ทดลองขับ BMW X3 2.0d : เครื่อง…ช่วย(ต่อลม)หายใจ… By : J!MMY


ในช่วงเวลา 15.00 น ถึง 17.00 น. ของวันจันทร์ ถึงวันพฤหัสบดี และวันอาทิตย์
กับทุกวันอังคาร พุธ พฤหัสบดี เวลา 23.00 ถึง 24.00 น. คุณจะถามปัญหาผ่านหน้าเวบของ Car On Line ได้
โดยจะได้รับคำตอบทางรายการวิทยุ โดยช่วงเวลา 15.00 น. ถึง 17.00 น. ทางคลื่น AM 1269
และเวลา 23.00 น. ถึง 24.00 น. ทางคลื่น FM 89.5

โดยวิธีง่ายง่ายครับ ตามวันและเวลาดังกล่าว เมื่อคุณเปิดหน้า www,caronline.net ขึ้นมา
ด้านบนซ้ายของหน้าเวบ จะมีช่องให้คุณ ในฐานะสมาชิก Log-in ของ Car on Line ถามปัญหาถึงรายการวิทยุ
โดยการพิมพ์คำถามลงไป และเมื่อคุณกดปุ่ม ถาม คำถามก็จะไปปรากฏบนหน้าจอมอนิเตอร์ ของผู้จัดรายการ
สำหรับตอบปัญหาให้กับคุณ

กรุณาระบุยี่ห้อรถยนต์ รุ่น ปี ให้ชัดเจน อย่าระบุแบบรหัสรถพวก E36 หรือ W124 อะไรพวกนั้นนะครับ
แล้วบอกให้ละเอียด ว่าปัญหาคืออะไร อาการข้างเคียงเป็นอย่างไร จากนั้น คอยฟังคำตอบทางรายการวิทยุ
ซึ่ง หากวิทยากรไม่เข้าใจ หรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ก็จะบอกคุณทางรายการ เพื่อให้คุณเพิ่มเติมข้อมูลลงไปในช่องอีกครั้ง แล้วกด ถาม ส่งคำถามเข้าไป เหมือนกับการถามปัญหาทางโทรศัพท์

ที่รวดเร็ว และสนุกสนานครับ

เชิญได้นะครับ สมาชิกทุกท่าน เป็นบริการใหม่ล่าสุดของทางเวบไซด์
ร่วมกับรายการวิทยุ กลับให้ได้ ไปให้ถึง ครับ



25 กรกฎาคม 2008
14.53 น.
สี่แยกเกียกกาย

“แน่ใจนะว่า ที่เราขับอยู่นี่คือ BMW ?”

น้องกล้วย หันหน้ามามองผมด้วยสายตาฉงน
ยามที่เราสองคน นั่งอยู่ในรถเอสยูวีคันสีขาว
ซึ่งเพิ่งจะจอดสงบนิ่ง ณ สี่แยกเกียกกาย
ระหว่างกำลังมุ่งหน้าไปยังห้องส่งของ
ขส.ทบ. AM 1269 ในอีก 3 นาทีข้างหน้า

. . . . . . . . . . . .

2 วันต่อมา
คุณแม่ผมก็ถามด้วยคำถามคล้ายๆกัน

“ที่เรานั่งกันอยู่นี่ รถยี่ห้ออะไร?”

ผมก็ได้แต่ตอบทั้งสองคนไป ต่างกรรมต่างวาระ แต่ด้วยคำตอบเดียวกันว่า
มีเพียงตราบนพวงมาลัยนี่ละ ที่บ่งบอกว่า มันคือ
รถเอสยูวี จากค่ายใบพัดสีฟ้า แห่งเมืองมิวนิค เยอรมัน

เพราะเอาเข้าจริงแล้ว มันก็มีอะไรหลายอย่างที่ ไม่น่าจะเรียกว่าเป็น BMW



แม้ว่ารถคันนี้ จะได้ชื่อว่าเป็น เอสยูวี ขายดีที่สุดในเยอรมัน ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
ขนาดที่ว่า BMW เพิ่งฉลองรถคันที่ 500,000 คลอดออกจากสายการผลิตเมื่อ 18 มิถุนายน ที่ผ่านมา

แม้ว่าผมจะเคยไม่ประทับใจกับ X3 มาก่อนหน้านี้ เมื่อหลายปีที่แล้ว

แต่ในเมื่อความอยากรู้อยากเห็น ว่าถ้าเครื่องยนต์ที่เคยวางใน 320d คันโปรดของผม
มาวางอยู่ในรถที่ผมเคยไม่ชอบมัน เครื่องยนต์ตัวนี้ จะพอมีฤทธิ์ สำแดงเดชเปล่งรัศมี
ให้ผมหันกลับมาเมียงมองรถอย่าง X3 ได้อีกครั้งหรือไม่

นั่นคือที่มาของบทความในคราวนี้



ก่อนหน้านั้น 2 ชั่วโมงเศษ เที่ยงวันรับรถ…

“ตรู๊ดๆๆๆๆ ตรู๊ดๆๆๆๆ”

“ฮัลโหล?” (เสียงรับโทรศัพท์ เหมือนฝรั่งสาวมั่น Working woman)

“สวัสดีครับพี่ไหม”

“อ้าว ว่าไง จิมมี่?”

“คือ มี 2 เรื่องครับ เรื่องแรก ได้รับรถเรียบร้อยแล้ว และเสื้อยืดอภินันทนาการ
ขอบคุณมากครับ”

“แล้วเรื่องที่ 2 ละ?”

“เอ พี่ตอนแรก เราคุยกันว่า พี่จะลอกสติ๊กเกอร์ออกให้ใช่ไหมครับ?”

