Categories: รถใหม่

ทดลองขับ BMW 320d E90 : 244 กม./ชม. กับ 16.44 กม./ลิตร !!! …By : J!MMY

three



“ในที่สุด!!!……..Eureka!!!”

เสียงของ น้องแพน V.Putin มนุษย์หมีหิมะร่างโต หนัก 145 กิโลกรัม
ร้องซะดังลั่นรถ ในขณะที่เข็มความเร็ว กำลังค่อยๆกวาดลดลงอย่างช้าๆ กำลังดี
จากระดับ 244 กิโลเมตร/ชั่วโมง

บ่งบอกถึงความตื่นเต้นสุดระทึกระคนปนอึ้ง ของเราทั้ง 4 คน ที่ร่วมชะตากรรม
อยู่ในพาหนะคันละ 2,849,000 ล้านบาท โดยประมาณ ได้อย่างดี

ต่างคนต่างได้ประจักษ์ชัดกับสายตา แจ่มแจ้งแดงแจ๋แล้วว่า

บางครั้ง ความแรงและความประหยัด มันก็มาพร้อมกันได้!



และแล้วเราก็ได้ค้นพบรถยนต์รุ่นหนึ่ง ที่มีคุณสมบัติครบทุกด้าน
ทั้งความแรง ความสนุกในการขับขี่ การบังคับควบคุมที่พร้อมจะรองรับ
ทุกบุคลิกของผู้ขับขี่ แถมยังให้อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงที่ประหยัดอย่างเหลือเชื่อ
ติดปลายนวมมาอีกด้วย ทั้งหมดนี้ มีให้คุณครบทั้งที่มีป้ายราคาเท่าๆกันกับคู่แข่ง
ซึ่งดูเหมือนว่าจะไม่มีใครให้ได้ครบครันเท่า

เพียงแต่ ผมไม่เคยคิดมาก่อนว่า ทั้งหมดนี้ จะเป็นผลงานของ
ผู้ผลิตรถยนต์จากเมืองมิวนิค แคว้นบาวาเรีย



แม้ว่า 320d จะเปิดตัวพร้อมกันกับ ซีรีส์ 3 ตัวถัง E90 ซาลูน รุ่นอื่นๆ
มาตั้งแต่ เดือนกุมภาพันธ์ 2005 พร้อมๆ กันกับหลายๆประเทศทั่วโลก
(ส่วนเมืองไทย เปิดตัวในเดือนเดียวกัน และเริ่มออกแสดงในบางกอกมอเตอร์โชว์ 2005)

แต่ BMW Thailand ใช้เวลาหยั่งกระแสตลาดนานมากกกกกก กว่าจะนำ 320d
เข้ามาเปิดตัวทำตลาดในเมืองไทย ต้องหยั่งกระแสด้วย 520d ส่งเข้ามาปูทางก่อนล่วงหน้า
จนเห็นว่า ประสบความสำเร็จดี จึงได้ต่อยอดด้วย ก๊อก 2 อย่าง 320d

ระหว่างที่ผมกำลังเตรียมรีวิวทดลองขับครั้งนี้อยู่
BMW มิวนิค เยอรมัน ก็ปล่อยภาพแรกของ ซีรีส์ 3 E90-E91 (เอสเตท)
รุ่นปรับโฉมไมเนอร์เชนจ์ ออกมาแล้ว เมื่อ 11 กรกฎาคม 2008 ที่ผ่านมา

แต่เนื่องจาก 320d รุ่นไมเนอร์เชนจ์นั้น ก็ยังคงใช้เครื่องยนต์ M47 ตัวเดียวกันกับรุ่นปัจจุบันนี้
ดังนั้น ผลการทดลองขับ จึงสามารถเทียบอ้างได้กับรุ่นปรับโฉมไมเนอร์เชนจ์
ที่กว่าจะเข้าสู่เมืองไทย คงจะเป็นปี 2009



มิติตัวถัง ของ E90 ซาลูนที่ยาว 4,520 มิลลิเมตร กว้าง 1,817 มิลลิเมตร
สูง 1,421 มิลลิเมตร และระยะฐานล้อยาว 2,760 มิลลิเมตร
น้ำหนักตัว 1,445 กิโลกรัม ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆไปจากรุ่นดั้งเดิมนัก

ความแตกต่างเดียวที่เห็นได้ชัด ก็คือ โลโก้ระบุรุ่น
ที่ฝากระโปรงท้ายรถ



ไฟคู่หน้าแบบ ไบซีนอน ซึ่งในรถคันที่ผมทดลองขับนั้น ปรับตั้งลำแสงต่ำไปสักหน่อย สำหรับการขับขี่ตอนกลางคืน
อันนี้ต้องไปปรับตั้งให้สูงกว่านี้อีกนิดนึง ในภายหลัง



E90 ถือเป็น ซีรีส์ 3 ที่พัฒนาขึ้นโดยใช้โครงสร้างพื้นฐานหลักๆร่วมกับ ซีรีส์ 3 E46 รุ่นเดิม
ดังนั้น โครงสร้างภายนอก อาจจะดูเหมือนไม่แตกต่างกันมากนัก
และ BMW ใช้วิธี วาดเส้นสายตัวรถตามแนวทางที่ Chris Bangle
ผู้นำฝ่ายออกแบบของ BMW กำหนดไว้ จนทำให้ตัวรถดูฉีกและแตกต่างไปจากรุ่นเดิม

นอกนั้น ภายนอก มันก็ดูไม่มีอะไรแตกต่างไปจาก ซีรีส์ 3 รุ่นมาตรฐานทั่วไปแต่อย่างใด

เว้นเสียแตัวเลขระบุรุ่น ที่บั้นท้ายของมันเท่านั้นเลย



ระบบกุญแจเป็นแบบ Keyless Entry ตามสมัยนิยม
หากพกรีโมทกุญแจอยู่กับตัว และต้องการจะเปิดประตูรถ
หรือล็อกรถ ให้เอานิ้วไปแตะที่ ขีดเล็กๆ 4 ขีด บนมือจับประตู
เท่านั้นละระบบล็อกก็จะทำหน้าที่ ปลดหรือสั่งล็อกประตูทั้ง 4 บานให้



เมื่อเปิดประตูคู่หน้า แน่นอนละว่า ภายในห้องโดยสาร อาจจะดูไม่ต่างจาก
ซีรีส์ 3 รุ่นปกติมากนัก ในเมื่อมันอยู่บนพื้นฐานหลักร่วมกัน

แต่ BMW ก็ตกแต่งรายละเอียดเพิ่มเติม ให้ดูดีขึ้น และดูสมราคายิ่งกว่าที่เคยเป็น
คอนโซลด้านหน้าและแนวด้านข้างของประตูตกแต่งด้วยลายไม้ชั้นดีแบบ
เบอรร์ วอลนัท (Burr Walnut)



เบาะนั่งคู่หน้าปรับระดับได้ด้วยสวิชต์ไฟฟ้า และเฉพาะฝั่งคนขับ
มีหน่วยความจำตำแหน่งเบาะ กับตำแหน่งกระจกมองข้างรวม 2 ตำแหน่ง
การใช้งาน ก็เช่นเคย ปรับตำแหน่งเบาะและกระจกมองข้างให้เรียบร้อยเสียก่อน
จากนั้น กดปุ่ม M จนไฟสีแดงขึ้น แล้วกดปุ่ม 1 หรือ 2 ตามแต่ตำแหน่งที่เราต้องการให้ระบบมันจำ



