ทดลองขับ BMW X3 บีเอ็มฯที่ผมไม่ประทับใจที่สุดเท่าที่เคยเจอมา
เรื่องราวมันก็เริ่มต้นตั้งแต่การติดต่อขอข้อมูลของ ซีรีส์ 3 ใหม่ E90 ในวันที่ผมไม่ได้ไปร่วมงานเปิดตัวรอบสื่อมวลชนแล้วละครับ
พอคิดไปคิดมา ในที่สุด ผมก็เห็นควรว่า จำเป็นแล้วละที่เราควรจะเริ่มนำรถยนต์จากค่ายใบพัดสีฟ้า มาเริ่มรายงานผลการทดลองขับกันเสียที
เลยได้ติดต่อทางอีเมล์บคุณพี่จัมโบ้ 1 ใน 3 ทีมพีอาร์ของบีเอ็มดับเบิลยู ไทยแลนด์ ซึ่งได้ให้ความอนุเคราะห์มาอย่างดียิ่ง
โดยตลอด และต้องขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้ด้วยนะครับ
แต่ ด้วยเหตุที่ในครั้งแรกนั้น คุณพี่จัมโบ้ จัดส่งมอบรถให้ผมผิดรุ่นไป
นั่นคือ แทนที่จะเป็น 525 i SE E60 มาให้ พอถึงวันส่งมอบรถ ผมก็ได้รับกุญแจของ 525i ตัวธรรมดามาแทน
และที่น่าเขกกะโหลกตัวเองที่สุดนั่นคือ ขับมาแล้ว 2 วัน ถึงจะได้มารู้ชัดๆว่า รุ่นที่ขับอยู่ มันเป็นรุ่น Base!
คันละ 3 ล้านบาทปลายๆ!! หลังจากที่ตั้งข้อสังเกตตั้งแต่ตอนรับรถแล้วว่า ทำไมล้อที่ติดมากับรถมันแค่ 16 นิ้วเองฟะ?
แล้วหน้าตาของลายล้อเนี่ยน มัน "บ้านๆ" จังเลย
(รายละเอียดของบทาสนทนา"ฮากระจาย"ทางโทรศัพท์ในเช้าวันเสาร์กับคุณพี่จัมโบ้ จะนำมาเล่าในบทความทดลองขับซีรีส์ 5
ในคราวหน้าครับ..แต่อย่างไรก็ตาม อันเนื่องมาจากว่า ขณะกำลังเขียนบทความชิ้นนี้อยู่
ได้รับข่าวมาว่า พี่จัมโบ้ กำลังอยู่ในช่วงอุปสมบทอยู่ จึงขอร่วมอนุโมทนา มา ณ โอกาสนี้ด้วยครับ)
พอวันจันทร์ที่ 21 มีนาคมที่ผ่านมา ผมนำรถไปคืน พี่จัมโบ้เลยถามว่า เคยทดลอง X3 หรือยังครับ
ผมจำได้ว่า ผมเคยบอกไปว่าผมไม่ชอบรถรุ่นนี้มากที่สุดเท่าที่บีเอ็มฯเคยทำขายมาเลย
แต่ในอีกเสี้ยววินาที แว่บความคิดอันฉับพลันก็พลันแล่นผ่านเข้ามาในสมองผม ว่า
[b]"เอาละ ถึงแม้เราจะไม่ประทับใจรถคันนี้ แต่มันจะไม่ยุติธรรมถ้าเรายังไม่เคยลองขับ
แล้วไปออกปากด่าว่าฝรั่งมังค่าคนออกแบบ ฉะนั้น เราจึงไม่ควรด่วนไปตัดสินว่ารถมันไม่ดี
ในเมื่อเรายังไม่ได้ทดลองขับด้วยตัวเองเลย??"[/b]
ผมเลยบอกกับพี่จัมโบ้ว่า ยังไม่เคยลองขับ และทางพี่จัมโบ้ได้เสนอว่า "งั้นลองขับดูไหม พรุ่งนี้เลย!"
"ขอบพระคุณมากคร้าบบบบ"
ฟังดูเหมือนๆน่าอิจฉานะครับ
ตั้งแต่ 17-25 มีนาคมที่ผ่านมา จึงกลายเป็นช่วงเวลาที่ผมได้มีโอกาสเรียนรู้และสัมผัสความเป็นบีเอ็มดับเบิลยู
ยุคใหม่อย่างเต็มที่กันอีกครั้งหลังจากที่เคยสัมผัสไปแล้วเมื่อครั้งที่ได้มีโอกาสไปร่วมฝึกอบรมการขับขี่กับคอร์ส
Driving Trainer สั้นๆ กับ มร.เฮอร์เบิร์ต กรุนด์สไตรช์ ที่สนามบริดจ์สโตน เมื่อ 2 ปีก่อน
พูดง่ายๆคือ เอาบีเอ็มฯ มาขับ ติดกัน 2 คัน 2 รุ่นรวดนั่นละครับ
แต่อยากจะบอกว่า มันไม่ได้น่าอิจฉาเลยครับ กับการเอารถราคา 4 ล้านกว่าบาท มาจอดอยู่กับบ้านติดๆกันแบบนี้
ผมเองกินไม่ค่อยจะได้ (แต่ก็กินเยอะม้ากกก) นอนค่อยจะไม่หลับ (แต่เน้นสัปหงกหน้าคอมพิวเตอร์ที่บ้านเพียวๆ) เลยทีเดียว
รถแต่ละคันที่เอามาขับนี่ต้องรักต้องหวงยิ่งกว่าลูก จะจอดให้ไกลตาผู้คนก็เซี๊ยวเสียวว่า มันจะหายไหมว้า
มันจะมีคนจ้องเเล่นงานไหมว้า มันจะมีไอ้บ้าหน้าต่อยให้คว่ำคะมำหลักตัวไหนมากรีดรถหรือเปล่าว้า….