“อ๋อ… อันนั้นพี่รู้จ้ะ แต่ฝรั่งเค้ายืนกรานว่าไม่ให้เอาออกอ่ะ ก็เลยไม่รู้จะทำยังไงเหมือนกัน”

“อ๋อ โอเค งั้นไม่เป็นไรครับพี่ พอเข้าใจครับ ไม่มีปัญหาๆ งั้น ขอบคุณมากครับผม คืนรถวันจันทร์ครับ”

“จ้า หวัดดีจ้ะ”

ตัดไป…

อืมม ก็พอเข้าใจอยู่
เพาะถ้าเอาสติ๊กเกอร์นี้ออกไป หากมองจากด้านหลังรถ
คุณก็จะไม่รู้เลยว่า รถคันนี้ใช้เครื่องยนต์ดีเซล!
จนกว่าจะหาทางพยายามแซงขึ้นมา เพื่อมองตรงซุ้มล้อหน้า
อันมีสัญลักษณ์ 2.0d แปะเอาไว้อยู่

แต่โอกาศจะทำเช่นนั้น ก็ยากเต็มที ถ้าคนขับ X3 2.0d คันนั้น
เป็นผม ซึ่งไม่ยอมยกเท้าขวาออกจากคันเร่งง่ายๆ

อิอิ

(สายตามองกลับมาที่สติ๊กเกอร์คาดข้างรถเจ้ากรรม แล้วถอนหายใจเฮือกใหญ่)

“เอาวะ อย่างน้อย ก็ยังเป็นสติ๊กเกอร์คาดข้าง ที่พอจะทนดูให้เข้าท่าเข้าตา
กล้อมแกล้มไปได้กว่าที่เจอใน Volvo S80 ตัว 3.2 ลิตร นั่นละกัน”

และถึงจะมีสติ๊กเกอร์คาดข้างมาอย่างนี้
ผมว่า ผมก็ยังพอจะหาทางถ่ายรูปออกมาให้มันสวยได้บ้าง
เพราะมันเป็นสติ๊กเกอร์คาดข้างแบบที่ต้องใช้กันทั่วโลก
และมันก็มิได้ดูน่าเกลียดมากมายนัก (แต่ออกจะน่ากลัวนิดๆ
สำหรับคนที่กลัวตัวหนังสือขนาดใหญ่โตเป็นโฟเบีย อย่างผม)

แม้ว่า ตัวรถที่อยู่มาในตลาดนานขนาดนี้
มันจะไม่ได้สวยจนเตะตาผู้คนบนท้องถนนนักก็ตาม



X3 รหัสรุ่น E83 เผยโฉมสู่ตลาดโลกครั้งแรกในฐานะรถต้นแบบของงาน
ดีทรอยต์ ออโตโชว์ 2003 โดยในตอนนั้น ใช้ชื่อรถต้นแบบว่า x Activity
เป็นการเปิดเผยให้สาธารณะชนได้รับรู้ว่า BMW คิดจะสานต่อความสำเร็จของ
เอสยูวีขนาดกลางผู้พี่อย่าง X5 ลงสู่กลุ่มตลาดใหม่ที่เรียกว่า
Premium Compact SUV

จากนั้น จึงเผยภาพคันจริงสู่สาธารณชนครั้งแรกเมื่อ 17 มิถุนายน 2003
ก่อนที่จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการ ในงานแฟรงค์เฟิร์ตมอเตอร์โชว์ กันยายน 2003
และเริ่มทำตลาดจริงในยุโรป ต้นปี 2004

และเมื่อครั้งที่ มันมาขายในบ้านเราใหม่ๆ เมื่อช่วงปลายปี 2004
มันถูกนำเข้ามาจากโรงงานของ Magna Steyr Fahrzeugtechnik AG & Co. KG (MSF)
จากเมือง Graz ในประเทศ Austria (ขอย้ำ ออสเตรีย ไม่ใช่ออสเตรเลีย)
ซึ่งเป็นผู้ผลิตที่ BMW ว่าจ้างให้มาช่วยพัฒนา และเป็นตั้งสายการผลิตของรถรุ่นนี้เป็นพิเศษ
ผมเคยนำมาทดลองขับเมื่อ 3 ปีก่อน และพบว่า มันเป็น BMW ที่ไม่น่าประทับใจที่สุดเท่าที่เคยเจอมา
จนถึงทุกวันนี้ (http://www.caronline.net/ArticleDetail.aspx?ArticleID=65#head)

ก็แน่ละ ไม่ว่าจะเป็นการขับขี่ของมัน เวลาเข้าโค้งที เหมือนกับคุณกำลังนั่งอยู่บนเยลลี ปีโป้ ที่วางอยู่เหนือ BMW ซีรีส์ 3
แถมการประกอบก็ยังไม่ค่อยดีเท่าใดนัก เสียงพลาสติก ลั่นกร๊อบแกร๊บ แทบทุกครั้งที่ขับผ่านลูกระนาด
หรือปีนขึ้นทางชัน ชัดเจนกว่ารถคันไหนๆ เสียงกร๊อบแกร๊บนั้น มันควรจะเกิดขึ่นเมื่อรถยุโรปคันนั้น
มาใช้งานในบ้านเราผ่านไปแล้ว 10 ปี แต่ BMW ก็สร้างความเหลือเชื่อว่า เสียงแบบนี้
จะเกิดขึ้นได้กับรถใหม่ป้ายแดง

ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ BMW ในตอนนั้น (เจ้าตัวลาออกไปแล้ว)
แจ้งว่าปัญหาทั้งหมดเกิดจาก ยางขอบประตู
แก้ได้ด้วยการ เลาะมันออกมาทั้งหมดแล้วทาซิลิโคน เข้าไป….!



แต่…นั่นคือความทรงจำอันเลวร้ายของผมที่เคยมีต่อ X3 เมื่อ 3 ปีก่อน

เพราะหลังจากที่ X3 ถูกปรับโฉมไมเนอร์เชนจ์ในตลาดโลก
เผยภาพครั้งแรกเมื่อ 27 มิถุนายน และเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อ 8 กันยายน 2006

พอรถคันนี้ถูกนำเข้ามาประกอบที่โรงงานของ BMW ในเมืองไทย
ปัญหาดังกล่าวข้างต้น ก็หายไป

แม้ว่าความสดใหม่ของมัน ทั้งจากเปลือกกันชนหน้าใหม่
ลายไฟท้ายใหม่ ยังไม่อาจช่วยให้ผมแยกความแตกต่างจากรถรุ่นก่อนได้
หากไม่เปิดดูรูปรถรุ่นเก่าเปรียบเทียบไปด้วย