ส่วนทางเข้าประตูคู่หลัง มีขนาดเท่าๆกันกับรถรุ่นเดิม E46 หากมองจากรูปนี้
คุณจะยังเห็นช่องแอร์ สำหรับผู้โดยสารแถวหลัง และที่เขี่ยบุหรี่ แบบมีฝาพับเก็บได้

พื้นที่วางขาด้านหลังยังถือว่าสบายกว่า Audi A4 รุ่นเดิมที่เพิ่งจะตกรุ่นไป
ที่วางแขนบนประตูทั้ง 4 บาน ออกแบบให้ลาดลงเล็กน้อย และออกแบบในตำแหน่งที่เหมาะสม
เพื่อให้มีการไหลเวียนของกระแสเลือดบริเณช่วงแขนที่ดี ช่วยผ่อนคลายความเมื่อยได้จริง



แต่เบาะนั่งด้านหลังก็ยังคงเหมอืนเดิม ซุ้มล้อคู่หลังยังคงเบียดบังเข้ามายังพื้นที่นั่งเล็กน้อย
เช่นเดียวกับ Lexus IS 250 แม้จะไม่มากจนน่ารำคาญเท่ากับ BMW ซีรีส์ 1 แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้
ความเมื่อยล้าจากการโดยสารบนเบาะหลังเจือจางลงไป ที่วางแขนตรงกลางพับเก็บได้
และมีช่องใส่แก้ว มาให้ 2 ตำแหน่ง ซึ่งดูเหมือนจะใช้งานจริงได้ไม่ค่อยจะดีนัก หากวางขวดน้ำ 7 บาท
เข็มขัดนิรภัยบนเบาะหลังเป็นแบบ 3 จุด ทั้ง 3 ตำแหน่ง



ห้องเก็บสัมภาระด้านท้าย มีขนาดกำลังดี และมีพื้นเตี้ย…
กะคร่าวๆแล้ว ผมว่า ผมพอจะลงไปนอนได้สบายๆ แต่ตอนลุกออกมา น่าจะเหนื่อยนิดนึง
ใช้ช็อกอัพไฮโดรลิก เป็นตัวค้ำยัน และถ้าคุณช่างสังเกตสักเล็กน้อย จะพบว่า
มาสด้า เอาแพทเทิร์น ช็อกอัพหลังและการวางแบบนี้ ไปใช้กับ ฝากระโปรงท้าย
ของมาสด้า 3 / Axela ซีดาน เป๊ะ



ฝั่งขวา เป็นที่วางชุดอุปกรณ์ปฐมพยาบาล ที่เรามักพบเห็นได้ในรถยุโรปชั้นดีอย่างนี้
รวมทั้งเป็นช่องวางคู่มือผู้ใช้รถและซองใส่เอกสารต่างๆที่เกี่ยวข้อง

(ไม่เข้าใจว่าทำไมไม่เอาไปไว้ในลิ้นชักบนแผงหน้าปัด
เหมือนชาวบ้านชาวช่องเขาซะก็สิ้นเรื่อง
ผมก็หาซะตั้งนาน กว่าจะเจอ
ตอนแรกก็ยังสงสัยเหมือนกันว่า เขาไมได้ให้คู่มือมาจริงเหรอ
เพราะในใบตรวจปล่อยรถที่ตรวจเช็คกันก่อนส่งรถให้ผมก็ระบุว่า
มีคู่มือมาให้

พอเปิดฝากระโปรงท้าย ก็เลยถึงบางอ้อ….)



ฝั่งซ้าย ไว้เก็บอุปกรณ์ซ่อมรถยามฉุกเฉิน

ส่วนยางติดรถนั้น ยังคงเป็นยาง Run Flat Tyre
นั่นหมายความว่า จะไม่มียางอะไหล่แถมมาให้
แต่จะมีชุดปะยางทำหน้าที่แทน



แผงหน้าปัด อาจจะแตกต่างจาก ซีรีส์ 3 คันอื่นๆ
ที่เคยผ่านมือผมมา เล็กน้อย แต่ยังคงใช้โครงสร้างต่างๆร่วมกัน

มีที่วางแก้ว 2 ตำแหน่ง ที่วางในตำแหน่งแปลกๆ
และเมื่อใช้งานจริง วางแก้วน้ำขนาดที่เหมะากับตัวของมัีนได้
แต่วางขวดน้ำขนาด 7 บาท อันเป็นขวดน้ำที่ผมดื่มเป็นประจำไม่ได้ดีเลย

ไฟส่องสว่างภายในรถ มีทั้งไฟในเก๋ง และไฟอ่านแผนที่
ส่วนแผงบังแดดภายใน ไม่มีไฟส่องสว่างสำหรับแต่งหน้ามาให้



ชุดมาตรวัด พร้อมจอแสดงข้อมูลของตัวรถ
ไม่มีมาตรวัดความร้อนมาให้ เช่นเดียวกับรถสมัยใหม่
ในช่วงระยะหลังมานี้หลายรุ่น
ทั้ง วีออส ยาริส เทียนา แจ้ส ซิตี้ ฯลฯ



และถ้าสังเกตให้ดี จะมีสัญญาณแจ้งเตือนความดันลมยางต่ำ
(ระบบ Tyre Pressure Monitoring) แจ้งเตือนอยู่บนชุดมาตรวัดด้วย

การติดเครื่องยนต์ ใช้ระบบกดปุ่มสวิชต์ Start Button
จะเสียบหรือไม่ต้องเสียบ รีโมทกุญแจไว้กับช่องเสียบที่ใต้ปุ่มติดเครื่องยนต์ก็ได้ทั้งสิ้น

พวงมาลัยแบบ Multi Function มีระบบควบคุมความเร็วคงที่ Cruise Control มาให้
ปุ่มควบคุมหลัก ใช้สั่งการทำงานของชุดเครื่องเสียง และระบบ Bluetooth สำหรับโทรศัพท์ติดรถ



ระบบปรับอากาศเป็นแบบดิจิตอล แยกฝั่งซ้าย-ขวา ระบบหน้ากากเปิด-ปิดรับอากาศจากภายนอกรถ
จะทำงานโดยอัตโนมัติ เหมือนกับ BMW และ เมอร์เซเดส-เบนซ์ รุ่นอื่นๆ จนน่าปวดหัว ต้องคอยกดปุ่ม
ให้มันปิดตัวอยู่เรื่อยๆ แต่ทำงานเย็นเร็วดี และมีกลิ่นสะสมนิดนึง
ตามธรรมดาของรถที่ผ่านการใช้งานมาพอสมควร ก่อนถึงมือผม

มีสวิชต์เปิด-ปิดม่านบังแดดหลังไฟฟ้า และระบบเซ็นเซอร์กะระยะช่วยจอด Parktronic
ที่จะทำงานทันทีเมื่อเข้าเกียร์ถอยหลัง และระยะสัญญาณ ค่อนข้างละเอียด ไว้ใจได้

ขณะที่ปุ่มปลดและสั่งล็อกประตู สวิชต์ไฟฉุกเฉิน และปุ่มสั่งเปิด-ปิด ระบบควบคุมเสถียรภาพ DTC
Dynamic Traction Control ติดตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างช่องหน้ากากแอร์
ซึ่งเล่นเอาผมต้องคลำหากันพักนึงในวันรับรถ ตอนจะเปิดประตูให้กับผู้โดยสาร

ชุดเครื่องเสียงที่ติดรถมาให้นั้น คุณภาพเสียงถือว่าดีกว่า BMW หลายๆคันที่เคยผ่านมือผมมา
และแน่นอนว่า เป็นรองแค่ชุดเครื่องเสียงใน 530i E60 ที่มีระบบ Dolby Pro Logic 7

