ทดลองขับ Ford EVEREST 2.5L 5AT 4×2 จากเรือข้ามฟาก สู่เรือหางยาวติดล้อ ที่คล่องตัวกว่าเดิม!
by:J!MMY
คุณผู้อ่านเคยนั่งเรือข้ามฟากแม่น้ำเจ้าพระยาไหมครับ?
ไม่ว่าจะขึ้นจากท่าเตียน ไปลงท่าน้ำนนท์ หรือไปขึ้นฝั่งที่โป๊ะท่าพระจันทร์
ยามที่คุณยังนั่งรอเวลาให้เรือ คล่อยๆเคลื่อนตัวช้าๆ ตัดผ่านกระแสคลื่นของแม่น้ำเจ้าพระยา
ข้ามฝั่งไปยังท่าเรือจุดหมายนั้น มันให้ความรู้สึกได้ถึงน้ำหนักที่คอยหน่วงให้เรือค่อยๆเคลื่อนไปได้
ทั้งเชื่องช้า โคลงเคลง หาความมั่นคงและมั่นใจไม่ค่อยจะได้ กว่าจะถึงฝั่ง ชีวิตมันช่างมีลุ้นอะไรเช่นนี้
นั่นคือความรู้สึกแบบเดียวกับที่ผมเคยได้รับ เมื่อครั้งยังทดลองขับ ฟอร์ด เอเวอร์เรสต์รุ่นก่อน
แต่มาวันนี้ รุ่นที่ 2 ของเอเวอร์เรสต์ กลับทำให้ผมรู้สึกเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นอย่างน่าฉงน…ตรงกันข้ามกับย่อหน้าข้างบนนี้อย่างเด่นชัด
เอเวอร์เรสต์ รุ่นแรกนั้น พัฒนาขึ้นภายใต้รหัสโครงการ U268 จากพื้นฐานของรถกระบะ ฟอร์ด เรนเจอร์ และมาสด้า ไฟต์เตอร์ รุ่นเดิม ปี 1997-2006
ฟอร์ด เปิดตัว เอเวอร์เรสต์ เป็นครั้งแรกในโลก ที่เมืองไทย ในงานบางกอกอินเตอร์เนชันแนล มอเตอร์โชวฺ์ ที่ไบเทค ปี 2003 ในช่วงเดียวกับวาระ
ฉลองครบรอบ 100 ปีของฟอร์ดทั่วโลก โดยมีฐานการผลิตหลักอยู่ที่โรงงาน ออโตอัลลายแอนซ์ (AAT) ระยอง เพื่อส่งขึ้นโชว์รูมในเมืองไทย
และลงเรือไปทำตลาดในกว่า 50 ประเทศทั่วโลก ทั้งในเขต อาเซียน ตะวันออกกลาง แอฟริกา และ เขตหมู่เกาะแปซิฟิคตอนใต้ ในตอนนั้นมีเครื่องยนต์
ให้เลือกเฉพาะรหัส WL-T 4 สูบ 2,500 ซีซี เทอร์โบ จากเรนเจอร์รุ่นเดิม จากนั้น ก็ทำยอดขายมาได้เรื่อยๆเปื่อยๆ ไม่ได้หวือหวาเหมือนอย่างที่ฟอร์ด
ตั้งใจไว้ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะรูปลักษณ์ที่มาในสไตล์เรียบๆ เชยๆ คล้ายๆกับ การนำบั้นท้ายครึ่งคันหลังของ ฟอร์ด เอ็กซ์พลอเรอร์รุ่นแรก มาดัดแปลง
เข้ากับโครงสร้างครึ่งคันหน้าของฟอร์ด เรนเจอร์ รุ่นเดิม แม้จะได้เกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ จาก Prodrive มาช่วยให้การกระจายแรงบิดสู่ล้อขับเคลื่อน