มิติตัวถัง ยาว 4,569 มิลลิเมตร กว้าง 1,853 มิลลิเมตร
สูง 1,674 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,795 มิลลิเมตร
ลุยน้ำได้ลึก 500 มิลลิเมตร มุมไต่ 23.9 องศา มุมจาก 21.8 องศา

น้ำหนักตัว ในรุ่นเกียร์อัตโนมัติ เมื่อรวมน้ำหนักตัวคนขับประมาณะ 75 กิโลกรัม
น้ำมัน 90 เปอร์เซนต์ ของความจุถัง 67 ลิตร (กันสำรอง 8 ลิตร ก่อนหมดถัง)
อยู่ที่ 1,825 กิโลกรัม



เปิดประตูเข้าไป ก็พบเจอบรรยากาศแบบเดิมๆ ที่เคยผ่านมือ ผ่านตามาแล้ว
ถ้าจะบอกว่า แผงประตู ใช้วัสดุที่ละม้ายคล้ายคลึงกับ แผงประตูของ ฮอนด้า ซีวิค
และ ฮอนด้า แอคคอร์ด รุ่นล่าสุดนี้ คุณจะเชื่อไหม?

จะอย่างไรก็ตาม การวางแขนบนแผงประตูชุดนี้ ก็ยังน่าชื่นชม
เพราะวางได้สบายๆ และไม่มีอะไรให้ผมต้องขับไปบ่นไป



เบาะนั่งคู่หน้า ปรับด้วยไฟฟ้า พนักพิงศีรษะ คือสิ่งที่น่าชื่นชม
พนักศีรษะของรถรุ่นนี้ ใช้วิธีปรับตำแหน่งแบบเลื่อนเข้า-ออก ซึ่งหาได้ยากในรถทั่วไป
ปัญหา ที่พนักศีรษะ มาดันต้นคอผม ก็หายไป และทำให้ผมนั่งอยู่ที่เบาะฝั่งด้านข้างคนขับ
อย่างมีความสุข พื้นที่เหนือศีรษะก็มีเยอะเหลือเฟือ โปร่งใช้ได้กำลังดี แต่ไม่ถึงกับโล่งโจ้ง

ประตูคู่หลัง ทางเข้าก็สามารถขึ้นไปนั่งได้โดยสะดวก

สิ่งที่ต้องตำหนิกันในข้อแรก ที่ผมเพิ่งมาพบเจอ ก็คือ
คุณผู้อ่านสังเกตไหมครับ ว่า ใต้ธรณีประตู ทั้ง 4 บาน
จะมีแผงพลาสติกสีดำออกแบบให้มีส่วนยื่นออกมา

ปัญหาก็คือ ถ้ามันออกแบบให้ราบเรียบไปเลย ก็คงจะดีอยู่หรอก
แต่นี่ เล่นออกแบบให้มีลักษณะคล้ายเป็นสเกิร์ตข้างในตัวยื่นล้ำออกมา
เวลาที่จะก้าวขาขึ้นรถ ขากางเกงบริเวณน่อง จะต้องไปครูดกับแผงพลาสติกที่ว่านี้
ในวันธรรมดาที่คุณเพิ่งจะล้างรถมา ก็คงไม่เท่าไหร่
แต่ถ้าวันใดฝนตก คราวน้ำกับฝุ่นเปรอะเปื้อนเต็มไปหมด
ขากางเกงคุณ ก็อาจจะเปรอะเปื้อนได้โดยง่าย

ที่เลวร้ายไปกว่านั้นคือ ไม่ใช่แค่ X3 เท่านั้น ที่มีแผงพลาสติก
ออกแบบมาในลักษณะนี้ แต่ถ้า พี่ใหญ่ X5 กับ X6
ก็เป็นเช่นเดียวกันเป๊ะ!!!

-_-‘



เบาะหลัง แม้จะยังไม่ถึงกับนุ่มสบายนัก
แต่ก็ถือว่านั่งสบายกว่าเอสยูวีหลายๆคันที่ผมเจอมา
ที่วางแขน มีช่องวางแก้วเก็บซ่อนไว้ในสไตล์แปลกๆ
และช่องเก็บของจุกจิกพร้อมฝาปิด

เข็มขัดนิรภัยเป็๋นแบบ 3 จุดทุกที่นั่ง
และมีระบบ ดึงกลับอัตโนมัติ พร้อมลดแรงปะทะให้ในตัว
ตำแหน่งที่วางขา ถือว่าวางได้สบายกลางๆ



ห้องเก็บของด้านหลังมีความจุ 480 ลิตร ตามมาตรฐาน VDA เยอรมัน
และเมื่อพับเบาะหลังทั้ง 2 ฝั่ง ในอัตราส่วน 60 : 40 ลง ก็จะเพิ่มขนาดเป็น 1,560 ลิตร VDA



เมื่อเปิดพื้นห้องเก็บของขึ้นมาดู ก็จะพบแบ็ตเตอรี และเครื่องมือประจำรถ
เก็บวางไว้อย่างเป็นระเบียบ



เมื่อสำรวจกันมาเรื่อยถึงแผงหน้าปัด ก็ยังคงมีหน้าตาเหมือนเดิม
ต่อให้เปลี่ยนลายพวงมาลัยใหม่ 3 ก้าน จนดูทันสมัย
เป็นหนึ่งเดียวกับ BMW รุ่นอื่นๆ แล้ว
แต่ ปัญหาเดิมก็ยังคงอยู่ ไมได้หนีหน้าหายหัวไปไหน


นั่นคือชุดมาตรวัดกับพวงมาลัย เยื้องไปทางซ้าย
ส่วนชุดคันเร่งกับแป้นเบรก ก็เยื้องไปทางขวา
ซึ่งก็ยังก่อความเมื่อยล้าในการขับขี่ให้กับผมได้ง่ายดายตามเคย

จริงอยู่ว่า โดยปกติแล้วชุดมาตรวัดกับพวงมาลัยของรถแทบจะทุกคันนั้น
ไม่ได้ตั้งตรงแหน่ว อย่างที่หลายคนเคยคิด

Mercedes- Benz E-Class ใหม่ ก็เคลื่อนไปทางซ้ายนิดๆ
Toyota Hilux Tiger ก็ เยื้องไปทางซ้ายหน่อยๆ เช่นกัน

