนึ่งหล่ะที่ไม่ชิน
อ้อ…ทาทา ซีนอน ซูเปอร์ ซีเอ็นจี ตัวนี้ไม่มีเครื่องเสียงมาให้นะครับ ลูกค้าต้องนำไปติดตั้งเอง
ถึงแม้ว่าการใช้วัสดุต่างๆจะดูไม่สวยหรูนัก
แต่การใช้สีภายในโทนอ่อน บวกกับผ้ากำมะหยี่หุ้มเบาะและแผงประตูทั้งสองด้าน ก็ทำให้รถดูสวยงามขึ้น
ชุดมาตรวัดความเร็ว วัดรอบของเครื่องยนต์ และเกจ์วัดปริมาณก๊าซ ที่วัดกันเป็นแรงดัน
จะถูกติดตั้งในตำแหน่งที่สูง เพื่อจะลดการละสายตาของผู้ขับขี่จากท้องถนน
แต่ มันกลับถูกบดบังด้วยตำแหน่งของพวงมาลัย ที่เมื่อคุณจะปรับตำแหน่งพวงมาลัยให้เข้ากับท่านั่งปกติ
ยังไงๆ ขอบด้านบนของพวงมาลัยก็จะต้องบดบังชุดมาตรวัดอยู่ดี
แต่หากจะปรับไม่ให้ขอบพวงมาลัยบังมาตรวัด ท่าทางในการนั่ง ก็ดูเหมือนจะไม่สบายเท่าไหร่นัก
เสียงของสัญญาณไฟเลี้ยว ในคันที่ขับ(หมายเลข 6) นั้น บอกได้เลยว่า ไม่ได้ยินเลยครับ
จะได้ยินเพียงแผ่วเบาก็ตอนจอดรถสนิทแล้วเท่านั้น สร้างความกังวนให้กับผู้ขับขี่พอสมควร
จริงๆหากดูที่สัญญาณไฟบนหน้าปัดก็น่าจะได้ แต่อย่างที่บอก ขอบของพวงมาลัยเจ้ากรรม
ดันไปบดบังพอดี ก็เลยไม่เห็นด้วย แล้วก็ไม่ได้ยินเสียงเตือนอีกต่างหาก
ต้องคอยเอามือไปสัมผัสกับก้านไฟเลี้ยวดู ว่าอยู่ในตำแหน่งปกติที่ไม่ได้เปิดไฟเลี้ยวหรือไม่
เครื่องยนต์ ในรถยนต์ทาทา ซีนอน ซูเปอร์ ซีเอ็นจี เป็นเครื่องยนต์ MPI DOHC 4 สูบ 16 วาลว์
2,092 ลบ.ซม.(CC) ให้กำลังเครื่องยนต์สูงสุด 115 แรงม้า ที่ 5,500 รอบต่อนาที
และแรงบิด 175 นิวตันเมตร ที่ 3,750 รอบต่อนาที อัตราส่วนกำลังอัดของเครื่องยนต์ซูเปอร์ ซีเอ็นจี อยู่ที่ 12:1
เครื่องยนต์ซูเปอร์ ซีเอ็นจี 4 วาล์ว ต่อสูบ ควบคุมด้วยระบบไฮดรอลิคอัตโนมัติ ผลิตโดย INA (เยอรมนี)
ระบบจ่ายเชื้อเพลิงซีเอ็นจีมัลติพอยต์ ซีเควนเชียล จาก Alternative Fuel Systems (แคนาดา)
และหัวฉีดก๊าซจาก Bosch (เยอรมนี) จะทำหน้าที่จ่ายก๊าซอย่างเหมาะสมกับความต้องการของเครื่อง
ทาทา ซีนอน ซูเปอร์ ซีเอ็นจี ยังใช้ระบบประมวลผลอิเล็คทรอนิกส์ (ECU)
ที่ช่วยให้การทำงานของเครื่องยนต์แต่ละส่วนให้เป็นไปอย่างราบรื่น
โดยจะประมวลผลข้อมูลจากเซ็นเซอร์ของ Bosch (เยอรมัน) และ Valeo (ฝรั่งเศส)
เพื่อให้มีการใช้เชื้อเพลิงอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพมากที่สุด
หน่วยควบคุมนี้ยังควบคุมการจ่ายเชื้อเพลิงให้เปลี่ยนแปลงไปตามความเร็วและอัตราเร่งของรถ
การผสมก๊าซเชื้อเพลิงกับอากาศจะถูกปรับให้เหมาะสมโดยอัตโนมัติไม่ว่าจะเป็นก๊าซจากแหล่งใดก็ตาม
และการจ่ายก๊าซจะหยุดลงทันทีเมื่อเกิดการชน เพื่อความปลอดภัยและป้องกันการรั่วซึม
ทาทา ซีนอน ซูเปอร์ ซีเอ็นจี ใช้ถังก๊าซมาตรฐาน ISO 11439/ ISO 15000