โอ้ย สารพัดจะห่วงแสนห่วง!~ แต่ทั้งคู่ก็มีสภาพอยู่รอดปลอดภัยกลับคืนถึงมือบีเอ็มดับเบิลยู ไทยแลนด์ได้
แค่นี้ผมก็ดีใจแล้วครับ
X3 นั้น ปรากฎโฉมครั้งแรกในฐานะรถต้นแบบที่ชื่อ SAV บนเวทีงาน NAIAS หรือ North AmericaInternational Auto Show
ที่คนไทยรู้จักกันดีในอีกชื่อว่า ดีทรอยต์ ออโตโชว์ เมื่อปี 2003 ที่ผ่านมา ก่อนที่บีเอ็มดับเบิลยู จะเผยโฉมเวอร์ชันจำหน่ายจริง ในงานแฟรงค์เฟิร์ตมอเตอร์โชว์
เดือนกันยายนปีเดียวกัน แต่กว่าจะออกสู่ตลาดจริง ลูกค้าต้องรอกันจนถึงไตรมาสแรก ปี 2004 ที่ผ่านมา และบีเอ็มดับเบิลยู ไทยแลนด์
เรียกได้ว่าเป็นเสือปืนไว เพราะเพิ่งนำเข้ามาเปิดตัวในบ้านเรา ช่วงปลายปี 2004 มานี้เอง
X3 จะเป็นรถรุ่นเดียวในตระกูลบีเอ็มดับเบิลยู ที่ไม่ได้ผลิตขึ้นจากโรงงานของตนเลยสักแห่งเดียว
แต่จะถูกผลิตขึ้นโดยบริษัท Magna Steyr Fahrzeugtechnik AG & Co. KG (MSF)
ใกล้เมือง Graz ใน ออสเตรีย
ถึงแม้รูปลักษณ์ภายนอก จะบอกอยู่ชัดเจนว่าเราควรจัดประเภทรถคันนี้อยู่ในกลุ่ม Urban SUV หรือรถยนต์อเนกประสงค์เพื่อสันทนาการ
ที่สร้างขึ้นบนพื้นตัวถังร่วมกับบีเอ็มดับเบิลยู ซีรีส์ 3 ก็ตาม แต่ บีเอ็มดับเบิลยู เรียกรถยนต์รุ่นนี้ให้จัดอยู่ในประเภทที่เรียกว่า SAV (Sport Activity Vehicle)
พร้อมกับบอกว่า X3 เป็นรถรุ่นที่ 2 ที่อยู่ในกลุ่มนี้ ก่อนหน้านี้ คือเจ้า X5 พี่ชายคันแรกในสายพันธ์ SAVของบีเอ็มดับเบิลยูนั่นเอง
แหงละครับเพ่ เพ่เล่นกำหนดชื่อขึ้นมาตามใจเพ่แบบเนี้ย
ถ้าเพ่ไม่เป็นรายแรกในรุ่นที่เพ่ตั้งขึ้นเองนี่ มิวนิคก็คงไม่ได้เป็นเมืองเมืองหนึ่งในเยอรมันนั่นแหละ!!
(ฮา)
มิติตัวถังยาว 4,365 มิลลิเมตร กว้าง มิลลิเมตร สูง มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,795 มิลลิเมตร ของ X3 นั้น
มีเส้นสายที่หลายคนบอกว่า ไม่สวย ซึ่งพอจะเข้าใจได้ว่า อาจเกิดจากความไม่ลงตัวของแนวเส้นการออกแบบชุดไฟหน้า
กับกระจังหน้าแบบไตคู่ อันเป็นเอกลักษณ์ของบีเอ็มดับเบิลยูเขา รวมทั้งการออกแบบชุดไฟท้าย ที่มาในแนวแปลก
คริส แบงเกิล นักออกแบบมือฉมังระดับโลกของบีเอ็มดับเบิลยู เคยเล่าไว้ในการบรรยายพิเศษ สำหรับนักศึกษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ซึ่งผมได้มีโอกาสเข้าร่วมฟังด้วยเมื่อช่วงต้นปี 2003 ว่า งานออกแบบของบีเอ็มฯ ในตอนนี้ แบ่งออกเป็น 2 ฝากฝั่งอย่างชัดเจน
นั่นคือ ปลายสุดฝากหนึ่ง เน้นภาพลักษณ์ที่โฉบเฉี่ยว เน้นลวดลายบนตัวถังในลักษณะของโครงเหล็กที่บิดพริ้ว เฉกเช่นงานประติมากรรม
นั่นคือ รถสปอร์ตเปิดประทุนรุ่น Z4
ขณะที่ปลายอีกฝากหนึ่ง จะเน้นในด้าน Dynamic รวมทั้งเส้นสายที่แน่น บึกบึน ดูมีพละกำลัง ปลายด้านนี้ รถหรู ซีรีส์ 7
ยึดหัวหาดไว้อยู่แล้ว
ดังนั้น รถรุ่นต่างๆ จึงถูกเติมลงไปในช่วงระยะห่างของรถทั้งสองรุ่นข้างบน โดยซีรีส์ 6 จะโน้มเอียงไปทางซีรีส์ 7
ซีรีส์ 5 จะอยู่กึ่งกลางพอดีของภาพรวม ขณะที่ ซีรีส์ 1 จะโน้มเอียงไปทาง Z4 และมีซีรีส์ 3 รุ่นใหม่ E90 แทรกกตัวอยู่ตรงกลาง
ระหว่าง ซีรีส์ 1 และ ซีรีส์ 5
นั่นหมายความว่า X3 จะมีแนวทางเส้นสายที่แmรกกกลางระหว่าง ซีรีส์ 1 และซีรีส์ 3 ใหม่
งงไหมครับ?