เป็นไปด้วยดียิ่งขึ้น
ต่อมาอีก 1 ปีให้หลัง จึงกระตุ้นตลาดระลอกแรกด้วยการปรับปรุงอุปกรณ์ภายในเล็กๆน้อยๆ ช่วงกลางปี 2004 จนกระทั่งเดือนสิงหาคม 2005 กระตุ้น
ยอดขายแคมเปญของรุ่นขับเคลื่อนสองล้อพื้นฐาน ด้วยราคากระชากใจ 888,000 บาท อยู่พักใหญ่ ซึ่งช่วยให้ยอดขายของเอเวอร์เรสต์ กระเตื้องขึ้นมา
อย่างผิดหูผิดตา แม้เพียงระยะเวลาสั้นๆก็ตาม ถือว่า พอจะประคองตัวในตลาดไปได้เรื่อยๆ แต่เมื่อต้องเจอมรสุมความร้อนแรงจากคู่แข่งทั้ง
โตโยต้า ฟอร์จูเนอร์ หัวหอกหลักของตลาด และ ผู้ท่าชิงรายย่อยๆ ทั้งอีซูซุ มิว 7 มิตซูบิชิ สตราด้า จี-แวกอน และรถยนต์ดัดแปลงจาก ไทยรุ่งยูเนียนคาร์
โหมเข้ามาเป็นระลอกๆเนืองๆ ฟอร์ดจะอยู่เฉยต่อไปคงไม่ได้อีกแล้ว ดังนั้น การปรับโฉมครั้งใหญ่ เพื่อรักษาระดับยอดขาย จึงถูกเตรียมการไว้ล่วงหน้า
มาตั้งแต่ช่วงที่รถรุ่นแรกออกสู่ตลาดไปได้ไม่นานนัก ภายใต้รหัสโครงการพัฒนา "U 268 U"
ภาพสปายช็อตของเอเวอร์เรสต์ใหม่ หลุดเล็ดรอดออกสู่โลกภายนอกครั้งแรก ผ่านทางวีซีดี ที่ฟอร์ดทำขึ้น เพื่อแจกจ่ายแก่ผู้จำหน่ายและพนักงานขาย
ในช่วงฝึกอบรมและทดลองขับ ก่อนหน้างานเปิดตัวรถกระบะเรนเจอร์รุ่นใหม่ ไม่เกิน 1 เดือน (ประมาณเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2006) และนั่นเป็น
ช่องทางให้ภาพชุดนี้หลุดรอดออกมาสู่สายตาสาธารณะชนในวงจำกัด ที่เว็บไซต์ www.fordclub.net กลางเดือนมิถุนายน 2006 ก่อนที่การเปิดตัว
จะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2006
รูปลักษณ์ภายนอกของเอเวอร์เรสต์ บิ๊กไมเนอร์เชนจ์ ที่สร้างขึ้นภายใต้โครงสร้างแชสซีเดิม แม้จะดูแตกต่างไปจากเดิมอย่างเด่นชัด แต่ยังคงไว้ซึ่ง
กลิ่นอายของบุคลิกดั้งเดิมไว้อย่างเหนียวแน่น เพราะงานนี้ ทีมวิศวกรที่โรงงาน ออโตอัลลายแอนซ์ ไทยแลนด์ ได้รับคำสั่งมาให้นำรูปลักษณ์ของรุ่นปัจจุบัน
มาขัดเกลาด้วยชิ้นส่วนตัวถังด้านหน้า และชุดไฟหน้าจากเรนเจอร์ใหม่ ปรับเปลี่ยนลวดลายของระจังหน้า กันชนหน้า พร้อมชุดไฟตัดหมอกหน้าแบบใหม่
ผสานกับแนวเส้นตัวถังที่ยังคงเน้นความเหลี่ยมสันเป็นหลักเหมือนเดิม หากแต่ปรับปรุงให้มีอิทธิพลจาก ฟอร์ด เอ็กซ์พลอเรอร์ รุ่นที่ 3 ซึ่งยังทำตลาดใน