ติดตั้งอยู่ใต้พื้นกระบะถึง 2 ถัง ทั้งขนาด 60 ลิตร และ 40 ลิตร รวม 100ลิตร(น้ำ)หรือประมาณ 20 กก.(ก๊าซ)
ควบคุมด้วยวาลว์ระบบอิเลกทรอนิกส์ของ OMB (อิตาลี) พร้อมอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยครบครัน
ฝาถังก๊าซผลิตในเยอรมนี ได้มาตรฐานยุโรป ECE R110 เพื่อการเติมก๊าซที่รวดเร็วและปลอดภัย
รวมถึงมาตรวัดความดันก๊าซที่ช่วยในการอ่านค่าได้สะดวกและถูกต้อง
นอกจากนี้ยังมีท่อก๊าซที่ทำจากสเตนเลสที่ทนแรงดันสูง
ผลิตโดยผู้ผลิตชั้นนำ คือ Sandvik (เยอรมนี) และ Swagelok (สหรัฐอเมริกา)
อุปกรณ์ปรับความดันก๊าซจากถังก่อนส่งไปยังหัวฉีดผลิตโดย Teleflex (แคนาดา)
พร้อมวาลว์ระบบอิเลกทรอนิกส์ที่จะตัดการจ่ายก๊าซเมื่อเครื่องดับ โดยรถจะไม่สามารถสตาร์ทได้ในขณะเติมก๊าซ
เพื่อความปลอดภัยยิ่งขึ้น เพลาหลังของรถก็ได้รับการออกแบบให้เหมาะสมกับเครื่องยนต์ซีเอ็นจีเช่นกัน
ระบบส่งกำลัง
เกียร์ธรรมดา 5 สปีด
อัตราทดเกียร์ 1 st 4.1
อัตราทดเกียร์ 2 nd 2.22
อัตราทดเกียร์ 3 rd 1.37
อัตราทดเกียร์ 4 th 1.0
อัตราทดเกียร์ 5 th 0.77
อัตราทดเกียร์ถอยหลัง 3.75
อัตราทดเกียร์เฟืองท้าย 5.89
ระบบกันสะเทือน
ด้านหน้า อิสระปีกนกคู่ ทอร์ชั่นบาร์ พร้อมเหล็กกันโครง
ด้านหลัง แหนบแผ่นซ้อน
ระบบพวงมาลัย แบบลูกปืนหมุนวน
ระบบเบรก
ด้านหน้า ดิสท์เบรก แบบมีช่องระบายความร้อน
ด้านหลัง ดรัมเบรกพร้อมวาล์วปรับแรงดัน LSPV
การขับขี่ ที่ขับตามๆกันมาก็ไม่ได้ทดสอบอะไรกันมากมายนัก
ที่รู้สึกและสัมผัสได้ก็คงจะเป็นเรื่องช่วงล่าง ที่ดูเหมือนจะนิ่มนวลไม่กระด้างเหมือนรถกระบะที่ผมเคยขับ
และได้เคยทำรีวิวไว้ แอบแปลกใจอยู่เหมือนกัน ว่านี่หรือ รถกระบะ
ทั้งๆที่ใช้เส้นทางเดียวกันกับคราวก่อน คือกลับมาจากระยอง เข้าบายพาสชลบุรี แล้วขึ้นทางด่วนบูรพาวิถี
การสั่นของน่องนั้นรู้สึกได้พอสมควรแต่ก็ไม่มากมายนัก แล้วก็ลดระดับลงเมื่อมาถึงบริเวณช่องท้อง
แสดงให้เห็นถึงช่วงล่างที่ค่อนข้างดี บวกกับเก้าอี้ที่รับแรงจากช่วงล่างได้ดีด้วย
ทำให้การขับขี่ในครั้งนี้ไม่เหนื่อยเลย
แต่ความนิ่มนวลนั้นก็มาพร้อมกับการทรงตัวที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่นัก
บวกกับตัวรถที่ยกสูงด้วยแล้ว เวลาเข้าโค้ง ไม่ค่อยมั่นใจเอาเสียเลย
หากมีของบรรทุกด้านหลังกระบะสักหน่อยก็คงจะดีไม่น้อย
ความสบายดังกล่าว ถูกกลบด้วยเสียงของเครื่องยนต์ที่ดังสนั่น
ในความเร็วแค่ 100 กม./ชม. ความเร็วรอบนั้น ปาเข้าไป 3500 รอบแล้ว
ไอ้เราก็นึกว่ายังอยู่ที่เกียร์ 4 แต่ที่ไหนได้อยู่เกียร์ 5 มานานแล้ว หากมีเกียร์ 6 คงจะดีไม่น้อย