ถ้า งง แผนผังมันจะเป็นแบบนี้…
<-Z4–1 Serise—X3—–3 Serise E90 —— 5 Serise————– 6 Serise—7 Serise ->
ทีนี้พอจะนึกออกกันแล้วใช่ไหมครับ ว่า หนึ่งในเหตุผลที่หลายคนถึงรู้สึกว่า X3 ไม่สวย อยู่ที่ตรงไหน
แต่ด้วยความสามารถอันน้อยนิดของผม ก็คงพอจะหาความสวยบนลายเส้นของรถรุ่นนี้มาให้ได้ชมกันอย่างที่เห็นนี่ละครับ
ถึงแม้จะมีรูปทรงที่ไม่สวยงามนัก และเกิดมาเป็น SUV ที่สร้างขึ้นบนพื้นตัวถังของซีรีส์ 3
(เขาจะเรียกว่า SAV แต่ผมจะเรียกมันว่า SUV)
แต่พอขับเข้าจริงๆแล้ว X3 เป็นเอสยูวีที่มีความคล่องตัวสำหรับการหลบหลีกสภาพการจราจรในเมืองได้ดีทีเดียว
ห้องโดยสารของ X3 นั้น มีหลายสิ่งที่ผมชื่นชอบ และอีกหลายสิ่งที่ผมไม่ประทับใจเอาเสียเลย
เริ่มกันที่ประเด็นซึ่งผมพูดอยู่เสมอเมื่อพูดถึงรถรุ่นนี้ นั่นคือตำแหน่งที่นั่งคนขับ
ถึงแม้จะยากต่อการหาความแตกต่าง แต่ลองดูดีๆสิครับ แป้นคันเร่งและแป้นเบรก ถูกติดตั้งเยื้องไปทางขวา
ขณะที่พวงมาลัย และชุดมาตรวัด ติดตั้งอยู่ในตำแหน่งอันเหมาะสมของมันแล้ว
ภาพที่ออกมาเลยดูเหมือนว่า แป้นคันเร่ง+เบรก เยื้องขวา พวงมาลัยและชุดมาตรวัด เยื้องซ้าย
เหตุผลที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากมีการออกแบบ ชุดหัวหมูเกียร์ที่มีขนาดใหญ่โต เพราะต้องมีระบบกระจายแรงบิด
สำหรับระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ ที่เรียกโดยบีเอ็มดับเบิลยูว่า X Drive มาติดตั้งส่งผลให้ต้องทำอุโมงค์ขนาดใหญ่โต
จนกินพื้นที่เข้ามาถึงที่วางขาของทั้งคนนั่งและคนขับ
บางคนอาจบอกว่า ไม่เห็นเป็นไรนี่นา แต่พอขับเข้าจริงๆแล้ว การที่ขาซ้ายขยับไม่ได้เลยนั้น
ทำให้ขาซ้ายของผมค่อนข้างเมื่อย และถ้าใช้รถไปนานๆ คาดว่าจะส่งผลให้เกิดอาการที่บั้นเอวฝั่งซ้ายของผม
ไม่มากก็น้อย เนื่องจาก ขณะขับขี่จำเป็นต้องเอี้ยวตัวเล็กๆ ซึ่งถ้าไม่สังเกต ก็อาจไม่พบ
และพอจะมีความเป็นไปได้อยู่เหมือนกัน ที่ขาซ้ายของคนขับอาจจะถูกอัดกระแทกติดอยู่กับแผงหน้าปัด หากเกิดอุบัติเหตุ
ชุดมาตรวัด ออกแบบมาให้อ่านได้ง่ายดาย ไม่ยุ่งยากซับซ้อน นี่คือข้อดีที่รถบีเอ็มดับเบิลยูทุกคันมีให้
แต่ใน X3 นี้สังเกตให้ดี เข็มมาตรวัด ยังถูกออกแบบใหม่ ให้มีแนวเรียวเเล็ก จนเป็น"เข็ม"จริงๆ
มีสัญญาณเตือนต่างๆ ครบถ้วน แม้กระะทั่งสัญญาณเตือนความดันลมยาง สัญญาณเตือนระบบขับเคลื่อนสี่ล้อ ฯลฯ
ชุดเครื่องเสียงที่ติดตั้งมาให้นั้น เป็นแค่แบบ Bussiness CD พร้อมเครื่องเล่นซีดี แผ่นเดียว
คุณภาพเสียงด้อยกว่าชุดเครื่องเสียงที่ผู้ผลิตชาวญี่ปุ่นติดตั้งให้กับรถยนต์ของตนหลายๆรุ่นเลยทีเดียว
การจะเปลี่ยนชุดเครื่องเสียงใหม่ คงต้องมีการดัดแปลงกันพอสมควร เนืองจาก แผงวิทยุ ถูกติดตั้งในลักษณะ
ที่ไม่เอื้ออำนวยนักต่อการเปลี่ยนแปลงใดๆ
เครื่องปรับอากาศเป็นแบบออโต แยกฝั่งไม่ได้ ใต้ลงมาเป็นสวิชต์ต่างๆ
ทั้งระบบควบคุมเสถียรภาพ DSC (Dynamic Stability Control)
ที่จะทำงานโดยเซ็นเซอร์จะจับอาการในขณะที่ตัวรถเริ่มเสียการทรงตัว
จึงประสานการทำงานกับเอบีเอส และระบบลิ้นปีกผีเสื้อไฟฟ้า ให้ตัดการจ่ายน้ำมัน
และกระจายแรงเบรกสู่ล้อทั้ง 4 ตามความจำเป็นที่แต่ละล้อต้องการ
ปุ่มต่อมาเป็นปุ่มติดเครื่องยนต์บนทางลาดชัน
ต่อมาเป็นปุ่มสัญญาณเตือนกะระยะขณะถอยหลัง Parktronic
ซึ่งเราสามารถสั่งปิดการทำงานได้เอง เมื่อไม่ต้องการใช้งาน
และปิดท้ายด้วยปุ่มเช็คความดันลมยาง
พวงมาลัยมีปุ่มควบคุมชุดเครื่องเสียงแยกมาทางฝั่งซ้าย
ส่วนชุดควบคุมระบบควบคุมความเร็วคงที่ ครุยส์คอนโทรล แยกไปอยู่ฝั่งขวา
ที่วางแก้วน้ำมีมาให้เพียงตำแหน่งเดียวบนคอนโซล
ใส่ขวดน้ำดื่มราคา 7 บาทได้ ตัวล็อกยังไม่แน่นหนาพอที่จะตรึงขวดหรือแก้วขนาดต่างๆให้นิ่ง
แต่ก็ถือว่าพอรับได้
จุดที่ผมต้องขอชมคือ การออกแบบตำแหน่งการวางแขนบนแผงประตูด้านข้าง ที่สูงพอดีอย่างที่ผมต้องการ
ถึงแม้จะแลดูเรียบๆไปหน่อยก็ตามที
อีกสิ่งหนึ่งที่ผมชื่นชอบใน X3 คือ
การติดตั้งอุปกรณ์ First Aid Kit ไว้ใต้เบาะนั่งผู้โดยสารตอนหน้า
ซึ่งข้าวของแต่ละอย่างที่ให้มานั้น ผมคิดว่า เพียงพอที่จะให้คุณหัดทำตัวเป็นสูตินารีแพทย์
ทำคลอดเด็กน้อย กลางสภาพการจราจรติดขัดหน้าสยามสแควร์ได้เลยชัวร์ๆ!