มีช่องอ่านแผ่น DVD มาให้ คาดว่าเตรียมไว้สำหรับระบบนำร่องผ่านดาวเทียม
เพราะผมพยายามเอาแผ่น DVD ภาพยนตร์ Hairsprey เสียบเข้าไป
มันไม่ยอมเล่นออกจอมอนิเตอร์ 7 นิ้ว เลย



ส่วนระบบ i-Drive นั้น หน้าจอต่างๆ แทบจะเรียกได้ว่า ยกมาจาก 530i E60 ทุกประการ
ทั้งระบบโทรทัศน์ ที่รับสัญญาณได้ในช่องหลักๆ 3 5 7 9 11 (NBT) และ Thai PBS



นอกจากนี้ยังมีปลั๊ก Aux-in ติดตั้งอยู่ในกล่องคอนโซลกลาง ใต้ที่พักแขนระหว่างผู้โดยสารเบาะหน้า
ซึ่งเลื่อนขึ้นหน้า-ถอยหลังได้

รวมทั้งระบบ Bluetooth ซึ่งทั้ง 2 ออพชันนี้ ซีรีส์ 3 รุ่นอื่นๆยังมีไม่ครบ
การแสดงผลของออนบอร์ดมอนิเตอร์ พร้อมฟังก์ชั่นโทรทัศน์ จอขนาด 8.8 นิ้ว
(ที่ถูกต้อง 8.8 นิ้วนะครับ อันบนที่เขียนไว้ว่า 7 นิ้วนั้นผิดครับ) แบ่งแยกเป็น 2 จอ

จะยกเว้นบ้างก็เพียงแค่ หน้าจอแสดงการทำงานของระบบเครื่องเล่น CD ที่อัพเกรดใหม่เล็กน้อย

สามารถเข้าไปดูโหมดการทำงานต่างๆได้ในรีวิว ของ ซีรีส์ 5 E60 ที่
http://topicstock.pantip.com/ratchada/topicstock/2006/05/V4413078/V4413078.html

อ้อ เกือบลืม สำหรับระบบ i-Driveนั้น โปรดอย่าลืมว่า “คิดไม่ออก บอกไม่ถูก กดปุ่ม MENU เพื่อเริ่มต้นใหม่เสมอ”



อุปกรณ์ความปลอดภัยที่มีมาให้นั้น นอกเหนือจากถุงลมนิรภัย คู่หน้า
ถุงลมด้านข้าง และม่านลมนิรภัยรวม 6 ใบแล้ว
รายละเอียดปลีกย่อยอื่นๆ ในห้องโดยสารนั้น เหมือนๆกันกับซีรีส์ 3 รุ่นอื่นๆ เกือบทุกประการ
ดังนั้น สามารถหาอ่านได้จากรีวิว ทดลองขับ 320i SE และ 330i
ที่ผมเคยทำเอาไว้ในปีก่อนๆ ที่ http://topicstock.pantip.com/ratchada/topicstock/2006/10/V4815155/V4815155.html
หรือเข้าไปเดินเล่นใน http://www.bmw.co.th ซึ่งจะมีแค็ตตาล็อกให้ดาวน์โหลด แต่รายละเอียดไม่ค่อยครบถ้วน
หรือแม้กระทั่ง มีคู่มือผู้ใช้รถ ให้ดาวน์โหลดเก็บมาใช้งานได้
(แต่คุณต้องใช้รถ BMW และมี user กับ password เข้าเว็บเสียก่อน)

สรุปว่า เดินเข้าโชว์รูมไปเลยจะเร็วกว่า และได้ข้อมูลน่าจะครบกว่าในเว็บของ BMW เอง



ทัศนวิสัยด้านหน้า โปร่งตาตามปกติของรถทั่วไป



กระจกมองข้างนั้นมีขนาดเล็กไปหน่อย
แม้จะเพิ่มขนาดจากรุ่น E46 เดิมแล้ว แต่ก็ยังถือว่าเล็กไปอยู่ดี

เสาหลังคาคู่หน้านั้น ในบางลักษณะของโค้ง อาจมีบทบังทัศนวิสัยได้บ้างเมื่อเข้าโค้งทางขวา



แต่ในการเลี้ยวกลับรถ หรือเข้าโค้งซ้าย แน่นอน ไม่มีปัญหา



ทัศนวิสัยด้านหลังนั้น แม้จะอยู่ในเกณฑ์ดี แต่อาจต้องใช้ความระมัดระวังกับจักรยานยนต์บ้าง ตามปกติ



********** รายละเอียดด้านวิศวกรรม และการทดลองขับ **********

เครื่องยนต์ ที่วางอยู่ใน 320d คันนี้
เป็นเครื่องยนต์ รหัส M47

ดีเซล บล็อก 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,995 ซีซี
กระบอกสูบ x ช่วงชัก 90.0 x 84.0 มิลลิเมตร
อัตราส่วนกำลังอัด 16.0 : 1
ใช้ระบบกล่องสมองกลควบคุมเครื่องยนต์ DDE 7.1
ฉีดจ่ายเชื้อเพลิงด้วยระบบคอมมอนเรล เจเนอเรชันที่ 3
Direct Injection พร้อมเทอร์โบชาร์จ

กำลังสูงสุด 177 แรงม้า (HP) หรือ 130 กิโลวัตต์ ที่ 4,000 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด 35.6 กก.-ม. หรือ 350 นิวตันเมตร ที่รอบเครื่องยนต์ตั้งแต่ 1,750 – 3,000 รอบ/นาที

เครื่องยนต์นี้ เพิ่งออกสู่ตลาดโลกเมื่อกลางปี 2007 ที่ผ่านมานี้เอง
เป็นเครื่องยนต์ตัวเดียวกับที่วางใน 520d ไมเนอร์เชนจ์ และ X3 2.0d ใหม่ ที่เพิ่งเปิดตัว
ในงานบางกอกมอเตอร์โชว์ 2008 ที่ผ่านมา รวมทั้ง ซีรีส์ 1 ไมเนอร์เชนจ์ รุ่น 120d ทุกตัวถัง



ขับเคลื่อนล้อหลัง ด้วยเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ พร้อมโหมด บวก-ลบ Steptronic
มาดูอัตราทดเกียร์กันสักหน่อยดีกว่าครับ

เกียร์ 1……………………..4.171
เกียร์ 2……………………..2.340
เกียร์ 3……………………..1.521
เกียร์ 4……………………..1.143
เกียร์ 5……………………..0.867
เกียร์ 6……………………..0.691
เกียร์ถอยหลัง………………….3.403
อัตราทดเฟืองท้าย……………….3.154

ฉุดลากตัวรถที่มีน้ำหนักตัว Unladen weight : 1,445 กิโลกรัม
(ซึ่ง BMW ถือว่า เป็นน้ำหนักตัวที่รวม น้ำมัน 90 เปอร์เซนต์ของความจุถัง
น้ำหนักตัวคนขับ 68 กิโลกรัม และ น้ำหนักสัมภาระอีก 7 กิโลกรัม)

เราทดลองขับด้วยมาตรฐานเดิม
คือ นั่งสองคน เปิดแอร์ และใช้เวลาช่วงกลางคืน จึงต้องเปิดไฟหน้า
ตัวเลขที่ได้ เมื่อเปรียบเทียบกับซีรีส์ 3 รุ่นอื่นๆ รวมทั้งรถในระดับเดียวกันของคู่แข่ง มีดังนี้ครับ