เพียงแต่ มันไมได้เยื้องมากมายจนสัมผัสได้จากท่านั่งขับ เหมือนเช่นที่ X3 เป็น

แถมยังมีพื้นที่วางขาค่อนข้างน้อย แม้จะมีที่พักขาซ้ายมาให้ด้วยแล้วก็ตาม

จะให้ทำเช่นใด? ในเมื่อรถคันนี้ ถูกออกแบบให้ใช้ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ
X-Drive มาตั้งแต่แรก นั่นจึงทำให้ ขนาดของชุดหัวหมูเกียร์ และระบบขับเคลื่อน
เบียดบังเข้ามายังพื้นที่วางขาของทั้งฝั่งผู้ขับขี่ และฝั่งผู้โดยสารคู่หน้า

พวงมาลัยแบบ Multi Function เปลี่ยนจากลาย 4 ก้าน มาเป็น 3 ก้านร่วมสมัย
ฝั่งขวา ไว้คุมระบบควบคุมความเร็วคงที่อัตโนมัติ Cruise Control
ฝั่งซ้าย คุมชุดเครื่องเสียง



ชุดมาตรวัด ยังคงเป็นแบบ เข็มเล็ก

ชวนให้นึกถึงคำว่า “เข็มมาตรวัด” อย่างแท้จริง
เพราะมันมีหน้าตาคล้ายเข็มเย็บผ้า จริงๆ



แผงคอนโซลกลาง ไล่จากบนลงล่าง ประกอบด้วย
ช่องเก็บของพร้อมฝาปิด เหนือช่องแอร์

สวิชต์ไฟฉุกเฉิน อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม
แต่สวิชต์ของระบบ ปลดและสั่งล็อกประตู แม้จะอยู่ในตำแหน่งเดียวกับ BMW รุ่นอื่นๆ
แต่ผมกลับต้องใช้เวลาคลำหาอยู่บ้างเหมือนกัน เพราะเรามักจะคิดไปว่า มันควรจะรวมอยู่
ศูนย์กลาง เดียวกันกับสวิชต์กระจกหน้าต่างไฟฟ้าทั้ง 4 บาน แบบดีดกลับได้เมื่อมีสิ่งกีดขวาง
บนแผงประตูฝั่งคนขับมากกว่า

ชุดวิทยุแบบ Bussiness เล่น CD ได้ 1 แผ่น คุณภาพเสียงแค่พอรับได้ ไม่ถึงกับดีนัก
ทำหน้าที่เป็นวิทยุติดรถที่ดี เพียงอย่างเดียว ระบบต่างๆ นั้น คล้ายคลึงกับวิทยุติดรถ
พื้นฐานของ BMW หลายๆคันที่ผมเจอมา และมันใช้งานยากกว่าวิทยุทั่วไปนิดหน่อย
แต่การมีสวิชต์ควบคุมบนพวงมาลัย มาให้ เลยยังพออนุโลมให้ได้บ้าง

ระบบปรับอากาศเป็นแบบอัตโนมัติ ไม่มีระบบแยกฝั่งซ้าย-ขวา
แผงสวิชต์ด้านล่าง ทั้ง 4 ชิ้นที่เห็นนั้น มีทั้งสวิชต์เปิด-ปิด ระบบ DSTC
Dynamic Stability and Traction Control (แต่บนสวิชต์จะเขียนแค่ DTC)

สวิชต์เปิด-ปิดระบบ ควบคุมการลงเนินอัตโนมัติ
ด้วยการรักษาความเร็วคงที่ให้สม่ำเสมอ HDC (Hill Descent Control)
ทำงานต่อเมื่อใช้ความเร็วไม่เกิน 35 กม./ชม.โดยเมื่อกดปุ่มแล้ว
ระบบจะสั่งลดความเร็วเหลือเพียง 8 กม./ชม.
เพื่อให้ขับลงเขาได้สะดวกขึ้น

สวิชต์ เปิด-ปิด เสียงเตือนของระบบกะระยะช่วยจอด Parktronic
ที่มีเสียงเตือนน่ารำคาญ จนหลายครั้ง ผมและผู้คนรอบข้าง
อยากจะตบกบาลมันสักป๊าบ

และสวิชต์ ของระบบเตือนความดันลมยาง Trye Pressures Monitoring System



ที่วางแก้วฝั่งผู้โดยสารด้านหน้าอยู่ที่ช่องแอร์ ในสไตล์คล้ายกับ BMW รุ่นอื่นๆ
ที่เก็บของมีขนาดเพียงพอแค่ใส่เอกสารประจำรถ และเอกสารจิปาถะนิดหน่อยเท่านั้น



ถัดจากคันเกียร์แล้ว จะมีช่องวางแก้วน้ำ สำหรับคนขับ
และมีกล่องเก็บของ 2 ชั้น พร้อมฝาปิดแบบเป็นที่วางแขนในตัว ซึ่งมีขนาดใหญ่ไม่มากนัก

ส่วนระบบล็อกประตูรถคันนี้ ผมว่า มีเรื่องให้กังวลเล่นนิดหน่อย

คือ ในคืนสุดท้าย ก่อนส่งคืนรถ
รุ่นน้องรอบข้างคนหนึ่ง
โทรมาปรึกษาปัญหาหัวใจ
และผมก็ต้องรับหน้าที่เป็นศิราณี ตอนตี 2

ผมก็เข้าไปนอนเล่น คุยโทรศัพท์อยู่ในเจ้า X3 ที่จอดไว้ในรั่วบ้านนี่ละ
และผมถือกุญแจเข้าไปด้วย สั่งล็อกประตูเอาไว้ เพื่อให้ ไฟในเก๋ง
ที่สว่างจนน่าจะมอบโล่ห์เกียรติคุณให้ ดับลงให้หมด

ตี 4.45 นาที คุยเสร็จแล้ว จะเปิดประตูออกจากรถ
หากเป็นรถทั่วไป ก็คงจะแค่ปลดสวิชต์ล็อก และเปิดประตูออกมาได้ง่ายในทันใด
ทว่าโดยปกติ ที่เปิดประตูของ BMW แทบทุกรุ่นนั้น วันธรรมดา คุณก็ต้องโยกมัน 2 หนอยู่แล้ว
หนแรก เพื่อปลดล็อก หนต่อมา เพื่อเปิดบานประตู