ให้มาครบแม้กระทั่งกรรไกรตัดผ้าก๊อซ!
เสียแค่ว่า คุณควรอ่านภาษาอังกฤษ และภาษาเยอรมันให้ออกเสียด้วยจะดีมากๆ
เพราะทั้งหมด มันเขียนด้วยภาษาเยอรมันเป็นหลัก
และต้องคลำหาภาษาอังกฤษเล็กน้อยกว่าจะเจอ
ดังนั้น ตอนนี้ เมื่อคุณซื้อรถบีเอ็มฯ แล้ว
คุณไม่เพียงแต่จะได้รถสมรรถนะดีมา 1 คัน
แต่คุณจะยังได้ "[b]ร้านขายยาเคลื่อนที่ ตราฝาหรั่งอั้งม๊อ ชูไขควง[/b]"
ฟรีทันทีอีก 1 ชุด
และเมื่อคุณโทรมาที่ บีเอ็มดับเบิลยู ไทยแลนด์
ภายใน 10 นาทีนี้ เรายังจะเสนอ
"เปลทำคลอดอเนกประสงค์" เอาไว้ใช้งานร่วมกับเบาะหลังพับได้
ไว้ใช้เป็น [b]ห้องทำคลอดเคลื่อนที่…..[/b] (ฮา)
แต่สิ่งที่ผมไม่ประทับใจอย่างแรงคือ
ตลอดเวลาที่นำรถมาทดลองขับ
จะสังเกตได้ยินเสียง แกร็บๆๆ บริเวณ ขอบแนวประตูตามจุดต่างๆ
โดยเฉพาะตอนขึ้นลูกระนาด หรือเลี้ยวรถแล้วเจอลูกระนาด
เเสียงจะดังสนั่นกร๊อบแกร๊บลั่นทุ่งเลยทีเดียว!!
หลังจากที่ผมบ่นับเจ้าโอ เพื่อนผมผู้เป็นฝ่ายการตลาดของ มินิ
และครูฝึก Driving Trainer ของ บีเอ็มดับเบิลยูด้วยนั้น
เช้าวันส่งคืนรถ ผมตัดสินใจแจ้งอาการนี่ให้พี่จัมโบ้ทราบ
พอขึ้นมานั่งปุ๊บ พี่จัมโบ้คาดเดาไว้แล้วว่าน่าจะเป็นอาการอะไร
พอออกรถ และได้ยินเสียงปุ๊บ…"อ๋อ!!! เสียงยางขอบประตูครับ
อันนี้แก้ได้ด้วยการทาซิลิโคนช่วย เป็นอาการที่พบได้ในรถรุ่นนี้
แต่ไม่ทุกคัน แต่ว่าคันที่ขับอยู่นี้เป็นมากที่สุดที่ผมเคยเจอ"
สรุปก็คือ เป็นเสียงจากยางขอบประตู และเป็นปัญหาเฉพาะคัน!!