หากดูจากตัวเลขแล้ว
คุณแทบไม่จำเป็นต้องซื้อรุ่น 330i เลย
เพราะตัวเลขอัตราเร่งของ 320d นั้น ใกล้เคียงกับ 330i มาก
ด้อยกว่ากันเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

แรงดึงจากเกียร์ 1 นั้น แรงขนาดดึงให้ร่างของคุณอัดติดกับเบาะได้
ใกล้เคียงและไม่แพ้ 330d Coupe E92 คันที่ผมเคยทดลองขับในระยะทางสั้นๆ
ก่อนหน้านี้มาแล้ว

จริงอยู่ว่า แรงดึงจากแรงบิด 51 กก.-ม. เศษๆ ของ 330d Coupe นั้น จะดึงกระชาก
หนักหนาสาหัสกว่า 320d แต่กับแรงบิดระดับ 36 กิโลกรัมเมตร ก็ไม่ได้ด้อยไปกว่ากันนักหรอก

การเร่งแซงในแทบทุกย่านความเร็วทำได้ดี ไม่มีอาการลุ้นให้หวาดเสียวหัวใจแต่อย่างใดทั้งสิ้น
แค่กดันเร่งจนจมมิด แล้ว 320d จะพาคุณพุ่งทะยานไปอย่างรวดเร็วและปราดเปรียว

การทำความเร็วสูงสุดในแต่ละเกียร์ครั้งนี้ ตื่นเต้นในระดับ
1 ใน 5 ครั้งที่ดีที่สุด ตื่นเนที่สุด และน่าหวาดเสียวที่สุด
เท่าที่ผมเจอมาตลอด 5 ปีนี้เลยทีเดียว

ก็ใครจะไปรู้ละ…
ในเมื่อตัวเลขจากตารางสเป็ก ทางโรงงานเยอรมัน ระบุเอาไว้แค่ 228 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ผมก็เบาใจสิ ว่า เฮ้อ โล่งอก สงสัยว่า ทดลองความเร็วสูงสุดแต่ละเกียร์ครั้งนี้ ขึ้นเร็ว จบเร็วแน่นอน
ไม่น่าหวาดเสียวมากนัก ดีเหมือนกัน จะได้รีบกลับบ้านกันซะ เพราะเวลาก็เลยเที่ยงคืนมาจนดึกมากแล้ว

และนั่นคือความคิดของผม ก่อนที่เข็มความเร็วจะแตะถึงระดับ 220 กิโลเมตร/ชั่วโมง

แต่พอปลายเข็ม ล่วงก้าวข้ามเขตแดน 230 กิโลเมตร/ชั่วโมง
เสียงร้องอันน่าตื่นเต้นของน้องแพน ก็เริ่มทำให้ผมตระหนักแล้วว่า
ค่ำคืนนี้ มันไม่น่าจะจบลงรวดเร็วอย่างที่ผมคิดเสียแล้วละ!

และก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ
เราทุกคนในรถต่างพากันประหลาดใจกับสิ่งที่ได้เห็นต่อหน้าต่อตา

ว่านี่ขนาดเรานั่งกัน 4 คน แถมน้ำหนักตัวรวมกันแล้ว คิดซะว่า นั่ง 5 คนก็ยังได้เลย
(ผม 95 กิโลกรัม น้องแพน V.Putin ปาเข้าไป 145 กิโลกรัม น้อง Bombe 80 กิโลกรัม
และน้องกล้วย น้องชายคนเล็ก อีก 48 กิโลกรัม รวมแล้ว 368 กิโลกรัม!!!)
320d ยังคงพุ่งไปข้างหน้า โดยที่เข็มความเร็วยังไม่มีทีท่าว่าจะหยุดนิ่งเสียที

และเมื่อเสียงของน้องแพนตะโกนบอกว่า 244 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ผมแช่คันเร่งจมมิดอย่างนั้นต่อไปอีกราวๆ 10 วินาที จนมั่นใจว่า เข็มมันนิ่งสนิทเสียที
ก็ถึงเวลาถอนเท้าออกจากคันเร่ง…

แต่เอาเข้าจริง ความเร็วสูงสุดในแต่ละเกียร์ที่ทำได้
กับรถเกียร์อัตโนมัติแบบนี้ ส่วนใหญ่แล้ว จะนั่งกันกี่คน
มันไม่มีผลเท่าไหร่หรอกครับ เพราะส่วนใหญ่ เกียร์จะถูกโปรแกรม
ให้ตัดเปลี่ยนตำแหน่งเกียร์ให้สูงขึ้น ณ รอบเครื่องยนต์ที่ค่อนข้างตายตัวอยู่แล้ว

(แต่จะมีผลแน่นอน หากคุณอยากรุ้ว่า
การจะใช้เวลาลากขึ้นไปถึงความเร็วสูงสุดในแต่ละเกียร์นั้น
นานแค่ไหน น้ำหนักของผู้โดยสารจึงจะเริ่มมีผลทันที

แต่ในเมื่อ เราไมได้ทดลองประเด็นนั้น อีกทั้งการทดลองจับเวลาอัตราเร่ง
เราก็ใช้วิธีดั้งเดิม คือ เปิดแอร์ นั่ง 2 คนอยู่แล้ว ดังนั้น ตัวเลขความเร็วสูงสุดในแต่ละเกียร์
ครั้งนี้ ไม่ว่าคุณจะนั่งเพียง คนเดียว 2 คน หรือ เต็มคันรถ เกียร์มันก็จะตัดเปลี่ยนตำแหน่งขึ้นไป
ที่ความเร็วบนมาตรวัด ความเร็วรอบเครื่องยนต์ ตำแหน่งเท่ากันอยู่ดี)

และก็ยังยืนยันตามธรรมเนียมเก่าของเราอยู่ดีว่า
คุณหนูๆทางบ้าน โปรดใช้วิจารณญาณในการรับชมนะจ้ะ
รีวิวครั้งนี้ อยู่ในเรต กากบาท 13 อย่าได้เลียนแบบตามอย่างเน่อ
ชีวิตจริงผู้เขียนก็ไมได้ใช้ความเร็วสูงๆระดับนี้ทุกวี่วันแต่อย่างใด

นอกจากจะไม่ปลอดภัยแล้ว ถ้าเป็นรถรุ่นอื่นๆทั่วๆไปแล้ว มันยังเปลืองน้ำมันด้วย
หากแต่ ไม่ใช่กับ 320d เพราะหลังจากเหยียบกันเต็มที่ เข็มน้ำมันนั้น
กระดิกเลื่อนลงมาแค่เพียง ขนาดความยาวสุดลำตัวของเชื้อจุลินทรีย์แลคโตบาซิลัส
ตอนยังไม่ได้ส่องกล้องจุลทรรศน์เท่านั้น!

ขอย้ำว่า เท่านั้น!! และมันกระดิกตัวน้อยมากๆ เหมือนกับ 330d Coupe ไม่มีผิดเพี้ยน!



เมื่อ ช่วงเวลาที่ทำให้ผมหายใจไม่ค่อยทั่วท้องผ่านพ้นไปอย่างราบรื่นด้วยดี
ไม่มีรถบ้าห้าร้อยจำพวกของใคร มาขับช้าวิ่งขวา ให้ปากตะไกรของผมทำงาน
พร้อมๆกับเท้าขวาที่ต้องเหยียบเบรกไปพร้อมๆกันแต่อย่างใด

ผมก็ปล่อยพวงมาลัยปรบมือแสดงความดีใจ ที่การหาความเร็วสูงสุดครั้งนี้เสร็จสิ้นเสียที
ทำเอาทุกคนในรถร้องลั่นว่า “เฮ้ย มึมปล่อยพวงมาลัยที่ความเร็ว 240 กิโลเมตร/ชั่วโมง เลยเหรอ???”