แต่กับ X3 หากคุณเป็นเด็กอายุ 3 ขวบ
ยังไม่ค่อยประสีประสา
นั่งอยู่ที่เบาะหลัง และคนขับ อาจจะเป็นพ่อ หรือแม่ของเด็กน้อย
ล็อกประตูรถ ถือรีโมท เดินหายตัวจ้อยไปแล้ว
อย่าได้คิดจะพยายามเปิดประตูด้วยวิธีธรรมดา ที่เด็กๆทั่วไปเขาทำกันอีกเลย

เพราะผมเอง ได้ลองพยายามดึงที่เปิดประตูออก แต่ระบบไฟฟ้า ก็ยังสั่งไม่ให้กลอนประตู
ปลดล็อกให้ผมคลานออกจากรถได้

นี่ยังดีนะ ที่ผมมีกุญแตรีโมท Immobilizer ของตัวรถ ถือติดเข้ามาด้วย สั่งปลดล็อกจากในรถได้

แล้วลองนึกสภาพดูสิ ถ้าในตอนเที่ยง แดดร้อนๆ คุณแวะเข้าไปทำธุระในซูเปอร์มาร์เก็ต
แต่ทิ้งลูกน้อยอายุไม่เกิน 3 – 4 ขวบ เอาไว้ในรถ แล้วสั่งล็อกประตูละ?
โดยที่ลูกน้อยของคุณไม่รู้ว่า สวิชต์ปลดล็อกประตู มันอยู่ระหว่างช่องแอร์กลางหละ?

ถ้าเด็กจะร้องงอแง จนเป็นนอนสลบเป็นศพกันคารถเลยนั้น
ผมว่าคุณ หรือใครก็คงจะไม่มีทางรู้ได้เลย จนกว่าจะเดินกลับมาที่ตัวรถ

นั่นจึงทำให้ผมชักไม่แน่ใจแล้วว่า ระบบล็อกประตูของ BMW ทำงานได้ดีเกินเหตุหรือเปล่า?
ออกแนวน่ากลัวแล้วนะนั่น…



แผงควบคุมชุดไฟหน้า ไฟตัดหมอกหน้าและหลัง
และ แผงควบคุมสวิชต์กระจกหน้าต่าง รวมทั้งกระจกมองข้าง
ติดตั้งอยู่ในตำแหน่งเดียวกับรถยุโรปทั่วๆไป



ทัศนวิสัุยจากด้านหน้ารถ โปร่งตามาก กระจกบังลมหน้าตั้งชันในระดับกำลังดี
สังเกตจากหลังคาของ SLK คันข้างหน้าก็น่าจะพอเดาได้ว่า นั่นคือระดับสายตาของผม
เวลานั่งอยู่ ณ ตำแหน่งคนขับของ X3



กรกจะมองข้าง บานใหญ่สะใจกว่า BMW หลายๆรุ่น
มองเห็นรถที่ตามมาชัดเจน และผมไม่ต้องมีเรื่องบ่นกับมันเลย



เสาหลังคาฝั่งซ้าย ก็ไม่บดบังทัศนวิสัยแต่อย่างใด



ทัศนวิสัยด้านหลัง พอมีจุดบอดอยู่บ้าง
แต่ก็ถือว่าน้อย เมื่อเทียบกับ BMW รุ่นอื่นๆ และ SUV อีกหลายๆราย

ด้านความปลอดภัยนั้น ถุงลมนิรภัยมีมาให้มากถึง 8 ใบ
ทั้งคู่หน้า ด้านข้างฝั่งผู้โดยสารตอนหน้า
ด้านข้างสำหรับผู้โดยสารตอนหลังและม่านลมนิรภัย อย่างละคู่
มีจุดยึดเบาะนิรภัยสำหรับเด็กมาตรฐาน ISOFIX มาให้ด้วย
รายละเอียดต่างๆ ไปดาวน์โหลด แค็ตตาล็อกเวอร์ชันภาษาอังกฤษอ่านเอาได้ที่
http://www.bmw.com และ http:/www.bmw.co.th กันเอาเอง



********** รายละเอียดทางวิศวกรรม และการทดลองขับ **********

เครื่องยนต์ ยังคงเป็นแบบเดียวกันกับ 320d

เครื่องยนต์ ยังคงเป็นรหัส M47
เวอร์ชันเดียวกัน บล็อกเดียวกันกับที่วางอยู่ใน 320d
เป็นแบบ ดีเซล บล็อก 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,995 ซีซี
กระบอกสูบ x ช่วงชัก 90.0 x 84.0 มิลลิเมตร
อัตราส่วนกำลังอัด 16.0 : 1
ใช้ระบบกล่องสมองกลควบคุมเครื่องยนต์ DDE 7.1
ฉีดจ่ายเชื้อเพลิงด้วยระบบคอมมอนเรล เจเนอเรชันที่ 3
Direct Injection พร้อมเทอร์โบชาร์จ

กำลังสูงสุด 177 แรงม้า (HP) หรือ 130 กิโลวัตต์ ที่ 4,000 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด 35.6 กก.-ม. หรือ 350 นิวตันเมตร ที่รอบเครื่องยนต์ตั้งแต่ 1,750 – 3,000 รอบ/นาที
ผ่านมาตรฐานไอเสียระดับ Euro IV แล้ว

อย่างที่เคยบอกไปแล้ว แต่ก็จะฉายหนังซ้ำอีกสักรอบว่า
เครื่องยนต์นี้ เพิ่งออกสู่ตลาดโลกเมื่อกลางปี 2007 ที่ผ่านมานี้เอง
เป็นเครื่องยนต์ตัวเดียวกับที่วางใน 520d ไมเนอร์เชนจ์ และ 320d ใหม่ ที่เพิ่งเปิดตัว
ในงานบางกอกมอเตอร์โชว์ 2008 ที่ผ่านมา รวมทั้ง ซีรีส์ 1 ไมเนอร์เชนจ์ รุ่น 120d ทุกตัวถัง



ขับเคลื่อนล้อหลัง ด้วยเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ พร้อมโหมด บวก-ลบ Steptronic

ผมได้พยายามหาตัวเลขอัตราทดเกียร์อัตโนมัติลูกนี้จากทาง BMW แล้ว

เชื่อหรือไม่! แปลก แต่จริง! ในคู่มือผู้ใช้รถ ภาคภาษาอังกฤษ
กลับไม่มีตัวเลขทางเทคนิคพื้นฐานของตัวรถ ที่ควรมีอย่างนี้เอาไว้เลย!