ไม่ใช่ทุกคันในรุ่นที่ต้องเป็น
อย่างไรก็ตาม
อุปกรณ์มาตรฐาน ทั้งในด้านความสะดวกสบาย และความปลอดภัย
บีเอ็มดับเบิลยูก็ติดตั้ง ลงใน X3 2.5 ลิตร เวอร์ชันไทย คันนี้ อย่างครบถ้วน
ตั้งแต่พวงมาลัยหุ้มหนัง พร้อมปุ่มควบคุมเครื่องเสียงและครุยส์คอนโทรล
หรือที่เรียกว่ามัลติฟังก์ชัน ระบบปรับอากาศอัตโนมัติ ที่แยกฝั่งซ้าย-ขวาไม่ได้อย่างที่ 525i มีให้
รวมทั้งออนบอร์ด คอมพิวเตอร์ ถุงลมนิรภัยคู่หน้าและด้านข้าง
พร้อมม่านลมนิรภัยสำหรับผู้โดยสารทั้งตอนหน้าและหลัง
กระจกมองหลังตัดแสงในเวลากลางคืน เบาะนั่งปรับด้วยไฟฟ้า พร้อมหน่วยความจำ
และกุญแจอิมโมบิไลเซอร์
เรามาดูเรื่องสมรรถนะกันบ้าง
เครื่องยนต์ในตระกูล X3 นั้น ในช่วงเปิดตัวมี 3 ทางเลือก แต่จนถึงปัจจุบัน มีให้เลือกรวม 4 ขนาด ดังนี้
– 6 สูบเรียง DOHC 24 วาล์ว 2,494 ซีซี Bi-VANOS 192 แรงม้า (BHP) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 24.96 กก.-ม.ที่ 3,500 รอบ/นาที
– 6 สูบเรียง DOHC 24 วาล์ว 2,979 ซีซี Bi-VANOS 231 แรงม้า ที่ 5,900 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 30.5 กก.-ม.ที่ 3,500 รอบ/นาที
ทั้งคู่ใช้ระบบควบคุมการทำงานของเครื่องยนต์อีเล็กโทรนิกส์ Siemens MS45 (แน่ใจครับ ว่าอ่านไม่ผิดหรอก ไม่ใช่รุ่นของมือถือซีเมนส์แต่อย่างใด)
– ส่วนรุ่นดีเซล เป็นแบบ DOHC 24 วาล์ว 2,993 ซีซี พร้อมระบบคอมมอนเรล และเทอร์โบ 204 แรงม้า (BHP) ที่ 4,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด
41.78 กก.-ม.ที่ 1,500 รอบ/นาที ทั้ง 3 เครื่องยนต์ ติดตั้งเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะเป็นอุปกรณ์มาตรฐาน หรือจะเลือกเปลี่ยนเป็นเกียร์อัตโนมัติ 5 จังหวะก็ได้
แต่เครื่องยนต์ที่ประจำการอยู่ใน X3 เวอร์ชันไทย เป็นรหัส M54 B25 2,494 ซีซี 192 แรงม้า ที่ประจำการอยู่แล้วใต้ฝากระโปรงหน้าของ 525i เวอร์ชันไทยนั่นเอง
ซึ่งก็มีระบบ Bi-VANOS หรือ Double VANOS ติดตั้งมาให้เช่นกัน ข้อดีของระบบแปรผันวาล์วของบีเอ็มดับเบิลยู นอกจากจะช่วยแปรผันการทำงานของวาล์วไอดี
ตามรอบการทำงานของเครื่องยนต์แล้ว บีเอ็มดับเบิลยูยังระบุว่า เมื่อติดเครื่องยนต์ตอนเช้า การทำงานของระบบ Bi-VANOS
ยังช่วยปรับส่วนผสมของอากาศให้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น และมีส่วนช่วยเพิ่มอุณหภูมิการทำงานของระบบคาตาไลติก คอนเวอร์เตอร์
ให้ร้อนขึ้นจนถึงอุณหภูมิทำงานปกติอย่างรวดเร็ว เพื่อช่วยให้การลดมลภาวะจากการเผาไหม้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ข้อดีของรถยุโรปที่ผมลองขับมาก็คือ ข้อมูลอะไรก็ตามในตัวเลขทางเทคนิกที่ระบุมานั้น
จะตรงกันหรือใกล้เคียงกับที่ได้ทดลองจริงอยู่มากๆ
และบีเอ็มดับเบิลยู X3 นี่ก็เช่นเดียวกัน
เราทดลองหาอัตราเร่งกันโดยมีผมและเพื่อนผู้โดยสารอีก 1 คน รวมเป็น 2 คน น้ำหนักประมาณ 150 กิโลกรัม
อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. มีดังนี้ครับ
ครั้งที่
1 10.66 วินาที
2. 10.95 วินาที
3. 10.77 วินาที
4. 10.95 วินาที
รวมแล้วเฉลี่ย 10.83 วินาที
ซึ่งเมื่อเทียบกับตัวเลขที่ทางโรงงานเคลมไว้ในการทดสอบ ระดับ 8.9 วินาที
ผมถือว่าอยู่ในระดับยอมรับได้ เนื่องจาก ตัวเลข 8.9 วินาทีนั้น ทำการทดสอบที่เยอรมัน
ซึ่งมีสภาพอากาศเย็นกว่าบ้านเรา และใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเกรดทดสอบในแล็บซึ่งมีคุณภาพสูงกว่า
รวมทั้งมีการทดสอบแบบหาค่าเฉลี่ยกันหนักหน่วงกว่า เครื่องไม้เครื่องมือพร้อมกว่า ฯลฯ
อัตราเร่ง 80-120 กม./ชม. ซึ่งเป็นช่วงที่ผมใช้วัดประสิทธิภาพการเร่งแซง
เริ่มกดคันเร่งจนสุด เมื่อเข็มความเร็วชี้ที่ระดับ 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง และเข็มวัดรอบชี้ที่ 1,750 รอบ/นาที
ครั้งที่
1 8.18 วินาที
2. 8.17 วินาที
3. 8.17 วินาที
4. 8.17 วินาที
เฉลี่ยแล้ว 8.17 วินาที
ความเร็วสูงสุดในแต่ละเกียร์ พร้อมรอบเครื่องยนต์ที่ระบบ ECU ตัดการทำงาน
อ่านตัวเลขจากมาตรวัด
เกียร์ 1 50 กม./ชม. ณ 6,000 รอบ/นาที
เกียร์ 2 90 กม./ชม. ณ 6,500 รอบ/นาที
เกียร์ 3 130 กม./ชม. ณ 6,500 รอบ/นาที
ความเร็วสูงสุดกลับอยู่ที่เพียงเกียร์ 4
210 กม./ชม.ที่ 6,500 รอบ/นาที ไม่มีการเปลี่ยนเป็นเกียร์ 5 ให้แต่อย่างใด
