ข้อแนะนำทั่วๆไป

Brand: HONDA Model: Accord
Year: 1994 Miles: 100001 – More
From: Suvil Chomchaiya

HONDA : ACCORD

เรียนอาจารย์ธเนศร์ที่เคารพ

กระผมมีปัญหาเกี่ยวกับรถยนต์ใคร่ขอรบกวนเรียนถามอาจารย์ธเนศร์ครับ คือว่าผมเพิ่งไปซื้อรถยนต์ HONDA ACCORD เครื่อง 2200 CC แต่ม่ใช่ V-TEC นะครับ รุ่นปี 1994 หรือที่เรียกกันตามภาษาตลาดว่า "รุ่นไฟท้ายก้อนเดียว" นะครับ ราคา 200,000 วิ่งไปแล้ว 160,000 กม. เรียกได้ว่าราคาไม่แพงและเจ้าของใช้มามือเดียวจริง และกะจะใช้รถคันนี้ไปประมาณ 3 ปี ขอรบกวนถามอาจารย์ดังนี้ครับ

1.กระผมเคยวัดอัตราการบริโภคเชื้อเพลิงดู พบว่า อยู่ที่ประมาณ 7.0-
7.5 กม./ลิตร (ขับในเมือง) เป็นอัตราความสิ้นเปลืองที่ปกติหรือมาก
ผิดปกติรึเปล่าครับ
2.เวลาตอนมีเสียงดังตอนออกตัวและหักพวงมาลัยเลี้ยวสุดๆ แล้วมีเสียงดัง
ก็อก..ก็อก..ก็อก จากด้านหน้า เป็นที่เพลาขับหรือที่เฟือง
differetial ในตัวเกียร์ครับ
3.การล้างอัดฉีดในห้องเครื่องของรถรุ่นนี้(แบบที่มีตามปั๊มน้ำมันทั่วๆไป)จะ
ทำให้ระบบไฟฟ้าลวนเกเร หรือเสียหายได้รึเปล่าครับ หากมีโอกาสขอ
อาจารย์ช่วยแนะนำวิธีทำความสะอาดห้องเครื่องที่จะไม่สร้างปัญหาตามมา
ให้หน่อยครับ
4.กระผมสนใจจะติดแก๊ส อาจารย์มีความเห็นหรือข้อแนะนำยังไงบ้างครับ ผม
สนใจจะติด LPG 2 ระบบ แบบ Mixer + Lamda Controller
ครับ(แบบหัวฉีดแพงเกินไป)ควรมีระบบหล่อลื่นหน้าวาวล์เพิ่มเติมรึเปล่า
ครับ
5.ยางหิ้วเครื่องเครื่องแบบไฮดรอลิคส์ ตัวที่อยู่ด้านหน้าเครื่อง (ด้าน
สายพาน)หากรั่วซึมจะมีผลให้เกิดการสั่นสะเทือนในห้องโดยสารรึเปล่า
ครับ
6.น้ำมันเกียร์ออโต แบบ Dextron II และ Dextron III สามารถ
ใช้แทนหรือใช้ผสมกันได้รึเปล่าครับ หรือต้องใช้ของ HONDA เท่านั้น
7.Timing Belt และน้ำมันเกียร์ออโต ควรจะเปลี่ยนทุกๆ กี่กิโลครับ
8.ระยะทางที่ใช้งานมา 160,000 กม. ควรเติมหัวเชื้อน้ำมันเครื่องทุกครั้ง
ที่มีการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องรึเปล่าครับ

อาจจะหลายข้อไปหน่อยนะครับ แต่ยังไงขอกราบขอบพระคุณอาจารย์ธเนศร์และขอรบกวนอาจารย์แต่เพียงเท่านี้นะครับ