เอาละ คู่มือไม่มี กางแค็ตตาล็อกเอาก็ได้ พอจะค้นหาในแค็ตตาล็อก ผมก็ไม่มีแค็ตตาล็อก ของ X3 ในมือเลย
เพราะที่ผ่านมา ผมก็ไม่ได้อัพเดทแค็ตตาล็อกเมืองนอก ของ BMW มานานแล้ว

นี่ละ สาเหตุที่ผมต้องสะสมแค็ตตาล็อกรถยนต์เอาไว้ ไม่ว่าจะเก่าหรือไม่แค่ไหน
เพราะพอเวลาเขียนบทความอะไรก็ตาม บางทีสามารถดึงเอารายละเอียดบางอย่าง
ที่อยู่ในความทรงจำของผม ขึ้นมาเขียนได้ในทันที

แม้ว่าจะมีให้ดาวน์โหลดอยู่ใน www.bmw.com และ www.bmw.co.th
แต่นั่นก็มีเฉพาะสเป็กอัตราทดของเกียร์ธรรมดา ไม่มีตัวเลขอัตราทดเกียร์อัตโนมัติมาให้เลย

เอาละ ในเมื่อหาไมได้ ก็ต้องลองดูในเว็บไซต์สื่อมวลชนของ BMW Group ของเยอรมัน
ซึ่งพยายามจะหาข้อมูลเกี่ยวกับ X3 ไมเนอร์เชนจ์แค่ไหน
สิ่งที่ BMW มีให้ ก็เพียงแค่ ข่าว และข้อมูลพื้นๆ สำหรับเอาไว้เขียนข่าวให้เขาเท่านั้น
ข้อมูลทางเทคนิคนั้น กลับไม่มีอะไรเอาไว้ให้อีกเช่นเดียวกัน!

เอ้า! จะทำยังไงกันดีละเนี่ย? ข้อมูลเบื้องต้นแค่นี้ ผมต้องค้นหาจนปวดหัวไปหมดแล้วเนี่ยนะ?

ในที่สุด ด้วยความช่วยเหลือของ พี่ไหม ฝ่ายพีอาร์
และ คุณ Tamwiwat Waroad จาก BMW Thailand

ผมก็ได้รับข้อมูลระบบเกียร์มาแล้วซะที

สรุปว่า เกียร์อัตโนมัติ ลูกนี้ เป็นรุ่น GA6HP19Z
ซึ่งยืนยันว่า เป็นเกียร์ลูกเดียวกันกับที่ติดตั้งอยู่แล้วใน 320d คันโปรดของผมนั่นเอง

ดังนั้น อัตราทด จึงเหมือนกันครับ

มาดูอัตราทดเกียร์กันสักหน่อยดีกว่าครับ

เกียร์ 1……………………..4.171
เกียร์ 2……………………..2.340
เกียร์ 3……………………..1.521
เกียร์ 4……………………..1.143
เกียร์ 5……………………..0.867
เกียร์ 6……………………..0.691
เกียร์ถอยหลัง………………….3.403
อัตราทดเฟืองท้ายหน้า…………….3.460
อัตราทดเฟืองท้ายหลัง…………….3.460

ฉุดลากตัวรถที่มีน้ำหนักตัว Unladen weight : 1,445 กิโลกรัม
(ซึ่ง BMW ถือว่า เป็นน้ำหนักตัวที่รวม น้ำมัน 90 เปอร์เซนต์ของความจุถัง
น้ำหนักตัวคนขับ 68 กิโลกรัม และ น้ำหนักสัมภาระอีก 7 กิโลกรัม)

เราทดลองขับด้วยมาตรฐานเดิม
คือ นั่งสองคน เปิดแอร์ และใช้เวลาช่วงกลางคืน จึงต้องเปิดไฟหน้า
ตัวเลขที่ได้ เมื่อเปรียบเทียบกับ X3 รุ่น 2.5i ที่ทดลองขับเอาไว้ตั้งแต่ปี 2005
และ ซีรีส์ 3 ตัวถังใหม่ E90 รุ่น 320d ที่วางเครื่องยนต์เดียวกัน
และผมเพิ่งทดลองขับไปก่อนหน้านี้ไม่นานนัก มีดังนี้ครับ



หากดูจากตัวเลขแล้ว
เอาเข้าจริงแล้วการขับขี่ของมันก็ไม่ได้เลวร้ายเลย
แถมยังมีอัตราเร่งดีกว่า X3 รุ่นเบนซินเสียด้วยซ้ำ

เพราะเมื่อเทียบเคียงกับ เครื่องยนต์ตัวเดียวกัน
แต่วางอยู่ใน BMW 320d
ซึ่งทำอัตราเร่ง 0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ได้ในเวลาเฉลี่ย 8.89 วินาที
และ 80-120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ทำได้ในเวลาเฉลี่ย 6.8 วินาที

สมรรถนะของเครื่องยนต์ตัวนี้ ยังคงทำได้ดีในแบบที่มันเป็น
แรงดึงที่เกิดขึ้น ยังคงดึงแผ่นหลังของคุณให้ติดเบาะได้อยู่อย่างที่ 320d เป็น
เครื่องยนต์ตัวนี้ ยังคงสร้างความสนุกในการขับขี่ได้ดี
อย่างที่ผมเคยประทับใจมาแล้วใน 320d

เพียงแต่ เมื่อเครื่องยนต์สมรรถนะดีๆอย่างนี้
ต้องถูกติดตั้งลงในตัวถังที่มีน้ำหนักเปล่า ที่หนักเพิ่มขึ้นจาก 320d เป็น
(รวมน้ำหนักโหลดต่างๆแล้วจะอยู่ที่ กิโลกรัม)
แถมยังต้องต่อพ่วงกับระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ แปรผันแรงบิดตามความเหมาะสม X-Drive ด้วยแล้ว
ตัวเลขที่หดหายไป 2 วินาที ถือว่า ฟังดูสมเหตุสมผล