ผมก็ตอบไปในทันที…อย่างเรียบเฉย…ว่า

“ที่ปล่อยหนะ ก็เพราะรู้ว่า มันจะยังคงนิ่งดี เหมือน BMW รุ่นอื่นๆยังไงเล่า!”

ยืนยันว่าไม่ได้เผลอตัว ไมได้ทำอย่างขาดสติ ตรงกันข้าม ที่ทำไปหนะ ทำอย่างมีสติที่สุด คิดไว้แล้วว่า
ถ้ามีปัญหาจะแก้ไขเฉพาะหน้ากันยังไง และเพียงแค่นี้ ก็น่าจะเป็นข้อพิสูจน์แล้วว่า
พวงมาลัยของ 320d นั้น คม ระยะฟรีน้อย น้ำหนักมากในความเร็วต่ำ
แต่ยัง “นิ่ง และมั่นใจมากในย่านความเร็วสูงได”

และถ้าคุณพอจะมีวิารณญาณ คุณก็ควรจะรับรู้ได้เองแล้วเมื่ออ่านมาถึงบรรทุดนี้ว่า
สิ่งที่ผมพูดมาในย่อหน้าข้างบนนี้ ไม่ควรเอาไปปฏิบัติในชีวิตจริงโดยเด็ดขาด!



อย่างไรก็ตาม พวงมาลัยมีน้ำหนักในการหมุนค่อนข้างมากไปหน่อย ในช่วงความเร็วต่ำ
ต้องออกแรงมากกว่าปกติ แต่ในการขับขี่ทั่วไป ผมว่าเซ็ตมาดีทีเดียว

ความมั่นใจได้ยามที่อยู่ในโค้งนั้น เมื่อผนวกกับระบบกันสะเทือนหน้าแบบสตรัต
ทำจากอะลูมีเนียม ทำให้น้ำหนักเบาขึ้น 30 เปอร์เซนต์ พร้อมซับเฟรม
และระบบกันสะเทือนหลังแบบ มัลติลิงค์ 5 Axle

ยังคงพาตัวรถเข้าโค้งรูปตัว S ทางลงทางด่วนพระราม 6 ที่ระดับความเร็ว 90 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ก่อนจะต้องเหยียบเบรกเต็มเท้าให้รถพุ่งไปจอดนิ่งๆอย่างสงบ รอสัญญาณไฟเขียวเป็นคันแรก
ได้อย่างมั่นคง แม้จะมีอาการท้ายเริ่มออกนิดๆ ในโค้งแต่ก็ไม่ได้ออกอาการอย่างชัดเจนนัก
ซึ่งดูเหมือนเป็นความจงใจของวิศวกร BMW เยอรมัน ที่จะเซ็ตให้บั้นท้ายของรถรุ่นนี้
เบากว่ารุ่น E46 เล็กน้อยอยู่แล้ว

และด้วยค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทานอากาศ Cd 0.28 เช่นเดิม
ทำให้การจัดการกับกระแสลมที่ไหลผ่านตัวรถขณะใช้ความเร็วสูง
ยังคงทำได้ดีเลยทีเดียว หากกระแสลมนิ่ง ตัวรถจะเคลื่อนที่ไปข้างหน้า
ราวับถูกกดไว้กลางๆ กับพื้นถนน

และเช่นเดียวกัน การหน่วงความเร็วของระบบดิสก์เบรกทั้ง 4 ล้อ พร้อมระบบป้องกันล้อล็อก ABS
ระบบกระจายแรงเบรก EBD และ ระบบระบบ CBC (Cornering Break Control) ช่วยกระจายแรงเบรก
สู่ล้อที่ต้องการในขณะเข้าโค้งอย่างเหมาะสม ก็ยังคงทำหน้าที่ได้ดี
เหมือนเช่นที่ผมเคยประทับใจมาแล้ว ใน 330d Coupe E92 และ 330i E90

นอกจากนี้ยังมีระบบ DTC (Dynamic Traction Control)
ทำงานผสานกับระบบ DSC(Dynamic Stability Control) เพื่อช่วยควบคุมเสถียรภาพรถ
ในขณะเข้าโค้ง หรืออยู่บนถนนลื่นระบบจะสั่งลดแรงบิดที่ล้อในยามจำเป็น
พร้อมกับเพิ่มแรงเบรกไปด้วยในตัวสำหรับล้อที่จำเป็น

. . . . . . . .

แล้วข้อเสียของมันละ?
ใช่ว่าจะไม่มีเลยนะ

แน่นอนว่า ด้วยเหตุที่รถยุโรปสมัยนี้ ใช้ระบบไฟฟ้า
และอีเล็กโทรนิกส์มาเป็นส่วนประกอบเยอะมาก
ดังนั้น ขอให้ทำใจเผื่อไว้ล่วงหน้าก่อนว่า
โอกาสที่รถใหม่ป้ายแดงของคุณ อาจจะแสดง
สัญญาณไฟเตือนระบบเครื่องยนต์
หรือ ไฟ Check Engine บนชุดมาตรวัดซะดื้อๆนั้น
อาจเกิดขึ้นได้ ทุกเมื่อ



เรื่องของเรื่องก็คือ ในค่ำคืนวันเสาร์
ก่อนที่เราจะทดลองอัตราเร่งกันนั้น
หลังจากทานอาหารเย็นกันเรียบร้อย
เราก็ออกเดินทางมุ่งหน้ามาทางถนนศรีนครินทร์
เพื่อมุ่งหน้ากลับไปยังถนนบางนา-ตราด
ด้วยความเร็วระดับ 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง ตามรถคันหน้าไปเรื่อยๆ

จู่ๆ โดยไม่ทันคาดฝัน ไฟเตือน Check Engine ก็แสดงขึ้นมาเล่นเอาผม น้องแพน V.Putin น้อง Bombe และ น้องกล้วย
สมาชิกร่วมก๊วนของผม ถึงกับนั่งกันเงียบกริบไปทั้งรถ

ผมได้แต่ลองพยายามติดต่อกับพี่ไหม พีอาร์ของ BMW Thailand
ซึ่งก็ช่วยประสานงานให้คุยกับคุณบิ๊ก ฝ่ายเทคนิค โทรติดต่อกลับมายังผม

เบื้องต้น คุณบิ๊ก ก็ให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์จริงๆ
คือ ให้ลองดับเครื่องยนต์ แล้วติดเครื่องยนต์ใหม่

ผมก็ทำเช่นนั้น เมื่อประคองรถมาเรื่อยๆ จนถึงปั้มเชลล์ ตะวันออกราชันย์
บางนา-ตราด กม.6 ก็แวะจอดกันตรงหน้าร้านไก่ทอด A&W นั่นละ
ดับเครื่อง นับ 1 ถึง 10 แล้ว กดปุ่มติดเครื่องยนต์ใหม่

“ไม่หายครับคุณบิ๊ก”

เราเลยนัดแนะกันว่า ถ้าเป็นเช่นนี้ ระหว่างที่ไฟเตือนมันยังลอยเด่นเป็นสง่าขนาดนี้
ผมจะประคองรถไปเรื่อยๆ ไปถ่ายรูป ในวันรุ่งขึ้น แล้วคืนรถในวันจันทร์
และขอให้ทาง BMW เปลี่ยนรถ 320d อีกคันหนึ่ง ให้ผมลองขับอีกครั้งหนึ่งในโอกาสต่อไป