1-การวัดอัตราสิ้นเปลืองเฉพาะในเมืองนั้น คุณต้องขับขี่อยู่แต่ในเมืองจริงจริง อย่างน้อยก็สักร้อยกิโลเมตร ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ปกติก็จะเป็นเวลาเช้า กับเย็น ไม่รวมกลางคืนที่การจราจรจะไม่ติดขัด
ก่อนจะเริ่มทดสอบ ก็จะต้องเติมเชื้อเพลิงให้เต็มถัง แบบหัวจ่ายตัด แล้วเติมให้ครบจำนวนเงิน แบบไม่มีเศษ เช่น 10 บาท 20 บาท ไม่ใช่ 17 หรือ 12 บาท อะไรทำนองนี้ แล้วจำสถานีบริการ กับหัวจ่ายเอาไว้ให้ดี เพราะจะต้องกลับมาเติมที่เขาอีก ในลักษณะเดียวกัน
จากนั้น ก็ปรับทริปมิเตอร์ให้เป็นสูญ แล้วเริ่มทดสอบโดยการใช้งานรถไปตามปกติ ความเร็วปกติ
หากเป็นผม ผมก็จะวาดผังหรือวงจรการทดสอบเอาไว้ เพื่อใช้ทดสอบในสนามทดสอบ แบบขับขี่ไปสักห้าสิบเมตร หยุดรอสักนาที ออกไปอีกสองร้อยเมตร จอดรอสองนาที อะไรทำนองนี้ สลับกันไปทั้งรอบสนาม ซึ่ง ขอเรียนว่า ยังไม่เป็นมาตรฐานใดใดของใครทั้งสิ้น แต่เลียนแบบจากการทดสอบในสหรัฐอเมริกา กับญี่ปุ่นมาปรับใช้เอง ถ้าจำเป็น
เพราะปกติ ผมก็จะตอบว่า ในเมือง เอาอัตราสิ้นเปลืองไม่ได้ ด้วยว่า การจราจรของเราสับสนอลหม่านมาก
จะถือเอาแผนทดสอบอย่างไรกันดี เพราะในกรุงเทพฯฝั่งซ้ายก็แบบหนึ่ง ฝั่งขวาจากแม่น้ำเจ้าพระยา ก็เป็นอีกแบบหนึ่ง เลยออกไปทางมินบุรี บางกะปิด้านนอก ก็เป็นอีกแบบหนึ่ง ทำให้หาอัตราสิ้นเปลืองของรถแต่ละคันลำบากมาก ถึงหามาได้ คนอื่นเอาไปใช้ แต่ต่างสถานที่กัน ก็จะได้อัตราสิ้นเปลืองไม่เท่ากัน เป็นข้อถกเถียงกันวุ่นวาย
ไม่รู้จบหรอกครับ ไม่หา ไม่ตอบเสียเลย จะดีที่สุด
ทีนี้ เมื่อคุณถามไป ท่านอื่นถามไป ถามกันซ้ำซ้ำซากซากอยู่นั่นแล้ว ผมเลยคิดว่า ต้องบอกกันเสียที เอาให้มีมาตรฐานเดียวกัน ไม่ใช่มาตรฐานโลก ก็เล่นกันแบบนี้แหละ
ตั้งต้นทดสอบจากสถานีบริการแห่งนั้นแหละครับ ขับไปเรื่อยเรื่อย ตามเส้นทางที่คุณจะใช้รถไปทำงาน ไปทำธุรกิจประจำวัน ย้ำว่า ธุรกิจประจำวันนะครับ เพราะหากธุรกิจนั้นนั้นเป็นเรื่องพิเศษแล้ว คุณก็อาจจะไม่ได้ทำทุกวัน เป็นเหตุให้การวัดอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงของคุณ คลาดเคลื่อนไปด้วยตัวคุณเอง
พอใช้รถไป จนได้ระยะทางไม่ต่ำกว่าร้อยกิโลเมตร ในเมือง ตามแบบที่ผมพูดในย่อหน้าที่แล้วแล้ว ก็กลับเข้าปั๊ม
เติมน้ำมันเต็มในแบบเดิมอีกครั้ง เอาจำนวนลิตรจากเขามาใช้เป็นตัวหาร แล้วเอาจำนวนกิโลเมตรในทริปมิเตอร์เป็นตัวตั้ง
คุณก็จะได้อัตราสิ้นเปลืองมาเก็บไว้เป็นข้อมูล
เมื่อใด สงสัยอีกครั้งว่า จะกินน้ำมันมากขึ้นสำหรับในเมือง คุณก็กลับมาทดสอบแบบเดิม สถานที่เดิม แนวทางการขับแบบเดิม
เพื่อเปรียบเทียบกันกับผลที่เคยทำเอาไว้ แค่นี้ คุณก็จะทราบของคุณเอง ว่ารถซึ่งในที่นี้ เป็นรถของคุณคันเดียว คันอื่นไม่เกี่ยว กินน้ำมันเพิ่มมากขึ้น หรือลดลง เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาได้แล้ว
ผมเอง เคยทดสอบรถยนต์ฮอนด้า แอคคอร์ท รุ่น 1994 เป็นเวลาสามปีเต็ม ได้อัตราสิ้นเปลืองในเมือง กับนอกเมือง แบบใช้ในชีวิตประจำวัน จากบ้านสวนสยาม เข้าเมืองทางทางด่วน กินน้ำมันราว 9.5-9.8 กิโลเมตรต่อลิตร ที่ผมจะไม่เอามาเปรียบเทียบกับวงจรการทดสอบของคุณ