และเมื่อใช้งานจริง การเร่งแซงต่างๆ เป็นไปอย่างคล่องตัวใช้ได้
ในแบบที่ เอสยูวีควรจะเป็น พุ่งทะยานใช้ได้

ลิ้นเร่งเป็นระบบปีกผีเสื้อไฟฟ้า
คันเร่ง ตอบสนองช้าก็จริงอยู่ แต่ก็ยังมิหนักหนาถึงขั้นยอมรับไม่ได้



ตั้งข้อสังเกตว่า กว่าที่เข็มความเร็วจะกวาดขึ้นจาก จุดหยุดนิ่ง จนถึง 160 กิโลเมตร/ชั่วโมงนั้น
ใช้เวลานานกว่าที่พบใน 320d นิดนึง

และความเร็วสูงสุด 210 กิโลเมตร/ชั่วโมง ที่เห็นอยู่ในรูปข้างบนนี้ นั้น โดนล็อกไว้ด้วยสมองกล

เสียงเครื่องยนต์ ค่อนข้างดังเมื่อยืนฟังจากภายนอกรถ
มันดังกว่าตอนที่เครื่องยนต์ตัวนี้วางอยู่ใน 320d อยู่นิดนึง ไม่มากนัก
แต่ก็เพียงพอให้เพื่อนบ้านผม เปิดไฟหน้าบ้านของตน ออกมาชำเลืองมองรถคันนี้
ตอนที่ผมพามันกลับเข้าบ้านช่วง ตี2 ก็แล้วกัน

ระบบกันสะเทือน หน้า แบบสตรัต ซึ่งมีรายละเอียดเป็นภาษาอังกฤษแบบไม่ต้องแปลกันเลยว่า
Thrust-rod double-joint spring strut axle, small positive steering roll radius;
compensation of transverse forces, anti-dive

ส่วนด้านหลังยังคงเป็นแบบมัลติลิงค์ Central arm axle with longi arms + double track control arms,
anti-squat and anti-dive

ระบบกันสะเทือนนั้น นุ่มลงและลดความกระด้างจาก X3 คันเดิมที่ผมเคยสัมผัสมา นิดนึง ในการขับขี่ทางตรง
มันยังคงนิ่ง และให้ความรื่นรมณ์ได้ดีในการเดินทางไกล
แต่บุคลิกอื่นๆ ก็ยังเหมือนเดิม เวลาเลี้ยวตีโค้งที บอดี้เอียงกะเท่เร่ และในบางครั้งก็เลี้ยวไม่เข้าเท่าไหร่
ต้องป้อนพวงมาลัยเพิ่มเข้าไปอีกนิด ยิ่งในโค้งทางลงพระราม 6 นั่น แม้จะยังพอสาดเข้าไปได้สบายๆ
ในระดับที่ เอสยูวีทั่วไปควรเป็นกัน แต่กระนั้น ตัวรถก็เอียงมากมายไม่แพ้กันกับ Nissan X-trail เลย

ยิ่งเจอกับพวงมาลัยที่มีน้ำหนักเบากว่า และมีระยะฟรีเยอะกว่า BMW ทั่วๆไป
แต่ค่อนข้างไวไม่แพ้กันเท่าใดนัก ก็ยิ่งต้องใช้สมาธิในการควบคุมเพิ่มขึ้น
หากต้องใช้เส้นทางที่เลี้่ยวลดคดเคี้ยวมากๆ ผิดกับปกติของ BMW ทั่วไป
ทแทบปล่อยวางเรื่องนี้ไปให้เป็นหน้าที่ของตัวรถรุ่นอื่นๆได้เลย

ระบบเบรกเป็นแบบ ดิสก์เบรก 4 ล้อพร้อม ABS EBD และ Break Assist
แป้นเบรกนั้น ต้องกดลงไปประมาณ 1 ใน 3 ถึงจะเริ่มทำงาน และบางครั้ง
หากเหยียบลงไปช่วงแรก ตัวรถจะยังไม่หน่วงในทันที ต้องเหยียบลงไปประมาณ 1 ใน 3
ถึงจะเริ่มหน่วงและเมื่อใดที่เหยียบจนถึงครึ่งนึง นั่นแสดงความ คุณเหยียบเบรกมากเกินไปแล้ว
รถก็จะเบรกจนหัวทิ่มเลยทีเดียว



***** การทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงโดยเฉลี่ย *****

เรายังคงทดลองตามมาตรฐานเดิม
ทดลองด้วยวิธีการ เติมน้ำมันเชื้อเพลิงที่สถานีบริการเชลล์
ปากซอยอารีย์ แล้วลัดเลาะไปขึ้นทางด่วนพระราม 6
แล่นต่อเนื่องไปจนปลายสุดของทางด่วนสายเชียงราก สุดที่บางปะอิน



ใช้ความเร็ว 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดแอร์ นั่งกัน 2 คน
น้ำหนักรวมประมาณ 150-170 กิโลกรัม
แล้วเลี้ยวกลับมาขึ้นทางด่วนเส้นเดิม มาลงตรง ทางแยกพระราม 6
ลัดเลาะเข้าซอยอารีสัมพันธ์ กลับมาเติมน้ำมันที่ปั้มเดิม และหัวจ่ายเดิม

คราวนี้ เปลี่ยนมาใช้น้ำมันดีเซล เชลล์ วีเพาเวอร์



ระยะทางที่แล่นไปบนมาตรวัด 92.2 กิโลเมตร

และนี่คือปริมาณน้ำมันที่เติมกลับเข้าไป 5.51 ลิตร



คำนวนออกมาแล้ว ได้ตัวเลขดังที่เห็น

16.73 กิโลเมตร/ลิตร



และตัวเลขในตารางนี้ ก็เป็นการเปรียบเทียบให้เห็นว่า X3 2.0d
เมื่อใช้เครื่องยนต์เดียวกันกับ 320d นั้น อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิ้งแตกต่างกันมากน้อยหรือไม่