เมืองไทยอยู่อย่างเงียบๆ เพื่อให้ดูร่วมสมัยอย่างลงตัวมากยิ่งขึ้น
ขณะที่บั้นท้าย ยังคงถอดแบบออกมาจากรุ่นเดิม
แม้ว่า บานประตูทั้ง 4 จะถูกออกแบบกรอบกระจกหน้าต่างขึ้นมาใหม่ก็ตาม
แต่ก็ยังคงความต่อเนื่องของเส้นสายจากหน้า จรดหลัง และจากรุ่นรุ่นก่อน สู่รุ่นปัจจุบัน
การก้าวเข้าออกห้องโดยสารคู่หน้า ให้ความรู้สึกไม่ได้แตกต่างไปจากรถร่วมโครงสร้างตระกูลเดียวกัน
ไม่ว่าจะเป็น ฟอร์ด เรนเจอร์ ทั้งรุ่นก่อน และรุ่นปัจจุบัน รวมทั้ง มาสด้า ไฟต์เตอร์ และ บีที-50 ใหม่
ข้อดีของ เอเวอร์เรสต์คือ การที่คุณสามารถหันก้น ไปวางแหมะไว้ที่เบาะนั่ง แล้วหันทั้งตัว เข้าไปนั่งในรถได้เลย
ผิดจาก โตโยต้า ฟอร์จูเนอร์ ที่คุณต้องออกแรงโหนตัวและปีนขึ้นรถไปหย่อนก้นลงบนเบาะ
เบาะนั่งคู่หน้า ออกแบบขึ้นร่วมกับมาสด้า โดยใช้เทคโนโลนียีด้านสรีรศาสตร์ขั้นสูง HMI (Human Machine Interface)
ยังใช้โครงสร้างเบาะแบบเดิม แต่ปรับแนวการออกแบบ รวมทั้งการขึ้นรูปฟองน้ำเสียใหม่ รวมทั้งลายหนังหุ้มเบาะแบบใหม่
จึงไม่น่าแปลกใจว่า ยังคงจุดเด่นดั้งเดิมของรถตระกูลนี้เอาไว้จากรุ่นที่แล้ว นั่นคือ เบาะนั่งสบาย ไม่เมื่อย ไม่ปวดหลัง
แม้จะนั่งขับไปในระยะทางไกลๆ
แต่ถ้าจะพูดกันตามตรงก็คือ ตำแหน่งท่านั่งขับ ของเอเวอร์เรสต์ แทบไม่ต่างอะไรกับไฟต์เตอร์/เรนเจอร์/เอเวอร์เรสต์ ตัวเก่าเลย
ทั้งมุมองศาพวงมาลัย ลักษณะของเบาะนั่ง ตำแหน่งของคันเกียร์ ตำแหน่งที่วางแขน บนแผงประตู และที่คอนโซลกลาง ฯลฯ
โครงสร้างเสาหลังคาคู่หน้า ไปจนถึงเสาหลังคากลาง B-Pillar ใช้ร่วมกันกับ เรนเจอร์/บีที 50 รุ่น 4 ประตู
แต่ชิ้นส่วนตัวถัง ถัดจากเสาหลังคากลาง B-Pillar ไปจนถึงด้านหลังรถ ถูกออกแบบขึ้นเป็นพิเศษ โดยยึดแนวทางของเส้นสายตัวถัง
จากเอสยูวีตระกูลฟอร์ด โดยเฉพาะ รุ่น เอ็กซ์พลอเรอร์ ซึ่งถือเป็น เอสยูวีรุ่นยอดนิยมของฟอร์ดในสหรัฐอเมริกา
ด้วยเหตุนี้ ทำให้ช่องทางเข้าออกของผู้โดยสารแถวสองและสาม จึงให้ความสะดวก คล่องตัว ในการขึ้นลง เข้าออกจากตัวรถอย่างน่าชมเชย
ขณะที่เบาะนั่งแถว 2 ก็ถูกปรับปรุงให้ดีขึ้นไปด้วยเช่นเดียวกัน