คุณต้องตั้งวงจร หรือแผนการทดสอบของคุณเองครับ แล้วทดสอบเอาไว้ เก็บตัวเลขเอาไว้ เพื่อเปรียบเทียบกันเอง ทั้งนี้ ต้องคำนึงไว้เสมอว่า วิธีการขับขี่ ความเข้าใจในเครื่องยนต์กับเกียร์ ของเรา อาจจะไม่เหมือนกัน
ตราบใดที่ยังไม่มีการวางมาตรฐานให้แม่นยำ สำหรับการหาอัตราสิ้นเปลืองในเมืองหลวงของไทย ตราบใดที่ยังไม่มีหน่วยงานใดกล้ายืดอกรับรองมาตรฐานการทดสอบแบบในเมือง ก็อย่าคิดว่า คนตอบ จะตอบได้ถูกต้องเสมอไปเลยครับ
ต่อให้มีองค์กร มีมาตรฐานแม่นยำอย่างไร ผลที่คุณทำได้ อาจจะไม่เท่ากับของเขา อาจจะมากกว่า หรือน้อยกว่ามากก็ได้เสมอไปอีกด้วย
ทั้งหมดที่พูดมา เป็นเรื่องจริงครับ
2-น่าจะเป็นเสียงจากหัวเพลา ที่ลูกปืนหรือเบ้าลูกปืนสึกมากไปแล้ว ต้องทดสอบอีกครั้งครับ
3-อัดฉีดน้ำเข้าไปในห้องเครื่องยนต์ สำหรับรถยนต์รุ่นนี้ มีผลเสียหายตามมาแน่นอน ต้องล้างด้วยวิธีใช้ผ้าชุบน้ำ หรือน้ำมันเช็ด ทำความสะอาดเท่าที่ทำได้ไปเท่านั้นครับ
4-ติดแบบหัวฉีดดีที่สุด แพงหน่อยก็ยังคุ้มค่า คุ้มเวลากว่า อย่าเสี่ยงติดแบบอื่นเลย ต่อให้มีอุปกรณ์วิเศษอย่างไรตามที่ผู้ติดตั้งคุย ก็อย่าเชื่อ ไม่มีทางดีได้หรอก ต้องคอยปรับกันอยู่ทุกเดือน ไหวหรือครับ
ส่วนการใช้น้ำมันเครื่องเข้าไปหล่อลื่นหน้าวาล์วนั้น ผมถามหน่อย ว่าคุณรู้ได้อย่างไรว่า น้ำมันเครื่องจะหล่อลื่นหน้าวาล์วอย่างเดียว ไม่เข้าไปร่วมอยู่ในห้องเผาไหม้ ทำให้การเผาไหม้ผิดไป ทำให้หัวเทียนบอด ทำให้ท่อไอดีสกปรก และการเดินของไอดีไม่ดี
ไม่จำเป็นเลย ดูเครื่องยนต์ดีเซลซีครับ ไม่มีแม้กระทั่งไอน้ำมัน ใช่ไหม เพราะดีเซลฉีดน้ำมันตรงเข้าห้องเผาไหม้เลยทีเดียวทุกเครื่อง ไม่เห็นเขาพังก่อนเครื่องยนต์เบนซินสักตัว
5-สั่นซีครับ ยางแท่นเครื่องตัวใดเสียหาย ก็มีโอกาสให้เกิดการสั่นสะเทือนเข้าไปถึงห้องโดยสารทั้งนั้นแหละ
6-น้ำมันเกียร์อัตโนมัตินี่ก็ตอบกันมาหลายครั้งหลายหนแล้ว ว่าน้ำมันเกียร์ของฮอนด้าเขามี และเหมาะกับการใช้งานเกียร์อัตโนมัติของเขาที่สุด สีก็ไม่เหมือนกัน หาซื้อก็ไม่ยากเย็นอะไร ราคาก็พอพอกัน จะไปมัวคิดโน่นคิดนี่ให้ยุ่งยากลำบากใจทำไมกันละครับ
ใช้ของฮอนด้าไปเถิด ง่ายที่สุด สะดวกที่สุด และดีที่สุด
7-สายพานราวลิ้น เคยเปลี่ยนที่ทุกหกหมื่นกิโลเมตร ต่อมาพบว่า คู่มือภาษาไทยของฮอนด้า แปลงแค่จากจำนวนไมล์ หกหมื่นไมล์ มาเป็นหกหมื่นกิโลเมตร ฮอนด้าใหญ่ก็เลยยอมให้เปลี่ยนที่แสนกิโลเมตรไปนานแล้ว
ส่วนน้ำมันเกียร์อัตโนมัตินั้น ก็เปลี่ยนที่แสนหกหมื่นกิโลเมตร แต่ผมเลือกเปลี่ยนที่แสนกิโลเมตรครับ ไม่มีเหตุผลอะไร นอกจากอยากเปลี่ยน และที่จริง ก็แทบไม่จำเป็น ด้วยว่า น้ำมันเกียร์เสียหายยากมาก นอกจากจะถูกความร้อนเกินกว่า 250 องศาฟาเรนไฮด์นานไปหน่อยเท่านั้น
8-หัวเชื้อน้ำมันเครื่อง ไร้ประโยชน์เกือบจะสิ้นเชิง หากคุณใช้น้ำมันเครื่องมาตรฐาน SL หรือ SM แม้กระทั้งแค่ SJ ก็เพียงพอแล้วครับ

Facebook Comments
CarOnline Team

Recent Posts