การณ์กลับกลายเป็นว่า กินน้ำมันพอๆกันกับ 320d เลยเนี่ยสิ…
ถือว่าน่าตกใจเลยทีเดียว พรีเมียมคอมแพกต์ เอสยูวี แต่ประหยัดกว่า
รถยนต์คอมแพกต์ ทั้งญี่ปุ่น และยุโรปคันอื่นๆเลยเนี่ย เยี่ยมไปเลย…



********** สรุป **********
***** เครื่องดีเซลบล็อกใหม่ ช่วยให้ยังหายใจได้ต่อไปอีกระยะ **********

วันที่ผมนำรถไปจอดคืน ในช่องจอดที่ชั้น B2 ใค้ถุนตึก ออลซีซัน
ผมก็ยังปิดประตู กดรีโมทล็อกรถ แล้วลูบหลังคาไปสองสามที เป็นการขอบคุณ
ที่ไม่แผลงฤทธิ์ใดๆยามอยู่ด้วยกัน

ด้วยเครื่องยนต์ดีเซลบล็อกใหม่ 177 แรงม้า ก็ช่วยให้ X3 กลับมาน่าสนใจอีกครั้ง
ได้อย่างไม่ยากเย็นนัก เอสยูวี ที่พาคุณพุ่งทะยานไปข้างหน้าอย่างว่องไว
แต่จิบน้ำมันแค่ 16.73 กิโลเมตร/ลิตรนั้น หาไม่ได้ง่ายๆนักหรอกครับ
ในตลาดรถยนต์บ้านเรา และระดับโลก

ก็พอจะทำให้ผมยังกลับมาเมียงมองมัน
ด้วยสายตาที่อาทร และลดความเกี่ยงงอนหยามเหยียดในใจลงไปได้
ไม่น้อยเลยทีเดียว

เรียกได้ว่า การได้เครื่องยน์ดีเซลบล็อกใหม่นี้มา
เปรียบเสมือนเป็น เครื่อง ช่วย ต่อลมหายใจ ให้กับการทำตลาด ของ X3
ไปได้อีกพักนึงเลยทีเดียว



แต่ ในโลกแห่งความเป็นจริง
การจะซื้อรถสักคันหนึ่ง มันมีองค์ประกอบมากมายหลายอย่าง
หากจะซื้อรถสักคัน เพียงแค่เครื่องยนต์ของมันถูกปรับปรุงให้ดีขึ้น
นั่นก็เป็นเหตุผลที่ฟังดูยังไม่ค่อยเข้าท่านัก

และยิ่งถ้าคุณสมบัติภาพรวมของตัวรถ ซึ่งยังคงมีความดีและความน่าชัง
อยู่ในระดับก้ำกึ่งกันมากขนาดนี้ ทั้งในเรื่องของ ความไม่สบายในการนั่งขับทางไกล
วัสดุในห้องโดยสาร และการประกอบ ที่ชวนให้คิดว่า มันควรเป็น เอสยูวียุคใหม่จากเกาหลีใต้
มากกว่าที่จะมาจากมันสมองของวิศวกรเยอรมัน ไปจนถึงช่างล่างที่ย้วยเอาการ
แถมในบางเวลา ยังเลี้ยวไม่ค่อยจะเข้าเท่าใจต้องการใดนัก ต้องป้อนพวงมาลัยเพิ่ม
ในบางกรณี

และยิ่งพอได้รู้ว่า ค่าตัวของ X3 2.0d คันนี้ สูงถึง 3,299,000 บาท
นั่นทำให้ผมถึงกับสะดุดกึก ไปเลย

ความรู้สึกที่เริ่มจะอยากคืนดี ก็พลันหายไปเสียฉิบ



ถ้าราคามันแพงขนาดนี้…แถมยังได้รถที่ขับแล้วไม่สบายตัวนัก
รวมทั้งได้วัสดุในห้องโดยสาร ที่ไม่ค่อยสมกับราคา
ของรถระดับ BMW เท่าใดเลย เมื่อเทียบกับ ซีรีส์ 3 และ 5 ใหม่

ผมว่า เอาเงิน 2,800,000 กว่าบาท ไปจ่ายให้กับ 320d สุดเลิฟของผม
ซึ่งใช้เครื่องยนต์เดียวกันเป๊ะแล้วเก็บเงินในส่วนที่เหลืออีกพอสมควร
ไว้ทำอย่างอื่นที่เป็นประโยชน์กับตนองและสังคมเพื่อนมนุษย์จะดีกว่าไหม?

ฟังดูว่า บทสรุปนี้อาจจะรุนแรงไป และดูช่างไม่เกรงใจ BMW Thailand เท่าใดเลย

แต่ถ้าย้อนกลับไปดูรีวิวเก่าของ X3 รุ่นเดิมที่ผมเคยเขียนเอาไว้
นี่ถือว่าเป็นขั้นลดทอนความร้อนแรงลงมาแล้วนะ

…ถ้าไม่เชื่อ ลองย้อนกลับไปอ่านดู ก็ได้ครับ

——————///——————



ขอขอบคุณ
พี่ไหม
(คุณพิศมัย เตียงพาณิชย์)
ฝ่ายประชาสัมพันธ์
บริษัท BMW Thailand จำกัด
ที่เอื้อเฟื้อรถทดลองขับ

********** บทความทดลองขับรถยนต์ในกลุ่มประเภทเดียวกัน ที่ควรอ่านประกอบไปด้วย **********

– ทดลองขับ BMW 320d (อ่านเพื่อการเปรียบเทียบ ในฐานะใช้เครื่องยนต์เดียวกัน)
http://www.caronline.net/ArticleDetail.aspx?ArticleID=189#head

– ทดลองขับ BMW X3 2.5i
http://www.caronline.net/ArticleDetail.aspx?ArticleID=65#head
http://topicstock.pantip.com/ratchada/topicstock/V3413096/V3413096.html

– ทดลองขับ Nissan MURANO V6 3.5
http://topicstock.pantip.com/ratchada/topicstock/2006/05/V4368316/V4368316.html

– ทดลองขับ LEXUS RX350
http://www.caronline.net/ArticleDetail.aspx?ArticleID=111#head

– ทดลองขับ Ssangyong Kyron
http://topicstock.pantip.com/ratchada/topicstock/2006/06/V4441371/V4441371.html



J!MMY
17 สิงหาคม 2008
11.21น. -13.44 น.

Facebook Comments