นั่นคือแผนสองที่ผมวางเอาไว้ และปรึกษาไป ทาง คุณบิ๊ก ก็ยินดี

แต่…เอาละ ในเมื่อ มันก็คงทำอะไรไม่ได้มาก ผมก็ขอกดคันเร่งกวาดลากรอบขึ้นไปสักครั้งนึงก็ยังดี

เอาละ เสี่ยงเป็นเสี่ยงกัน ผมตัดสินใจกดคันเร่งจนจมมิดเมื่อตอนออกจากปั้ม
รอบเครื่องยนต์กวาดขึ้นไปตัดเปลี่ยนเกียร์ที่ระดับ 4,300 รอบ/นาที เข็มความเร็วที่เกียร์ 1
อยู่ที่ 35 กิโลเมตร/ชั่วโมง

แล้วจู่ๆ พระเจ้าจอร์จ! เจ้าไฟ Check Engine บ้าๆ มันก็ดับวูบหายไปเสียดื้อๆ

ทุกอย่างกลับคืนสู่ภาวะปกติอีกครั้ง
ยังความปลื้มปิติโสมนัสแก่หมู่เฮาเป็นอย่างฮา

พอไฟ Check Engine ดับวูบลงไป ความสนุกสนานในการขับขี่
ก็คืนกลับมาสร้างความหฤหรรษ์กันอย่างเต็มที่



เหตุการณ์นี้ ทำให้ผมเข้าใจเลยในทันที ว่าหัวอกของคนที่ทำงานเก็บเงินมาตลอดชีวิต
ซื้อรถเก๋งระดับราคา 2.8 ล้านบาทโดยประมาณ และต้องมาเจอสถานการณ์
อันไม่พึงประสงค์แบบนี้ จะเป็นอย่างไร

แต่สิ่งที่อยากจะบอกกับคุณๆไว้ก็คือ ยิ่งรถยนต์ ใช้ระบบคอมพิวเตอร์ และไฟฟ้ามากขึ้นเท่าใด
โอกาสที่อุปกรณ์เหล่านี้ อาจจะรวนขึ้นมาเสียดื้อๆวันใดวันหนึ่ง ก็เป็นได้เช่นกัน

และทางแก้ไขสำหรับกรณีไฟ Check Engine
มันโผล่ขึ้นมาเซย์ห้าโหลกับคุณดื้อๆ นั้น ไม่ต้องตกอกตกใจ

ขั้นแรก ดับเครื่องยนต์ แล้วติดขึ้นมาใหม่ ถ้ามันยังไม่หาย
ลองทำอย่างที่ผมทำ คือกระทืบคันเร่งจนจมมิดสักครั้งหนึ่ง
ถ้ายังไม่หาย ขับไปเรื่อยๆ หรือลองล้างรถดูสักรอบ
และถ้ายังไม่หายอีก ขับตรงดิ่งเข้าศูนย์บริการของ BMW ที่อยู่ใกล้ที่สุด
ให้เขาลองเสียบเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ว่า เช็คดูว่ามันขึ้น Code ว่าอะไร
ต้องแก้ปัญหาในเรื่องใด หรือถ้ามันรวนขึ้นมาเฉยๆ ซักซ้อมให้ตกใจเล่น ราวกับซ้อมหนีสึนามิ

ทางศูนย์ฯ ก็จะได้ ลบ Code เจ้ากรรมนายเวรนั่น ไปให้พ้นหูพ้นตาคุณก็สิ้นเรื่อง

ถามว่าทำไมถึงแนะนำให้ล้างรถ?

มีอยู่คราั้งหนึ่งในช่วงต้นปี 2003
ผมเคยยืม Chevrolet Zafira 2.2 LT สีแดงแปร๊ด
จากทาง GM มาทดลองขับ

จู่ๆ เราพบปัญหาไฟ Check Engine ขึ้น
แล้วมันก็ค้างคาอยู่อย่างนั้น ดีแต่ว่าเราทดลองอัตราเร่งกันไปหมดแล้ว

พอถึงคืนวันอาทิตย์ เช้าวันจันทร์ผมต้องส่งรถคืน
ก็เลยล้างรถ โดยมี คุณกล้วย 910 Moderator คนหนึ่งแห่ง RacingWeb.net มาช่วยกันล้างอยู่ 2 หน่อ

พอล้างเสร็จ เรื่องไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น
คือ ไฟ Check Engine ก็ดับลงไปเสียดื้อๆ อย่างนั้น!

อุปกรณ์อีเล้กโทรนิกส์มันรวนขึ้นมาได้ทุกเมื่อครับ
ดังนั้น เมื่อเจอแล้วอย่าตกใจ ตั้งสติให้ดี
และไม่ต้องไปโทษรถหรอกครับ ไม่ต้องไปโทษบริษัทรถ
ไม่ต้องไปโทษตัวเอง หรือใครทั้งสิ้น เรื่องแบบนี้ มันเกิดขึ้นได้
และมันก็มักจะแก้ไขได้ ถ้าช่างคนนั้น ชำนาญในระบบไฟฟ้ามามากเพียงพอ

********** การทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง **********

ในเมื่อ BMW แถลงในเอกสารข่าวประชาสัมพันธ์ว่า
เครื่องยนต์ M47 ดีเซล เวอร์ชันใหม่นี้ ทำอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงได้ถึง 16.4 กิโลเมตร/ลิตร

เอาละสิครับ มันจะทำได้จริงเหรอ?

ผมกับ น้องกล้วย ก็จะพิสูจน์ให้เห็นกันเลยนั่นละ
ด้วยวิธีเดิมๆ คือ เติมน้ำมันที่ปั้มเชลล์ หน้าปากซอบอารีย์ พหลโยธิน
ขับเปิดแอร์ ขึ้นทางด่วน พระราม 6 มุ่งหน้าไปจนถึงปลายสุดทางด่วนสายเชียงราก
แล้วเลี้ยวกลับ ขึ้นทางด่วนย้อนกลับเส้นทางเดิม
คราวนี้ เราย้ายไปลงที่ ทางลงอนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
ไกลออกไปกว่ากันเล็กน้อย
แต่ได้ระยะทางเพิ่มขึ้น และสภาพการจราจร ไม่ติดขัดยักแย่ยักหยั่น
เหมือนในซอยอารีสัมพันธ์แน่ๆ

น้ำมันที่เราเลือกเติมคราวนี้เป็น น้ำมันดีเซลมาตรฐาน B2 หรือ ไบโอดีเซล 2 เปอร์เซนต์จากเชลล์
ไม่เติม V-Power เพราะว่าแพง และปกติ เราใช้น้ำมันดีเซลมาตรฐานกับรถทดลองทุกคันที่เป็นเครื่องยนต์ดีเซล
เพราะทุกวันนี้ น้ำมันดีเซลที่ขายกันใน กรุงเทพฯ เป็นสูตร B2 เป็นอย่างต่ำ
กันหมดแล้ว



ใช้ความเร็ว 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง ควบคุมด้วยระบบควบคุมความเร็วคงที่ Cruise Control
ที่จะต้องกดปุ่มเล็กๆ บนก้านที่ติดตั้งฝั่งซ้าย ด้านหลังพวงมาลัย ต่ำกว่าก้านไฟเลี้ยว เพื่อเปิดระบบ
จากนั้น ผลักหรือดันก้าสวิชต์ไปด้านหลัง เพื่อเพิ่มความเร็ว หรือดึงก้านเดิม ขึ้นมาข้างหน้า
เพื่อลดความเร็ว และตัวเลขความเร็วที่ต้องการ จะปรากฎขึ้นบนจอ Multi Information Display
ขนาดเล็ก บนชุดมาตรวัด