ขณะที่ทางโรงงานเคลมตัวเลขไว้ที่ 208 กม./ชม. พอกกันกับที่ทางโรงงานเคลมตัวเลขมาไว้พอดีๆ
ผมตั้งข้อสังเกตว่า เกียร์รุ่นนี้ น่าจะเซ็ตอัตราทดเฟืองเกียร์ 1 และ 2 มาใกล้เคียงกันกับ 525 i Base
หรือไม่ก็ มีการโปรแกรมการทำงานของกล่องสมองกลเกียร์ และกล่อง ECU คล้ายคลึงกันกับ
525 i Base เกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ ที่ผมได้ทดลองไปก่อนหน้านี้
ถึงแม้อัตราเร่งจะดูดีใช้การได้ แต่ตัวรถที่มีน้ำหนักตัวเปล่า 1,840 กิโลกรัม (ไม่รวมของเหลวอีกประมาณ 300 กิโลกรัม)
กลับไม่มีอาการดึงมากนัก เกียร์อัตโนมัติแบบ 5 จังหวะ พร้อมกับโหมดบวกลบให้ผู้ขับเลือกเปลี่ยนเกียร์ได้เอง Steptronic
เปลี่ยนเกียร์อย่างนุ่มนวล แต่ยังพอจะจับความรู้สึกได้ว่ามีการเปลี่ยนเกียร์เกิดขึ้น ตามปกติ โดยไม่พบอาการกระตุกแบบเด่นชัด
อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง คราวนี้จะะเป็นครั้งแรกที่ผมไม่ทดสอบให้
เนื่องจากเป็นเครื่องยนต์เดียวกับ 525i Base ที่ผมได้ทดลองไปก่อนหน้านี้ (แต่ยังไม่รายงานตอนนี้)
โดย 525i พร้อมระบบขับเคลื่อนล้อหลัง และเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ
ทำตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองที่ความเร็วไม่เกิน 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง
บนเเส้นทางไปกกลับ มอเตอร์เวย์พระราม 9 – สนามพีระอินเตอร์เนชันแนลเซอร์กิต
ไว้ที่ระดับ 12.444 กิโลเมตร/ลิตร
ดังนั้น เมื่อ X3 มีน้ำหนักตัวเบากว่าเล็กน้อย และติดตั้งระบบขับเคลื่อนสี่ล้อเข้าไป
อัตราการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง จึง"เดา"ได้ว่า น่าจะอยู่ในระดับ 10 กลางๆ -11ปลายๆ กิโลเมตร/ลิตร
บนสถานการณ์การทดลองเดียวกันได้
จุดเด่นอันถือเป็นจุดขายสำคัญของ X3 อยู่ที่ระบบขับเคลื่อนสี่ล้อ "ตลอดเวลา" ที่บีเอ็มดับเบิลยู เรียกว่า X Drive
อธิบายให้ง่ายก็คือในระบบขับเคลื่อนสี่ล้อ กำลังเครื่องยนต์จะถูกส่งไปยังล้อทั้งสี่เท่าๆกัน
ข้อดีคือ แรงบิดที่ส่งไปนั้นเท่าเทียมัน ทำให้เดินทางบนพื้นถนนทุระกันดานได้ดี
แต่ข้อเสียคือบางครั้งไม่อาจช่วยแก้สถานการณ์ต่างๆให้ผู้ขับขี่ได้ดีนัก
ขณะที่ระบบ X Drive จะส่งกำลังขับเคลื่อนไปยังล้อทั้ง 4 ตลอดเวลาเช่นกัน แต่ว่า จุดเด่นสำคัญที่แตกต่างจากชาวบ้านเขา
อยู่ที่ ชุดคลัชต์แบบมัลติเพลท ควบคุมการทำงานด้วยอีเล็กโทรนิกส์
มีการควบคุมด้วยชุดเกียร์ และชุดคลัชต์ อัตราส่วนของแรงบิดที่ส่งไปนั้น
จะเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับสภาพการณ์ขับขี่ และสถานการณ์ต่างๆ
องค์ประกอบสำคัญของระบบ X Drive อยู่ที่ ชุดคลัชต์แบบมัลติเพลท และท่อนเพลาเกียร์ที่เชื่อมต่อการทำงานของชุดเกียร์และคลัตช์สู่ล้อคู่หลัง
ชุดคลัชต์แบบมัลติเพลทจะส่งแรงบิดไปยังล้อคู่หน้าและหลังตามความจำเป็น อย่างต่อเนื่อง ในอัตราส่วนที่แปรผันกันอยู่ตลอดเวลา
ถ้าล้อหน้าต้องการกำลังเพิ่มขึ้นในขณะออกตัวบนทางลื่น เซอร์โวมอเตอร์อีเล็กโทรนิกส์จะส่งแรงดันไปยังชุดมัลติเพลทคลัชต์
การจับตัวของคลัชต์ จะใช้กลไกพิเศษ ยิ่งความดันสูงเท่าไหร่ กำลังที่จ่ายผ่านเพลาขับแบบใช้โซ่จะมากขึ้นเท่านั้น
เช่น ในการขับขี่ทางเรียบ ชุดคลัชต์มัลติเพลทในระบบ XDrive จะเริ่มทำงานเมื่อพ้นความเร็วระดับ 20 กม./ชม.ขึ้นไป
และจะคอยส่งถ่ายแรงบิดไปยังล้อคู่หน้าและหลังในอัตราส่วนที่แปรผันกันตลอดเวลา ถ้าล้อคู่หลังต้องการแรงบิดเพิ่ม
ชุดมัลติเพลทคลัชต์ก็สามารถปล่อยออกอย่างนุ่มนวลและต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการส่งแรงบิดไปยังล้อหลังตามปกติ
จนกระทั่งเมื่อถึงความเร็ว 180 กม./ชม. ขึ้นไป ระบบจะล็อกให้ส่งแรงบิดยิงตรงเข้าสู่ล้อคู่หลังอย่างเดียวเท่านั้น
และในระหว่างเข้าโค้ง หรือปีนป่ายต่างๆ X Drive จะทำงานร่วมกับ ระบบควบคุมเสถียรภาพที่ติดตั้งมาให้
เป็นแบบ DSC (Dynamic Stabilitty Control) คือรวมการทำงาน ของทั้งระบบป้องันล้อล็อก ABS
ระบบกระจายแรงเบรกขณะเลี้ยว CBC (Corner Break Control) ระบบควบคุมแรงเบรก DBC
(Dynamic Break Control) ทำส่งแรงดันน้ำมันเบรกเพิ่มขึ้นทันทีเมื่อมีการเหยียบเบรกฉุกเฉิน
ระบบควบคุมการลงเนินอัตโนมัติด้วยการรักษาความเร็วคงที่ให้สม่ำเสมอ HDC (Hill Descent Control)
ทำงานต่อเมื่อใช้ความเร็วไม่เกิน 35กม./ชม.โดยเมื่อกดปุ่มแล้ว ระบบจะสั่งลดความเร็วเหลือเพียง 8 กม./ชม.