ยังคงความหนานุ่ม นั่งได้สบาย ไม่ค่อยเมื่อยเท่าใดนัก แม้จะต้องชันขาอยู่บ้าง แต่ไม่ใช่เรื่องน่าวิตกแต่อย่างใด
จุดขายหลักของเอเวอร์เรสต์อีกจุดหนึ่ง
อยู่ที่การพับเบาะหลังเข้าออกได้ แบบ SYNCRONIZED
คือ ดึงคันโยก จนสุด เพียงครั้งเดียว
ชุดพนักพิงหลังจะพับลงมา พร้อมกับชุดเบาะจะยกคะมำไปข้างหน้า
เพื่อความสะดวกในการก้าวเข้าออกจากเบาะแถว 3
ถึงกระนั้น ยังต้องทำใจกับเบาะนั่งแถว 3 ซึ่งแม้ว่าจะนั่งได้สบายกว่าคู่แข่ง แต่ก็ยังต้องชันหัวเข่ามากพอสมควร ทำให้เบาะหลังของรถประเภทนี้
ยังคงเหมาะสำหรับการถอดออกมาทำชิงช้าหน้าบ้านแต่เพียงอย่างเดียว เช่นเดิม เหมือนกับคู่แข่งทุกคันในตลาดกลุ่มนี้
แต่ถ้าคิดจะถอดเบาะแถว 3 ของเอเวอร์เรสต์ ออกมาทำชิงช้าแล้วละก็ คุณคงต้องใช้เวลาเอาเรื่อง เพื่อที่จะพบว่า นอกจากจะพับและยกขึ้น
เพื่อเพิ่มพื้นที่วางสัมภาระด้านหลังแล้ว มันไม่สามารถถอดได้โดยง่ายนัก เพราะเขาไม่ได้ออกแบบมาให้ถอดออกจากตัวรถเลย
ภายในห้องโดยสารจะถูกกปรับปรุงขึ้นใหม่ โดยใช้ชุดแผงหน้าปัดแบบเดียวกันกับเรนเจอร์ / มาสด้า บีที-50 รุ่นปัจจุบัน ทว่า ในขณะที่เวอร์ชันกระบะ
จะตกแต่งภายในด้วยพลาสติกสีเงิน แนวอะลูมีเนียมร่วมสมัย แต่เอเวอร์เรสต์ จะยังคงยึดการตกแต่งแผงหน้าปัดด้วย ลายไม้ เช่นเดิม เพียงแต่
เปลี่ยนมาใช้ลายไม้แบบด้าน ตามสมัยนิยมเท่านั้น
ชุดมาตรวัด ยังคงเป็นแบบเดียวกันกับ รุ่นท็อปของเวอร์ชันกระบะ เรนเจอร์ / บีที-50 ใช้พื้นสีดำ ตัวเลขสีเขียวเป็นสีสำหรับเรืองแสงในยามค่ำคืน
แผงควบคุมกลาง ยังคงเหมือนกับเวอร์ชันกระบะ
ตกแต่งด้วยสีเงินเป็นหลัก และเรืองแสงด้วยสีเขียว
ทั้งชุดมาตรวัด และแผงควบคุมกลาง สามารถปรับระดับความสว่างได้
จากก้านหมุนบนมาตรวัดโดยตรง
วิทยุ-ซีดี 6 แผ่น ให้คุณภาพเสียงที่ ใช้ได้
แต่เมื่อใช้งานจริง ปุ่มควบคุม ค่อนข้างจะทำให้ผู้ขับขี่
ละสายตาจากพวงมาลัยนานเหมือนกัน
เครื่องปรับอากาศ มี 2 ชุด
ทั้งด้านหน้า สำหรับผู้โดยสารตอนหน้า
และยังมีช่องปรับอากาศ สำหรับเบาะแถว 2 กับ 3 มาให้
พร้อมไฟอ่านหนังสือ…
จะเปิดทำงานได้ ก็ต่อเมื่อ กดสวิชต์ ใต้คอพวงมาลัยฝั่งซ้ายเสียก่อน
“ไพรม์มัส กรุ๊ป…