ระหว่างทาง ก็เจอรถแปลกๆ HUMMER H3 คันนี้ มีอุปกรณ์อะไรแปลกๆบนรถด้วยแหะ
แต่ผมก็ไม่ได้สนใจอะไรมากมาย คิดเพียงว่า เขาจะติดอะไรบนรถ มันก็เรื่องของเขา
ว่าแล้วเราก็แซงหน้าเขาไปอย่างเนิบๆ และไมได้ไปสนใจใยดีรถคันนี้อีก (ทั้งที่อยากจะสนใจ
แต่กลัววัตถุอะไรจะพุ่งทะลุกระจกรถเข้ามา แล้วจะพาให้บรรลัยโดยไม่จำเป็น)

แล้วเราก็กลับมาเติมน้ำมันดีเซลแบบเดิม ที่ปั้มเดิมและหัวจ่ายเดิมเป๊ะ



ระยะทางที่แล่นไปทั้งหมด 92.9 กิโลเมตร



ปริมาณน้ำมันเติมกลับ 250 บาทพอดี ได้ 5.65 ลิตร



และนี่คือตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงที่ได้…

เมื่อเปรียบเทียบกับ ตัวเลขของ ซีรีส์ 3 ตัวถัง E90 คันอื่นๆ แล้ว
ก็จะเห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น…ว่า ตัวเลข 16.4 กิโลเมตร/ลิตร
ที่ BMW เคลมเอาไว้ว่าเครื่องยนตด์ดีเซลใหม่นี้ทำได้หนะ “ของจริง”…



จากตารางเปรียบเทียบที่เห็นอยู่นี้
คุณยังต้องการคำอธิบายใดๆเพิ่มเติมอีกไหมครับ?

(เสียงพึมพำจากผู้อ่าน ลอยมาให้ได้ยิน…)

อ่ะ ถ้าต้องการ ผมแถมประสบการณ์จากผู้ทดลองใช้จริงอย่างผมให้สักเรื่องแล้วกัน

ตลอด 4 วัน 3 คืน ที่ผมใช้ชีวิตกับ 320d คันนี้
หลังจากทดลองอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเสร็จสิ้นไปแล้ว
ผมก็อยากจะรู้ว่า ถ้าผมใช้งานในแบบปกติของผม รวมทั้งการทดลองอัตราเร่ง
และความเร็วสูงสุดในแต่ละเกียร์ เข็มน้ำมันจกตกลงไปสักเท่าใด?

พอเอาเข้าจริง ผมก็ขับไปตามที่ผมคิดและวางแผนเอาไว้ตลอด
แถมยังเผลอทำความเร็วสูงเกินกว่า 180 กิโลเมตร/ชั่วโมงไปถึง 4-5 ครั้ง

ในวันที่ผมนำรถไปคืนทาง BMW Thailand ที่ ตึก All Season บนถนนวิทยุ
ระยะทางเลขไมล์ใน Trip A ที่ขึ้นบนมาตรวัดนั้น ระบุว่า 499 กิโลเมตร
ระยะทางเลขไมล์ขึ้นไป 500 กิโลเมตร น้ำมันยังมีเหลืออีกถึง 1 ใน 4 ของถัง
นั่นหมายความว่า ต่อให้ขับแบบกระหน่ำๆ อย่างผม คุณก็ยังสามารถใช้
น้ำมัน 1 ถัง แล่นได้ระยะทางประมาณ 600 กิโลเมตร แน่ๆ



แล้วลองคิดดูสิว่า ถ้าขับในเมืองแบบเนียนๆ มีออกนอกเมืองบ้างนิดหน่อย
ต่อให้ราคาน้ำมันดีเซล ลิตรละ 50 บาท
จากที่ลองไต่ถาม พี่หนุ่ย สมาชิกของ www.bmwccth.com
ตีคร่าวๆว่า ส่วนใหญ่ สมาชิกที่ใช้ ซีรีส์ 3 นั้น ขับรถกันวันละไม่ค่อยเกิน 100 กิโลเมตร
งั้น เราตีสมมติกันว่า วันหนึ่ง เราใช้รถวันละ 60 กิโลเมตร ไปกลับ จากบ้านชานเมือง ย่านบางนา
ขึ้นทางด่วนมาที่ทำงานย่านสีลม สาทร บวกแวะนั่นแวะนี่นิดหน่อย

ถังน้ำมันของ 320d มีความจุ 61 ลิตร ตีซะว่า เวลาคุณเติมเข้าไป มันควรจะมีเหลือสัก 3 ลิตร
นอนอยู่ก้นถัง เท่ากับตีเล่นๆว่า เติมครั้งละ 60 ลิตร

เติมน้ำมัน 1 ถัง คุณใช้เงิน 3,000 บาท (ค่าน้ำมันดีเซล สมมติลิตรละ 50 บาท)
โอเคนะ มันอาจจะดูแพงสักหน่อยก็ตาม

แต่ ถ้าคุณขับในเมือง ตัวเลขที่ขึ้นบน On-Board Monitor ที่ผมเจอตลอดทริป
อยู่ที่ 12-13 กิโลเมตร/ลิตร (ขอย้ำ วิ่งแบบเฉลี่ยรวม และรวมในเมืองด้วย)

เท่ากับว่า
– วันหนึ่ง คุณจะใช้น้ำมันเพียงแค่ประมาณ 5 ลิตร เท่านั้น!?

– การเติมน้ำมัน จะเกิดขึ้น ทุก 12 วัน เดือนหนึ่ง มี 31 วัน
เท่ากับว่า เดือนหนึ่ง คุณจะเติมน้ำมันเต็มถัง แค่ 2 ครั้งเท่านั้น
(รวมแล้วใช้น้ำมัน 24 วัน ส่วน 6-7 วัน ก่อนจะถึงสิ้นเดือนนั้น ก็ยกยอดไปยังเดือนถัดไป)

เท่ากับว่า คุณจะมีภาระค่าน้ำมัน ไม่เกินเดือนละ 6,000 บาท….!! (ขอย้ำ ค่าน้ำมัน ตีสมมติว่า ลิตรละ 50 บาท)

และต่อให้ราคาน้ำมัน ดีเซล ลิตรละ 45 บาท เป๊ะ การเติมน้ำมันเต็มถัง คุณก็ใช้เงิน 2,700 บาท
เท่ากับว่า ในแต่ละเดือน คุณจะเติมน้ำมัน 2 ครั้ง และค่าน้ำมันของคุณในแต่ละเดือนก็ตกราวๆ 5,400 บาท
ไม่น่าเกิน 5,500 บาท

คนที่จะมีเงินซื้อรถระดับนี้ คุณก็ควรมีเงินเดือนเป็นหลักเกินกว่า 7-8 หมื่นบาทขึ้นไป
อยู่แล้ว ค่าน้ำมันเพียงเดือนละแค่นี้ ขนหน้าแข้งของคุณคงไม่ร่วงมากนักหรอกนะครับ!

ถ้าคิดคำนวนดูดีๆ ค่าน้ำมันที่คุณจะต้องจ่ายในแต่ละเดือน มันน่าจะพอๆกับที่คุณขับ Honda Jazz เลยนะนั่น!!