เพื่อให้ขับลงเขาได้สะดวกขึ้น รวมทั้งระบบ ASC-X, และระบบควบคุมการหมุนของล้อคู่หลังกรณีหมุนฟรี
เพราะลื่นไถล ADB-X เข้าไว้ด้วยกัน
และแน่นอนว่า ระบบเหล่านี้นี้ สามารถสั่งปิดการทำงานได้ สำหรับผู้ขับขี่ที่ต้องการเล่นสนุกกับรถของตัวเอง
แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของประสบการณ์และความปลอดภัยที่เพียงพอของสถานการณ์ขณะขับขี่ด้วย
ถ้าอ่านแล้วยังไม่เข้าใจ ก็เข้าไปนั่งดาวน์โหลดข้อมูลอะนิเมชันกราฟฟิคสวยๆ เข้าใจได้ง่าย
พร้อมคำอธิบายภาคภาษาไทยที่ บางเรื่องกระจ่างแจ้งบางเรื่องพอจะเข้าใจได้บ้าง ไม่เข้าใจบ้าง
ที่ http://www.bmw.co.th กันตามอัธยาศัยครับ
ระบบกันสะเทือน หน้า แบบสตรัต ซึ่งมีรายละเอียดเป็นภาษาอังกฤษแบบไม่ต้องแปลกันเลยว่า
Thrust-rod double-joint spring strut axle, small positive steering roll radius;
compensation of transverse forces, anti-dive
ส่วนด้านหลังเป็นแบบมัลติลิงค์ Central arm axle with longi arms + double track cntrl arms,
anti-squat and anti-dive
ถูกเซ็ตมาให้เอาใจนักขับ ภายใต้สภาพการขับขี่บนรูปแบบถนนที่แตกต่างกัน
ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ เมื่อแล่นในเมือง X3 จะตอบสนองด้วยอาการกระด้างกว่าเอสยูวีทั่วๆไปอย่างชัดเจน
พวงมาลัยเป็นแบบแร็คแอนด์พีเนียน ปรับความหนืดได้ตามความเร็วรอบเครื่องยนต์
รัศมีวงเลี้ยว ค่อนข้างกว้างนิดนึง แต่เมื่อมาดูสเป็กที่ทางโรงงานเคลมไว้ว่า ได้ 11.7 เมตร ก็จึงไม่แปลกใจ
ดิสก์เบรกทั้ง 4 ล้อ
คู่หน้าเป็นแบบ 2 Piston Swing Calipper พร้อมจานเบรกขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 325 มิลลิเมตร
คู่หลังเป็นแบบ 1 Piston Swing Calipper พร้อมจานเบรกขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 320 มิลลิเมตร
ให้ประสิทธิภาพในการเบรกที่มั่นใจได้ดี ไม่ว่าจะเป็นบนถนนแห้งหรือถนนลื่น แต่ถ้าจะพยายามหยุดรถช้าๆ
เพื่อเข้าจอดสี่แยกไฟแดงอย่างนิ่มนวลนั้น เป็นเรื่องที่ต้องฝึกความเคยชินกับระบบเบรกสักพัก เชื่อว่าน่าจะพอทำได้ไม่ยาก
ด้านทัศนวิสัย เวลาขับรถคันนี้ เสาหลังคา D-Pillar ด้านหลังมีแนวบดบังระยะสายตาอยู่ ดังนั้นการปรับกระจกมองหลัง
ให้เหมาะสม ก็จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยได้อีกทางครับ ตอนถอยหลังเข้าจอด ยังพอมีความังวลอยู่บ้าง ถึงแม้จะมีเซ็นเซอร์กะระยะ
ขณะเข้าจอดมาให้แล้วก็ตาม
บทสรุป
BMW รุ่นที่ผมไม่ประทับใจที่สุดตั้งแต่เจอมา
พูดกันตามตรง อย่างตรงไปตรงมาที่สุด
สมรรถนะของ X3 นั้น
ถ้าจะถามถึงคุณสมบัติทางความรู้สึก ที่เรียกกันว่า "ขับสนุก"
ว่ามีอยู่ใน X3 มากน้อยแค่ไหน
ถ้ามองจาการขับขี่ภาพรวม แม้จะด้อยกว่าซีรีส์ 3 ซึ่งจะว่าไปแล้วก็ถือเป็นรถยนต์
คนละจำพวกเลย และผมไม่ควรนำมาเปรียบเทียบเท่าใดนัก
แต่เมื่อมองในภาพรวมแล้ว ผมถือว่า พอจะรับได้
ถึงแม้จะเป็นรถคันหนึ่งที่ผมต้องใช้สมาธิในการควบคุมมากกว่ารถยนต์ประเภทและระดับเดียวกันทั่วๆไป