แต่พอเลย 120 กม./ชม. ในความเร็วรอบที่ 4200 รอบ/นาที เสียเครื่องกลับเงียบลงอย่างน่าแปลกใจ
ความเร็วสูงสุดที่ทำได้นั้น อยู่ที่ ประมาณ 150 กม./ชม. ที่ความเร็วรอบ 5500 รอบ/นาที
อีกนิดก็ redline แล้วครับ เครื่องไม่ยอมให้ไปต่อ หากมีเกียร์ 6 ก็คงจะไปได้อีกไม่น้อย
อัตราสิ้นเปลืองใน ทาทา ซีนอน ซูเปอร์ ซีเอ็นจีนั้น ก็คงจะต้องเป็นอัตราการสิ้นเปลืองก๊าซ
เพราะไม่ได้ใช้น้ำมันเลยแม้แต่หยดเดียว ใช้แต่ก๊าซซีเอ็นจีเท่านั้น
เนื่องจากการเติมก๊าซในแต่ละครั้งนั้น เต็มถังบ้าง ไม่เต็มถังบ้าง
จึงไม่สามารถวัดออกมาเป็นตัวเลขจริงๆได้ ซึ่งหากจะดูจากรถที่ไปด้วยกันที่เติมปั้มเดียวกัน
โดยเฉลี่ยแล้วก็จะอยู่ที่ประมาณ 8-10 กม./กก.ก๊าซ
ไม่ต้องคิดคำนวณเป็นลิตรให้ยุ่งหรอกครับ แค่นี้ก็เห็นแล้วว่าประหยัด หากเปรียบเทียบกันที่
จำนวนเง็นในกระเป๋าที่จ่ายออกไป ทั้งที่ได้ระยะทางเท่ากัน
แต่ปัญหาจริงๆ ของ ซีเอ็นจี ในปัจจุบันไม่ได้อยู่ที่ว่ามันจะถูกแค่ไหน
แต่อยู่ที่ว่าในเส้นทางที่เราขับไปนั้น จะมีปั้มให้เติมมั้ยมากกว่า
หากก๊าซหมดขึ้นมาแล้วจะทำอย่างไร จะโบกรถไปหาปั้มข้างหน้า
แล้วเอาก๊าซใส่ถังกลับมาเติมรถ เหมือนตอนใช้น้ำมันก็ทำไม่ได้
ทาทา รู้ปัญหาข้อนี้ดี จึงได้จัดให้มี รถเซอร์วิสที่พิเศษกว่ารถเซอร์วิสของค่ายอื่นๆ
ตรงที่รถเซอร์วิสของทาทามอเตอร์นั้น ไม่ได้มีไว้เพื่อแก้ปัญหาของรถยนต์แต่เพียงเท่านั้น
ภายในรถเซอร์วิสยังบรรจุถังก๊าซ 100 ลิตร(น้ำ)หรือ 20 กก.(ก๊าซ)พร้อมอุปกรณ์ในการเติมไว้ด้วย
หากรถทาทาของท่านก๊าซหมด ก็สามารถเรียกใช้บริการได้ทันที ตลอด 24 ชม.
โดยการเติมนั้น ก็จะใช้สายเติม เหมือนกับที่ปั้มนั้นแหละ
โดยจะเป็นการถ่ายแรงดันจากถังของรถเซอร์วิส มาที่ถังของคันที่ก๊าซหมด
แต่จะเติมได้ไม่เต็มถังนะครับ เมื่อแรงดันของทั้งสองถังเท่ากัน ก็เป็นอันเสร็จ
ทาทา ซีนอน ซูเปอร์ ซีเอ็นจีนั้นเหมาะกับใคร คงเป็นปัญหาที่หลายคนสงสัย
คงต้องดูถึงพฤติกรรมการใช้รถของคุณแล้วหล่ะครับ
แน่นอนว่าเป็นรถกระบะก็ต้องเอาไว้บรรทุกไม่มากก็น้อย หากจะไม่บรรทุกเลยก็คงไม่มีใครว่าอะไร
แต่สิ่งที่ควรคำนึงถึงนั้นก็คือ เส้นทางที่เราใช้เป็นประจำนั้น มีปั้มก๊าซหรือไม่
หากมี ทาทา ซีนอน ซูเปอร์ ซีเอ็นจี ตัวนี้น่าสนใจเลยทีเดียว
ด้วยค่าตัว 519,000 บาท อาจจะไม่ได้เป็นตัวที่ถูกที่สุด ในรถระดับเดียวกัน
แต่ระยะยาวแล้วนั้น ทาทา ซีนอน ซูเปอร์ ซีเอ็นจี จะประหยัดเงินในกระเป๋าของคุณได้แน่นอนครับ
**************************************************************************
สารฑูล สักการเวช
sarathun@caronline.net
บริษัท โตโยต้า …
มาเซราติ FUORIS…