********** สรุป **********
********** BEST PICK IN A PREMIUM COMPACT SEGMENT!! **********

5 ปีที่ผมทดลองรถมาให้คุณอ่านกันฟรีๆอย่างนี้
น้อยครั้งมาก ที่ผมจะเจอรถที่น่าประทับใจถึงขนาดที่ จะเขียนชมเชยกันได้มากมายขนาดนี้

แม้จะเคยบอกไปเมื่อครั้งทดลองขับ 330i ว่า เป็นรถที่ไม่รู้จะหาที่ติตรงไหน
ยกเว้นเรื่องของราคาค่าตัว

แต่มาวันนี้ 320d ก็ได้ทำลายกำแพงในใจของหลายๆคนลงมา ด้วยค่าตัวในระดับมาตรฐานของ
รถยนต์ พรีเมียมคอมแพกต์ทั่วไปในตลาดกลุ่มเดียวกัน แต่ได้ครบอย่างคุ้มค่า ไม่ว่าจะมองในแง่ของออพชันติดรถ
ไปจนถึงสมรรถนะจากเครื่องยนต์ การขับขี่ในภาพรวม แถมพกด้วยความประหยัดชนิดเกินหน้า รถญี่ปุ่น
อย่าง วีออส ยาริส แจ้ส ทีด้า ฯลฯ กันอย่างน่าตกใจเลยทีเดียว!

เล่นเอาคนรอบข้างผม ถึงกับต้องเปลี่ยนความคิดเดิมๆ
ที่เคยมองรถเก๋งเครื่องยนต์ดีเซลกันเสียใหม่ไปเลย



ขณะเดียวกัน ความคิดส่วนตัวของผม

320d คันนี้ ถือเป็น ซีรีส์ 3 ใหม่ ตระกูล E90 คันที่ 4 ที่ผมทดลองขับ

แม้ว่าก่อนหน้านี้ ผมจะเคยมีโอกาสทดลองขับ 330d Coupe E92 อันมี
สมรรถนะจัดจ้านกว่านี้มาแล้ว

แต่ 320d คันที่ผมกำลังขับขี่อยู่นี้ กลับสร้างความประหลาดใจให้ผม
ได้มากกว่า 330d Coupe คันนั้นเสียอีก !

320d มันเจ๋งเสียจนทำให้ผมลืม Volvo S60 D5 ไปเรียบร้อย
แม้ว่าราคาจะถูกกว่ากันก็ตาม

น้องแพน V.Putin ถึงกับพูดว่า…

“การได้ขับรถคันนี้สักครั้งหนึ่ง มันจะไม่ต่างอะไรกับการที่คุณมีเซ็กส์กับสาวรัสเซีย
ที่ตกหลุมรักคุณเข้าแล้วอย่างจัง ต่อให้คุณกลับถึงบ้าน โมโหโกรธา ปาข้าวของทิ้งไว้เต็มบ้าน
แม้เธอจะตอบโต้กับคุณบ้าง ให้คุณรู้สึกตัวว่ามันมากไปแล้วนะ แต่เธอก็จะยังรักคุณจนวันตาย

และแน่นอนว่า รสสัมผัสบนเตียงของเธอ ร้อนแรงระดับภูเขาไฟระเบิด…!”



ค่าตัว 2,849,000 บาท รวมทั้ง โปรแกรมบำรุงรักษา BSI ฟรี 5 ปี ที่แต่ละดีลเลอร์ควรจะแถมให้คุณนั้น
ไม่แพงเลย ถ้าเทียบกับสิ่งที่คุณจะได้รับจากรถคันนี้ และตลอด 5 ปี มีปัญหาที่ชิ้นส่วนไหน ก็จับเคลมกันอย่างเดียว

แต่…รถยุโรปสมัยนี้ จะว่าไปแล้ว ใช้ครบ 5 ปี ขายทิ้งไป ผมว่าน่าจะกำลังดี

เพราะอย่างที่รู้กันดีว่า ค่าเลี้ยงดูของรถยุโรปสมัยนี้ เข้าขั้นว่าแพงเอาเรื่อง
แพงขนาดไหน ก็ระดับที่เศรษฐีหลายคนก็ยังบ่นอุบแล้วกัน



กระนั้น เอาเถิด มาถึงวันนี้แล้ว ผมก็อยากจะบอกว่า
นี่คือ BMW คันแรกที่ผม ไม่อยากจะคืนรถให้เค้าไปเลยจริงๆ

เป็น “หนึ่งใน 5 รถที่ดีที่สุด จนผมประทับใจที่สุดเท่าที่ผมเคยลองขับมาในรอบ 5 ปีนี้”

แต่ผมก็ไม่มีปัญญาจะเลี้ยงดูเขาในระยะยาวอีกเช่นกัน



ขณะที่ แพน เปรียบเทียบรถคันนี้เป็นสาวรัสเซีย

แต่ผมกลับมองว่า การได้มีโอกาสทดลองขับ 320d ในระยะสั้นๆ
มันก็เหมือนกับ ได้ทำความรู้จัก กับ
“เจ้าหนุ่มเพลย์บอย ขาลุย ที่คิดดี คิดเป็น และเป็นผู้ใหญ่ที่รู้จักคิด และใช้เงินเ้ป็น รู้จักค่าของเงิน มากกว่าที่ใครจะเห็นจากภายนอก”

เพลย์บอยวัยรุ่นคันนี้ เลี้ยงดูไม่ยากเย็นอย่างที่คิดหรอก!

——————-///——————-



ขอขอบคุณ
พี่ไหม
(คุณพิศมัย เตียงพาณิชย์)
ฝ่ายประชาสัมพันธ์
บริษัท BMW Thailand จำกัด
ที่เอื้อเฟื้อรถทดลองขับ

********** บทความของรถยนต์รุ่นที่เกี่ยวข้อง หรืออยู่ในระดับเดียวกัน ที่ควรอ่านประกอบไปด้วย **********

– ทดลองขับ BMW ซีรีส์ 3 E90 ใหม่ (320i SE และ 330i)
http://topicstock.pantip.com/ratchada/topicstock/2006/10/V4815155/V4815155.html

– ทดลองขับ First Impression : BMW ซีรีส์ 3 E92 ใหม่ (330d Coupe)
http://topicstock.pantip.com/ratchada/topicstock/2007/09/V5782589/V5782589.html

– ทดลองขับ LEXUS IS 250
http://www.caronline.net/ArticleDetail.aspx?ArticleID=109

– ทดลองขับ Audi A3 5 Door (Modified by MTM)
http://topicstock.pantip.com/ratchada/topicstock/2006/12/V4931931/V4931931.html

– ทดลองขับ Audi RS4 (Modified by MTM)
http://www.caronline.net/ArticleDetail.aspx?ArticleID=134#head

– ทดลองขับ Saab 9-3 และ 9-3 Aero
http://topicstock.pantip.com/ratchada/topicstock/V3540067/V3540067.html

– ทดลองขับ Volvo S60
รุ่นเบนซิน 2.3
http://topicstock.pantip.com/ratchada/topicstock/V3350016/V3350016.html
รุ่น D5
http://www.caronline.net/ArticleDetail.aspx?ArticleID=139#head

– ทดลองขับ Peugeot 407 HDi Saloon
http://topicstock.pantip.com/ratchada/topicstock/V4070379/V4070379.html
– ทดลองขับ Volvo S60 D5



J!MMY
17 กรกฎาคม 2008
12.14 น. – 16.29 น.

Facebook Comments
CarOnline Team

Recent Posts