ที่เคยผ่านมือมาบ้างเล็กน้อยก็ตาม แต่นั่นยังไม่ใช่ปัญหา
เพราะปัญหาสำคัญของ X3 ในมุมมองของผม อยู่ที่ปัญหาเรื่องการออกแบบและวัสดุที่ใช้ในการประกอบ
เมื่อเทียบกับค่าตัวที่ลูกค้าชาวไทยต้องจ่ายไป
ปัญหาเรื่องรูปลักษณ์ภายนอกนั้น แก้ไขได้ไม่ยาก
ด้วยการปรับเปลี่ยนไมเนอร์เชนจ์ชิ้นส่วนตัวถังด้านหน้าทั้งหมด
รวมทั้งดีไซน์ของไฟท้าย และแผ่นเหล็ก D-Pillar สำหรับกระจกโอเปราคู่หลัง
เพียงเท่านี้ก็น่าจะช่วยให้รูปลักษณ์เป็นที่ต้องตาต้องใจมากขึ้นได้ไม่ยาก
แต่สิ่งที่ผมรับไม่ได้กับ X3 คันนี้คือ ตำแหน่งคนขับ ที่สร้างความเมื่อยล้าให้กับขาซ้ายของผมเอาเรื่องเลยทีเดียว
ขนาดของชุดเกียร์อัตโนมัตินั้น มีขนาดใหญ่มาก จนกระทั่งจำเป็นต้องออกแบบอุโมงค์หัวหมูเกียร์ ให้กินพื้นที่ถึง
พื้นที่วางขาของผู้ขับขี่และผู้โดยสารตอนหน้าเอาเรื่องเลยทีเดียว
และที่สำคัญ
ผมมองว่ารถคันนี้ ควรมีป้ายราคาในประเทศไทยอยู่แค่ 1.9-2.3 ล้านบาท นั่นคือระดับที่ผมพอจะยอมรับได้
แต่ในความเป็นจริง X3 คันนี้ ติดป้ายราคาไว้สูงลิบลิ่วถึง 4.6 ล้านบาท อันเป็นผลส่วนหนึ่งมาจากภาษีต่างๆที่เกี่ยวข้อง
ด้วยความที่ป้ายราคาสูงลิบลิ่วขนาดนี้ ถ้าคุณเพิ่มเงินอีกหลักแสนจนถึง 1 ล้านบาท ก็พอที่คุณจะข้ามไปเล่นรถที่ดูดีกว่าเอามากๆ
อย่าง แลนด์โรเวอร์ ดิสคัฟเวอรี 3 ได้ทันที
ส่วนหนึ่งที่ผมคิดเช่นนี้ เป็นเพราะวัสดุในการประกอบนั้น ยังไม่สมกับค่าตัวของรถ 4.6 ล้านบาทที่คุณควรจะจ่ายไปเลย
เสียงปิดประตูรถนั้น ผมว่า รถญี่ปุ่นระดับคอมแพกต์บางรุ่น ยังปรับแต่งเสียงปิดประตูออกมาให้ฟังดุแล้วแน่นหนากว่า X3
นี่ด้วยซ้ำ
อีกทั้งเสียงยางขอบประตูในคันที่ผมทดลองขับนั้น ดังลั่นอยู่ในระดับที่ก่อความรำคาญให้กับผู้ขับขี่ จนต้องยอมเปิดเครื่องเสียง
ที่มีคุณภาพเสียงแบบพอทนฟังได้ ฟังแก้ขัดไปให้พ้นๆหูแค่นั้น แต่เชื่อว่า ถ้าทางบีเอ็มฯไทยแลนด์จะเคลมเปลี่ยนชุดยางขอบประตู
ให้ใหม่ทั้งหมด ก็น่าจะเป็นเรื่องอุ่นใจขึ้นมาได้ระดับหนึ่ง
จะเป็นไปได้ไหม ถ้า X3 รุ่นปรับโฉมไมเนอร์เชนจ์ จะย้ายกลับมาประกอบที่โรงงานใดโรงงานหนึ่งของบีเอ็มดับเบิลยูเอง?
อย่างน้อย ถึงแม้โรงงานที่สปาร์ตันเบิร์ก ในสหรัฐอเมริกา จะถือได้ว่าประกอบรถออกมาได้ไม่ถึงขั้นน่าประทับใจนัก
แต่ผมว่ายังดีกว่าให้โรงงานออสเตรียประกอบก็แล้วกัน
———————————————-
ก่อนที่ผมจะลาจาก X3 ในเช้าวันศุกร์นั้น ผมถามกับพี่จัมโบ้ตรงๆว่า ถ้าผมจะเขียนแบบตรงไปตรงมา แบบ ดีว่าตามดี ไม่ดีว่าตามไม่ดีเลย
จะขัดข้องไหม
พี่จัมโบ้บอกกับผมว่า "เอาเลยครับ ตามสบาย ที่นี่ไม่ซีเรียสในเรื่องนี้ เพียงแต่ว่าขอให้เป็นข้อมูลที่เกิดขึ้นเป็นความจริงที่เกิดขึ้นจริงก็พอ"
ขอบคุณมากครับพี่ ที่ทำให้ผมยังคงมั่นใจที่จะยืนยันได้อย่างเต็มปากว่า "นี่คือบีเอ็มดับเบิลยูรุ่นที่ผมไม่ประะทับใจที่สุดเท่าที่ผมเคยลองมา"
แต่อย่างน้อย ในเวลานี้ ผมก็เชื่อว่า ซีรีส์ 3 E90 ที่เพิ่งเปิดตัวไป น่าจะมีอะไรดีๆ มากกว่า E46 ที่เพิ่งลาโรง ไป
และผมเองก็กำลังรอจะสัมผัส E90 อย่างใจจดจ่อยิ่ง…..